ที่มาแห่งนาม…โรงเรียนราชินีบูรณะ


ภาพลายเส้นด้านหน้า อาคารศรีพัชรินทร์
จากภาพประกอบ “ภาพลายเส้นที่ 86 รูปด้านหน้าอาคาร” ใน วิทยานิพนธ์
เรื่อง โรงเรียนในสมัยรัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 6 (พ.ศ. 2411-2468)
ของนางสาววรัฎรยา หุ่นเจริญ (2545: 176)

ผู้เขียนได้รับมอบหมายร่วมเป็นคณะทำงานปรับปรุงห้องอนุสรณ์ศาสตราจารย์
หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ซึ่งเป็นสถานที่จัดแสดงนิทรรศการประวัติส่วนตัวของท่าน
อยู่ในความดูแลของหอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ โดยนิทรรศการที่จัดแสดง
แบ่งประเภทสิ่งของตามลักษณะทางกายภาพ ได้ 2 ประเภท คือ วัตถุสิ่งของ
อันประกอบไปด้วย ข้าวของเครื่องใช้ส่วนตัว ของตบแต่ง ของที่ระลึก ตลอดจนวัตถุอื่นๆ
รวมถึงโสตทัศนวัสดุหลายรายการ และสิ่งของอีกประเภทที่มีความสำคัญไม่น้อย
คือ เอกสารลายลักษณ์อักษร อันประกอบไปด้วย เอกสารต้นฉบับลายมือเขียน
ผลงานประเภทต่างๆ ของท่าน ตลอดจนเอกสารส่วนบุคคลอื่นๆ อาทิ
หนังสือเดินทาง จดหมายส่วนตัว และเอกสารเบ็ดเตล็ดอีกหลากชนิด

การดำเนินการในส่วนเอกสารลายลักษณ์อักษรนั้น ผู้เขียนตระหนักยิ่งว่าเป็นภารกิจอันสำคัญ
ด้วยท่านได้รับการยกย่องจาก UNESCO หรือ องค์การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรม
แห่งสหประชาชาติ ให้เป็นบุคคลสำคัญและมีผลงานดีเด่นระดับโลก (สาขาการศึกษา
วัฒนธรรม วรรณกรรมและการสื่อสาร) เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2546 ซึ่งเมื่อได้สำรวจ
เอกสารในภาพรวมก็พบว่า มีเอกสารที่มีคุณค่าเกี่ยวข้องกับงานด้านต่างๆ ดังที่ท่าน
ได้รับการยกย่องเชิดชูเป็นจำนวนมาก

เอกสารเหล่านั้นจำนวนไม่น้อยมีความน่าสนใจ ในที่นี้ผู้เขียนได้คัดเลือกเพียงบางส่วน
ที่เกี่ยวข้องกับจังหวัดนครปฐมมานำเสนอ โดยเอกสารดังกล่าวเป็นฉบับร่างซึ่งระบุว่า
เป็นการสรุปความจากเทปปาฐกถา “เรื่อง การศึกษาสมัยรัชกาลที่ 6”  ของ
หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ณ โรงเรียนราชินีบูรณะ จังหวัดนครปฐม
เมื่อวันที่ 17 กันยายน  2513

เนื้อความบรรยายถึงพระราชกรณียกิจของรัชกาลที่ 6 เกี่ยวกับการศึกษาของไทย
โดยกล่าวในภาพรวมว่าขณะนั้นบ้านเมืองยังมีความเจริญทางด้านวัตถุไม่มากนัก
การขยายการศึกษามาสู่ประชาชนทางหัวเมืองมีข้อจำกัด ที่มีอยู่บ้างก็มักอาศัยวัด
เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งขณะนั้นรัชกาลที่ 6 ทรงพระดำริว่าการศึกษาเป็นรากฐานของความเจริญ
ความสุขสบาย ความรุ่งเรือง จึงทรงโปรดฯ ให้จัดการศึกษาระดับประถมศึกษาขยายไป
ยังทั่วประเทศ ทุกจังหวัด ทุกตำบล

จากปาฐกถาดังกล่าวพบข้อความที่เกี่ยวข้องกับจังหวัดนครปฐม เป็นเรื่องของ
โรงเรียนสตรีแห่งหนึ่งในจังหวัด กล่าวถึงสมเด็จฯ พระพันปีหลวง โปรดเกล้าฯ ให้สร้าง
โรงเรียนสตรีขึ้นเป็นการย้ายเด็ก(นักเรียน) ด้วยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์
และพระราชทานนามว่า ร.ร. ราชินีบูรณะ โดยมีการฉลองโรงเรียน
ในวันที่ 9-10 กันยายน  2513 (ดังภาพ)

จากความว่า “เป็นการย้ายเด็ก”  ตลอดจนคำท้ายชื่อโรงเรียน “บูรณะ”  นั้น
ชวนให้ค้นหาที่มาที่ไปของนามพระราชทานโรงเรียนแห่งนี้ ซึ่งนับเป็นโรงเรียนสตรี
ประจำจังหวัดนครปฐม ที่ตั้งขึ้นในครั้งสมัยรัชกาลที่ 6 เมื่อสืบค้นข้อมูลทำให้พบ
ข้อมูลที่น่าสนใจจาก 2 แหล่ง ที่ช่วยให้สันนิษฐานคำตอบของความข้างต้นได้ กล่าวคือ

ข้อมูลจากแหล่งที่ 1  ประวัติจากเว็บไซด์ของโรงเรียนราชินีบูรณะ   กล่าวว่า

โรงเรียนราชินีบูรณะ ก่อตั้งครั้งแรกใน พ.ศ. 2457 [1] โดยใช้ชื่อโรงเรียนว่า “สตรีวิทยา”
จากนั้นในปี พ.ศ. 2460 โรงเรียนได้ถูกเพลิงไหม้ จึงได้ย้ายสถานศึกษามาอยู่ที่
เรือนพักกองเสือป่า ในภายหลังเจ้าพระยาศรีวิไชยชนินทร (ชม สุนทราชุน)
ผู้เป็นข้าหลวงเทศาภิบาลผู้สำเร็จราชการมณฑลนครชัยศรี ได้ให้คุณหญิงทองอยู่
สุนทราชุน ผู้เป็นภรรยา เข้ารับพระราชทานทรัพย์ พร้อมที่ดิน
จากสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถพระพันปีหลวง มาสร้างโรงเรียน
รวมถึงอาคารเรียนตามแปลนของกระทรวงธรรมการในสมัยนั้น
และจัดพิธีเปิดอย่างเป็นทางการในวันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2462
โดยสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถพระพันปีหลวง โปรดเกล้าฯ ให้
พระเจ้าวรวงศ์เธอกรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร เสด็จแทนพระองค์
และพระราชทานนามโรงเรียนแห่งนี้ว่า “โรงเรียนราชินีบูรณะ”  นับแต่นั้นเป็นต้นมา

ข้อมูลจากแหล่งที่ 2  โรงเรียนในสมัยรัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 6 (พ.ศ. 2411-2468)
เป็นวิทยานิพนธ์ ที่ศึกษาค้นคว้าวิจัยตามหลักสูตรปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต
สาขาวิชาประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร ของนางสาววรัฎรยา หุ่นเจริญ
กล่าวถึงประวัติโรงเรียนและอาคาร (ดังภาพ)

จากข้อมูลทั้ง 2 แหล่งดังกล่าว ผู้เขียนได้สืบค้นข้อมูลเพิ่มเติม พบข้อมูลจาก
ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 31 หน้า 428 วันที่ 24 พฤษภาคม 2457
เรื่อง พระราชทานเงินตั้งโรงเรียนสตรี  ซึ่งมีความแจ้งว่า สมเด็จพระราชินีนารถ
พระบรมราชชนนี พันปีหลวง ทรงโปรดเกล้าฯ พระราชทานเงินจำนวน 50,000 บาท
ในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ในเดือนมกราคม พ.ศ.2456
สำหรับจัดตั้งโรงเรียนสตรีขึ้นเป็นตัวอย่างที่กรุงเก่า (พระนครศรีอยุธยา) 1 โรง
ที่เมืองนครปฐม 1 โรง และที่เมืองราชบุรี 1 โรง (ดังภาพ)

จากข้อมูลเรื่องประวัติของโรงเรียนจากแหล่งต่างๆ ดังกล่าวข้างต้น
ผนวกกับความจากราชกิจจานุเบกษาดังแสดง ซึ่งมีเหตุการณ์และช่วงเวลา
ที่เป็นเหตุให้อาจสันนิษฐานว่าโรงเรียนที่จัดตั้งที่นครปฐมนี้อาจเป็น
โรงเรียนสตรีวิทยา ที่เมื่อแรกตั้งเป็นห้องแถวชั้นเดียวเมื่อถูกเพลิงไหม้
และโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นใหม่ ดังความจากปาฐกถาของหม่อมหลวงปิ่นฯ ซึ่งกล่าวว่า

“ด้วยสมเด็จพระบรมราชินีนาถพระพันปีหลวง มีพระราชเสาวนีย์โปรดเกล้าฯ
ให้สร้างโรงเรียนสำหรับสตรีขึ้นที่จังหวัดนครปฐม ด้วยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์
เป็นการย้ายเด็ก พระราชทานนามว่า ร.ร. ราชิณีบูรณะ” 

นอกจากโรงเรียนสตรีแห่งนี้ จะได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จฯ พระพันปีหลวง
ซึ่งโปรดเกล้าฯ ให้สร้างโรงเรียนสตรีขึ้นเป็นตัวอย่าง และทรงโปรดเกล้าฯ
ให้สร้างแห่งใหม่ขึ้นทดแทนเมื่อแห่งเดิมถูกเพลิงไหม้พร้อมพระราชทานนามแล้ว
โรงเรียนแห่งนี้ยังคงได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระวรราชชายา และสมเด็จพระราชินี
ในเวลาต่อมาอย่างเนืองๆ ดังปรากฏ ในราชกิจจานุเบกษา โดยลำดับ กล่าวคือ

วันที่ 18 มิถุนายน 2465 เล่ม 39 หน้า 779-780 พระวรราชชายาเธอ พระอินทรศักดิศจี
ได้พระทานเงินจำนวน 2,000 บาท เพื่อบำรุงโรงเรียนราชินีบูรณะ (ดังภาพ)

วันที่ 24 สิงหาคม 2467 เล่ม 41 หน้า 1632-1633 สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี
พระบรมราชินี  ได้พระราชทานเงินจำนวน 2,300 บาท เพื่อบำรุงโรงเรียน (ดังภาพ)

และในปีถัดมาราชกิจจานุเบกษา วันที่ 5 กรกฎาคม 2468 เล่ม 42 หน้า 1069-1070
สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระบรมราชินี  ได้พระราชทานเงินจำนวน 2,400 บาท
เพื่อบำรุงโรงเรียนราชินีบูรณะ (ดังภาพ)

ที่มาของนามโรงเรียน “ราชินีบูรณะ” อันเป็นช่วงตอนต่อจากปฐมบทของ
“โรงเรียนสตรีตัวอย่าง” ประจำจังหวัด ในยุคแรกเริ่มดังปรากฎตามราชกิจจานุเบกษา
เรื่อง พระราชทานเงินตั้งโรงเรียนสตรี  เมื่อ พ.ศ. 2457 ดังได้กล่าวแล้วข้างต้นนั้น
นับเป็นความภาคภูมิในเกียรติประวัติอันทรงคุณค่าของคณะครูและนักเรียน
แห่งองค์ “ราชินี” ยิ่งนัก

อีกทั้ง อาคารสิ่งปลูกสร้างคือ อาคารศรีพัชรินทร์  นั้น ยังนับเป็นอาคารที่มีคุณค่า
ไม่เพียงเฉพาะในความสำคัญต่อด้านการศึกษา หากแต่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์
ศิลปะและสถาปัตยกรรมอันควรแก่การอนุรักษ์

ดังมีข้อมูลจากวิทยานิพนธ์ เรื่อง โรงเรียนในสมัยรัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 6
(พ.ศ. 2411-2468) ซึ่งนางสาววรัฎรยา หุ่นเจริญ ได้ศึกษาค้นคว้าวิจัยและกล่าวถึง
ความสำคัญของคุณค่า ด้านประวัติศาสตร์ศิลปะและสถาปัตยกรรม ของอาคารโรงเรียน
ที่สร้างขึ้นในช่วงเวลาที่ศึกษาค้นคว้า ดังภาพ (2545: 3)

รูปแบบอาคารด้านหน้า ดังภาพ (2545: 176)


ภาพลายเส้นด้านหน้า อาคารศรีพัชรินทร์
แม้จะมีกลิ่นอายวัฒนธรรมตะวันตก แต่ได้ปรับประยุกต์ให้เข้ากับสภาพภูมิอากาศ
แบบท้องถิ่นของไทย อันเป็นธรรมเนียมนิยมการสร้างอาคารฝรั่งในรัชสมัย รัชกาลที่ 6

วิทยานิพนธ์ฉบับเดิมนี้ ยังได้กล่าวถึงการมีส่วนร่วมสร้างสถาปัตยกรรม
อันทรงคุณค่าโดยแรงงานนักโทษ ซึ่งมีพระพุทธเกษตรานุรักษ์
เป็นผู้ควบคุมการก่อสร้าง (2545: 173) (ดังภาพ)

นอกจากเรื่องราวประวัติศาสตร์ด้านการศึกษาของเมืองนครปฐม ปฐมนครแห่ง
ความเจริญอันเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินในครั้งก่อนทรงโปรดเกล้าฯ ในการต่างๆแล้ว
ในด้านของสถาปัตยกรรมอาคารเรียนชานกรุง ที่ยังคงความงดงามในรูปแบบที่เรียบง่าย
ควรค่าแก่การอนุรักษ์นี้ ก็นับเป็นประวัติศาสตร์ท้องถิ่นอันเนื่องด้วยสถาปัตยกรรม
อันมีแรงงานนักโทษเป็นส่วนสำคัญในการสร้าง เฉกเช่นเมื่อครั้งที่ได้
เกณฑ์แรงงานนักโทษสร้างเมืองนครปฐมจากป่ารกร้างจนมีความเจริญ
พัฒนามาจนปัจจุบันอีกด้วย

………..
[1] ปีที่ก่อตั้งโรงเรียนสตรีวิทยา อันเป็นชื่อเมื่อแรกตั้งของโรงเรียนราชิณีบูรณะนั้น
คือ พ.ศ. 2457 อยู่ในรัชสมัยของรัชกาลที่ 6 ซึ่งทรงขึ้นครองราชย์ ล่วงมาเป็นปีที่ 4
ในรัชกาลแล้ว นับแต่เริ่มต้นเมื่อ วันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ.2453

—————————————————-

บรรณานุกรม

พระราชทานเงินบำรุงโรงเรียนราชินีบุรณะ จังหวัดนครปฐม.  (2467, 24 สิงหาคม).
ราชกิจจานุเบกษา.  เล่ม 41.  หน้า 1632-1633.  เข้าถึงเมื่อ 6 สิงหาคม 2564.
จาก http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2467/D/1632.PDF

พระราชทานเงินบำรุงโรงเรียนราชินีบุรณะ จังหวัดนครปฐม.  (2468, 5 กรกฎาคม).
ราชกิจจานุเบกษา.  เล่ม 42.  หน้า 1069-1070.  เข้าถึงเมื่อ 6 สิงหาคม 2564.
จาก http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2468/D/1069.PDF

โรงเรียนราชินีบูรณะ. (2017). ประวัติโรงเรียนราชินีบูรณะ.
ค้นจาก โรงเรียนราชินีบูรณะ จังหวัดนครปฐม: https://www.rn.ac.th/default/rn-history

เรื่อง พระทานเงินบำรุงโรงเรียน ราชินีบุรณะ.  (2465, 18 มิถุนายน).
ราชกิจจานุเบกษา.  เล่ม 39. หน้า 779-780. เข้าถึงเมื่อ 6 สิงหาคม 2564.
จาก http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2465/D/779_1.PDF

เรื่อง พระราชทานเงินตั้งโรงเรียนสตรี.  (2457, 24 พฤษภาคม).
ราชกิจจานุเบกษา.  เล่ม 31.  หน้า 428.  เข้าถึงเมื่อ 9 สิงหาคม 2564.
จาก http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2457/D/428.PDF

วรัฏรยา หุ่นเจริญ. “โรงเรียนในสมัยรัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 6 (พ.ศ. 2411-2468).”
วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรม บัณฑิตวิทยาลัย
มหาวิทยาลัยศิลปากร. เข้าถึงเมื่อ 12 สิงหาคม 2564, จาก  http://www.thapra.lib.su.ac.th/objects/thesis/fulltext/thapra/Varatraya_Hunchareon/fulltext.pdf

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *