ภาพประกอบโดย นฤมล บุญญานิตย์

วันอัฐมีบูชา เป็นวันคล้ายวันถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระของพระพุทธเจ้า
หลังจากเสด็จดับขันธปรินิพพานได้ ๘ วัน ตรงกับวันแรม ๘ ค่ำ เดือน ๖
หรือหากปีใดเป็นปีอธิกมาสหรือมี ๓๖๖ วัน
วันอัฐมีบูชาก็จะเลื่อนไปตรงกับวันแรม ๘ ค่ำ เดือน ๗

อัฐมี ตามความหมายของพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๔๒
หน้า ๑๓๕๑ เป็นคำนาม หมายถึง ดิถี ๘, เรียกวันถวายพระเพลิงพระพุทธเจ้า
ในวันแรม ๘ ค่ำ เดือน ๖ ว่าวันอัฐมี

ความเป็นมาของวันอัฐมีบูชา
เมื่อวันเพ็ญขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓ ในพรรษาที่ ๔๕ พระพุทธเจ้าทรงประชวรหนัก
ต่อมาอีก ๓ เดือน ก็ทรงเสด็จปรินิพพานใต้ต้นสาละในคืน ๑๕ ค่ำ เดือน ๖
มัลลกษัตริย์แห่งนครกุสินาราได้จัดการบำเพ็ญพระกุศลถวายบูชาพระพุทธสรีระ
โดยจัดของหอม ดอกไม้ และเครื่องดนตรีทุกชนิดที่มีอยู่ในเมืองกุสินาราถวายตลอด ๗ วัน
และในวันที่ ๘ ตรงกับวันแรม ๘ ค่ำ เดือน ๖ มัลลกษัตริย์ได้อัญเชิญพระสรีระ
ไปทางทิศตะวันออกของพระนครเพื่อถวายพระเพลิง ณ มกุฏพันธนเจดีย์

ในการถวายพระเพลิงนั้นพระอานนท์ได้กล่าวแก่มัลลกษัตริย์
ให้ห่อพระสรีระด้วยผ้าใหม่ซับด้วยสำลีแล้วใช้ผ้าใหม่ห่อทับอีก
เช่นนี้จนหมดผ้า ๕๐๐ คู่ แล้วเชิญลงในรางเหล็กที่เติมด้วยน้ำมัน
ทำจิตกาธานด้วยดอกไม้จันทน์และของหอมทุกชนิด
จากนั้นเหล่ามัลลกษัตริย์หัวหน้า ๔ คน ได้สระสรงเกล้าและนุ่งห่มผ้าใหม่
แต่เมื่อพยายามจุดไฟที่เชิงตะกอนก็ไม่อาจติดไฟได้

เมื่อสอบถามแก่พระอนุรุทธะจึงแจ้งว่าเทวดาประสงค์ให้รอ
พระมหากัสสปะและภิกษุหมู่ใหญ่ ๕๐๐ รูป
ที่กำลังเดินทางมาเพื่อถวายบังคมพระบาทก่อนไฟจึงจะลุกไหม้
เพราะเทวดาเหล่านั้นเคยเป็นโยมอุปัฏฐากของพระเถระ
และพระสาวกผู้ใหญ่จึงไม่ยินดีที่พระมหากัสสปะมิได้อยู่ร่วมในพิธี

ครั้งนั้นพระมหากัสสปะและภิกษุอีก ๕๐๐ รูป
ตั้งใจเดินทางจากเมืองปาวาเพื่อจะมาเฝ้าพระพุทธเจ้า
ระหว่างทางได้พบกับพราหมณ์คนหนึ่งถือดอกมณฑารพสวนทางมา
พระมหากัสสปะเห็นดอกมณฑารพจึงทราบว่ามีเหตุการณ์ไม่ปกติเกิดขึ้น
เพราะดอกไม้นี้มีเพียงในทิพย์โลกไม่มีในเมืองมนุษย์
การปรากฎของดอกมณฑารพจะต้องมีอะไรเกิดขึ้นกับพระพุทธเจ้า
พระมหากัสสปะถามพราหมณ์นั้นว่าได้ข่าวอะไรเกี่ยวกับพระพุทธเจ้าบ้างหรือไม่
พราหมณ์จึงตอบว่าพระสมณโคดมได้ปรินิพพานไปล่วง ๗ วันแล้ว


ภาพประกอบโดย นฤมล บุญญานิตย์

เมื่อพระมหากัสสปะและหมู่ภิกษุ ๕๐๐ รูป เดินทางมาถึงยังที่ถวายพระเพลิง
ได้ห่มจีวรเฉวียงบ่าข้างหนึ่งประนมอัญชลีและเวียนประทักษิณรอบเชิงตะกอน ๓ รอบแล้ว
พระมหากัสสปะจึงเปิดผ้าทางพระบาทเพื่อถวายบังคมพระบาททั้งสองด้วยเศียรเกล้า
โดยท่านกำหนดว่าตรงนี้เป็นพระบาทแล้วเข้าจตุตถฌานอันเป็นบาทแห่งอภิญญา
ออกจากฌานแล้วอธิษฐานว่า

“ขอพระยุคลบาทของพระองค์ที่มีลักษณะเป็นจักร
อันประกอบด้วยซี่พันซี่ จงชำแรกคู่ผ้า ๕๐๐ คู่ พร้อมทั้งสำลี ไม้จันทน์
ออกเป็นช่องประดิษฐานเหนือเศียรเกล้าของข้าพระองค์ด้วยเถิด”

เมื่ออธิษฐานเสร็จพระยุคลบาทก็แหวกคู่ผ้า ๕๐๐ คู่ออกมา
พระมหากัสสปะจับพระยุคลบาทไว้มั่นและน้อมนมัสการเหนือเศียรเกล้าของตน
ผู้ที่ร่วมอยู่ ณ ที่นั้นต่างเห็นและส่งเสียงแสดงความอัศจรรย์ใจ
เมื่อพระมหากัสสปะและภิกษุ ๕๐๐ รูป ถวายบังคมแล้ว
ฝ่าพระยุคลบาทจึงกลับเข้าประดิษฐานในที่เดิมเปลวเพลิงจึงลุกท่วมพระสรีระ
และด้วยอำนาจของเทวดาการเผาไหม้จึงไม่มีควันหรือเขม่าใดๆ
เมื่อเพลิงใกล้จะดับก็มีท่อน้ำไหลหลั่งลงมาจากอากาศ
และมีน้ำพุ่งขึ้นจากกองไม้สาละดับไฟที่ยังเหลืออยู่นั้น

ภายหลังจากพิธีอัฐมีบูชาในสมัยพุทธกาล
ซึ่งในครั้งนั้นนับเป็นวันที่ชาวพุทธต่างมีความเศร้าโศกเสียใจ
ในการสูญเสียพระบรมสรีระแห่งพระบรมศาสดาซึ่งเป็นที่เคารพสักการะอย่างสูง
ด้วยทรงเป็นประทีปนำทางให้มวลมนุษย์ก้าวล่วงสังสารวัฏ

ดังนั้นเมื่อวันอัฐมีบูชาเวียนมาบรรจบในแต่ละปี
พุทธศาสนิกชนโดยเฉพาะพระสงฆ์และอุบาสกอุบาสิกาในแต่ละวัด
จึงพร้อมใจกันประกอบพิธีบูชาขึ้นเพื่อระลึกถึงพระพุทธคุณ
ซึ่งวันอัฐมีบูชานี้แม้จะนับเป็นวันสำคัญวันหนึ่งทางพุทธศาสนา
แต่ก็ไม่เป็นที่รู้จักโดยแพร่หลายนักในประเทศไทย

การจัดงานวันอัฐมีบูชาในประเทศไทย
ประเพณีการจัดงานวันอัฐมีบูชานี้แต่เดิมวัดบางแห่งมีขึ้นทุกปี
ทั้งในส่วนของวัดในกรุงเทพฯ และวัดตามต่างจังหวัด
ต่อมาเมื่อสภาวะเศรษฐกิจไม่อำนวย เนื่องจากเป็นงานใหญ่มีค่าใช้จ่ายสูง
วัดในกรุงเทพฯ จึงค่อยๆ ลดพิธีต่างๆ ลง และหายไปเป็นส่วนมาก

ปัจจุบันวัดในกรุงเทพฯ ที่ยังคงมีประเพณีการจัดงานนี้
โดยมีการประกอบพิธีเช่นเดียวกับวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาอื่นๆ เช่น วันวิสาขบูบูชา
คือ มีการเวียนเทียนในตอนค่ำ และบางแห่งมีการเทศนาด้วย เช่น
วัดราชาธิวาส  วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ เป็นต้น

ส่วนในต่างจังหวัดมีการจัดบ้างในบางพื้นที่ เช่น วัดพระธาตุนารายณ์เจงเวง จ.สกลนคร
แต่การจัดงานวันอัฐมีบูชาที่มีการกล่าวถึงและเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายมีเพียง ๒ แห่ง คือ
ในภาคเหนือที่วัดพระบรมธาตุทุ่งยั้ง อ.ลับแล จ.อุตรดิตถ์
และในภาคกลางที่วัดใหม่สุคนธาราม อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม

การจัดงานในภาคเหนือ
การจัดงานในภาคเหนือที่วัดพระบรมธาตุทุ่งยั้ง เดิมใช้ชื่อว่า “วันพิธีถวายพระเพลิงพระพุทธเจ้า”
ไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจนว่าเริ่มจัดงานประเพณีนี้ขึ้นเมื่อใด
แต่เชื่อว่าจัดกันมานานนับร้อยปีตั้งแต่ครั้งหลวงพ่อแน่นได้ธุดงค์มาถึงเมืองลับแล
และชาวบ้านได้อาราธนาให้ท่านดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสองค์แรกของวัดพระบรมธาตุทุ่งยั้ง
ท่านได้เป็นผู้นำชาวบ้านปฏิบัติประเพณีถวายพระเพลิงพระพุทธเจ้า

เมื่อท่านมรณภาพประเพณีนี้จึงขาดหายไปบ้างเป็นระยะ กระทั่ง พ.ศ.๒๕๑๑
ชาวบ้านลับแลจึงได้ฟื้นฟูประเพณีนี้ขึ้นและปฏิบัติสืบมา
โดยปัจจุบันได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนร่วมกันจัดงาน
ใช้ชื่อว่า “วันอัฐมีบูชารำลึก เมืองทุ่งยั้ง”
ในปีนี้จัดงานขึ้นในวันที่ ๑๓ – ๒๑ พฤษภาคม ๒๕๕๗


ภาพประกอบโดย นฤมล บุญญานิตย์

การจัดงานในภาคกลาง
ในภาคกลางมีวัดที่จัดงานวันอัฐมีบูชาติดต่อกันมายาวนานเช่นกัน
คือ วัดใหม่สุคนธาราม ต.วัดละมุด อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม โดยในปี ๒๕๕๗ นี้นับเป็นปีที่ ๑๒๑

ประวัติการจัดงานวันอัฐมีบูชาจากข้อมูลสัมภาษณ์ของนางจำลอง วิบูลย์ปิ่น
ที่ได้สัมภาษณ์นายบัว ชูสูงทรง อดีตผู้ใหญ่บ้านหมู่ ๓ ต.วัดละมุด
และอดีตไวยาวัจกร วัดใหม่สุคนธาราม เมื่อ พ.ศ.๒๕๔๔ ซึ่งขณะนั้นนายบัวมีอายุ ๘๘ ปี
ให้ข้อมูลกล่าวถึงประวัติความเป็นมาของประเพณีดังกล่าวว่า

การจัดงานประเพณีนี้เริ่มมีขึ้นในสมัยหลวงพ่อเบี้ยว ปทุมรัตน์ *
อดีตเจ้าอาวาสองค์ที่ ๔ ของวัดใหม่สุคนธาราม โดยมี มีไวยาวัจกร ๓ ท่าน
คือ นายวอน ลอยสูงวงศ์ นายขีด แก้วบูชา และนายอ่วม อ่อนสูงทรง เป็นผู้นำในการจัด
จากข้อมูลการสัมภาษณ์นายบัวเท่าที่จำความได้ทางวัดมีการจัดงานทุกปีไม่เคยเว้นว่าง

ซึ่งการจัดงานในสมัยก่อนนั้นปู่ของนายบัวเล่าว่า
จัดกันตั้งแต่ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ซึ่งเป็นวันวิสาขบูชา หรือวันปรินิพพาน เป็นต้นไป
โดยในช่วงค่ำจะมีการตั้งหีบพระบรมศพจำลองบนศาลาการเปรียญ
และมีการสวดพระอภิธรรม บำเพ็ญพระกุศลถวายสักการะเป็นพุทธบูชา ๗ คืน

เมื่อถึงวันแรม ๘ ค่ำ เดือน ๖ ซึ่งเป็นวันถวายพระเพลิง
ในช่วงเช้าชาวบ้านจะประกอบพิธีทำบุญตักบาตรที่วัด
หลังจากนั้นทางวัดและชาวบ้านในชุมชนจะช่วยกันสร้างจิตกาธาน
หรือเชิงตะกอนจำลอง เพื่อใช้เป็นที่ถวายพระเพลิงในตอนบ่าย
หมู่บ้านต่างๆ ในละแวกใกล้เคียงวัดก็จะรวมกันจัดขบวนแห่พุ่มผ้าป่า
แห่ดอกไม้ไฟประมาณ ๓ – ๔ ขบวนมายังวัด
เมื่อเสร็จพิธีถวายพระเพลิงแล้วก็จะทำการจุดดอกไม้ไฟ ตะไล กวด
ที่ประกอบมาในขบวนแห่นั้นถวายเป็นพุทธบูชา

สมัยหลวงพ่อย้อย อินทโร อดีตเจ้าอาวาสองค์ที่ ๖ ของวัดใหม่สุคนธาราม
นับเป็นยุคเฟื่องฟูของงานประเพณีสมัยหนึ่ง มีความร่วมมือในการประกอบพิธีทางศาสนา
ระหว่างชุมชนวัดใหม่สุคนธารามและวัดห้วยพลู
โดยในวันวิสาขบูชาชุมชนจากวัดใหม่สุคนธารามจะไปเวียนเทียนที่วัดห้วยพลู
และเมื่อถึงวันอัฐมีบูชาชุมชนจากวัดห้วยพลูก็จะพากันจัดขบวนแห่มาร่วมพิธี

ซึ่งในยุคนั้นพระอาจารย์ดา ปิยทสสี วัดใหม่สุคนธารามและคณะศิษย์
จะเป็นผู้รับผิดชอบในการประดิษฐ์ดอกไม้ไฟให้กับขบวนแห่ที่มาร่วมงาน
เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับชุมชนที่ไม่สามารถประดิษฐ์ดอกไม้ไฟ
การจัดงานครั้งนั้นมีขบวนแห่ที่มาร่วมงาน ๒ สาย คือ
ชุมชนห้วยพลู ต.ห้วยพลู นำโดยผู้ใหญ่บด ศิริพิน และนายชาญ แก้วบูชา
สายที่ ๒ คือ ชุมชนวัดกลาง ต.บางพระ นำโดยกำนันเทียน ปลื้มละมัย
แต่การเข้าร่วมของทั้ง ๒ ชุมชนนั้น ดำเนินการได้เพียง ๒ ปี
ก็ต้องยุติไปด้วยเหตุจำเป็นบางประการ

การจัดงานในครั้งนั้นมีการสร้างจิตกาธานจำลองซึ่งหลวงพ่อย้อย
ผู้ทรงภูมิปัญญาในการแทงหยวกเป็นผู้แกะสลักลวดลายแทงหยวก
ประดับจิตกาธานจำลองอย่างวิจิตรตระการตา
โดยมีลูกศิษย์คือ นายบุญธธรม ฤทธิ์ศรีสันต์ ซึ่งมีอายุ ๖๑ ปี
(จากข้อมูลสัมภาษณ์ของนางจำลอง วิบูลย์ปิ่น เมื่อ พ.ศ.๒๕๔๔)
เป็นผู้สืบทอดภูมิปัญญาและช่วยในการแทงหยวกทุกปี

ต่อมาสมัยหลวงพ่อเชื้อ สิริปุญโญ อดีตเจ้าอาวาสองค์ที่ ๗
ได้ริเริ่มสร้างพระพุทธรูปปางปรินิพพาน ที่เรียกขานนามว่า “หลวงพ่อใหญ่”
ซึ่งเป็นพระปางปรินิพพานที่มีต้นแบบจากประเทศศรีลังกา
แกะสลักจากศิลาทรายโดยช่างชาวอยุธยา มีขนาดตลอดพระองค์ ๖ เมตร ๙ นิ้ว
ชาวบ้านในละแวกนี้ต่างภูมิใจและมีความเชื่อว่า หลวงพ่อใหญ่เป็นพระปางปรินิพพาน
สร้างจากศิลาทรายที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย

สมัยพระครูวินัยธรโกศล ปริปุณโณ เจ้าอาวาสองค์ที่ ๘
ซึ่งมีนายสำรวย เกิดต่อพันธุ์ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ ๓ ต.วัดละมุด
ดำรงตำแหน่งต่อจากนายบัว ชูสูงทรง ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๑๖ เป็นผู้นำชุมชน
การจัดงานวันอัฐมีบูชาได้เริ่มเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางขึ้น
โดยหัวหน้าส่วนราชการ องค์กรต่างๆ ได้เข้ามาให้ความร่วมมือในการจัดงาน
คณะสงฆ์ในเขตปกครองคณะอำเภอนครชัยศรีก็เข้าร่วมงานเป็นจำนวนมาก
รวมทั้งชุมชนหมู่บ้านใกล้เคียงต่างให้ความร่วมมือส่งขบวนแห่เข้าร่วมมากขึ้น
และสื่อมวลชนก็ได้ให้ความสำคัญในการทำและเผยแพร่ข่าวมากขึ้นด้วยเช่นกัน

ประวัติความเป็นมาในการจัดงานวันอัฐมีบูชานี้นางจำลอง วิบูลย์ปิ่น
ได้ประมวลเหตุการณ์และข้อมูลพบว่าการประกอบพิธีต่างๆ ของชุมชนแห่งนี้
มีความพยายามจัดขึ้นโดยจำลองเหตุการณ์ต่างๆ ให้ใกล้เคียงเหตุการณ์ในพุทธประวัติ
ดังมีการกล่าวไว้ในหนังสือศิลปวัฒนธรรมไทย ฉบับฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ ๒๐๐ ปี
จัดพิมพ์เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๕ แสดงให้เห็นว่าชุมชนแห่งนี้มีการเรียนรู้เรื่องราวในพุทธประวัติ
ตอนอัฐมีบูชาโดยละเอียด แม้ว่าทางราชการจะมิได้กำหนดให้เป็นวันสำคัญทางศาสนา
หรือแม้แต่บรรจุในหลักสูตรการศึกษาภาคบังคับแต่ประการใด
ซึ่งผู้ริเริ่มนั้นจะเรียนรู้จากแหล่งใดมิอาจทราบได้แน่ชัด
แต่การที่ชุมชนมีการนำจุดเล็กๆ ในพุทธประวัติมาเป็นคติในการทำบุญ
และยังคงสืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่นนั้น นับเป็นการแสดงออกอย่างหนึ่ง
ที่ชี้ให้เห็นถึงความเจริญทางอารยธรรมของชุมชนลุ่มน้ำนครชัยศรี


ขบวนรถบุปผชาติปางประสูติ ตรัสรู้และปรินิพพาน และขบวนพุทธประวัติ
ภาพประกอบโดย นฤมล บุญญานิตย์


ขบวนพระมหากัสสปะ-หมู่สงฆ์ และขบวนอุบาสก อุบาสิกา
ภาพประกอบโดย นฤมล บุญญานิตย์


ขบวนเด็กชาย-หญิง จิตอาสาจากโรงเรียนวัดละมุด
ภาพประกอบโดย นฤมล บุญญานิตย์


ขบวนกษัตริย์เมืองกุสินาราทรงช้างพร้อมกองทัพทหาร
ภาพประกอบโดย นฤมล บุญญานิตย์

งานวันอัฐมีบูชา วัดใหม่สุคนธาราม ๒๕๕๗
การจัดงานของวัดใหม่สุคนธารามในปีนี้
จัดขึ้นเมื่อวันที่ ๒๑ พฤษภาคม ๒๕๕๗ ตรงกับวันแรม ๘ ค่ำ เดือน ๖
โดยความร่วมมือขององค์การบริหารส่วนตำบลวัดละมุด
นำโดยนายอาทร สูญจันทร์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลวัดละมุด
ร่วมกับพระครูนวกิจโสภณ เจ้าอาวาสวัดใหม่สุคนธาราม
และหน่วยงาน คือ ททท.สำนักงานสมุทรสงคราม วัฒนธรรมจังหวัดนครปฐม
และสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดนครปฐมร่วมกันจัดงานขึ้น
โดยอาราธนาสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์
ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช เจ้าคณะใหญ่หนเหนือ
และกรรมการมหาเถรสมาคม จากวัดปากน้ำภาษีเจริญ กรุงเทพฯ เป็นประธานฝ่ายสงฆ์
และนายวันชาติ วงษ์ชัยชนะ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม เป็นประธานฝ่ายฆราวาส


ขบวนเกวียนย้อนยุคจำลองชาวเมืองกุสินารา
ร่วมถวายพระเพลิงพระบรมศพพระพุทธเจ้า
ภาพประกอบโดย นฤมล บุญญานิตย์


ขบวนแห่วิถีชีวิตไทย
ภาพประกอบโดย นฤมล บุญญานิตย์


ขบวนพุ่มผ้าป่าคณะต่างๆ
ภาพประกอบโดย นฤมล บุญญานิตย์



ขบวนพุ่มผ้าป่าคณะนายฮะ ๑ ในหลากสีสรรของขบวนแห่
ภาพประกอบโดย นฤมล บุญญานิตย์



ขบวนมโหรีปี่พาทย์ ขบวนฟ้อนรำของเยาวชนและกลุ่มแม่บ้าน
ภาพประกอบโดย นฤมล บุญญานิตย์



ขบวนคติธรรมนรกภูมิต่างๆ
ภาพประกอบโดย นฤมล บุญญานิตย์



ขบวนดอกไม้ไฟ และการเล่นดอกไม้ไฟของชาวบ้าน
ภาพประกอบโดย นฤมล บุญญานิตย์



ขบวนล้อเลียนและขบวนเบ็ดเตล็ด
ภาพประกอบโดย นฤมล บุญญานิตย์

กิจกรรมภายในงาน
งานวันอัฐมีบูชา ของวัดใหม่สุคนธารามปีนี้ มีกิจกรรม คือ
พิธีกรรมทางพระพุทธศาสนา การแสดงพระธรรมเทศนา
การถวายภัตตาหารแด่พระสงฆ์ นิทรรศการทางพระพุทธศาสนา
การเวียนเทียนและการแสดงมหรสพถวายเป็นพุทธบูชา

นอกจากนี้ ยังมีสีสรรของานคือการจัดขบวนแห่ต่างๆ เช่น
ขบวนรถบุปผชาติปางประสูติ ตรัสรู้และปรินิพพาน
ขบวนพระมหากัสสปะและหมู่สงฆ์
ขบวนกษัตริย์เมืองกุสินาราทรงช้างพร้อมกองทัพทหาร
ขบวนเกวียนย้อนยุคจำลองชาวเมืองกุสินาราร่วมถวายพระเพลิง
ขบวนพุ่มผ้าป่า ขบวนคติธรรมนรกภูมิ ขบวนดอกไม้ไฟ และขบวนเบ็ดเตล็ดต่าง ๆ

ซึ่งแต่ละขบวนช่วยสร้างบรรยากาศสนุกสนาน
บางขบวนมีความสวยงามอย่างตั้งอกตั้งใจโดยเฉพาะอย่างยิ่ง
ขบวนพุ่มผ้าป่าของนายฮะที่อลังการด้วยสาวงามประเภทสอง
ซึ่งบางท่านสวยงามจนดิฉันเริ่มไม่มั่นใจในสถานะเพศของตนเองดูแล้วก็เพลินตาไปอีกแบบ
บางขบวนก็มีทั้งความตลกขบขันแต่แฝงไปด้วยแง่คิด
ทำให้ประชาชนที่รอดูขบวนแห่สองข้างทางรวมทั้งดิฉัน
อดที่จะยิ้มหัวเราะลืมอากาศที่ร้อนอบอ้าวไปได้ไม่น้อยเลยทีเดียว



ขบวนอัญเชิญพระบรมศพจำลองเวียนทักษิณาวัตรรอบมณฑลพิธี
ภาพประกอบโดย นฤมล บุญญานิตย์

เวลาประมาณ ๑๖ นาฬิกาเศษ หลังจากขบวนแห่เดินทางเข้าสู่ยังบริเวณมณฑลพิธี
พิธีการจึงเริ่มด้วยการกล่าวรายงานและอื่นๆ หลังจากนั้นขบวนสมมุติเหตุการณ์
พิธีอัญเชิญพระบรมศพจำลอง นำโดยคณะสงฆ์ จำนวน ๕๐๐ รูป
พร้อมด้วยคณะพราหมณ์ เทวดา นางฟ้า พระสาวกและประชาชน
เวียนทักษิณาวัตรรอบมณฑลพิธีและอัญเชิญโลงพระบรมศพจำลองขึ้นประดิษฐาน

เมื่อเสร็จพิธีการในช่วงนี้เกิดฝนตกลงมาค่อนข้างหนัก
ทำให้กิจกรรมต่างๆ ต้องหยุดชงักลง โดยยังไม่มีทีท่าว่าฝนจะหยุดตก
ซึ่งขณะนั้นเป็นเวลาที่สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์อยู่ระหว่างเดินทางมายังมณฑลพิธี
และก่อนหน้าที่ท่านจะเดินทางมาถึงไม่นานนักฝนก็ได้หยุดตก
อากาศที่ร้อนอบอ้าวและท้องฟ้าฉ่ำฝนเมื่อครู่ก็กลับสดใสขึ้นในทันที


สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ประธานถวายพระเพลิง
ภาพประกอบโดย นฤมล บุญญานิตย์

เมื่อสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ เดินทางมาถึงมณฑลพิธี เวลาประมาณ ๑๖ นาฬิกาเศษ
ได้ประทานของที่ระลึกแก่ผู้สนับสนุนการจัดงาน กล่าวสัมโมทนียกถา
และเป็นประธานกล่าวนำถวายสักการะพระบรมศพพระพุทธเจ้าจำลอง
โดยมีคณะสงฆ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม นายอำเภอนครชัยศรี หัวหน้าส่วนราชการ ข้าราขการ
ประชาชน นักเรียน นักศึกษา และนักท่องเที่ยวร่วมกล่าวสักการะ
จากนั้นจึงเป็นประธานถวายพระเพลิง ณ จิตกาธานจำลองที่มีงานแทงหยวกประดับอย่างสวยงาม
ตามด้วยคณะสงฆ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม นายอำเภอนครชัยศรี หัวหน้าส่วนราชการ
ข้าราขการ ประชาชนร่วมถวายพระเพลิง ณ บริเวณที่จัดไว้หน้าพระพุทธรูปปางปรินิพพาน


ภาพประกอบโดย นฤมล บุญญานิตย์

ภายหลังเสร็จสิ้นพิธีกรรมทางพระพุทธศาสนาเวลาประมาณ ๑๘.๐๐ นาฬิกา
เป็นการแสดงมหรสพถวายเป็นพุทธบูชา อาทิ
การแสดงนาฏยศาลาหุ่นละครเล็ก โจ หลุยส์ ประกอบแสง สี เสียง
การแสดงจากคณะเพชรจรัสแสง (คนไทยขั้นเทพ)
และการแข่งขันตะไลลอดบ่วง การจุดพลุ ตะไล ดอกไม้ไฟถวายเป็นพุทธบูชา
แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าเมื่อคะเนดูแล้วการแสดงมหรสพตลอดจนการแข่งขันต่างๆ เหล่านั้น
น่าจะใช้เวลามากพอสมควร ดิฉันจึงจำใจจากลากลับโดยมิได้มีโอกาส
ร่วมชมความงามและความสนุกสนานในยามค่ำคืนนั้น

หมายเหตุ : * หลวงพ่อเบี้ยว ปทุมรัตน์ สร้างวัตถุมงคล
คือเหรียญรุ่นแรกของท่าน ราว พ.ศ. ๒๔๘๒ – ๒๔๘๕ และท่านมรณภาพ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๖

————————————–

รายการอ้างอิง

  • DMC.  (๒๕๕๖).  วันอัฏฐมีบูชา ประวัติความสำคัญธรรมเนียมปฏิบัติในวันอัฏฐมีบูชา.
    เข้าถึงเมื่อ ๑๑ กรกฎาคม.  เข้าถึงได้จาก http://www.dmc.tv/pages/buddha_biography /
    วันอัฏฐมีบูชา-ประวัติความสำคัญ-ธรรมเนียมปฏิบัติในวันอัฏฐมีบูชา.html
  • ขอเชิญร่วมงานบุญประเพณีอัฏฐมีบูชา ประจำปี ๒๕๕๗.  (๒๕๕๗).
    เข้าถึงเมื่อ ๑๐ กรกฎาคม.  เข้าถึงได้จาก http://thai.tourismthailand.org /
    ข่าวอัพเดท/รายละเอียดข่าว/ขอเชิญร่วมงานบุญประเพณีอัฏฐมีบูชา-ประจำปี-2557—1653
  • MGR Online.  (๒๕๕๗).  “อบต.วัดละมุด” เมืองนครปฐมจัดงาน “วันอัฏฐมีบูชา” ปีที่ 121.  เข้าถึงเมื่อ ๑๐ กรกฎาคม.
    เข้าถึงได้จาก https://mgronline.com/local/detail/9570000056869
  • เจริญ ตันมหาพราน.  (๒๕๓๑).  “อัฐมีบูชาที่ทุ่งยั้ง The Buddha’s Funeral Relived.”
    กินรี.  (พฤษภาคม): ๒๔-๒๗.
  • นฤมล บุญญานิตย์.  (๒๕๕๗). วันอัฐมีบูชา วัดใหม่สุคนธาราม [ภาพถ่าย]. ศูนย์ข้อมูลภาคตะวันตก
    หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ สำนักหอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยศิลปากร.
  • วัดพระธาตุนารายณ์เจงเวง สกลนคร.  (๒๕๕๕).  ขอเชิญทำบุญ วันอัฏฐมีบูชา.
    เข้าถึงเมื่อ ๑๑ กรกฎาคม.  เข้าถึงได้จาก
    https://www.facebook.com/permalink.php?story_fbid=249345101841670&id=244965752279605
  • วิกิพีเดีย.  (๒๕๕๖).  วันอัฏฐมีบูชา.  เข้าถึงเมื่อ ๑๑ กรกฎาคม.
    เข้าถึงได้จาก http://th.wikipedia.org/wiki/วันอัฏฐมีบูชา
  • สภาวัฒนธรรมตำบลวัดละมุด และองค์การบริหารส่วนตำบลวัดละมุด.  (๒๕๕๐).
    วันอัฏฐมีบูชา วันถวายพระเพลิงพระบรมศพพระพุทธเจ้า แรม ๘ ค่ำ เดือน ๖. (อัดสำเนา).
  • MGR Online.   (๒๕๕๗).  “อบต.วัดละมุด” นครปฐม เตรียมจัดงานประเพณีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระพุทธเจ้าจำลอง “วันอัฏฐมีบูชา”.  เข้าถึงเมื่อ ๑๐ กรกฎาคม.  เข้าถึงได้จาก
    https://mgronline.com/local/detail/9570000052046

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *