พระประธานในโบสถ์พระปฐมเจดีย์…เหตุใดผันพระพักตร์ทิศเหนือ

อุโบสถ หรือที่มักคุ้นเคยเรียกว่า โบสถ์ พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ให้ความหมายว่า
สถานที่ที่ใช้สำหรับพระสงฆ์ประชุมทำสังฆกรรม เช่น สวดพระปาติโมกข์ อุปสมบท
โดยมีสีมาเป็นเครื่องบอกเขต
ซึ่งสีมานั้นมักทำด้วยแผ่นหินหรือหลักหิน
เรียกว่า ใบพัทธสีมา ใบสีมา หรือ ใบเสมา ภายในพระอุโบสถประดิษฐานพระพุทธรูปองค์ใหญ่เป็นประธาน
เปรียบเสมือนเป็นองค์แทนพระพุทธเจ้า ประหนึ่งพระองค์ประทับเป็นประธานขณะทำสังฆกรรม ทำกิจของสงฆ์
หรือขณะที่พระสงฆ์ อุบาสก อุบาสิกา เข้าเฝ้าทำวัตรเช้า-เย็น

ด้วยเหตุแห่งการสร้างพระพุทธรูปเพื่อเป็นตัวแทนพระพุทธองค์
จึงมี
ปาง ต่างๆ อันหมายถึงการบอกเล่าพุทธประวัติตอนใดตอนหนึ่ง
ซึ่งแรกเริ่มมีเพียง ๔ ปาง คือ ปางประสูติ ปางตรัสรู้ ปางปฐมเทศนา และปางปรินิพพาน
ทั้งนี้ นอกจากพระพุทธรูปจะแสดงพุทธประวัติด้วยปางต่างๆ แล้ว
ยังปรากฏการแสดง “มุทรา” อันหมายเฉพาะถึงท่าทางของพระหัตถ์ว่าพระพุทธเจ้ากำลังทรงกระทำสิ่งใด
โดยศิลปะอินเดียรุ่นแรกๆ พบพระพุทธรูปแสดงมุทราใน ๖ ท่า คือ
มารวิชัย สมาธิ ปฐมเทศนา ทรงแสดงธรรม (วิตรรกมุทรา
Vitarka Mudra) ประทานอภัย และประทานพร

สำหรับในประเทศไทย พบหลักฐานพระพุทธรูปแสดงมุทราในปางต่างๆ สมัยทวารวดีระยะแรก
อันเป็นศิลปะสืบต่อมาจากอินเดียโดยตรง คือ ปางประทานพร ปางทรงแสดงธรรม ปางมารวิชัย และปางสมาธิ
ส่วนพระพุทธรูปอีกหลากหลายปางในสมัยต่อๆ มา ได้มีการสร้างเพิ่มเติม ทั้งที่ดัดแปลงให้เป็นแบบท้องถิ่น
และริเริ่มขึ้นใหม่อีกหลายตำรา นับจากสมัยสุโขทัยจนกระทั่งรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๙

ปางมารวิชัย…พระประธานปางนิยม

ความนิยมในการประดิษฐานพระประธานในพระอุโบสถที่มักพบเห็นโดยทั่วไป คือ
พระพุทธรูปปางมารวิชัย ซึ่งเป็นปางที่อยู่ในพระอิริยาบถนั่งขัดสมาธิ
พระหัตถ์ซ้ายวางหงายบนพระเพลา (ตัก) พระหัตถ์ขวาวางคว่ำบนพระชานุ (เข่า)
นิ้วพระหัตถ์ชี้เรียกแม่พระธรณี อันหมายถึง พุทธประวัติตอนตรัสรู้มีพญามารมาผจญ
พระพุทธองค์จึงทรงเรียกแม่พระธรณีมาเป็นพยาน แม่พระธรณีได้บีบมวยผมหลั่งน้ำที่พระพุทธองค์
เคยทรงบำเพ็ญบารมีออกมาไหลท่วมเหล่ามารทั้งหลายพ่ายแพ้ไป
พระพุทธจริยานี้ทำให้พระพุทธองค์ลุดพ้นจากกิเลสสู่การตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
พระอุโบสถซึ่งใช้เป็นสถานที่ทำสังฆกรรม ทำกิจของสงฆ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการอุปสมบทเพื่อละกิเลส
จึงนิยมประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัยเป็นพระประธาน

วิตรรกมุทรา…ปางพระประธานอันแตกต่าง

แม้โดยทั่วไปพระอุโบสถมักประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัยเป็นพระประธาน
แต่สำหรับพระอุโบสถพระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม ซึ่งพระประธานเป็นพระพุทธรูปทำจากศิลาขาวขนาดใหญ่
ที่ชาวนครปฐมเรียกว่า “หลวงพ่อประทานพร” นั้น เป็นปางทรงแสดงธรรม (วิตรรกมุทรา)
ในพระอิริยาบถประทับนั่งบนบัลลังก์ ซึ่งมีศัพท์เฉพาะเรียกว่า ภัทรอาสน์ หรือ ภัทราสนะ
พระบาททั้งสองห้อยลงบนฐานทำเป็นกลีบบัวบานเป็นบัวคว่ำบัวหงายรองรับพระบาท
พระหัตถ์ขวายกขึ้นในระดับพระอุระ (หน้าอก) หันฝ่าพระหัตถ์ออก กระทำวิตรรกมุทรา คือ
ปลายพระอังคุฏกับพระดรรชนี (ปลายนิ้วหัวแม่มือกับนิ้วชี้) งอโค้งจดกันเป็นวงกลม
ส่วนอีกสามนิ้วของพระหัตถ์ขวากางออก อันเป็นสัญลักษณ์ของธรรมจักร หมายถึงการแสดงธรรม
(บางท่านอาจเคยพบผู้ใช้คำคะนอง เรียกว่า ปางโอเค) พระหัตถ์ซ้ายวางหงายเหนือพระเพลา (ตัก) ด้านซ้าย
ทรงครองจีวรห่มเฉียงเรียบไม่มีริ้ว ชายจีวรตกลงด้านหน้าบริเวณกลางพระชงฆ์เป็นวงโค้ง

พระศิลาขาว…เดิมมิได้ประดิษฐานในโบสถ์พระปฐมเจดีย์

พระประธานศิลาขาวนี้เป็นพระพุทธรูปโบราณที่ทรงคุณค่ายิ่ง
พุทธลักษณะบ่งบอกยุคสมัยว่าเป็นศิลปะทวารวดี พุทธศตวรรษที่ ๑๒ – ๑๓ นับเป็นเครื่องยืนยัน
ความเป็นดินแดนแห่งพุทธศาสนาซึ่งมึความเจริญรุ่งเรืองมาแต่ครั้งโบราณของเมืองนครปฐมได้เป็นอย่างดี
ประวัติความเป็นมาขององค์พระประธานนี้มีบันทึกบอกเล่าเป็นทางการอย่างน้อย ๓ แหล่ง คือ
บันทึกของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ และบันทึกของพระธรรมวโรดม (โชติ)
นอกจากนี้ยังมีหนังสือที่แต่งขึ้นภายหลังโดยผู้แต่งได้บันทึกบอกเล่าข้อมูลจากผู้ใกล้ชิด
บุคคลที่อยู่ในเหตุการณ์ในครั้งที่พบพระศิลาขาว ทั้ง ๓ สำนวนมีความต่างกันในรายละเอียดเล็กน้อย
แต่จะขอยกไปกล่าวในโอกาสต่อไป ทั้งนี้ข้อสรุปที่ตรงกันจากบันทึกดังกล่าวทำให้ทราบว่า
เดิมทีนั้นพระพุทธรูปศิลาขาวองค์นี้มิได้ประดิษฐานในพระอุโบสถแห่งนี้
แต่ราวปลายรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีผู้ไปพบอยู่ในบริเวณพุทธสถาน “พระเมรุ”
จึงโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญมาประดิษฐานเป็นพระประธานในพระอุโบสถนับแต่ พ.ศ.๒๔๐๔ สืบมาจนปัจจุบัน

พระปฐมเจดีย์…มีพระอุโบสถมากกว่า ๑ หลัง

การบูรณะปฏิสังขรณ์พระปฐมเจดีย์ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
ที่เริ่มการตั้งแต่พุทธศักราช ๒๓๙๖ นั้น แม้มิทันแล้วเสร็จโดยสมบูรณ์ในรัชกาล แต่ก็มีการปรับปรุง
และสร้างสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ทั้งเก่าใหม่ขึ้น รวมถึงการสร้างพระอุโบสถใหม่ ๑ หลัง ในรัชสมัย
อุโบสถหลังนี้ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๗ ได้รื้อลงและสร้างหลังปัจจุบันขึ้นใหม่แทนในที่เดิม

ดังปรากฎหลักฐานเรื่องเสมาที่กล่าวไว้ในจดหมาย ซึ่งสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์
ขณะทรงดำรงตำแหน่งอุปนายกราชบัณฑิตยสภา แผนกศิลปากร ผู้ทรงออกแบบแปลนพระอุโบสถหลังปัจจุบัน
ทรงพระนิพนธ์จากตำหนักส่วนพระองค์ บ้านปลายเนิน คลองเตย ลงวันที่ ๔ พฤศจิกายน ๒๔๗๑
ทูลปรึกษาขอประทานวินิจฉัยเรื่องการใช้เสมา ต่อสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
ขณะทรงดำรงตำแหน่งนายกราชบัณฑิตยสภา ทำให้อาจสันนิษฐานได้ว่าพระอุโบสถพระปฐมเจดีย์
ซึ่งพบในสมัยรัชกาลที่ ๔  กระทั่งมีการสร้างหลังปัจจุบันขึ้นใหม่ในสมัยรัชกาลที่ ๗ นั้น น่าจะมีอยู่ ๓ หลัง

โดยเนื้อความจากจดหมายได้กล่าวถึงเสมาที่พบและจะต้องพิจารณาเลือกใช้
เป็นเสมาเดิม ๒ สำรับ คือ เสมาสำรับหนึ่งขุดพบเป็นเขตเสมาเก่าอยู่ใต้ดิน
ซึ่งสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์เข้าใจว่าเป็นเสมายุคทวารวดี
และเสมาอีกสำรับหนึ่งเป็นเสมาหินตั้งอยู่บนชานชาลาและรื้อเก็บไว้ในขณะนั้น
ซึ่งทรงเข้าใจว่าเป็นเสมาที่ทำขึ้นในรัชกาลที่ ๔ โดยเมื่อนับรวมกับเสมาสำรับที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน
ซึ่งเป็นของใหม่ที่ทรงออกแบบและส่งไปทำเป็นหินอ่อนที่ประเทศอิตาลีนั้น
ทำให้อาจกล่าวได้ว่าพระปฐมเจดีย์มีพระอุโบสถต่างยุคต่างสมัยตามหลักฐานที่พบ ๓ หลังด้วยกัน

เสมา ๒ สำรับ ที่จำวางไว้…มิใช้งาน

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เมื่อได้รับข้อปรึกษาตลอดจนได้เห็นเสมาเก่าตามรายงาน
ของสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ได้ทรงมีวินิจฉัยเรื่องการใช้เสมาว่า

“ใ
บเสมาพระอุโบสถวัดพระปฐมเจดีย์นั้น เมื่อบอกว่าพบของเก่า หม่อมฉัน “หูผึ่ง” รีบไปดู
แต่ไปเห็นเข้าออกเสียใจ ด้วยเป็นใบเสมาศิลาแดง ซึ่งเห็นที่อื่นอยู่หลายแห่ง
และไม่ถึงเป็นอย่างดีที่สุดของเสมาชนิดนั้น เช่นที่วัดมหาธาตุ เมืองเพชรบุรี

สันนิษฐานว่าพระอุโบสถนั้นจะเป็นของสร้างขึ้นในสมัยพวกลังกาวงศ์เข้ามาเมื่อเมืองอู่ทองยังเป็นประเทศราช
ไม่ถึงชั้นสมัยทวารวดี ครั้นคิดดูก็แลเห็นเหตุว่า วัดในสมัยทวารวดีหรือแม้สมัยอื่นต่อมา
เมื่อก่อนลัทธิลังกาวงศ์เข้ามาถึง เห็นจะไม่มีโบสถ์ หรือมีก็ไม่ปักใบเสมา ข้อนี้ได้ไปพิจารณาเห็นที่นครธม
ก็เป็นทำนองเดียวกัน ปราสาทหินซึ่งสร้างเป็นวัดในพระพุทธศาสนาหามีโบสถ์ไม่

โบสถ์มีใบเสมาเป็นของสร้างชั้นหลังลัทธิลังกาวงศ์มาถึงทุกแห่ง เช่น วัดสร้างขึ้นสี่ทิศ ปราสาทบายนก็ยังปรากฏอยู่
ด้วยเหตุนี้ใบเสมาพระอุโบสถวัดพระปฐมเจดีย์ หม่อมฉันเห็นว่าควรใช้ใบเสมาของทูลกระหม่อม
ให้เป็นการเฉลิมพระเกียรติยศเห็นจะดีกว่าอย่างอื่น…”

อย่างไรก็ตามแม้สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ จะทรงมีพระวินิจฉัยให้ใช้เสมาของรัชกาลที่ ๔ ดังกล่าว
แต่เนื่องจากมีการขยายขนาดพระอุโบสถให้มีขนาดใหญ่ขึ้นเต็มพื้นที่ลานประทักษิณ
ทำให้ไม่สามารถนำเสมาสำรับดังกล่าวซึ่งมีลักษณะเป็นทรงลูกบาศก์ขนาดใหญ่มาติดตั้งได้
จึงจำเป็นต้องวางเสมาที่มีอยู่แต่เดิมทั้ง ๒ สำรับไว้มิได้นำมาใช้กับพระอุโบสถหลังใหม่นี้

เสมาติดผนัง…ความจำยอมด้วยแวดล้อม

เมื่อขัดข้องด้วยแวดล้อม สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ จึงทรงออกแบบเสมาขึ้นใหม่
โดยติดที่ผนังพระอุโบสถ ซึ่งการจัดวางเสมาพระอุโบสถลักษณะนี้มีพบบ้างไม่มากนัก ตัวอย่างเช่น
วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ์ วัดชนะสงคราม จึงนับเป็นการจัดวางที่แปลกไปกว่าความเคยชิน
ที่มักพบการตั้งเสมาแบบลอยตัวบนฐานรองรับ ความงดงามแปลกตาในการจัดวางเสมา
การออกแบบสถาปัตยกรรมต่างๆ ตลอดจนแนวคิดเบื้องหลังอันเนื่องด้วยพระอุโบสถหลังนี้
ล้วนมีความหมายและน่าสนใจแต่ในที่นี้จะขอยกไปไม่กล่าวถึง ด้วยมีเหตุสำคัญซึ่งผู้เขียนประสงค์
สะท้อนมุมมองความเห็นในแง่การดูแลรักษาเสมาเก่า ๒ สำรับ ที่ถูกวางไว้มิได้ใช้งาน

ซึ่งแม้เสมาทั้งสองจะ “ไม่ถึงเป็นอย่างดีที่สุดของเสมาชนิดนั้น” แต่ยังคงรักษาอยู่มาจนบัดนี้
หากจะนับระยะเวลาโดยฉาบฉวยชั่วศักราช ๒๔๗๑ ตามจดหมายหารือ ถึงพุทธศักราช ๒๕๕๙*
อายุของเสมาทั้ง ๒ สำรับก็มากกว่า ๘๘ ปี เปรียบกับคนก็นับได้ว่าเข้าวัยชราล่วงโรยมากแล้ว
การผ่านร้อน หนาว ฝน ประกอบกับการจัดแสดงซึ่งดูประหนึ่งอยู่ในที่เปิดเผยแต่ลับตา
ภายในระเบียงคตจึงยากแก่การดูแลได้ทั่วถึง ภาพที่เห็นความเป็นไปแห่งศิลา
เมื่อผู้เขียนมีโอกาสผ่านเข้าไปเยี่ยมชมเสมา ภายใต้ภาวะแวดล้อมทั้งที่สามารถควบคุม
และมิอาจควบคุมหรือหลีกเลี่ยงได้ จากเหตุนานาประการรวมทั้งความจำเป็นด้านการใช้พื้นที่

ภาพสัมผัสที่ได้พบความรู้คิดไม่เท่าทันถึงการณ์ของคนนำมาซึ่งความสะท้อนใจให้ปลงอนิจจัง
แต่ก็ยังอดที่จะคิดไม่ได้ว่าหากเพียงแต่เราทั้งหลายจะให้ความสำคัญต่อการสร้างสำนึกเข้มแข็งให้คนในชาติ
หลายสิ่งหลายอย่างอาจคงดำรงอยู่ หรืออย่างน้อยก็น่าจะประวิงเวลาเสื่อมสูญหรือมีอันเป็นไปโดยช้าลง

 

* หมายเหตุ บทความนี้เริ่มร่างต้นฉบับเมื่อพฤศจิกายน ๒๕๕๙ ขณะยังไม่แล้วเสร็จมีการปรับปรุงแก้ไขบ้าง
วางพักบ้างเป็นระยะ ตามเหตุแห่งภาระกิจ ในที่นี้ยังคงใช้ปีอ้างอิงตามเวลาของร่างต้นฉบับ
เนื่องจากมีความเนื่องต่อกับเนื้อหาส่วนอื่นดังจะได้กล่าวต่อไป

พระประธานผันพระพักตร์ทิศเหนือ…แตกต่างที่ก้าวข้ามขัดข้อง

พระอุโบสถที่พระปฐมเจดีย์ ดังได้กล่าวถึงองค์ประกอบสำคัญอันเนื่องด้วยความเป็นพัทธสีมา
อันมีเสมาที่ทำจากวัสดุอย่างใหม่ทันสมัยจัดวางแปลกไปกว่าเคยชิน
ตลอดจนองค์พระประธานซึ่งแสดงปางต่างจากธรรมเนียมนิยมโดยทั่วไปแล้ว

ทิศทางในการประดิษฐานองค์พระประธานในพระอุโบสถที่สร้างขึ้นใหม่สมัยรัชกาลที่ ๗
ก็ยังแตกต่างจากส่วนใหญ่โดยทั่วไป ดังปรากฎจดหมายราชการจากศิลปากรสถาน
ลงวันที่ ๑๐ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๔๗๑ ซึ่งสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์
กราบทูลต่อ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เพื่อถวายแบบพระอุโบสถซึ่งเขียนขึ้นใหม่ ๒ สำรับ
สำหรับประทานไปยังสมุหเทศาภิบาลและถือไว้เพื่อตรวจสอบงาน โดยถวายความเห็นเรื่องการตั้งพระประธาน ไว้ว่า

“พระอุโบสถเก่าตั้งพระประธานริมห้องกลางทางองค์พระปฐมเจดีย์ ผันพระพักตร์ไปทิศตวันออก
ฉนั้นทำให้ที่หน้าพระแคบทำสังฆกรรมขัดข้อง…เกล้ากระหม่อมไม่เห็นเป็นการขัดข้องอย่างไร
ที่จะวางพระประธานผันพระพักตรไปทิศเหนือ วัดในพระนครที่สำคัญ
วางพระประธานผันพระพักตร์ไปทิศเหนือก็มีเยี่ยงอยู่ เช่น วัดบวรนิเวศ วัดราชประดิษฐ วัดราชบพิธ เป็นต้น…”

การประดิษฐานพระประธานในพระอุโบสถหลังใหม่ที่พระปฐมเจดีย์นั้น
ปรากฏหลักฐานสำเนาจดหมายจากนายเวรวิเศษ ลงวันที่ ๑๓ พฤษภาคม ๒๔๗๕
กราบทูล พระวรวงศเธอพระองค์เจ้าอาทิตยทิพยอาภา ผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม
ให้จัดรถยนต์มารับสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ นายกราชบัณฑิตยสภา
ซึ่งจะเสด็จทรงตรวจการตั้งพระประธานในพระอุโบสถ
ในวันเสาร์ที่ ๒๘ พฤษภาคม ๒๔๗๕ โดยเสด็จทางรถไฟทั้งไปและกลับ

๑๕๐ ปี แห่งการพบ…๘๔ ปี แห่งการประดิษฐานองค์พระประธาน…ความพ้องในประวัติศาสตร์ชาติ

ระยะเวลาในการประดิษฐานพระประธานในพระอุโบสถหลังใหม่นี้ หากคำนวณนับแต่ถวายแบบพระอุโบสถ
เมื่อพุทธศักราช ๒๔๗๑ กระทั่งประดิษฐานสำเร็จลุล่วง ใช้เวลาถึง ๔ ปี นับเป็นระยะเวลาที่ยาวนานพอควร
ทั้งนี้หากคำนวณระยะเวลาเหตุการณ์สำคัญอันเนื่องด้วยพระประธานศิลาขาว
ซึ่งเลือนหายจากประวัติศาสตร์เมื่อเมืองร้างไปหลังสมัยทวารวดี กระทั่งถูกพบในสมัยรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๔
และอัญเชิญขึ้นประดิษฐานเป็นมิ่งมงคลแก่ชาวนครปฐมและพุทธศาสนิกชนอีกครั้งนั้น
ก็ล่วงผ่านเวลามาแล้วถึง ๖ รัชกาล ขณะที่ปัจจุบันกำลังเริ่มเข้าสู่รัชกาลใหม่ คือ
รัชกาลที่ ๑๐ แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ ในปลายพุทธศักราช ๒๕๕๙

เมื่อลองทบทวนเหตุการณ์อันเกี่ยวข้องด้วยพระประธานศิลาขาวกับประวัติศาสตร์ชาติไทย
ก็มีเหตุบางประการที่บังเอิญพ้องกัน กล่าวคือ

• ระยะเวลา ๑๕๐ ปี (๒๔๐๙ – ๒๕๕๙) แห่งการพบพระศิลาขาวโดยนับถึงปัจจุบันนั้น
เมื่อครั้งที่อัญเชิญองค์พระขึ้นประดิษฐาน ในพุทธศักราช ๒๔๗๕
เป็นช่วงเวลาแห่งการฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ครบรอบ ๑๕๐ ปี เช่นกัน

• ระยะเวลา ๘๔ ปี (๒๔๗๕ – ๒๕๕๙) แห่งการประดิษฐานพระประธานในพระอุโบสถหลังปัจจุบันนั้น
ก็บังเอิญพ้องกับที่ประเทศไทยได้รับพระราชทานรัฐธรรมนูญถาวรฉบับแรกจากรัชกาลที่ ๗
นับระยะเวลาจนปัจจุบันคือ ๘๔ ปี เช่นกัน

จากปฐมนคร สู่นครปฐม…๑๘๕ ปี บนลมหายใจอันอ่อนแรงแห่งประวัติศาสตร์เมือง

ตัวเลขแห่งกาลเวลา ๑๕๐ ปี และ ๘๔ ปี นั้น เป็นตัวเลขที่นับเพียงเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับองค์พระศิลาขาว
แต่หากจะคำนึงถึงวันเวลาซึ่งมีความสำคัญอันไม่น้อยไปกว่า คือ เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔
ผนวชเป็นพระวชิรญาณภิกขุและทรงธุดงค์มาพบพระปฐมเจดีย์ครั้งแรก เมื่อพุทธศักราช ๒๓๗๔
และตั้งพระทัยมั่นที่จะปฏิสังขรณ์พระมหาเจดีย์ร้างกลางป่า อันหาพระเจดีย์ที่ใดใหญ่โตเสมือนมิได้ทั่วราชอาณาจักร
ซึ่งเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้มั่นพระทัยว่าพระปฐมเจดีย์นี้เป็นเจดีย์โบราณที่มีมาก่อนที่อื่นใดในสยาม

ความเชื่อมั่นของพระองค์นี้เปรียบดังหมุดตอกย้ำว่า
เมืองนครปฐมโบราณมีฐานะเป็นปฐมนครแห่งการตั้งมั่นในพระพุทธศาสนาแห่งแรกในสยาม
การบูรณะปฏิสังขรณ์ซึ่งเริ่มการราวพุทธศักราช ๒๓๙๖ ตลอดจนการฟื้นฟูพัฒนาบริเวณโดยรอบ
จากรัชสมัยของพระองค์ สู่รัชสมัยต่อๆ มา ทำให้ทั่วทั้งบริเวณกลับกลายเป็นเมืองใหม่ขึ้นอีกครั้ง

นครปฐมจากที่เคยเป็นป่ารกร้างอันอุดมด้วยซากโบราณสถานและโบราณวัตถุ
เป็นประจักษ์พยานร่องรอยสำคัญของประวัติศาสตร์ชาติ นับเวลาจากที่ทรงพบพระเจดีย์ครั้งแรก
จนบัดนี้ (พุทธศักราช ๒๕๕๙) เวลาล่วงผ่านมาแล้วถึง ๑๘๕ ปี

การพัฒนาความเป็นเมืองนครปฐม…ปฐมนครแห่งพระพุทธศาสนา
บนลมหายใจอันอ่อนแรงแห่งประวัติศาสตร์เมือง จึงเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายควรต้องร่วมกัน
ตระหนักคิด ไตร่ตรอง และมองให้รอบด้านว่าเราจะสร้างความเจริญทางวัตถุใหม่
โดยใส่ใจนำพาในมรดกวัฒนธรรมเดิม อันเป็นเครื่องแสดงความรุ่งเรืองของชาติ
ที่บรรพชนเพียรสั่งสมสร้างไว้แต่อดีตกาลอย่างไร

ให้สมดังปณิธานที่หน่วยงาน ตลอดจนปัจเจกบุคคลหลากหลาย

ต่างมีเจตนามุ่งมั่น “ทำดีเพื่อพ่อ”

โดยมิหลงลืมกระแสพระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช
เมื่อครั้งเสด็จประพาสอยุธยา พ.ศ. ๒๕๐๖ และทรงทอดพระเนตรเห็น
อาคารสมัยใหม่หลังหนึ่ง สร้างขึ้นบนที่ซึ่งเคยเป็นซากโบราณสถาน ว่า


“…การสร้างอาคารสมัยนี้ คงจะเป็นเกียรติ สำหรับผู้สร้างคนเดียว

แต่เรื่องโบราณสถานนั้น เป็นเกียรติของชาติ

อิฐเก่าๆ แผ่นเดียวก็มีค่า ควรจะช่วยกันรักษาไว้

ถ้าเราขาดสุโขทัย อยุธยา และกรุงเทพฯ แล้ว

ประเทศไทยก็ไม่มีความหมาย…”

——————————————

ข้อมูลอ้างอิง

ขวัญทอง สอนศิริ. (๒๕๔๗). พุทธนาคบริรักษ์ ๔๘ พรรษา สยามบรมราชกุมารี. กรุงเทพฯ : กองงานในพระองค์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สำนักราชเลขาธิการ.

คณะกรรมการโครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน. (๒๕๔๗). สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนโดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เล่มที่ ๒๙. กรุงเทพฯ : โครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน.

นฤมล บุญญานิตย์. (๒๕๔๘). วิทยานิพนธ์ เรื่อง การบูรณะปฏิสังขรณ์พระปฐมเจดีย์ : กรณีศึกษาจากเอกสารจดหมายเหตุ. กรุงเทพฯ: สาขาวิชาการจัดการจดหมายเหตุและเอกสาร มหาวิทยาลัยศิลปากร.

นายรอบรู้ชวนเที่ยว. (๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๖). รู้หรือ (ไม่) รู้ พระประธานในโบสถ์ ไฉนต้องเป็นปางมารวิชัย. เรียกใช้เมื่อ ๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๙ จาก http://www.sarakadee.com/knowledge/2003/02/doyouknow_buddha.htm

บุญญสิกขา. (๑๗ สิงหาคม ๒๕๕๒). มุทรา (mudras : bodily posture or symbolic gesture of buddha images. เรียกใช้เมื่อ ๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๙ จาก http://www.bloggang.com/viewblog.php?id=travelaround&date=10-04-2009&group=21&gblog=9)

พระธรรมกิตติวงศ์. (๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๖). การตั้งชื่อพระ-พระประธาน : คำวัด. เรียกใช้เมื่อ ๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๙ จาก http://www.komchadluek.net/news/lifestyle/151879

รู้หรือ (ไม่) รู้ พระประธานในโบสถ์ ไฉนต้องเป็นปางมารวิชัย : นายรอบรู้ชวนเที่ยว. (กุมภาพันธ์ ๒๕๔๖). เรียกใช้เมื่อ พฤศจิกายน ๒๕๕๙ จาก http://www.sarakadee.com/knowledge/2003/02/doyouknow_buddha.htm

สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ.  ร.๗ ศ.๙.๑/๑๒ เอกสารกระทรวงศึกษาธิการ รัชกาลที่ ๗  เรื่อง การก่อสร้างพระอุโบสถพระปฐมเจดีย์ (๒๗ พฤษภาคม ๒๔๗๑ – ๒๔พฤษภาคม ๒๔๗๕)

วัดพระปฐมเจดีย์ ราชวรมหาวิหาร. (๒๕๓๒). ที่ระลึกงานเทศกาลนมัสการพระปฐมเจดีย์ วัดพระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม ๙-๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๓๒. กรุงเทพฯ: ประยูรวงศ์.

วัดพระปฐมเจดีย์ ราชวรมหาวิหาร. (๒๕๔๖). ที่ระลึกงานฉลองสมโภชองค์พระปฐมเจดีย์ ครบ ๑๕๐ ปี (พ.ศ. ๒๓๙๖-๒๕๔๖). กาญจนบุรี: ธรรมเมธี.

วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี. (๑๖ เมษายน ๒๕๕๙). ปางมารวิชัย. เรียกใช้เมื่อ พฤศจิกายน ๒๕๕๙ จาก https://th.wikipedia.org/wiki/ปางมารวิชัย

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *