มะพร้าว เป็นพืชในตระกูลปาล์ม และนับเป็นพืชสารพัดประโยชน์อีกชนิดหนึ่ง เช่นเดียวกับกล้วย การใช้ประโยชน์จากมะพร้าว เรียกได้ว่าทั้งต้น ทั้งผล ทั้งใบ ล้วนแล้วแต่น่าสนใจ การใช้ประโยชน์ทางตรงที่เรามักจะชื่นชอบและคุ้นเคย คือ น้ำและเนื้อมะพร้าวอ่อน ที่เชื่อว่าทุกคนที่ได้ลิ้มชิมรสชาดแล้ว ยากที่จะปฏิเสธความหวานชื่นใจแบบธรรมชาติ น้ำมะพร้าวและเนื้อมะพร้าว มีประโยชน์ช่วยในการถ่ายพยาธิ

หรือหากเป็นผลแก่ ก็จะเป็นวัตถุดิบเคียงคู่ครัวไทย ชนิดขาดกันไม่ได้เลยทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นอาหารคาว-หวาน ที่เป็นมิตรแท้คู่กับมะพร้าวขูด ซึ่งมีทั้งที่ขูดและนำไปคั้นทำกะทิ หรือแม้กระทั่งขูดฝอยโรยหน้าขนมหวานก็ให้รสชาติที่ยากจะลืม เมื่อใช้เนื้อ ใช้น้ำแล้ว กะลามะพร้าวยังสามารถนำไปประดิษฐ์สิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ ได้อย่างมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเครื่องประดับตบแต่งที่ใช้กับร่างกาย เช่น สร้อย เข็มขัด กระดุม

หรือใช้เป็นเครื่องประดับตกแต่ง เป็นเครื่องใช้ในครัวเรือน เช่น โคมไฟ โมบาย กระบวย ทัพพี หรือแม้แต่เครื่องดนตรี เช่น ซออู้ เป็นต้น นอกจากนี้ ส่วนอื่นๆ ของมะพร้าวยังใช้ประโยชน์ต่างๆ เช่น จั่นมะพร้าว (ช่อดอกมะพร้าว) ให้น้ำตาล จาวมะพร้าว ซึ่งมีฮอร์โมนออกซินในปริมาณมาก รวมทั้งฮอร์โมนอื่นๆ รับประทานเป็นอาหารได้ หรืออาจนำไปคั้นน้ำใช้รดต้นไม้ จะช่วยกระตุ้นการเจริญเติบโตของพืชได้ เปลือกหุ้มรากมะพร้าวสามารถใช้รักษาโรคคอตีบ และน้ำมันจากกะลามะพร้าวใช้รักษาโรคผิวหนังได้

ประเทศไทยมีผลผลิตมะพร้าวเป็นจำนวนมากนับเป็น 1 ใน 10 ของโลก และจังหวัดสมุทรสงคราม ก็เป็นเป็นจังหวัดหนึ่งที่มีการปลูกมะพร้าวจำนวนไม่น้อย ซึ่งนอกจากการปลูกแล้วยังมีภูมิปัญญาชาวบ้าน ที่ใช้ในการถนอมอาหารที่ทำจากมะพร้าวเป็นที่ขึ้นชื่อคือ การทำน้ำตาลมะพร้าวบางช้าง ที่ยังคงสืบทอดวิธีการทำจากสมัยโบราณมาจนปัจจุบัน

บางช้าง เป็นตำบลหนึ่งในจังหวัดสมุทรสงคราม มีความสำคัญ คือ พระราชมารดาในรัชกาลที่ 2 เป็นชาวตำบลบางช้าง และพระองค์ก็ทรงประสูติที่ตำบลแห่งนี้ และในเวลาต่อมารัชกาลที่ 6 ก็ทรงโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามสกุล “ณ บางช้าง” ให้แก่ราชนิกุลฝ่ายมารดาของรัชกาลที่ 2

ที่ตำบลบางช้างแห่งนี้ นอกจากความสำคัญดังกล่าวแล้ว ยังเป็นแหล่งเศรษฐกิจที่สำคัญในตอนต้นสมัยรัตนโกสินทร์ ดังมีคำกล่าวว่า “บางช้างสวนนอก บางกอกสวนใน” เพราะผลไม้นานาชนิดได้มาจากสวนที่ตำบลแห่งนี้มีสวนมะพร้าวเป็นจำนวนมากมาตั้งแต่สมัยโบราณ จึงมีอาชีพทำน้ำตาลจากมะพร้าวที่สามารถส่งขายได้ทั่วเมืองไทย รัฐจึงสามารถเก็บอากรจากสวนมะพร้าวที่แม่กลองนี้ได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ

น้ำตาลมะพร้าวบางช้าง หรือ น้ำตาลแม่กลองนี้ ผลิตเป็นน้ำตาลปึก และ น้ำตาลปี๊บ ปัจจุบันมักเรียกรวมน้ำตาลที่ผลิตจากแม่กลอง ว่า น้ำตาลบางช้าง แม้จะผลิตจากตำบลอื่นๆ เช่น บางนางลี่ บางขันแตก ท้ายหาด ปลายโพงพาง ลาดใหญ่ นางตะเคียน ท่าคา บางกระบือ บางใหญ่ บางน้อย ฯลฯ

การคัดพันธุ์มะพร้าวน้ำตาล ในสมัยที่มีการเก็บ อากรสวน มีการใช้เกณฑ์การเก็บอากร คือ เก็บผลไม้ที่ตกผลแล้ว โดยการประเมินเป็นครั้งคราว เรียกว่า การเดินสวน ดังนั้นชาวสวนจะคัดเลือกปลูกเฉพาะพันธุ์ที่มีคุณภาพดีให้ผลมาก ต้นที่ไม่ดีจะฟันทิ้งเพราะไม่คุ้มกับการเสียอากร จึงมีการคัดพันธุ์มะพร้าวกันนับจากอดีตต่อเนื่องมา โดยเลือกพันธุ์มะพร้าวที่คอใหญ่ ทางมะพร้าวใหญ่-ถี่ ทางใหญ่สั้น มีก้านใบถี่ มะพร้าวชนิดนี้หาอาหารเก่ง มีกำลังมาก ให้น้ำตาลสดมาก ยืนต้นได้นาน เริ่มมีงวงให้น้ำตาลเมื่ออายุได้ 5-6 ปี ส่วนมะพร้าวเล็กใช้เวลาประมาณ 3 ปีเศษ จึงสามารถทำน้ำตาลได้ แต่จะให้น้ำตาลน้อย หรือ มีกำลังน้อย

ระบบน้ำ มะพร้าวน้ำตาลชอบน้ำลักจืดลักเค็ม หรือ สองน้ำ คือ หัวน้ำเป็นน้ำจืด น้ำทะเลจากปากอ่าวแม่กลองจะดันน้ำจืดจากต้นน้ำกลับไปสู่ลำคลอง และลำประโดงต่างๆ เข้าสู่รองสวน ผู้ที่จะตักน้ำจืดไว้ใช้ต้องรีบตักตอนหัวน้ำขึ้นเรียกว่า น้ำขึ้นให้รีบตัก เพราะช่วงกลาง หรือ ปลายน้ำจะเป็นน้ำเค็ม เมื่อน้ำลงก็จะให้ลงจนแห้งขอดจากท้องร่องสวน จนไม่เหลือน้ำอยู่เลย มะพร้าวน้ำตาลไม่ชอบน้ำไม่ว่าน้ำจืดหรือน้ำเค็ม ระบบน้ำจึงต้องเคลื่อนไหวดี ดังนั้นตำแหน่งที่ดีสำหรับสวนมะพร้าวน้ำตาล
จะต้องสอดคล้องกับการเคลื่อนไหวของน้ำและต้องไม่ใช่ที่ดอน

การทำดิน ชาวสวนจะยกร่อง ขุดลำประโดง ร่องสวน ซอยร่อง ซอยคัน หรือ ถนน เพื่อให้ระบบน้ำไหลได้เชื่อมโยงกัน ให้มีสภาพคล่องในการเคลื่อนไหวของน้ำ สวนที่มีคันดินกั้นเป็นตอนๆ เรียกว่า ขนัด ขนาดความยาวของขนัดขึ้นอยู่กับความยาวของหลังร่องสวน ขนัดไม่มีขนาดที่แน่นอนมีทั้งใหญ่และเล็ก

สมัยก่อนที่แม่น้ำแม่กลองจะมีเขื่อนกั้นน้ำ จะมีน้ำเหนือ หรือ หน้าน้ำหลากทุกปี ในช่วงหน้าฝนต่อหน้าหนาวจะมีช่วงเวลาที่น้ำจืดนาน ชาวสวนจะปลูกข้าวในท้องร่องสวนด้วย โดยจะเว้นระยะหลังร่องสวนให้มีระยะห่างกันประมาณร่องละสี่วา ถ้าร่องสวนแคบกว่านี้ข้าวจะไม่งาม เพราะมีร่มเงาของมะพร้าวมากเกินไป ถ้าไม่คิดทำนาในร่องสวนก็จะเว้นระยะห่างของท้องร่องประมาณสามวา ซึ่งเป็นลักษณะของสวนในปัจจุบัน ที่ไม่มีการทำนาในร่องสวนแล้วภายหลังจากการสร้างเขื่อน โดยท้องร่องสวนนั้นชาวสวนจะขุดลึกประมาณหนึ่งชั้นพลั่ว เอาดินไปทำหลังร่อง

การปลูก เมื่อชาวสวนคัดมะพร้าวน้ำตาลไว้ทำพันธุ์ จะปล่อยให้ติดลูกในช่วงฤดูฝน รอให้ผลมีสีเหมือนก้ามปูทะเล และก้นเป็นสีน้ำตาลไม่อ่อนและไม่แก่เกินไป (ผลที่อ่อนเกินไปเมื่อนำไปเพาะหัวจุกและกะลาจะเน่า ผลที่แก่เกินไป หรือ ปล่อยให้ตกลงมาจากต้นเองจะกระเทือนมาก อัตราการออกเป็นต้นจะไม่ดีและจะกลายพันธุ์) แล้วจึงปีนขึ้นไปตัดทะลายมะพร้าว โดยผูกทะลายแล้วโรยเชือกลงสู่พื้นดิน แล้วจึงใช้มีดคมปาดเปลือกใกล้หัวจุกให้โดนส่วนที่เป็นจุก โดยปาดด้านบนเพื่อให้ออกได้ง่ายขึ้น และปาดด้านล่างที่จะวางลงบนพื้นดิน วางไว้บนดินที่มีความชุ่มชื้นระวังไม่ให้เปลือกแห้ง

เมื่อถึงฤดูฝนในปีถัดไปมะพร้าวพันธุ์จะมีใบอ่อนสองสามใบ ซึ่งเป็นระยะที่มะพร้าวกินอาหารที่สะสมอยู่ในจาวมะพร้าวภายในกะลาหมดแล้ว รากเริ่มกินดินได้แล้วจึงใช้มีดคมๆ ตัดรากนำไปลงหลังร่องสวนที่เตรียมดินไว้ การปลูกมะพร้าวถี่ หรือ ห่าง ให้ผลต่างกัน คือ การปลูกถี่จะออกงวงช้าและสูงเร็ว การปลูกห่างจะออกงวงมากและสูงช้า ชาวสวนจึงลงมะพร้าวโดยมีระยะห่างกันประมาณสี่วา หรือ สี่วาเศษ ประมาณ 7-12 ต้น ต่อความยาวของร่องสวน หลังจากนั้นจะทำดินเสริมหลังร่อง หรือ โกยดินทุกๆ 1- 3 ปีต่อครั้ง เพราะรากมะพร้าวขยายออก

การเหนี่ยวงวงปาดตาล เมื่อมะพร้าวออกงวง (จั่นหรือดอกที่ยังตูมอยู่) เป็นช่วงที่ดอก หรือ จั่นกำลังจะเปลี่ยนดอกอ่อนสีเหลือง เป็นดอกแก่สีเขียว งวงจะชี้ขึ้นฟ้า ถ้าไม่เหนี่ยวงวงตามกรรมวิธี ก็จะไม่สามารถเอากระบอกไปแขวนรองน้ำตาลได้
ดังนั้น เมื่อเริ่มทำน้ำตาลจึงต้องเหนี่ยวงวงก่อน เพื่อให้สะดวกเมื่อจะปาดปลายงวงเพื่อทำน้ำตาล น้ำตาลจะได้ไหลลงในกระบอกที่แขวนรองอยู่ การเหนี่ยวงวงต้องทำค่อยๆ ทำเมื่อออกงวงใหม่ๆ หรือกะเปี้ยวยังตูมและนิ่มอยู่

การเหนี่ยวงวงถ้ารีบเกินไปคองวงจะพับน้ำตาลไม่ออก ต้องควรดูงวงที่กำลังดีไม่นิ่มไม่แข็งเกินไป แล้วเอาเชือกผูกค่อนไปทางปลายงวง จากนั้นก็นำไปเหนี่ยวไว้กับทางมะพร้าวที่อยู่ต่ำลงไป เพื่อให้งวงค่อยโน้มปลายลงที่ละน้อยด้วยการผูกร่นเชือกลงมาวันละน้อย หรือวันเว้นวัน แล้วเริ่มปาดปลายงวงที่มีกะเปี้ยวหุ้มอยู่ปาดไปทุก ๆ วัน จะค่อยมีน้ำตาลไหลออกมา แต่น้ำตาลยังเดินไม่ดี ปาดไปจนประมาณหนึ่งในสามของความยาวงวงก็จะให้น้ำตาลมากพอที่จะเอากระบอกมาแขวนรองน้ำตาลที่ไหลออกมาได้ เมื่อดอกที่อยู่ภายในกะเปี้ยวกำลังจะเปลี่ยนสีจากสีเหลืองหรือดอกอ่อนเป็นสีเขียว หรือดอกแก่ กะเปี้ยวจะแตกลาย ก็จะเลาะเอากะเปี้ยวออกซึ่งจะทำให้ก้านดอกมากมายบานออก เพื่อจะติดลูกก็จะใช้เชือกมัดจั่นหรือดอกให้รวมเป็นมัด เหมือนตอนที่ยังมีกะเปี้ยวหุ้มอยู่ โดยมัดเป็นเปลาะ ๆ แบบมัดข้าวต้ม ถ้างวงใหญ่ก็มัดถี่ งวงเล็กก็จะมัดห่าง การปาดตาลถ้าตาลออกดีปาดบางก็จะทำได้นาน และทำได้จนถึงโคนงวง ถ้าตาลไม่ดีออกน้อยปาดตาลหนาหน่อย จะหมดงวงเร็ว

การนวดงวง และรูดดอก ในระหว่างที่เริ่มปาดตาลเมื่อชาวสวนขึ้นตาลตอนเช้า ชาวสวนจะเอามือแตะหน้างวงที่ปาดแล้วให้มีน้ำตาลติดมือ แล้วเอามือไปลูบไล้บีบนวดงวงมะพร้าว ไปจนถึงโคนงวง ทำเฉพาะตาลเช้า ส่วนตาลเย็นไม่ต้องนวด จะทำให้น้ำตาลออกดี เพื่อไม่ให้หนอนกินงวงที่เริ่มปาดตาลแล้ว ชาวสวนจะรูดดอกออกไปในระยะที่ดอกกำลังเปลี่ยนจากสีเหลืองไปเป็นสีเขียว (ดอกอ่อนจะมีสีขาว แล้วจึงเป็นสีเหลืองและสีเขียวตามลำดับ) โดยจับปลายก้านดอกรูดทีละก้าน ส่วนที่อยู่ในเข้าไปจะใช้ปลายมีดปาดตาลจิกลงไปที่ดอก หรือ ลูกที่กำลังงอกออกมาเพื่อให้ลูกตาย เพราะถ้าติดลูกน้ำตาลจะไม่ออก ตอนที่กะเบี้ยวหุ้มจั่นแตกลายหรือเริ่มแก่ ชาวสวนจะเลากะเบี้ยวออก ในขณะเดียววกันจะมีงวงน้องที่งอกใหม่ ให้เริ่มท่าการเหนี่ยวงวงได้ มะพร้าวต้นหนึ่งอาจทำได้ถึงสองงวงหรือสามงวงพร้อม ๆ กัน และต่อเนื่องกันไป ต้นที่ดีมาก ๆ อาจมีถึงสี่งวงแต่หายาก

พะองและกระบอกไม้ไผ่ ที่ใช้ทำพะองสำหรับปืนขึ้นไปปาดตาลนั้น จะต้องเลือกให้เหมาะสม คือ ไม้ไผ่ท่อนแรกจากโคมที่เรียกว่า ไม้โคนซอนั้นไม่เหมาะที่จะทำพะอง เพราะเนื้อหนาน้ำหนักมากและมีปล้องถี่เกินไป ไม่สอดคล้องกับจังหวะก้าวปีนลูกพะอง (ต้องใส่เหนือข้อ) ไม้ไผ่ที่จะใช้ทำพะองคือ ท่อนที่อยู่ถัดจากโคนซอขึ้นไป ซึ่งอาจยาวถึงเจ็ดวา เป็นท่อนที่มีปล้องห่างเหมาะที่จะนำมาเจาะรูเหนือข้อแล้วใส่ลูกพะองหรือลูกสลัก เพื่อเป็นขั้นบันไดสำหรับใช้เหยีบปีนขึ้นไป ลูกพะองทำจากไม้ฝาด ซึ่งเป็นไม้ขึ้นอยู่ชายเลน มีเนื้อเหนียวและทนทาน ไม้พะองแต่ก่อนมีอายุใชฃ้งานได้ 4 -5 ปี

การพาดไม้พะองกับต้นมะพร้าว ถ้ามะพร้าวสูงสี่วาต้องใช้ไม้พะองยาวห้าวา คือ ไม้พะองจะต้องยาวเลยคอมะพร้าวไปประมาณหนึ่งวา จะทำให้มั่นคงเวลาปีนขึ้นลง ไม้พะองยาวที่สุดที่ชาวสวนใช้คือไม้เจ็ด (เจ็ดวา) ถ้ามะพร้าวสูงกว่านี้ต้องใช้วิธีปาดต้น

กระบอกน้ำตาล มีหลายขนาดแล้วแต่ตาลต้นไหนออกมากออกน้อย ต้องเลือกใช้ขนาดที่เหมาะสมกัน กระบอกน้ำตาลทำจากกระบอกไม้ไผ่ โดยเอามาลอกเปลือกออก เพื่อป้องกันไม่ให้เปลือกซึ่งเมื่อแห้งแล้วจะรัดตัวกระบอกให้แตกร้าวได้ง่าย
อีกประการหนึ่งเมื่อลอกเปลือกออกแล้วจะทำให้ภายในกระบอกเย็นขึ้น น้ำตาลไม่บูดง่ายหรือมีฟองมาก

เตาตาล ก่อนสงครามมหาเอเซียบูรพา ชาวสวนใช้เตาโดด เคี่ยวน้ำตาล ซึ่งเคี่ยวได้ทีละกะทะ ต่อมาได้พัฒนาเป็นเตาตูน มีสองกระทะ ต่อช่องไฟให้ถึงกัน และต่อช่องมีรูให้ควันออกได้หลายรู เพื่อนำกระบอกน้ำตาลที่ล้างเสร็จแล้วมาคว่ำลงบ เพื่อรมควันให้แห้ง

หลังสงครามมหาเอเซียบูรพา ได้พัฒนาเป็นเตาปล่อง ซึ่งสามารถเพิ่มลูกเตาเป็นแถวเรียงต่อกัน สามารถเคี่ยวน้ำตาลได้ ตั้งแต่ 2 – 6 กะทะพร้อมกัน อิฐก่อเตา จะมีรูปลักษณะและขนาดต่างจากอิฐที่ใช้งานทั่วไป มีอยู่หกแบบหลัก ๆ มีชื่อเรียกว่า ลูกหมู อุโมงค์ ขื่อกลาง วางข้าง ขื่อหน้า และอิฐปล่อง เป็นการเรียกชื่อตามการใช้งานที่เป็นส่วนประกอบต่างๆ ของเตาตาลนั่นเอง

อิฐทำเตาตาลทำจากดินผสมแกลบและขี้เถ้าแกลบ ใช้ดินเหนียวปนทราย โดยนำดินดังกล่าวที่เรียกว่าดินนวล เอามาแช่น้ำไว้เจ็ดวันแล้วจึงนำมาโม่ตามส่วนผสมอัดเป็นก้อนแล้วผึ่งในที่ร่มประมาณหนึ่งเดือนให้แห้งสนิท ถ้าไม่แห้งเวลาเผาจะร้าว จากนั้นนำไปเผาเจ็ดวัน ถ้าเผาทีละมาก ๆ อาจต้องเผาถึง 15 วัน เมื่ออิฐสุก แล้วต้องปล่อยให้เย็นลงในเตาไฟอีก4 – 5 วัน จึงนำออกจากเตา ก็จะได้อิฐทนไฟทนฝน เมื่อก่อเตาแล้วใช้ปูนขัดมันฉาบโดยผสมฝุ่นแดงหือดำให้เตาสวย ส่วนปล่องใช้ปูนขาวผสมซีเมนต์ในการเชื่อมอิฐหรือก่ออิฐโดยจะไม่ฉาบผิวนอก

การขึ้นตาล ก่อนขึ้นตาลชาวสวนจะเอาไม้พยอม ไม้เคี่ยม หรือไม้ตะเคียน สับเป็นชิ้นเล็กๆ ใส่ไว้ในกระบอกน้ำตาลเพื่อกันน้ำตาลบูด เพราะต้องแขวนรอน้ำตาลไว้หลายชั่วโมง ก่อนนำไปเคี่ยว ไม้ดังกล่าวยังทำให้น้ำตาลเป็นตัว เวลาเคี่ยวอีกด้วย มิฉะนั้นเวลาเคี่ยวน้ำตาลๆ จะไม่แห้งหรือไม่เป็นตัว หรือจะเยิ้มเป็นน้ำคืนตัวอย่างรวดเร็ว ชาวสวนจะขึ้นตาลตอนเช้า ผู้ที่แข็งแรงเต็มที่จะขึ้นตาลได้รายละ 100 – 120 ต้น แล้วแต่ต้นสูงหรือเตี้ย คิดเป็นน้ำตาลแห้งประมาณสองปีบ เสร็จประมาณเที่ยงวัน ตาลเวลาเช้าจะออกมากกว่าตาลเวลาเย็น

ในการขึ้นตาลชาวสวนจะต้องนำกระบอกเปล่าลูกใหม่ไปเปลี่ยนกระบอกเดิม เวลาปีนลงจะต้องนำกระบอกน้ำตาลใสหรือน้ำตาลสดลงมาด้วย โดยทั่วไปชาวสวนจะพักตาลช่วงหน้าแล้ง ถ้าไม่พักจะออกงวงน้อยลง เล็กลง และสั้นลง หรือออกวงห่างออกไปหรือหมดงวง แต่ถ้ามีที่ดินมากก็ใช้วิธีทำสลับต้นกัน ก็จะทำน้ำตาลได้ตลอดปี

การเคี่ยวตาล ชาวสวนจะเอากระบอกน้ำตาลใสมากองรวมกันแล้วเทน้ำตาลผ่านผ้าขาวบางในกะชอน เพื่อกรองเอาไม้พะยอม ที่ใส่ไว้กับสิ่งแปลกปลอมอื่นๆ กะทะหนึ่งจะใส่น้ำตาลใสได้ประมาณเกือบสามปีบ ซึ่งจะเคี่ยวเป็นน้ำตาลแห้งได้ประมาณ 10 กิโลกรัม ในฤดูฝนจะใช้เวลาเคี่ยวนานกว่าหน้าแล้ง เพราะจะมีน้ำฝนปนอยู่ในน้ำตาลใส

เมื่อเริ่มเคี่ยว ขณะที่น้ำตาลยังไม่เดือดจะมีฟองมากก็ใช้กระชอนแบบมีด้ามถือช้อนฟองออก เมื่อน้ำตาลเริ่มเดือดฟูขึ้นก็จะใช้กระจังหรือโคครอบลงไปในกระทะ กันไม่ให้น้ำตาลล้นออกนอกกระทะ น้ำตาลจะข้นขึ้นตามลำดับ พอเป็นฟองเหนียวหรือเป็นสีดอกหมาก จากนั้นน้ำตาลจะปุดคือเอือดแต่เนื้อข้นมาก ชาวสวนจะหมุนไปมาไม่ให้น้ำตาลไหม้ รอจนเนื้อข้นหมดฟองก็ยกกะทะลงจากเตาแล้วใช้เหล็กกะทุ้งน้ำตาลหมุนวีไปมา เพื่อให้น้ำตาลละเอียดเสมอกัน และเย็นตัวลงเสร็จแล้วขอดใส่ปีบ หรือหยอดเป็นน้ำตาลปึก


ข้อมูลอ้างอิง

ม.ร.ว. ถนัดศรี สวัสดิวัฒน์. (๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓). ไทยรัฐออนไลน์. เรียกใช้เมื่อ ๑๕ สิงหาคม ๒๕๕๖ จาก บางช้างสวนนอก บางกอกสวนใน : http://www.thairath.co.th/content/life/67653

สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม. (๒๕๔๑). เมืองเก่าของไทย จังหวัดสมุทรสงคราม. เรียกใช้เมื่อ ๑๕ สิงหาคม ๒๕๕๖ จาก หอมรดกไทย: http://heritage.mod.go.th/nation/oldcity/oldcity.htm

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *