ตามรอยกับเรื่องย่อ “รถไฟเที่ยวสุดท้ายจากพญาตองซู” นวนิยายเรื่องแรกในชีวิต ของ สุมาตร ภูลายยาว

ไม่มีใครเดินทางมาเคารพศพในสุสานอีกแล้ว
เช่นเดียวกัน ไม่มีใครพูดถึงความโหดร้ายของการสร้างทางรถไฟ
ร่องรอยเวลากลืนกลบทุกสิ่งทุกอย่างให้เงียบงัน อย่าได้รื้อฟื้นมันขึ้นมาอีก
ขณะดอกไม้กำลังบานเหนือหลุมศพ
บันทึกเรื่องเล่าของคนเฝ้าสุสานอาจไม่มีความจำเป็นใดอีก
ขอให้ลืมความโหดร้ายของสงครามเถอะ
ผีเสื้อไม่มีทางกลายเป็นเครื่องบินทิ้งระเบิดหรอก
เช่นกันสุสานก็ไม่ได้เพิ่มหลุมศพมากไปกว่านี้…

นวนิยายเรื่องนี้หากแบ่งตามลักษณะของเนื้อเรื่อง กล่าวได้ว่าเป็นนวนิยายอิงประวัติศาสตร์ (Historical Novel)
มีรูปเล่มขนาดพกพาเหมาะมือด้วยจำนวน 13 บท 261 หน้า ผู้แต่งคือ สุมาตร ภูลายยาว ผู้ซึ่งใช้นามปากกา
ที่ออกเสียงได้ดุจเดียวกับนามจริง “สุมาตร์ ภูลายยาว” เขาเกิดในครอบครัวชาวนาที่บ้านหัวนาคำ จ.กาฬสินธุ์
เพิ่งเขียนนวนิยายเป็นครั้งแรกในชีวิตโดยเข้าร่วมในโครงการสานฝัน แรงบันดาลใจในการเขียนมาจากเรื่องราวที่ได้รับฟังเบื้องลึกจากคนพื้นที่ในสังขละบุรี เวลา 3-4 เดือน ในการพบปะพูดคุยกับผู้คนและการสืบค้นข้อมูลจากแหล่งอื่น ๆ เช่น หนังสือ อินเทอร์เน็ต สร้างมุมมองเรื่องราวของเส้นทางรถไฟสายเดิมที่เคยมีผู้นำเสนอก่อนหน้าด้วยมิติที่แตกต่าง

รถไฟเที่ยวสุดท้ายจากพญาตองซู ได้รับรางวัลดีเด่นประเภทนวนิยายจากงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ปี 2565  รางวัลชนะเลิศ เซเว่นบุ๊คอวอร์ด ครั้งที่ 19 ประจำปี 2565 จากผลงานประเภทนวนิยายที่ส่งเข้าประกวดจำนวน 37 เรื่อง และมีผลการตัดสินเป็นเครื่องยืนยันว่า “…เป็นนวนิยายที่ควรแก่การรับรู้ เรียนรู้ และเป็นตัวอย่างในการไม่ทำซ้ำ และในขณะเดียวกันก็นับได้ว่าเป็นรูปแบบใหม่ของการเขียนในอนาคต ที่ต้องการ “ข้อเท็จจริง” ที่ชัดเจนมากกว่า “จินตนาการ”….” และยังได้รับคัดเลือกรอบแรกในประเภทนวนิยาย จากการประกวดรางวัลซีไรต์ ประจำปี 2564 เป็นหนึ่งในผลงานที่เข้ารอบ Longlist 19 เรื่อง จาก 60 เรื่อง นวนิยายเรื่องนี้จัดพิมพ์โดย สำนักพิมพ์บ้านแม่น้ำ สำนักพิมพ์เล็ก ๆ ตั้งอยู่ชายขอบ ชายแดนด้านตะวันตกของประเทศ ที่ให้ความสำคัญกับประวัติศาสตร์ท้องถิ่นของตนใน อ.สังขละบุรี ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อเดือนมิถุนายน
พ.ศ. 2564 และนับเป็นความน่าภาคภูมิใจของสำนักพิมพ์เล็ก ๆ รวมถึงนักเขียนนวนิยายหน้าใหม่ที่ใช้เวลาในการเขียนนานถึง 3 ปี กับการต้อนรับจากผู้อ่านจนต้องพิมพ์ซ้ำครั้งที่ 2 ในเดือนตุลาคมปีเดียวกันนั้น

ในมุมของผู้เขียนซึ่งเคยทำงานเป็นอาสาสมัคร เป็นเจ้าหน้าที่ภาคสนามเก็บข้อมูลผู้ที่จะได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนในพื้นที่แม่น้ำโขง เคยทำงานวิจัยเกี่ยวกับคนชายขอบ การได้สัมผัสผู้คนกลุ่มต่าง ๆ ช่วยให้เขาวิเคราะห์ได้ว่าสิ่งใดเป็นข้อมูลเท็จจริง สิ่งใดคือข้อมูลที่ต้องติดตามหาข้อเท็จจริงต่อไป เมื่อสืบค้นได้ข้อมูล
ในระดับหนึ่งเขาจึงนำมาสังเคราะห์ หาวิธีนำเสนอโดยเรียบเรียงให้เป็นเหตุผลต่อ ๆ กัน เช่นเดียวกับทางรถไฟ
ที่เรียงต่อกันด้วยไม้หมอน เขานำเนื้อหาซึ่งหากมองในเชิงวิชาการก็คือข้อเท็จจริงมาเขียนในรูปแบบของนวนิยายโดยคำนึงถึงสิทธิส่วนบุคคลเป็นสำคัญ หากชื่อบุคคลหรือเหตุการณ์ใดไปพ้องกับบุคคลหรือประวัติศาสตร์ที่เคยเกิดขึ้นจริง เช่น เหตุการณ์ที่วัดดอนตูม เขาจะนำเสนอโดยสร้างสมมุติเพิ่มความเป็นนวนิยาย ขณะเดียวกัน
บางประเด็นเขาก็เลือกที่จะใช้ชื่อและตำแหน่งที่แท้จริงของตัวละคร เช่น ม.ล.กรี เดชาติวงศ์ รัฐมนตรีกระทรวงคมนาคม ที่เสียชีวิตขณะไปสำรวจเส้นทางรถไฟสายมรณะ กับนายปุ่น ศกุนตนาค อธิบดีกรมรถไฟ พร้อมด้วยอธิบดีกรมทางและคณะ รวมทั้งพนักงานขับรถไฟที่ต่างได้รับบาดเจ็บสาหัสจากอุบัติเหตุรถไฟตกเหวในครั้งนั้น กลวิธีในการนำข้อมูลมาร้อยเรียงให้งานที่เนื้อหาดูเสมือนเป็นงานวิชาการแปลงเปลี่ยนเป็นนวนิยาย
…ที่คนส่วนใหญ่มักตีความว่า…เป็นหนังสือประโลมโลก ทำให้เรื่องราวของผู้คน เหตุการณ์ ที่เคยเกิดขึ้น
ได้แฝงเล่าข้อเท็จจริงผ่านตัวละคร ที่มีทั้งคำบอกเล่าสามัญและคำบอกเล่ากึ่งฝันกึ่งจริงอย่างแยบยล
ชวนให้ติดตาม

นวนิยายที่ไม่มีพระเอกนางเอกเรื่องนี้เริ่มที่ตัวละครหลัก 2 คน คนแรกเป็นนักข่าวภาคสนามชาวไทยทำสารคดีอดีตทหารญี่ปุ่นในไทย และโทชิเป็นนักสารคดีเชิงข่าวและช่างภาพชาวญี่ปุ่นที่มาเก็บข้อมูลเรื่องทหารญี่ปุ่น
เขาพบกันครั้งแรกที่พิพิธภัณฑ์แห่งสงครามขุนยวม แม่ฮ่องสอน ที่ลุงเซกิเป็นผู้ดูแล และได้ให้พวกเขาดูแผนที่
ที่แสดงถนนหลายสายรวมทั้งเส้นทางรถไฟที่ไม่ได้สร้างเนื่องจากญี่ปุ่นแพ้สงคราม เขาได้พบกันอีกครั้งเมื่อโทชิติดต่อให้ร่วมเดินทางไปวัดย่านยาวและที่อื่น ๆ เพื่อทำข่าวและติดตามชาวญี่ปุ่นที่ได้รับผลกระทบจากคลื่นสึนามิในประเทศไทย เมื่อพบว่ามีศพเป็นจำนวนมากโทชิจึงแสดงความเห็นถึงระบบเตือนภัยซึ่งที่ญี่ปุ่นคลื่นระดับนี้จะสูญเสียน้อยมาก ต่างกับการสูญเสียจากระเบิดปรมาณูในสงครามที่นางาซากิและฮิโรชิมาซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่สามารถควบคุมได้ โทชิให้นักข่าวไทยพาไปดูทางรถไฟและสะพานข้ามแม่น้ำแควเพื่อหาข้อมูลเพิ่มเติมในการเขียนสารคดีที่ค้างอยู่ให้จบ

การนำเสนอข้อเท็จจริงในเหตุการณ์ร่วมสมัยต่าง ๆ ย้อนเรื่องราวไปใน พ.ศ. 2488 ช่วงท้ายสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งญี่ปุ่นถูกทิ้งระเบิดปรมาณูที่นางาซากิและฮิโรชิมาเสียหายอย่างหนักและมีคนตายเป็นจำนวนมาก ญี่ปุ่นต้องยุติสงครามด้วยการลงนามยอมจำนนอย่างไม่มีเงื่อนไขต่อกลุ่มสัมพันธมิตร เรื่องราวของสงครามนำโทชิไปสู่การรวบรวมข้อมูลจากพิพิธภัณฑ์แห่งหนึ่งรวมถึงห้องสมุดที่อยู่ใกล้กันในญี่ปุ่น ทุกวันเขาจะรวบรวมคำบอกเล่าของลุงเฮ็นโดะ อดีตทหารผ่านศึกที่รอดชีวิตจากการประจำการบนเกาะลูบังในฟิลิปปินส์ เนื่องจากพวกเขาหลงป่าไม่รู้ข่าวการยุติสงคราม เมื่อออกจากป่าไม่พบใครก็เข้าใจว่าคนอื่นโดนโจมตีหนีไปหมด จึงกลับเข้าป่าซ่อนตัว
ถึง 30 ปี ลุงเฮ็นโดะ เป็นคนเดียวที่รอดชีวิตออกจากป่าและกลับประเทศมาทำงานดูแลสวนของพิพิธภัณฑ์ แม้จะสะเทือนใจจากบาดแผลสงครามแต่ลุงเอ็นโดะก็ยึดมั่นในการทำหน้าที่ สำหรับโทชิความสะเทือนใจนั้นไม่ต่างกับความรู้สึกพลัดพรากของเขากับยูกิ คนรักที่ได้พบกันเมื่อเธอเดินทางมาขุนยวมตามหาปู่ซึ่งสมัครเป็นทหารและ
ไม่ได้กลับประเทศ ด้วยว่าเมื่อยูกิกลับญี่ปุ่นได้ป่วยเป็นโรคลูคีเมียและจากไปก่อนที่โยชิจะเดินทางกลับถึงประเทศ

นอกจากเหตุการณ์ร่วมสมัย ผู้เขียนยังได้หยิบยกวรรณกรรมอันเป็นผลพวงของสงครามที่รู้จักกันดี คือ ซาดาโกะกับนกกะเรียนพันตัว มาสร้างเรื่องเล่าใหม่โดยจำลองให้เด็กหญิงในเรื่องป่วยเป็นโรคลูคีเมียและมีชื่อเดียวกับซาดาโกะ เพราะแม่ชื่นชอบความกล้าหาญของซาดาโกะจึงตั้งเป็นชื่อของเธอ แม่ของเธอได้รับผลจากสงครามจึงป่วยด้วยโรคนี้และจากไปเมื่อเธออายุ 10 ขวบ เด็กหญิงซึ่งป่วยรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลได้พยายามพับ
นกกะเรียนพันตัวตามที่แม่เคยเล่าแต่ก็ไม่สำเร็จและจากไป

ขึ้นชื่อว่าสงครามย่อมมีผู้คนที่ได้รับผลพวงสร้างรอยแผลให้จดจำไม่ว่าจะอยู่ในสถานะใด เรื่องของตาปรือ ชายที่ไม่รู้สัญชาติแน่นอนจึงถูกนำมากล่าวเล่า ตาปรือเป็นคนไม่สมประกอบทั้งสติและร่างกายไม่สามารถพูดสื่อสารได้ บางคนเล่าว่าเมื่อสามีตายขณะท้องแม่ของเขาได้หนีภัยสงครามจากกาลากงมาอาศัยอยู่กับคนพม่าใกล้ ๆ ค่ายญี่ปุ่น แต่คนมอญบางคนเล่าว่าเห็นเขาอยู่ที่ซองกาเลียนานแล้ว และคนกะเหรี่ยงที่สังขละบุรีเล่าว่าเขาเป็นลูกทหารญี่ปุ่นที่ถูกส่งมาหาข่าวและสำรวจภูมิประเทศเพื่อสร้างทางรถไฟก่อนเกิดสงคราม ช่วงนั้นเริ่มมีชาวญี่ปุ่นมาอยู่ในชุมชนใช้ทองคำแลกเปลี่ยนทำให้การค้าขายสะพัด หลังจากนั้นก็มีข่าวสงครามที่ทหารญี่ปุ่นเข้ามาในพื้นที่พร้อมกับทางรถไฟ ชาวบ้านเล่าว่าพ่อของเขามีภรรยาเป็นชาวกะเหรี่ยงและมีลูกชายคือตาปรือ พ่อเคยหายไปหลายปีเมื่อกลับมาก็มักพาตาปรือขึ้นไปบนเขา วันหนึ่งมีเสียงระเบิดดังขึ้นเมื่อชาวบ้านไปถึงพบว่าปากถ้ำถล่มมีหินปิดทางเข้าพ่อเขาได้หายไปนับแต่นั้น ส่วนตาปรือถูกผูกติดกับต้นไม้เด็กน้อยอายุราว 3 ขวบที่ปากมีเลือดออกส่งเสียงตกใจพูดจับความไม่ได้ ต่อมาแม่ที่พยายามไปตามหาพ่อก็หายไปอีกคน เขาต้องไปอยู่กับยาย
เมื่อชาวบ้านมาช่วยขนของก็ได้ขโมยทองคำที่ซ่อนไว้ในหีบไป และลือกันว่าพ่อของเขาเอาทองคำและอาวุธไปซ่อนในถ้ำ ต่อมาตาปรือได้มาอยู่กับญาติที่ซองกาเลีย โทชิและนักข่าวไทยไปที่สังขละบุรีติดตามตาปรือ และคิดจะเลิกตามเพราะไม่พบหลักฐานใดเชื่อมโยงไปถึงพ่อซึ่งเป็นทหารญี่ปุ่น แต่เมื่อพบตาปรือกำลังเดินกลับบ้านที่ซองกาเลียพวกเขาขับรถตามและรับขึ้นรถ เมื่อถึงถนนสายหนึ่งตาปรือให้จอดรถและลงไปทำท่าบินวิ่งไปตามถนน เขาบินหายไปและกลับมาเมื่อเริ่มมืดพร้อมทหารญี่ปุ่นหลายสิบนาย เหตุการณ์ที่ดูเหมือนโลกความฝันซ้อนอยู่ในความจริงพาให้นักข่าวทั้งสองได้เข้าไปในค่ายทหารญี่ปุ่น เมื่อตื่นขึ้นพวกเขากลับพบตนเองนอนอยู่บนถนนในป่าบริเวณสนามบินร้าง

ต่อมานักข่าวไทยได้งานใหม่และต้องลงพื้นที่สังขละบุรีเพื่อไปหาข่าวเรื่องการขุดทอง ที่คนในพื้นที่ไม่คิดว่าจะมีจริงและก็ไม่เคยมีใครเจอทอง หรือเป็นได้ว่าอาจกลัวอาถรรพ์ คำสาป เรื่องเล่าต่างๆ ที่เกี่ยวกับการเข้าไปขุดทอง ชาวบ้านเล่าว่าสมัยเด็กเห็นทหารญี่ปุ่นนำหีบจากรถไฟมาไว้ในถ้ำนี้ก่อนที่จะข้ามแม่น้ำรันตี เขาคิดว่ามีความเป็นไปได้ที่หีบสมบัติอาจถูกฝังที่นี่ เขาอ่านงานเขียนเดิมของตนเองซึ่งครั้งนั้นได้หาข้อมูลด้วยการขับรถสำรวจไปทั่วเมืองรวมทั้งเดินป่ากับชาวบ้าน และได้เขียนงานชิ้นแรกเรื่องหลวงพ่ออุตตมะ พระชาวมอญผู้สร้างสะพานไม้ยาวที่สุดในไทย ท่านเชี่ยวชาญการดูแร่และเป็นผู้ชี้จุดในการสร้างเขื่อนเขาแหลม บทความที่สองเป็นเรื่อง
พระท่ากระดาน ที่ชาวบ้านเล่าว่าฤๅษีเล่นแร่แปรธาตุทำขึ้นและมีคนไปพบในถ้ำ เขาได้รู้จักกับลุงเชย พนาคีรี พรานผู้เชี่ยวชาญการดูพระและค้นหาพระท่ากระดานที่รู้จักเขาและถ้ำทั่วทุ่งใหญ่นเรศวร ลุงเชยเล่าเรื่องถ้ำต่าง ๆ และถ้ำใกล้ทางรถไฟเก่าที่ยังพอมีแนวเขตให้เห็นก่อนจะสร้างเขื่อนที่เคยเข้าไปสำรวจและต้องหนีตายจากงูจงอางขนาดใหญ่ แต่ไม่เคยเจอขุมทรัพย์ทหารญี่ปุ่น ลุงเชยแนะนำให้ไปหาพุฒิชัย ดำเนินคง คนพื้นที่ที่เคยหาสมบัติซึ่งคิดว่าขุมทรัพย์ไม่มีจริงเช่นกัน และการเข้าไปขุดค้นในถ้ำนั้นเขาและลูกน้องก็พบเหตุการณ์ที่ไม่น่าเชื่อ ลูกน้องเขาตายไป 2 คน ส่วนคนที่หนีออกมาได้ก็เสียสติ เขาเล่าเรื่องอาถรรพ์ของถ้ำและแนะนำให้ไปหา
หลวงพ่อโธ่วแหมะ พระที่ชาวกะเหรี่ยงนับถือ โยมพ่อของท่านเล่าว่าทหารญี่ปุ่นมาสร้างทางรถไฟ ทำสนามบิน สร้างป้อมค่ายบริเวณอำเภอเก่า เมื่อทางรถไฟเสร็จญี่ปุ่นแพ้สงครามทหารบางส่วนหนีขึ้นรถไฟไปพม่า บางส่วนมาอยู่ตามถ้ำและตายในถ้ำ โยมพ่อเป็นคนหาของป่าคุ้นเคยกับทหารญี่ปุ่นแต่หลวงพ่อก็ไม่เคยเห็นขุมทรัพย์ญี่ปุ่น หลวงพ่อพาไปพบคาตาโน่ทหารญี่ปุ่น เขามีภรรยาเป็นชาวกะเหรี่ยง มีลูกชาย 2 คน คนเล็กเป็นไข้ป่าตาย คนโตตอนเด็กเคยพูดได้แต่หลังจากพ่อพาเข้าป่าไปหลายวันเมื่อกลับออกมาก็พูดไม่ได้ คาตาโน่ถูกเกณฑ์เข้ากองทัพประจำที่เกาะชวาเมื่อโดนโจมตีจึงยกพลมาขึ้นบกทางใต้ของไทยเพื่อเดินทางไปพม่า บางส่วนขึ้นรถไฟมาถึงหนองปลาดุกรอการสร้างทางรถไฟสายใหม่ส่วนตัวเขามาสังขละบุรี การสร้างทางรถไฟช่วงสังขละบุรีไปพญาตองซูเป็นไปอย่างรวดเร็วแต่โรคต่าง ๆ ก็ระบาดอย่างหนัก ตอนแพ้สงครามรถไฟเที่ยวสุดท้ายมาจากพม่าอย่างลับๆ ชาวบ้านช่วยฝังศพนายทหารบางคน บ้างให้ที่พักตามถ้ำ ไร่ข้าว เมื่อสิ้นสุดสงครามบางคนกลับประเทศ บางคนตายที่นี่ คาตาโน่กลับมาแต่งงานกับชาวกะเหรี่ยง และชวนเพื่อนทหารผ่านศึกที่เหลือตั้งมูลนิธิช่วยเหลือเด็กตามชุมชนต่าง ๆ เขาปฏิเสธเรื่องตัดลิ้นลูกและเรื่องขุมทรัพย์ รวมถึงเรื่องคนญี่ปุ่นมาตั้งโรงงานหน่อไม้ดองที่ว่าตั้งบังหน้าเพื่อนำทองคำแท่งบรรจุปี๊บส่งกลับประเทศ เคยมีคนมาจ้างให้พาเข้าป่าแต่เขาปฏิเสธที่เคยไปบ้างกับผู้ใหญ่บ้านก็พบแค่โครงกระดูกและร่องรอยการขุดหลุมซึ่งไม่มีสมบัติใด คาตาโน่แนะนำให้ไปคุยกับพุทธิพงศ์ พนาไพร ผู้ใหญ่บ้านเขาไม่เชื่อเช่นกันว่ามีขุมทรัพย์ของทหารญี่ปุ่น แต่ที่พบมีเพียงสายแร่ทองคำที่มีคนมาสำรวจ ผู้ใหญ่บ้านแนะให้ไปคุยกับ ส.ส. พิชิต เศรษฐสมบัติ ผู้มาขุดหาสมบัติที่เชื่อว่าจะพบตามลายแทงและเขากำลังจะแถลงข่าวพบพันธบัตรญี่ปุ่น แต่เมื่อนักข่าวได้คุยกับคนของบริษัทที่รับจ้างขุดเจาะจึงทราบว่าไม่มีขุมทรัพย์และการพบพันธบัตรอาจเป็นเพียงการสร้างเรื่องเพื่อหวังผลอะไรสักอย่าง เมื่อกระแสตื่นทองเริ่มเงียบหลายสำนักเรียกนักข่าวของตนกลับ ส่วนตัวเขายังอยู่เพราะสนใจเรื่องของชายชราคนหนึ่งที่เล่าเรื่องการฆ่ากันอย่างโหดเหี้ยมที่กลากงให้ใคร ๆ ฟัง เขาเคยเป็นกรรมกรสร้างทางรถไฟเดินทางไปกับคนญี่ปุ่น เมื่อสงครามสงบได้ขึ้นรถไฟกลับมาพร้อมศพถึงสถานีพญาตองซูและเดินเท้าเข้าไทย

ในช่วงสงคราม วัดดอนตูม อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี เป็นสถานที่อีกแห่งในประวัติศาสตร์ที่มักไม่ถูกกล่าวถึง ภายในวัดมีจุดที่เคยเป็นค่ายทหารและเชลยศึก ปัจจุบันเป็นที่ฝังศพทหารญี่ปุ่นและเชลยศึกที่โดนระเบิดรวมทั้งเจ้าอาวาสองค์เก่า เหตุเริ่มจากการสร้างทางรถไฟไปพม่าที่เริ่มต้นจากบ้านโป่ง พวกที่อยู่ในค่ายนี้เป็นกรรมกรสร้างทางรถไฟบริเวณหนองปลาดุก ที่เกณฑ์แรงงานคนไทยมาทำงานเป็นจำนวนมากบางส่วนอาศัยนอนที่วัด เชลยศึกถูกห้ามสูบบุหรี่และห้ามพระเณรนำให้ เณรองค์หนึ่งให้บุหรี่แก่เชลยศึกทหารญี่ปุ่นเห็นจึงตบเณร กรรมกรไทยที่เห็นเหตุการณ์ไม่พอใจจึงเกิดเรื่องราวต่อสู้กันระหว่างกรรมกรไทยและทหารญี่ปุ่น ความขัดแย้งเพิ่มมากขึ้น ๆ ถึงขั้นทหารญี่ปุ่นบุกไปยิงโรงพัก และเมื่อค่ายญี่ปุ่นถูกทิ้งระเบิดเจ้าอาวาสได้ถูกกล่าวหาว่าเป็นคนส่งข่าวให้
ฝ่ายสัมพันธมิตร ทหารญี่ปุ่นบุกวัดจะยิงเจ้าอาวาสแต่ถูกตำรวจไทยยิงเสียชีวิตทั้งหมด จากนั้นไม่นานทหารและเชลยศึกที่เหลือก็เดินทางไปกาญจนบุรีบนทางรถไฟที่สร้างเสร็จ

โทชิติดต่อนักข่าวไทยให้เดินทางไปพม่า เขาถามถึงการขุดกระดูกทหารญี่ปุ่นที่บ้านโป่ง และความเห็นเรื่อง
ทหารญี่ปุ่นข่มขืนผู้หญิงช่วงสงครามว่าทำโดยเจตนาหรือมีใบอนุญาตให้ข่มขืน นักข่าวไทยหาข้อมูลเรื่องนี้พบว่ามีเหตุการณ์เกิดขึ้นที่กลากง โทชินำเอกสารเรื่องนายพลชเว วิน ให้นักข่าวไทยอ่าน เขาเป็นผู้นำขบวนการต่อสู้ในพม่าที่จัดตั้งสันนิบาตเสรีชนต่อต้านฟาสต์ซิส เขารู้ว่าญี่ปุ่นฝึกพวกทะขิ่นและร่วมกันก่อตั้งกองทัพพม่าสมัยใหม่โดยหวังว่าญี่ปุ่นจะช่วยให้ได้รับเอกราชจากอังกฤษ นายพลจึงตัดสินใจอยู่ข้างญี่ปุ่นแต่หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่าการเข้าร่วมกับญี่ปุ่นได้ประโยชน์จริงหรือไม่เพราะทหารญี่ปุ่นข่มเหงชาวพม่าไม่น้อย หลายพื้นที่มีการรวบรวมผู้คนสู้กับญี่ปุ่นและญี่ปุ่นก็ไม่ได้ไว้ใจพม่า จน พ.ศ. 2487-2488 มีการติดต่ออย่างไม่เป็นทางการกับอังกฤษนำมาสู่การกบฏต่อต้านญี่ปุ่นและกลายมาเป็นวันกองทัพแห่งชาติ

เมื่อโทชิต้องไปทำงานลับนักข่าวไทยจึงเดินทางกลับ โทชิถามเรื่องการล่าหัวมนุษย์ในพม่าและให้ดูภาพ
โครงกระดูกไม่มีหัวที่ได้มาจากสกายหลังจากตระเวนตั้งแต่ชายแดนพม่า-อินเดียจนถึงสกาย ทางตะวันออกเฉียงเหนือของพม่า ซึ่งพบโครงกระดูกลักษณะนี้จำนวนมากเพราะทหารญี่ปุ่นถูกตั้งค่าหัวจากทหารอังกฤษที่จะจ่ายให้คนที่นำหัวมาให้ โทชิมองความโหดร้ายในเรื่องนี้ไม่ต่างจากการตายทั้งเป็นในการถูกข่มขืนที่กลากง เขาเห็นว่าทุกอย่างมีเหตุและผลของมัน แต่ก็เห็นว่าการที่ญี่ปุ่นต่อสู้กับพวกล่าอาณานิคมเป็นความกล้าหาญ หากไม่สู้ก็ตกเป็นเบี้ยล่างส่วนการสู้แม้จะแพ้ก็ต้องยอมรับผล เดิมเขาก็ไม่เชื่อว่าโครงกระดูกที่พบและทำประวัติคร่าว ๆ จะจริงแต่เมื่อส่งกลับไปพิสูจน์จึงได้ประจักษ์ โทชิเล่าว่าช่วงท้ายสงครามทหารญี่ปุ่นและอังกฤษรบกันหนักแถวชายแดนพม่า-อินเดีย และคาดว่าตั้งแต่เริ่มสงครามในพม่ามีทหารญี่ปุ่นตายและสูญหายเป็นจำนวนมาก นักข่าวไทยดูภาพรางรถไฟเก่ายาวไม่ถึงห้าเมตรที่โทชิส่งมาจากพญาตองซู เขาคิดว่ามันอาจเป็นส่วนหนึ่งของทางรถไฟสายมรณะ โทชิเข้าไปค้นหากระดูกบริเวณนี้ตามที่แม่เฒ่าอองโจ่บอกว่าใกล้รางรถไฟเคยเป็นโรงพยาบาลมีทหารบาดเจ็บมารักษามาก ที่ตายก็นำไปฝังในทุ่งโล่งทางด้านตะวันตก เขาขุดพบทั้งปืน ซากรถถัง ข้าวของต่าง ๆ และกระดูกจำนวนมากทั้งของทหารและคนท้องถิ่น เมื่อโทชิกลับมาไทยชวนเขาไปพิพิธภัณฑ์แห่งสงครามขุนยวมเพื่อหาข้อมูลการเดินทางของทหารญี่ปุ่นก่อนสิ้นสุดสงคราม เจ้าหน้าที่คนใหม่นำแผนที่ที่มีรายละเอียดที่ตั้งกองทัพ
โรงพยาบาล สถานีรถไฟ และเส้นทางเดินทัพของทหารญี่ปุ่น ซึ่งคนมอบย้ำให้โทชิไปตามเส้นทางจะพบ
โครงกระดูก เพราะตอนแพ้สงครามทุกหน่วยจะไปตามเส้นทางที่อยู่ใกล้ตามทางรถไฟบ้าง เดินเท้าข้ามเขามาที่ขุนยวมบ้าง ซึ่งตามทางนี้มีกระดูกของผู้ที่มาก่อนและตายเป็นเครื่องนำทางจึงเรียกว่า เส้นทางกระดูกขาว ความสนใจของโทชิกับเส้นทางรถไฟในแผนที่คือการพบโครงกระดูกของทหารญี่ปุ่น ส่วนนักข่าวไทยเชื่อว่าจะมีความเชื่อมโยงระหว่างทางรถไฟสายมรณะกับรถไฟที่ทหารญี่ปุ่นใช้เดินทางกลับหลังแพ้สงคราม และเป็นเส้นทางเดียวที่จะเดินทางเข้าไทยเพื่อต่อไปยังจุดหมายอื่น โทชิถามความเห็นการเดินทางกลับเข้าไทยนักข่าวไทยคิดว่ามีความเป็นไปได้เมื่อทบทวนถึงข้อมูลที่ได้จากสังขละบุรี ซึ่งโทชิเห็นด้วยและคิดว่านี่อาจเป็นรถไฟเที่ยวสุดท้ายที่จบพร้อมสงคราม

การบอกเล่าเหตุการณ์ใดคงไม่ชัดเจนเท่าจากปากคำของผู้ประสบเหตุ ผู้เขียนเลือกให้ตัวละครผู้รอดชีวิตจากสงครามบอกเล่าความรู้สึกของแต่ละบุคคล ที่ต่างเชื้อชาติ ต่างบทบาทในยามนั้น ปีเตอร์ วาเลนท์ อดีตนายทหารชาวออสเตรเลีย เชลยสงครามถูกจับขณะประจำการที่เกาะในชวาถูกส่งตัวมาสร้างทางรถไฟในป่าเมืองไทย อยู่อย่างยากลำบากกับความเป็นความตายที่ต้องเห็นเพื่อนร่วมชะตากรรมตายไปต่อหน้า พล วิสมัญญา นักเรียนมัธยมที่เข้าฝึกอาวุธอย่างลับๆ เพื่อป้องกันประเทศ ได้รบกับญี่ปุ่นซึ่งยกพลขึ้นบกที่สะพานท่านาสังข์เพื่อใช้ไทยเป็นทางผ่านไปพม่าเข้าสู่อินเดีย แต่เขาต้องแพ้เพราะรัฐบาลสั่งให้วางอาวุธ ทะ ขิ่น ยุ่น ชาวบ้านกลากง
ผู้รอดชีวิตจากการสังหารหมู่ เขาจับอาวุธต่อสู้เพราะทนให้ทหารญี่ปุ่นมาทำร้ายคน มาข่มขืนผู้หญิงในหมู่บ้านไม่ได้ เม เมียว ซู อดีตสมาชิกสันนิบาตต่อต้านญี่ปุ่น เข้าร่วมปกป้องแผ่นดินเกิดและรอดชีวิตมาได้ ยามาดะ เค็นโต้ ทหารที่รอดชีวิตกลับจากสงครามเขียนหน้าปกบันทึกซึ่งเก็บไว้ที่พิพิธภัณฑ์สงครามว่า ห้าปีแห่งความทุกข์ทรมาน บันทึกของยามาดะ บอกเล่าเหตุการณ์เพื่อเยียวยาตัวเอง เขาถูกบังคับให้เป็นทหารตามกฎหมายของญี่ปุ่น เข้ายึดค่ายทหารฝ่ายสัมพันธมิตรบนเกาะชวา นำเชลยศึกเข้ามาไทยเพื่อสร้างทางรถไฟไปพม่า และเมื่อแพ้สงครามเขาเดินเท้าข้ามเขากลับเข้าไทยและเดินทางกลับญี่ปุ่น วิลเลี่ยม ปาร์ค ทำงานบริษัทค้าอาวุธ เขาเชี่ยวชาญในการคำนวณตัวเลขและการเจรจาค้าอาวุธ ให้ความเห็นว่าเป็นความผิดพลาดทางเศรษฐศาสตร์ของญี่ปุ่น ที่ลงทุนไปและได้รับผลเสียไม่คุ้มค่าการลงทุนทั้งที่ฮิโรชิมา นางาซากิ รวมถึงเครื่องบินรบที่อ่าวเพิร์ลฮาร์เบอร์ ตลอดจนค่าดูแลทหารบาดเจ็บ นายพลคาตาโน่ จิโร่ ผู้ไม่ถือปืนแต่มีความเด็ดเดี่ยวกล้าหาญและทำทุกสิ่งสำเร็จ เขาถูกส่งมาหาทางยกทัพผ่านไทยและตัดสินใจยกพลขึ้นบก เขาสร้างทางรถไฟข้ามภูเขาจนใกล้ถึงพม่า สร้างสนามบินลับเพื่อขนทหารและอาวุธแต่เที่ยวบินสุดท้ายที่ใช้หนีได้สูญหายไประหว่างทางกลับญี่ปุ่น เขาเล่าถึงยามาดะนายทหารที่ฆ่าตัวตายเมื่อแพ้สงคราม ตัวเขาถูกจับบนขบวนรถไฟเที่ยวสุดท้ายจากตันบูซายัตเข้าไทย เขาถูกส่งตัวกลับประเทศก่อนคนอื่นเพราะเป็นผู้บังคับบัญชาและเขียนบันทึกขึ้นเพื่อเยียวยาตนเอง

หลังจากเรื่องราวจากปากคำของผู้ร่วมและผู้รอดจากสงครามถูกถ่ายทอด ผู้เขียนให้ตัวละครหลัก
มาพบกันอีกครั้งโดยโทชิได้พานักข่าวไทยไปตันบูซายัต บริเวณที่กำลังขุดกระดูกทหารญี่ปุ่นซึ่งชาวบ้านเล่าว่าเคยเป็นโรงพยาบาลสนาม แต่โทชิคิดว่าน่าจะเป็นสุสานเพราะไม่เห็นร่องรอยใดของโรงพยาบาล และบางศพถูกฝังก่อนสงครามสงบหลายปี บริเวณนั้นอาจเป็นค่ายเชลยศึกและทหารญี่ปุ่นที่มาสร้างทางรถไฟเพราะเป็นสถานีปลายทางของรถไฟจากไทย และบางหลุมขุดพบโครงกระดูกจำนวนมากที่คิดว่าพวกเขาอาจจะเป็นโรคตายพร้อมกัน หรือถูกทารุณเพราะกระดูกบางชิ้นบ่งชี้ การเดินเรื่องบทนี้มีลักษณะเป็นความฝันที่ทั้งสองข้ามจากช่องเขาขาดไปยังอีกฝั่งแม่น้ำ ซึ่งเป็นที่ตั้งของค่ายเชลยศึกและทหารญี่ปุ่นที่มาสร้างทางรถไฟ เขาได้ย้อนเวลาไปพบกับ
นายพลผู้พลีชีพในพม่าหลังแพ้สงครามซึ่งโทชิได้พบกระดูกและบันทึกของเขา ได้พบเชลยศึกที่อยู่ในเหตุการณ์ขณะสร้างทางรถไฟ เชลยศึกบางส่วนป่วยเป็นอหิวาตกโรคตาย และจำนวนไม่น้อยถูกมัดมาวางต่างไม้หมอนเพื่อให้รถไฟเที่ยวสุดท้ายวิ่งผ่าน

จากนั้นโทชิได้พานักข่าวไทยเดินทางไปที่กองกุยตะเพื่อพิสูจน์คำบอกเล่าว่าหมุดตัวสุดท้ายบนรางรถไฟที่เชื่อมต่อไทยกับพม่าเป็นหมุดทองคำ ทั้งสองไปพบกันที่เมียวดีต่อไปยังมะละแหม่งเพื่อไปตันบูซายัต ซึ่งโทชิรู้มาว่าหลังสงครามทหารญี่ปุ่นส่วนหนึ่งหนีมาที่นี่เขาจึงมาตามกระดูก พวกเขาได้นัดพบแซมอดีตทหารสัมพันธมิตรที่เคยประจำการในพม่า ซึ่งเขาได้ออกลาดตระเวนรายงานเรื่องการสร้างทางรถไฟ หลังสงครามจบเขากลับประเทศไป 5 ปี ออกจากกองทัพทำงานเก็บเงินกลับมาพม่าและเริ่มจดบันทึกเรื่องราวต่าง ๆ โทชิถามเรื่องการรื้อสุสานทหารญี่ปุ่นเพื่อสร้างสุสานทหารสัมพันธมิตร แซมตอบว่าเป็นความจริง และแนะนำให้โทชิไปตามหากระดูกตรงทุ่งนาโล่ง ๆ ที่ศพและซากกระดูกจากสุสานที่รื้อถูกนำไปทิ้ง บางส่วนกระจัดกระจายเพราะไม่ได้ขุดหลุมฝัง เขานำบันทึก เรื่องเล่าของคนเฝ้าสุสาน ให้โทชิแต่โทชิอายที่จะอ่านจึงส่งบันทึกให้นักเขียนไทย เขาบันทึกเรื่องการเข้ามาลาดตระเวนในหมู่บ้านที่เย ทุนอยู่ เพราะได้ข่าวทหารญี่ปุ่นเข้ามาใกล้ๆ บริเวณนั้น เมื่อกลุ่มลาดตระเวนกลับไปแล้วเขากลับมาอีกในวันรุ่งขึ้นและถูกชาวบ้านจับตัว เย ทุน มาช่วยเจรจาให้ปล่อย เขารู้จากชาวบ้านว่าทหารญี่ปุ่นทำร้ายและฆ่าหญิงสาวคนหนึ่งเขาได้ไปร่วมฝังศพ เหตุการณ์นี้ทำให้เขาและเย ทุน ต่างถูกชะตากัน แต่เมื่อแนวรบประชิดเข้ามาทั้งสองก็ต้องแยกจากกัน ฝ่ายสัมพันธมิตรต้องถอยไปเรื่อย ๆ ชาวบ้านก็ต้องถอยไปอยู่ในที่ปลอดภัย เพราะกองทัพญี่ปุ่นผ่านไปที่ใดผู้ชายจะถูกบังคับใช้แรงงานสร้างทางรถไฟ แซมรับคำสั่งให้ไปโจมตีค่ายญี่ปุ่นแต่ในค่ายมีพลเรือนที่ถูกเกณฑ์มาเป็นกรรมกรจึงถูกสั่งให้ล่าถอย แต่การโจมตีเกิดขึ้นหลายครั้งที่หนักสุดคือชายแดนพม่า-อินเดีย เขาได้รับคำสั่งให้เดินทางมาตอนใต้ของพม่าเพื่อหยุดการสร้างทางรถไฟ ซึ่งแรงงานถูกบังคับให้ทำงานทั้งวันทั้งคืนป่วยก็ต้องทำตายก็ทิ้งศพให้แร้งกิน แต่ก็ไม่สามารถหยุดทางจากไทยที่กำลังจะเชื่อมต่อกับทางจากตันบูซายัดได้ ขณะที่ในพม่าก็เสร็จก่อนกำหนดเวลาทางรถไฟมาเชื่อมต่อกันในเดือนตุลาคม พ.ศ.2486 พวกเขาได้หยุดพักและมีการฉลองความสำเร็จโดยนายพลคนหนึ่งเป็นผู้ตอกหมุดตัวสุดท้ายซึ่งเป็นหมุดทองคำที่หายไปพร้อมรถไฟเที่ยวสุดท้ายที่กลับเข้าไทยหลังสงครามจบ เมื่อข่าวการโจมตีฮิโรชิมาและนางาซากิมาถึงพม่าญี่ปุ่นประกาศยอมแพ้สงครามทหารทุกนายจึงถอนกำลังกลับ แซมเข้ายึดค่ายตันบูซายัด นายพลหลายคนถูกควบคุมตัว ทหารที่ขัดขืนถูกฆ่า นายทหารที่ไม่ยอมถูกจับก็ฆ่าตัวตาย ทหารบางคนถูกตัดหัวเพื่อแลกกับเงิน เขาไม่โทษทหารญี่ปุ่นเพราะเมื่อจบสงครามพวกเขาต่างได้รับชะตากรรมไม่ต่างกับเชลยศึก
ทุกอย่างเป็นความโหดร้ายของสงคราม หลังสงครามก่อนเดินทางกลับประเทศแซมไปหาเย ทุน เขาอยากบอกรักแต่ไม่สามารถสื่อสารกันเข้าใจจึงเขียนจดหมายซึ่งไม่รู้ว่าเธอจะอ่านได้หรือไม่ เขากลับบ้านเข้ารักษาโรคซึมเศร้าและลาออกจากกองทัพ เมื่อรู้ว่าพม่าประกาศอิสรภาพจากอังกฤษเขาจึงกลับมาเฝ้าสุสานทหารสัมพันธมิตรที่บูรณะขึ้นใหม่และเริ่มเขียนบันทึกนี้ เขาไปหาเย ทุน จึงรู้ว่าเธออ่านจดหมายแล้วและเล่าเรื่องที่เธอเป็นสมาชิกสันนิบาตพม่าร่วมต่อต้านอังกฤษ  หลังสงครามเธอกลับบ้านเกิดก่อตั้งสำนักงานประสานงานพรรคประชาชนเพื่อประเทศพม่า ทั้งสองคบหากันและในเวลาต่อมาพม่าเกิดการยึดอำนาจโดยทหาร พวกเขาจึงเดินทางไปย่างกุ้งเพราะสำนักงานของเธอถูกปิด เธอตัดสินใจลี้ภัยกลับประเทศของแซมและแต่งงานกัน และกลับมาใช้บั้นปลายชีวิตเมื่ออายุใกล้ 80 ที่ตันบูซายัต

นักข่าวไทยเล่าให้โทชิฟังเรื่องรัฐบาลไทยพยายามรักษาทางรถไฟสายนี้ด้วยการซื้อทางรถไฟจากรัฐบาลอังกฤษ แต่ก็ต้องระงับไปเพราะหัวหน้าคณะสำรวจขณะนั้นเสียชีวิต คือ ม.ล. กรี รัฐมนตรีคมนาคม มีผู้ร่วมเดินทาง คือ นายปุ่น ศกุนตนาค อธิบดีกรมรถไฟ อธิบดีกรมทางและคนอื่น ๆ คณะสำรวจเดินทางจากสถานีรถไฟหนองปลาดุกเพื่อสำรวจเส้นทางรถไฟสายมรณะหลังสงครามสิ้นสุด แต่เกิดอุบัติเหตุขบวนรถไฟตกเหวเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2490 บริเวณหลักกิโลเมตรที่ 262 ระหว่างสถานีปรังกาสี กับ นิเถะ เมื่อ ม.ล.กรี เสียชีวิตการสำรวจจึงยุติลง แต่กำลังจะมีการสำรวจใหม่โดยนายเล็กที่มีความสนใจทางรถไฟสายนี้ เขาได้แผนที่เส้นทางรถไฟที่ระบุชัดเจนว่าจุดต่อเชื่อมระหว่างพม่าและไทยอยู่ตรงไหนมาจากเพื่อนฝรั่ง เขาส่งไฟล์ภาพมีสถานีแก่งคอยท่าซึ่งจมอยู่ในน้ำให้ดู นักข่าวไทยเชื่อเพราะตอนที่ไปสังขละเขาพบสะพานข้ามห้วยแห่งหนึ่งชื่อทิม่องทะ เล็กให้ข้อมูลว่าลำห้วยนี้ไปบรรจบแม่น้ำแควน้อยมีสถานีรถไฟซึ่งแผนที่ระบุว่าชื่อสถานีทิม่องทะ ภาพถ่ายทางอากาศก่อนถูกโจมตีทำให้เห็นว่าสถานีมีขนาดใหญ่เกือบเท่าสถานีบางกอกน้อย พวกเขาเดินทางโดยเรือไปสำรวจสถานีทิม่องทะ ซึ่งปีนั้นน้ำจากเขื่อนลดลงมาก เมื่อขึ้นจากเรือเดินเท้าต่อไปก็พบที่ราบขนาดใหญ่ซึ่งเคยเป็นบริเวณสถานีทิม่องทะ
เส้นทางรถไฟนี้เมื่อพ้นจากเขาไปจะวิ่งไปห้วยซองกาเลียซึ่งเป็นบริเวณที่มีคนตายมาก ร่องรอยที่เหลือทำให้สันนิษฐานว่าบริเวณนั้นอาจเป็นทั้งโรงซ่อมบำรุง และที่เก็บเสบียง เชลยศึกจำนวนมากอาจมาพักที่นี่ก่อนเดินทางไปซองกาเลีย ที่นี่อาจมีโครงกระดูกอยู่ด้วยเพราะโดนระเบิดจนไม่เหลืออะไรเลย น้อยคนขับเรือเล่าว่าเขาไป
ตกปลาแถวรันตีพบกองหินและไม้หมอนรถไฟเมื่อไปดูก็พบร่องรอยของทางรถไฟ หลังกลับจากสำรวจเล็กส่งภาพมุมสูงของสถานีทิม่องทะพร้อมเอกสารมาให้ โทชิจึงขอให้นักข่าวไทยพาไปดูบ้าง

ในตอนท้ายตัวละครหลักต้องแยกจากกัน โทชิเสร็จหน้าที่นำกระดูกทหารเดินทางกลับญี่ปุ่น และได้ทำหน้าที่ใหม่เป็นเจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์สงคราม ส่วนนักข่าวไทยยังคงสงสัยเกี่ยวกับรถไฟเที่ยวสุดท้ายจากพญาตองซูที่ข้ามพรมแดนเข้ามาไทยแล้วหายไปไหน เขาจึงค้นบทสัมภาษณ์และหาข้อมูลย้อนกลับไปวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2485 ซึ่งกองทัพญี่ปุ่นประชุมกับกับรัฐบาลไทยเรื่องสร้างทางรถไฟจากไทยไปพม่า ที่ญี่ปุ่นมาสำรวจเส้นทางสร้างทางรถไฟก่อนแล้ว โดยญี่ปุ่นขอสร้างทางให้ไทยอำนวยความสะดวกแต่ไทยต้องการสร้างเองจึงยังไม่มีข้อสรุป แม้จะมีการเจรจาอีกหลายครั้งแต่ในที่สุดญี่ปุ่นก็สร้างทางรถไฟที่ทำให้เชลยศึกและแรงงานล้มตายจำนวนมาก เรื่องราวของรถไฟเที่ยวสุดท้ายจากพญาตองซูยังคงเป็นปริศนา แม้บางเรื่องจะถูกเปิดเผยจากเชลยสงคราม เช่น จอห์น โลเว่น ที่บันทึกการกลับมากับขบวนรถไฟเที่ยวสุดท้ายที่ไม่เคยคิดว่าจะได้นั่งมันกลับมาทางเดิมบนความยากลำบากและความตายของเพื่อนเชลย วันที่ทางรถไฟเสร็จหมุดตัวสุดท้ายถูกตอกลงที่เกริงตะกุย วิ่งเพียงไม่กี่เที่ยวญี่ปุ่นก็แพ้สงคราม การเดินทางกลับบนรถไฟเที่ยวนั้นทหารญี่ปุ่นมีแต่แววตาหวาดกลัว บางคนถูกถีบลงไปขณะรถไฟวิ่ง บางโบกี้ถูกตัดขาด ถูกนำไปซ่อนในถ้ำที่ถูกปิดตายด้วยการระเบิดหินให้ถล่มลงมา การยอมจำนนเป็นทางเดียวที่จะมีชีวิตรอด แต่บางส่วนเลือกที่จะตายในสมรภูมิ เมื่อเขากลับบ้านแล้วได้ข่าวว่ารถไฟสายนั้นถูกปิดโดยขบวนของเขาเป็นขบวนสุดท้าย ยามากูชิเรียวเขียนบนปกหนังสือที่พิมพ์โดยพิพิธภัณฑ์แห่งสงครามว่า เรื่องราวแต่หนหลังทำให้คนหลั่งน้ำตา โทชิส่งฉบับภาษาอังกฤษให้นักข่าวไทย มีงานที่น่าสนใจหลายเรื่อง เช่น เคนจิโร นายทหารหนุ่มซึ่งเป็นวิศวกรรถไฟและพลขับ บันทึกถึงรถไฟขบวนพิเศษที่มีนายพลแห่งกองทัพญี่ปุ่น ในภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อยู่หลายคน เมื่อออกจากแคมป์พักที่ซังญี่ปุ่นยังไม่ทันพ้นก็โดนระเบิดของฝ่ายสัมพันธมิตร ทางรถไฟไม่เสียหายแต่ค่ายพักบางส่วนเสียหาย เชลยศึกทั้งหมดถูกต้อนขึ้นรถไฟไปชายแดนอินเดียซึ่งต่อมาได้ถูกยกเลิกเมื่อญี่ปุ่นแพ้โซเวียต บางเที่ยวจึงคงจอดที่ตันบูซายัด ขณะที่ทหารฝ่ายสัมพันธมิตรเพิ่มมากขึ้นพร้อมๆ กับจำนวนสมาชิกสันนิบาตเสรีชนของพม่า บางฐานทัพถูกโจมตีจนแพ้ บางส่วนหนีตาย บางส่วนตายแล้วถูกตัดหัว รถไฟจากไทยไปพม่าหยุดเดินทางเมื่อฮิโรชิมาและนางาซากิโดนทิ้งระเบิด ญี่ปุ่นประกาศยอมแพ้ให้ทหารวางอาวุธยอมจำนน หลายคนวางอาวุธแต่ไม่ยอมจำนน พวกเขาเดินทางขึ้นเหนือเพื่อเอาชีวิตรอดบางคนตายระหว่างทาง นายพลบางคนเลือกฆ่าตัวตาย เคนจิโรถูกจับเป็นเชลยสงครามเมื่อเข้าถึงไทย เชลยศึกที่ได้รับการปลดปล่อยเข้ามาไทยเพื่อส่งกลับบ้าน

นักข่าวไทยได้รับเชิญไปงานแต่งงานของโทชิกับเรียวกะในวันที่ 2 กันยายน ซึ่งเป็นวันที่ญี่ปุ่นประกาศยอมแพ้สงคราม วันรุ่งขึ้นโทชิพาไปพิพิธภัณฑ์สงครามที่เขาดูแล นักข่าวไทยได้ถามบางเรื่องกับโทชิ เขาได้ตอบและบอกเล่าความรู้สึก ทั้งยังเล่าถึงความรู้สึกของอดีตทหารญี่ปุ่นหลายคนที่เคยกลับมาพร้อมรถไฟเที่ยวสุดท้าย นิซึกะ โอเอะ อดีตทหารญี่ปุ่นคนหนึ่งเล่าถึงการยอมจำนนเพื่อกลับบ้านเขาหวังเพียงให้บาดแผลจากสงครามในอดีตลบเลือนไปจากความทรงจำที่ทุกคนต่างตกเป็นเหยื่อของสงคราม

ขอขอบคุณ #ทุกลิงค์เชื่อมโยงอันมีส่วนสำคัญ…ให้การเรียนรู้ ประวัติศาสตร์สงครามโลกครั้งที่ 2 กว้างไกล…และเข้าใจลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น #ขอขอบคุณเป็นอย่างยิ่งสำหรับเพจ Thai Burma railway ทางรถไฟสายมรณะ ที่กรุณาเผยแพร่หลากร่องรอยให้เรียนรู้ทุกแง่มุมของสงคราม

 

การอ้างอิง

  • สุมาตร ภูลายยาว. (2564). รถไฟเที่ยวสุดท้ายจากพญาตองซู. บ้านแม่น้ำ.
  • นักเขียนไทย Thai Writer (2022, 28 กุมภาพันธ์). Shine A Light EP.109 จากรางรถไฟสู่หมุดหมายวรรณกรรม กับ… สุมาตร ภูลายยาว [วีดีโอ]. ยูทูป. https://www.youtube.com/watch?v=3c9Wdx0jF9g
  • ผลการตัดสินหนังสือดีเด่นรางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ครั้งที่ 19 ประเภทหนังสือนวนิยาย. (2565). รถไฟเที่ยวสุดท้ายจากพญาตองซู. CP ALL. https://7book.csrcpall.com/?rcno_review=รถไฟเที่ยวสุดท้ายจากพญ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *