เอ้อระเหยลอยมา ขอถามว่าเพลงพวงมาลัย
แต่แรกเริ่มเดิมที  เพลงเกิดมีขึ้นที่ไหน

บทร้องและภาพประกอบดังแสดงในเบื้องต้นนี้ เชื่อว่าหลายๆ ท่าน ที่อยู่ในรุ่นราวคราวเดียวกัน คงจะยังเคยคุ้นเสนาะเสียงและพอจะเลาๆ ในมโนฯ ได้


แบบเรียนภาษาไทย เล่ม ๒ ชั้นประถมปีที่ ๔

บทและภาพนั้นเป็นส่วนหนึ่งของ “แบบเรียนภาษาไทย เล่ม ๒ ชั้นประถมปีที่ ๔” ของกรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ
ซึ่งดิฉันเคยใช้เป็นแบบเรียนเมื่อราวพุทธศักราช ๒๕๑๕ ความจดจำในบทอาขยาน บทกลอนที่ร่ำเรียนในสมัยเยาว์วัยนั้น
ดิฉันเชื่อว่านักเรียนไทยในครั้งเก่าโดยส่วนใหญ่ยังคงจดจำกันได้ดี แต่จะจำได้หมด จำได้ครบ จำได้สมบูรณ์ มาก น้อย ก็ขึ้นกับปัจจัยของแต่ละบุคคล

สำหรับดิฉันยอมรับตามตรงว่า สำหรับเพลงพวงมาลัยนี้ จำได้แค่บาทแรก ประมาณว่า เอ้อระเหยลอยมา ขอถามว่าเพลงพวงมาลัย แล้วว่าไรต่อไป จำเนื้อไม่ได้ดอกเอย…..

อันที่จริงว่าไปแล้วเพลงพื้นบ้านของไทยนั้น มีอยู่มากมายและยังแทรกซึมอยู่ในวิถีชีวิตของคนไทย (รุ่นเก่า) ตัวอย่างที่ใกล้ชิดสุดก็น่าจะเป็นเพลงกล่อมเด็ก เพลงประกอบการละเล่นของเด็ก เช่น จันทร์เจ้า แมงมุม รีรีข้าวสาร เป็นต้น เพลงเหล่านี้อาจเรียกได้ว่าเป็นเพลงร้องเล่น เพื่อให้เกิดความสุข สนุกสนานสำหรับเด็กๆ แต่ก็ใช่ว่าเพลงร้องเล่นของผู้ใหญ่จะไม่มี
เพราะคนไทยรักสนุกอารมณ์ดีทั้งยังเจ้าบทเจ้ากลอน

เพลงพื้นบ้านหรือเพลงร้องเล่นของผู้ใหญ่นั้น มีหลากชนิด หลากรูปแบบ และร้องเล่นในวาระโอกาสที่ต่างกัน บางชนิดร้องเมื่อเข้าสู่ฤดูกาลในการประกอบอาชีพ เช่น ฤดูกาลเก็บเกี่ยว บางชนิดร้องเมื่อมีเทศกาล งานรื่นเริง หรืองานมงคลต่างๆ เช่น ลอยกระทง สงกรานต์ งานบวช และเพลงพื้นบ้านอีกจำนวนไม่น้อยที่ร้องเล่นเพื่อความบันเทิงโดยไม่จำกัดโอกาส

ในแต่ละภูมิภาคล้วนมีเพลงพื้นบ้านตามรูปแบบวัฒนธรรมท้องถิ่นของตน เช่น ภาคเหนือมีเพลงค่าว ขับร้องโต้ตอบเกี้ยวพาราสีกัน มีจ๊อยหรือการขับลำนำในโอกาสต่างๆ  ภาคอีสานก็มีหมอลำ ซึ่งแบ่งออกเป็นหลายชนิด และยังมีเพลงโคราช เพลงลากไม้ เพลงเซิ้ง และเพลงอื่นๆ  ทางภาคใต้ก็มีเพลงเรือ ซึ่งเป็นเพลงเล่นทางน้ำเหมือนเพลงเรือภาคกลาง แต่ต่างทำนองและต่างเนื้อเพลง นอกจากนี้ยังมีเพลงบอก เพลงนา เป็นต้น  ภาคกลางก็เช่นเดียวกับภาคอื่นๆ ที่มีเพลงพื้นบ้านใช้ร้องต่างกรรมต่างวาระโอกาส เช่น เพลงเรือ เพลงอีแซว เพลงฉ่อย ใช้ร้องเพื่อความบันเทิงในเทศกาล เพลงเกี่ยวข้าว เพลงสงคอลำพวน เป็นเพลงที่ใช้ในฤดูกาลแห่งการประกอบอาชีพ นอกจากนี้ยังมีเพลงประกอบพิธีกรรม เพลงกล่อมเด็ก เพลงประกอบการละเล่นต่างๆ

สำหรับเพลงพวงมาลัยนั้นเป็นเพลงร้องเพื่อความบันเทิงที่มีมาแต่โบราณ นิยมเล่นกันทางภูมิภาคตะวันตกของไทยในหลายจังหวัด เช่น สุพรรณบุรี กาญจนบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ รวมทั้งนครปฐม มักใช้ร้องเล่นกันในโอกาสที่มีงานรื่นเริง เช่น ลอยกระทง สงกรานต์ หรืองานมงคลต่างๆ เช่น งานโกนจุก งานบวช ทอดกฐิน และบางท้องถิ่นนำไปร้องประกอบการละเล่นพื้นบ้าน เช่น การเล่นลูกช่วง เป็นต้น

เพลงพวงมาลัยสามารถเล่นได้ทั้งบนบกและในเรือ โดยมากนิยมเล่นบนบก ใช้ลานกว้างๆ เป็นสถานที่เล่น ในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงสถานที่เล่นบ้างตามยุคสมัย บางแห่งมีการนำไปแสดงบนเวที และมักนิยมร้องบทสั้นๆ บทร้องในการเล่นเพลงพวงมาลัยมักเป็นกลอนสด หรือที่เรียกว่าเพลงปฏิพากย์ ซึ่งหมายถึงเพลงที่หญิง-ชาย ร้องโต้ตอบด้วยปฏิภาณไหวพริบ แต่งกันขึ้นสดๆ ขณะที่เล่น ส่วนมากจะเป็นบทร้องเกี้ยวพาราสี มีทั้งที่เป็นเพลงสั้นและเพลงยาว

การเล่นเพลงพวงมาลัยนี้ ผู้เล่นจะมีจำนวนเท่าใดก็ได้ แบ่งเป็นฝ่ายชายและฝ่ายหญิงยืนล้อมกันเป็นวงกลมฝ่ายละครึ่งวง
มีหัวหน้าฝ่ายละหนึ่งคนเรียกว่าพ่อเพลง แม่เพลงผลัดกันร้อง คนที่เหลือคอยปรบมือให้จังหวะ และเป็นลูกคู่ร้องรับฝ่ายของตน โดยเริ่มต้นเล่นฝ่ายพ่อเพลงจะเป็นผู้ร้องเกริ่นก่อน ลูกคู่คอยปรบมือให้จังหวะ แล้วแม่เพลงก็ออกมาร้องแก้ ผลัดกันร้องคนละครั้ง ฝ่ายใดเป็นผู้ร้องจะต้องออกมารำตรงกลางวง ส่วนลูกคู่ก็จะร้องรับเฉพาะวรรคต้นกับวรรคท้ายของตอนจบในฝ่ายตนเท่านั้น  บทร้องเพลงพวงมาลัยมีลักษณะที่เป็นเอกลักษณ์คือ ขึ้นต้นด้วย “เอ้อระเหยลอยมา” และลงท้ายด้วย “เอย”

ข้อมูลจากแบบเรียนภาษาไทยฯ ดังเกริ่นกล่าวนำ กล่าวว่า สภาวัฒนธรรมแห่งชาติได้ประพันธ์บทร้องเพลงพวงมาลัย
และพิมพ์รวมอยู่ในหนังสือชุดการเล่นพื้นเมืองต่างๆ บทร้องดังกล่าวแต่งขึ้นต้น-ลงท้าย ตามลักษณะที่เป็นเอกลักษณ์ของเพลง กล่าวถึงประวัติความเป็นมา โอกาสในการเล่น สถานที่ ตลอดจนผู้เล่น วิธีการเล่น ไว้อย่างกระชับได้ใจความ โดยเริ่มเกริ่นนำด้วยบทไหว้ครู แล้วจึงผลัดกันร้องรับ ถาม-ตอบ ดังนี้

ไหว้ครู
เอ้อระเหยลอยมา   ยกมือวันทาสิ่งศักดิ์สิทธิ์
ไหว้คุณพระรัตนตรัย   และเทพไท้อันมีฤทธิ์
ไหว้คุณบิดรมารดา   ที่เลี้ยงลูกมารอดชีวิต
ทั้งคุณครูบาอาจารย์   ให้ความชำนาญรุ่งเรืองวิทย์
ฉันจะว่าเพลงพวงมาลัย   ขอจงกล่าวได้สมดังจิต
พ่อช่อมะกอกพ่อดอกมะขวิด   ขออย่าให้ติดขัด เอย

ฝ่ายถาม
เอ้อระเหยลอยมา   ขอถามว่าเพลงพวงมาลัย
แต่แรกเริ่มเดิมที   เพลงเกิดมีขึ้นที่ไหน
ร้องในฤดูเทศกาล   หรือพิธีงานอย่างใด
เจ้าช่อมะม่วงพวงลำไย   ขอจงแก้ไขหน่อย เอย

ฝ่ายตอบ
เอ้อระเหยลอยไป   เพลงพวงมาลัยนั้นหรือจ๋า
ทราบว่าแรกเกิดที่เพชรบุรี   การลอยอัคคีในคงคา
เพ็ญเดือนสิบสองลอยกระทง   บูชาองค์พระศาสดา
ผ้าป่ากฐินและตรุษสงกรานต์   หรือคราวมีงานในท้องนา
เจ้าช่อมะกอกเจ้าดอกจำปา   ร้องเล่นกันมานาน เอย

ฝ่ายถาม
เอ้อระเหยลอยเด่น   วิธีเล่นเขาทำอย่างไร
เล่นในเรือหรือเล่นบนบก   ฉันไม่เข้าอกเข้าใจ
ร้องพร้อมกันหรือทีละคน   ขอพ่อหน้ามนแถลงไข
จงเล่าละลอกบอกไป   ให้แจ้งใจหน่อย เอย

ฝ่ายตอบ
เอ้อระเหยลอยพราว   มีพวกหนุ่มสาวข้างละหลายคน
เล่นบนบกล้อมเป็นวงดี   ยืนอยู่กับที่ไม่ต้องเดินวน
คนไหนร้องก็ต้องออกรำ   ให้งามเลอล้ำเลิศล้น
ฝ่ายลูกคู่มีอยู่กี่คน   ต้องรับจนกลับมายืน เอย

เอ้อระเหยในคงคา   ลอยคลอนาวาเรือเทียบกัน
ร้องทีละคนเหมือนกล่าวมา  ลูกคู่รับจ้าเสียงสนั่น
ชายว่าแล้วหญิงว่า   เหมือนเจรจาโต้ตอบฉะนั้น
แต่คนที่ร้องไม่ต้องรำ   เรือเอียงเพลี่ยงพล้ำจะเสียขวัญ
เจ้าช่อมะกอกเจ้าดอกอัญชัน   พอเรือชิดกันชื่นใจ เอย

ฝ่ายถาม
เอ้อระเหยลอยระยับ   ลูกคู่รับอย่างไร

ฝ่ายตอบ
ร้องวรรคต้นก็รับเหมือนร้อง   ให้ความถูกต้องตรงกันไป
แล้วรับวรรคสุดนะพ่อร้อยชั่ง   จะทวนกี่ครั้งก็ทวนได้
แต่ถ้าคนร้องไม่เจนกระชับ   ลูกคู่ต้องรับทุกวรรคไป
เจ้าช่อมะม่วงพวงมะไฟ   ขอจงแจ้งใจเถิด เอย

บทเพลงจากหนังสือเล่มดังกล่าวจบเพียงเท่านี้
และพบว่าในภูมิภาคตะวันตกมีบางท้องถิ่นนำไปร้อง
เช่นเพลงพวงมาลัยของสมุทรสงคราม
เนื้อหาของเพลงทั้งหมดใกล้เคียงของสภาวัฒนธรรมฯ
แต่มีการปรับคำในบางส่วน และสลับลำดับบทร้องของฝ่ายตอบ
จากต้นแบบมาเป็นบทท้ายและร้องพร้อมกัน รวมทั้งเพิ่มเติมบทร้องก่อนบทท้ายอีกหนึ่งบท

บทร้องที่เพิ่มเติมอีกหนึ่งบทก่อนจบท้าย
เอ้อระเหยลอยกว้าง   เชิญว่าตัวอย่างให้ฟังหน่อยเอย

ขึ้นต้นชายถามเปรียบเปรย   ฝ่ายหญิงเฉลยตอบไป
ต่างโต้ตอบวาจา   สรวลเสเฮฮาครึกครื้นฤทัย
ฝ่ายชายเสนออย่างไร   เพื่อนหญิงจะได้สนองตอบถ้อย
เจ้าช่อมะกอกเจ้าดอกคำฝอย   อย่ามัวอ้อยสร้อยเลย เอย

บทร้องที่สลับลำดับจากเดิมมาเป็นบทจบท้ายร้องพร้อมกัน
เอ้อระเหยในคงคา   ลอยคลอนาวาเรือเทียบกัน
ร้องทีละคนเหมือนกล่าวมา   ลูกคู่รับจ้าเสียงสนั่น
ชายว่าแล้วหญิงว่า   เหมือนเจรจาโต้ตอบกัน
แต่คนร้องไม่ต้องรำ   เรือเอียงเพลี่ยงพล้ำจะเสียขวัญ
เจ้าช่อมะกอกเจ้าดอกอัญชัน   พอเรือชิดกันชื่นใจ เอย

เพลงพวงมาลัยในท้องถิ่นภาคตะวันตกนอกจากที่กล่าวนี้ยังมีสำนวนอื่นๆ ดังตัวอย่างจากหนังสือ “เพลงพื้นบ้านภาคกลางและภาคตะวันตก” ดังนี้

สำนวนของนายไสว วงษ์งาม พ่อเพลงชาวศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี ผู้ซึ่งได้รับเกียรติเป็นศิลปินพื้นบ้าน (สาขาเพลงพื้นบ้านภาคกลาง) จากสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ เมื่อ พ.ศ.๒๕๒๕ (ปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว)

เอ้อระเหยลอยมา   ลอยมาก็ลอยไป
(ลูกคู่) เอ้อระเหยลอยมา   ลอยมาก็ลอยไป
รักจะเล่นให้เต้นเข้ามา   พ่อคุณจะช้าอยู่ไย
พวงเจ้าเอ๋ยมาลัย   รักกันไม่ไหวเลย เอย
(ลูกคู่) พวงเจ้าเอ๋ยมาลัยรักกัน   ไม่ไหวเลยเอย
พวงเจ้าเอ๋ยมาลัยรักกัน   ไม่ไหวเลยเอย

สำนวนของนางลี้ สินนอง แม่เพลงชาวจังหวัดสมุทรสาคร

ญ. เอ้อระเหยลอยมา   ลอยมาไม่อยากจะไป
มาถึงจะมาพึ่งพัก   จะให้น้องรักอย่างไร
พวงเจ้าเอยมาลัย   รับรักไม่ได้ซะแล้ว เอย

ช. เอ้อระเหยลอยมา   ลอยมาไม่อยากจะไป
พริกเม็ดมะเขือเม็ด   พี่ไม่ขอเด็ดของใคร
ปากพี่ก็ร้องขอ   ไปเจอเขาห่อสะพายใหญ่
พวงเจ้าเอยมาลัย   รับรักไม่ได้ซะแล้ว เอย

สำนวนของนางแส เมืองเฟือง แม่เพลงชาวโพหัก จังหวัดราชบุรี

เอ้อระเหยลอยมา   ลอยมาแต่ไกลไกล (ซ้ำ)
ฉันเลยตบแต่งกายา   หวีหัวนุ่งผ้าจะไป
โอ้เจ้าพุ่มพวงมาลัย   ฉันรักมานานแล้ว เอย
(เอ้อแม่พวงมาลัยฉันรักมานานแล้วเอย)

เอ้อระเหยลอยมา   ลอยมาแต่ไกลไกล
มาแต่ไหนไม่รู้จัก   จะให้หลงรักพี่อย่างไร
แบกรักกลับไปเสียเถอะ   พ่อนายเพลง เอย (ซ้ำ)

เอ้อระเหยลอยมา   ลอยมาแต่ไกลไกล
พี่แบกรักข้ามเขามา   ไยไม่รับรักเถอะน่าน้องนาง
แม่พวงมาลัย   รับรักฉันไว้เถิด เอย

เอ้อระเหยลอยมา   ลอยมาแต่ไกลไกล
ฉันจะว่าเพลงพวงมาลัย   จะรักน้องคนจนจะเอามรรคผลที่ไหน
พวงเอยพวงมาลัย   รับรักไม่ได้แล้ว เอย (ซ้ำ)

เอ้อระเหยลอยมา   พี่มาแต่ไกลไกล (ซ้ำ)
พี่ก็จนน้องก็จน   เอารักมาปนกันไว้
แม่ช่อดอกใบ   พี่อยากจะได้น้อง เอย
(แม่ช่อดอกใบพี่อยากจะได้น้องเอย)

อยากเขย่อ   ไม่ได้ขย่มพ่อแตงไทย
บัวบอนซ่อนใบ   ถอยหลังกลับไปเถอะ เอย (ซ้ำ)

เอ้อระเหยลอยมา   เจ้าน้องกับพี่มาแต่ไกล (ซ้ำ)
ระทวยเอยน้องอุตส่าห์เอาแลก   ไอ้ผัวก็แยกไปคนละโยชน์ตัวเองเอย
ทีนี้ไม่มีที่จะโทษใคร เอย   ใครผิดสิ่งนี้ที่ทำผิดสิ่งนี้ เอยใคร
ใครถามถึงมีพวกมาหาให้ไปอยู่บ้าน   ไม่มีพวกไปรับเมียใครเล่นชู้
หลงชู้กู่ไม่กลับเอยเมียใคร   หลงชู้กู่ไม่กลับกู่ไม่กลับเอย
สงสารแต่ลูกมานอนฟูกถึงฟาก   จะจับแขนกระชากให้ลุกขึ้นเถอะ

ไอ้หนูอย่านอนมัวเมา   แม่ของเจ้าตามชู้ เออไป
ทิ้งหลังรุงรังเหลือ   ไปทางเหล่าทางเรือถ้วยโถโอชา (ซ้ำ)
ออกบ้านออกเรือนไป   จุดเทียนตามไปถือไต้สูงลอย
จนน้ำตาหยดย้อยลงอยู่เยอะ   อย่ามาสะเออะเลื่อนลอยเข้าหาร้องไห้
น้ำเมาไม่ถามเขาสักหน่อย   ไอ้ลาวน้อยมันบอกว่าไปเหนือ
เมื่อตาม* สามเอยไม่รู้เมียใคร   เมื่อกลาง เอย คืน (ซ้ำ)
พอได้ยินเขาว่าหันหน้ากลับบ้าน   มาถึงทางเห็นลูก
ตรงเข้ากอดอย่าร้องไห้ เอย   สุดยอดคราวนี้แทบจะขาดใจตาย เอย

(* ดิฉันตั้งข้อสังเกตว่าคำ “ตาม” จากหนังสือ อาจมีการบันทึก หรือจำคลาดเคลื่อน เมื่อพิจารณาจากคำร้องในวรรคตามซึ่งบอกเวลา “เมื่อกลางคืน” สันนิษฐานว่าคำ “ตาม” อาจเป็น “ตี” คือ “ตีสาม” ได้หรือไม่ )

สำนวนเพลงพวงมาลัยดังยกตัวอย่างนี้ จะเห็นได้ว่านอกจากจะเป็นการเกี้ยวพาราสีตามแบบฉบับของเพลงแล้ว ในตัวอย่างท้ายๆ ของของนางแส เมืองเฟือง แม่เพลงชาวโพหัก เป็นการบอกเล่าเรื่องราวเชิงชู้สาวซึ่งต่างไปจากการเกี้ยวพาราสีตามปกติ ซึ่งการเล่นเพลงพวงมาลัยนั้น เป็นการเล่นกลอนสดเนื้อหาสาระที่พ่อเพลงแม่เพลงนำมาผูกร้อง จึงอาจหยิบยกจากเรื่องราวรอบตัวตามแต่ประสบการณ์ของแต่ละคน นำมาถ่ายทอดด้วยถ้อยคำภาษาธรรมดาพื้นๆ ฟังเข้าใจง่าย เป็นตัวอย่างของเพลงพื้นบ้านรูปแบบหนึ่ง ที่สะท้อนให้เห็นวิถีการดำเนินชีวิตของผู้คนโดยใสซื่อแบบชาวบ้านๆ

แต่การถ่ายทอดบทเพลงที่มีเพียงการจดจำ ร้องขานสืบต่อกันมาปากต่อปาก มิได้บันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรในรูปแบบวรรณกรรมมุขปาฐะเช่นนี้ นับวันความนิยมจะมีแต่เสื่อมถอย ขาดผู้สนใจสืบทอด การฟื้นฟูก็พอมีให้สัมผัสบ้างจากหน่วยงานที่เล็งเห็นในคุณค่า สภาวะการณ์จึงตกอยู่เพียงการอนุรักษ์ไว้ประหนึ่งแสงเทียนที่รอวันดับ

พ่อเพลง แม่เพลงวัยชรา นับวันมีแต่จะร่วงโรยไปตามอายุขัย จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่เราท่านควรได้ตระหนักและร่วมด้วยช่วยกัน
ไม่ทางใดก็ทางหนึ่งพยุงลมหายใจแก่บทเพลง ก่อนที่ “เพลงพื้นบ้าน” จะคงเหลือทิ้งไว้เพียงตำนานที่มักเลือนหายไปในสายธารแห่งวัฒนธรรมเกิดใหม่ตลอดเวลา

——————————–

ข้อมูลอ้างอิง

กรมวิชาการ.  (๒๕๑๖).  แบบเรียนภาษาไทยเล่ม ๒ ชั้นประถมปีที่ ๔.  กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์คุรุสภา.

ชำเลือง มณีวงษ์. (๒๕๕๐). ประวัติและผลงานของนักเพลงพื้นบ้าน (ตอนที่ 3) รุ่นบรมครู. เข้าถึงเมื่อ ๑๓ กุมภาพันธ์. เข้าถึงได้จาก http://www.gotoknow.org/posts/130501

วารี ยอดครุฑ, ปริญญา แก้วละเอียด และสุขภิญโญ เกิดมีทุน.  (๒๕๕๕).  เพลงพวงมาลัย สมุทรสงคราม.  เข้าถึงเมื่อ ๑๓ กุมภาพันธ์.  เข้าถึงได้จาก http://ich.culture.go.th/index.php/th/ich/performing-arts/236-performance/271—–m-s

สุภักดิ์ อนุกูล และวลัยพร นิยมสุจริต.  (๒๕๔๖).  เพลงพื้นบ้านภาคกลางและภาคตะวันตก.  กรุงเทพฯ: สุวีริยาสาส์น.

อำนวย จิตต์กลาง.  (๒๕๕๕).  ประเพณีไทย: เพลงพื้นบ้าน ความหมาย ประเภท แต่ละภาค.  เข้าถึงเมื่อ ๑๓ กุมภาพันธ์. เข้าถึงได้จาก http://siamtradition.blogspot.com/p/blog-page_9982.html

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *