บ่อเริ่ม : บ่อน้ำใต้ดินแห่งแรกในพระราชอาณาจักรสยาม

การจ่ายน้ำบ่อเริ่ม ร.ศ.122 (พ.ศ.2446)

การจ่ายน้ำบ่อเริ่ม ร.ศ.122 (พ.ศ.2446) (ภาพจาก: สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ.  ภ.002 หวญ.35-22)

บ่อเริ่ม ในปัจจุบันเป็นชื่อถนนสายสั้นๆ สายหนึ่ง ในตัวเมืองจังหวัดนครปฐม ซึ่งหากจะนับความยาวของถนน
ก็อยู่ในราว ๒๐ กว่าคูหาตึกแถว อยู่ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือขององค์พระปฐมเจดีย์
บริเวณที่ชาวนครปฐมเรียกกันว่า “ตลาดล่าง” อันเป็นที่ตั้งของท่ารถเมล์ประจำจังหวัดในปัจจุบัน
ที่ชาวนครปฐมต่างคุ้นเคยในนาม “เมล์ขาว”

ถนนบ่อเริ่ม

ถนนบ่อเริ่ม ก่อนจะมีท่ารถ “เมล์ขาว” (ภาพจาก นายปรีชา ชื่นทองคำ)

ในสมัยที่ดิฉันยังเยาว์วัย และต้องอาศัยการเขียนจดหมายส่งทางไปรษณีย์ เคยคิดสงสัยอยู่เหมือนกันว่า เหตุใดถนนหน้าบ้านจึงชื่อ “บ่อเริ่ม” และเหตุใดถนนนี้จึงเป็นเพียงถนนช่วงสั้น ๆ ที่วิ่งขนานไปกับคลองเจดีย์บูชา ช่วงที่ออกจากกำแพงองค์พระปฐมเจดีย์ ก่อนจะวกไปทางซ้ายมืออ้อมหลังรูปปั้นพญากงซึ่งคลองเจดีย์บูชาจะตรงไปออกปลายคลอง หรือพูดง่าย ๆ ก็คือ จากแนวกำแพงองค์พระฯ ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ไปสิ้นสุดตรงหน้ารูปปั้นพญากงนั่นเอง

เหตุที่ดิฉันสงสัยก็เพราะ ตั้งแต่เกิดจนเติบโตจำความได้ บริเวณตลาดล่างที่ดิฉันวิ่งเล่นไปมานี้ ไม่เคยปรากฎมีบ่อน้ำที่ใด เห็นมีก็แต่คลองเจดีย์บูชาช่วงสั้นเท่ากับถนน ที่อยู่ตรงหน้าบ้านเก่านั้น ครั้นจะสอบถามคุณแม่ในขณะนี้ ท่านก็เข้าข่าย สว.(สูงวัย) ความจำมีไม่ครอบคลุมในสิ่งที่ดิฉันสงสัยเสียแล้ว เท่าที่ดิฉันจำได้ คุณแม่เคยเล่าถึงเรื่องราวเกี่ยวกับการใช้น้ำก็เห็นมีแต่เรื่องการลงไปใช้น้ำในคลองเจดีย์บูชาซักผ้าตรงบริเวณที่เรียกว่า “สะพานแดง” แต่ยามหน้าแล้งน้ำในคลองก็ไม่มีให้ใช้เช่นกัน แต่ด้วยความที่ยังเป็นเด็กจึงมิได้สนใจที่จะซักถามท่านให้ชัดเจนว่า ชาวตลาดห้องแถวไม้ในสมัยก่อนใช้น้ำจากไหน อย่างไร ในหน้าแล้ง

ต่อมา พ.ศ. ๒๕๕๐ หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ของดิฉัน จัดเสวนาในโอกาส ๑๐๐ ปี พระราชวังสนามจันทร์ จึงเป็นเหตุให้ดิฉันต้องไปเสาะหาบุคคลเก่าๆ ของนครปฐม เพื่อจะมาพูดคุยกันเรื่องพระราชวังฯ ดิฉันไปตั้งหลักในละแวกบ้านเกิดที่ตลาด
โดยสอบถามจากเพื่อนบ้านที่มีอายุมากพอที่จะคาดเดาได้ว่า ท่านน่าจะมีความจำแต่หนหลังเกี่ยวกับพระราชวังฯ
มาเล่าสู่ให้ลูกหลานฟังบ้าง

คุณป้าจิ้มลิ้ม นิโครธางกูร ร้านพัสตราภรณ์ คือ บุคคลที่เป็นเป้าหมายในการพูดคุยสอบถามข้อมูลในวันนั้น ซึ่งในการพูดคุยครั้งนั้น นับจนปัจจุบัน (พ.ศ.2556) เวลาล่วงเลยมา 6 ปี ปัจจุบันท่านมีอายุ 82 ปี คุณป้าจิ้มลิ้ม ได้เป็นผู้ไขข้อข้องใจที่ค้างคามานมนานให้ดิฉันฟังว่า แท้จริงแล้วบริเวณตึกแถวที่ท่ารถเมล์ขาวนี้ แต่เดิมเคยมีบ่อน้ำ ที่เรียกว่า “บ่อเริ่ม” อยู่ไม่ใกล้ไม่ไกลจากตำแหน่งปัจจุบัน คือ บ้านดิฉันที่ร้านน้องอิ๊บเทป ซึ่งอยู่ถัดจากตรอกกลางมาทางพญากง ซึ่งท่านเองก็จำได้ไม่แม่นยำนัก ด้วยเหตุว่าเมื่อท่านย้ายมาอยู่บริเวณนี้ บ่อน้ำนั้นเลิกใช้ และรื้อลงสร้างตึกแถวแล้ว จึงไม่มีเหตุอันใดให้ท่านต้องเกี่ยวข้องกับ “บ่อน้ำใต้ดินแห่งแรกในพระราชอาณาจักรสยาม” และท่านได้เล่าถึงการใช้น้ำในสมัยนั้นว่า ยามหน้าแล้งที่คลองเจดีย์บูชาไม่มีน้ำจะใช้น้ำจากโพรงน้ำในคลองนั้นเอง เป็นที่น่าเสียดายที่ในวันที่พูดคุยนั้นดิฉันไม่ทันเฉลียวที่จะซักถามถึงลักษณะและตำแหน่งโพรงน้ำที่ท่านกล่าวถึงอย่างชัดเจน ปัจจุบันคุณป้าถึงแก่กรรมหลายปีล่วงมาแล้ว

ขณะที่เรียบเรียงต้นฉบับ (พ.ศ.2556) เพื่อความมั่นใจอีกครั้ง ดิฉันจึงได้สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม จากเพื่อนบ้านใกล้เคียงอีกท่านหนึ่ง คือ นายณัฐพัชร์ หงษ์อุเทน อายุ 58 ปี นายณัฐพัชร์ หรือ เฮียอ๊อด ทายาท ร้าน ช.โชคดี ซึ่งเป็นร้านตัดชุดเครื่องแบบตำรวจ ตั้งอยู่ตลาดล่างด้านหันหลังให้คลองเจดีย์ฯ หันหน้าเข้าตลาดสด ติดกันทางขวามือก็เป็นร้านตัดชุดเครื่องแบบตำรวจเช่นกัน ชื้อ ร้านวิชัยศิลป์ บ้านเฮียอ๊อดอยู่มาเก่าแก่ตั้งแต่ครั้งยังไม่รื้อบ่อเก็บน้ำ ได้ให้ข้อมูลยืนยันความทรงจำของคุณป้าจิ้มลิ้ม ในส่วนของตัวบ่อเก็บ หรือ แทงค์น้ำที่ชาวบ้านทั่วๆ ไปเรียก โดยกล่าวว่าตัวบ่ออยู่ในบริเวณดังกล่าวจริง ในสมัยที่เขาเป็นเด็ก ยังได้เคยปีนขึ้นไปดูบนแทงค์น้ำกับเพื่อนบ้านในรุ่นราวใกล้เคียงกัน แต่ตัวโรงสูบนั้นอยู่ในบริเวณที่ปัจจุบันเป็นร้านบ้วนสุนโอสถ ซึ่งหากนับจากตรอกกลางเข้าตลาดล่าง จะอยู่ค่อนไปทางกำแพงองค์พระปฐมเจดีย์ด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ คือ ฝั่งตรงข้ามกับพญากง โดยระหว่างบ่อน้ำ และโรงสูบนี้จะเป็นพื้นที่โล่ง ๆ ภายในรั้วมีต้นไม้ใหญ่อยู่ทางด้านโรงสูบ ซึ่งเด็ก ๆ ละแวกนี้ มักใช้พื้นที่บริเวณโรงสูบและบ่อน้ำ เป็นที่วิ่งเล่นซุกซนไปตามวัย

ที่มาของการขุดบ่อน้ำใต้ดิน หรือ น้ำบาดาลที่นครปฐมนี้ สืบเนื่องจากเมื่อมีการขยายการคมนาคมทางรถไฟมาที่นครปฐม ได้มีพ่อค้า ประชาชน เดินทางไปมาในที่แห่งนี้มากขึ้น และสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้สังเกตพบว่าที่จังหวัดนี้ยังมีความแห้งแล้ง จึงเสนอในที่ประชุมเสนาบดี หารือตกลงร่วมกันที่จะจัดตั้งการขุดน้ำใช้และบริโภคที่พระปฐมเจดีย์

การขุด “บ่อเริ่ม” แห่งนี้ พบว่ามีกล่าวถึงในเอกสารจดหมายเหตุ ทั้งที่เป็นลายลักษณ์อักษร และภาพถ่ายของหอจดหมายเหตุแห่งชาติ จำนวนหนึ่ง โดยเอกสารลายลักษณ์อักษร เป็นเอกสารที่พบใน ชุดเอกสารของกรมราชเลขาธิการ รัชกาลที่ ๕
กระทรวงเกษรตราธิการ ร.ศ.๑๒๒ ซึ่งเป็นบันทึกราชการกราบบังคมทูลถวายรายงานของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ต่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ดังรายละเอียดโดยสรุป ดังนี้

๑. บันทึกที่ ๑๑๔/๓๔๐๗ ลงวันที่ ๒๔ เดือน มิถุนายน ร.ศ.๑๒๒ ณ ศาลาว่าการมหาดไทย เป็นหนังสือขอพระบรมราชานุญาตทำสัญญากับบริษัทอู่บางกอก พร้อมแนบสำเนาสัญญาค่าจ้างรับเหมาเป็นเงิน ๓๖,๐๐๐ บาททูลเกล้าฯ ถวายให้ทรงพิจารณาโปรดเกล้าฯ โดยอ้างอิงถึงการเจาะบ่อหาน้ำจืดที่พระปฐมเจดีย์ ซึ่งได้ให้บริษัทอู่บางกอกเป็นผู้ดำเนินการตรวจหาและพระราชทานพระบรมราชานุญาตแล้ว

๒. พระราชกระแส ตอบกรมหลวงดำรง(พระยศในขณะนั้น) ตามบันทึกที่ ๑๑๔/๓๔๐๗ ลงวันที่ ๒๔ เดือน มิถุนายน ร.ศ.๑๒๒
มีใจความ เรื่อง ขอพระบรมราชานุญาตทำสัญญากับบริษัทอู่บางกอก เจาะบ่อน้ำจืดที่พระปฐมเจดีย์ มีพระราชกระแส ตอบเพียง “อนุ”

๓. (ร่าง) บันทึกที่ ๒๓๒/๖๕๔ ลงวันที่ ๒๗ มิถุนายน ร.ศ.๑๒๒ ศกที่ ๓๖ ในรัชกาล ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ขุนพิจิตร เป็นผู้ร่าง นาย…เขียน นายเช้าทาน หม่อมอนุวัตรตรวจ อ้างถึงหนังสือ ๑๑๔/๓๔๐๗ ลงวันที่ ๒๔ มิถุนายน ร.ศ.๑๒๒ เรื่องขออนุญาตทำสัญญากับบริษัทอู่บางกอก เจาะบ่อน้ำจืดที่พระปฐมเจดีย์ ตามสำเนาสัญญาที่หารือกระทรวงพระคลังเห็นชอบแล้วนั้น ทรงทราบแล้ว อนุญาต

๔. บันทึกที่ ๒๙๙/๙๒๓๑ ลงวันที่ ๒๘ เดือน พฤศจิกายน ร.ศ.๑๒๒ ณ ศาลาว่าการมหาดไทย เป็นหนังสือกราบบังคมทูลถวายรายงานการไปตรวจการเจาะน้ำที่พระปฐมเจดีย์ เมื่อวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน พร้อมด้วยเจ้ากรมราชโลหกิจ กับผู้จัดการและวิศวกรของบริษัทผู้รับเหมา โดยกราบบังคมทูลรายงาน และเสนอความเห็นเพื่อทรงพิจารณาโปรดเกล้าฯ รายละเอียดกล่าวถึงการเริ่มลงมือเจาะหา เมื่อ ๑๘ ตุลาคม และพบน้ำเมื่อ ๑๘ พฤศจิกายน กล่าวถึงวิธีที่ใช้เจาะ ให้รายละเอียดลักษณะดินในบริเวณนั้น และความลึกที่เจาะ ๓๑๒ ฟุต ซึ่งเมื่อเจาะไปแล้วไม่พบร่องรอยสิ่งใดที่บ่งชี้ว่าเคยเป็นทะเล ทั้งนี้ สมเด็จฯ สันนิษฐานว่าในครั้งโบราณที่ดอนพระปฐมเจดีย์น่าจะเป็นแผ่นดินต่อจากเทือกเขาลงมา

และได้รายงานถึงแรงดันของทางน้ำที่เจาะพบว่ามีกำลังดันน้ำขึ้นมาต่ำกว่าพื้นดิน ๔ ฟุต โดยสูงกว่าระดับคลองเจดีย์บูชาหลายเท่า และได้ทดลองสูบน้ำออก ระดับน้ำในท่อก็ไม่ต่ำลงไปกว่านั้น และน้ำที่ได้จากบ่อก็ใสสะอาด มีรสหนักกว่าน้ำฝน และน้ำท่าปกติ และได้ส่งตัวอย่างน้ำไปแยกธาตุ ทั้งนี้ข้อมูลยืนยันจากวิศวกรที่ทำการขุดเจาะ ตลอดจนชาวบ้าน ที่ได้บริโภคแล้วไม่เกิดอันตรายแต่อย่างใด

นอกจากนี้ สมเด็จฯ ยังได้สันนิษฐานถึงแหล่งที่มาของน้ำนี้ว่า น่าจะมีที่มาจากทางไกล เช่น จากเทือกเขาที่กาญจนบุรี มิใช่น้ำฝนที่ตกแทรกซึมอยู่ในพื้นดิน แต่ก็เห็นว่าควรรอดูระดับน้ำต่อไปสักระยะ เพราะขณะนั้นยังเป็นปลายฤดูฝนที่น้ำยังมีมาก
เกรงว่าเมื่อถึงฤดูแล้งน้ำจะขึ้น-ลงไป ตามดินฟ้าอากาศ และเห็นว่ายังไม่ควรเจาะบ่อในที่แห่งอื่น ควรรอดูระดับน้ำ และผลพิสูจน์น้ำเสียก่อน

พร้อมกันนี้ ได้เสนอความเห็นให้ติดตั้งเครื่องจักรลมสูบน้ำ รวมทั้งเครื่องสูบมือสำรองไว้ รวมทั้งติดก๊อกที่ถัง ซึ่งบริษัทผู้รับเหมาได้สั่งเครื่องไปทางออสเตรเลียให้แล้วโดยไม่คิดมูลค่า และได้เสนอให้มีการคิดราคาจำหน่ายน้ำจืดให้ราษฎรมารับน้ำที่เครื่องสูบ เพราะนอกจากเงินลงทุนเพื่อขุดเจาะแล้ว จะต้องมีค่าใช้จ่ายในการรักษาเครื่องสูบ และเงินเดือนพนักงานผู้จำหน่ายน้ำ

ตรวจเจาะน้ำบาดาล

ตรวจเจาะน้ำบาดาล2

ตรวจเจาะน้ำบาดาล3

ตรวจเจาะน้ำบาดาล4

ตรวจเจาะน้ำบาดาล5
บันทึกที่ ๒๙๙/๙๒๓๑ ลงวันที่ ๒๘ เดือน พฤศจิกายน ร.ศ.๑๒๒
(เอกสารกรมราชเลขาธิการ รัชกาลที่ ๕ กระทรวงเกษรตราธิการ (ร.ศ.๑๒๒)  มร.๔ กษ / ๑๕)

๕. พระราชกระแส ตอบกรมหลวงดำรง (พระยศในขณะนั้น) ตามบันทึกที่ ๒๙๙/๙๒๓๑ ลงวันที่ ๒๘ พฤศจิกายน ร.ศ.๑๒๒ และรับวันเดียวกัน มีใจความเรื่องตรวจการเจาะน้ำที่พระปฐมเจดีย์ มีพระราชกระแสตอบว่า ทรงยินดีที่การเจาะน้ำเป็นประโยชน์มาก ทั้งยังเป็นการเจาะได้สำเร็จเป็นครั้งแรกในพระราชอาณาจักรสยาม แต่ก็ยังไม่ลงทุนขุดที่ใหม่จนกว่าจะได้เห็นผลที่แห่งนี้ในฤดูแล้ง และทรงชมเชยการตรวจดูแยกธาตุว่าเป็นการถูกต้อง

ส่วนเรื่องที่กรมหลวงดำรงเห็นว่าไม่ควรจำหน่ายน้ำโดยไม่คิดราคานั้นเป็นการถูกต้องแล้ว ด้วยสิ่งที่ทำเป็นการให้เปล่านั้น หากจะทำให้แพร่หลายไปอีกก็จะยากเพราะไม่มีทุนที่จะทำ และทรงให้ความเห็นถึงบ่อกรุ แบบโบราณที่ขุดตามหัวเมืองทางเหนือและที่ลพบุรี ก็คงใช้ความรู้ในการขุดซึ่งคล้ายคลึงกันนี้ แต่อาจจะใช้วิธีที่หยาบกว่าและเกิดประโยชน์น้อยกว่า คนสมัยต่อมาเมื่อพบตื้นเขินไปแล้วก็ไม่มีใครสนใจตรวจดู หากจะได้ลองตรวจดู หรือลองใช้วิธีใหม่นี้ เจาะน้ำในที่ที่เคยมีบ่อกรุนั้นสักแห่งก็น่าจะได้น้ำในที่แห่งนั้นๆ แน่นอน พระองค์เสนอให้ลองพิจารณาดู และในตอนท้ายทรงมีความเห็นว่าบ่อที่ขุดขึ้นนี้
ควรให้ชื่อว่า “บ่อเริ่ม”

พระราชกระแสตั้งชื่อ

พระราชกระแสตั้งชื่อ

พระราชกระแส ตอบกรมหลวงดำรง(พระยศในขณะนั้น)
ตามบันทึกที่ ๒๙๙/๙๒๓๑ ลงวันที่ ๒๘ พฤศจิกายน ร.ศ.๑๒๒
(เอกสารกรมราชเลขาธิการ รัชกาลที่ ๕ กระทรวงเกษรตราธิการ (ร.ศ.๑๒๒)  มร.๔ กษ / ๑๕)

๖. (ร่าง) บันทึกที่ ๒๒๙/๑๕๒๖ ลงวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน ร.ศ.๑๒๒ ศกที่ ๓๖ ในรัชกาล ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ขุนพิจิตร เป็นผู้ร่าง หลวงประสิทธิตรวจ นายเชยเขียน (นาย)แพทาน อ้างถึงหนังสือ ๒๙๙/๙๒๓๑ ลงวันที่ก่อนหน้า ถึงกรมหลวงดำรง เรื่อง ไปตรวจการเจาะน้ำที่พระปฐมเจดีย์ซึ่งสำเร็จแล้ว และหารือเรื่องเครื่องจักรลมสูบน้ำ รวมทั้งการจำหน่ายน้ำเพื่อให้คุ้มทุนและค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่จะเกิดขึ้นนั้น ทรงทราบแล้ว

๗. จดหมายจากศาลาว่าการมหาดไทย ใช้กระดาษมีหัวเป็นตราแผ่นดินสยาม ลงวันที่ ๕ เดือน มิถุนายน ร.ศ.๑๒๙ ศกที่ ๔๒ ในรัชกาล กราบบังคมทูลถวายรายงานการไปตรวจราชการที่พระปฐมเจดีย์ และแจ้งถึงเรื่องที่ระลึกขึ้นได้ว่า ที่บ่อเริ่มนั้นยังไม่มีจารึก จึงร่างคำจารึกถวายมาพร้อมจดหมาย เพื่อทรงพิจารณา

และถวายรายงานเพิ่มเติม เกี่ยวกับเครื่องจักรลมสูบน้ำ ซึ่งปัจจุบันใช้เครื่องจักรยนตร์แทนแล้ว จึงหารือการย้ายเครื่องจักรลม
ที่อู่บางกอกถวายและยังใช้การได้ โดยเห็นว่าหากนำไปใช้ที่นาพญาไทอาจเป็นประโยชน์บ้าง

ร่าง คำจารึกประกาศ แจ้งวันศุกร์ที่ ๑๙ มิถุนายน ร.ศ.๑๒๒  กล่าวถึงการที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดฯ เปิดทางรถไฟจากกรุงเทพฯ ผ่านพระปฐมเจดีย์ ไปยังราชบุรี เพชรบุรี ทำให้มีราษฎรมาตั้งภูมิลำเนาประกอบการค้าขาย เจริญขึ้นกว่าเดิมเป็นอย่างมาก แต่ที่พระปฐมเจดีย์เป็นที่ดอนกันดารน้ำ ราษฎรขาดแคลนน้ำบริโภคในฤดูแล้ง
และน้ำที่ต้องไปหาบมาจากไกลๆ ก็ไม่บริสุทธิสะอาด และต้องใช้เงินซื้อหาบละประมาณสลึง

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเห็นในความเดือดร้อนและทรงมีพระราชประสงค์แก้ไข จึงทรงพระดำริห์หาวิธีเจาะหาน้ำใต้ดินดังเช่นในต่างประเทศ และได้ทดลองขุดที่พระปฐมเจดีย์นี้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ บริจาคพระราชทรัพย์เจาะบ่อทดลองก็ได้น้ำดี และทรงพระราชทานนามบ่อน้ำแห่งนี้ว่า “บ่อเริ่ม” เพราะเป็นบ่อแรกที่เจาะหาน้ำใต้ดินได้ในพระราชอาณาจักร ทั้งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างถังขังน้ำ และตั้งเครื่องสูบน้ำบ่อเริ่มเพื่อจำหน่าย เป็นสาธารณประโยชน์
ตั้งแต่ ณ วันที่ ๒๓ พฤษภาคม ร.ศ.๑๒๓ เป็นต้นไป

ประกาศบ่อเริ่ม1

ประกาศบ่อเริ่ม2

ร่าง คำจารึกประกาศบ่อเริ่ม
(เอกสารกรมราชเลขาธิการ รัชกาลที่ ๕ กระทรวงเกษรตราธิการ (ร.ศ.๑๒๒)  มร.๔ กษ / ๑๕)

ข้อมูลอ้างอิง
จิ้มลิ้ม นิโครธางกูร.  (๒๕๕๐).  สัมภาษณ์, ตุลาคม.
ณัฐพัชร์ หงษ์อุเทน.  (๒๕๕๖).  สัมภาษณ์, ๒๒ กรกฏาคม.
ปรีชา ชื่นทองคำ.  ภาพถ่าย.  “ถนนบ่อเริ่ม พ.ศ.๒๕๐๐.”
สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ.  ภาพถ่าย.  ภ.002 หวญ.35-22.  “การจ่ายน้ำบ่อเริ่ม ร.ศ.122.”
————-.  เอกสารกรมราชเลขาธิการ รัชกาลที่ ๕.  กระทรวงเกษรตราธิการ.  (ร.ศ.๑๒๒) มร.๔ กษ/๑๕.

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *