ศาลเจ้านครปฐม : ศาลเจ้าม้าดำ (ซำซัวก๊กอ้วง หรือ ซำอ้วงเอี้ย)

จากบทความก่อนหน้า เรื่อง “ศาลเจ้านครปฐม : รู้จักศาลเจ้า” ซึ่งกล่าวถึงข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับประวัติความเป็นมา และเหตุแห่งการสร้างศาลเจ้าในเมืองไทย ตลอดจนบทบาทของศาลเจ้าจีนต่อชุมชนชาวจีนและชุมชนโดยรวม อีกทั้งยังให้ข้อมูลพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของศาลเจ้าโดยย่อ รวมทั้งข้อมูลจำนวนศาลเจ้าที่ขึ้นทะเบียนกับกรมการปกครองของไทย หมายรวมถึงจำนวนศาลเจ้าในจังหวัดนครปฐมที่ขึ้นทะเบียนจำนวน 53 แห่ง ซึ่งเป็นจำนวนที่มากเป็นอันดับ 2 ของประเทศ รองจากกรุงเทพฯ โดยได้ให้รายชื่อศาลเจ้าเฉพาะส่วนที่เป็นศาลเจ้าจีน จำนวน 48 แห่ง ใน 6 อำเภอ

และเป็นข้อสังเกตว่าในจำนวนดังกล่าว โดยเฉพาะในเขตอำเภอเมือง ที่อยู่ในเขตเทศบาลนครนครปฐมนั้น ยังมีศาลเจ้าอีกหลายแห่ง ทั้งที่เป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไป หรือรู้จักเฉพาะในย่านชุมชนนั้น หรือแม้แต่ตั้งอยู่ในบริเวณที่เป็นชุมชนตัวเมือง แต่ไม่ปรากฏในบัญชีรายชื่อที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้ ในจำนวนดังกล่าวนี้มี ศาลเจ้าม้าดำ ที่ชาวบ้านมักคุ้นเคยนามเรียกนี้ หรือที่เรียกในภาษาจีนตามสำเนียงแต้จิ๋วว่า ซำซัวก๊กอ้วง หรือ ซำอ้วงเอี้ย รวมอยู่ด้วย

ประวัติความเป็นมาโดยย่อ ของศาลเจ้าม้าดำ หรือ ศาลเจ้าซำซัวก๊กอ๊วง หรือ ซำอ้วงเอี้ย วัดกลางนี้ จากข้อมูลแนะนำศาลเจ้า กล่าวว่า ศาลเจ้าแห่งนี้เดิมเป็นศาลไม้เล็กๆ หลังคามุงจาก และจากการสอบถามชาวบ้านซึ่งมีบ้านเรือนตั้งอาศัยอยู่ในพื้นที่ของศาลเจ้า คือ คุณหมวย อายุ 60 ปีเศษ เล่าว่า สมัยเด็กนั้นศาลเจ้ามีขนาดเล็กๆ หลังคามุงสังกะสี เพิ่งมาพัฒนาเป็นอาคารก่อปูนนี้ราว 30-40 ปี ที่ผ่านมา ซึ่งคำกล่าวนี้ตรงกับข้อมูลแนะนำศาลเจ้า ที่ระบุว่าบริเวณศาลเจ้าเดิมอยู่ท่ามกลางไร่และสวนผัก

ต่อมามีชาวจีนแต้จิ๋ว และจีนแคะ (ฮากก้า) ซึ่งอพยพมาจากแผ่นดินเกิดโพ้นทะเล และมีความเคารพนับถือในความศักดิ์สิทธิ์ของพระซำซัวก๊กอ้วง ได้มาตั้งถิ่นฐานอยู่ในบริเวณดังกล่าวและมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเป็นจำนวนมาก จึงร่วมกันบริจาคทรัพย์เพื่อสร้างศาลขึ้นใหม่ ประมาณ พ.ศ.2487-2492 โดยเป็นอาคารคอนกรีตหลังเดียวขนาดย่อม สร้างตามแบบสถาปัตยกรรมจีนโบราณ หลังคามีมังกรเล่นไฟ 2 ตัว เชิงชายประดับด้วยเซรามิกดินเผา บริเวณด้านหน้าศาลมีรูปม้าตบแต่ง 3 ตัว ซึ่งมีความหมายถึงม้าซึ่งเป็นพาหนะของพระซำซัวก๊กอ้วงทั้ง 3 องค์

เมื่อเข้าไปในภายในด้านซ้ายจะเป็นรูปมังกรปั้น ส่วนด้านขวาเป็นรูปเสือโคร่ง ตามความเชื่อของชาวจีนว่า สัตว์ทั้ง 2 ชนิดนั้นแสดงถึงความมีอำนาจวาสนา และด้านในของศาลนี้ยังมีป้ายจำลองเป็นภาษาจีน ซึ่งเล่ากันว่าเป็นป้ายที่ได้รับพระราชทานจากองค์ฮ่องเต้ในอดีต ตั้งอยู่บนโต๊ะบูชาบริเวณด้านหน้าองค์จำลองขององค์ซำซัวก๊กอ้วง ส่วนด้านในสุดจะมีแท่นประทับ 3 หลัง แท่นกลางเป็นที่ประทับขององค์ซำซัวก๊กอ้วงจำลองทั้ง 3 องค์ แท่นซ้ายเป็นที่ประทับขององค์จำลองพระยูไล สื่อโจ้ไชซือ ไต่เสี่ยฮุดโจ้ และแท่นขวาเป็นที่ประทับขององค์จำลองฉื่อปุยเนี่ยเนี้ย หรือ เจ้าแม่กวนอิม ฮวบโกเนี่ยเนี้ย และ ปามิ้งมาโจ้ โดยแท่นประทับทั้ง 3 หลังนี้ ได้มาสร้างเพิ่มเติมขึ้นภายหลัง

ความศรัทธาและความเชื่ออย่างมั่นคงของชาวแต้จิ๋ว ชาวฮากก้า และชาวฮกเกี้ยนนี้ ทำให้ไม่ว่าจะไปอยู่ที่ใดจะต้องมีการสร้างศาลเจ้าซำซัวก๊กอ้วงอยู่ด้วยเสมอ เฉพาะที่จังหวัดนครปฐมนี้มีศาลของเทพเจ้าทั้ง 3 องค์นี้ อยู่มากกว่า 3 แห่ง
เท่าที่ผู้เขียนมีข้อมูลในขณะนี้ คือ ที่ศาลเจ้าแห่งนี้หนึ่งแห่ง และอีกแห่งที่พบมีรูปเคารพซำซัวก๊กอ้วง คือ ที่ศาลเจ้าหลักเมือง ที่ ต.บางแก้ว อ.นครชัยศรี แต่ที่ศาลเจ้าแห่งหลังนี้ ชาวบ้านคุ้นเคยเรียกชื่อเทพทั้ง 3 องค์นี้เป็นภาษาไทยว่า เจ้าสามกลม
อย่างไรก็ตามตัวอักษรจารึกภาษาจีนที่แท่นบูชาก็คงใช้ตัวอักษรจีนคำเดียวกับที่ปรากฎที่ศาลเจ้าม้าดำแห่งนี้ ส่วนในภูมิภาคอีกแห่งซึ่งมักพบศาลเจ้าซำซัวก๊กอ้วง คือ ในภาคใต้ซึ่งมีศาลเทพเจ้าทั้ง 3 องค์นี้อยู่หลายแห่งด้วยกัน

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *