เล่าทีละเรื่องเมืองนครปฐม: #6 อิฐตราพระปถม – พระปฐม

 

 


“…อิฐเก่า ๆ แผ่นเดียวก็มีค่าควรจะช่วยกันรักษาไว้…”

 

 

พระราชดำรัส
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙
เมื่อเสด็จประพาส จ.พระนครศรีอยุธยา พ.ศ. ๒๕๐๖ 
ด้วยพระองค์ทอดพระเนตรเห็นอาคารสมัยใหม่หลังหนึ่ง
สร้างขึ้นบนที่ซึ่งเคยเป็นซากโบราณสถาน 

 

พระราชดำรัสวรรคทองนี้เชื่อว่าปวงชนชาวไทยต่างจดจำได้ดี และน้อมนำมาปฏิบัติในการร่วมกันคุ้มครองดูแล ตลอดจนอนุรักษ์สมบัติวัฒนธรรมของชาติ

จ.นครปฐม ในฐานะเมืองประวัติศาสตร์สำคัญนับแต่ครั้งทวารวดี ซึ่งแม้ความเจริญรุ่งเรืองสูงสุดจะเสื่อมสลายไปตามเหตุปัจจัย แต่เมืองนี้ก็มิได้หายสาบสูญไปเสียทีเดียว ยังคงปรากฏหลักฐานการมีอยู่ของผู้คนเป็นระยะ
ในยุคต่อ ๆ มา กระทั่งกลับฟื้นคืนความเป็นเมืองอีกครั้งในสมัยรัตนโกสินทร์ นับแต่มีการบูรณะพระปฐมเจดีย์
ในสมัยรัชกาลที่ ๔ เรื่อยมาจนปัจจุบัน ความทับซ้อนของเมือง ความร่วงโรยของโบราณสถาน และสิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ ตลอดจนการบูรณะซ่อมแซมของเก่า การปรับเปลี่ยนซ่อมสร้างของใหม่ โดยอาศัยเศษซากของเก่านำมาใช้ให้เกิดประโยชน์จึงมิเกินกว่าวิสัยที่จะทำ

เกริ่นนำ
ผู้เขียนในนามมหาวิทยาลัยศิลปากร โดย ศาสตราจารย์ ดร.คณิต เขียววิชัย รองอธิการบดีพระราชวังสนามจันทร์ในขณะนั้น (พ.ศ.๒๕๖๔) ได้มอบหมายให้เป็นผู้ประสานงานการดำเนินการเอกสาร หนังสือและวัตถุสะสมทางวัฒนธรรมของ นายไพบูลย์ พวงสำลี ตามที่ทายาทแจ้งเจตนามอบสิ่งของสะสมของเขาให้มหาวิทยาลัย
รับมาดำเนินการเพื่อจัดเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ประวัติศาสตร์และโบราณคดีท้องถิ่นนครปฐม ตามเจตนารมณ์ของผู้ล่วงลับ โดยเบื้องต้นมีการคัดแยก เอกสาร บันทึกรายการสิ่งของและถ่ายภาพ จัดทำเป็นบัญชีรายชื่อจำนวน ๑๖๒ รายการ (ตามลักษณะการจัดเก็บเป็นลังและถาดโดยเจ้าของเดิม และยังมิได้นับแยกรายชิ้น, ผู้เขียน) ทั้งนี้เพื่อใช้ประกอบในการดำเนินการรับมอบเป็นทางการต่อไป

ที่มาของอิฐ 
อิฐตรา พระปฐม หรือ พระปถม นี้ เป็นส่วนหนึ่งในสิ่งของสะสมของนายไพบูลย์ เมื่อผู้เขียนสำรวจเอกสาร
ที่รับมอบมา ได้พบเอกสารขนาด A4 จำนวน ๗ หน้า กล่าวถึงอิฐเหล่านี้ สันนิษฐานว่าเป็นสำเนาต้นฉบับพิมพ์
ของบทความที่นายไพบูลย์ นำไปตีพิมพ์ที่ใดที่หนึ่ง ด้วยความนำกล่าวว่า
“ขอเท้าความถึงเรื่องเมื่อฉบับที่แล้ว พระระเบียงชั้นล่างรอบพระปฐมเจดีย์…”
ทั้งนี้นอกจากอาชีพทนายความแล้ว เขายังเป็นนักเขียนที่มีผลงานตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น
และสิ่งพิมพ์อื่น ๆ อีกด้วย

ข้อสันนิษฐานเรื่องอิฐ
ด้วยความสนใจในประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเป็นการส่วนตัว เขาได้ทำการสำรวจศึกษาแหล่งประวัติศาสตร์ในพื้นที่จังหวัดนครปฐม และใกล้เคียงมาตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๓๙ พบหลักฐานโบราณวัตถุที่น่าสนใจหลากหลาย วัตถุในความสนใจประการหนึ่งของเขา คือ อิฐหลายขนาดที่ใช้ในการก่อสร้างอาคารโบราณสถานและเจดีย์ต่าง ๆ ในจำนวนอิฐหลากขนาดนั้น เขาพบอิฐที่มีตราประทับ คำว่า พระปถม – พระปฐม ตรงบริเวณกลางก้อน โดยรวมอิฐมีขนาดกว้าง ๔ นิ้ว ยาว ๘ นิ้ว หนา ๒ นิ้ว อิฐส่วนใหญ่มีสีส้มแดง ลักษณะและขนาดคล้ายอิฐที่ในปัจจุบันเรียกว่า อิฐมอญ หรือ อิฐแดง (อิฐมอญรุ่นเก่ามีขนาดใหญ่กว่าปัจจุบัน ที่ขนาดก้อนจะเล็กและบางลง, ผู้เขียน) อิฐประทับตราพระปฐมที่พบนี้ มีบางก้อนเป็นสีเทา (อาจเกิดจากการเผาไม่สุก, ผู้เขียน) ทั้งนี้นายไพบูลย์สันนิษฐานว่าขนาดของอิฐนี้ อาจมีแนวคิดจากการก่อสร้างแบบยุโรปซึ่งมีมาแต่ตอนปลายรัชกาลที่ ๔ และในสมัยรัชกาลที่ ๕ ก็มีความนิยมใช้อิฐขนาดเดียวกันนี้

แหล่งที่พบอิฐพระปถม – พระปฐม 
การสำรวจศึกษาของเขาได้พบอิฐที่มีตราประทับนี้ในหลายแห่ง กล่าวคือ

  • เรือนจำจังหวัดนครปฐม  พบอิฐประทับตรา พระปฐม ในลักษณะของการนำมาซ่อมแซมกำแพงเรือนจำ โดยปะปนกับอิฐขนาดใหญ่ที่ไม่มีตราประทับ โดยเขาระบุว่าอิฐขนาดใหญ่ที่นำมาสร้างกำแพงเรือนจำใหญ่ทั้งหมดใช้อิฐที่เก็บมาจากวัดร้างสมัยทวารวดีซึ่งอยู่รอบพระปฐมเจดีย์ ข้อสันนิษฐานของเขา คือ กำแพงเรือนจำสร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๑ ต่อมาเมื่อมีการซ่อมแซมกำแพงเรือนจำ อาจเป็นไปได้ว่ามีการนำอิฐเก่าจากการรื้อพระระเบียงชั้นล่างพระปฐมเจดีย์โดยรอบ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๘ (๑) ซึ่งมีตราประทับพระปฐม มาใช้ร่วมในการซ่อมแซมนั้น
  • ใต้วิหารบนเนินโบราณสถานในวัดพระงาม (๒) พบอิฐประทับตรา พระปถม ข้อสันนิษฐานของเขา คือ อิฐที่พบในบริเวณดังกล่าว ประกอบกับประวัติการสร้างวัด ตลอดจนรูปแบบของการสร้างวิหารอาจสามารถกำหนดอายุของวิหารได้ การพบอิฐตราพระปถมนี้ ผู้เขียนพบบันทึกพิมพ์ดีดขนาด A4 จำนวน ๑ หน้า จากเอกสารที่รับมอบของนายไพบูลย์ ระบุว่า วันที่ ๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๖ พระวินัยธร ประธร วัดพระงาม ได้เล่าถึงอิฐที่ท่านพบบริเวณโบราณสถานวัดพระงามและเก็บขึ้นไว้ ๔-๕ ก้อน ทั้งนี้บริเวณที่พบอิฐส่วนใหญ่เกือบทุกก้อนประทับตราพระปถม ต่อมาวันที่ ๑๐ เขาได้เดินทางไปยังวัดพระงามเพื่อดูบนเนินโบราณสถานอีกครั้ง พบว่านอกจากอิฐประทับตราแล้วยังมีอิฐโบราณซึ่งมีขนาดใหญ่กว่า คือ มีความหนา ๓-๔ นิ้ว กว้าง ๘ นิ้ว ยาว ๑๕ นิ้ว รวมอยู่ด้วย (ขนาดของอิฐตามที่ระบุ เข้าใจว่าหมายถึงอิฐสมัยทวารวดี ซึ่งมักมีขนาดใกล้เคียงนี้ไม่ต่างกันมากนักในแหล่งต่าง ๆ, ผู้เขียน) โดยเขาได้ทำการพิมพ์รอย (Rubbing)
    ตราประทับ พระปถม ไว้ดังภาพ

  • โบราณสถานพระประโทนเจดีย์  มีการสำรวจขุดแต่งเมื่อ พ.ศ.๒๕๔๘ พบหลักฐานทางโบราณคดี
    เป็นจำนวนมาก รวมทั้งอิฐประทับตรา พระปถม ซึ่งมีขนาดเดียวกับที่พบในแหล่งอื่น ๆ นอกจากนี้ยังพบ
    หินบันไดซึ่งเป็นชนิดเดียวกับที่สร้างซุ้มพระระเบียงชั้นล่างรอบพระปฐมเจดีย์ เขาสันนิษฐาว่า
    พระประโทนเจดีย์ซึ่งมีการซ่อมแซมสมัยทวารวดีตอนปลาย สมัยอยุธยา และสมัยรัตนโกสินทร์ มีความ
    เป็นไปได้ว่ามีการนำอิฐและหินที่รื้อจากพระระเบียงชั้นล่างพระปฐมเจดีย์มาซ่อมแซม หลัง พ.ศ.๒๔๕๘
  • ตลาดทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์  เมื่อมีการรื้อสิ่งปลูกสร้างตลาดทรัพย์สินฯ หลังเก่า
    หรือที่ชาวนครปฐมเรียกว่า ตลาดบน-ตลาดล่าง เพื่อสร้างตลาดหลังใหม่แทนที่ เขาได้ไปสำรวจ
    และพบว่า ตลาดหลวง คำเรียกเดิมของตลาดทรัพย์สินฯ ตามหลักฐานซึ่งปรากฎในแผนที่ระวางที่ดิน
    มีการใช้อิฐประทับตรา พระปถม ในการปลูกสร้าง

นอกจากนี้ อ. สืบสกุล ศรัณพฤฒิ (คณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร) ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ในบริเวณบ้านพักของลูกเสือจังหวัดนครปฐม ซึ่งเป็นบริเวณเชื่อมต่อถัดจากพื้นที่ของวังปฐมนคร
มีการพบอิฐประทับตรา พระปฐม นี้เช่นกัน

เรื่องราวของอิฐเก่าที่มีตราประทับ พระปถม – พระปฐม ดังเก็บความมาเล่าสู่ จากบุคคลและจากบันทึกของนายไพบูลย์ พวงสำลี ทนายนักต่อสู้ผู้มีความอุตสาหะและมีบทบาททั้งเบื้องหน้า-เบื้องหลัง ในการดูแลและอนุรักษ์โบราณสถานที่สำคัญหลายแห่ง ในจังหวัดนครปฐม อาทิ เป็นผู้นำคัดค้านการเข้าใช้ประโยชน์พื้นที่บริเวณโบราณสถานพระเมรุของห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง โดยมีชาวนครปฐมและชุมชนปฐมอโศกเข้าร่วม เป็นผู้นำเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าอนุรักษ์สะพานเจริญศรัทธา (สะพานยักษ์) ที่ถูกรุกล้ำใช้สอยพื้นที่จนก่อให้เกิดความชำรุดเสียหายต่อสถาปัตยกรรมอันทรงคุณค่าที่ รัชกาลที่ ๖ ทรงมอบให้แก่ชาวนครปฐม นำมาซึ่งการประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานสะพานเจริญศรัทธา ในเวลาต่อมา  และการต่อสู้ครั้งสำคัญอันเป็นท้ายสุดในชีวิตของเขา คือ การระดมกลุ่มบุคคลแนวร่วมเพื่อปลุกให้ชาวนครปฐมทั้งจังหวัด ลุกขึ้นคัดค้านการยุบรวมพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ พระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม ไปรวมกับจังหวัดสุพรรณบุรี ด้วยความรักและหวงแหนมรดกวัฒนธรรมของแผ่นดินแม่ การยืนหยัดต่อสู้แม้โดดเดี่ยวในบางคราหากแต่ด้วยอุดมการณ์ส่วนตนอันมุ่งมั่น เขาจึงได้รับความไว้วางใจแต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษา และคณะกรรมการเครือข่ายมรดกวัฒนธรรม พื้นที่ ๒ สุพรรณบุรี กรมศิลปากร

เรื่องราวของคนท้องถิ่นซึ่งไม่เพิกเฉยต่อมรดกแผ่นดิน ตลอดจนกระแสพระราชดำรัสดังยกมากล่าวข้างต้น สะท้อนให้เห็นว่า แม้แต่พระมหากษัตริย์ก็ยังทรงมีความซาบซึ้งในคุณค่าของโบราณสถาน โบราณวัตถุ
เห็นความจำเป็นในการคุ้มครองดูแลอนุรักษ์สมบัติวัฒนธรรมของชาติ เพื่อเป็นหลักฐานในการศึกษาอดีต
เป็นสิ่งเตือนใจให้คนในชาติได้เกิดความภาคภูมิใจในสิ่งที่บรรพชนได้สร้างสมไว้ เป็นมรดกวัฒนธรรมตกทอดมา ความตระหนักรู้ซึ่งแม้องค์ประมุขของชาติก็ยังทรงให้ความสำคัญในเอกลักษณ์ศิลปวัฒนธรรมของชาติถึงเพียงนี้ ประชาชนอย่างเรา ๆ จึงมิควรที่จะละเลยและเอาเยี่ยง ร่วมกันดูแล ช่วยกันสอดส่อง เพื่อรักษามรดกวัฒนธรรม
ของชาติให้คงอยู่ เหนืออื่นใดหากได้นำมารังสรรค์ตามวิถีคำร่วมสมัย Soft Power ก็จะสามารถแปลงเปลี่ยนต้นทุนวัฒนธรรมให้เกิดประโยชน์ต่อผู้คนในแต่ละท้องถิ่น โดยจับต้อง กินได้ อย่างแท้จริงและยั่งยืนได้ไม่ยากนัก

หมายเหตุ
(๑) พระระเบียงชั้นล่างพระปฐมเจดีย์นี้ รัชกาลที่ ๕ โปรดเกล้าฯ ให้สร้างเมื่อต้นรัชกาลราว พ.ศ. ๒๔๑๒ เพื่อเป็นที่พักแรมแก่พุทธศาสนิกชนที่เดินทางมานมัสการพระเจดีย์และไม่สามารถเดินทางกลับได้ในวันเดียว ต่อมาเมื่อชำรุดทรุดโทรมจึงรื้อลงและสร้างเป็นกำแพงแก้วดังปรากฎในปัจจุบัน

(๒) บริเวณเนินโบราณสถานนี้ ชาวบ้านเข้าใจว่าเป็นเนินเขา จึงมักเรียกว่า เขาวัดพระงาม ซึ่งล่าสุดกรมศิลปากรได้เข้ามาขุดค้นศึกษาตามโครงการอนุรักษ์ฯ เมื่อ พ.ศ.๒๕๖๒ และพบหลักฐานทางโบราณคดี คือ ประติมากรรม
ดินเผารูปอสูร ศิลาจารึก และพระพุทธรูปสมัยทวารวดี ปัจจุบันจัดแสดง ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระปฐมเจดีย์

ข้อมูลอ้างอิง
– พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชกับการพัฒนาพิพิธภัณฑสถาน. [ม.ป.ป.]. ใน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กาญจนาภิเษก. https://www.finearts.go.th/museumkanjanaphisek/view/12962-พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชกับการพัฒนาพิพิธภัณฑสถาน

– พิพิธิภัณฑสถานแห่งชาติเสมือนจริง เจ้าสามพระยา. [ม.ป.ป.]. ใน กรมศิลปากร. https://www.finearts.go.th/main/view/8527-พิพิธิภัณฑสถานแห่งชาติเสมือนจริง-เจ้าสามพระยา

– ไพบูลย์ พวงสำลี. (ม.ป.ป.). [สำเนาต้นฉบับพิมพ์บทความ เรื่อง อิฐพระระเบียงสร้างตลาดหลวง ซ่อมเรือนจำ, วัด].

– สืบสกุล ศรัณพฤติ. (๑๔ กันยายน ๒๕๖๖). อิฐประทับตราพระปฐม. (นฤมล บุญญานิตย์, ผู้สัมภาษณ์)

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *