เล่าทีละเรื่องเมืองนครปฐม: #7 พระบรมรูปปั้น รัชกาลที่ ๖ ในบริเวณเทศบาลเมืองนครปฐม

ภาพด้านหน้า ของพระรูปปั้น รัชกาลที่ ๖ ประดิษฐาน ณ ศาลทรงไทยหลังย่อมซึ่งหันหน้าอาคารทางทิศตะวันออก … บันทึกภาพเมื่อวันที่ ๔ สิงหาคม ๒๕๖๑

สำนักงานเทศบาลนครนครปฐมหลังเก่า หรือเทศบาลเมืองเดิม สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๐ ต่อมาราว พ.ศ. ๒๕๕๐ ได้มีการรื้อถอนอาคารหลังเดิมเพื่อจะสร้างใหม่เป็นอาคาร ๕ ชั้น แทนที่เดิม แต่อดีตบริเวณดังกล่าวเคยเป็นเขตพื้นที่พระราชวังปฐมนคร ซึ่งนับเป็นพื้นที่โบราณสถาน ตามพระราชบัญญัติโบราณสถานฯ จำเป็นต้องมีการดำเนินการสำรวจศึกษาและขุดแต่งทางโบราณคดี อีกทั้งบริเวณดังกล่าวอยู่ใกล้กับพระปฐมเจดีย์ ซึ่งเป็นโบราณสถานขึ้นทะเบียนแล้ว จึงจะต้องมีการควบคุมสภาพแวดล้อม สิ่งก่อสร้างบริเวณใกล้เคียงมิให้เกิดผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ด้วย

ปัจจุบัน พ.ศ. ๒๕๖๗ พื้นที่ดังกล่าวหากมองแต่โดยผิวเผินอาจเห็นเป็นพื้นที่โล่ง มีเพียงเสาธงด้านชิดรั้วทิศตะวันตกของพื้นที่เท่านั้นที่ยังตั้งดูเด่นเป็นสง่าอยู่ แต่หากพิจารณาโดยรอบจะพบว่าภายในรั้วด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือของพื้นที่ บริเวณมุมถนนทิพากรเชื่อมต่อกับถนนหน้าพระ มีคลองเจดีย์บูชาคั่นด้วยถนนทิพากรอยู่ทางขวามือของรั้วนั้น หรืออาจกล่าวโดยง่ายคือบริเวณภายในรั้วเทศบาลด้านริมคลองเจดีย์บูชา ซึ่งหากสังเกตตรงมุมรั้วนี้จะมีศาลหลังคาทรงไทย หลังย่อม ๆ หลังหนึ่งตั้งอยู่

พระรูปปั้น รัชกาลที่ ๖ ประดิษฐาน ณ ศาลทรงไทยหลังย่อม องค์ประกอบหลังคาประดับด้วยช่อฟ้า หน้าบันหรือจั่ว มีตราพระราชลัญจกร “รร” ภายใต้พระมหามงกุฎและตัวเลข ๖ บันทึกภาพเมื่อวันที่ ๔ สิงหาคม ๒๕๖๑

ศาลหลังนี้ ข้าพเจ้าเพิ่งสังเกตพบเมื่อวันที่ ๔ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๖๑ ว่าที่หน้าบันหรือจั่วหลังคาของศาลมีตราสัญลักษณ์พระปรมาภิไธยย่อ “รร” ภายใต้พระมหามงกุฎและตัวเลข ๖ อันบ่งถึงเลขประจำรัชกาล อักษรย่อ รร ๖ นี้มาจากพระนาม รามรามาธิบดีที่ ๖ ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใช้ตั้งแต่พุทธศักราช ๒๔๕๙ เมื่อพิจารณารายละเอียดพบว่าหลังคาทรงไทยนี้ประดับด้วยช่อฟ้า อันเป็นองค์ประกอบการตกแต่งชุดเครื่องบนอาคารชิ้นสำคัญ ที่ใช้ประดับอาคารหลวง คือ วัง ที่ประทับของเจ้านาย และสิ่งก่อสร้างบางประเภทในวัดเท่านั้น

เรื่องเครื่องบนหลังคานี้ ราว พ.ศ. ๒๕๔๐-๒๕๔๓ ครั้งที่ผู้เขียนยังทำหน้าที่เป็นวิทยากรนำชมพระราชวังสนามจันทร์ อันเป็นงานมอบหมายจากมหาวิทยาลัยศิลปากร  ได้รับเกียรติให้นำชมข้าราชการเกษียณจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  แรกได้รับหนังสือนำชมรู้สึกหวั่น ๆ ด้วยไม่ทราบว่าท่านผู้อาวุโสเป็นใครอย่างไรบ้าง เกรงจะเป็นการสอนสังฆราช และหาทราบไม่ว่าหนึ่งในผู้ใหญ่ที่ร่วมคณะมา คือ รศ. ดร.ภิญโญ สุวรรณคีรี ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (สถาปัตยกรรม) อดีตท่านเป็นอาจารย์ประจำสาขาวิชาสถาปัตยกรรมไทย คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์  ระหว่างเดินชมท่านฟังอย่างสนอกสนใจ และยังเมตตาให้ความรู้เพิ่มเติมแก่วิทยากรวัยละอ่อนในวันนั้น ทั้งเรื่องของหอนก หอนั่ง โดยเฉพาะความรู้เกี่ยวกับเครื่องบนของอาคารอันมีศักดิ์ ท่านเล่าว่าเดิมประดาช่อฟ้า ใบระกา ต่าง ๆ นั้น ใช้ประดับบนอาคารของเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน ต่อเมื่อท่านจะรื้อลง จะปลูกใหม่ ท่านก็เชิญองค์เก่าถวายเป็นพระราชกุศลแก่วัดวาอาราม จึงนำมาประดับตามโบสถ์ วิหาร เครื่องบนหลังคาดังกล่าวจึงเห็นประดับในสถาปัตยกรรมไทยเพียง ๒ ประเภทเท่านั้น คือ วัง และวัด

นอกจากรูปแบบของศาลหลังย่อมอันบ่งสถานะนั้นแล้ว พบว่าภายในมีรูปเคารพที่พอคาดเดาได้ว่าเป็นพระรูปปั้นพระมหากษัตริย์ แต่เนื่องด้วยมีขนาดองค์ไม่ใหญ่นัก สูงราวเกินกว่าฟุตสักเล็กน้อย องค์เป็นสีดำ การเพ่งมองจากภายนอกรั้วจึงยังไม่สู้มั่นใจนัก และในเวลานั้นยังสามารถเดินเข้าไปภายในรั้วได้จึงตัดสินใจเข้าไปบันทึกภาพ

เมื่อเข้าไปหยุดยืนด้านหน้าของศาล ภาพเบื้องหน้าประจักษ์แก่สายตาชัดแจ้ง นาทีนั้นจึงมิพักรอช้าที่จะยกสองมือขึ้นถวายบังคม ด้วยภาพตรงหน้า คือ พระรูปปั้นทรงยืนในชุดเครื่องแบบทรงพระมาลาพร้อมกระบี่ ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖

การพบพระรูปปั้นเป็นครั้งแรกในพื้นที่ร้างของเทศบาลเก่าของผู้เขียนในครั้งนั้น ยิ่งย้ำเตือนให้ตระหนักสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณยิ่งของพระองค์ต่อชาวนครปฐม และทุก ๆ ครั้งเมื่อผ่านบริเวณนั้นข้าพเจ้าจะต้องเพ่งมอง และน้อมจิตถวายสักการะแด่พระองค์ ขณะเดียวกันก็ได้เพียงนึกและเฝ้าเก็บความสงสัยมานานวันว่า เหตุใดจึงมีพระรูปปั้นประดิษฐานอยู่ ณ สถานที่นั้น และเป็นสิ่งเดียวที่ยังคงสถิตอยู่ ขณะที่สิ่งปลูกสร้างอื่น ๆ ได้รื้อถอนออกไปจนสิ้นแล้ว

ต่อมา เช้าวันอาทิตย์ที่ ๑๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๖ เวลา ๐๘.๕๔ น. มีเหตุให้ต้องเดินผ่านบริเวณดังกล่าว เมื่อมองเข้าไปเช่นเคย ก็ต้องตกใจยิ่ง

พระรูปปั้นหายไป !!

เช้าวันอาทิตย์ที่ ๑๖ ธันวาคม ๒๕๖๖ เวลา ๐๘.๕๔ น. พบเหตุพระรูปปั้นหายไป และบันทึกภาพไว้

แรกก็ไม่มั่นใจนักว่าตนเองสายตาไม่ดีมองไม่ชัดหรือไม่ จึงถอยกลับไปเพ่งมองอีกครั้ง พร้อมบันทึกภาพจากภายนอกรั้วเนื่องจากประตูรั้วในระยะหลังสังเกตว่ามีการคล้องกุญแจปิด หลังจากเสร็จภารกิจในตอนเช้าจึงหาข้อมูลเกี่ยวกับศาลและพระรูปปั้น ด้วยเห็นว่าหากเป็นของที่มีมาอยู่เก่าก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเป็นของในรัชสมัยหรือเวลาใกล้เคียง ซึ่งอาจเป็นได้ว่าผู้หลักผู้ใหญ่ หรือ ผู้บริหารเทศบาลครั้งเก่า ๆ ตระหนักดีในพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ ประกาศตั้งเมืองนครปฐม จึงอาจสร้างไว้เป็นที่รำลึกถึงพระองค์ท่าน ก็จะเป็นที่น่าเสียดายยิ่งหากสูญหายไป

การสืบหาจากคำบอกเล่าของบุคลากรเทศบาลเก่าแก่ท่านหนึ่ง ทำให้ทราบประวัติความเป็นมาของพระรูปปั้นแต่เพียงสั้น ๆ ว่า พระรูปปั้นนี้สร้างขึ้นเพราะเหตุจากพนักงานเทศบาลตำแหน่งสมุห์บัญชี* ได้นิมิตฝันเห็นพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ผู้หลักผู้ใหญ่ในครั้งนั้นจึงให้สร้างพระราชานุสรณ์ขึ้น โดยครั้งแรกสร้างขึ้นมุมฝั่งรั้วด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ในบริเวณของเทศบาล บริเวณมุมถนนเทศาเชื่อมต่อกับถนนหน้าพระ หรือรั้วเทศบาลทางด้านโพธิ์ทอง ต่อมาสมัยนายกฯ ท่านหนึ่ง (ผู้เล่าจำข้อมูลไม่ถนัด) ได้มีการรื้อถอนย้ายจากบริเวณเดิมมาสร้างในบริเวณปัจจุบัน โดยนายพัฒนะ พงษ์ขวัญ ที่ปรึกษานายกเทศมนตรีนครนครปฐมขณะนั้น เป็นผู้ดำเนินการ

เวลาค่ำของวันเดียวกันนั้น (๑๖ ธันวาคม) ข้าพเจ้าได้มีโอกาสแจ้งข้อมูลพระรูปปั้นที่หายจากที่ประดิษฐาน ไปยังนายสมโชค พงษ์ขวัญ รองนายกเทศมนตรีนครนครปฐม จากการพูดคุยสอบถามจึงทราบข้อมูลจากท่านว่า มีผู้วิกลจริตบุกรุกเข้าไปทุบทำลายภายในบริเวณพื้นที่เทศบาลเดิม ท่านจึงนำพระรูปปั้น รัชกาลที่ ๖ มาเก็บรักษา ณ ที่ทำการเทศบาลนครนครปฐม ในปัจจุบัน เป็นการชั่วคราว และจะพิจารณาความเหมาะสมในการดำเนินการต่อไป

ผู้เขียนมีความระลึกเสมอว่า ทุกเรื่องเล่าคือประวัติเมืองนครปฐม ที่ต้องบันทึกจดจำ ทุกคำบอกเล่าในวันนี้อีกสิบปีก็เก่าเป็นประวัติศาสตร์ ข้าพเจ้าบันทึกเรื่องราวนี้ ไว้ ณ วัน ๑ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน อ้าย ปีเถาะ ในนามของเพจ นครปฐม ดินแดนทองของศิลปะ ที่เป็นผู้จัดทำและดูแล ซึ่งนอกจากจะเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการเผยแพร่ข้อมูลแล้ว ยังเป็นที่เก็บรวบรวมข้อมูลที่น่าสนใจไว้ใช้ประโยชน์ หรือ แบ่งปันแก่ผู้ที่สนใจได้อีกทางหนึ่งเช่นกัน

*หมายเหตุ พนักงานเทศบาลตำแหน่งสมุห์บัญชีในครั้งนั้น ผู้เล่าจำได้เพียง นามสกุล กลกิจ บุตรของคุณแม่สาลี กลกิจ ซึ่งในเรื่องตำแหน่งหน้าที่นี้ ภายหลังได้สอบถาม อ.อัญชัน สวัสดิโอ ได้ให้ข้อมูลว่าคุณพ่อของท่าน คือ นายปัญญา สวัสดิโอ เป็นผู้ทำหน้าที่สมุห์บัญชีเทศบาล ส่วนผู้ที่นามสกุล กลกิจ เข้าใจว่าเป็นบุคลากรอยู่ในส่วนของวัดพระปฐมเจดีย์

 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *