องค์พระฯ วันวาน : ก่อนจะเป็นวิหารพระร่วง

วิหารพระประสูติ สร้างในสมัยพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ เป็นที่ประดิษฐานพระปางประสูติ มีลักษณะเป็นพระกุมารประทับยืนบนดอกบัว มีปฏิมาสตรี ๒ คน คอยดูแลรับใช้ และเหล่าเทพยดายืนถวายความเคารพและกั้นฉัตรถวาย ที่มา: “วิหารทิศ วัดพระปฐมเจดีย์ นครปฐม,” ภาพถ่าย, ๖๙๖๕๖-กจช(ส)๒๑๒๘, หอจดหมายเหตุแห่งชาติ.
วิหารพระประสูติ สร้างในสมัยพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔
เป็นที่ประดิษฐานพระปางประสูติ มีลักษณะเป็นพระกุมารประทับยืนบนดอกบัว มีปฏิมาสตรี ๒ คน คอยดูแลรับใช้
และเหล่าเทพยดายืนถวายความเคารพและกั้นฉัตรถวาย
ที่มา: “วิหารทิศ วัดพระปฐมเจดีย์ นครปฐม,” ภาพถ่าย, ๖๙๖๕๖-กจช(ส)๒๑๒๘, หอจดหมายเหตุแห่งชาติ.


วิหารพระประสูติ ปรับเปลี่ยนเป็นวิหารพระร่วงในสมัยพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖
ที่มา: “พระปฐมเจดีย์ จ.นครปฐม,” ภาพถ่าย, ภ.๐๐๒ หวญ.๓๕/๓๘, หอจดหมายเหตุแห่งชาติ.

“องค์พระ” เป็นคำเรียกโดยย่อที่ชาวนครปฐมใช้เรียกขานองค์พระปฐมเจดีย์มาช้านาน อย่างน้อยก็มากกว่า ๕๐ ปี เพราะตั้งแต่จำความได้ดิฉันก็คุ้นเคยกับคำเรียกนี้ซึ่งใช้มาเก่าก่อนรุ่นพ่อแม่ คำเรียกนี้ ในคราครั้งน้ำท่วมใหญ่เมื่อ พ.ศ. ๒๕๕๔ นั้น สร้างความตระหนกตกใจแก่ดิฉันพอประมาณ เมื่อบุตรสาวของคุณแม่ชีที่สำนักวิปัสสนาธัมโมธยะ ได้โทรมาสอบถามว่าได้ข่าวน้ำท่วมถึง “หน้าองค์พระ” แล้ว

ภายหลังสอบถามชาวตลาดละแวกหน้าองค์พระได้รับคำตอบว่าไม่มี ประจวบกับดูรายงานข่าวจากทีวี “หน้าองค์พระ” ในความหมายของสื่อที่รายงานข่าวคือ หน้าองค์พระศรีศากยะทศพลญาณ ประธานพุทธมณฑลสุทรรศน์ ซึ่งประดิษฐานเป็นองค์พระประธาน ณ พุทธมณฑล อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม ดิฉันถึงบางอ้อในบัดดล

สำหรับองค์พระปฐมเจดีย์ที่บ้านเกิดดิฉันนั้น ประวัติความเป็นมาในแง่ของบุคคลผู้สร้าง หากจะนับหลักฐานเท่าที่พบและมักกล่าวถึงกันในปัจจุบันคงมีเพียงตำนานเล่าขานเรื่องพระยากงพระยาพาน ซึ่งคำเรียกชื่อพระยาพานนั้น ก็ยังคงไม่ชัดเจนว่าสะกดด้วยคำใด “พาน” อันจะหมายถึงพานที่รองรับตอนเกิด หรือ “พาล” ที่หมายถึงอุปนิสัยพาลเกเรถึงขั้นทำปิตุฆาตให้ต้องสร้างเจดีย์ไถ่บาปสูงชั่วนกเขาเหิรองค์นี้ ที่ในกาลต่อมาถูกต่อเสริมจากสถูปทรงโอ หรือขันน้ำคว่ำแบบสาญจีในประเทศอินเดีย เป็นเจดีย์ทรงกลม มีพระปรางค์แบบขอมซ้อนอยู่ด้านบนเพิ่มเติม กระทั่งล่วงมาในแผ่นดินพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ก็ได้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างเจดีย์องค์ใหญ่ครอบเจดีย์เดิมที่ก่อเสริมยอดปรางค์แล้วนั้นอีกชั้นหนึ่ง

การเสริมเติมในครั้งนี้ นอกจากรูปทรงภายนอกของพระเจดีย์จะถูกปรับเปลี่ยนไปแล้ว ยังมีสิ่งปลูกสร้างและสิ่งแวดล้อมต่างๆ ที่มีทั้งถูกสร้างขึ้นใหม่และมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลง หนึ่งในจำนวนสิ่งปลูกสร้างใหม่ คือ “วิหารทิศ” ที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ทรงเสด็จฯ ก่อฤกษ์พระวิหารทั้ง ๔ ทิศ เมื่อวันพุธ เดือนอ้าย แรม ๑ ค่ำ ปีระกา ตรีศก จุลศักราช ๑๒๒๓ ตรงกับวันที่ ๑๘ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๐๔ ด้วยการบูรณะปฏิสังขรณ์พระปฐมเจดีย์นั้นยังคงไม่แล้วเสร็จสมบูรณ์ในรัชกาล บางสิ่งบางอย่างจึงมีการปรับเปลี่ยนไปตามกาละและแวดล้อมในเวลาต่อมา

“วิหารทิศ” ซึ่งเป็นสิ่งปลูกสร้างใหม่ในครั้งนั้น หากนับไล่เรียงโดยทักษิณาวัตร จากทิศตะวันออก คือ พระวิหารหลวง ด้านทิศใต้ คือ พระวิหารปัญจวัคคีย์ ด้านทิศตะวันตก คือ พระวิหารพระพุทธไสยาสน์ และด้านทิศเหนือ คือ วิหารพระประสูติ วิหารทิศดังกล่าว เมื่อล่วงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจนมาถึงรัชกาลที่ ๖ ในห้วงเวลาหลังจากสยามประเทศมีการพัฒนาในหลากหลายด้านรวมถึงการคมนาคมทางรถไฟ เป็นเหตุให้ “วิหารทิศ” ทางทิศเหนือ คือ วิหารพระประสูติเกิดการเปลี่ยนแปลง

กล่าวคือ ในราวประมาณ พ.ศ. ๒๔๔๓ เมื่อมีการตัดทางรถไฟจากบางกอกน้อยถึงนครปฐมทางด้านทิศเหนือขององค์พระปฐมเจดีย์ สมเด็จพระศรีพัชรินทราพระบรมราชินีนาถ ทรงมีพระราชศรัทธาสร้างบันไดนาคทางขึ้นหน้าวิหารพระประสูติ โดยสร้างเป็น ๒ ชั้น ทั้งนี้เพื่อให้เกิดทัศนียภาพที่โอ่โถงรับกับสถานีรถไฟ ซึ่งการดำเนินการได้แล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๙


บันไดนาคทางขึ้นหน้าวิหารพระประสูติ พ.ศ. ๒๔๔๙ ที่สมเด็จพระศรีพัชรินทราพระบรมราชินีนาถทรงสร้าง
เมื่อมีทางรถไฟผ่านนครปฐมทางด้านทิศเหนือขององค์พระปฐมเจดีย์
ที่มา: “รัชกาลที่ ๖ เสด็จนครปฐม,” ภาพถ่าย, หจช.๔๔๐-๑๔๙๗๓, หอจดหมายเหตุแห่งชาติ.

ต่อมา พ.ศ. ๒๔๕๑ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งทรงดำรงพระอิศริยยศเป็นสมเด็จพระยุพราช ได้เสด็จประพาสหัวเมืองฝ่ายเหนือและพบพระพุทธรูปองค์หนึ่ง ที่เมืองศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย มีพุทธลักษณะงดงามต้องพระราชหฤทัยแต่ชำรุดเสียหายมาก คงเหลือแต่ พระเศียร พระหัตถ์และพระบาท ซึ่งสันนิษฐานได้ว่าเป็นพระพุทธรูปยืนห้ามญาติ จึงทรงโปรดเกล้าฯ ให้เชิญลงมากรุงเทพฯ และเมื่อ พ.ศ.๒๔๕๔ ภายหลังจากที่พระองค์เสด็จขึ้นครองราชย์แล้ว จึงโปรดเกล้าฯ
ให้ปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ให้บริบูรณ์เต็มองค์ เพื่อเตรียมนำมาประดิษฐาน ณ พระปฐมเจดีย์

เพื่อรองรับในการนี้ วิหารพระประสูติด้านทิศเหนือขององค์พระปฐมเจดีย์จึงถูกปรับเปลี่ยน เตรียมพร้อมสำหรับประดิษฐาน
“พระร่วงธรรมสามีอินทราทิตย์กิติอุดม สถิตย์ปฐมเจติยสถาน วชิระราชสมภารปูชนีย์บพิตร์” ที่ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ โดยมีหลักฐานเป็นหนังสือราชการซึ่งถูกจัดเก็บเป็นเอกสารจดหมายเหตุ ในหอจดหมายเหตุแห่งชาติ ในกลุ่มเอกสารของกระทรวงศึกษาธิการ รัชกาลที่ ๖ ศ.๙วัด.๑สร้างและปฏิสังขรณ์ รหัสเอกสาร ร.๖ ศ.๙.๑/๘๐(พ) เรื่อง ปฏิสังขรณ์พระปฐมเจดีย์ และวัดพระปฐมเจดีย์ นครปฐม เป็นเอกสารประเภทหนังสือโต้ตอบ(ต้นฉบับ/สำเนา) พระราชหัตถเลขา(สำเนา) จำนวน ๖๖ แผ่น (ตามบัญชีช่วยค้น) ในจำนวนดังกล่าวนี้ มีเอกสารหลายฉบับที่มีเนื้อหาเรื่อง การแก้ไขวิหารพระประสูติ กล่าวคือ

หนังสือโต้ตอบกรมศิลปากร ที่ ๔/๘๘๙ ลงวันที่ ๒๖ มีนาคม พ.ศ.๒๔๕๖ จากเจ้าพระยาธรรมาธิกรณ์ อธิบดีกรมศิลปากร
กราบบังคมทูล รัชกาลที่ ๖ เรื่องการแก้ไขวิหารพระประสูติ มีใจความโดยสรุป กล่าวถึง การขอรับพระราชทานเงินประมาณการจำนวน ๖๑,๕๐๐ บาท เพื่อแก้ไขพระวิหารพระประสูติ เป็นวิหารสำหรับประดิษฐานพระร่วง รวมทั้งแก้บันไดใหญ่พนักนาคทางขึ้นหน้าวิหารพระประสูติ ที่สมเด็จพระศรีพัชรินทราพระบรมราชินีนาถทรงสร้าง เมื่อทางรถไฟเชื่อมต่อมาถึงนครปฐมทางด้านทิศเหนือขององค์พระปฐมเจดีย์ ระบุให้การแก้ไขพระวิหารแล้วเสร็จภายในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๕๗ โดยมีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขที่สำคัญ คือ

รื้อพระวิหารเก่าตั้งแต่มุขด้านนอกถึงห้องประธาน ๑ ห้อง หลังคามุงกระเบื้องเคลือบสีพื้น ปั้นลายช่อฟ้า ใบระกา หน้าบัน บัวปลายเสา คอสอง และช่องคูหาตามแบบที่ออกไว้ ทาสีผนังหลังพระ เพดานทาสีปิดทองลายฉลุ แก้ช่องหน้าต่างเก่าเป็นประตู มีทางเดินเข้าทั้ง ๒ ประตู หล่อฐานที่ตั้งพระพุทธรูปด้วยแฟโรคอนกรีต ทำเป็นซุ้มเรือนแก้วลงรักปิดทองประดับกระจก
และแก้บันไดใหญ่พนักนาคเป็นแฟโรคอนกรีต รื้อของเก่าปูหินอ่อนฝรั่งทั้ง ๒ ชั้น ทำชานพักและพนัก ๒ ข้าง หล่อแฟโรคอนกรีตลูกมะหวด ราวพนักหล่อซีเมนต์ปั้นเป็นตัวนาคมีหัวและหางตามแบบที่ออกใหม่


หนังสือโต้ตอบกรมศิลปากร ที่ ๔/๘๘๙ ลงวันที่ ๒๖ มีนาคม พ.ศ.๒๔๕๖
จากเจ้าพระยาธรรมาธิกรณ์ อธิบดีกรมศิลปากร กราบบังคมทูล รัชกาลที่ ๖ เรื่องการแก้ไขวิหารพระประสูติ

ต่อมา วันที่ ๑๓ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๕๗ กรมราชเลขาธิการ ได้มีหนังสือแจ้งไปยังกรมพระคลังข้างที่ ถึงพระยาศุภกรณ์บรรณสาร และแจ้งไปยังเจ้าพระยาธรรมาธิกรณ์ อธิบดีกรมศิลปากร เรื่องมีพระบรมราชานุญาตจ่ายเงินจำนวน ๖๑,๕๐๐ บาท เพื่อแก้ไขพระวิหารพระประสูติ สำหรับประดิษฐานพระร่วงและแก้บันไดใหญ่พนักนาค และในเดือนธันวาคม ปีเดียวกันนั้น ได้มีหนังสือจากเจ้าพระยาธรรมาธิกรณ อธิบดีกรมศิลปากร กราบบังคมทูลสิ่งที่ต้องทำเพิ่ม คือ การหล่อถานทองเหลืองสำหรับประดิษฐานพระร่วง และปูพื้นหินอ่อนที่ชานระหว่างบันไดนาคกับหน้าพระวิหาร และสิ่งอื่นๆ เป็นจำนวนเงิน ๑๗,๓๒๐ บาท
ดังมีหลักฐานหนังสือโต้ตอบกรมศิลปากร ที่ ๑๔/๑๑๗๘ เดือนธันวาคม ไม่ระบุวันที่ และมีหลักฐาน (ร่าง) หนังสือโต้ตอบ ที่ ๑๑๑/๖๐๐ ลงวันที่ ๓๐ ธันวาคม ไปยังกรมพระคลังข้างที่ ถึงพระยาศุภกรณ์บรรณสาร และ(ร่าง) หนังสือโต้ตอบ ที่ ๙๐/๑๐๘๑ ลงวันที่ ๓๑ ธันวาคมแจ้งไปยังเจ้าพระยาธรรมาธิกรณ์ อธิบดีกรมศิลปากร ว่าทรงโปรดเกล้าฯ ให้พระยาศุภกรณบรรณสารจ่ายเงินตามจำนวน


หนังสือโต้ตอบกรมศิลปากร ที่ ๑๔/๑๑๗๘ เดือนธันวาคม
(ร่าง) หนังสือโต้ตอบ ที่ ๑๑๑/๖๐๐ ลงวันที่ ๓๐ ธันวาคม
และ(ร่าง) หนังสือโต้ตอบ ที่ ๙๐/๑๐๘๑ ลงวันที่ ๓๑ ธันวาคม
เรื่องสิ่งที่ต้องทำเพิ่ม คือ การหล่อถานทองเหลืองสำหรับประดิษฐานพระร่วง

การแก้ไขพระวิหารพระประสูติเป็นวิหารสำหรับประดิษฐานพระร่วง รวมทั้งสิ่งแวดล้อม ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๕๖ กระทั่ง พ.ศ.๒๔๕๗ ยังคงมีการจัดทำสิ่งต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม ล่วงมาจน พ.ศ.๒๔๕๘ ก็ยังคงมีสิ่งที่ต้องดำเนินการ ดังมีหลักฐานในเอกสารชุดเดียวกันนั้นระบุ คือ (สำเนา) หนังสือโต้ตอบกรมศิลปากร ที่ ๑๗/๑๐๑๙ ไม่ปรากฎผู้ลงนาม มีเพียงชื่อผู้เขียน และผู้ตรวจทานบันทึก ลงวันที่ ๒๐ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๕๘ กราบบังคมทูลรัชกาล ๖ ขอพระบรมราชานุภาพทาสีปิดทองลายดาวเพดาน บัวกรอบแว่นและเฟื่องคอสองเพิ่มเติม เป็นจำนวนเงิน ๕,๐๐๐ บาท และมีหลักฐาน (ร่าง) หนังสือโต้ตอบ ที่ ๑๑๓/๖๐๓ ลงวันที่ ๒๒ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๕๘ ไปยังกรมพระคลังข้างที่ ถึงพระยาศุภกรณ์บรรณสาร และ(ร่าง) หนังสือโต้ตอบ ที่ ๑/๘๑๕ ในวันเดียวกัน แจ้งไปยังมหาเสวกเอก เจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดี อธิบดีกรมศิลปากร ว่าทรงโปรดเกล้าฯ ให้กรมพระคลังข้างที่จ่ายเงินตามจำนวน


หนังสือโต้ตอบกรมศิลปากร ที่ ๑๗/๑๐๑๙ ลงวันที่ ๒๐ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๕๘
(ร่าง) หนังสือโต้ตอบ ที่ ๑๑๓/๖๐๓ และ (ร่าง) หนังสือโต้ตอบ ที่ ๑/๘๑๕ ลงวันที่ ๒๒ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๕๘

การแก้ไขพระวิหารทิศด้านทิศเหนือ และสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องด้านทิศเหนือนี้ จากเอกสารที่ผู้เขียนพบ นับจากการสร้างบันไดนาคทางขึ้นหน้าวิหารพระประสูติ เมื่อมีรถไฟแล่นผ่าน ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๔๙ กระทั่งการปรับแปลงตัวพระวิหารให้เป็นวิหารเปิดโล่งเพื่อประดิษฐานพระร่วง นับจาก พ.ศ.๒๔๕๖ ถึง พ.ศ.๒๔๕๘ แล้วนั้น ก็ยังคงมีการดำเนินการสิ่งแวดล้อม อื่นๆ ที่เกี่ยวข้องอีกเป็นระยะ ๆ เช่น พ.ศ.๒๔๙๖ มีการบูรณะศาลาโถงรับแขกด้านขวาพระร่วง การจัดทำประตูรั้วด้านหน้าพระร่วง เป็นต้น

นอกจากนี้ เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ สิ้นพระชนม์ลง ทรงโปรดเกล้าฯ ให้นำพระบรมราชสรีรางคารของพระองค์ บรรจุที่ฐานชุกชีพระร่วง ภายหลังเมื่อพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี และสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ
เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดีพระธิดาสิ้นพระชนม์ลงโดยลำดับ ก็ได้นำพระสรีรางคารของทั้ง ๒ พระองค์มาบรรจุ ณ ที่นี้ด้วยเช่นกัน


ฐานชุกชีพระร่วงโรจนฤทธิ์ที่บรรจุ พระบรมราชสรีรางคารของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖
และพระสรีรางคารของพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี (ซ้าย)

(ที่มา : วัดพระปฐมเจดีย์ ราชวรมหาวิหาร.
  ที่ระลึกงานฉลองสมโภชองค์พระปฐมเจดีย์ ครบ ๑๕๐ ปี (พ.ศ. ๒๓๙๖-๒๕๔๖).  กาญจนบุรี : ธรรมเมธี, ๒๕๔๖.)
และบริเวณที่บรรจุในปัจจุบันซึ่งมีการเปลี่ยนแปลง
ภายหลังเมื่อสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดีพระธิดาสิ้นพระชนม์ลง (ขวา)
(ภาพโดย นฤมล บุญญานิตย์ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๕๗)

หมายเหตุ : ภาพขวา การดำเนินการโดยสำนักพระราชวังยังไม่แล้วเสร็จ (ข้อมูล ณ วันที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๕๗)

การปรับเปลี่ยนพระวิหารทิศในครั้งนั้น บริเวณที่ประดิษฐานพระปางประสูติมีการลดทอนรายละเอียดลง คงเหลือเพียงองค์พระกุมาร และปฏิมาสตรี ๒ คน คอยดูแลรับใช้ ไม่ปรากฎเหล่าเทพยดา ๕ องค์ดังเดิม ส่วนห้องในสุดยังคงมีพระปางป่าเลไลยก์ เป็นพระพุทธรูปปูนปั้น ประทับนั่งห้อยพระบาท ประดิษฐานพร้อมพระสาวกเบื้องขวาและซ้าย ๒ องค์ กับปฏิมารูปช้างและลิงคอยรับใช้อยู่เบื้องหน้า


ฐานชุกชีที่ประดิษฐานพระปางประสูติ  พระปางป่าเลไลยก์ ประดิษฐานอยู่ห้องในสุด ซึ่งมีการลดทอนรายละเอียดลง ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ห้องกลางในวิหารทิศเหนือ
(ภาพโดย นฤมล บุญญานิตย์ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๕๗)

การดำเนินการต่างๆ เกี่ยวกับพระวิหารทิศเหนือ นับแต่เมื่อการคมนาคมทางรถไฟเพิ่มความสำคัญขึ้นโดยลำดับ ส่งผลให้วิหารพระร่วงทวีความสำคัญขึ้นแทนที่วิหารด้านทิศตะวันออกซึ่งเป็นวิหารหลวงอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้


(ภาพโดย นฤมล บุญญานิตย์ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๕๗)

ปัจจุบัน จึงมักสัมผัสได้ว่าทั้งประชาชนในท้องถิ่น ทั้งอาคันตุกะนักท่องเที่ยวผู้มาเยี่ยมเยือน ต่างมีภาพของพระพุทธรูปยืนองค์ใหญ่สีทองสุกใส กับพระเจดีย์ที่ใหญ่สุดในโลกองค์นี้ ในรำลึกทรงจำเกี่ยวกับ “พระปฐมเจดีย์” ที่มักสะท้อนออกมาในภาพถ่ายเสมอๆ


(ภาพโดย นฤมล บุญญานิตย์ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๕๗)

หากแต่ภาพจำเหล่านั้นจะไม่ถูกลดทอนด้วยสรรพสิ่งประดามีในเชิงพาณิชย์ดังเช่นทุกวันนี้ ดิฉันคิดว่าความสง่างามขององค์พระร่วงโรจนฤทธิ์ ตลอดจนองค์พระเจดีย์ในฐานะโบราณสถานอันควรค่า แม้มิได้ถูกตราเป็นมรดกโลก ก็คงจะสร้างความภาคภูมิใจให้แก่เราชาวพุทธศาสนิกชนไทยได้ ไม่น้อยไปกว่าพุทธศาสนสถานที่สำคัญแห่งอื่นๆ ของโลกเลยทีเดียว

——————————————-

ข้อมูลอ้างอิง

กรมศิลปากร.  (๒๕๒๘).  เรื่องพระปฐมเจดีย์ กรมศิลปากรตรวจสอบชำระใหม่ และการบูรณะและปฏิสังขรณ์พระปฐมเจดีย์.  กรุงเทพฯ : ยูนิตี้ โพรเกรส.

นฤมล บุญญานิตย์.  (๒๕๔๘).  การบูรณะปฏิสังขรณ์พระปฐมเจดีย์ : กรณีศึกษาจากเอกสารจดหมายเหตุ.  กรุงเทพฯ : สาขาวิชาการจัดการจดหมายเหตุและเอกสาร มหาวิทยาลัยศิลปากร.

วัดพระปฐมเจดีย์ ราชวรมหาวิหาร.  (๒๕๔๖).  ที่ระลึกงานฉลองสมโภชองค์พระปฐมเจดีย์ ครบ ๑๕๐ ปี (พ.ศ. ๒๓๙๖-๒๕๔๖).  กาญจนบุรี : ธรรมเมธี.

“____________________”.  (๒๕๓๒).  ที่ระลึกงานเทศกาลนมัสการพระปฐมเจดีย์ วัดพระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม ๙-๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๓๒.  กรุงเทพฯ : ประยูรวงศ์.

สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ.  ภาพถ่าย.  ๖๙๖๕๖-กจช(ส)๒๑๒๘.  “วิหารทิศ วัดพระปฐมเจดีย์ นครปฐม”

“____________________”.  ภาพถ่าย.  ภ.๐๐๒ หวญ.๓๕/๓๘.  “พระปฐมเจดีย์ จ.นครปฐม”

“____________________”.  ภาพถ่าย.  หจช.๔๔๐-๑๔๙๗๓.  “รัชกาลที่ ๖ เสด็จนครปฐม”

“____________________”.  เอกสารกระทรวงศึกษาธิการ รัชกาลที่ ๖. ร.๖ ศ.๙.๑/๘๐ (พ)

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *