วัฒนธรรมทวารวดี…ที่มาแห่งผ้าทอรัตนโกสินทร์

เกริ่นนำ
นครปฐมเป็นเมืองโบราณที่นักวิชาการส่วนใหญ่ลงความเห็นว่า น่าจะเป็นเมืองหลวงของรัฐทวารวดีในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๓ – ๑๖ (ผาสุข อินทราวุธ, ๒๕๔๒: ๑๐๑) ซึ่งนอกจากบทบาทในการเป็นเมืองหลวงของรัฐแล้ว สันนิษฐานว่าน่าจะมีฐานะเป็นเมืองท่าสำคัญ เนื่องจากเมืองนครปฐมโบราณตั้งอยู่ใกล้ทะเลมีทางน้ำเข้าออกฝั่งทะเลโดยตรง (ผาสุข อินทราวุธ, ๒๕๔๕: ๓๐) และยังพบว่าเมืองนครปฐมโบราณมีบทบาทเป็นศูนย์กลางทางพระพุทธศาสนาของอาณาจักรทวารวดีในยุคหลัง (ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๓ – ๑๖) โดยพบหลักฐานด้านศิลปกรรมเนื่องในพุทธศาสนาจำนวนมาก และมีรูปแบบที่งดงามกว่าที่เคยพบในเมืองโบราณสมัยทวารวดีแห่งอื่นๆ เช่น พระพุทธรูปประทับเหนือพนัสบดี ฐานศิลาจำหลักภาพพุทธประวัติตอนแสดงธรรม ธรรมจักรศิลาขนาดใหญ่ที่สุดที่พบในประเทศไทย (ผาสุข อินทราวุธ, ๒๕๔๒: ๑๐๑)

วัฒนธรรมรังสรรค์…ส่องนำศิลปกรรม
งานศิลปกรรมทวารวดีซึ่งพบเป็นจำนวนมากในเมืองนครปฐมโบราณนั้น ล้วนสะท้อนให้เห็นถึงความรุ่งเรืองของวัฒนธรรมทวารวดี ณ ดินแดนแห่งนี้ แม้ภาพแห่งความรุ่งเรืองนั้น ในเบื้องปัจจุบันจะคงถูกเก็บงำไว้เพียงเพื่อจัดแสดงในรูปของโบราณวัตถุ ในพิพิธภัณฑสถาน แต่ก็เป็นสิ่งที่น่าชื่นชมยินดียิ่ง เมื่อความงดงามแห่งวัฒนธรรมนั้นได้กลับฟื้นคืนชีวิตร่วมยุคสมัย

โดยนางสาวสุรีรัตน์ ตั้งพรประเสริฐ ครูผู้สอนในกลุ่มสาระ-การเรียนรู้ศิลปะ ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองหัวหน้าหมวดวิชาศิลปะ โรงเรียนราชินีบูรณะ จังหวัดนครปฐม ผู้ซึ่งเล็งเห็นคุณค่าในงานทัศนศิลป์อันเป็นมรดกทางวัฒนธรรมภูมิปัญญาของท้องถิ่น และได้จัดกิจกรรมการเรียนการสอนในรายวิชา-ทักษะศิลปะท้องถิ่น (ศ ๓๓๒๑๒) โดยศึกษาค้นคว้าหาความรู้ วิเคราะห์หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน วิเคราะห์ภูมิปัญญาท้องถิ่น ผสมผสานกับหลักการ วิสัยทัศน์ พันธกิจ ตลอดจนนโยบายของโรงเรียน นำมาจัดทำแผนการเรียนด้วยกระบวนการเรียนรู้ที่หลากหลายเพื่อพัฒนาผู้เรียนให้เกิดคุณลักษณะอันพึงประสงค์

จากวิสัยทัศน์ในเชิงวัฒนธรรมของคุณครูสุรีรัตน์ นอกจากจะส่งผลต่อดีการศึกษาขั้นพื้นฐานของกลุ่มสาระการเรียนรู้ศิลปะ
ซึ่งได้บูรณาการการเรียนรู้วิชาการด้านทัศนศิลป์โดยสอดคล้องกับเรื่องราวของท้องถิ่น เป็นการสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ผู้เรียน ให้เห็นถึงคุณค่าความสำคัญและความงามของศิลปวัฒนธรรมในท้องถิ่น และยังสามารถนำไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อตนเองและสังคมแล้ว ยังส่งผลดีแก่ทางโรงเรียนราชินีฯ ในการแจ้งจดลิขสิทธิ์ผลงานลายทวารวดีต่อกรมทรัพย์สินทาง จึงมิเป็นการเกินเลยหากจะกล่าวว่าคุณครูสุรีรัตน์ เป็นแบบอย่างที่ดีสำหรับบุคคลากรทางการศึกษาและประชาชนทั่วไป ในแง่ของการอนุรักษ์เผยแพร่ลวดลายและศิลปวัฒนธรรมทวารวดี ภายใต้การสนับสนุนและส่งเสริมให้มีการเผยแพร่สู่ชุมชนโดยโรงเรียนราชินีบูรณะ จนสามารถนำไปประยุกต์เป็นพื้นฐานเพื่อการประกอบอาชีพของชุมชน ตลอดจนส่งเสริมให้เกิดประโยชน์ต่อท้องถิ่นและชุมชนโดยเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดนครปฐมได้อีกทางหนึ่ง

ครูสุรีรัตน์ ตั้งพรประเสริฐ ผู้สร้างศิลปะทวารฯ บนผืนผ้า

ประกายคิด “โครงการอนุรักษ์ลายทวารวดี”
เกิดจากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เมื่อคุณครูสุรีรัตน์เข้าร่วมเป็นวิทยากรในกิจกรรม “ลานวัฒนธรรมนำน้องน้อยย้อนรอยอดีต” กับทางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม เมื่อประมาณพุทธศักราช ๒๕๔๗ – ๒๕๔๘ ซึ่งนางอุษา ง้วนเพียรภาค หัวหน้าพิพิธภัณฑ์ในขณะนั้นเป็นผู้จัดทำโครงการ การเข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนั้นทำให้คุณครูมีโอกาสพบปะพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องราวของทวารวดีกับนายไพบูลย์ พวงสำลี ประธานกลุ่มศรีทวารวดี ผู้มีบทบาทสำคัญเกี่ยวข้องในเรื่องของการอนุรักษ์วัฒนธรรมทวารวดีในจังหวัดนครปฐม การพูดคุยในวันนั้นได้จุดประกายความคิดในการอนุรักษ์ลายทวารวดี ซึ่งโดยทัศนะส่วนตัวคุณครูมีความซาบซึ้งและประทับใจในลวดลายทวารวดีอันงดงามวิจิตรบรรจง
ที่พบในจังหวัดนครปฐมต่างจากที่พบในแหล่งอื่นๆ ทั้งคงอยู่คู่บ้านคู่เมืองมายาวนาน แต่ยังไม่เป็นที่รู้จักและแพร่หลายโดยทั่วไปนักจึงเล็งเห็นว่าการถ่ายทอดความงดงามนั้นลงบนผืนผ้า ซึ่งคุณครูมีความสนใจในส่วนของผ้ามัดย้อมนั้นน่าจะเป็นการอนุรักษ์และเผยแพร่ได้ทางหนึ่ง แต่ด้วยข้อจำกัดในความรู้เกี่ยวกับการทอผ้าจึงต้องแสวงหาผู้รู้เพื่อรับการถ่ายทอด ซึ่งก็ได้รับการอนุเคราะห์เป็นอย่างดีจากนางอุษา ง้วนเพียรภาค และผู้ช่วยคือนายมนัสศักดิ์ รักอู่ ผู้คุ้นเคยกับผู้ทอผ้าชาวโซ่งที่อำเภอกำแพงแสน จึงได้พากันไปศึกษาการทำผ้ามัดย้อมของชาวโซ่ง


บุคคลต้นทางในการสร้างศิลปกรรม

การพูดคุยกับชาวบ้านเป้าหมายพบข้อจำกัด ด้วยเขาคุ้นเคยเพียงการทอผ้าลายแตงโมและการมัดย้อม เพื่อทำผ้ามัดหมี่ที่เป็นลายพื้นเมืองในแบบของชาวโซ่งเท่านั้น ไม่สามารถที่จะถอดลายทวารวดี เพื่อการมัดย้อมเป็นผ้าบาติคตามที่คุณครูต้องการศึกษาได้ เมื่อวัตถุประสงค์หลักในการแสวงหาไม่เป็นดั่งคาด คุณครูจึงเบนความสนใจมาสู่การมัดย้อมเพื่อทอผ้ามัดหมี่
ซึ่งชาวบ้านสามารถถ่ายทอดหลักการได้เป็นอย่างดี ทำให้คุณครูสามารถนำความรู้นั้นมาประยุกต์กับความรู้ในวิชาศิลปะที่คุณครูสอน นำไปสู่เป้าหมายในการสร้างสรรค์ผลงาน โดยการคัดลอกถอดลายจากงานประติมากรรมสู่ลายเส้นในงานจิตรกรรม
และนำมาถอดเป็นลายทวารวดีประยุกต์บนผืนผ้าทอลายมัดหมี่ และผ้าอื่นๆ อีกหลากประเภทและยังต่อยอดไปสู่งานศิลปหัตถกรรมชนิดอื่นๆ อีกด้วย

สิทธิในศิลป์…ทรัพย์สินทางปัญญา
งานผ้าทอลายมัดหมี่ซึ่งครูและนักเรียนโรงเรียนราชินีฯ สร้างสรรค์ขึ้น เป็นการสื่อความหมายและบอกเล่าประวัติความเป็นมาของท้องถิ่น ผ่านการบูรณาการการเรียนรู้วิชาการทางด้านทัศนศิลป์ ก่อให้เกิดความคิดจินตนาการอย่างสร้างสรรค์ โดยใช้ทัศนธาตุและองค์ประกอบตามหลักการด้านทัศนศิลป์ เทคนิค วิธีการรูปแบบใหม่ๆ ตลอดจนกระบวนการสร้างงานที่ถูกต้องตามขั้นตอน แสดงถึงความรู้สึกการรับรู้ในความงามจากประสบการณ์ ที่มีอิทธิพลต่อการสร้างสรรค์ผลงาน โดยการคิดวิเคราะห์สร้างงานจนเป็นที่ยอมรับในเชิงประจักษ์


ลิขสิทธิ์ผลงานลายทวารวดี ๑๒ ลาย

ที่สำคัญเป็นนวัตกรรมใหม่ทางลวดลายที่ไม่เคยปรากฏที่ใดมาก่อนจึงนับเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตน ทางโรงเรียนจึงได้ดำเนินการแจ้งจดลิขสิทธิ์ต่อกรมทรัพย์สินทางปัญญา อันบ่งถึงความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์งานศิลปกรรม ประเภทศิลปะประยุกต์ในผลงานลายทวารวดี จำนวนทั้งสิ้น ๑๒ ลาย เมื่อวันที่ ๒๑ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๕๐ ทั้งนี้เพื่อให้เป็นสมบัติส่วนรวมเพื่อการศึกษา นอกเหนือจากนั้นยังประสงค์ให้เป็นเอกลักษณ์ส่วนหนึ่งที่สำคัญของวัฒนธรรมทวารวดีในจังหวัดนครปฐมเป็นสมบัติของชาติสืบไป

๑๒ ลายรังสรรค์ นวัตกรรมจากภูมิปัญญา
ในการประดิษฐ์คิดค้นลายทวารวดีประยุกต์ โดยครูและนักเรียนโรงเรียนราชิณีฯ นั้น มีลวดลายที่เกิดขึ้นอย่างหลากหลาย แต่ลวดลายที่ผ่านการพิจารณาคัดกรองและนำไปสู่การแจ้งจดลิขสิทธิ์ต่อกรมทรัพย์สินทางปัญญา มีเพียง ๑๒ ลาย คือ

ลายราชาวดี (มีรูปกวางนั่งอยู่ที่เชิงผ้า)

ลายข้าวหลามตัดก้านขด (มีรูปกวางยืนอยู่ที่เชิงผ้า)

ลายคลื่นน้ำ (มีรูปกวางนั่งอยู่ที่เชิงผ้า)

ลายก้านขด (มีรูปกวางยืนอยู่ที่เชิงผ้า)

ลายช่อแก้ว (มีรูปกวางยืนอยู่ที่เชิงผ้า)

ลายบัวสวรรค์ (มีรูปกวางนั่งอยู่ที่เชิงผ้า)

ลายก้ามปู (มีรูปกวางนั่งอยู่ที่เชิงผ้า)

ลายคนแคระ (มีรูปกวางนั่งอยู่ที่เชิงผ้า)

ลายก้นหอย (มีรูปกวางยืนอยู่ที่เชิงผ้า)

ลายหัวใจรักร้อย

ลายข้าวหลามตัดสลับดอก (มีรูปกวางยืนอยู่ที่เชิงผ้า)

ลายกงก้านขด (มีรูปกวางยืนอยู่ที่เชิงผ้า)

ลายหลักคู่ลายทวารวดี
ผ้าลายทวารวดีซึ่งเกิดจากการเรียนการสอนในกลุ่มสาระการเรียนรู้ศิลปะของโรงเรียนราชินีบูรณะนั้น เป็นลวดลายที่ประยุกต์สร้างขึ้นใหม่และมีความหลากหลาย หากมิได้มีการบอกกล่าวก็ยากที่จะทราบได้ว่า ผ้าลายใดเป็นผ้าลายทวารวดีที่สร้างสรรค์โดยโรงเรียนราชินีบูรณะ จึงได้มีการคิดสร้างลายกวาง ให้เป็นลายหลักคู่ลายทวารวดี เพื่อเป็นการแสดงลายเอกลักษณ์เฉพาะของโรงเรียน


ลายกวาง…ลายหลักคู่ลายทวารวดี

ที่มาของการใช้กวางซึ่งเป็นสัตว์ที่มีความสง่างามอยู่ในตนเองมาเป็นลายหลักคู่ลายทวารวดี เนื่องจากลวดลายต่างๆ ในศิลปกรรมสมัยทวารวดีเป็นศิลปกรรมเนื่องในพุทธศาสนาซึ่งพระพุทธเจ้า ผู้ทรงตรัสรู้ธรรมเป็นองค์พระศาสดาและพระองค์ทรงแสดงพระธรรมเทศนาครั้งแรกคือ ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร เป็นปฐมเทศนาแก่ปัญจวัคคีย์ ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ซึ่งเป็นสถานที่อภัยทานแก่สัตว์มาตั้งแต่ครั้งก่อนพุทธกาลในสมัยที่พระพุทธเจ้ายังบำเพ็ญบารมีเสวยพระชาติเป็นพญากวางโพธิสัตว์ ซึ่งในมิคราชชาดก ได้กล่าวถึงการที่ทรงสละชีวิตพระองค์ให้พระราชาในเมืองนั้นแทนกวางสองแม่ลูก ทำให้พระราชาทรงเลื่อมใสในคุณธรรมของพญากวาง จึงทรงปล่อยไป และประกาศให้เขตป่านั้นเป็นสถานที่อภัยทานและเป็นที่อยู่อาศัยของกวางตลอดมา

ทั้งนี้การพบธรรมจักรกับกวางหมอบอันเป็นสัญลักษณ์แห่งการตรัสรู้และการปฐมเทศนานั้น เป็นหลักฐานสำคัญที่บ่งถึงความเจริญของพุทธศาสนาสมัยทวารวดีที่จังหวัดนครปฐม จึงเป็นเหตุให้นำลายกวางในอิริยาบถต่างๆ มาแทรกลงบนผืนผ้าทอสลับกับลายทวารวดีบริเวณเชิงผ้าและบริเวณอื่นๆ

บุคคลภูมิปัญญาหลังผืนผ้า
ศิลปกรรมประยุกต์ผ้าทอลายทวารวดีนี้ เป็นผลงานการคิดวิเคราะห์สร้างงานซึ่งเกิดจากบูรณาการการเรียนการสอนด้วยเรื่องราวของท้องถิ่น อย่างไรก็ตามการเรียนการสอนและลงมือปฏิบัติเพียงในชั้นเรียน ย่อมไม่พอเพียงแก่เวลาในการผลิตผืนผ้า อีกทั้งทักษะของผู้สอนและผู้เรียนในเรื่องเกี่ยวกับกระบวนการทอผ้านั้น ยังต้องอาศัยระยะเวลาในการสร้างความชำนาญ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องอาศัยบุคคลภูมิปัญญา ในด้านการทอผ้าเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ ตลอดจนผลิตชิ้นงานอันทรงคุณค่าควรคู่ในทรัพย์สินทางปัญญา อันได้มาซึ่งลิขสิทธิ์ในผลงานลายทวารวดี ๑๒ ลาย ซึ่งได้รับการอนุเคราะห์เป็นอย่างดี
จากบุคคลภูมิปัญญาด้านการทอผ้า ๒ ท่านคือ

นายวิทยา มียอด ผู้นำชุมชนบ้านสะแกราย และสมาชิกกลุ่มทอผ้าพื้นเมืองชุมชนสะแกราย มีที่ทำการกลุ่ม ณ ศูนย์ทอผ้า (ไททรงดำ) เลขที่ ๑ หมู่ ๙ ตำบลดอนยายหอม อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม ซึ่งได้ให้ความรู้และเป็นแหล่งฝึกฝนการทอผ้าแก่คณะครูและนักเรียนโรงเรียนราชิณีฯ


ศูนย์ทอผ้า (ไททรงดำ) บ้านสะแกราย

และบุคคลภูมิปัญญาอีกท่านหนึ่งคือ นางสาวมา รอดเจริญพันธ์ ประธานกลุ่มทอผ้าพื้นเมืองตำบลไผ่หูช้าง มีที่ทำการกลุ่ม ณ เลขที่ ๔๙ หมู่ ๕ ตำบลไผ่หูช้าง อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม ผู้มีส่วนสำคัญในการผลิตผ้าทอลายทวารวดีและส่งเข้าประกวดตามโครงการคัดสรรสุดยอดหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภันฑ์ไทย ปี ๒๕๔๙ ของจังหวัดนครปฐม และได้รับการคัดสรรเป็นผลิตภัณฑ์ OTOP ระดับ ๔ ดาว ประเภทผ้า เครื่องแต่งกาย ผลิตภัณฑ์ผ้าทอมัดหมี่ ไหมประดิษฐ์ ผ้าซิ่นลายแตงโม


นางสาวมา รอดเจริญพันธ์ กับรางวัลผลิตภัณฑ์ OTOP ๔ ดาว
และตัวอย่างลายทวารวดีบนซิ่นลายแตงโม

จากปฏิมากรรม สู่จิตรกรรม สร้างสรรค์เป็นผ้าทอ
งานศิลปกรรมทวารวดีที่ใช้เป็นต้นแบบเพื่อประดิษฐ์เป็นลวดลายบนผืนผ้าประเภทต่างๆ นั้น โดยรวมเป็นลวดลายที่ปรากฎอยู่บนงานปฏิมากรรมซึ่งเป็นโบราณวัตถุ ดังนั้นจึงต้องทำการคัดลอกถอดลายจากโบราณวัตถุเหล่านั้น ให้เป็นลายเส้นในลักษณะของงานจิตรกรรม แล้วจึงนำผลงานลายเส้นจิตรกรรมนั้นไปประยุกต์สร้างสรรค์ให้เป็นลวดลายใหม่เพื่อใช้ในงานผ้าทอกระบวนการต่างๆ นี้ ช่วยทำให้ผู้เรียนได้มีโอกาสสัมผัสเรียนรู้ เข้าใจ และมองเห็นในคุณค่าความงามของศิลปกรรมดั้งเดิม และสามารถนำมาปรับประยุกต์สร้างสรรค์ เป็นผลงานภูมิปัญญาใหม่ให้แก่ท้องถิ่น ซึ่งมีส่วนสำคัญยิ่งในการช่วยส่งเสริมให้เกิดการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมของท้องถิ่นโดยการเผยแพร่ไปสู่ชุมชนในวงกว้างยิ่งขึ้น

การคัดลอกถอดลายทวารวดีเพื่อสร้างลายมัดหมี่ มีขั้นตอนคือ
• ศึกษาลายสมัยทวารวดี โดยเลือกศึกษาจากโบราณวัตถุ หนังสือ หรือ อินเตอร์เน็ต
• เลือกภาพที่ต้องการ

• ร่างภาพลายเส้นรอบนอกตามที่เห็นด้วยหลักการของงานจิตรกรรม

• สร้างตารางกราฟด้วยกระดาษ A4 โดยแบ่งเป็นช่องเล็กๆ
ช่องละประมาณ ๐.๕ ซ.ม. x ๐.๕ ซ.ม.แต่ละช่องแทนลำหมี่ ๑ ลำ
ความยาวของกระดาษกราฟ คือ ความยาวของลำหมี่
ความกว้างของกระดาษกราฟ คือ จำนวนลำหมี่ จำนวนลำมัดหมี่ที่นิยม
เช่น ๒๕, ๓๑, ๓๗, ๔๑, ๕๑ เป็นต้น ลำหมี่ ๑ ปอย เมื่อนำไปทอจะได้ผ้า ๑ ผืน (๒ หลา)

• นำภาพที่ร่างด้วยลายเส้นรอบนอกคัดลอกลงไปบนตารางกราฟ

• กากบาท หรือระบายทึบ ลงในช่องตารางกราฟตามภาพที่ร่างลายเส้นรอบนอกไว้
ปรากฏเป็นลายมัดหมี่ เพื่อนำไปใช้กำหนดในการมัดลำหมี่

• นอกจากนี้ยังมีการประยุกต์ลาย ทำได้โดยการนำลายที่เกิดจากการสร้างสรรค์
มาประยุกต์เข้าด้วยกันเกิดเป็นลายใหม่ๆ หรือลายตามจินตนาการ

อุปกรณ์ในการมัดหมี่
• ม้ามัดหมี่
• แบบลายมัดหมี่ที่ออกแบบและถอดแบบลงบนตารางกราฟแล้ว
• เชือกฟาง
• กรรไกร
• เหล็กสอดมัดหมี่

ขั้นตอนในการมัดหมี่
• นำปอยมัดหมี่มาขึงบนม้ามัดหมี่
• นำเชือกจากปอยมัดหมี่สอดเข้าไปในหลักหมี่ข้างไดข้างหนึ่ง ผูกกลุ่มมัดหมี่ไว้เป็นวง
โดยระวังไม่ให้หมี่หลุดออกจากกันและใช้เป็นหูหิ้วจับเพื่อนำไปย้อมสี และจะถอดฝ้ายมัดหมี่ออกเมื่อนำไปทอ
• มัดหมี่ด้วยเชือกฟางจนครบหลักหมี่ ตามลวดลายในแบบจากตารางกราฟจนถึงเชิงผ้า
โดยอาจจะมัดจากด้านบนลงล่างหรือมัดจากล่างขึ้นไปด้านบน
หรืออาจจะเริ่มจากตรงกลางก่อนแล้วจึงขยายออกไปให้เต็มหลักหมี่ก็ได้
• เริ่มต้นมัดปลายเชือกกับลูกหมี่ แล้วจึงพันปลายอีกข้างหนึ่งซ้อนทับให้แน่น เพื่อไม่ให้สีย้อมซึมเข้าข้อหมี่
เมื่อพันทับกันไปจนได้ความยาวตามแบบลายมัดหมี่แล้ว จึงมัดปลายเชือกกับลูกหมี่ให้แน่น
โดยเหลือปลายเชือกไว้เพื่อให้สามารถแก้เชือกมัดออกได้ง่าย
• มัดลูกหมี่ในแต่ละลำด้วยวิธีเดียวกันไปจนหมดตามแบบลายที่ถอดลงในกระดาษกราฟ
• การที่ลายหมี่จะเล็กหรือใหญ่ ขึ้นกับการมัดลูกหมี่ในแต่ละลำหมี่ หากมัดลูกหมี่กว้างลายก็จะขยายใหญ่
หากมัดลูกหมี่แคบลายก็จะเล็กลง
• เมื่อมัดลายตามแบบในกระดาษกราฟเสร็จเรียบร้อยแล้ว ถอดปอยมัดหมี่ออกจากม้ามัดหมี่
และนำไปย้อมสีตามต้องการในขั้นต่อไป

การย้อมสีมัดหมี่
มีอุปกรณ์ คือ เตา หม้อต้ม กะละมัง ที่คีบผ้า และสีตามแบบที่ออกไว้

ขั้นตอนในการย้อมสีมัดหมี่
• กำหนดสีของผืนผ้าที่ต้องการ
• กำหนดสีของลายตามลวดลายในแบบจากตารางกราฟว่าต้องการสีอะไรบ้าง
• เชือกฟางที่มัดลูกหมี่ในแต่ละลำหมี่ จะป้องกันไม่ให้สีซึมเข้าไปในปอยไหมในจุดที่มัด
หากต้องการให้ไหมบริเวณใดเป็นสีใดเมื่อจะย้อมสีนั้นก็จะต้องแกะเชือกบริเวณที่ต้องการออก
เมื่อย้อมสีนั้นแล้วก็ต้องมัดเชือกฟางกลับคืนในจุดนั้นเพื่อกันไม่ให้สีที่ไม่ต้องการซึมเข้าไปผสม
• ในการย้อมสีมัดหมี่จะต้องย้อมสีอ่อนก่อน แล้วจึงย้อมสีเข้มภายหลัง เช่น
ต้องการผ้าลายสีเหลืองก็ต้องนำไปย้อมสีเหลืองก่อนแล้วจึงนำไปย้อมสีอื่นๆ ที่มีความเข้มขึ้นที่ละลำดับ
เพราะหากนำไปย้อมสีเข้มก่อน เช่น ย้อมสีน้ำเงินแล้วนำมาย้อมสีเหลือง
ก็จะไม่ได้ผ้าสีเหลืองเพราะสีจะผสมกันเป็นสีเขียวตามหลักการผสมสี
• เมื่อนำผ้าไปย้อมสีอ่อน เช่น ย้อมสีเหลืองแล้ว หากต้องการให้บริเวณใดยังคงเป็นสีเหลือง
ก็ต้องนำเชือกฟางมัดกันลูกหมี่ในลำมัดหมี่บริเวณสีเหลือง ไปตามลำดับสีในแบบลายที่ถอดลงในกระดาษกราฟ
เมื่อเสร็จแล้วจึงนำไปย้อมสีเข้มต่อไป

วิธีการย้อมสี (ตัวอย่างการย้อม เหลือง – น้ำเงิน)
๑. ตั้งน้ำประมาณ ๒ ลิตร ต่อสีเหลือง ๑ ซอง ต่อมัดหมี่ ๑ ปอย ต้มให้เดือด
๒. นำปอยมัดหมี่ ลงต้มนานประมาณ ๒๐ – ๓๐ นาที
๓. ขณะต้มต้องพลิกหรือกลับปอยมัดหมี่ไปมาเพื่อให้สีซึมเข้าไปในเส้นไหมอย่างทั่วถึง
และต้องระวังเชือกที่สอดในช่วงหลักหมี่ข้างใดข้างหนึ่งที่ผูกกลุ่มมัดหมี่เป็นวงไว้ไม่ให้หมี่หลุดออกจากกัน
โดยใช้เป็นหูหิ้วสำหรับจับนำไปย้อมสี
๔. เมื่อย้อมเรียบร้อยและทิ้งปอยมัดหมี่ไว้จนเย็นแล้ว นำใส่ภาชนะไปล้างจนน้ำใสไม่มีสีตกผสมในน้ำ
๕. นำปอยมัดหมี่ขึ้นผึ่งลมทิ้งไว้ให้แห้ง จะได้เส้นไหมเป็นสีเหลืองหมด
๖. นำไหมมัดหมี่ไปขึงบนม้ามัดหมี่แล้วใช้เชือกฟางมัดลูกหมี่ ตามลายที่ถอดลงในกระดาษกราฟ
ให้เสร็จเรียบร้อยเพื่อมัดเก็บลายให้เป็นสีเหลือง
๗. หลังจากนั้นนำไปย้อมสีน้ำเงินต่อไป โดยใช้ขั้นตอนเช่นเดียวกับ ๑ – ๕
๘. เสร็จเรียบร้อยแล้วจึงนำไปทอเป็นผืนผ้าได้ตามต้องการ

ลองผิด…ลองถูก…ปลูกชำนาญ
การที่คุณครูพยายามค้นหาบุคคลที่จะถ่ายถอดภูมิปัญญาในการมัดย้อมและทอผ้าแต่ไม่ประสบความสำเร็จนั้น ก็มิได้ทำให้กำลังใจของคุณครูถดถอย หากแต่ยังคงมีความพยายามโดยนำหลักการที่เรียนรู้จากชาวบ้านมาลองทำในระยะแรกๆ ของการสร้างชิ้นงาน จึงมีข้อผิดพลาดให้ได้เรียนรู้เทคนิคกระบวนการเกิดประสบการณ์ใหม่ๆ ตลอดเวลา


ผลงานมัดย้อมและทอระยะแรกกับการลองผิดลองถูก

จาก ๑ เป็น ๒..๓..๔..ไม่มีสิ้นสุด ขอเพียงคิด
นอกจากประสบการณ์ที่พอกพูนเพิ่มขึ้นตามระยะเวลา ผนวกกับความไม่หยุดนิ่งเพียงผืนผ้าทอลายทวารวดี คุณครูสุรีรัตน์ยังคงสร้างสรรค์ผลงานผ้าชนิดอื่นๆ อีกหลากประเภท อาทิ ผ้าจก ผ้าเขียนลายบาติค ผ้าปักลายด้วยมือ ผ้าปักครอสติช ลายปักเสื้อ ผ้าคลุมไหล่ ผ้าเช็ดหน้า ผ้าปูโต๊ะ


ผ้าจก


ผ้าเขียนลายบาติค และเสื้อปักตกแต่ง

 


ผ้าปักลายด้วยมือ ผ้าปักครอสติช และชุดผ้าไทยลายทวารฯ ของนักเรียนโรงเรียนราชิณี

นอกจากนี้ยังต่อยอดไปสู่งานศิลปหัตถกรรมชนิดอื่นๆ เช่น พรม ที่คั่นหนังสือ หน้ากากแฟนซี ถุงหอม บรรจุภัณฑ์กระดาษ งานหล่อปูนปั้นหน้าบุคคลเป็นของที่ระลึก ซึ่งงานประดิษฐ์เหล่านี้ล้วนแสดงออกด้วยลวดลายหรือรูปแบบที่บ่งบอกถึงความเป็นทวารวดีได้อย่างมีเอกลักษณ์และงดงาม


ศิลปหัตถกรรมชนิดหลากชนิด


พรมหลากสีสรรลวดลายทวารวดี

เห็นผลงานสร้างสรรค์ ซึ่งคุณสุรีรัตน์ ตั้งพรประเสริฐ ครูผู้สอนในกลุ่มสาระการเรียนรู้ศิลปะ แห่งโรงเรียนราชินีบูรณะ และบรรดาเหล่าลูกศิษย์ลูกหาที่ผลัดเวียนเรียนวิชากันรุ่นสู่รุ่นเช่นนี้ ก็ให้มีความหวังเล็กๆ ว่า อนาคต…หากเส้นใยที่คุณครูกำลังขมักเขม้นคิดค้นประดิษฐ์สำเร็จเป็นผล จังหวัดนครปฐมของเราจะมีผลิตภัณฑ์ผ้าที่เป็นเอกลักษณ์ ที่บอกได้เต็มปากเต็มคำว่าเป็น “ผ้าทวารวดีครบวงจร” เลยทีเดียว

——————————————————–

ข้อมูลอ้างอิง

  • ผาสุข อินทราวุธ.  (๒๕๔๒).  ทวารวดี: การศึกษาเชิงวิเคราะห์จากหลักฐานทางโบราณคดี.  กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์อักษรสมัย.
  • ผาสุข อินทราวุธ.  (๒๕๔๕).  “เมืองนครปฐมในสมัยทวารวดี.”  ใน เอกสารประกอบโครงการสัมมนาทางวิชาการเรื่อง ลุ่มน้ำท่าจีนถิ่นวัฒนธรรม แหล่งสำคัญทวารวดีศรีอาณาจักร เอกลักษณ์งานศิลป์ถิ่นสนามจันทร์, ๑๕ – ๓๘. นครปฐม: สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยศิลปากร.
  • สุรีรัตน์ ตั้งพรประเสริฐ. (๒๕๔๘) เอกสารประกอบการเรียนรู้ วิชาทักษะทัศนศิลป์ของกลุ่มสาระการเรียนรู้ศิลปะ ในระดับช่วงชั้นที่ ๓ รายวิชาทักษะศิลปะท้องถิ่น (ศ๓๓๒๑๒) ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๓ โรงเรียนราชินีบูรณะ
    จังหวัดนครปฐม.
    นครปฐม: โรงเรียนราชินีบูรณะ.
  • สัมภาษณ์ สุรีรัตน์ ตั้งพรประเสริฐ. ๒๑ ธันวาคม ๒๕๕๕.

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *