พระของประชาฯ สังฆราชาผู้ทรงธรรม


สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (เจริญ สุวฑฺฒโน)
๓ ตุลาคม ๒๔๕๖
– ๒๔ ตุลาคม ๒๕๕๖

๑. พระชาติภูมิ

ในเยาว์วัย

เมื่อหนึ่งศตวรรษล่วงมา ในวันศุกร์ ขึ้น ๔ ค่ำ เดือน ๑๑ ปีฉลู เบญจศก จุลศักราช ๑๒๗๕ ตรงกับวันที่ ๓ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๕๖ เวลา ๐๔.๐๐ น. เศษ ณ บ้านรุ่งสว่าง เลขที่ ๓๖๗ ซึ่งตั้งอยู่ถนนปากแพรก ตำบลบ้านเหนือ อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี ดินแดนแห่งลำน้ำแคว ตระกูล “คชวัตร” ได้ให้กำเนิดบุตรชายคนโต ซึ่งในยามนั้นมิมีใครคาดคิดว่าเด็กชายผู้นั้น
ในกาลต่อมาจะได้รับภารกิจอันสำคัญยิ่ง ในฐานะ “สมเด็จพระสังฆราช พระองค์ที่ ๑๙” ผู้ทรงเป็นประมุขสูงสุดของฝ่ายสงฆ์ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์


พระชนก – พระชนนี

สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (เจริญ สุวฑฺฒโน) ทรงมีพระนามเดิมว่า เจริญ คชวัตร เป็นบุตรชายคนโตของพระชนกน้อย คชวัตร ผู้มีเชื้อสายชาวกรุงเก่ากับชาวปักษ์ใต้ ในตระกูล ณ ตะกั่วทุ่ง โดยเป็นบุตรนายเล็กและนางแดงอิ่ม เป็นหลานของหลวงพิพิธภักดีและนางจีน ชาวกรุงเก่าซึ่งมารับราชการในกรุงเทพฯ เดิมนายน้อยเป็นเสมียนตรา และก้าวขึ้นเป็นผู้รั้งปลัดขวา เมื่อพุทธศักราช ๒๔๕๑

ต่อมาได้ลาออกจากราชการเพราะป่วยหนัก เมื่อหายดีแล้วจึงกลับเข้ารับราชการ ในตำแหน่งปลัดขวา อำเภอวังขนาย ท่าม่วง) จังหวัดกาญจนบุรี และย้ายไปรับราชการเป็นปลัดอำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม ภายหลังเกิดเจ็บป่วยจึงกลับเมืองกาญจนบุรี เพื่อรักษาตัวและถึงแก่กรรม เมื่อพุทธศักราช ๒๔๖๕ เมื่ออายุเพียง ๓๘ ปี ส่วนพระชนนีกิมน้อย สกุลเดิม คือ รุ่งสว่าง เป็นช่างตัดเสื้อ มีเชื้อสายญวนและจีน ถึงแก่กรรมเมื่อพุทธศักราช ๒๕๐๘ พระองค์ทรงมีน้องชาย คือ  นายจำเนียร คชวัตร และนายสมุทร คชวัตร ขณะที่พระชนกเสียชีวิตนั้น พระองค์มีพระชันษาเพียง ๙ ปี ครอบครัวลำบากมาก เจ้าพระคุณสมเด็จฯ จึงต้องมาอยู่ในอุปการะของป้ากิมเฮงพี่สาวของพระชนนี


ถนนบริเวณหน้าบ้านเดิมของเจ้าพระคุณสมเด็จฯ (บ้านพระองค์อยู่ด้านขวามือ)

เมื่อทรงพระเยาว์ เจ้าพระคุณสมเด็จฯ มีพระอัธยาศัยค่อนข้างขลาดกลัว ป้ากิมเฮง หรือ ป้าเฮ้ง ซึ่งแม้จะมีสายตาพิการ ก็เฝ้าทะนุถนอมดูแลหลานชายดุจดั่งแก้วตา พระองค์จึงทรงผูกพันธ์ใกล้ชิดกับป้า จนแทบไม่เคยแยกจากกันเลย อีกทั้งทรงมีพระพลานามัยไม่แข็งแรงเจ็บป่วยอยู่เสมอ ครั้งหนึ่งทรงประชวรหนักมาก ผู้ใหญ่ในบ้านจึงบนขอให้หายป่วย และจะให้บวชเป็นสามเณรเพื่อแก้บน แต่เมื่อทรงหายดีแล้วก็ยังมิได้บวชทันทีเนื่องจากยังทรงศึกษาอยู่


วัดถาวรวราราม (วัดญวน หรือ วัดคั้นถ่อตื่อ)

ในละแวกบ้านของพระองค์นั้นแวดล้อมไปด้วยวัด คือ วัดเทวสังฆาราม (วัดเหนือ) วัดไชยชุมพลชนะสงคราม (วัดใต้) และวัดถาวรวราราม (วัดญวน หรือ วัดคั้นถ่อตื่อ) ป้ากิมเฮงและพระชนนีนิยมการไปทำบุญ ฟังเทศน์ฟังธรรมเป็นประจำ ทำให้พระองค์ได้มีโอกาสติดตามเข้าวัดเสมอ โดยเฉพาะในช่วงเข้าพรรษาซึ่งจะมีเทศน์ชาดก เจ้าพระคุณสมเด็จฯ มักเร่งป้าให้ไปวัด
บอกว่า “ไปฟังนิทานกัน” เมื่อพระชันษาได้ราว ๔-๕ ปี ทรงชอบการเล่นที่เกี่ยวกับพระศาสนา เช่น เล่นเป็นพระเทศน์ เล่นทอดผ้าป่า เล่นทิ้งกระจาด การที่ทรงมีชีวิตที่หล่อเลี้ยงด้วยพระธรรมคำสอน ทำให้ทรงเป็นผู้มีจิตใจอ่อนโยน มีความประพฤติเรียบร้อย นอกจากนี้ การที่ทรงเป็นหลานคนโตของตระกูล เจ้าพระคุณสมเด็จฯ จึงมีภาระในการดูแลน้องๆ ด้วยความห่วงใย ตลอดจนเป็นแบบอย่างที่ดีแก่น้องๆ ทุกคนในบ้านมาแต่เยาว์วัย

การศึกษาเล่าเรียน

ทรงเริ่มเข้าเรียนเมื่อพระชันษา ๘ ปี ที่โรงเรียนประชาบาลวัดเทวสังฆาราม ทรงศึกษาจนจบชั้นประถม ๕ (เทียบเท่าชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๑ และ ๒ ในปัจจุบัน) เมื่อพระชันษาประมาณ ๑๒ ปี ในพุทธศักราช ๒๔๖๘ หลังจากนั้นทรงตัดสินพระทัยไม่ศึกษาต่อ เนื่องจากไม่รู้ว่าจะเรียนอะไร  ที่ไหน กอปรกับภายหลังจากเมื่อทรงหายป่วยหนักแล้ว ยังมิได้บรรพชาเพื่อแก้บน


พระครูอดุลยสมณกิจ (ดี พุทธฺโชติ) เจ้าอาวาสวัดเทวสังฆาราม พระอุปัชฌาย์ (ขวา)
และพระครูนิวิฐสมาจาร (เหรียญ สุวณฺณโชติ)
เจ้าอาวาสสวัดศรีอุปลาราม พระอาจารย์ให้สรณะและศีล (ซ้าย)

ดังนั้นเมื่อพุทธศักราช ๒๔๖๙ ขณะมีพระชันษาย่าง ๑๔ ปี น้าชาย คือ น้าแถม และน้าทองดีเตรียมจะบวช พระชนนีและป้ากิมเฮงจึงชักชวนให้เจ้าพระคุณสมเด็จฯ บรรพชาเป็นสามเณร ที่วัดเทวสังฆาราม โดยมีพระครูอดุลยสมณกิจ (ดี พุทธฺโชติ) (ต่อมาได้เป็นพระเทพมงคลรังษี) เจ้าอาวาสวัดเทวสังฆาราม ที่ชาวบ้านปากแพรกเรียกว่า “หลวงพ่อวัดเหนือ” เป็นพระอุปัชฌาย์ และพระครูนิวิฐสมาจาร (เหรียญ สุวณฺณโชติ) เจ้าอาวาสสวัดศรีอุปลาราม หรือ “หลวงพ่อวัดหนองบัว” เป็นพระอาจารย์ให้สรณะและศีล


เจ้าพระคุณสมเด็จฯ เมื่อทรงเป็นสามเณรพรรษาแรกๆ

ระหว่างที่ทรงจำพรรษาแรกที่วัดเทวสังฆารามนั้น ทรงท่องสามเณรสิกขา (ข้อพึงปฏิบัติสำหรับสามเณร) และท่องบททำวัตร สวดมนต์ และปรนนิบัติหลวงพ่อดีผู้เป็นอุปฌาย์ ท่านได้เมตตาต่อเทศน์ หรือที่เรียกว่า “ต่อหนังสือค่ำ” ซึ่งเป็นวิธีสอนกันมาแต่โบราณ โดยท่านจะอ่านเทศน์ให้เณรฟังคืนละตอน เณรก็ท่องจำคำอ่านนั้นไปทุกคืนจนจบกัณฑ์ โดยกัณฑ์ที่ต่อคือ “กัณฑ์อริยทรัพย์” ที่ทรงใช้เวลาไม่นานก็ทรงจำได้แม่นยำ สามเณรเจริญจึงได้ขึ้นเทศก์ปากเปล่าให้โยมฟังในพรรษานั้น และยังทรงบันทึกเทศก์กัณฑ์นี้เก็บไว้ในบันทึกส่วนพระwestweb/wp-content/uploads/2012/01/งค์


บันทึกเทศก์ “กัณฑ์อริยทรัพย์”

ปีรุ่งขึ้น เมื่อพุทธศักราช ๒๔๗๐ หลวงพ่อดีผู้อุปัชฌาย์ ได้นำเจ้าพระคุณสมเด็จฯ มาฝากกับพระครูสังวรวินัย (อาจ) เจ้าอาวาสวัดเสนหา ที่จังหวัดนครปฐม เพื่อศึกษาบาลีไวยากรณ์ โดยตั้งใจจะให้เจ้าพระคุณสมเด็จฯ กลับมาสอนที่วัดเทวสังฆาราม โดยจะสร้างโรงเรียนพระปริญัติธรรมเตรียมไว้


ทรงฉายพระรูปบริเวณทางเข้าวัดเสนหา เมื่อครั้งทรงเป็นสามเณร

เมื่อมาศึกษาที่วัดแห่งนี้ทรงมีผลการเรียนเป็นที่น่าพอใจ ถึงกับได้รับการเอ่ยปากชวนจากพระมหาภักดิ์ ศักดิ์เฉลิม พระอาจารย์เปรียญจากวัดมกุฎกษัตริยาราม กรุงเทพฯ ให้หาโอกาสเรียนต่อในชั้นสูงๆ พร้อมกับได้ติดต่อกับวัดมกุฎฯ ให้
เมื่อความทราบถึงหลวงพ่อดีท่านจึงแจ้งว่า ท่านตั้งใจจะฝากเจ้าพระคุณสมเด็จฯ ไปศึกษาที่สำนักวัดบวรนิเวศวิหารอยู่แล้ว เพราะท่านคุ้นเคยกับสมเด็จพระสังฆราชเจ้ากรมหลวงวชิรญาณวงศ์


อาคารภายในวัดเสนหา จ.นครปฐม

ภายหลังศึกษาที่วัดเสนหาครบพรรษาแล้ว หลวงพ่อดีได้นำเจ้าพระคุณสมเด็จฯ เข้าเฝ้าถวายตัวต่อสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ขณะทรงดำรงสมณศักดิ์ที่สมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ (สุจิตฺโต หม่อมราชวงศ์ชื่น นภวงศ์) เจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร เมื่อเข้ามาอยู่ ณ วัดบวรฯ ทรงรักษาพระวินัยและปฏิบัติตามกฎระเบียบของวัดอย่างเคร่งครัดครบถ้วน จึงทรงได้รับประทานนามฉายาจากสมเด็จพระสังฆราชเจ้าว่า “สุวฑฺฒโน” ซึ่งมีความหมายว่า “ผู้เจริญดี”

นอกจากการศึกษาด้านปริยัติแล้ว ยังสนพระทัยการฝึกสมาธิวิปัสสนากรรมฐาน มาตั้งแต่ยังทรงเป็นพระเปรียญ โดยมีสมเด็จพระสังฆราชเจ้าฯ ทรงเป็นครูพระองค์แรก จากการที่พระองค์รับสั่งให้เข้าเฝ้าและตรัสขึ้นว่า  “กำลังเรียนใหญ่หรือ อย่าบ้าเรียนมากนัก หัดทำกรรมฐานเสียบ้าง”  ระหว่างที่ทรงศึกษาเปรียญธรรม ภายหลังสอบได้เปรียญธรรม ๕ ประโยค ทรงทำหน้าที่สอนพระปริยัติธรรมทั้งแผนกธรรมและแผนกบาลี พร้อมกับศึกษาด้วยพระองค์เอง


สมุดลายพระหัตถ์ ที่ทรงบันทึกภาษาสันสกฤต
ที่ทรงเรียนกับศาสตราจารย์สวามี สัตยานันทปุรี เวทานตประทีป

ขณะที่ทรงเป็นพระเปรียญ ๖ – ๗ ราวพุทธศักราช ๒๔๗๕ มีศาสตราจารย์สวามี สัตยานันทปุรี เวทานตประทีป นักปราชญ์ผู้มีชื่อเสียงชาวอินเดีย ซึ่งมีความแตกฉานในหลักธรรมฮินดู เชี่ยวชาญภาษาสันสกฤตและภาษาอังกฤษ มาเปิดธรรมาศรมบริเวณด้านหน้าวัดบวรฯ เพื่อเป็นศูนย์กลางการเรียนการสอน และแลกเปลี่ยนความรู้ในหมู่ผู้สนใจ พระองค์ก็ได้ทรงหาเวลาว่างจากการเรียนและสอนนักธรรมและบาลีเสด็จไปศึกษาอยู่ราว ๒ ปี จึงเป็นรากฐานให้ทรงศึกษาด้านอื่นๆ ด้วยพระองค์เองต่อมา ทั้งด้านพุทธศาตร์ ภาษาศาสตร์ เช่น ภาษาอังกฤษ ที่ทรงเชี่ยวชาญทั้งการพูด เขียน อ่าน รวมไปถึงภาษาเยอรมัน ฝรั่งเศส จีน และ สันสกฤต


ทรงฉายพระรูปร่วมกับพระภิกษุชาวต่างประเทศที่มาบวช ณ วัดบวรฯ

ความรู้เหล่านี้เมื่อผนวกกับความรู้ทั่วไปที่ทรงให้ความสนพระทัย ความชัดเจน แจ่มแจ้ง ตลอดจนแง่มุมที่ชวนให้คิด จึงสะท้อนผ่านธรรมที่ทรงแสดงรวมถึงผลงานพระนิพนธ์ที่มีอยู่มากมาย การที่ทรงเป็นผู้ใฝ่รู้อยู่ตลอดเวลา ทำให้ทรงเป็นนักการศึกษาระดับแนวหน้าของเมืองไทย อีกทั้งยังทรงรอบรู้แตกฉานรอบด้าน ทั้งปริยัติและปฏิบัติในฐานะภิกษุผู้ทรงปรีชาญาณ


พระรูปซึ่งสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์
พระอุปัชฌาย์ทรงมอบให้พร้อมลายพระหัตถ์เมื่อทรงทำทัฬหีกรรม

ทรงอุปสมบท

ด้วยพระอุปนิสัยเป็นผู้ใฝ่รู้ใฝ่เรียนเจ้าพระคุณสมเด็จฯ ทรงมุ่งมั่นศึกษาพระปริญัติธรรม ณ สำนักวัดบวรฯ เจริญก้าวหน้านับแต่ปีแรกที่เข้ามาอยู่วัดบวรฯ ก็ทรงสอบได้นักธรรมชั้นตรี และสอบเลื่อนชั้นเรื่อยมา จนได้นักธรรมชั้นเอกและเปรียญธรรม ๔ ประโยค


ฉายาบัตรเมื่อทรงอุปสมบท ณ วัดเทวสังฆาราม และเมื่อทรงทำทัฬหีกรรม ณ วัดบวรนิเวศวิหาร

จนเมื่อพระชันษาครบอุปสมบทจึงทรงเดินทางกลับบ้านเกิด เพื่ออุปสมบทกับพระอุปชาฌาย์เดิม ที่วัดเทวสังฆาราม และอยู่จำพรรษาเพื่อช่วยหลวงพ่อสอนพระปริยัติธรรม แล้วจึงทรงกลับมาทำทัฬหีกรรม (อุปสมบทซ้ำ) ที่วัดบวรฯ อีกครั้งภายหลังออกพรรษา เมื่อวันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๔๗๖ โดยสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ (ในขณะนั้นทรงดำรงสมณศักดิ์ที่สมเด็จพระวชิรญาณวงศ์) ทรงเป็นพระอุปัชฌาย์ และพระรัตนธัชมุนี (จู อิสฺสรญาโณ) เป็นพระกรรมวาจาจารย์

๒. บนสายธารทางธรรมแห่งสมเด็จฯ

สู่ร่มกาสาวพัสตร์

๒๔๖๙ พระชันษาย่าง ๑๔ ปี ทรงบรรพชาเป็นสามเณร ณ วัดเทวสังฆาราม จังหวัดกาญจนบุรี
๒๔๗๐ ทรงศึกษาบาลีไวยากรณ์ ณ วัดเสนหา จังหวัดนครปฐม
๒๔๗๒ ทรงสอบได้นักธรรมตรี
๒๔๗๓ ทรงสอบได้นักธรรมโท และเปรียญ ๓ ประโยค
๒๔๗๔ พระชันษา ๑๘ ปี ทรงเป็นสามเณรองค์เดียว ที่ได้รับพระราชทานผ้าไตร
จากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่เสด็จมาทอดกฐิน ณ วัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพฯ
๒๔๗๕ ทรงสอบได้นักธรรมเอก และเปรียญ ๔ ประโยค
๒๔๗๖ พระชันษา ๒๐ ปี ทรงอุปสมบท ณ วัดเทวสังฆาราม จังหวัดกาญจนบุรี และภายหลังออกพรรษา จึงทรงกลับมาอุปสมบทซ้ำอีกครั้ง ณ วัดบวรนิเวศวิหาร และทรงสอบได้เปรียญ ๕ ประโยค ในปีเดียวกันนี้
๒๔๗๗ ทรงสอบได้เปรียญ ๖ ประโยค
๒๔๗๘ ทรงสอบได้เปรียญ ๗ ประโยค
๒๔๘๑ ทรงสอบได้เปรียญ ๘ ประโยค
๒๔๘๔ ทรงสอบได้เปรียญ ๙ ประโยค


เสด็จรับบิณฑบาตรที่พุทธมณฑล


เสด็จเวียนเทียนที่พระปฐมเจดีย์เป็นประจำทุกปี

พระเกียรติในสมณศักดิ์

๒๔๙๐ ทรงเป็นพระราชาคณะสามัญที่ พระโสภณคณาภรณ์ มีความหมายว่า ผู้เป็นอาภรณ์ หรือ เครื่องประดับของหมู่คณะอันงาม
๒๔๙๕ ทรงเป็นพระราชาคณะชั้นราช ในราชทินนามเดิม
๒๔๙๘ ทรงเป็นพระราชาคณะชั้นเทพ ในราชทินนามเดิม
๒๔๙๙ ทรงเป็นพระราชาคณะชั้นธรรมที่ พระธรรมวราภรณ์ มีความหมายว่า ผู้มีธรรมเป็นอาภรณ์ คือ เครื่องประดับอันประเสริฐ ซึ่งเป็นราชทินนามที่ตั้งขึ้นใหม่สำหรับพระราชทานแก่เจ้าพระคุณสมเด็จฯ เป็นรูปแรก
๒๕๐๔ ทรงเป็นพระราชาคณะชั้นเจ้าคณะรองที่ พระสาสนโสภณ มีความหมายว่า ผู้งามในพระศาสนา หรือ ผู้ยังพระศาสนาให้งาม และทรงได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร สืบต่อจากพระพรหมมุนี
๒๕๑๕ ทรงเป็นสมเด็จพระราชาคณะที่ สมเด็จพระญาณสังวร อันเป็นตำแหน่งพิเศษ ที่เกิดขึ้นในยุคกรุงรัตนโกสินทร์ มีความหมายว่า ผู้สำรวมในญาณคือความรู้
๒๕๓๒ ทรงได้รับพระราชทานสถาปนาเป็น สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ในราชทินนามเดิม คือ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ลำดับที่ ๑๙ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์


ทรงรับพระราชทานพัดยศในพระราชพิธีสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช

๓. “สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ” พระนามที่มิได้ทรงใช้

ภายหลังสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (วาสน์ วาสโน) สิ้นพระชนม์ เมื่อพุทธศักราช ๒๕๓๑ เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ทรงได้รับพระราชทานสถาปนาขึ้นดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช ลำดับที่ ๑๙ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ สถิต ณ วัดบวรนิเวศวิหาร พระนามว่า  “สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (เจริญ สุวฑฺฒโน)”  เมื่อวันศุกร์แรม ๑ ค่ำ เดือน ๕ ปีมะเส็งเอกศก จุลศักราช ๑๓๕๑ ตรงกับวันศุกร์ที่ ๒๑ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๓๒ ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยทรงมีพระนามจารึกในพระสุพรรณบัฏ ดังนี้


พระนามจารึกในพระสุพรรณบัฏ

ราชทินนาม “สมเด็จพระญาณสังวร” นี้ ทรงได้รับโปรดเกล้าฯ มาตั้งแต่ครั้งสถาปนาเป็นสมเด็จพระราชาคณะ เมื่อพุทธศักราช ๒๕๑๕ หมายถึง “ผู้สำรวมในญาณคือความรู้” ทั้งนี้สมเด็จพระสังฆราชที่มิได้เป็นพระบรมวงศานุวงศ์นั้น การปฏิบัติสืบมาจะใช้ราชทินนามว่า “สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ” การที่เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ทรงได้รับพระราชทานสถาปนาในราชทินนามเดิมนี้
นับเป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์แรก ที่ได้รับพระราชทานราชทินนามพิเศษเฉพาะพระองค์

ทั้งนี้ราชทินนาม “สมเด็จพระญาณสังวร” แต่เดิมพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงพระราชทานแก่พระเถระผู้ทรงคุณทางวิปัสสนาธุระ โดยพระเถระที่รับพระราชทานพระองค์แรก คือ สมเด็จพระญาณสังวร (สุก) เมื่อครั้งสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช ในพุทธศักราช ๒๓๕๙ หลังจากนั้นไม่ปรากฎพระเถระรูปใดได้รับพระราชทานสถาปนาอีกนานถึง ๑๕๒ ปี

พระองค์ทรงเป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์แรกของไทย ที่มีพระชนมายุมากกว่า สมเด็จพระสังฆราชทุกพระองค์ในอดีต นับตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๑ ถึงรัชกาลที่ ๙ ทรงเจริญพระชนมายุ ๑๐๐ พรรษา เมื่อวันที่ ๓ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๕๖ และที่สำคัญทรงดำรงสมณศักดิ์สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ยาวนานถึง ๒๔ ปี นับว่ามากที่สุดเมื่อเทียบกับสมเด็จพระสังฆราชในอดีตทุกพระองค์ นอกจากนี้ยังทรงดำรงตำแหน่งเจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุต ๒๕ ปี และตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร ๕๒ ปี


ทรงปฏิบัติศาสนกิจ และวัตรปฏิบัติต่างๆ อันเป็นกิจของสงฆ์อย่างเคร่งครัด

๔. พระจริยวัตรอันมั่นคงงดงาม

เมื่อทรงสำเร็จการศึกษาระดับเปรียญธรรม ๙ ประโยค เมื่อพุทธศักราช ๒๔๘๔ แล้ว ทรงรับภารกิจด้านการศึกษาของสำนักเรียนวัดบวรฯ รวมทั้งทรงงานอื่นๆ ในวัดอย่างเห็นผลสม่ำเสมอ จึงได้รับความไว้วางพระทัยจากสมเด็จพระสังฆราช ให้ทรงดำรงตำแหน่งเลขานุการส่วนพระองค์ เมื่อพุทธศักราช ๒๔๘๙ จึงทรงมีโอกาสเรียนรู้งานต่างๆ ทั้งในส่วนงานของคณะสงฆ์ ตลอดจนงานด้านวิปัสสนาธุระ ซึ่งแม้จะทรงมีภารกิจเพิ่มมากขึ้น ก็มิได้ทรงทอดธุระในการอบรมสั่งสอนศิษย์ ในฐานะที่ทรงเป็นพระอุปัชฌาย์ อันเป็นประเพณีปฏิบัติสืบมาในวัดบวรฯ ทั้งยังทรงประทานพระธรรมเทศนา และฝึกปฏิบัติอบรมจิต (สอนกรรมฐาน) แก่พุทธศาสนิกชนเป็นประจำ โดยเปิดโอกาสให้ผู้สนใจเข้าร่วมฟังและปฏิบัติด้วยพระองค์เอง


พระอิริยาบถอันนุ่มนวลอ่อนน้อม เปี่ยมด้วยพระเมตตาแก่คนทุกเพศทุกวัย ในทุกโอกาส

นอกจากพระจริยวัตรที่ทรงแสดงให้ปรากฎในฐานะพระอุปัชฌาย์และในฐานะภิกษุ ผู้วางพระองค์อย่างอ่อนน้อมถ่อมตน สำรวม เคารพเคร่งครัด ในพระธรรมวินัยอย่างเสมอต้นเสมอปลายแล้ว วัตรปฏิบัติอันเป็นกิจในฐานะสงฆ์ ซึ่งเป็นธรรมเนียมปฏิบัติแห่งวัดบวรฯ ที่ต้องทำวัตรเช้า ๘.๐๐ น. และทำวัตรค่ำ ๒๐.๐๐ น. หากเจ้าพระคุณสมเด็จฯ ไม่ทรงมีภารกิจอื่นก็จะเสด็จลงทำวัตรเช้าหรือค่ำ ณ พระอุโบสถสม่ำเสมอ


ทรงเป็นพระอภิบาลเมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงผนวช

ตลอดระยะเวลาที่ทรงปฏิบัติศาสนกิจอย่างเคร่งครัดและครบถ้วน ประจักษ์พยานอีกประการ อันบ่งถึงพระจริยวัตรอันงดงาม คือ การที่สมเด็จพระสังฆราชเจ้ากรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ทรงเลือกให้เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ขณะทรงดำรงสมณศักดิ์ที่โศภณคณาภรณ์ให้เป็นพระอภิบาล (พระพี่เลี้ยง) ของภิกษุพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน เมื่อทรงผนวช ณ วัดบวรฯ
เมื่อวันที่ ๒๒ ตุลาคม – ๕ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๙๙


ทรงเป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระอาจารย์ถวายพระธรรมวินัย
เมื่อครั้งสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงผนวช

และเมื่อทรงดำรงสมณศักดิ์ที่สมเด็จพระญาณสังวร ก็ทรงรับอาราธนาเป็นพระกรรมวาจาจารย์ ตลอดจนทรงทำหน้าที่เป็นพระอาจารย์ถวายพระธรรมวินัย ตลอดระยะเวลาที่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงผนวช ณ วัดบวรฯ เมื่อพุทธศักราช ๒๕๒๑


ทรงประทับอย่างเรียบง่ายบนพื้นหญ้า เมื่อเสด็จทอดพระเนตร
เสาศิลาจารึกพระเจ้าอโศกซึ่งอยู่กลางทุ่งนา ประเทศเนปาล

๕. วิถีสมถะแห่งพระสังฆราชา

“พระเณรไม่ควรอยู่อย่างหรูหรา”

วลีที่เรียบง่ายนี้ เป็นเพียงหนึ่งคำกล่าวที่บ่งชี้ได้ถึง พระปฏิปทาของเจ้าพระคุณสมเด็จฯ ที่ทรงดำเนินในสมณเพศ ซึ่งแม้ว่าจะทรงได้รับแต่งตั้งในสมณศักดิ์ที่พระราชาคณะตั้งแต่พระชันษาเพียง ๓๔ ปี เมื่อพุทธศักราช ๒๔๙๐ ทรงได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ ก้าวหน้าโดยลำดับ กระทั่งทรงดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช ในพุทธศักราช ๒๕๓๒ ซึ่งเป็นระยะเวลาที่ทรงดำรงอยู่ในสมณเพศอย่างมั่นคงยาวนานมาแล้วถึง ๕๖ ปี  แต่ลาภ ยศ สรรเสริญ เหล่านี้ที่ทรงได้รับตลอดพระชนม์ชีพ ก็หาได้ทำให้วิถีสมถะของพระองค์แปรเปลี่ยน แม้จะเคยมีผู้แสดงความประสงค์ถวายสิ่งใดใดอันยังความสะดวกสบาย เช่น มีผู้ประสงค์ถวายรถยนต์ประจำพระองค์ ก็ทรงไม่รับถวาย ด้วยเหตุว่า “ไม่รู้จะเอาเก็บไว้ที่ไหน”

โดยนัยนี้ นับเป็นเหตุผลที่บ่งได้ว่าเจ้าพระคุณสมเด็จฯ ไม่โปรด “การสะสม” หากแต่ทรงไว้ซึ่งความเรียบง่ายเฉกเช่นพระสงฆ์ที่มีวัตรปฏิบัติงดงามรูปหนึ่ง สมณบริขาร หรือเครื่องใช้ของสงฆ์ที่ทรงใช้เป็นประจำเพียง ๗ ชิ้น นับเป็นอีกสิ่งที่บ่งถึงความเป็นผู้มีความเรียบง่าย ไม่หรูหราของพระองค์ ด้วยทรงใช้ของเก่าและของมือสอง ในลักษณะของเอนกประสงค์ วลีที่ทรงกล่าวเตือนพระสงฆ์และสามเณรอยู่เสมอว่า “เป็นพระต้องจน” แสดงให้เห็นประจักษ์ในความพอเพียงของพระองค์ได้จากสมณบริขารประจำพระองค์ คือ

๑. พระแก้ว ซึ่งวางไว้ในห้อง ณ ตำหนักคอยท่าปราโมช เป็นพระพุทธรูปที่อยู่กับพระองค์มามากกว่า ๓๐ ปี

๒. อาสนะ อันเป็นสิ่งที่ทรงโปรดปรานที่สุด แม้จะเป็นอาสนะที่เย็บด้วยมือ ทำจากเศษผ้าที่เหลือจากเย็บเสื้อผ้าให้ลูกค้า แต่พระชนนีทำด้วยความรักและศรัทธา และนำมาถวายพระองค์ตั้งแต่ยังทรงเป็นสามเณร พระองค์ก็ยังคงใช้ตลอดมา ไม่ว่าจะนั่งกรรมฐาน หรือ สวดมนต์ คุณค่าในอาสนะผืนนี้ต่อความรู้สึกของพระองค์ท่าน จึงมีมากกว่าสิ่งที่สายตาคนทั่วไปสัมผัส พระองค์มักกล่าวแก่ผู้ใกล้ชิดว่า การดูอาสนะผืนนี้เป็นการช่วยคลายความคิดถึงพระชนนี

๓. บาตร ทรงมีเพียง ๑ ใบ โดยทรงใช้บิณฑบาตร ฉันภัตตาหาร และไม่ว่าจะรับกิจนิมนต์ที่ไหนก็ทรงใช้เพียงใบเดียวนี้

๔. บาตรน้ำมนต์ เป็นบาตรที่มีผู้ถวายเมื่อครั้งเสด็จไปเนปาล ซึ่งมีความพิเศษคือทำจากทองแดง และมีรูปทรงที่ต่างไปจากบาตรที่ทำในไทย

๕. โต๊ะทรงงาน ที่ทรงใช้อย่างเอนกประสงค์ทั้งทรงงานและเป็นโต๊ะรับแขก ที่แวดล้อมไปด้วยหนังสือธรรมะ หนังสือเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา และหนังสือภาษาอังกฤษที่ทรงโปรดเป็นจำนวนมาก ซึ่งนอกจากโต๊ะตัวนี้แล้ว ยังมีอีกตัวหนึ่งที่ทรงใช้ฉันภัตตาหารเช้า และทรงงานในช่วงบ่าย

๖. โต๊ะเก้าอี้สำหรับสอนธรรมะ จากเวิ้งนาครเขษมหรือเวิ้งนครเกษม ราคาประมาณ ๖ บาท ทรงนำมาซ่อมแซมและทำใหม่ ทรงใช้เวลาสอนเรื่องพระพุทธศาสนาและธรรมะแก่ชาวต่างชาติ ทุกวันจันทร์ พุธ และศุกร์

๗. เตียงบรรทม เป็นเตียงที่เรียบง่ายมีลักษณะเป็นตั่งไม้ที่ตัวตั่งสั้นมาก และเมื่อพระองค์เดินตรวจวัด หรือทรงเดินพบเศษไม้ หรือโต๊ะหมู่ที่ลูกศิษย์ทิ้งแล้ว ก็จะทรงเก็บมาต่อตั่งให้ยาวขึ้นที่นอนของพระองค์เย็บจากฟางข้าว ซึ่งแม้จะทรงสูงถึง ๑๗๙ เซ็นติเมตร ก็ไม่ทรงบรรทมตกเตียงที่แคบนิดเดียวนั้น


ทรงสอนพระนวกภิกษุตลอดพรรษาในฐานะพระอุปัชฌาย์

๖. พระเกียรติในการกิจ

สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ทรงสร้างคุณประโยชน์เอนกอนันต์ แก่พระพุทธศาสนาแก่คณะสงฆ์ไทย ตลอดจนการศึกษาของชาติ และสาธารณประโยชน์ต่างๆ อย่างมากมาย กล่าวคือ

ด้านการศาสนา

เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ทรงเป็นพระมหาเถระผู้ทรงภูมิธรรมทั้งด้านปริยัติและด้านปฏิบัติ อันเป็นประโยชน์ต่อการสั่งสอนและเผยแผ่พระพุทธศาสนา แก่ชาวไทยและชาวต่างประเทศ ทรงประทานพระโอวาทสั่งสอน พระภิกษุสามเณรผู้บวชใหม่ในฐานะพระอุปัชฌาย์ รวมถึงการอบรมปริญัติแก่ภิกษุสามเณรใหม่นั้น นอกจากนี้ยังทรงประทานพระธรรมเทศนา ตลอดจนการฝึกปฏิบัติอบรมจิต (สอนกรรมฐาน) แก่พุทธศาสนิกชนเป็นประจำ และในฐานะองค์ประมุขแห่งสังฆมณฑล ได้ทรงเสด็จไปปฏิบัติศาสนกิจ และเยี่ยมเยียนพระสงฆ์และพุทธศาสนิกชนในภูมิภาคต่างๆ ทั่วราชอาณาจักรอยู่เสมอ ทำให้ทรงทราบสภาพการณ์ของคณะสงฆ์และบ้านเมืองในแง่มุมต่างๆ นอกจากนี้ยังทรงสร้างและอุปถัมภ์วัดเป็นจำนวนมาก รวมทั้งโรงเรียนที่สอนปริยัติธรรม และยังทรงสนับสนุนตลอดจนอุปถัมภ์กิจกรรมที่เกี่ยวกับพระปริยัติและปฏิบัติธรรมทั้งในและต่างประเทศ


เสด็จในการประชุม ณ เมืองเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น

ทรงริเริ่มการเผยแผ่พระพุทธศาสนาไปต่างประเทศ เพื่อยังสันติสุขแก่ชาวโลกด้วยภาระกิจต่างๆ อาทิ ริเริ่มให้มีสำนักฝึกอบรมส่งพระธรรมทูตเพื่อไปปฏิบัติศาสนกิจในต่างประเทศเป็นครั้งแรก โดยทรงเป็นประธานกรรมการอำนวยการการฝึกอบรม ทรงส่งพระธรรมทูตไปฟื้นฟูพระพุทธศาสนา ในประเทศอินโดนีเซีย รวมทั้งเสด็จไปให้การบรรพชาอุปสมบทกุลบุตร ทำให้เกิดคณะสงฆ์เถรวาท และวัดทางพระพุทธศาสนาเถรวาทขึ้นในอินโดนีเซียเป็นครั้งแรก


วัดพุทธรังษีสแตนมอร์ ณ นครซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย

ทรงส่งพระธรรมทูตไปยังออสเตรเลีย และสร้างวัดพุทธรังษี ณ นครซิดนีย์ ซึ่งเป็นวัดเถรวาทแห่งแรกในทวีปนี้ ทรงช่วยฟื้นฟูพระพุทธศาสนาเถรวาทในประเทศเนปาล โดยเสด็จไปบรรพชาแก่ศากยะกุลบุตรเป็นครั้งแรก ทำให้ประเพณีการบวชในเนปาลฟื้นตัวขึ้นอีกครั้ง นอกจากนี้ยังเสด็จไปดูการพระศาสนาและการศึกษาในประเทศต่างๆ ทั้งในทวีปยุโรป อเมริกา ออสเตรเลีย และเอเชีย ทรงเจริญศาสนไมตรีกับองค์ดาไล ลามะ เป็นที่คุ้นเคยและได้วิสาสะกันหลายครั้ง


รัฐบาลสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ทูลถวายตำแหน่งอภิธชมหารัฐคุรุ


เสด็จเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนอย่างเป็นทางการในประวัติศาสตร์จีน

อีกทั้งยังทรงเป็นประมุขแห่งศาสนจักรพระองค์แรก ที่ได้รับทูลเชิญให้เสด็จเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีน อย่างเป็นทางการในประวัติศาสตร์จีน นอกจากนี้รัฐบาลสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ได้ทูลถวายตำแหน่ง “อภิธชมหารัฐคุรุ” อันเป็นสมณศักดิ์สูงสุดแห่งคณะสงฆ์เมียนมาร์แด่พระองค์

ด้านสาธารณกุศล

ทรงสร้างวัดพระพุทธศาสนาในต่างประเทศขึ้นเป็นครั้งแรก พร้อมกับทรงสร้างในภูมิภาคต่างๆ ภายในประเทศด้วย เช่น วัดญาณสังวราราม จังหวัดชลบุรี วัดล้านนาญาณสังวราราม จังหวัดเชียงใหม่ อีกทั้งยังทรงอำนวยการสร้างพุทธสถานอื่นๆ เช่น พระบรมธาตุเจดีย์ศรีนครินทราสถิตมหาสันติคีรี ดอยแม่สลอง จังหวัดเชียงราย และโปรดให้แกะสลักพระพุทธรูปขนาดใหญ่ ณ เขาชีจรรย์ จังหวัดชลบุรี


พระพุทธรูปแกะสลักขนาดใหญ่ ณ เขาชีจรรย์ จังหวัดชลบุรี

นอกจากนี้ด้วยพระบารมีธรรมของพระองค์ ศิษยานุศิษย์ทุกหมู่เหล่า ยังได้ร่วมกันสร้างถาวรวัตถุเป็นอนุสรณ์ถวายในพระนาม “ญสส” ในโอกาสและสถานที่ต่างๆ อีกเป็นจำนวนมาก อาทิ โรงเรียนพระปริญัติธรรม พิพิธภัณฑ์สถานจังหวัดกำแพงเพชร หอพระประวัติฯ หอเฉลิมพระเกียรติฯ ซึ่งสิ่งก่อสร้างเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นสาธารณประโยชน์อันสะท้อนพระคุณธรรม ให้ปรากฎเป็นรูปธรรมที่คงอยู่แม้จะสิ้นพระชนม์ไปก็ตาม


เสด็จประสาทปริญญาพุทธศาสตรบัณฑิต มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

ด้านการศึกษา

ทรงส่งเสริมทั้งด้านการศึกษาของคณะสงฆ์ และการศึกษาของเยาวชนของชาติ ทรงเป็นผู้ร่วมดำริและผลักดันให้เกิดมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศ โดยการก่อตั้งสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย หรือ มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัยในปัจจุบัน และได้ทรงขยายการศึกษาไปถึงระดับปริญญาโทและเอก ตลอดจนประทานทุนการศึกษาแก่พระภิกษุให้ไปศึกษาต่อระดับปริญญาโทและเอกในต่างประเทศ และทรงเป็นอาจารย์รุ่นแรกของมหาวิทยาลัยแห่งนี้ และต่อมาได้เป็นประธานกรรมการ และนายกสภามหาวิทยาลัยโดยลำดับสืบมา

นอกจากนี้ยังทรงสร้างโรงเรียนสามัญหลายแห่งในภูมิภาคต่างๆ ทั้งทรงเป็นองค์อุปถัมภ์โรงเรียนที่ยากจน และทรงประทานทุนการศึกษาแก่เด็กเรียนดีแต่ยากจนเป็นจำนวนมาก

ด้านการสาธารณสุข

ทรงสร้างโรงพยาบาลถวายเป็นพระอนุสรณ์เฉลิมพระเกียรติ แด่สมเด็จพระสังฆราช แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ทั้ง ๑๘ พระองค์ ในภูมิภาคต่างๆ รวมทั้งโปรดให้สร้างอาคารในโรงพยาบาล เป็นอนุสรณ์ส่วนพระองค์ ที่จังหวัดกาญจนบุรี อันเป็นพระชาติภูมิ อีก ๑ แห่ง ทรงเคยดำรงตำแหน่งประธานมูลนิธิสงเคราะห์ผู้เป็นโรคเรื้อนแห่งประเทศไทย ทำให้โรคเรื้อนหมดไปขณะที่พระองค์ทรงเป็นประธาน จนได้รับการยกย่องจากองค์การอนามัยโลก และองค์การอนามัยโลกได้ส่งสารแสดงความอาลัยต่อการสิ้นพระชนม์ของพระองค์ด้วย


ทรงเป็นนักอ่านทั้งคดีโลกและคดีธรรม ทั้งภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ

ด้านงานพระนิพนธ์

พระนิพนธ์ในเจ้าพระคุณสมเด็จฯ มีมากมายหลายประเภท

ประเภทตำราเพื่อศึกษาของนักเรียนบาลี เช่น วากยสัมพันธ์ ภาค ๑ – ๒ ทรงอำนวยการจัดทำ ปทานุกรม บาลี ไทย อังกฤษ สันสกฤต ฉบับพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระจันทรบุรีนฤนาถ
ประเภทพระธรรมเทศนา เช่น โสฬสปัญหา สัมมาทิฏฐิ ทศบารมี ทศพิธราชธรรม มงคลเทศนา
ประเภทการแปลตำราทางพุทธศาสนาเป็นภาษาต่างประเทศ เช่น นวโกวาท วินัยมุข พุทธประวัติ ทำวัตรสวดมนต์
ประเภทหลักธรรมสำหรับคนทั่วไป ซึ่งมีจำนวนมาก เช่น ลักษณะพุทธศาสนา การนับถือพระพุทธศาสนา หลักพระพุทธศาสนา ๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าสั่งสอนอะไร (ไทย-อังกฤษ) พระพุทธศาสนากับสังคมไทย เรื่องกรรม ศีล (ไทย-อังกฤษ) แนวปฏิบัติในสติปัฎฐาน คำกลอนนิราศสังขาร ตำนานวัดบวรนิเวศ และจิตตนคร ซึ่งพระนิพนธ์ชิ้นนี้ เป็นวรรณกรรมทางพุทธศาสนาที่ทรงพระนิพนธ์ไว้เมื่อพุทธศักราช ๒๕๑๓ โดยการนำหลักธรรมเรื่องจิตและธรรมะที่เกี่ยวกับจิตในแง่มุมต่างๆ มาผูกเป็นเรื่องราว และในโอกาสที่ทรงเจริญพระชนมพรรษา ๑๐๐ พรรษา ได้มีการนำพระนิพนธ์เรื่องนี้มาจัดทำเป็นพุทธการ์ตูนที่สนุกสนานเข้าใจง่าย ชื่อว่า “จิตตกรรมเล่าเรื่องจิตตนคร” โดย อ.ธีรพันธุ์ ลอไพบูลย์

๗. “ผู้นำคณะสงฆ์สูงสุดแห่งโลกพระพุทธศาสนา” พระองค์แรกของโลก

ตลอดพระชนม์ชีพ เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ทรงดำรงตำแหน่งหน้าที่สำคัญทางการคณะสงฆ์ในด้านต่างๆ และทรงปฏิบัติพระกรณียกิจเป็นประโยชน์ต่อพระศาสนา ประเทศชาติ และประชาชน นานัปประการ นอกเหนือจากพระศรัทธาที่เปี่ยมพระทัยในพระพุทธเจ้าที่มีมายาวนานแล้ว พระองค์ท่านยังทรงมีคุณูปการต่อพุทธศาสนา ซึ่งไม่เพียงเฉพาะต่อพุทธศาสนิกชนชาวไทย หากแต่ทรงได้รับการแซ่ซ้องเทิดทูนจากพุทธศาสนิกชนทั่วโลก ทั้งยังทรงเป็นที่ยอมรับของคณะสงฆ์ทุกนิกาย อาทิ องค์ดาไล ลามะ ผู้นำจิตวิญญาณสูงสุดของชาวทิเบต ซึ่งเคยเสด็จมาประเทศไทยหลายครั้ง นับจากการเสด็จเยือนอย่างเป็นทางการครั้งแรกเมื่อพุทธศักราช ๒๕๑๐ และทุกครั้งพระองค์จะเสด็จเยี่ยมเจ้าพระคุณสมเด็จฯ เพื่อทรงสนทนาธรรม และทรงให้เกียรติเจ้าพระคุณสมเด็จฯ โดยขานพระนามว่า “พี่ชายของฉัน”

นอกจากพระจริยวัตรต่างๆ อันได้รับการกล่าวถึงแล้ว ประจักษ์พยานสำคัญยิ่ง อันบ่งถึงการได้รับการยอมรับ จากชาวพุทธทั่วโลก คือ การประชุมสุดยอดพุทธศาสนิกแห่งโลก สุดยอดผู้นำชาวพุทธ อันเป็นการประชุมที่พระองค์ทรงเป็นผู้ริเริ่มก่อตั้งเมื่อพุทธศักราช ๒๕๔๓ โดยในการประชุมครั้งล่าสุด เมื่อพุทธศักราช ๒๕๕๕ ซึ่งมีผู้เข้าร่วมจาก ๓๒ ประเทศทั่วโลก ณ ประเทศญี่ปุ่น ที่ประชุมได้เห็นพ้องต้องกันว่าสมเด็จพระสังฆราช ทรงเป็นที่ยอมรับของคณะสงฆ์ทุกนิกาย ไม่ว่าจะเป็น มหายาน เถรวาท และวชิรยาน อีกทั้งเป็นที่เทิดทูนของพุทธศาสนิกชนทั่วโลก จึงมีมติทูลถวายตำแหน่งพระเกียรติยศ “ผู้นำคณะสงฆ์สูงสุดแห่งโลกพระพุทธศาสนา” ซี่งนับเป็นครั้งแรกของโลก โดยพระ ดร.เกียวเซ เอ็นซินโจฮ์ ประธานสุดยอดผู้นำชาวพุทธ การประชุมสุดยอดพุทธศาสนิกแห่งโลก เป็นผู้ลงนามใบประกาศถวายพระเกียรติยศ เมื่อวันที่ ๑ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๕๕ ดังมีรายละเอียดระบุว่า

“สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
แห่งราชอาณาจักรไทย ผู้ทรงได้รับการเคารพอย่างสูงสุดและได้รับการไว้วางใจอย่างสุดซึ้ง
จากพุทธศาสนิกชนชาวไทยที่เต็มเปี่ยมด้วยศรัทธา ว่าทรงเป็น
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก แห่งดินแดนแห่งรอยยิ้ม

ทรงเป็นผู้สอนพระธรรมคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ให้ทุกคนปฏิบัติธรรมตั้งอยู่ในพระปัญญาธรรมและพระกรุณาธรรม
ทั้งทรงเป็นผู้นำราชอาณาจักรไทยไปสู่สันติภาพและความเจริญรุ่งเรือง
นับว่าเป็นแบบอย่างของสากลโลก

ทรงมีพระบารมีปกแผ่ไพศาลไปทั่วราชอาณาจักรไทย
และประเทศพุทธศาสนาทั่วโลก พร้อมมนุษยชาติทุกคน
พระศรัทธาที่เปี่ยมพระทัยในพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของพระองค์ที่มีมายาวนาน
ได้รับการแซ่ซ้องและเทิดทูนจากพุทธศาสนิกชนทั่วโลก

ด้วยความซาบซึ้งในพระกรณียกิจทั้งปวงที่น่าสรรเสริญใน
สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
ข้าพเจ้าในนามของพุทธศาสนิกชน ๓๗๐ ล้านคนทั่วโลก
พร้อมสุดยอดผู้นำชาวพุทธโลกจาก ๓๒ ประเทศ ขอทูลเกล้าถวายพระเกียรติยศอันสูงสุดนี้แด่
เจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราช ด้วยความปีติโสมนัสยิ่ง”

๘. คมธรรมคำชีวิต สมเด็จพระสังฆราช

เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ทรงมีคำกล่าวที่คมในธรรม สามารถน้อมนำเป็นคำเพื่อดำเนินชีวิต ปรากฎในพระราชนิพนธ์ และวาระโอกาสต่างๆ ดังจะยกพอสังเขป คือ

“ชีวิตนี้น้อยนัก แต่ชีวิตนี้สำคัญนัก เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อ เป็นทางแยก
จะไปสูงไปต่ำ ไปดีไปร้าย เลือกได้ในชีวิตนี้เท่านั้น
พึงสำนึกข้อนี้ให้จงดี แล้วจงเลือกเถิด เลือกให้ดีเถิด”

“ถ้าคนเรามีความอยากจะได้วิชาก็ตั้งใจพากเพียรเรียน
มีความอยากจะได้ทรัพย์ ยศ ก็ตั้งใจเพียรทำงานให้ดี ตามกำลังตามทางที่สมควร”

“ความโลภโกรธหลง คือ ความเร่าร้อนมืดมิดที่ห่อหุ้มจิตเหมือนกำแพงหนาทึบ
ที่ปิดกั้นแสงสว่างมิให้ปรากฎจิตทุกดวง ดวงจิตของเราทุกคนนี้แหละมีความบริสุทธิ์
ประภัสสรสว่างไสวที่สุดอยู่แล้วตลอดเวลา น่าเสียดายที่พากันสร้างกำแพงปิดกั้นเสียจนมืดมิด
ด้วยการใช้ความคิดปรุงแต่งอันเป็นอุปกิเลส”

“เมื่อชนะมารในใจของตนได้แล้ว มารข้างนอกก็ทำอะไรไม่ได้”

“น่าจะนึกถึงความแก่ ความตายกันบ้าง เพื่อจะได้ลดความมัวเมาและทำความดี”

“การชนะนั้นท่านมุ่งให้เอาชนะตนเอง คือ ชนะจิตใจที่ใฝ่ชั่วของตน
เพื่อที่จะรักษาและเพิ่มพูนความดีของตนของตนให้ยิ่งๆ ขึ้น”

“การพัฒนาตนจำต้องพัฒนาให้ถึงจิตใจ ถ้าคนมีจิตใจไม่เจริญก็ยากจะพัฒนาส่วนอื่นๆ ให้เกิดผลสำเร็จได้”

“ความเคารพในธรรม ทำให้คนเป็นคนที่รู้มาก แต่ใช้ความรู้นั้นช่วยตนเองไม่ได้ เพราะขาดความเคารพในธรรม”

“คนทุจริต ชื่อว่าไม่รักตน เพราะทำความทุกข์ให้แก่ตนเอง”

“คนทำชั่วแม้จะได้รับการแต่งตั้งให้เป็นคนดี ก็หาได้ชื่อว่าเป็นคนดีไม่ผู้ที่รู้และค้านเป็นคนแรกก็คือตัวเองนั่นเอง”

“ผู้เจริญเมตตาอยู่เสมอเป็นผู้ไม่โกรธง่าย ทั้งมีจิตใจเยือกเย็นเป็นสุข”

“การให้ธรรมที่แท้จริง ย่อมหมายถึงการทำตนเองของทุกคนให้มีธรรม
ให้ธรรมในตนปรากฎแก่คนทั้งหลายโดยอัตโนมัติ”

๙. ทรงประชวรและสิ้นพระชนม์

สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก มีพระอาการประชวรด้วยโรคชราภาพตามพระอายุขัย ซึ่งแทรกซ้อนตามมาด้วยเบาหวาน ไต และได้เสด็จเข้าประทับรักษาพระองค์ ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ตั้งแต่พุทธศักราช ๒๕๔๕ เป็นต้นมา ในระยะแรกที่เข้าประทับรักษาพระองค์ที่โรงพยาบาล ได้เสด็จกลับมาวัดเป็นครั้งคราวเมื่อมีวันสำคัญทางศาสนา แต่ในระยะหลังไม่สามารถเสด็จออกจากโรงพยาบาลได้ เนื่องจากต้องได้รับการรักษาอย่างใกล้ชิดจากคณะแพทย์ กระทั่งพุทธศักราช ๒๕๕๖ นี้ การถวายการรักษาในระยะเวลายาวนานถึง ๑๑ ปี ก็ต้องยุติลง  เมื่อเจ้าพระคุณสมเด็จฯ สิ้นพระชนม์ลง ในวันที่ ๒๔ ตุลาคม เวลา ๑๙.๓๐ นาฬิกา เนื่องจากติดเชื้อในกระแสพระโลหิต ดังแถลงการณ์พระอาการประชวรของสมเด็จพระสังฆราช ของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ดังนี้

แถลงการณ์โรงพยาบาลจุฬาฯ เรื่อง พระอาการประชวรของสมเด็จพระสังฆราช ฉบับที่ ๑  วันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๕๖

ตามที่สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ได้เสด็จมาประทับ ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ตั้งแต่วันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๕ เป็นต้นมานั้น เมื่อวันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๕๖ คณะแพทย์ผู้ถวายการรักษาได้รายงานว่า สมเด็จพระสังฆราชทรงประชวร และทรงมีความดันพระโลหิตต่ำ เนื่องมาจากการติดเชื้อในกระแสพระโลหิต คณะแพทย์ฯ ได้ถวายการตรวจพบว่า พระอันตะ (ลำไส้ใหญ่) และพระอันตคุณ (ลำไส้เล็ก) ขาดพระโลหิตและมีแผลติดเชื้อ
จึงได้ถวายการรักษาด้วยการผ่าตัดพระอันตะและพระอันตคุณบางส่วนออก ภายหลังการผ่าตัดปรากฏว่า พระอาการโดยรวมดีขึ้น แต่ยังต้องติดตามพระอาการอย่างใกล้ชิดต่อไป

แถลงการณ์รพ.จุฬาฯ เรื่อง พระอาการประชวรของสมเด็จพระสังฆราช ฉบับที่ ๒ วันที่ ๑๕ ตุลาคม ๒๕๕๖

วันที่ ๑๕ ตุลาคม ๒๕๕๖ คณะแพทย์ผู้ถวายการรักษาได้รายงานว่า สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ทรงมีพระอาการโดยรวมดีขึ้น ไม่ทรงมีไข้ ความดันพระโลหิตอยู่ในเกณฑ์ที่ดี สามารถลดปริมาณพระโอสถเพิ่มความดันพระโลหิตได้โดยลำดับ ผลการตรวจพระโลหิตต่างๆ อยู่ในเกณฑ์ที่ดีขึ้น ไม่ปรากฏภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัด คณะแพทย์ได้ถวายพระโอสถปฏิชีวนะเพื่อควบคุมภาวะการติดเชื้อต่อไป

อนึ่ง โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ได้เปิดให้พุทธศาสนิกชนและประชาชนทั่วไป ลงนามถวายพระพรสมเด็จพระญาณสังวร  สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ระหว่างเวลา ๐๘.๐๐ – ๑๗.๐๐ น. ณ โถงตึกอานันทมหิดล

แถลงการณ์รพ.จุฬาฯ เรื่อง พระอาการประชวรของสมเด็จพระสังฆราช ฉบับที่ ๓ วันที่ ๑๗ ตุลาคม ๒๕๕๖

วันที่ ๑๗ ตุลาคม ๒๕๕๖ คณะแพทย์ผู้ถวายการรักษาได้รายงานว่าสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ทรงมีพระอาการโดยรวมดีขึ้นเป็นลำดับ ไม่ทรงมีไข้ ความดันพระโลหิตและอัตราการเต้น ของพระหทัยอยู่ในเกณฑ์ที่ดี ผลการตรวจพระโลหิตพบว่าพระยกนะ (ตับ) ทำงานดีขึ้น ความผิดปกติ ของเม็ดพระโลหิตเริ่มดีขึ้น ผลการเพาะเชื้อในพระโลหิตไม่พบเชื้อแต่อย่างไร แผลผ่าตัดอยู่ในสภาพดี ไม่มีภาวะแทรกซ้อน คณะแพทย์ฯ ยังคงถวายพระโอสถปฏิชีวนะและเริ่มถวายพระกระยาหาร และพระโอสถทางหลอดพระโลหิตดำ

อนึ่ง คณะแพทย์ฯ ได้เชิญสมเด็จพระสังฆราช เสด็จจากหออภิบาลผู้ป่วยหนัก (I.C.U.) กลับมาประทับ ณ ห้องที่ประทับ ตึกวชิรญาณ – สามัคคีพยาบาล ตั้งแต่เมื่อวานนี้

จึงประกาศมาเพื่อทราบโดยทั่วกัน

แถลงการณ์รพ.จุฬาฯ เรื่อง พระอาการประชวรของสมเด็จพระสังฆราช
ฉบับที่ ๔ วันที่ ๒๐ ตุลาคม ๒๕๕๖

เมื่อวันที่ ๒๐ ตุลาคม ๒๕๕๖ คณะแพทย์ผู้ถวายการรักษาได้รายงานว่า สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ทรงมีความดันพระโลหิตลดต่ำลงและอัตราการเต้นของพระหทัยผิดปกติตั้งแต่ตอนบ่าย ผลการตรวจพระโลหิตพบว่า เม็ดพระโลหิตขาวเพิ่มสูงขึ้น เกล็ดพระโลหิตลดต่ำลง และมีความผิดปกติของการแข็งตัวของพระโลหิต ผลการตรวจการทำงานของพระยกนะ (ตับ) พบความผิดปกติเพิ่มขึ้น พระโลหิตมีภาวะเป็นกรด ผลการตรวจภาพรังสีคอมพิวเตอร์ (CT Scan) ที่พระอุระ (อก) และพระนาภี (ท้อง) ไม่พบการเปลี่ยนแปลงที่ผิดปกติ คณะแพทย์ฯ ได้ปรับเปลี่ยนพระโอสถปฏิชีวนะถวาย กับถวายสารน้ำ รวมทั้งถวายพระโอสถเพิ่มความดันพระโลหิต และควบคุมการเต้นของพระหทัย ทั้งนี้ คณะแพทย์ฯ และพยาบาลได้เฝ้าถวายการตรวจและติดตามการรักษา อย่างใกล้ชิดตลอด ๒๔ ชั่วโมง

จึงประกาศมาเพื่อทราบโดยทั่วกัน

แถลงการณ์รพ.จุฬาฯ เรื่อง พระอาการประชวรของสมเด็จพระสังฆราช
ฉบับที่ ๕ วันที่ ๒๒ ตุลาคม ๒๕๕๖

วันที่ ๒๒ ตุลาคม ๒๕๕๖ คณะแพทย์ผู้ถวายการรักษาได้รายงานว่า สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก มีพระอาการโดยรวมดีขึ้น ระดับ ความดันพระโลหิตและอัตราการเต้นของพระหทัยอยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจ ผลการตรวจพระโลหิตพบว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ดีขึ้นโดยลำดับ คณะแพทย์ฯ ยังถวายพระโอสถปฏิชีวนะ รวมทั้งถวายพระโอสถเพิ่มความดันพระโลหิตและควบคุมการเต้นของพระหทัยอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ คณะแพทย์ฯ และพยาบาลได้เฝ้าถวายการตรวจและติดตามการรักษาอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่องตลอด ๒๔ ชั่วโมง

แถลงการณ์ รพ.จุฬาฯ เรื่อง พระอาการประชวรสมเด็จพระสังฆราช
ฉบับที่ ๖ วันที่ ๒๒ ตุลาคม ๒๕๕๖

ค่ำวันนี้ ๒๒ ตุลาคม ๒๕๕๖ เวลา ๒๒.๐๐ น. คณะแพทย์ผู้ถวายการรักษา รายงานว่า สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก มีพระอาการทรุดลง ระดับความดันพระโลหิตลดต่ำลงอีก ไม่ตอบสนองต่อพระโอสถเพิ่มความดันที่ถวาย การเต้นของพระหทัยไม่สม่ำเสมอ คณะแพทย์ฯ ได้ถวายปรับเปลี่ยนพระโอสถปฏิชีวนะ พระโอสถเพิ่มความดันพระโลหิต รวมทั้งถวายโลหิตและสารน้ำทางหลอดพระโลหิตดำ ทั้งนี้ คณะแพทย์ฯ และพยาบาลได้เฝ้าถวายการตรวจและติดตามการรักษาอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่องตลอด ๒๔ ชั่วโมง

จึงประกาศมาเพื่อทราบโดยทั่วกัน

แถลงการณ์ รพ.จุฬาฯ เรื่อง พระอาการประชวรของสมเด็จพระสังฆราช
ฉบับที่ ๗ วันที่ ๒๓ ตุลาคม ๒๕๕๖

วันที่ ๒๓ ตุลาคม ๒๕๕๖ คณะแพทย์ผู้ถวายการรักษารายงานว่า  สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก มีพระอาการโดยรวมทรงตัว ระดับความดันพระโลหิตอยู่ในเกณฑ์ต่ำ คณะแพทย์ฯ ยังคงถวายพระโอสถปฏิชีวนะ และพระโอสถเพิ่มความดันพระโลหิต ทั้งนี้ คณะแพทย์ฯและพยาบาลได้เฝ้าถวายการตรวจและติดตามการรักษาอย่างใกล้ชิดและต่อ เนื่องตลอด ๒๔ ชั่วโมง

จึงประกาศมาเพื่อทราบโดยทั่วกัน

แถลงการณ์รพ.จุฬาฯ เรื่อง พระอาการประชวรสมเด็จพระสังฆราช
ฉบับที่ ๘ วันที่ ๒๔ ตุลาคม ๒๕๕๖

วันที่ ๒๔ ตุลาคม ๒๕๕๖ คณะแพทย์ผู้ถวายการรักษารายงานว่า สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก มีพระอาการโดยรวมทรุดลง ระดับความดันพระโลหิตอยู่ในเกณฑ์ต่ำลง คณะแพทย์ฯ และพยาบาล  ยังคงถวายพระโอสถ และเฝ้าถวายการตรวจและติดตามการรักษาอย่างใกล้ชิด และต่อเนื่องตลอด ๒๔ ชั่วโมง

จึงประกาศมาเพื่อทราบโดยทั่วกัน

ภายหลังจากมีแถลงการณ์เกี่ยวกับพระอาการประชวรของเจ้าพระคุณสมเด็จฯ มาโดยลำดับรวม ๑๐ วัน นับแต่ฉบับที่ ๑ วันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๕๖ จนฉบับที่ ๘ วันที่ ๒๔ ตุลาคม ๒๕๕๖ ซึ่งแจ้งว่าทรงมีพระอาการโดยรวมทรุดลง และเวลาต่อมาในค่ำคืนวันเดียวกันนั้น เวลา ๒๑.๐๐ น. โดยประมาณ ก็ได้มีแถลงการณ์ฉบับที่ ๙ แจ้งการสิ้นพระชนม์ของเจ้าพระคุณสมเด็จฯ ดังนี้

แถลงการณ์รพ.จุฬาฯ
ฉบับที่ ๙ วันที่ ๒๔ ตุลาคม ๒๕๕๖

วันที่ ๒๔ ตุลาคม ๒๕๕๖ คณะแพทย์ผู้ถวายการรักษารายงานว่า สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก มีพระอาการโดยรวมทรุดลง ได้สิ้นพระชนม์ลงแล้ว เมื่อเวลา ๑๙.๓๐ น. สาเหตุเนื่องจากการติดเชื้อในกระแสพระโลหิต

จึงประกาศมาเพื่อทราบโดยทั่วกัน

ภายหลังสิ้นพระชนม์ ได้มีการเคลื่อนพระศพจากโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์มายังตำหนักเพชร วัดบวรนิเวศวิหาร ในวันศุกร์ที่ ๒๕ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๕๖ เวลา ๑๒.๑๕ นาฬิกา โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ไปทรงสรงน้ำพระศพในวันเดียวกัน เวลา ๑๗.๐๐ นาฬิกา และพระราชทานพระโกศกุดั่นใหญ่ ภายใต้เศวตฉัตรสามชั้น พร้อมเครื่องประกอบพระเกียรติยศ ซึ่งพระโกศกุดั่นใหญ่นี้ ทำด้วยไม้แกะสลักลวดลายทรง ๘ เหลี่ยม ฝายอดทรงมณฑปปิดทองล่อง ชาดประดับกระจกสี สร้างขึ้นในรัชกาลที่ ๑ (พุทธศักราช ๒๓๔๒) สำหรับพระราชทาน ทรงพระศพสมเด็จเจ้าฟ้า สมเด็จพระบรมวงศ์ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า หรือสมเด็จพระสังฆราช

ในการพระราชทานพระพิธีธรรม สวดพระอภิธรรม ทรงโปรดเกล้าฯ ให้มีพระพิธีธรรม สวดพระอภิธรรมพระศพสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ประจำทั้งกลางวัน กลางคืน รับพระราชทานฉันเช้า ๘ รูป เพล ๔ รูป กำหนด ๗ วัน หลังจากนั้นจนกว่าจะออกพระเมรุ เปิดโอกาสให้หน่วยงานต่างๆ ร่วมเป็นเจ้าภาพในการสวดพระอภิธรรมพระศพ และทรงโปรดเกล้าฯ ให้ไว้ทุกข์ในพระราชสำนัก ๓๐ วัน ตั้งแต่วันศุกร์ที่ ๒๕ ตุลาคม ถึงวันเสาร์ที่ ๒๓ พฤศจิกายน โดยทรงโปรดเกล้าฯ ให้ประดิษฐานพระศพ ณ พระตำหนักเพ็ชร วัดบวรนิเวศวิหาร และถวายพระเกียรติยศตามราชประเพณีทุกประการ

เมื่อมีการเผยแพร่ข่าวการสิ้นพระชนม์ของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ซึ่งมิได้จำกัดเฉพาะเพียงในประเทศ หากแต่สำนักข่าวต่างประเทศ อาทิ CNN, BBC ก็ได้เผยแพร่ข่าวการสิ้นพระชนม์ไปทั่วโลก การแสดงความโศกเศร้าอาลัยต่อพระองค์จึงรับรู้โดยแพร่หลายไม่เฉพาะเพียงพุทธศาสนิกชนไทย ดังเห็นได้จาก สาส์นแสดงธรรมสังเวช ซึ่งสำนักเลขานุการสมเด็จพระสังฆราชได้รับจากผู้นำองค์กรทางพระพุทธศาสนาประเทศต่างๆ อาทิ ญี่ปุ่น อังกฤษ อินเดีย ศูนย์พระพุทธศาสนามหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด ประเทศอังกฤษ และหนึ่งในจำนวนนั้น คือ องค์ดาไลลามะ ผู้นำทางจิตวิญาณแห่งทิเบต ซึ่งในทันทีที่ทรงทราบข่าวการสิ้นพระชนม์ของเจ้าพระคุณสมเด็จฯ ได้ทรงร่างสาส์นแสดงความเสียพระทัยเผยแพร่บนเว็บไซต์ขององค์ดาไลลามะ ความว่า

“สหายทางจิตวิญญาณที่รักทั้งหลาย ข้าพเจ้ารู้สึกเสียใจ
ที่ได้ทราบข่าวการสิ้นพระชนม์ของสมเด็จพระญาณสังวรฯ ในระยะเวลาอันสั้นหลังงานฉลองพระชันษา ๑๐๐ ปี
ในระหว่างที่ข้าพเจ้าสวดภาวนาอุทิศถวายแด่สมเด็จพระสังฆราชนี้
ข้าพเจ้าขอแสดงความเสียใจมายังมหาเถรสมาคม และศิษยานุศิษย์นับหลายล้านคนของพระองค์
ทั้งในประเทศไทยและประเทศต่างๆ ทั่วโลก”

และยังทรงชี้ให้เห็นว่า การจากไปของเจ้าพระคุณสมเด็จนั้น คือการที่เราทั้งหลายได้สูญเสียสหายทางจิตวิญาณอันวิเศษ

“เมื่อหลายปีมาแล้วข้าพเจ้าได้เข้าเฝ้าพระองค์ จึงรู้สึกเคารพนับถือและชื่นชมอย่างสุดซึ้ง
ต่อวิถีทางที่พระองค์ทรงปฏิบัติหน้าที่ตามความรับผิดชอบที่มีต่อพระศาสนาได้สมบูรณ์ยิ่ง
ตลอดพระชนม์ชีพอันยาวนานและมีความหมายยิ่งนั้น สมเด็จพระญาณวังวรฯ ได้ทรงอุทิศพระองค์
ในการสร้างคุณประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติอย่างทั่วถึงตลอดมา”

นอกจากนี้องค์ดาไลลามะทรงชี้แนะว่า ในเวลาเช่นนี้พวกเราอาจรู้สึกถึงความสูญเสีย แต่การอุทิศถวายที่ดีที่สุดนั้น คือ การทำอะไรก็ตาม ตามกำลังความสามารถเพื่อพัฒนาสันติภาพและปัญญาอย่างที่เจ้าพระคุณสมเด็จเคยทรงปฏิบัติสืบมา องค์ดาไลลามะยังกล่าวอีกว่า พระองค์หวังว่าจะได้ส่งผู้แทนพระองค์มาสวดภาวนา และแสดงความอาลัยต่อประชาชนชาวไทย เพื่อเป็นสัญญลักษณ์แห่งความเคารพนับถือนั้น

ขอถวายอภิสัมมานสักการะ แด่สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก ด้วยเศียรเกล้าฯ
ศูนย์ข้อมูลภาคตะวันตก หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์
สำนักหอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยศิลปากร


รายการอ้างอิง

“๗ สิ่งสมณบริขาร วิถีสมถะ ‘พระสังฆราช’.”  (๒๕๕๖).  มติชน (๑ พฤศจิกายน): ๑๓.

ชูเกียรติ สัจจาเฟื่องกิจการ, บรรณาธิการ.  (๒๕๕๓).  หนังสือ สมุดภาพ พระประวัติ พระศาสนกิจ พระเกียรติคุณ การสร้างโรงเรียน โรงพยาบาล ศาสนสถาน ที่ทรงอุปถัมภ์และอยู่ในพระสังฆราชูปถัมภ์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก. กรุงเทพฯ: วัดบวรนิเวศวิหาร.

ดาไลลามะส่งสมณสาส์นอาลัยสังฆราช. (๒๕๕๖).  เข้าถึงเมื่อ ๓ ธันวาคม.  เข้าถึงได้จาก http://www.posttoday.com/สังคม/พระราชสำนัก/256082/ดาไลลามะส่งสมณสาส์นอาลัยสังฆราช

ปีมหามงคล พระชันษาครบ ๑๐๐ ปี สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช. (๒๕๕๖).  เข้าถึงเมื่อ ๑๙ พฤศจิกายน.  เข้าถึงได้จาก http://www.thairath.co.th/content/edu/317059

“เปิด ‘มรดกทางปัญญา’ พระนิพนธ์…‘สมเด็จพระสังฆราช’.”  (๒๕๕๖).  มติชน (๒๖ ตุลาคม): ๑๗.

“พระชันษา ๑๐๐ ปี สดุดีพระสังฆบิดร.”  (๒๕๕๖).  มติชน (๓ ตุลาคม): ๒๓-๒๔.

มนตรี ประทุม.  (๒๕๕๖).  ๑๐๐ พรรษา สมเด็จพระสังฆราช หลายคำถามมีคำตอบ. เข้าถึงเมื่อ ๓ ธันวาคม.  เข้าถึงได้จาก http://www.dailynews.co.th/Content/education/145696/100

วจนา วรรลยางกูร.  (๒๕๕๖).  “พระนิพนธ์ใน ‘สมเด็จพระสังฆราช’ เผยให้เห็น ‘สัจธรรมแห่งชีวิต’.” มติชน (๒๘ ตุลาคม): ๒๐.

ศิริวรรณ สุขวิเศษ.  (๒๕๕๒).  พระของประชาชน สมเด็จพระญาณสังวร  สมเด็จพระสังฆราช  สกลมหาสังฆปรินายก.  กรุงเทพฯ: สำนักเลขานุการสมเด็จพระสังฆราช วัดบวรนิเวศวิหาร.

สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก. (๒๕๕๖).  เข้าถึงเมื่อ ๓ ธันวาคม.  เข้าถึงได้จาก http://th.wikipedia.org/wiki/สมเด็จพระญาณสังวร_สมเด็จพระสังฆราช_สกลมหาสังฆปรินายก

สมเด็จพระสังฆราช “ผู้นำคณะสงฆ์สูงสุดแห่งโลกพระพุทธศาสนา”. (๒๕๕๖).  เข้าถึงเมื่อ ๑๙ พฤศจิกายน. เข้าถึงได้จาก http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?t=43453

สมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (สุก ญาณสังวร). (๒๕๕๖).  เข้าถึงเมื่อ ๙ ธันวาคม.  เข้าถึงได้จาก http://www.dharma-gateway.com/monk/monk_biography/monk-raja/monk-raja-04-hist.htm

สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ.  (๒๕๕๒).  จดหมายเหตุงานฉลอง ๙๖ ปี สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก. กรุงเทพฯ: รัฐบาลไทย.

“หนังสือพระนิพนธ์สมเด็จพระสังฆราช.”  (๒๕๕๖).  ข่าวสด (๑ พฤศจิกายน): ๓๒.

“๑๐๐ ปี สมเด็จพระสังฆราช พระประวัติ พระศาสนกิจ พระเกียรติคุณ.”  (๒๕๕๖).  คม ชัด ลึก (๓๐ กันยายน): ๑๐.

Dalai Lama.  (2013).  His holiness the Dalai Lama expresses condolences on the passing away of the supreme patriarch of Thailand. Accessed December 4. Available from http://www.dalailama.com/news/post/1023-his-holiness-the-dalai-lama-expresses-condolences-on-the-passing-away-of-the-supreme-patriarch-of-thailand

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *