เล่าทีละเรื่อง เมืองนครปฐม: #2 องค์พระ…ทำไมมีรู

รูบริเวณองค์ระฆังและบัลลังก์ ขององค์พระปฐมเจดีย์
ขณะมีงานนมัสการประจำปี 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2447

ชาวนครปฐม หรือผู้ที่ผ่านไปมาอาจเคยสังเกตว่าองค์พระปฐมเจดีย์ บริเวณส่วนรอบ ๆ องค์ระฆังมีรูที่ถูกเจาะไว้ ตัวผู้เขียนเองก็เคยสงสัยเช่นกันว่ารูนั้นมีไว้เพื่อการใด มีมาแต่ครั้งใด เมื่อแรกปฏิสังขรณ์ในสมัยรัชกาลที่ 4 หรือเกิดขึ้นภายหลัง

หลายปีก่อน เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ.2558 ผู้เขียนได้ไปเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์พระปฐมเจดีย์ ซึ่งตั้งอยู่ด้านบนบริเวณลานชั้นลดทางทิศตะวันออก หรือทิศที่หันหน้าเข้ากรุงเทพฯ โดยพิพิธภัณฑ์นี้ตั้งหันหน้าเข้าหาพระอุโบสถ จุดสังเกตที่หลายคนอาจคุ้นเคย คือ ขึ้นทางบันไดยักษ์ ที่พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เดิมคุณตาสุข ทองดี เป็นผู้ดูแล เท่าที่จำความได้คุณตาเฝ้าอยู่ที่นี่มานานมากแล้ว วันนั้นมีโอกาสได้พูดคุยกับคุณตาเล็กน้อยจึงสอบถามเรื่องเกี่ยวกับองค์พระ คุณตาเล่าว่าสมัยยังหนุ่มตอนสงครามโลกคุณตาเคยปีนเอาทางมะพร้าวไปคลุมองค์พระ เพื่อพรางเครื่องบินรบไม่ให้องค์พระโดนทิ้งระเบิด ด้วยความรู้สึกส่วนตัวว่าองค์พระเจดีย์มีขนาดใหญ่และสูงมาก ประกอบกับในเวลานั้นคุณตามีอายุราว 90 ปีเศษแล้ว อาจจะมีข้อจำกัดในเรื่องความจำขณะฟังบอกเล่าผู้เขียนจึงไม่มั่นใจนัก และเมื่อเริ่มเขียนบทความมีโอกาสได้สอบถามข้อมูลคุณตาเพิ่มเติมจากพระครูวิกรมเจติยาภรณ์ ซึ่งท่านเคยเป็นผู้ดูแลพระอุโบสถ พิพิธภัณฑ์พระปฐมเจดีย์และเก๋งจีน ทราบว่าคุณตาเสียชีวิตไปเมื่อราว 4 ปีที่ผ่านมา อายุ 96 ปี

บทความนี้ผู้เขียนจึงสืบค้นหาหลักฐานเพื่อสอบทานคำบอกเล่าของคุณตา และเป็นการตอบคำถามแก่หลาย ๆ ท่านที่สงสัยว่ารูรอบ ๆ องค์ระฆังขององค์พระนั้นมีเพื่อการใด เมื่อค้นหาเอกสารเกี่ยวกับการบูรณะพระปฐมเจดีย์ จึงพบว่ามีหนังสือราชการเป็นรายงานโต้ตอบจากพระธรรมสิริชัย เจ้าอาวาสวัดพระปฐมเจดีย์ในขณะนั้น ถึงบุคคลต่าง ๆ ที่เชิญมาร่วมประชุมหารือการบูรณะครั้งใหญ่ เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2509 อาทิ ผู้แทนกรมศิลปากร กรมศาสนา ผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม เป็นต้น เนื้อหาของหนังสือราชการนั้นกล่าวถึงรายละเอียดของการชำรุดในส่วนต่าง ๆ และได้กล่าวถึงเรื่องการเจาะรูองค์พระโดยรอบเพื่อทำนั่งร้าน ดังสรุปความจาก การบูรณะปฏิสังขรณ์พระปฐมเจดีย์ : กรณีศึกษาจากเอกสารจดหมายเหตุ (นฤมล บุญญานิตย์, 2548, หน้า 120-121) กล่าวว่า

“ส่วนกระเบื้องตั้งแต่ฝาละมีหลุดร่วงเพราะปูนเสื่อมคุณภาพตั้งแต่สมัยสงคราม
เพราะมีการนำทางมะพร้าวขึ้นไปคลุมไว้ เมื่อฝนตกมีความชื้นน้ำระเหยได้ยากจึงซึมลงทำให้ปูนผุ
กระเบื้องที่ด่างดำเกิดจากตะไคร่น้ำ ผิวกระเบื้องกะเทาะแตกง่ายเพราะช่างฝรั่งที่รับเหมา
ทำล้อเลื่อนไปตามผิวกระเบื้องเพื่อทำการประดับ เมื่อช่างไทยมารับเหมาต่อ
ใช้วิธีเจาะรูองค์พระเจดีย์ให้เป็นช่องอากาศโดยรอบเพื่อทำนั่งร้าน กระเบื้องส่วนหลังจึงมีอายุอยู่นาน”

นอกจากนี้พบคำให้สัมภาษณ์ของนายประเวศ ลิมปรังษี ซึ่งเป็นผู้หนึ่งในคณะสำรวจของกรมศิลปากร เมื่อครั้ง พ.ศ. 2509 กล่าวถึงเรื่องการเจาะรู ต่างจากเอกสารรายงานของทางวัดที่ให้ข้อมูลว่าเกิดจากช่างไทยเจาะรูเพื่อทำนั่งร้าน โดยข้อมูลจากการสัมภาษณ์นายประเวศระบุว่าแรงงานนักโทษเป็นผู้เจาะ เพื่อใส่ซุงสำหรับปีนแขวนทางมะพร้าวคลุมพระเจดีย์พรางตาเครื่องบินทิ้งระเบิดสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งข้อมูลส่วนหลังตรงกับคำบอกเล่าของคุณตาสุข ส่วนประเด็นผู้ปีนเจาะคือนักโทษนั้นยังไม่อาจสอบทานได้ รายละเอียดคำสัมภาษณ์ ดังสรุปความจากวิทยานิพนธ์ที่อ้างแล้ว (นฤมล บุญญานิตย์, 2548, หน้า 122-123) กล่าวว่า

“การสำรวจสภาพชำรุดขององค์พระปฐมเจดีย์นี้ นายประเวศ ลิมปรังษี ได้มาทำการสำรวจพร้อมคณะ เมื่อวันเสาร์ที่ 18 และวันเสาร์ที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2509 เนื่องจากทางกรมศิลปากรได้รับหนังสือแจ้ง จากวัดพระปฐมเจดีย์ว่า พระปฐมเจดีย์มีการทรุดเอียงไปทางด้านตะวันตกให้มาตรวจดู แต่เนื่องจากองค์พระเจดีย์มีความสูงและขนาดใหญ่มาก ประกอบกับไม่มีทางให้ขึ้นสำรวจบนองค์พระเจดีย์ และได้สังเกตเห็นว่าโดยรอบองค์พระเจดีย์มีการเจาะรู้ไว้ โดยรูที่เจาะนี้นักโทษเป็นผู้ปืนขึ้นเจาะตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เพื่อนำซุงใส่สำหรับปีนขึ้นแขวนทางมะพร้าวคลุมพระเจดีย์เพื่อพรางตา
จากเครื่องบินทิ้งระเบิด
ในการสำรวจครั้งนั้นจึงใช้ประโยชน์จากรูซึ่งยังไม่ได้ปิดนี้ โดยนำท่อนไม้
เสียบในรูแล้วผูกเชือกปีนขึ้นสำรวจ”

เมื่อสืบค้นต่อไปในส่วนการบูรณะที่เกี่ยวข้องกับองค์พระเจดีย์ ซึ่งมีเอกสารที่กล่าวถึงวิธีการที่ใช้ในแต่ละครั้ง
พบว่าวิทยานิพนธ์ที่อ้างแล้ว (นฤมล บุญญานิตย์, 2548, หน้า 91 และ 138) มีเอกสารที่กล่าวถึงประเด็นนี้
ตามลำดับ คือ

หนังสือราชการลงวันที่  8 มีนาคม พ.ศ. 2458 ซึ่งเจ้าพระยาศรีวิไชยชนินทร์ ผู้ว่าราชการเมืองนครไชยศรี
(พ.ศ. 2438) กราบบังคมทูลรัชกาลที่ 6 กล่าวถึงวิธีการประดับกระเบื้องในครั้งเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ ว่าเดิมใช้
เสาหลักแพและไม้เบญจพรรณทำนั่งร้าน เมื่อพวกไม้สูงมาซ่อมแซมใช้เหล็กยาวตีติดกับที่ที่จะประดับกระเบื้องและใช้ไม้พะองพาดทำการ เมื่อเสร็จแล้วจึงรื้อเหล็กและนั่งร้านลงเป็นช่วงๆ และเมื่อ พ.ศ. 2442 ครั้งที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพเสด็จตรวจราชการ ได้ให้วิศวกรมาตรวจการประดับกระเบื้อง ใช้วิธีฝังเหล็กที่คอระฆังชั้นบนมีบันไดพาดสำหรับขึ้นประดับ ส่วนกระเบื้องและปูนซิเมนต์ใช้ชักรอกขึ้น

และในการบูรณะครั้งใหญ่เมื่อ พ.ศ. 2518 พบเอกสารท้องถิ่นเป็นบันทึกข้อความลงวันที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2518 จากคณะกรรมการเปิดซองประกวดราคาในการบูรณะถึงอธิบดีกรมโยธาธิการ กล่าวถึงงานที่ต้องดำเนินการ คือ การสร้างนั่งร้านโครงเหล็กรอบองค์ระฆัง และติดตั้งรอกส่งของ ซึ่งวิธีการที่ใช้ในการบูรณะที่เกี่ยวข้องกับองค์พระเจดีย์จากเอกสารทั้ง 2 ครั้งนี้ มิได้มีการระบุเรื่องการเจาะรูรอบองค์ระฆัง ส่วนจะมีการเจาะเพิ่ม หรือใช้ประโยชน์จากรูซึ่งมีการเจาะไว้แต่เดิมเมื่อครั้งสงครามโลกครั้งที่ 2 หรือไม่ เอกสารที่พบในขณะนี้ไม่มีข้อมูลกล่าวถึง

นอกจากนี้ พบข้อมูลภาพและคำอธิบายภาพที่ 10 พุทธานุสาวรีย์ จากสารนิพนธ์ เรื่อง ภาพจิตรกรรมฝาผนังที่พระที่นั่งทรงผนวช วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม อำเภอดุสิต กรุงเทพมหานคร (วณีพรรณ ฤาไชยคาม, 2525, หน้า 31-34) ซึ่งเป็นภาพครั้งรัชกาลที่ 5 เสด็จฯ ยกยอดนภศูลพระปฐมเจดีย์ เมื่อวันพุธ เดือนพฤษภาคม แรม 11 ค่ำ ปีมะเมีย พ.ศ. 2413 ซึ่งภาพดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงวิธีการที่ใช้ขึ้นบนองค์พระเจดีย์เพื่อยกยอดนภศูล โดยสร้างทางขึ้นแต่เพียงด้านเดียว มิได้มีการทำทางขึ้นรอบองค์ระฆังแต่อย่างใด

รัชกาลที่ 5 เสด็จฯ ยกยอดนภศูลพระปฐมเจดีย์ ภาพจิตรกรรมฝาผนังวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม กรุงเทพฯ

บรรณานุกรม
นฤมล บุญญานิตย์. (2548). การบูรณะปฏิสังขรณ์พระปฐมเจดีย์ : กรณีศึกษาจากเอกสารจดหมายเหตุ. กรุงเทพฯ: บัณฑิตวิทยาลัย. มหาวิทยาลัยศิลปากร.
วณีพรรณ ฤาไชยคาม. (2525). ภาพจิตรกรรมฝาผนังที่พระที่นั่งทรงผนวช วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม อำเภอดุสิต กรุงเทพมหานคร. กรุงเทพฯ: บัณฑิตวิทยาลัย. มหาวิทยาลัยศิลปากร.

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *