ประเทศไทยมีความสัมพันธ์กับประเทศจีนมายาวนาน มีการเดินเรือเข้ามาค้าขายบริเวณอ่าวไทยนับตั้งแต่สมัยสุโขทัย
ต่อมาในสมัยอยุธยาเริ่มมีการติดต่อค้าขายกันมากขึ้น จึงมีการเข้ามาตั้งหลักแหล่งค้าขายบริเวณภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ ทั้งชั่วคราวและถาวร
ต่อมาสมัยกรุงธนบุรีซึ่งพระเจ้าตากสินมีพระมารดาเชื้อสายจีนแต้จิ๋ว ชาวจีนจึงได้รับการดูแลเป็นพิเศษโดยเฉพาะกลุ่มที่พูดภาษาแต้จิ๋ว

ต่อมาในสมัยรัตนโกสินทร์ชาวจีนจากทางตอนใต้ของจีน อพยพมาอยู่ในไทยเป็นจำนวนมาก เพราะสามารถประกอบอาชีพต่างๆ ได้สะดวก แม้ชาวจีนจะอพยพมาตั้งหลักแหล่งทํามาหากินในไทยต่างยุคต่างสมัย แต่สิ่งสำคัญที่ชาวจีนในเมืองไทยหรือแม้แต่ชาวจีนที่เคลื่อนย้ายไปอยู่ในประเทศต่างๆ ทั่วโลก ยังคงยึดมั่นและดํารงอยู่นับแต่อดีตจนปัจจุบัน คือ ศาสนา ความเชื่อ วัฒนธรรมและประเพณี ซึ่งใช้เป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตของกลุ่มชุมชนที่มักมีพื้นเพดั้งเดิมจากแหล่งเดียวกันมาอยู่ร่วมกัน โดยมีสัญลักษณ์อันบ่งได้ถึงการตั้งถิ่นฐานในบริเวณนั้นๆ คือ วัดจีนหรือศาลเจ้า

ชาวจีนที่อพยพมาจากต่างถิ่นส่วนใหญ่มักจะมีความแตกต่างในด้านภาษา แต่ยังคงมีสิ่งที่เหมือนหรือคล้ายกันคือความเชื่อซึ่งแสดงออกด้วยการนับถือ และเคารพบูชาในเทพเจ้าซึ่งสะท้อนให้เห็นในประเพณีการเซ่นไหว้ ทำให้วัดจีนหรือศาลเจ้าอันเป็นศาสนสถานสำคัญของชาวจีนในเมืองไทยนั้นมีเป็นจำนวนมากและยังพบเห็นได้ในทุกภูมิภาคของประเทศ

ทั้งนี้อาจแบ่งประเภทศาลเจ้าได้ตามความแตกต่างของกลุ่มภาษา เช่น ศาลเจ้าจีนฮกเกี้ยน ศาลเจ้าจีนแคะ หรือ ฮากกา ศาลเจ้าจีนแต้จิ๋ว ศาลเจ้าจีนไหหลำ และศาลเจ้าจีนกวางตุ้ง คำเรียกศาลเจ้าจึงมีหลากหลาย เช่น กง ตี้ ถัง หมู่ ฉาน ซือ เหนียง เตี้ยน จู่ ฐาน มา เมี้ยว ศาลเจ้าบางแห่งมีสิ่งปลูกสร้างอยู่คู่ศาลเจ้า คือ โรงเจ ซึ่งชาวแต้จิ๋วเรียกว่า “เจตึ้ง” ส่วนศาลเจ้าที่สถิตของเทพสูงสุด คือ พระโพธิสัตว์และพระพุทธเจ้านั้น จะเรียกว่า “ตั๊ว” และหากศาลเจ้านั้นมีโรงเจด้วยจะเรียกว่า “เจตั๊ว”

สาเหตุของการสร้างศาลเจ้านั้น ประการแรก เนื่องจากในอดีตเมื่อครั้งที่ชาวจีนโพ้นทะเลอพยพมาจากบ้านเกิด ต้องเดินทางด้วยความยากลำบากและเสี่ยงภัยนานาประการ การเริ่มต้นเดินทางผู้ควบคุมเรือจึงมักเซ่นไหว้บอกกล่าวเทพเจ้าที่เกี่ยวข้อง

ขณะเดียวกันผู้โดยสารก็มักจะอัญเชิญองค์เทพที่ตนเคารพนับถือ หรือนำขี้ธูปจากกระถางที่แท่นบูชาติดตัวมาเพื่อเป็นเครื่องรางป้องกันภัย เมื่อถึงจุดหมายปลอดภัยด้วยความสำนึกในบุญคุณ จึงสร้างศาลขึ้นเพื่อประดิษฐานรูปเคารพหรือตัวแทนรูปเคารพนั้น และเมื่อมาอาศัยอยู่ในสิ่งแวดล้อมและสังคมที่ไม่รู้จักมักคุ้น จึงต้องใช้ศรัทธาในองค์เทพเจ้าที่ตนนับถือเป็นที่พึ่งทางใจ

ประการที่ 2 คือ การสร้างตามความเชื่อและประเพณีที่สืบทอดกันมาแต่โบราณว่าศาลเจ้าเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ จึงมีส่วนสำคัญต่อแบบแผนการดำรงชีวิต สังเกตได้ว่ามีการใช้ศาลเจ้าเป็นที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา เนื่องในเทศกาลและตรุษสารทประจำปี เช่น ตรุษจีน กินเจ เป็นต้น

ประการที่ 3 สร้างเพื่อเป็นศาลเจ้าประจำตระกูล เพื่อเป็นที่กราบไหว้บูชารําลึกถึงบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว

ประการที่ 4 สร้างขึ้นตามความนิยม เช่น ศาลเจ้าประจำตลาดที่มีชุมชนชาวจีนอาศัย ส่วนมากมักมีขนาดไม่ใหญ่นัก เมื่อตลาดใดสร้างศาลเจ้ามีการค้าเจริญรุ่งเรืองตลาดแห่งใหม่ๆ ก็จะสร้างศาลเจ้าประจำตลาดด้วย

ประการที่ 5 สร้างด้วยความศรัทธาในความศักดิ์สิทธิ์ และเหตุผลอื่นๆ เช่น ศาลเจ้าจี้กง ศาลเจ้าเห้งเจีย ในกรุงเทพฯ
หรือศาลเจ้าที่สร้างเพื่อแก้บนเมื่อได้รับผลสำเร็จในธุรกิจ เช่น ศาลเจ้าตลาดเจ้าพระยา ศาลเจ้าตลาดหมอชิต เป็นต้น

นอกจากบทบาทของศาลเจ้าดังเหตุแห่งการสร้างแล้ว ศาลเจ้ายังมีบทบาทซึ่งเป็นประโยชน์ในแง่สังคม อาทิ
เป็นสมาคมที่พบปะสังสรรค์ของคนจีนเชื้อสายต่างๆ เป็นโรงเรียนสอนภาษาจีน เป็นที่รักษาพยาบาล เป็นมูลนิธิ
เป็นหน่วยสังคมสงเคราะห์ เพื่อช่วยเหลือผู้เดือดร้อน เป็นต้น

บทบาทของศาลเจ้าในด้านสังคมนี้ไม่จำกัดเฉพาะในหมู่ชาวจีน ชาวไทยจำนวนไม่น้อยก็มักมีส่วนร่วม หรือได้รับประโยชน์จากวัฒนธรรมอันเนื่องด้วยศาลเจ้า ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนและสม่ำเสมอ คือ งานพิธีทิ้งกระจาดให้ทานคนยากจน โดยไม่จำกัดเชื้อชาติและศาสนา ที่แทบทุกศาลเจ้าที่ได้รับความนิยมมักมีพิธีกันเป็นประจำทุกปี นับเป็นการหล่อหลอมกลมกลืนผูกพันในหมู่คนหลากสัญชาติในประเทศไทยรูปแบบหนึ่ง

ศาลเจ้าในเมืองไทยที่ขึ้นทะเบียนศาลเจ้าตามกฎเสนาบดี ว่าด้วยที่กุศลสถานชนิดศาลเจ้า มีการกำกับดูแลภายใต้พระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ โดย พ.ร.บ.พุทธศักราช 2457 ซึ่งปรับแก้ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ระบุในมาตรา 123 ว่า “ที่วัดหรือกุศลสถานอย่างอื่น ที่เป็นของกลางของมหาชนก็ให้อยู่ในหน้าที่กรมการอำเภอจะต้องคอยตรวจตราอุดหนุนผู้ปกปักรักษา อย่าให้ผู้ใดรุกล้ำเบียดเบียนที่อันนั้น” โดยกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดินแทนศาลเจ้า เพื่อปกปักรักษาที่ของศาลเจ้าแทนมหาชน มิให้ผู้ใดนำที่ดินของศาลเจ้าไปใช้ประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้อง จำนวนศาลเจ้าในแต่ละชุมชนอาจมีจำนวนมากบ้างน้อยบ้าง

จากข้อมูลทะเบียนศาลเจ้าของกรมการปกครอง เมื่อ พ.ศ.2543 ศาลเจ้าที่ขึ้นทะเบียนทั่วประเทศใน 58 จังหวัด มีจำนวนถึง 657 แห่ง ในจำนวนนี้ภาคกลางเป็นภาคที่มีจำนวนศาลเจ้ามากเป็นอันดับหนึ่ง คือ 347 แห่ง อันดับถัดไป คือ ภาคตะวันออก จำนวน 132 แห่ง และภาคใต้ จำนวน 119 แห่ง ส่วนภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีจำนวนไม่มากนัก คือ 36 และ 23 แห่งตามลำดับ นอกจากนี้ยังมีอีก 18 จังหวัด ที่ศาลเจ้าไม่อยู่ในการดูแลของทางราชการ

เห็นได้ว่าภาคกลางเป็นภูมิภาคที่มีศาลเจ้าเป็นจำนวนมากกว่าภูมิภาคอื่นๆ ทั้งนี้ G. William Skinner ซึ่งได้ศึกษาสังคมจีนในประเทศไทย วิเคราะห์ว่า น่าจะมีสาเหตุจากการที่ภาคกลางเป็นพื่นที่ที่มีชาวจีนอพยพมาตั้งรกรากกันอย่างหนาแน่นมากที่สุด เนื่องจากมีการคมนาคมขนส่งที่ทันสมัยทั้งทางรถยนต์และรถไฟเหมาะแก่การประกอบอาชีพ
โดยเฉพาะระหว่างสงครามโลกทั้ง 2 ครั้ง ชาวจีนที่อพยพมาอยู่ภาคกลางมีมากขึ้นถึง 3 เท่า จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ภาคกลางมีจำนวนศาลเจ้ามากกว่าภูมิภาคอื่นๆ

และหากจะแยกตามจังหวัดที่มีจำนวนศาลเจ้ามากกว่า 20 แห่งขึ้นไป ซึ่งมีอยู่ด้วยกัน 10 จังหวัด จังหวัดในภาคกลางก็ยังคงครองสถิติจำนวนมาก โดยอันดับแรก คือ กรุงเทพฯ ที่มีมากถึง 78 แห่ง* อันดับ 2 คือ นครปฐม 53 แห่ง (เป็นศาลเจ้าจีน 48 แห่ง) อันดับ 3 คือ ชลบุรี 49 แห่ง จังหวัดเพชรบุรีและจันทบุรี มีจำนวน 30 แห่ง ส่วนจังหวัดที่เหลือมีจำนวน 20 เศษ คือ ราชบุรี พระนครศรีอยุธยา สมุทรสงคราม สงขลา และระยอง มีจำนวน 28, 25, 24, 22 และ 21 ตามลำดับ

(*จำนวนศาลเจ้าที่ขึ้นทะเบียนในเขตกรุงเทพฯ จากรายงานการศึกษาศาสนสถานประเภทศาลเจ้าในเขตกรุงเทพมหานคร
ปี พ.ศ. 2554 ของ
กองนโยบายและแผนงาน สำนักผังเมือง กทม มีจำนวน 77 แห่ง  แบ่งเป็นศาลเจ้าที่มีอาคารและรูปเคารพ 71 แห่ง เป็นศาลเจ้าร้าง 6 แห่ง)

จากสถิติจำนวนศาลเจ้าที่มีมากเป็นอันดับ 2 ของประเทศนี้ ทำให้พอจะกล่าวอ้างได้ว่าจังหวัดนครปฐมเป็นแหล่งชุมชนใหญ่ของชาวจีนรองจากเมืองหลวง ทั้งนี้การที่ชาวจีนอพยพมาอยู่ที่นครปฐมอย่างหนาแน่นนั้น สืบเนื่องจากสมัยต้นรัตนโกสินทร์ ระหว่างสมัยรัชกาลที่ 2 – รัชกาลที่ 5 บริเวณนครปฐม (นครชัยศรีในปัจจุบัน) เป็นเมืองที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำท่าจีนอันเป็นเส้นทางคมนาคมหลัก อยู่ไม่ไกลจากทะเลมากนักจึงสะดวกต่อการอพยพเคลื่อนย้ายของชาวจีน

อีกทั้งยังมีภูมิประเทศเป็นพื้นที่ราบลุ่มอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การประกอบอาชีพ ที่สำคัญเป็นบริเวณที่อยู่ใกล้กับเมืองหลวง คือ กรุงเทพฯ ชาวจีนจึงนิยมมาตั้งหลักแหล่งทำการค้า โดยเฉพาะภายหลังเมื่อเริ่มมีกิจการรถไฟสายใต้
วิ่งผ่านไปสู่จังหวัดและหัวเมืองใกล้เคียง ความนิยมในการอพยพมาตั้งหลักแหล่งประกอบอาชีพยิ่งทวีเพิ่มมากยิ่งขึ้น
จึงทำให้นครปฐมเป็นชุมชนที่มีฐานะทางเศรษฐกิจดี เกิดการสร้างศาลเจ้าขึ้นเป็นจำนวนมากทั้งศาลเจ้าขนาดเล็กและขนาดใหญ่

ศาลเจ้าจีนที่ขึ้นทะเบียนศาลเจ้าของกรมการปกครอง ในจังหวัดนครปฐมจำนวน 48 แห่ง จำแนกตามเขตอำเภอต่างๆ ได้ดังนี้

อ้างอิง
สังคมจีนในประเทศไทย : ประวัติศาสตร์เชิงวิเคราะห์ / G. William Skinner ; ผู้แปล พรรณี ฉัตรพลรักษ์ … [และคนอื่น ๆ] ; บรรณาธิการ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ. กรุงเทพฯ : มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2529

กองนโยบายและแผนงาน. (2554) รายงานการศึกษาศาสนสถานประเภทศาลเจ้าในเขตกรุงเทพมหานคร ปี พ.ศ. 2554.  กรุงเทพมหานคร : สำนักผังเมือง.

บทคัดย่อ ศาลเจ้าหน่าจาซาไทจื้อ : ความเชื่อ รูปเคารพ และบทบาท โดย Long Gaoyun  / ศิลปศาสตร์ปริทัศน์ :
ปีที่ 9 ฉบับที่ 17 มกราคม – มิถุนายน 2557

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *