ผ้าทอบ้านหนองขาว…ภูมิปัญญาที่ยังดำรง

 

…ท้องถิ่นคนขยัน กล่าวขวัญวัวลาน
ตำนานหลวงพ่อ ผ้าทอหนองขาว สะเดาลือชื่อ
ข้าวหอมซ้อมมือ เลื่องลือน้ำตาลสด…

คำขวัญท้องถิ่น อัตลักษณ์แห่งชุมชน บ้านหนองขาว เป็นชุมชนที่ตั้งอยู่ ณ ต.หนองขาว อ.ท่าม่วง จ.กาญจนบุรี
ชุมชนแห่งนี้มีคำขวัญท้องถิ่น
เป็นถ้อยคำบอกกล่าวถึงอัตลักษณ์แห่งชุมชน ดังคำกล่าวเกริ่นนำ อันเป็นภาพสะท้อนความเป็น “หนองขาว” ให้เห็นถึงวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ ตลอดจนอาชีพของคนในท้องถิ่นตำบลหนองขาวได้เป็นอย่างดี หากแต่ในมิติของพื้นที่ คำกล่าวที่ว่า “หมู่บ้านใหญ่ไก่บินไม่ตก” ก็เป็นสิ่งที่บ่งบอกอย่างชัดเจนถึงความกว้างใหญ่และหนาแน่นของชุมชน ซึ่งชี้ชัดได้จากบ้านเรือนนับพันหลังคาเรือน ที่อยู่ชิดติดกัน จนแม้ไก่ก็ยังไม่มีช่องว่างพอจะให้บินร่อนปีกลง

รอบรั้วที่ไม่มีรั้วรอบ…ในบ้านหนองขาว
ความเป็นวงศาคณาญาติของชาวหนองขาว ทำให้บ้านแต่ละหลัง ซึ่งส่วนใหญ่สร้างด้วยไม้ มีใต้ถุนสูงไม่มีรั้วกั้น ช่วยกระชับความสัมพันธ์ในหมู่เครือญาติ ตลอดจนเพื่อนบ้าน ให้ยังคงแน่นแฟ้นมาอย่างยาวนาน สิ่งนี้กระมังที่เป็นส่วนหนึ่งให้ “หนองขาว” ยังคงมีความเป็นชุมชนหลงเหลืออยู่อย่างมาก

ท้องถิ่นนิยม…ของคนหนองขาว
การแสดงออกใน “ความรักท้องถิ่น” จนอาจกล่าวได้ว่า เป็นพวก “ท้องถิ่นนิยม” ของคนหนองขาว มีให้เห็นโดยทั่วไปในชีวิตประจำวัน ตลอดจนวาระโอกาส เทศกาลงานประเพณีต่างๆ และสิ่งหนึ่งที่ชาวหนองขาวต่างแสดงออก ในความเป็น “คนหนองขาว” คือ ภูมิปัญญาด้านผ้าทอ

จากหูกทอมือ…สู่กี่กระตุก
การทอผ้า เป็นภูมิปัญญาที่ชาวบ้านหนองขาวสืบทอดกันมา ด้วยความผูกพันของคนในครอบครัวจากรุ่นสู่รุ่น จากการทอหูก พัฒนาไปสู่กี่กระตุก สตรีชาวหนองขาวซึ่งเป็นคนมีความมานะอดทน ขยันทำมาหากิน ไม่ย่อท้อต่อความเหนื่อยยาก จึงยังคงสืบต่อภูมิปัญญาโบราณนี้ให้แก่ลูกหลาน ซึ่งมักจะได้เรียนรู้ใกล้ชิดการทอผ้าจากแม่ พี่ ป้า น้า อา ย่า ยาย ด้วยความคุ้นชินกับภาพของการกลับจากไร่นามานั่งทอผ้าใต้ถุนบ้านแทบทุกครัวเรือน

หลากภูมิปัญญา…บนผืนผ้าทอ
การทอผ้าใช้ในชีวิตประจำวันของชาวหนองขาว จะทอเป็นผ้านุ่ง ผ้าถุง ผ้าโจงกระเบน โสร่ง นอกจากนี้มีการทอผ้าขาวม้าลายต่างๆ เช่น ตาหมากรุก ตาคู่ ตาเหลือง ตาขาว โดยมีผ้าขาวม้าลายสำคัญอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น คือ ลายตาจัก ซึ่งมีลายดั้งเดิม คือ ตาจักแดง ที่มักจะถูกนำมาใช้เป็นผ้าในงานประเพณี และพิธีทางศาสนา เช่น พิธีบวช ใช้เป็นผ้าปู สำหรับรับไหว้เมื่อนาคมาลาผู้เฒ่าผู้แก่ ทั้งในการลาบวชและลาสิกขา ใช้เป็นผ้าประจุให้พระลงคาถาสำหรับผู้ที่จะลาสิกขาใช้พาดบ่านุ่งห่มออกจากวัด โดยนับเป็นเสื้อผ้าชุดแรกสำหรับทิดสึกใหม่ พิธีแต่งงาน ฝ่ายเจ้าสาวจะทอผ้าขาวม้าลายตาจัก เพื่อมอบให้เจ้าบ่าวพร้อมเสื้อผ้าอีก 1 ชุด เพื่อสวมใส่ในการตักบาตร และใช้เป็นผ้าสำหรับแขวนเรือนหอ ส่วนในพิธีทางศาสนาเมื่อไปทำบุญฟังเทศน์ฟังธรรมที่วัด สุภาพบุรุษมักจะใช้เป็นผ้าพาดบ่า และผ้ากราบ ส่วนสุภาพสตรีจะใช้ผ้าสไบ หรือผ้ากราบเป็นผ้าขาว หรือผ้าทอลายตาเหลือง ตาขาว ไม่มีประเพณีใช้ผ้าตาจักเพื่อนุ่งห่มสำหรับสุภาพสตรี แต่ในปัจจุบันจะพบมีการประยุกต์นำมาตัดเสื้อสำหรับสวมใส่

ผ้าขาวม้าร้อยสี…ของดีบ้านหนองขาว
คำเรียกผ้าขาวม้าบ้านหนองขาวแต่เดิม มีการเรียกขานตามลักษณะของลวดลาย นอกจากลายตาจักแล้ว ยังมีตาเหลือง ตาขาว ตาหมากรุก ตาคู่ ตาเล็ก ต่อมาเมื่อมีการนำกี่กระตุก และวัตถุดิบชนิดใหม่ คือ เส้นใยประดิษฐ์หลากสีมาใช้ ผ้าทอบ้านหนองขาวจึงมีสีสรรหลากหลายยิ่งขึ้น เป็นที่มาของคำเรียก “ผ้าขาวม้าร้อยสี” อันเป็นเอกลักษณ์ที่คนทั่วไปรู้จักเป็นอย่างดี และผู้ที่ให้สมญานามนี้ คือ “คุณคำรณ หว่างหวังสี”  ซึ่งให้ไว้เมื่อมาถ่ายทำรายการโทรทัศน์ เมื่อประมาณ พ.ศ. 2546

ผ้าขาวม้าร้อยสี…ในหลากวิถีการตลาด
ปัจจุบัน การผลิตผ้าทอของบ้านหนองขาว นอกจากจะผลิตผ้าขาวม้า และผ้าทอแบบดั้งเดิมแล้ว ยังมีการแปรรูปผ้าขาวม้าเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น เช่น เสื้อ กระโปรง กางเกง กระเป๋าสะพาย กระเป๋าใส่เศษสตางค์ ย่าม หมวกไอ้โม่ง กล่องใส่ทิชชู ซองใส่ทิชชู ตุ๊กตาแขวนผ้าเช็ดมือ รองเท้าใส่ในบ้าน ฯลฯ

เส้นทางผ้าทอ…อุตสาหกรรมการผลิตผูกพัน
การทอผ้าที่บ้านหนองขาว มีขั้นตอนกระบวนการที่อาจเรียกได้ว่า เป็น “อุตสาหกรรมการผลิตผูกพัน” เนื่องจากมีการส่งต่อวัตถุดิบ ส่งต่อกระบวนการ ในแต่ละขั้นตอนของการทอผ้า จากบ้านสู่บ้าน จากประธานกลุ่มสู่ลูกกี่ จากเส้นด้ายเริ่มต้นจนเป็นผืนผ้า มีหลากหลายผู้คนที่เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้อง

กระบวนการทอผ้าจากไหมประดิษฐ์…เส้นใยต้นทาง
การผลัดหลอด
หรือ กรอด้าย กระบวนการทอผ้าเริ่มจากขั้นตอนแรก  คือ การนำไหมประดิษฐ์ ซึ่งม้วนเป็นไจจากโรงงานมาผลัด หรือ กรอถ่ายจากไจเข้าหลอดด้าย ด้วยอุปกรณ์ คือ “ไน” กับ “ระวิง”  (ไน บางแห่งเรียก หลา ทางภาคเหนือเรียกว่า กวง, เผี่ยน, เพียน ระวิง บางแห่งเรียก กง)



ขั้นตอน

  • นำไหมประดิษฐ์มาคล้องกับ “ระวิง” กระจายเส้นด้ายออกเพื่อไม่ให้พันกัน
  • ดึงปลายด้ายจากหัวของไจด้าย มาผูกกับหลอดที่จะกรอ และเสียบหลอดเข้ากับแกนไน
  • ใช้มือขวาหมุนวงล้อของไน มือซ้ายประคองเส้นด้ายให้วิ่งขึ้นลงบนหลอดด้ายตามแนวนอน
  • เมื่อกรอด้ายจนหมดไจเต็มหลอดแล้ว จึงเปลี่ยนหลอดใหม่มาผลัดหลอดต่อไป

ปัจจุบัน การผลัดหลอดมีการประยุกต์ใช้มอเตอร์แทนไน เพื่อช่วยทุ่นแรงในการหมุนด้วยมือ ซึ่งแรงงานที่ทำในขั้นตอนนี้ส่วนมากจะเป็นผู้สูงอายุ ซึ่งใช้เวลาว่างทำเป็นงานอดิเรก พอมีรายได้เล็กๆ น้อยๆ ในราคาหลอดละ 1 บาท 50 สตางค์

การตั้งลาย คือ การกำหนดลายโดยวางด้ายตามตำแหน่งบนอุปกรณ์ คือ “ม้าตั้งลาย” ซึ่งทำเป็นราวมีหลักสำหรับเสียบหลอดด้าย (บางแห่งเรียก ราวหลักด้าย ราวตั้งหลอด การทอผ้าแบบโบราณ ใช้อุปกรณ์ เรียกว่า ม้าสะกน)

ขั้นตอน

  • คำนวนความยาวของผ้าและลายที่ต้องการทอ กำหนดตำแหน่งในการวางด้ายแต่ละสี
    เรียงจากขวาไปซ้ายตามลำดับสีของลายที่กำหนด
  • นำหลอดด้ายที่ผลัดไว้ตามจำนวนสีของลายที่จะทอ มาวางตามตำแหน่งที่กำหนด โดยเสียบกับหลักบนม้าตั้งลาย

การค้นด้าย คือ การกำหนดความกว้างยาวของด้ายยืน ให้ได้ความกว้างยาวตามที่ต้องการจะทอ ใช้อุปกรณ์ คือ “ม้าตั้งลาย”  “ม้าค้น” (บางแห่งเรียก หลักค้น)และ “กระบอกจูงด้าย

ขั้นตอน

  • ดึงปลายด้ายจากทุกๆ หลอดบนม้าตั้งลายมารวมกันตามลำดับที่จัดเรียง
  • ใช้กระบอกจูงด้ายซึ่งทำจากไม้ไผ่มาคล้องด้ายทั้งหมดดึงประคองเส้นด้าย นำมาพันบนม้าค้นเพื่อทำเป็นด้ายยืน
  • เดินสาวด้ายวนกลับไป-มา คล้องหลักที่ม้าค้น เริ่มจากซ้าย หรือ ขวา ขึ้นกับการคำนวณจำนวนผ้าที่ต้องการทอ
    ในการทอ 50 ผืน จะเริ่มจากซ้ายไปขวา ส่วน 70 และ 80 ผืน จะเดินจากขวาไปซ้าย เพื่อให้ได้ความยาวของเนื้อผ้าเพิ่มขึ้น
    เมื่อเดินสุดแต่ละด้านก็คล้องด้ายเข้ากับหลักของม้าค้นด้านนั้น
  • เดินค้นด้ายให้ครบตามจำนวนความยาวของผ้าที่จะทอ โดยปกติจะค้นด้ายยืนจำนวน 50, 70, 80 ผืน
    ซึ่งในจำนวน 50 ผืนนั้น หากนับความยาวของด้ายที่ต้องเดินค้นเพื่อเตรียมด้ายยืนนี้ เป็นระยะทางประมาณ 1,600 เมตร
    หรือ 1.6 กิโลเมตร หรือหากต้องการค้นจำนวน 80 ผืน จะเป็นระยะทางประมาณ 2,000 เมตร หรือ 2 กิโลเมตร

การรำวง คือ การเก็บด้ายทีละเส้นจากหลอดบนม้าตั้งลายมาพันไว้ที่นิ้วมือเป็นขั้นตอนหนึ่งในการค้นด้าย เมื่อค้นด้ายเที่ยวแรก(เที่ยวไป) ครบทุกหลัก ตามจำนวนความยาวของผ้าที่จะทอแล้วต้อง “รำวง” 1 ครั้ง

ขั้นตอน

  • ใช้นิ้วเกี่ยวด้ายทุกเส้นจากหลอดบนม้าตั้งลายมาไขว้ที่ปลายนิ้วโป้ง ตามลำดับจากบนลงล่าง ซ้ายไปขวา
  • เมื่อเกี่ยวด้ายครบทุกหลอดนับเป็นการรำวง 1 ครั้ง ในการทอผ้า 50 ผืน จะต้องรำวง 8 ครั้ง หากทอผ้า 80 ผืน ต้องรำวง 10 ครั้ง
  • เดินค้นด้ายเที่ยวที่ 2 (เที่ยวกลับ) ให้ครบทุกหลักจนมาบรรจบกับหลักเริ่มต้นบนม้าค้น เป็นการจบการเดินค้นด้าย 1 เที่ยว
    ทำเช่นนี้สลับกันไปจนครบตามจำนวนความยาวที่ต้องการ
  • เมื่อครบแล้วจึงปลดด้ายออกจากม้าค้น ด้วยการถักเปียกลุ่มด้ายที่ค้นแล้วให้เป็นห่วงโซ่ เพื่อไม่ให้ด้ายพันกัน
    และสะดวกต่อการนำด้ายไปทำในขั้นตอนต่อไป

การร้อยฟันหวี หรือ สอดฟืม คือ การสอดเส้นด้ายที่ผ่านการเดินด้ายแล้ว มาร้อยใส่ในช่องฟันหวี หรือ ฟืม ซึ่งมีลักษณะเป็นกรอบสี่เหลี่ยมผืนผ้า ทำจากไม้ หรือ โลหะ มีฟันเป็นซี่ ถี่ๆ คล้ายหวี เป็นช่องสำหรับสอดด้ายยืน ฟันหวี หรือฟืม ทำหน้าที่กระทบด้ายพุ่งที่สอดขัดกับด้ายยืนให้เรียงชิดกัน หวีมีขนาดความกว้างและความถี่ต่างกัน และเป็นตัวกำหนดจำนวนเส้นด้ายยืน เช่น หวีเบอร์ 61 ในความกว้าง 1 นิ้ว จะมีช่องฟันหวี 31 ช่อง เมื่อร้อยเส้นด้ายเข้าไปในช่องฟันหวี ช่องละ 2 เส้น จะมีเส้นด้ายรวม 62 เส้นต่อ 1 นิ้ว แต่หากใช้หวีเบอร์ต่ำกว่าเบอร์ 61 เช่น เบอร์ 32 จำนวนซี่ฟันต่อ 1 นิ้ว จะห่างกว่าความถี่-ห่างของหวี มีผลต่อเนื้อผ้า คือ ฟันห่าง ด้ายยืนจะบางทำให้เนื้อผ้าไม่แน่น ฟันถี่ ด้ายยืนจะหนาเนื้อผ้าแน่นละเอียดกว่า การจะใช้หวีขนาดใดขึ้นกับความหนาบางของเนื้อผ้า อุปกรณ์ที่ใช้ คือ หวี หรือฟืม ขอรับด้าย (บางแห่งเรียก ไม้กวัก) ซึ่งเดิมทำจากไม้ไผ่ ปัจจุบันประยุกต์ทำจากไม้บรรทัดเหล็ก

ขั้นตอน

  • นำด้าย มาร้อยใส่ในฟันหวี หรือฟืม ขั้นตอนนี้ต้องช่วยกัน 2 คน
  • คนที่ 1 ส่งด้าย โดยดีดเส้นด้ายที่ผ่านการรำวงมาแล้วออกจากกลุ่มด้าย ให้เส้นด้ายไปเกี่ยวกับขอรับด้ายที่คนที่ 2 ถือสอดรับอยู่ในฟันหวี
  • ร้อยเส้นด้ายทีละเส้น ให้เข้าไปอยู่ในฟันหวีทีละช่องให้ครบทุกเส้น จนกว่าด้ายจะหมดครบทุกช่องตามจำนวน

การหวีเก็บความยาวเข้าม้วน เป็นการนำด้ายยืนที่ร้อยฟันหวี หรือเข้าฟืมแล้ว มาแผ่เส้นจากที่ถักเปียเป็นกำอยู่ให้กระจายออกพร้อมกับหวีเก็บเข้าไม้ม้วนผ้า ขั้นตอนนี้ต้องช่วยกัน 2-3 คน อุปกรณ์ที่ใช้ คือ ม้าหวี สำหรับวางขึงด้ายที่จะม้วนปลายด้านหนึ่งมีคานหัวม้วน ซึ่งมีใบพัดสำหรับถีบติดอยู่(บางแห่งเรียก ระหัดถักด้าย) อีกด้านหนึ่งมีม้าทับ(บางแห่งเรียก ม้าก๊อปปี้) สำหรับทับเส้นด้ายให้ตึง สะดวกต่อการหวี ไม้ม้วนผ้า หรือ ไม้กะพั้น (บางแห่งเรียก ไม้กำผ้า ไม้กำพั่น กำพั้น หรือ พั้นรับผ้า) สำหรับม้วนเส้นด้ายที่ถูกแผ่กระจายออกให้เรียงเส้นเป็นระเบียบ ฟันหวี กะนัด (ไม้แบบ 2 อัน สำหรับขัดเส้นด้ายบน-ล่าง กันด้ายยุ่ง) ไม้เรียว(บางแห่งเรียก ไม้คิ้ว)

ขั้นตอน

  • นำด้ายที่ร้อยฟันหวีมาวางขึงบนม้าหวี โดยสอดด้ายผ่านม้าทับหนีบให้แน่นเพื่อดึงด้ายให้ตึง
  • นำปลายด้ายด้านที่มีฟันหวีไปวางบนคานหัวม้วนด้านตรงข้ามกับม้าทับ ผูกด้ายเป็นระยะๆ เข้ากับแกนของไม้ม้วน
  • สอดกะนัด เข้าระหว่างด้ายบน-ล่าง กลับกะนัดและผูกกะนัด 2 อันไม่ให้หลุดออกจากกัน
  • คนที่ 1-2 จับฟืมด้านซ้าย-ขวา ค่อยๆ ขยับฟืมออกโดยให้หน้าฟืมขนานกับลูกม้วน ซึ่งจะช่วยให้หวีง่ายขึ้น
    ตรวจสอบฟันหวี ให้มีด้ายอยู่ครบทุกซี่ และคัดด้ายโดยใช้นิ้วมือดึงเส้นด้ายให้แยกจากกัน และใช้หวีสางด้ายไปพร้อมๆ กัน
    เพื่อจัดเส้นด้ายสลับบน-ล่าง ให้เรียงตัวสม่ำเสมอเรียบร้อยไม่พันกัน
  • คนที่ 2 ม้วนเส้นด้ายเข้าในแกนของไม้ม้วน โดยการถีบรหัสปั่นแกนไม้ด้านที่ผูกไว้กับม้าหวี
  • หวีและม้วนด้ายเก็บจนหมดความยาวของเส้นด้าย

การเก็บตะกอเขา หรือ เขาหูก (บางแห่งเรียก เขา หรือ หูก)    คือ การร้อยเชือกสีขาวคล้องเข้ากับด้ายยืนที่หวีเก็บม้วนแล้ว
เพื่อหิ้วเส้นด้ายยืนไว้ทุกเส้น การทอผ้าปกติใช้ 2 ตะกอ แต่ละตะกอทำหน้าที่คุมด้ายยืนให้ยกขึ้น – ลงสลับกัน ทำให้ด้ายยืนบน-ล่างแยกจากกัน สามารถสอดกระสวยพาด้ายพุ่งผ่านไป-มาได้ การเก็บตะกอเขาสำหรับผ้าทอที่บ้านหนองขาว จะทำใหม่ทุกครั้ง อุปกรณ์ที่ใช้ คือ ไม้ครู หรือ ไม้ตะกอเขา

การเก็บยก คือ ขั้นตอนสุดท้ายในการเตรียมด้ายยืน ก่อนนำไปผูกขึ้นกี่กระตุกเพื่อทอ การทอผ้าปกติทั่วไปจะทอสลับโดยยก 1 ข่ม 1 แต่ผ้าขาวม้าตาจักที่บ้านหนองขาว จะเพิ่มจุดเด่นด้วยการทอยก 2 ข่ม 2 ตรงกลางตาผ้าขาวม้าทุกตา พื่อให้เกิดลายนูน เป็นการเพิ่มลวดลายซึ่งเป็นเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น เมื่อเตรียมขั้นตอนเก็บยกเรียบร้อย ม้วนด้ายก็พร้อมเดินทางไปยังผู้ทอในขั้นต่อไป

การทอกี่กระตุก เป็นการประยุกต์เครื่องมือในการทอผ้าเลียนแบบระบบอุตสาหกรรม ตัวกี่ทำด้วยโครงไม้นั่งทอในท่าห้อยเท้า เช่นเดียวกับกี่มือ หรือ หูกทอ ต่างกันที่ด้ายยืนกี่มือจะเรียงตามแนวดิ่ง กี่กระตุกเป็นแนวนอน กี่มือใช้มือส่งกระสวยเส้นพุ่ง กี่กระตุกใช้มือกระตุกเชือกกลไกทำให้เกิดแรงกระแทกดันกระสวยพุ่งไป แทนการสอดด้วยมือช่วยให้ทอผ้าได้เร็วขึ้น
กี่กระตุกมีขนาดใหญ่กว่ากี่มือ มีส่วนประกอบ คือ ฟันหวี ตะกอเขา ไม้เหยียบหูก (บางแห่งเรียก คานเหยียบ หรือ ตีนเหยียบ)
คานแขวน(บางแห่งเรียก คานหาบหูก) สายกระตุก หรือ เชือกดึงเวลาพุ่งกระสวย เป็นที่มาของการเรียก “กี่กระตุก”  ไม้พาดนั่ง ไม้ม้วนผ้า ไม้ไขว้ ด้ายยืน รางกระสวย กระสวย หลอดด้ายพุ่ง

ขั้นตอน

  • ยกลูกม้วนขึ้นกี่ ขึงด้าย นำตะกอเขาอันที่ 1 แขวนห้อยกับคานหลังคากี่ด้านบน อันที่ 2 ผูกโยงกับไม้เหยียบหูกด้านล่าง
  • เมื่อผู้ทอเหยียบไม้เหยียบหูก สลับซ้าย-ขวา จะทำให้ตะกอเขาถูกดึงยกขึ้น-ลง แยกด้ายยืนบน-ล่างออกจากกัน
  • ผู้ทอกระตุกเชือก กระสวยด้ายจะพุ่งผ่านด้ายยืนที่แยกออกวิ่งไปตามราง
  • ผู้ทอดึงฟันหวี หรือ ฟืม เข้าหาตัวเพื่อกระทบด้ายพุ่ง ทุกครั้งที่พุ่งจากริมผ้าด้านหนึ่งไปอีกด้านหนึ่ง ทำให้ด้ายพุ่งเรียงชิดกัน
    ทำเช่นนี้สลับกันไป-มา จนได้ความยาวของผ้าที่ต้องการ

ผ้าขาวม้าตาจัก…เอกลักษณ์ต่อยอดการจักสาน

ผ้าขาวม้าตาจัก เป็นลายเอกลักษณ์ดั้งเดิมของชาวหนองขาว ซึ่งได้จดลิขสิทธิ์ไว้ในปัจจุบัน การทอผ้าขาวม้าลายตาจัก เป็นการปรับประยุกต์ต่อยอดภูมิปัญญาการจักสานสู่การทอผ้า ลวดลายที่เด่นชัดของผ้าขาวม้าตาจัก คือ ตายกและตาจัก ที่ทอลวดลายเรียงร้อยล้อกันไปทุกตาตลอดผืนผ้า การทอผ้าขาวม้าตาจักนั้น ต้องใช้ฝีมือและเวลาในการทอค่อนข้างมาก ฝีมือของผู้ทอจึงมีผลต่อราคา โดยประมาณอยู่ที่ผืนละ 200 – 220 บาท ผ้าแต่ละผืนมีความยาวประมาณ 2 เมตร และกว้างถึง 32 นิ้ว และในปัจจุบันได้มีการนำเส้นใยที่เรียกว่า “ไหมประดิษฐ์” มาใช้ทอ ทำให้มีสีสรรสดใสเป็นมันวาวดูคล้ายผ้าไหม สวมใส่สบาย ดูแลรักษาง่าย จึงได้รับความนิยมนำไปตัดเย็บเป็นเสื้อผ้าที่สามารถสวมใส่ได้งดงามไม่เฉพาะคนในท้องถิ่นหนองขาวเท่านั้น

เอกลักษณ์ลายตาจักที่ควรรู้ ผ้าขาวม้าลายตาจัก มีลายที่ต่างจากตาผ้าขาวม้าทั่วไป ซึ่งเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของบ้านหนองขาว คือ ตาจักและตายก นอกจากนี้ยังมีการเพิ่มลวดลายคั่นกลางตาผ้าและตาจักทุกตา ด้วยการทอเอ็นคั่นกลางตาในแนวยืน และทอยกลายคั่นกลางตาในแนวพุ่ง เป็นจุดเด่นที่สามารถเพิ่มความงามให้กับลายผ้ามากยิ่งขึ้น

ตาของผ้าขาวม้าตาจักในแต่ละกี่ จะมีขนาดและจำนวนต่างกันขึ้นกับปริมาณการตั้งลายเพื่อทอในแต่ละครั้ง ปกติจะตั้งลายผ้า 50, 70 และ 80 ผืน การตั้งลายผ้าที่มีจำนวนผืนไม่เท่ากันใช้วิธีคำนวณต่างกันและมีความแตกต่างของลาย เช่น ตาผ้าจำนวน 50 ผืน จะมีตาเล็กกว่า 70 ผืน การตั้งลายผ้า 70 ผืน จะจบลายตาแดงริมผ้าด้านซ้าย-ขวา ทำให้ริมผ้าสวยงามเหมือนกันทั้ง 2 ด้าน ในการตั้งลายผ้าทุกครั้ง ผู้ตั้งลายต้องคำนึงถึงจำนวนของผ้าที่ต้องการให้สัมพันธ์กับความกว้างของผ้าโดยประมาณ 32 นิ้ว เพื่อให้ทราบว่าจะต้องค้นด้ายกี่เที่ยว มีจำนวนตาผ้ากี่ตา เช่น ตาแดง 1 ตา ต้องมีด้ายประมาณ 40 กว่าเส้น การจะสังเกตว่าผ้าแต่ละผืนตั้งลายด้วยสีอะไรบ้าง สามารถสังเกตได้จากด้ายยืนที่ชายผ้า ซึ่งจะเห็นสีของด้ายชัดเจนเพราะไม่มีสีของตาผ้า และลวดลายอื่นมาคั่น

บนเส้นทางของผืนผ้า
จากไจสู่หลอด จากหลอดสู่หลัก
จากการเดินค้นด้ายนับพันกิโล

สู่การร้อยเรียงถักทอ ผสมผสานเส้นด้ายยืนพุ่ง

กว่าจะได้มาซึ่งผืนผ้าจากหยาดเหงื่อแรงกาย
เรา…คนไทย…ควรหรือไม่
ที่จะร่วมด้วยช่วยกัน ดำรง “ภูมิปัญญาผ้าทอ”
______________________________________________________

ข้อมูลอ้างอิง

สัมภาษณ์
กรรณิกา ศศิธร. (๒๕๕๖).  สัมภาษณ์, ๒๘ มีนาคม.
หมากบ บุญเฉลย. (๒๕๕๕).  สัมภาษณ์, ๒๙ ธันวาคม.
หมาหลีก โตประยูร. (๒๕๕๖).  สัมภาษณ์, ๒๗ มีนาคม.
อดิศักดิ์ ฝอยทับทิม. (๒๕๕๖).  สัมภาษณ์, ๒๘ มีนาคม.

หนังสือ
ทรงพันธ์ วรรณมาศ.  ผ้าไทยลายอีสาน.  กรุงเทพฯ : โอเดียนสโตร์, ๒๕๓๔.
ประภากร สุคนธมณี.  มัด หมี่ ไหม.  นครปฐม : โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๕๕.

ข้อมูลภาพ
ปัญญา พูพะเนียด, พิชัย ผลอุดม, สุจิตรา สำราญใจ, อนิรุจ จ่ากลาง, นิรันดร์ บุญญานิตย์

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *