ไพบูลย์  พวงสำลี…ทนายนักอนุรักษ์


ประวัติโดยสังเขป

นายไพบูลย์  พวงสำลี ทนายนักอนุรักษ์ท้องถิ่น เป็นชาวจังหวัดนครปฐมโดยกำเนิด เขาเกิดเมื่อวันที่ 2 กันยายน 2502 เป็นบุตรคนที่ 3 ของคุณพ่อทวี และคุณแม่สง่า พวงสำลี มีพี่น้องร่วมบิดามารดา คือ นายธนกร พวงสำลี นายสิทธิชัย  พวงสำลี (เสียชีวิต) นายไพบูลย์  พวงสำลี นางสาวพูลสุข พวงสำลี และนางสาวจิรวรรณ พวงสำลี เขาจบการศึกษาด้านกฎหมาย จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง ประกอบอาชีพทนายความ

ด้านชีวิตครอบครัว นายไพบูลย์ ได้สมรสกับนางสาวยุพา  ประเสริฐวินิจกุล มีบุตร 2 คน คือ นางสาวพรไพลิน พวงสำลี และนายพีระพงษ์ พวงสำลี กำลังศึกษาในระดับอุดมศึกษา ในระยะหลังมานี้เขาสุขภาพไม่ค่อยดีนัก จึงลดบทบาททางด้านสังคมลง ดำเนินชีวิตแบบพอเพียงกับครอบครัว

ในช่วงเช้าของวันที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2564 ขณะที่เขากำลังปรับปรุงพื้นที่เพื่อเตรียมจัดสวนภายในบ้านพักเลขที่ 114 ถ.ถวิลราษฎรบูรณะ ต.บ่อพลับ อ.เมือง จ.นครปฐม ได้เกิดอุบัติเหตุเครื่องเจาะปูนแบบเหล็กที่ใช้ช็อต ทำให้เขาเสียชีวิต ขณะเมื่อญาติมาพบได้เห็นเขานอนเสียชีวิตข้างบ่อน้ำ มีเครื่องไฟฟ้าเสียบปลั๊กตกอยู่ในบ่อน้ำ คาดว่าจะเสียชีวิตราว 1 ชั่วโมง ก่อนมาพบศพ

การจากไปในวัย 62 ปี ของเขานั้น มิใช่เพียงความสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักของครอบครัว แต่นับเป็นการสูญเสียบุคคลในวงการทนายความ และวงการโบราณคดีของจังหวัดนครปฐมคนสำคัญคนหนึ่งอีกด้วย และในการบำเพ็ญกุศลศพทางญาติได้รับความกรุณาจากนายอภิชาต  ขุนเทพ อดีตผู้บัญชาการเรือนจำกลางนครปฐมและนายกพุทธสมาคมจังหวัดนครปฐม ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีฌาปนกิจศพ ณ วัดห้วยจระเข้ อ.เมือง จ.นครปฐม เมื่อวันจันทร์ที่ 4 ตุลาคม 64 เวลา 16.30 น.

จิตวิญญาณและผลงานแห่งการอนุรักษ์

เมื่อข้าพเจ้าได้มีโอกาสเข้าไปสัมผัสอย่างลึกซึ้ง กับสิ่งของต่างๆ ที่นายไพบูลย์ เก็บสะสะสม และเพียรทำมาโดยลำพังนานหลายสิบปี ทำให้เห็นถึงความสนใจอย่างยิ่งของเขาในการศึกษาค้นคว้าวิจัยด้านโบราณคดี โดยเฉพาะในอาณาจักรทวารวดี ที่นครปฐม หลักฐานเชิงประจักษ์ที่ข้าพเจ้าได้สัมผัส “สมบัติส่วนตัว” อันเป็นของที่เขาเก็บสะสมแสวงหามา บ่งให้รับรู้ได้ถึงความเป็นนักอนุรักษ์ และการต่อสู้เพื่อปกป้องโบราณสถานของจังหวัดนครปฐม ดังปรากฏหลักฐานภาพ ตลอดจนบทความของเหตุการณ์สำคัญหลายครั้ง ผลงานที่สำคัญ โดยสังเขป

  • เป็นผู้นำการเคลื่อนไหวคัดสร้างห้างสรรพสินค้า บริเวณทุ่งพระเมรุ โบราณสถานริมถนนเพชรเกษม จ.นครปฐม
  • เป็นผู้นำการเคลื่อนไหวรณรงค์ให้มีการอนุรักษ์สะพานเจริญศรัทธา จนได้รับการขึ้นทะเบียนโบราณสถานของชาติ
  • เป็นผู้นำคนสำคัญที่อยู่เบื้องหลังการเคลื่อนไหวคัดค้านการยุบย้ายพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระปฐมเจดีย์ ไปรวมกับสุพรรณ
  • เป็นผู้ที่สำรวจและยืนยันให้มีการชี้จุดที่ตั้งของพระราชวังปฐมนคร ที่ถูกฝังตัวอยู่ในพื้นดินกว่า 2 เมตร ซึ่งเป็นสถานที่โบราณที่สำคัญเนื่องจากเป็นสถานที่ที่สันนิษฐานว่าสร้างราว พ.ศ. 2396 ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งพระองค์ทรงเคยใช้เป็นพระตำหนักพักแรม เมื่อครั้งทรงเดินทางมาสักการะพระปฐมเจดีย์ รวมทั้งเมื่อครั้งบูรณปฏิสังขรณ์องค์พระปฐมเจดีย์
  • พ.ศ. 2549 ได้รับมอบหมายจากนายอภิชาติ ขุนเทพ ผู้บัญชาการเรือนจำกลางจังหวัดนครปฐมในขณะนั้น ให้รบบรวมและเรียบเรียงหนังสือ “111 ปีเรือนจำกลางนครปฐม” เนื่องในโอกาสครบรอบ 111 ปี เรือนจำกลางนครปฐม เมื่อ พ.ศ. 2551 และเพื่อเป็นการยกย่องหลวงไชยอาญาซึ่งเป็นผู้รับใช้ใกล้ชิดพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ดูแลนักโทษปฏิสังขรณ์องค์พระปฐมเจดีย์ ซึ่งต่อมาได้รับการแต่งตั้งเป็นพระธรรมรงค์พุทธเกษตรานุรักษ์ ทำหน้าที่ดูแลองค์พระปฐมเจดีย์ จึงนับเป็นผลงานที่น่าภาคภูมิใจที่สุดของนายไพบูลย์
  • พ.ศ.2558 เป็นหนึ่งในกลไกสำคัญที่ได้รับข้อมูลการจะย้ายพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม ไปรวมกับจังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งเป็นประเด็นความขัดแย้งระดับชาติ ที่มีทั้งประชาชนและนักการเมือง ทุกภาคส่วน ต่างออกมาร่วมแสดงจุดยืนกับชาวนครปฐม กระทั่งเรื่องราวดังกล่าวยุติลง
  • พ.ศ. 2558 พบซากชิ้นส่วนของไม้ที่เจาะรูมีเชือกร้อย ลักษณะคล้ายกับเรือโบราณของชาวอาหรับ คือ เรือพนมสุรินทร์ ซึ่งขุดพบที่จังหวัดสมุทรสาคร โดยสันนิษฐานว่าซากชิ้นส่วนของไม้ที่พบนี้เป็นของเรือโบราณที่จมอยู่ในก้นลำน้ำบึงกุ่ม บึงบางช้าง สันนิษฐานว่าเรือนั้นอาจร่วมสมัยกับเรือพนมสุรินทร์ มีอายุไม่น้อยกว่า 1 พันปี ซึ่งนับเป็นหลักฐานสำคัญของข้อมูลใหม่ ตอกย้ำประวัติศาสตร์ของอาณาจักรทวารวดีซึ่งเจริญรุ่งเรือง เชื่อมโยงตะวันออกกลาง โดยนายไพบูลย์ เชื่อว่าเป็นแหล่งน้ำหรือท่าเรือที่ชาวอาหรับมาถ่ายเทสินค้าเพื่อค้าขายจากตะวันออกกลางและพื้นที่จังหวัดนครปฐม ทั้งนี้ เขาได้ประสานกับเจ้าหน้าที่กรมศิลปากรให้มาสำรวจไปแล้วครั้งหนึ่ง
  • เป็นผู้ที่สำรวจและขุดค้นโบราณวัตถุศิลปะสมัยทวาราวดีในบริเวณจังหวัดนครปฐม
  • เป็นประธานกลุ่มศรีทวารวดี ซึ่งเป็นกลุ่มประชาชนที่สนใจในการอนุรักษ์ตลอดจนเรื่องราวประวัติศาสตร์ท้องถิ่น
  • เป็นอดีตที่ปรึกษาและกรรมการเครือข่ายมรดกทางวัฒนธรรม เขตพื้นที่ 2 สุพรรณบุรี
  • ร่วมทำงานกับองค์กรต่างๆ ในจังหวัดนครปฐม เช่น สมัชชานครปฐม วัฒนธรรมจังหวัดนครปฐม สโมสรเสือป่า
  • เป็นคอลัมนิตส์ ของหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น เขียนเกี่ยวกับการขุดค้นพบโบราณสถาน โบราณวัตถุศิลปะสมัยทวาราวดีของจังหวัดนครปฐม

ข้อมูลจากการสัมภาษณ์ รศ. สมประสงค์ น่วมบุญลือ
รศ. สมประสงค์ น่วมบุญลือ ข้าราชการบำนาญ อดีตเป็นอาจารย์สังกัดคณะศึกษาศาสตร์ ม.ศิลปากร เป็นผู้ที่เคยร่วมงาน รณรงค์ฯ กับ นายไพบูลย์ พวงสำลี ได้เล่าว่า การเริ่มรณรงค์ มาจากเหตุการณ์ หลายๆ อย่างที่มาประจวบเหมาะ และสุ่มเสี่ยง ต่อการทำลายโบราณสถานและแหล่งโบราณสถานของจังหวัด อาทิ

  • เทศบาลจะสร้างถนนพุทธบูชา ตัดตรงจากถนนเพขรเกษม (บายพาส) ตรงมาสถานีตำรวจ เข้ามาถึงองค์พระ เทศบาล และนักธุรกิจต่าง ๆ มีแนวโน้มโครงการจะสร้างอาคารพาณิชย์ตามแนวถนนที่จะตัดใหม่นี้
  • สะพานเจริญศรัทธา สะพานคอนกรีตแห่งแรกนอกกรุงเทพฯ ประดับด้วยประติมากรรมปูนปั้น ต่างๆ ออกแบบโดยสมเด็จฯ กรมพระนริศราฯ ถูกใช้งานโดยไม่เหมาะสมโดยขาดการดูแลอย่างเพียงพอ มีการตั้งหาบเร่ค้าขายเก็บรายได้ ส่งผลให้ รูปปั้น สถาปัตยกรรมต่างๆ ถูกทำลายไปมาก นายไพบูลย์ จึงได้จัดกิจกรรมรณรงค์ เดินท่องจาก พระราชวังสนามจันทร์ มายังสะพานเจริญศรัทธา การรณรงค์นี้เพื่อให้มีการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน
  • ในส่วนของคุก ก็มีแนวโน้มโครงการจะสร้างอาคารพาณิชย์อีกเช่นกัน จึงเชิญ รศ. สมประสงค์ ไปบรรยาย เรื่องเกี่ยวกับโบราณสถานของนครปฐมและการทำลายโดยความเป็นเมือง ซึ่งในครั้งนั้น อ.ศรีศักดิ์ วัลลิโภดม ได้เข้าร่วมฟังด้วย
  • กิจกรรมเกียวกับองค์พระปฐมเจดีย์ นายไพบูลย์ ได้เชิญครู นักเรียน ทำค่ายบนองค์พระเพื่อเรียนรู้ มีการบรรยายนำชม โดย รศ. สมประสงค์ เป็นวิทยากร นอกจากนี้มีการจัดกลุ่มกลุ่มผู้สนใจอื่นๆ โดยนายไพบูลย์ ให้ อ. ธีรภาพ ธีรภาพสกุลวงศ์ (ลูกชายนายเต็กกอ) ถ่ายภาพจุดสำคัญๆ ที่ รศ. สมประสงค์ บรรยาย (ปัจจุบันภาพไม่ทราบเก็บที่ไหน)
  • นายไพบูลย์ ถ่ายภาพตอนสร้างเซ็นทรัล ศาลายา เอามาให้ รศ. สมประสงค์ มีภาพเปลือกหอย และหลักฐานสัตว์ใต้ทะเล อื่นๆ บ่ง ความเป็นทะเล
  • นายไพบูลย์ ได้ถ่ายภาพเรือโบราณ มีองค์ประกอบสัตว์ใต้ทะเล ที่เทียบชั้นดินเท่ากับทวารวดี ในบ้านนักการเมืองนครปฐม แต่ปรากฏว่าเมื่อจะกลับไปถ่ายอีกครั้งถูกทำลายไปแล้ว
  • นายไพบูลย์ และ รศ. สมประสงค์ พบพระนั่งห้อยพระบาท ทำจากศิลาแลง และหินทรายขาว สูงประมาณคืบเศษ ในที่ดินชาวบ้านที่กำแพงแสน พระลักษณะเดียวกับ พระศิลาขาว ทวารวดี
  • นายไพบูลย์ และ รศ. สมประสงค์ เคยร่วมประชุมกับพิพิธภัณฑ์แห่งชาติ เชิญบุคคลที่เกี่ยวข้อง หารือเฉพาะเรื่องการทำลายโบราณสถาน (สนามจันทร์) ในจังหวัดนครปฐม

ข้อคิดเห็นบางประการ

รศ. สมประสงค์ น่วมบุญลือ ได้ให้ข้อสังเกตถึง เรื่อง สุวรรณภูมิ เป็นนามธรรม มีอาณาเขตกว้างขวางและกินความถึง SE Asia โดย ทวารวดี อาจเป็นเพียงส่วนหนึ่งของสุวรรณภูมิ ข้อสังเกตจากที่ได้ศึกษา คือ แหล่งทองใน SE Asia ด้วยต่างมีชื่อบ้านนามเมืองที่เกี่ยวกับทอง แหล่งทองที่สำคัญในไทย คือ ทองเนื้อเก้า บางสะพาน ขณะเดียวกันทางมาเลเซียก็มีเช่นกัน

รำลึกอาลัยทนายคนฝูงดีเพื่อแผ่นดินปฐมนคร
นายไพบูลย์ พวงสำลี กับข้าพเจ้านั้น แรกเริ่มรู้จักกันในฐานะผู้ใช้บริการ สมัยหนึ่งเขาได้มาใช้หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ ชนิดที่เรียกได้ว่าแทบไม่เว้นแต่ละวัน แต่ในครั้งนั้นยังมิได้มีความรู้จักมักคุ้นใกล้ชิด กระทั่งเมื่อเขาทราบว่าข้าพเจ้าทำวิทยานิพนธ์ สาขาวิชาการจัดการจดหมายเหตุและเอกสาร เรื่อง การบูรณะปฏิสังขรณ์พระปฐมเจดีย์: กรณีศึกษาจากเอกสารจดหมายเหตุ ซึ่งเขาสนใจข้าพเจ้าจึงมอบให้ไปหนึ่งฉบับ และเมื่อเขามาใช้บริการหอสมุดก็มักจะแวะเวียนเยี่ยมหากันอยู่เนืองๆ บางขณะก็ร่วมกลุ่มเดินทางไปทำกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวกับท้องถิ่นด้วยกัน เรามักแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในเรื่องต่างๆ ซึ่งบางครั้งอาจมีความเห็นไม่ตรงกันบ้าง ก็มิได้เป็นสาระโกรธเคืองกัน ด้วยคิดเห็นเรื่องท้องถิ่นนั้นเรามีแนวทางที่พ้องต้องกัน และยังได้ร่วมกิจกรรมสำคัญในการเคลื่อนไหวคัดค้านการยุบรวมพิพิธภัณฑ์ฯ ดังกล่าวแล้วข้างต้นด้วยกัน

ความเป็นกัลยาณมิตรที่ดีต่อกันนี้ ทำให้ข้าพเจ้าไม่อยากให้การเสียชีวิตของเขานั้นเป็นความจริง ครั้งสุดท้ายที่ได้พบกันราว 1 เดือนก่อนหน้า ข้าพเจ้าได้หยิบยืมหนังสือจากเขาเพื่อมาประกอบการเขียนบทความ เขายังฝากให้ซ่อมแซมหนังสือซึ่งชำรุดเล็กน้อยนั้นด้วย และยังได้คุยถึงงานทำทะเบียนวัตถุสิ่งของสะสมซึ่งเขาก็รับปากว่าจะเริ่มทำและดิฉันได้อาสาช่วย สุดท้ายหนังสือเล่มนั้นก็ยังคงค้างคามิได้ส่งคืน งานทำทะเบียนวัตถุสิ่งของสะสมเมื่อทางมหาวิทยาลัย โดยท่านรองอธิการบดี พระราชวังสนามจันทร์ ศาสตราจารย์ ดร. คณิต เขียววิชัย ได้รับการติดต่อมอบให้อยู่ในความดูแลของมหาวิทยาลัย ท่านจึงได้มอบหมายให้ดิฉันประสานและดำเนินการ และในการจากไปของนายไพบูลย์ พวงสำลี ผู้เป็นกัลยาณมิตรนั้น ดิฉันได้ประพันธ์บทกลอน และอ่านเป็นเกียรติประวัติในพิธีฌาปนกิจของนายไพบูลย์ พวงสำลี นักต่อสู้และนักอนุรักษ์คนสำคัญของท้องถิ่น นครปฐม จึงนำมาบันทึกในท้ายบทความนี้ด้วย

รำลึกอาลัย ไพบูลย์ พวงสำลี ทนายคนฝูงดีเพื่อแผ่นดิน ปฐมนคร

อ่านแผ่นดิน สืบค้น อารยธรรม
งานเพื่อนทำ เพื่อนสู้ เพื่อนกู้บ้าน
ต่อแต่นี้ จะมี ใครยืนกราน
ขึ้นคัดค้าน เพื่อส่วนรวม อย่างเคยมา

แม้เพื่อนมี อาชีพ คือทนาย
ก็มิหมาย เพียงแต่ แก้ปัญหา
แก้ทุกข์โศก แก้ต่าง เจรจา
ด้วยปัญญา สมอง และสองมือ

เพราะทุกครา ที่หน้า ประวัติศาสตร์
บ้านเกิดขาด ดูแล อาจแปรผัน
เพื่อนลุกขึ้น แต่งทัพ จับศึกพลัน
ด้วยมุ่งมั่น แทนคุณ แดนมารดา

ปี 43 ห้างดัง จะเข้ามา
เปิดสาขา ที่พระเมรุ เพื่อนอาสา
ระดมชาว ปฐม- อโศกมา
ยาตราทัพ เดินเท้า เข้าต่อตี

สะพานยักษ์ ผุพัง รุงรังค้า
เพื่อนรีบหา แนวร่วม ขมันขมี
พาเพื่อนพ้อง พี่น้อง สร้างงานดี
มาเดินที่ ดูทาง สร้างองค์รู้

เมื่อถึงคราว เผชิญ คู่ต่อสู้
ที่มองรู้ สิ้นทาง ดูอดสู|
เพื่อนร้อนใจ มิอาจ นิ่งทนดู
“ใคร” ไม่รู้ ฉ้อฉล มาปล้นเมือง

เหตุครั้งนั้น ประวัติ ต้องจารจด
มากันหมด ทั้งเมือง ไร้ขั้วค่าย
จะมุ้งเล็ก มุ้งใหญ่ ต่างยอมตาย
ไม่ให้ย้าย ยุบโอน พิพิธภัณฑ์

ปี 58 แกนนำ ร่วมผลักดัน
ต่างรู้กัน เขานั้น คนนำสาส์น
มาวันนี้ สิ้นตัว คงวงศ์วาน
ร่วมสืบสาน ศรีทวารฯ งานแผ่นดิน

หลับให้สบายนะสหาย
เล็ก-ลูกยอดแหลม
4 กันยา 2564

 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *