งานกลางเดือน…งานประจำปี ณ พระปฐมเจดีย์ ตอนที่ 1

ขอบคุณภาพประกอบจาก: คุณเจษฎา อุ่นศรี

การนับวัน เดือนตามคติไทย เป็นการนับแบบจันทรคติ กำหนดโดยอาศัยการโคจรของดวงจันทร์รอบโลก ซึ่งทำให้เกิดปรากฏการณ์ข้างขึ้น-ข้างแรม  โดยเรียกตามลักษณะของดวงจันทร์ ข้างขึ้น จึงหมายถึงระยะเวลาตั้งแต่หลังดวงจันทร์มืดสนิท ไปถึงสว่างขึ้นจนเต็มดวง นับตั้งแต่วันขึ้น 1 ค่ำ  ไปถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เป็นระยะเวลารวม 15 วัน ในทางกลับกันข้างแรม จึงหมายถึงระยะเวลาตั้งแต่หลังดวงจันทร์เต็มดวง ไปถึงมืดดับสนิทจนหมดดวง นับตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ  ไปถึงวันแรม 15 ค่ำ เป็นระยะเวลา 15 วัน  เช่นกัน

ส่วนการนับเดือนตามจันทรคติแบบไทยภาคกลางนั้น มีชื่อเรียกเดือนตามลำดับ โดย 3 เดือนแรกมีคำเรียกเฉพาะแบบไทยว่า เดือนอ้าย เดือนยี่ เดือนสาม และตั้งแต่เดือนสี่เป็นต้นไป มีคำเรียกตามลำดับการนับปกติไปจนถึงเดือนสิบสอง

ความเป็นมาของงานกลางเดือน 12

งานนมัสการพระปฐมเจดีย์เริ่มมีขึ้นครั้งแรกเมื่อไร
ทำไมต้องจัดกลางเดือน 12
เป็นคำถามที่ยังต้องหาหลักฐานที่ชัดเจนเป็นคำตอบ

เอกสารลายลักษณ์อักษรซึ่งมีการกล่าวถึงการมานมัสการพระปฐมเจดีย์ ซึ่งอาจสันนิษฐานได้ว่าเป็นช่วงเทศกาลประจำปี ที่ผู้เขียนพบในขณะนี้เป็นเอกสารสมัยรัตนโกสินทร์ คือ “โคลงนิราศพระประทม” พระนิพนธ์ของ พระเจ้าบรมวงษ์เธอกรมหลวงวงษาธิราชสนิท ซึ่งทรงนิพนธ์เมื่อครั้งเป็นกรมหมื่นวงษาสนิท ในสมัยรัชกาลที่ 3 เมื่อเสด็จมานมัสการในวันเสาร์ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ปีมะเมีย จุลศักราช 1196 ตรงกับวันเสาร์ที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ.2377  ซึ่งตรงกับวันลอยกระทงในช่วงเวลากลางเดือน 12

เวลาต่อมาสุนทรภู่ได้มานมัสการพระปฐมเจดีย์ในช่วงเวลาเดือน 12 เช่นกัน ดังได้ประพันธ์ไว้ใน “นิราศพระประธม”
ซึ่งเมื่อกรมศิลปากรนำต้นฉบับสมุดไทย หมายเลข 1442 ค. มาจัดพิมพ์ พ.ศ. 2504 ได้ทำการตรวจสอบและแก้ไขเนื่องจากสมุดไทยดังกล่าวฉีกขาดไม่สมบูรณ์ ในการจัดพิมพ์ครั้งนี้ นายธนิต อยู่โพธิ์ ได้จัดทำคำอธิบายเชิงอรรถขยายความเพิ่มเติม โดยสอบทานประวัติสุนทรภู่ จากพระนิพนธ์ของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ และเทียบเคียงเรื่องราวต่างๆ กับร้อยกรองเรื่องอื่นๆ ของสุนทรภู่ด้วย สำหรับระยะเวลาในการประพันธ์ได้เทียบเคียงกับ เรื่อง รำพันพิลาป
ซึ่งสุนทรภู่ได้แต่งขึ้นก่อนลาสิกขาบทในเดือน 8 ปีขาล พ.ศ.2385 และสันนิษฐานว่าเมื่อสึกแล้วท่านจึงเดินทางมานมัสการพระปฐมเจดีย์ และได้ประพันธ์นิราศพระประธม

วันออกเดินทางจากบทขึ้นต้นในนิราศนี้ นายธนิตให้ความเห็นว่า “ถวิลวันจันทร์ทิวาขึ้นห้าค่ำ” นั้น
“เข้าใจว่า วันจันทร์ขึ้น 5 ค่ำ เดือน 12 ตรงกับวันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ.2385”

ข้อมูลจากบทพรรณนาเรื่องการเดินทางในนิราศทั้ง 2 เรื่องนั้น ทำให้ทราบว่า การเดินทางโดยเรือในเวลานั้น ยังไม่สามารถเข้ามาถึงพระปฐมเจดีย์ โดยพระเจ้าบรมวงษ์เธอกรมหลวงวงษาธิราชสนิทสิ้นสุดการเดินทางเส้นทางน้ำ
และเดินทางต่อโดยออกจากบ้านธรรมศาลาด้วยพาหนะ คือ ช้าง ส่วนสุนทรภู่และบุตรทั้ง 2 คน คือ ตาบ และนิล
ภายหลังพักค้างแรมที่บ้านเพนียดซึ่งเป็นโรงช้างหลวงแล้ว วันรุ่งขึ้นจึงเดินด้วยเท้าไปตามทางในป่าจนถึงพระปฐมเจดีย์

นิราศทั้ง 2 เรื่อง มีการพรรณนาถึงสัตว์ และพืชพรรณต่างๆ ที่พบระหว่างการเดินทาง เช่น เสือดาว กวางทราย ไก่เถื่อน ตุ่น หมูป่า ชะมด นกโนรี นกคุ่ม นกเปล้า ลำดวน ประยง สารภี อบเชย เป็นต้น และเมื่อมาถึงพระปฐมเจดีย์แล้วได้พรรณนาถึงสภาพภูมิประเทศที่เป็นป่ารกร้าง มีชาวบ้านอาศัยอยู่บ้าง โดยสุนทรภู่ได้พบผู้เฒ่าเล่าเรื่องเกี่ยวกับพระยาพานสร้างพระประธมและนำมาแต่งประกอบในนิราศ

ความยากลำบากในการเดินทางตลอดจนสภาพภูมิประเทศที่ยังคงเป็นป่ารกแทบจะไร้ผู้คน เช่นเดียวกับเมื่อครั้งพระวชิรญาณภิกขุเสด็จธุดงค์มาทรงนมัสการ เมื่อ พ.ศ.2374 เป็นข้อให้สังเกตว่าพระเจดีย์แห่งนี้น่าจะมีผู้คนเดินทางมาสู่เพียงเพื่อสักการะเฉพาะฤดูกาล ดังนายธนิตได้กล่าวไว้ในบทนำของนิราศฉบับสุนทรภู่ ถึงความเลื่อมใสศรัทธาของพุทธศาสนิกชนต่อพระปฐมเจดีย์ว่า คงมีการมาสักการบูชาเป็นเทศกาลประจำปีในระยะเวลากลางเดือน 12 มาช้านานแล้ว

ทำไมจึงจัดงานกลางเดือน 12

สาเหตุของการจัดงานในกลางเดือน 12 นั้น ผู้เขียนยังไม่พบข้อมูลใดที่เป็นหลักฐานชัดเจน แต่หากจะนับเนื่องในสมัยรัตนโกสินทร์ภายหลังเมื่อรัชกาลที่ 4 ทรงมาบูรณปฏิสังขรณ์ขึ้น ก็อาจพอตั้งข้อสันนิษฐานอันเกี่ยวเนื่องด้วยพระราชพิธี 12 เดือน ในส่วนพระราชพิธีจองเปรียง ลดชุดโคมลอย

ซึ่งมีพระราชนิพนธ์ เรื่อง “พระราชพิธีสิบสองเดือน” ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่กล่าวถึงการยกเสาโคมชัยในหัวเมืองที่วังปฐมเจดีย์ กล่าวว่า

“การพระราชพิธียกเสาโคมชัยนี้เมื่อเวลาเสด็จประทับอยู่พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน
ก็ทำที่พระที่นั่งอาภรณ์พิโทกข์ เมื่อเวลาเสด็จไปประทับอยู่ในพระที่นั่งฝ่ายบูรพทิศ
ก็ทำที่พระที่นั่งสุทไธสวรรย์บ้าง ด้วยมีเสาโคมชัยขึ้นในที่นั้น และเสด็จประพาส
ตามหัวเมืองมีพระราชวังแห่งใด ก็โปรดให้ยกเสาโคมชัยสำหรับพระราชวังนั้น คือ
ที่วังจันทรเกษม วังนารายณ์ราชนิเวศน์ และพระนครคิรี และที่วังปฐมเจดีย์ทุกแห่ง”

การพระราชพิธีจองเปรียง ลดชุดโคมลอย ตามกฎมนเทียรบาล กำหนดให้มีในเดือน 12 และในต้นสมัยรัตนโกสินทร์ก็ยังคงปฏิบัติตามประเพณีโบราณ คือ ในปีใดมีอธิกมาสให้ยกโคมตั้งแต่วันขึ้น 1 ค่ำ และลดโคมลงวันแรม 2 ค่ำ ปีใดไม่มีอธิกมาสให้ยกโคมขึ้น 14 ค่ำ ไปจนวันขึ้นเดือนอ้าย

การยกโคมขึ้นตามคติโบราณเป็นการบูชาพระอิศวร พระนารายณ์ พระพรหม ซึ่งนับเป็นพิธีไสยศาสตร์  ครั้นเมื่อพระเจ้าแผ่นดินหันมานับถือพระพุทธศาสนา ก็เปลี่ยนคติการบูชา เป็นการบูชาพระบรมสารีริกธาตุ พระจุฬามณี และพระพุทธบาท แต่พระราชพิธีก็ยังคงเป็นพิธีพราหมณ์ กระทั่งสมัยรัชกาลที่ 4 ทรงมีพระราชดำริให้การพระราชพิธีทั้งปวงควรจะเนื่องด้วยพระพุทธศาสนา จึงทรงโปรดเกล้าฯ ให้มีสวดมนต์เย็น ฉันเช้าก่อนยกเสาโคม

ดังเป็นที่ทราบว่าพระปฐมเจดีย์เป็นสถูปเจดีย์ที่รัชกาลที่ 4 ทรงตั้งพระทัยมั่นที่จะบูรณะปฏิสังขรณ์ขึ้นแม้จะอยู่ในป่ารก
ด้วยทรงมั่นพระทัยว่าเป็นมหาธาตุเจดีย์บรรจุพระบรมธาตุ ที่มีขนาดใหญ่กว่าพระเจดีย์อื่นใดในสยามประเทศ การพระราชพิธียกเสาโคมชัยที่วังปฐมเจดีย์ในพระราชพิธีจองเปรียญ เดือน 12 จึงนับเป็นการพระราชพิธีเพื่อบูชาพระบรมสารีริกธาตุแห่งพระปฐมเจดีย์

งานองค์พระวันเก่า…จากเอกสารชั้นต้น

งานนมัสการพระปฐมเจดีย์แต่ครั้งโบราณมีลักษณะเช่นไร เป็นเรื่องที่ยากจะหาคำตอบ ข้อมูลเท่าที่ผู้เขียนพบขณะนี้และมีการกล่าวถึงงานนมัสการประจำปีพระปฐมเจดีย์ มีเพียงเอกสารจดหมายเหตุสมัยรัตนโกสินทร์ ของกระทรวงศึกษาธิการ สมัยรัชกาลที่ 5 เป็นหนังสือโต้ตอบ จากสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ กราบทูลรายงาน เรื่อง เกี่ยวกับเงินรายได้การจัดงานเทศกาลนมัสการพระปฐมเจดีย์ ต่อพระเจ้าน้องยาเธอกรมขุนสมมตอมรพันธุ์ราชเลขานุการ
ซึ่งพบจำนวน 2 ฉบับ มีเนื้อหาโดยสรุป คือ

ใน ร.ศ.126 หรือ พ.ศ.2450 จัดงานนมัสการพระปฐมเจดีย์ประจำปีขึ้น ในวันขึ้น 12 ค่ำ เดือน 12 ถึงวันแรม 1 ค่ำ เดือน 12 ปีมะแม ตรงกับวันเสาร์ที่ 16 – วันพุธที่ 20 พฤศจิกายน ในการจัดงานมีเงินรายได้ จากค่าเช่าที่และการปลูกร้านให้ราษฎรจำหน่ายสิ่งของ ตลอดจนเงินบำรุงอื่นๆ เป็นจำนวน 1,078 บาท 60 อัฐ หักค่าใช้จ่ายแล้วคงเหลือ 665 บาท 32 อัฐ และมีรายได้จากค่าโดยสารรถไฟพิเศษ 12,527 บาท 15 อัฐ ต่ำลงจากปีที่ผ่านมา 24,419 บาท

ส่วน ร.ศ.127 หรือ พ.ศ.2451 จัดงานในวันขึ้น 12 ค่ำ เดือน 12 ถึงวันแรม 1 ค่ำ เดือน 12 ปีวอก ตรงกับวันพฤหัสบดีที่ 5 – วันจันทร์ที่ 9 พฤศจิกายน มีเงินรายได้จากค่าเช่าที่ และการปลูกร้านให้ราษฎรจำหน่ายสิ่งของ ตลอดจนเงินบำรุงอื่นๆ
เป็นจำนวน 1,213 บาท 44 อัฐ หักค่าใช้จ่ายแล้วคงเหลือ 937 บาท 32 อัฐ

ข้อมูลจากเอกสารทั้ง 2 ฉบับ ทำให้ทราบว่าการจัดงานในสมัยรัชกาลที่ 5 นั้น เริ่มในวันขึ้น 12 ค่ำ เดือน 12 ถึงวันแรม 1 ค่ำ เดือน 12 ปี รวมระยะเวลา 5 วัน ภายในงานมีกิจกรรมการออกร้านจำหน่ายสินค้า และอื่นๆ ดังเห็นได้ว่ามีการเก็บค่าเช่าที่ และในช่วงเวลาดังกล่าวการคมนาคมทางรถไฟมาถึง จ.นครปฐมแล้ว

งานองค์พระวันเก่า…จากเอกสารชั้นรอง

ปัจจุบันนอกจากเอกสารจดหมายเหตุดังกล่าวแล้ว ผู้เขียนยังไม่พบเอกสารอื่น ซึ่งเป็นหลักฐานชั้นต้น หรือ หลักฐานปฐมภูมิ ที่มีการกล่าวถึงการจัดงานนมัสการพระปฐมเจดีย์ คงพบแต่เอกสารหลักฐานชั้นรอง หรือ หลักฐานทุติยภูมิ คือ

หนังสือที่ระลึกการจัดงานนมัสการประจำปี ตั้งแต่ พ.ศ.2512 ถึง 2553 ซึ่งแม้จะยังขาดบางฉบับที่พอระบุได้ คือ ฉบับก่อน พ.ศ.2512, ฉบับ 2513–14, 2516, 2522, 2524, 2534, 2538, 2540, 2541-42, 2545, 2548-49, 2554-57
แต่ข้อมูลจากฉบับที่พบก็ยังคงพอจะสืบหาเค้าเงื่อนให้เห็นพัฒนาการความเป็นมา ของการจัดงานตลอดจนกิจกรรมต่างๆ ภายในงานได้พอประมาณ

ทั้งนี้ข้อมูลจากถ้อยแถลงของนายดำรง สุนทรศารทูล ประธานจัดงาน พ.ศ.2512 ได้แจ้งถึงการจัดทำหนังสือที่ระลึกที่ว่างเว้นมาเป็นระยะเวลานานเพิ่งริเริ่มขึ้นใหม่อีกครั้งในปีนี้ ช่วยลดช่องว่างในความห่างหายไปของหนังสือที่ระลึกก่อน พ.ศ.2512 ได้ส่วนหนึ่ง นอกจากนี้นายดำรงยังได้กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการจัดทำหนังสือที่ระลึก ซึ่งนอกจากจะใช้เพื่อแจกเป็นอนุสรณ์แล้ว ยังเป็นหลักฐานแสดงให้เห็นความก้าวหน้าการจัดงานในแต่ละปี ดังจะยกข้อมูลที่น่าสนใจจากหนังสือที่ระลึกบางฉบับมาเล่าสู่กันฟังในลำดับถัดไป

ในบรรดาหนังสือที่ระลึกที่พบดังกล่าวแล้วนั้น ฉบับที่เก่าสุด คือ พ.ศ.2512 ให้ข้อมูลการจัดงานครั้งนี้ โดยเรียกชื่องานว่า “เทศกาลนมัสการพระปฐมเจดีย์ ประจำปี 2512” การจัดงานเริ่มตั้งแต่วันขึ้น 12 ค่ำ ถึง วันแรม 3 ค่ำ เดือน  12 ปีระกา ตรงกับวันพฤหัสบดีที่ 20 – วันพุธที่ 26 พฤศจิกายน รวมระยะเวลา 7 วัน และมีการจัดงานกาชาดจังหวัดนครปฐมต่อท้ายอีก 2 วัน คือ วันที่ 27-28 พฤศจิกายน

การจัดงานนมัสการพระปฐมเจดีย์ในครั้งเก่าถือเป็นงานประจำปีของจังหวัดนครปฐม กำหนดจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานคณะกรรมการจัดงาน

ใน พ.ศ.2512 คือ นายดำรง สุนทรศารทูล ซึ่งท่านได้จัดงานมาแล้ว 2 ปี คือ ตั้งแต่ พ.ศ.2510 โดยในปีนี้ พลเอกประภาส จารุเสถียร รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานในพิธีเปิดงานเวลา 14.30 น. ซึ่งนอกจากการเปิดงานแล้วประธานยังร่วมชมขบวนแห่ผ้าห่มองค์พระปฐมเจดีย์ รวมทั้งได้เยี่ยมชมร้านของหน่วยเกษตร วิทยาลัยทับแก้ว และร้านของอำเภอต่างๆ

สำหรับวัตถุประสงค์สำคัญในการจัดงานนมัสการประจำปีนั้น ก็เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองพระปฐมเจดีย์ กับทั้งเป็นการหารายได้ให้กับทางวัด และยังเป็นการเผยแผ่พุทธศาสนา ตลอดจนเผยแพร่ความรู้ต่างๆ

ทั้งความรู้ทั่วไปและความรู้ในการอาชีพ โดยมุ่งให้จังหวัด หน่วยราชการต่างๆ โรงเรียน ตลอดจนห้างร้าน ได้แสดงผลงานและเผยแพร่กิจการความก้าวหน้า พร้อมทั้งแถลงนโยบาย เช่น การจัดการศึกษา การเกษตร อุตสาหกรรม เป็นต้น
อีกทั้งยังส่งเสริมให้เยาวชนได้แสดงออกในทางที่ถูกควร

การหารายได้จากการจัดงานนั้นมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อเป็นทุนในการบูรณะปฏิสังขรณ์พระปฐมเจดีย์ เมื่อเปรียบเทียบจากสถิติรายรับ – รายจ่าย การจัดงานตั้งแต่ พ.ศ.2507 – 2511 ที่แสดงในหนังสือฉบับนี้

เห็นได้ว่า พ.ศ.2511 สามารถหารายได้ให้กับทางวัดเป็นจำนวนเงินสูงถึง 1,504,245.25 บาท และเมื่อหักค่าใช้จ่ายแล้วคงเหลือรายได้สุทธิเป็นจำนวน 923,183.75 บาท ทั้งนี้รายได้ดังกล่าวเพิ่มขึ้น – ลดลงต่างกันในแต่ละปี โดยปีที่มีรายได้ต่ำสุด คือ พ.ศ.2509 มีรายได้ 1,042,295.90 บาท หลังหักค่าใช้จ่ายแล้วคงเหลือสุทธิ 409,529.54 บาท

ในการจัดงานนั้นมีการเปิดพระวิหารและคดระเบียงทุกแห่ง ให้ประชาชนได้สักการะพระพุทธรูปโบราณ รวมทั้งเปิดพิพิธภัณฑ์พระปฐมเจดีย์และพระวิหารด้านทิศตะวันออกให้ชม อีกทั้งมีการบำเพ็ญกุศลตามจารีต ประเพณีของท้องถิ่น
ตลอดจนมีการทำบุญแก่พระภิกษุสามเณรที่มาในงานและการแนะนำอบรมธรรมปฏิบัติบริเวณสำนักวิปัสนา

กิจกรรมในวันเพ็ญกลางเดือน 12 ซึ่งตรงกับวันอาทิตย์ที่ 23 พฤศจิกายน
เวลา 06.00 น. ให้มีการทำบุญตักบาตรที่ถนนหน้าพระร่วงฯ
ในเวลาค่ำ 19.00 น. พระภิกษุสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ที่พระวิหารหลวง
และในเวลา 20.00 น. พระภิกษุสงฆ์และพุทธศาสนิกชน ร่วมประชุมพร้อมกัน ที่พระวิหารหลวง กล่าวคำบูชาพระรัตนตรัยแล้วเวียนเทียนรอบองค์พระปฐมเจดีย์
หลังจากนั้นจัดให้มีการจุดดอกไม้เพลิงเป็นพุทธบูชาในเวลา 22.00 น.

กิจกรรมอื่นๆ ภายในงานยังมีอีกมากมายหลากหลาย ทั้งที่ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานรัฐและเอกชน เช่น การออกร้านการเกษตร โดยเน้นพืชไร่ที่สำคัญของจังหวัด ซึ่งเป็นนโยบายหลักในการส่งเสริมอาชีพของประชาชน มีการจัดแสดงผลงานของหน่วยงานต่างๆ ในจังหวัด เช่น อบจ. การศึกษา สรรพากร โรงพยาบาล เป็นต้น

และยังมีการออกร้านของหน่วยราชการ โรงเรียน สมาคม และอำเภอต่างๆ เพื่อจำหน่ายสินค้าพื้นเมือง เป็นการพัฒนาอาชีพของท้องถิ่นที่น่าสนใจ

นอกจากนี้ยังมีการออกร้านของบริษัท ห้างร้านต่างๆ เพื่อแสดงสินค้าที่ผลิตภายในประเทศให้ประชาชนรู้จัก

ในปีดังกล่าวนี้มีหน่วยงานใหม่ที่ร่วมออกร้านเพิ่มเติมเป็นครั้งแรก เช่น โรงเรียนการบินทหารอากาศ และวิทยาลัยทับแก้ว แห่งมหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งเป็นสถาบันที่ตั้งขึ้นใหม่ในจังหวัดนครปฐมซึ่งเพิ่งเริ่มเปิดทำการก็ได้ร่วมออกร้านด้วย

นอกจากกิจกรรมที่ให้ความรู้และการส่งเสริมอาชีพในท้องถิ่นแล้ว ยังมีกิจกรรมที่เป็นความบันเทิงและมหรสพต่างๆ อีกมากมาย เช่น การจัดการแสดงกลางแจ้งของหน่วยราชการ โรงเรียนและประชาชน การจัดมหรสพต่างๆ เช่น ลิเก ลำตัด โขน ละครร้อง ดนตรีสากล ภาพยนตร์ และสวนสนุก และยังมีการเปิดการแข่งขันกีฬายิงปืนของตำรวจภูธร เขต 7

งานเหล่ากาชาดจังหวัดนครปฐม…งานพ่วงท้ายเทศกาล

หนังสือที่ระลึกการจัดงานนมัสการประจำปีที่น่าสนใจลำดับถัดมา คือ ฉบับ พ.ศ.2515 โดยฉบับนี้มีขนาดของรูปเล่มที่แตกต่างจากเล่มอื่นๆ ในช่วงปีตามแจ้งทั้งหมด กล่าวคือ หนังสือที่ระลึกฉบับอื่นๆ มีขนาด 16 หน้ายก มีความหนาบางของเล่ม มากบ้างน้อยบ้าง ส่วนฉบับนี้ เป็นขนาด 16 หน้ายก ที่ลดทอนความสูงจนรูปเล่มเกือบจะเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัสดูแปลกตาออกไป

ที่สำคัญชื่อหนังสืออันสื่อถึงชื่องานก็แตกต่างจากฉบับ พ.ศ.2512 โดยฉบับนี้ชื่อว่า “ที่ระลึกงานเทศกาลนมัสการองค์พระปฐมเจดีย์ งานเหล่ากาชาดจังหวัดนครปฐมปี 2515” และเมื่อตรวจสอบชื่องานในหมายกำหนดการพบใช้ชื่อว่า
“งานเทศกาลนมัสการองค์พระปฐมเจดีย์ ประจำปี 2515 และงานเหล่ากาชาดจังหวัดนครปฐม”

การจัดงานประจำปี 2515 นี้ เริ่มตั้งแต่วันขึ้น 12 ค่ำ ถึง วันแรม 3 ค่ำ เดือน  12 ปีชวด ตรงกับวันศุกร์ที่ 17 – วันพฤหัสบดีที่ 23 พฤศจิกายน รวมระยะเวลา 7 วัน และมีการจัดงานเหล่ากาชาดจังหวัดนครปฐม ต่อท้ายอีก 2 วัน คือ วันที่ 24-25 พฤศจิกายน

การจัดงานในปีนี้ นายประพจน์ เรขะรุจิ ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานคณะกรรมการจัดงาน โดย ฯพณฯ จอมพลถนอม กิตติขจร หัวหน้าคณะปฏิวัติเป็นประธานเปิดงานเวลา 14.30 น. หลังจากชมขบวนแห่ผ้าห่มองค์พระ ผู้ว่าฯ ได้เชิญประธานและแขกผู้มีเกียรติขึ้นรถพ่วงชมภายในบริเวณงาน ซึ่งในปีนี้ได้ขยายผังงานกว้างขวางขึ้น โดยมีการจัดสร้างถนนรอบกำแพงแก้วชั้นนอกขึ้นอีกสายหนึ่ง

และแม้จะอยู่ในช่วงระหว่างการปฏิวัติก็ได้รับการผ่อนผันให้จำหน่ายอาหารเครื่องดื่ม ตลอดจนการแสดงมหรสพนอกเวลาที่คณะปฏิวัติได้ประกาศห้าม

กิจกรรมภายในงานทั้งกิจกรรมด้านการส่งเสริมพระพุทธศาสนา กิจกรรมเวียนเทียน และจุดดอกไม้เพลิงเป็นพุทธบูชา ในวันขึ้น 15 ค่ำ รวมทั้งกิจกรรมที่ให้ความรู้ การส่งเสริมอาชีพ ตลอดจนกิจกรรมบันเทิงและมหรสพต่างๆ ก็ยังคงมีตามปกติ แตกต่างไปบ้างในบางส่วน เช่น มีการประกวดพันธุ์ข้าว พืชผลไม้ และกล้วยไม้ นอกจากนี้ยังมีการประกวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมไทย ณ ร้านกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม การประกวดการแสดงนักเรียน การแข่งขันตะกร้อลอดบ่วง เพิ่มจากเดิมที่มีเพียงการแข่งขันกีฬายิงปืน

ที่พิเศษคือ ทาง อบจ.ได้จัดรถพ่วงพิเศษเพื่อบริการให้ประชาชนนั่งชมบริเวณงานตลอดงาน และในปีนี้มีการเก็บบัตรผ่านประตูเข้าบริเวณงานแยกเป็นการจำหน่ายของวันงานประจำปีและวันงานเหล่ากาชาด โดยในวันสุดท้ายของงานเหล่ากาชาด มีการมอบรางวัลแก่ผู้ชนะการประกวดพันธุ์ข้าวและพืชผลไม้ ณ เวทีการแสดงของร้านพฤกษากาชาด และการออกรางวัลบัตรสมนาคุณกาชาดซึ่งมีรางวัลใหญ่ คือ รถยนต์กาแลนท์ 1 คัน รวมทั้งรางวัลอื่นๆ ด้วย
เมื่อทางวัดดำริจัดงานเอง

หนังสือที่ระลึกฉบับสำคัญที่ทำให้เห็นการเปลี่ยนผ่านในส่วนของคณะกรรมการจัดงานประจำปี ซึ่งเดิมดำเนินการโดยทางวัดมอบหมายให้ราชการคือจังหวัดมีผู้ว่าราชการเป็นประธานช่วยจัดงาน ด้วยมีความพร้อมด้านกำลังคนที่มีความรู้ความสามารถ และเปลี่ยนมาสู่การจัดงานโดยคณะสงฆ์ เนื่องจากบ้านเมืองอยู่ในสภาวการณ์เปลี่ยนแปลง เพิ่งผ่านพ้นจากเหตุการณ์วันมหาวิปโยค ภาวะจิตใจของประชาชนยังไม่คืนสู่ภาวะปกติสุขเท่าที่ควร ทางคณะสงฆ์จึงดำริจัดงานเอง
โดยยึดนโยบายประหยัดเพื่อมิให้ประชาชนที่มาร่วมงานเดือดร้อน แต่ยังคงอาศัยความร่วมมือจากทางราชการช่วยสนับสนุนการดำเนินการต่างๆ

หนังสือฉบับที่กล่าวถึงนี้ หน้าปกใช้ชื่อว่า “พระปฐมเจดีย์” งานนมัสการพระปฐมเจดีย์ ปี 2517 เป็นหนังสือที่ระลึกฉบับแรกที่พบระบุราคาเป็นจำนวนเงิน 3 บาท

การจัดงานประจำปี 2517 นี้ ยังคงเริ่มงานเทศกาลตามโบราณกำหนดไว้ คือ วันขึ้น 12 ค่ำ เดือน  12  ตรงกับวันอาทิตย์ที่ 27 ตุลาคม ถึงวันเสาร์ที่ 2 พฤศจิกายน รวม 7 วัน

วันเวลาการเริ่มต้นงานนี้ พระราชปัญญาภรณ์ รักษาการเจ้าคณะจังหวัดนครปฐม (สมณศักดิ์ในขณะนั้น) ท่านเป็นประธานกรรมการฯ ฝ่ายสงฆ์ ได้กล่าวไว้ในเกริ่นนำว่า องค์พระปฐมเจดีย์เป็นปูชนียสถานที่เป็นสมบัติล้ำค่าของพุทธศาสนิกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ จึงได้จัดงานขึ้นให้พุทธศาสนิกชนทุกคนได้มานมัสการเป็นเทศกาลประจำปี ตรงกับประเพณีลอยกระทงวันเพ็ญกลางเดือน 12  บางปีอาจยืดเวลาไปข้างหน้าหรือหลังตามสมควร ระยะหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้มอบให้ทางราชการคือจังหวัดจัดงาน คณะสงฆ์ในจังหวัดต่างเข้าร่วมด้วย

ในการจัดงาน พ.ศ. 2517 นี้ ยังคงมีประเพณีแห่ผ้าห่มองค์พระปฐมเจดีย์ มีการเทศน์มหาชาติทุกวัน และในวันลอยกระทงยังคงมีการเวียนเทียน มหรสพต่างๆ ตลอดจนการออกร้านการแสดงยังคงมีเช่นเดิม และเพิ่มให้มีการจุดดอกไม้ไฟถวายเป็นพุทธบูชาทุกคืน เวลา 22.00 น.

(โปรดติดตามตอนต่อไป)
______________

เอกสารอ้างอิง
– ที่ระลึกงานเทศกาลนมัสการองค์พระปฐมเจดีย์ งานเหล่ากาชาดจังหวัดนครปฐมปี 2515.  ธนบุรี : โรงพิมพ์ประยูรวงศ์, 2515.
– ที่ระลึกพระปฐมเจดีย์ 2512.  พระนคร : โรงพิมพ์อักษรสัมพันธ์, 2512.
– “พระปฐมเจดีย์” ในเทศกาลงานนมัสการพระปฐมเจดีย์ อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม 27 ตุลาคม-  2 พฤศจิกายน 2517.  กรุงเทพฯ : ศรีเมืองการพิมพ์, 2517.

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *