ผู้เขียนเป็นชาวตลาดนครปฐมโดยกำเนิด บ้านเดิมอยู่บริเวณท่ารถเมล์ขาวซึ่งเกิดตามหลังผู้เขียน
ความเป็นเด็กที่ชีวิตส่วนใหญ่อยู่แต่ในเมือง “เพลง” ในความรู้สึกของดิฉันจึงมีประมาณ
ลูกกรุง ลูกทุ่ง สากล ไทย จีน ฝรั่ง แขก ที่คุณพ่อมักเปิดแผ่นเสียงฟังทำให้ดิฉันคุ้นชินกับเสียงเพลงตั้งแต่เด็ก
แถมบางครั้งยังมีโอกาสได้ชมการแสดงสดในงานนมัสการพระปฐมเจดีย์สมัยเมื่อคุณสุรพล สมบัติเจริญ ยังมีชีวิต
หรือบางคราก็ได้ชมคอนเสิร์ตฮ่องกงของนักร้องที่คุณพ่อชื่นชอบอย่างจางเหม่ยอิง
ที่มาเปิดการแสดงถึงเมืองเจดีย์ใหญ่บ้านดิฉัน

เมื่อเติบโตขึ้นการชมดนตรี การชมคอนเสิร์ตไทย-เทศ ก็ยังวนเวียนตามจังหวะเวลาและโอกาส
แต่ประสบการณ์ทั้งมวลในเรื่องเพลงที่ดิฉันรู้จักนั้นไม่มีคำว่า “เพลงพื้นบ้าน” อยู่ในความทรงจำ
เพลงที่แปลกไปจากความเคยชินเท่าที่เคยฟังคือลำตัดของพ่อหวังเต๊ะกับแม่ขวัญจิต
ที่ได้ฟังเมื่อคุณพ่อคุณแม่พาไปร่วมงานบุญ ซึ่งก็จำได้ไม่ถนัดอีกว่าที่ใด รู้แต่ว่าออกนอกตัวตลาดไป
ส่วนความเข้าใจในเวลานั้นของเด็กประถมต้นอย่างดิฉันคิดเพียงว่าเป็นการแสดงอย่างหนึ่งเหมือนลิเก

คำว่า “เพลงพื้นบ้าน” เข้ามาสู่การรับรู้และความสนใจของดิฉันบ้างเป็นระยะ
ตั้งแต่เติบโตขึ้นจนย่างเข้าวัยทำงาน แต่ก็เพียงผิวเผิน เช่น
รู้จักชื่อเพลงพื้นบ้านมากขึ้น รู้จักถิ่นฐานของเพลงแต่ละชนิดบ้างว่า
ประเภทไหนคือพื้นบ้านภาคกลาง ประเภทไหนคือพื้นบ้านอีสาน เหนือ ใต้
แต่สิ่งหนึ่งที่ดิฉันเพิ่งได้รู้เมื่อมาทำหน้าที่บรรณารักษ์ของศูนย์ข้อมูลภาคตะวันตก คือ

นครปฐมก็มีเพลงพื้นบ้าน มีพ่อเพลง แม่เพลง

บางท่านมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในวงการ เช่น แม่กุหลาบ เครืออยู่
ซึ่งมีความสามารถในการขับร้องเพลงพื้นบ้านจนได้รับยกย่อง
ให้เป็นผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรมจากสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ
ปัจจุบันพ่อเพลง แม่เพลงหลายท่านได้สิ้นชีวิตลงคงเหลือไว้เพียงตำนาน
ให้มีผู้กล่าวถึงบ้างในบางช่วง บางตอนของบันทึกประวัติศาสตร์เพลงพื้นบ้านไทย

เมื่อดิฉันเริ่มลงมือเขียนบทความชิ้นนี้ มีความรู้เพียงน้อยนิดหรือเรียกได้ว่าไม่มีเลย
ทำให้นึกถึงบุคคลท่านหนึ่งที่ดิฉันคุ้นเคยผลงานในฐานะกูรูทางวัฒนธรรมพื้นบ้าน
และแอบหวังเล็กๆ ว่าท่านจะเขียนเรื่องราวเกี่ยวกับเพลงพื้นบ้านนครปฐมไว้บ้าง
ซึ่งอันที่จริงอาจจะมีบุคคลท่านอื่นๆ อีก แต่ดิฉันยังไม่มีข้อมูลในขณะนี้
บุคคลที่ดิฉันจะอ้างอิงเป็นผู้ที่มีบทบาทในงานด้านวัฒนธรรมมาอย่างต่อเนื่อง
และยาวนานมากพอควร ในฐานะผู้ขุดค้น สืบเสาะ แสวงหา ติดตามเรื่องราวต่างๆ ทางวัฒนธรรม
และแบ่งปันภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของไทยสู่สังคมอย่างสม่ำเสมอ

บุคคลนั้นคือ คุณเอนก นาวิกมูล และก็ไม่ผิดหวัง
เท่าที่พบบทความในขณะนี้และเข้าใจว่าน่าจะเป็นเรื่องราวแรกๆ ที่คุณเอนกได้เขียนถึง
เรื่องเพลงพื้นบ้านในจังหวัดนครปฐมเป็นเอกสารเรื่อง “วัฒนธรรมพื้นบ้านนครปฐม”
ซึ่งเขียนเพื่อประกอบการสัมมนา “ประวัติศาสตร์ โบราณคดีและศิลปวัฒนธรรมนครปฐม”
จัดขึ้นโดยมหาวิทยาลัยศิลปากรและชุมนุมนิสิตเก่าจุฬาฯ นครปฐม
เมื่อวันที่ ๒๐-๒๓ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๒๕ ณ อาคารหอสมุดกลาง
ซึ่งเวลาก็ล่วงผ่านมาเข้าปีที่ ๓๒ แล้วในปัจจุบัน

บทความดังกล่าวคุณเอนกกล่าวไว้ตอนหนึ่งสรุปความได้ว่า ก่อน พ.ศ.๒๕๒๐ เป็นต้นมา
เขาพยายามค้นหาเรื่องเพลงพื้นบ้าน หรือการละเล่นของนครปฐมแต่ไม่พบว่ามี
ซึ่งเป็นที่น่าแปลกใจเพราะนครปฐมเป็นจังหวัดใกล้กรุงเทพฯ
ขณะที่ราชบุรี เพชรบุรี และจังหวัดอื่นๆ รอบนครปฐมต่างมีเพลงของตนเอง

ในเวลาต่อมาคุณเอนกจึงทราบว่านครปฐมมีหนังตะลุง มีวงเพลง
พร้อมกับได้ทราบเรื่องที่นอกเหนือไปคือเครื่องตั้งวัดไทร
สำหรับบทความนี้จะกล่าวเฉพาะเรื่องเพลงพื้นบ้านนครปฐม
ซึ่งในครั้งนั้นคุณเอนกได้สำรวจใน ๓ แห่ง คือ
ต.โพรงมะเดื่อ และ ต.สระกระเทียม ในเขต อ.เมือง และอีกแห่งคือวัดละมุด อ.นครชัยศรี

เพลงพื้นบ้านโพรงมะเดื่อ
ต.โพรงมะเดื่อ เป็นพื้นที่แรกที่คุณเอนกสำรวจเมื่อ วันเสาร์ที่ ๑๔ เมษายน พ.ศ.๒๕๒๒
เพราะได้รับคำแนะนำว่าที่ตำบลนี้ยังมีการเล่นเก่าๆ เหลืออยู่บ้าง รวมทั้งประเพณีเชิญธงวันสงกรานต์
ครั้งนั้นได้มีการสัมภาษณ์บุคคล คือ ยายหง่อย วงศ์สกุล อายุ ๗๐ ปีเศษ
และป้าปั่น เลิศเกษม อายุ ๖๘ ปี ในขณะนั้น
ทราบว่าที่ตำบลแห่งนี้ไม่มีพ่อเพลงแม่เพลง แต่มีการแห่นางแมว
ซึ่งมีคำร้องเพลงเท่าที่ทั้ง ๒ ท่านจำได้ว่าไว้ ดังนี้

และอีกบทหนึ่งร้องว่า

ในบทหลังนี้คุณเอนกได้ให้คำอธิบายวรรค “แก้ผ้าดูผี”
ซึ่งเนื้อร้องจริงคำสุดท้ายของวรรคไม่ใช่ “ผี” ทราบจากชาวบ้านว่า
เพลงแห่นางแมวนั้นหยาบจึงไม่อยากร้องให้ฟัง
และตามความเห็นของคุณเอนกเพลงแห่นางแมวในหลายๆ ถิ่นจะมีเนื้อหาคล้ายๆ กัน
และบางแห่งมีคำร้องที่ยาวและสัปดนตามประเพณีจริงๆ


คณะเพลงสระกระเทียม เล่นเพลงพวงมาลัย ณ ศูนย์สังคีต ธนาคารกรุงเทพ จำกัด
วันศุกร์ที่ ๔ พฤษภาคม ๒๕๒๓ จากซ้ายพ่อละมุน พันพ่วง พ่อเปราะ อรชร
แม่ขุนทอง สุขประเสริฐ และพ่อช่ำ (ไม่ทราบนามสกุล)

ที่มา : เอนก นาวิกมูล (เอนก นาวิกมูล ศ๔พค๒๕๒๒ ม๓๑๒)

เพลงพื้นบ้านสระกระเทียม
ที่ ต.สระกระเทียมนี้ คุณเอนกเริ่มสำรวจครั้งแรกเมื่อ วันพุธ-พฤหัสบดีที่ ๑๘-๑๙ เมษายน ๒๕๒๒
และมีการเก็บข้อมูลเพิ่มเติมในเวลาต่อมาอีก ๓-๔ ครั้ง ทราบว่า เพลงพื้นบ้าน ต. สระกระเทียม
เท่าที่พบข้อมูลขณะนั้นมี ๘ ชนิด คือ เพลงสงคอลำพวน เพลงปรบไก่ เพลงพวงมาลัย
เพลงฉ่อย เพลงทรงเครื่อง เพลงแห่นางแมว เพลงเข้าทรงต่างๆ และเพลงสำหรับเด็ก
คือ เพลงกล่อมเด็ก เพลงปลอบเด็ก เพลงเด็กเล่น
ซึ่งในขณะนั้นที่ตำบลแห่งนี้มีความน่าสนใจ เพราะยังมีวงเพลงที่รับแสดงตามงานต่างๆ คือ
วงเพลงแม่สนิท อรชร หรือวงป้าผิด ลุงเปลาะ


พ่อเพลงแม่เพลงสระกระเทียม ร่วมงานเผาศพแม่ทองอยู่ รักษาพล แม่เพลง
ที่วัดเกาะสะพานใหม่ แถวหน้าจากขวาคนที่ ๒ และ ๓ แม่สนิทและแม่ขุนทอง
แถวหลังจากขวาพ่อเปลาะ และพ่อเหลือ
ที่มา : เอนก นาวิกมูล (ชัยพงษ์ พงษ์อักษร ส ๑๐ สค ๒๕๒๘ )

พ่อเพลงแม่เพลงของสระกระเทียม
มีแม่สนิท อรชร หรือแม่ผิด ในปีที่เก็บข้อมูล พ.ศ.๒๕๒๕ มีอายุ ๗๑ ปี เป็นชาวสระกระเทียม
เรียนเพลงตั้งแต่อายุ ๑๓ ปี จากครูวง บ้านทุ่งหัวพรม ที่พี่สาวซึ่งเป็นเพลงเช่นกัน
ได้ชวนมาหัดเพลงให้คนสระกระเทียม โดยมีแม่สนิทเป็นหัวหน้าคณะเพลงสระกระเทียม
ส่วนพ่อเปลาะ อรชร สามีของแม่สนิท อายุ ๖๘ ปี ช่วยร้องและเป็นลูกคู่บ้าง
มีผู้ที่เคยร่วมเล่นด้วยกัน ฝ่ายหญิงคือ แม่เพียน แม่แฉล้ม แม่ขุนทอง
แม่สำเนียง แม่ดำ แม่เละ และแม่เนียน
ส่วนฝ่ายชายคือ ครูวง พ่อละมุน พันพ่วง อายุ ๗๘ ปี พ่อปลีก ทิดไคล ไอ้แพขวัญเมือง และพ่อยุด
ซึ่งขณะนั้นผู้ชายตายหมดแล้วคงเหลือเพียงพ่อละมุนคนเดียว
นอกจากนี้แล้วยังมีพ่อเพลงแม่เพลงท่านอื่น คือ แม่ขุนทอง สุขประเสริฐ อายุ ๖๓ ปี
แม่กุหลาบ เครืออยู่ อายุ ๖๒ ปี พ่อช่ำ (ไม่ทราบนามสกุล) อายุราว ๔๐ กว่าปี


คณะเพลงสระกระเทียม เล่นเพลงปรบไก่ ณ ศูนย์สังคีต ธนาคารกรุงเทพ จำกัด
วันศุกร์ที่ ๔ พฤษภาคม ๒๕๒๓ จากซ้ายแม่กุหลาบ เครืออยู่ แม่สนิท อรชร
ที่มา : เอนก นาวิกมูล (เอนก นาวิกมูล ศ๔พค๒๕๒๒ ม๓๑๕)


คณะเพลงสระกระเทียม เล่นเพลงพวงมาลัย ณ ศูนย์สังคีต ธนาคารกรุงเทพ จำกัด
วันศุกร์ที่ ๔ พฤษภาคม ๒๕๒๓

ที่มา : เอนก นาวิกมูล (เอนก นาวิกมูล ศ๔พค๒๕๒๒ ม๓๑๕)

คณะเพลงสระกระเทียมนี้ เคยไปเล่นและมีการบันทึกเสียงอย่างเป็นทางการที่ศูนย์สังคีต
ธนาคารกรุงเทพ จำกัด ผ่านฟ้า เมื่อวันศุกร์ที่ ๔ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๒๒
โดยเล่นเพลงพวงมาลัย และเพลงปรบไก่ ซึ่งคุณเอนกมีความเห็นว่าเพลงพวงมาลัย
ที่เพิ่งมีโอกาสได้ฟังจากชาวบ้านร้องเป็นครั้งแรกนั้น มีท่วงทำนองที่น่าสนใจ
มีความไพเราะและสามารถใช้เป็นแบบฉบับได้
หากท่านใดสนใจสำเนาบันทึกเสียงจำนวน ๒ ม้วน
ของคณะเพลงสระกระเทียมที่เล่นในครั้งนั้น ก็สามารถขอสำเนาได้ที่ศูนย์สังคีตฯ

นอกจากเพลงพวงมาลัย ที่คุณเอนกให้ความเห็นว่าร้องได้ดีแล้ว
ที่ ต.สระกระเทียมยังมีเพลงสงคอลำพวน ซึ่งร้องกันตอนนวดข้าว
เพลงฉ่อย และเพลงทรงเครื่องซึ่งหมายถึงเพลงที่ยืมทำนองเพลงฉ่อยมาดัดแปลงขึ้นต้น
ตามด้วยการร้องเพลงฉ่อยแบบไม่แต่งเครื่องลิเก และเมื่อเปลี่ยนแต่งกายทรงเครื่องแล้ว
จึงร้องเป็นเพลงทรงเครื่องด้วยท่วงทำนองผสมผสานของเพลงฉ่อยและลิเก
โดยนำเนื้อหาจากวรรณคดีต่างๆ มาเล่น

ส่วนการเล่นเพลงปรบไก่ที่เดิมทีคุณเอนกเคยคิดว่าสูญหายไปแล้วแต่มาพบว่ามีที่สระกระเทียม
และทราบภายหลังว่ายังมีคณะแม่เหม สุพรรณบุรี และวงของชาวบ้านที่บ้านลาด เพชรบุรี
เมื่อได้ฟังทั้ง ๓ คณะ เห็นว่าคณะแม่เหม มีท่วงทำนองและเนื้อร้องแบบเก่าแท้ที่สุด
รองลงไปคือคณะเพลงที่บ้านลาด ส่วนของสระกระเทียมผู้ที่ร้องได้ดีมากที่สุด คือ แม่กุหลาบ
ส่วนท่านอื่นๆ ไม่ถนัดการเล่นเพลงปรบไก่

สำหรับเพลงพื้นบ้านอื่นๆ คือ เพลงเข้าทรงในเทศกาลสงกรานต์ เพลงแห่นางแมว
คุณเอนกให้ความเห็นว่าไม่แตกต่างจากที่อื่น และเพลงพื้นบ้านที่ไม่พบที่นี่ เช่น
เพลงเรือ เพลงเต้นกำ เพลงพิษฐาน เป็นต้น

การสำรวจข้อมูลจากเอกสารของคุณเอนก นาวิกมูลที่พบ
ไม่ปรากฎรายละเอียดเกี่ยวกับวิธีการเล่นเพลง
และเมื่อพยายามหาจากแหล่งอื่นพบที่มีผู้จัดทำไว้เพียงการเล่นเพลงปรบไก่
จึงนำข้อมูลมาช่วยเพิ่มเพื่อเติมเต็ม

เพลงปรบไก่ เอกลักษณ์ชาวสระกระเทียม
เพลงปรบไก่ เรียกอีกอย่างว่า เพลงวง เหตุที่เรียกเช่นนี้เพราะ
ในการร้องคำแรกผู้ร้องจะยกมือซ้ายตั้งวงขึ้นรำ เอกลักษณ์ในการเล่นเพลงปรบไก่
ของ ต.สระกระเทียมซึ่งแตกต่างจากแห่งอื่นคือ นิยมเล่นเฉพาะผู้หญิง
เป็นเพลงร้องส่งให้ปี่พาทย์รับมีเพลงและท่ารำที่เป็นแบบแผน

การเล่นเพลงปรบไก่ที่ตำบลนี้ เริ่มมาตั้งแต่สมัยทวดของนางกุหลาบ เครืออยู่ คือ นางขลิบ
ซึ่งในครั้งที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ มาประทับ ณ พระราชวังสนามจันทร์
มักโปรดเกล้าฯ ให้มีการแสดงของศิลปินท้องถิ่นสลับกับโขนละคร
นางขลิบและแม่เพลงชาวสระกระเทียมคนอื่นๆ คือ นางหร่ำ นางปลี นางช่วง นางปิ่น
จึงมีโอกาสเล่นเพลงปรบไก่ถวายทอดพระเนตร
แม่เพลงในยุคต่อมาคือนางปั่น ลุ่มจันทร์ และนางสุ่ม โรจน์โพธิ์
ซึ่งเดิมนางสุ่มเป็นชาวราชบุรี เมื่ออพยพมาอยู่ก็ได้ถ่ายทอดการเล่นเพลงปรบไก่ให้นางปั่นเพิ่มเติม

การเล่นเพลงปรบไก่ที่สระกระเทียมมีเนื้อร้องและท่ารำแบบดั้งเดิม
ต่อมาได้ปรับปรุงเนื้อร้องบางส่วนให้เหมาะกับความนิยมในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม
โดยครูแรม สุกกล่ำ และครูสอน ใจงาม ซึ่งเป็นครูโรงเรียนวัดสระกระเทียม
เป็นผู้ฝึกสอนเพลงปรบไก่ให้นักเรียน มีศิษย์ผู้สืบทอดการเล่นเพลงปรบไก่คนสำคัญ คือ
นางกุหลาบ เครืออยู่ ผู้มีผลงานดีเด่นด้านวัฒนธรรม ขุนทองพิศ อรชร และนายมุน (ไม่ทราบนามสกุล)
ต่อมาความนิยมในการเล่นเพลงปรบไก่น้อยลงไป กระทั่งปีการศึกษา ๒๕๔๓
โรงเรียนสระกระเทียมวิทยาคม ได้จัดโครงการสืบสานวัฒนธรรมท้องถิ่นขึ้น
และได้เชิญนางกุหลาบ เครืออยู่ มาฝึกซ้อมให้แก่นักเรียน

เครื่องแต่งกายและดนตรีประกอบการแสดง
การเล่นเพลงปรบไก่ ฝ่ายหญิงและฝ่ายชายจะนุ่งโจงกระเบนด้วยผ้าลาย
ฝ่ายหญิงสวมเสื้อแขนกระบอก ห่มสไบเฉียงทับเสื้อ และสวมใส่เครื่องประดับต่างๆ
ฝ่ายชายสวมเสื้อคอกลม มีผ้าขาวม้าคาดเอว
ดนตรีที่ใช้คือวงปี่พาทย์ และมีการตบมือให้จังหวะประกอบการรำด้วย

วิธีการเล่น
เพลงปรบไก่มีผู้เล่นประมาณ ๑๐ คน เริ่มต้น ผู้เล่นจะนั่งยองๆ บริเวณลานกว้าง และพนมมือ
แม่เพลงจะเริ่มร้องบทไหว้ครู โดยแม่เพลงร้องนำให้ลูกคู่ร้องตามทีละวรรค
เมื่อจบบทไหว้ครูแล้วจึงลุกขึ้นยืนเป็นวงกลม แม่เพลง หรือพ่อเพลงจะเริ่มร้อง
ลูกคู่คอยปรบมือเป็นจังหวะ ตอนจบบทลูกคู่จะร้องรับว่า
“ฉา ตะละลา ฉาฉา ฉาฉา ชะ” และร้องทวนวรรคสุดท้ายที่จบบท

เนื้อร้องเพลงปรบไก่บทหนึ่งจะมี ประมาณ ๓-๔ บท ลูกคู่จะต้องรับทุกบท
ขณะที่ร้องเพลงทุกคนจะเดินเป็นวงช้าๆ ไปเรื่อยๆ ให้เข้ากับจังหวะที่ปรบมือ
เมื่อจบบทเพลงปรบไก่ ๓-๔ บท ทุกคนก็จะหยุดเดิน
แม่เพลงหรือพ่อเพลงก็จะร้องส่งเพลง โดยร้องจากเนื้อหาวรรณคดีเรื่องต่างๆ สั้นๆ เพียง ๑ บท เช่น
สังข์ทอง พระอภัยมณี เป็นต้น ขณะที่พ่อเพลงร้องบทส่งลูกคู่ในคณะบางคน
ก็จะร่ายรำทำท่าไปตามเนื้อเรื่องที่ร้องจนจบบทร้องส่ง
เรียกว่าจบ “๑ วง” การร้องแต่ละครั้งจะร้องกี่วงก็ได้

เนื้อร้องเพลงปรบไก่
เนื้อร้องที่เล่นกันในพื้นบ้านเป็นการโต้ตอบกันระหว่างชายหญิง
ไม่ค่อยเป็นการเกี้ยวพาราสี สำนวนภาษาที่ใช้จะค่อนข้างหยาบ คือจะว่ากันตรง ๆ ไม่อ้อมค้อมหรือเลี่ยง
เป็นแบบสองแง่สองง่ามเหมือนเพลงพื้นบ้านชนิดอื่น และเวลาร้องมักจะกระแทกเสียงห้วนสั้นในคำท้ายวรรค

ตัวอย่างเนื้อเพลงปรบไก่

ตัวอย่างเพลงพวงมาลัย
เพลงพวงมาลัย โดยคณะเพลงสระกระเทียม วันศุกร์ที่ ๔ พฤษภาคม ๒๕๒๓
ณ ศูนย์สังคีต ธนาคารกรุงเทพ จำกัด

เพลงพวงมาลัย โดยคณะเพลงสระกระเทียม วันพุธที่ ๑๘ เมษายน ๒๕๒๒
งานสงกรานต์ ณ วัดสระกระเทียม

ตัวอย่างเพลงเข้าทรงลิงลม
เพลงเข้าทรงลิงลม โดย นางสนิท อรชร วันพุธที่ ๑๘ เมษายน ๒๕๒๒

ตัวอย่างเพลงแห่นางแมว
เพลงแห่นางแมว โดย นางสนิท อรชร นางขุนทอง สุขประเสริฐ นางกุหลาบ เครืออยู่
วันพุธที่ ๑๘ เมษายน ๒๕๒๒

เพลงพื้นบ้านวัดละมุด
เรื่องเกี่ยวกับเพลงพื้นบ้านวัดละมุด ซึ่งตั้งอยู่ที่ อ.นครชัยศรี จากเอกสารของคุณเอนก
เป็นเพียงการสำรวจข้อมูลในเบื้องต้น เช่นเดียวกับเพลงพื้นบ้านโพรงมะเดื่อ และเพลงพื้นบ้านสระกระเทียม
ดิฉันเห็นว่าจะเป็นประโยชน์ในแง่ชี้แหล่ง จึงสรุปโดยย่อมาเล่าความ
โดยมีบุคคลต้นทางที่ให้ข้อมูลคือ พระครูสุพจน์วราภรณ์ หรือหลวงพ่อหยุด เจ้าอาวาสวัดละมุด
ปัจจุบันท่านมรณภาพแล้วเมื่อ พ.ศ.๒๕๕๓

ท่านเจ้าอาวาสเป็นผู้ที่รวบรวมเรื่องราวเกี่ยวกับวัฒนธรรมท้องถิ่นไว้อย่างน่าสนใจ
เฉพาะอย่างยิ่งการศึกษาค้นคว้าประวัติของวัดละมุด
ทั้งในส่วนตำนานที่เล่าสืบต่อกันมา ทั้งบันทึกจากความทรงจำของท่านที่เคยพบเห็น
และยังได้ร่วมปรึกษาหารือในการศึกษาค้นคว้าหาข้อมูลทางโบราณคดีต่างๆ กับ น.ณ ปากน้ำ

นอกจากท่านจะศึกษาหาข้อมูลเกี่ยวกับประวัติวัดละมุด พร้อมภาพถ่ายเป็นจำนวนมาก
และได้จัดพิมพ์โรเนียวเย็บเล่มชื่อหนังสือ “ประวัติวัดละมุด” เมื่อ พ.ศ.๒๕๑๔
ขณะมีฉายาว่า พระครูสุพจน์ สุทนฺโต

ในหนังสือเล่มดังกล่าวยังมีเพลงกล่อมเด็ก ที่ท่านได้รวบรวมไว้จำนวน ๙ เพลง
โดยการบันทึกจากคำบอกเล่าของชาวบ้านละแวกใกล้เคียงวัด
ซึ่งท่านเริ่มเก็บข้อมูลเพลงกล่อมเด็กมาตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๑๔
นับเป็นความคิดที่ทันสมัยของวงการเพลงพื้นบ้านในขณะนั้น
ที่สำคัญในจำนวนผู้ให้สัมภาษณ์หลายท่าน บางท่านมีอายุถึง ๑๐๑ ปี
แต่น่าเสียดายเอกสารของคุณเอนกที่พบ มีตัวอย่างบทร้องเพลงกล่อมเด็กที่คัดมาเพียง ๓ บท
ซึ่งนอกจากเพลงกล่อมเด็กแล้ว ในละแวกวัดละมุดยังมีเพลงฉ่อย
แต่ไม่มีตัวพ่อเพลงแม่เพลง และเพลงพิษฐานซึ่งมีทำนองไม่ต่างจากท้องถิ่นอื่นๆ

ตัวอย่างเพลงกล่อมเด็ก
จากหนังสือ ประวัติวัดละมุด อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม รวบรวมโดย พระครูสุพจน์ สุทนฺโต พ.ศ. ๒๕๑๔

เรื่องอีโสภลักษณ์

เรื่องวัดโบสถ์


เรื่องแมวเหมียว

เพลงพื้นบ้านนครปฐม ดังยกมากล่าวในบทความนี้ มีประเภทบทเพลงจำนวนไม่มากนัก
หากเปรียบเทียบกับประเภทเพลงพื้นบ้านภาคกลางที่มีจำนวนหลากหลายมากกว่าภาคอื่นๆ
และเป็นสิ่งที่น่าเสียดายยิ่ง ที่เพลงจำนวนน้อยที่พบเหล่านี้แม้ในชนบทก็คิดว่าแทบจะหาดูไม่ได้
หรืออาจไม่มีหลงเหลือให้ดูแล้วก็เป็นได้ในปัจจุบัน ด้วยพ่อเพลงแม่เพลงอาวุโสในครั้งนั้น
ปัจจุบันหลายท่านล้มหายตายจาก บางท่านแม้จะยังมีชีวิตอยู่ก็อยู่ในวัยร่วงโรยเต็มที

เพลงพื้นบ้านเป็นมรดกวัฒนธรรมที่แสดงให้เห็นภูมิปัญญาทางด้านภาษาของคนไทย
สะท้อนสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ ความเชื่อ ประเพณี ตลอดจนวิถีชีวิตประจำวัน
ให้ความสนุกสนานเพลิดเพลิน บางครั้งยังเป็นสื่อในการอบรมสั่งสอนคิดอ่านให้แก่สังคม

แต่ในปัจจุบันความเป็นสังคมเมืองที่รุกล้ำความเป็นชนบท เทคโนโลยีที่หลากหลายรวดเร็ว
ตลอดจนวัฒนธรรมเพลงและความบันเทิงสมัยใหม่ทั้งไทยและเทศ
ต่างไหลบ่าเข้าแทนที่วัฒนธรรมดั้งเดิมของบรรพชน
“เพลงพื้นบ้าน” โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคกลางจึงตกอยู่ในสถานะเพียง
การแสดง “รำลึกอดีต” บนความพยายามสืบทอดให้คงอยู่ในฐานะ “ภูมิปัญญาไทย”

————————————————-
รายการอ้างอิง

  • ประเพณีไทยดอทคอม.  (๒๕๕๖).  เพลงปรบไก่.  เข้าถึงเมื่อ ๒๙ กรกฏาคม.
    เข้าถึงได้จาก http://www.prapayneethai.com/เพลงปรบไก่-นครปฐม
  • สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดนครปฐม.  (๒๕๔๘).  เพลงปรบไก่ (เพลงวง).
    เข้าถึงเมื่อ ๒๕ กรกฎาคม.  เข้าถึงได้จาก http://ich.culture.go.th/
    index.php/th/ich/performing-arts/240-rural-song/269—–m-s
  • เอนก นาวิกมูล.  (๒๕๒๙).  “เพลงพื้นบ้านสระกระเทียม.”
    ใน ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ฉบับวัฒนธรรมพื้นบ้าน, ๑๘-๒๓.
    สุจิตต์ วงษ์เทศ, เอนก นาวิกมูล และเจนภพ จบกระบวนวรรณ,บรรณาธิการ.
    กรุงเทพฯ: ไพศาลศิลป์การพิมพ์.
  • _____.  (๒๕๓๑).  คนเพลงและเพลงพื้นบ้านภาคกลาง.  กรุงเทพฯ:
    สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ.

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *