พระอาจารย์เป้า ญาณปัญโญ (๒๔๑๗ – ๒๔๙๐) แห่งวัดพระทรง

พระอาจารย์เป้า ญาณปัญโญ (๒๔๑๗ – ๒๔๙๐)

พระอาจารย์เป้า ญาณปัญโญ (๒๔๑๗ – ๒๔๙๐)

หากมีการกล่าวถึงศิลปินผู้สร้างงานศิลปกรรมไทยในแขนงต่างๆ แล้ว ศิลปินเมืองเพชรมักจะเป็นหนึ่งในบรรดาศิลปินที่ถูกกล่าวถึงเสมอ เนื่องด้วยเมืองเพชรหรือจังหวัดเพชรบุรีนั้น มีศิลปินหลากหลายสาขาที่ได้รับการยกย่องในฐานะ “ศิลปินชั้นครู” โดยสาขาที่ได้รับการกล่าวถึงอย่างมาก คือ ช่างเขียน ช่างปั้น ช่างแกะ ซึ่งได้แก่ การเขียนภาพจิตรกรรม การปั้นปูน และการแกะสลักประเภทต่างๆ เช่น งานแทงหยวก

พระอาจารย์เป้า ญาณปัญโญ แห่งวัดพระทรง เป็นหนึ่งในบรรดาศิลปินเมืองเพชรผู้เลื่องชื่อ ที่แม้จะมีการสันนิษฐานว่าท่านมิได้ถือกำเนิดเป็นชาวเพชรบุรีโดยสายเลือดก็ตาม [1] พระอาจารย์เป้าเป็นผู้มีความสามารถในการเขียนภาพจิตรกรรมไทย ผลงานของท่านได้รับการยกย่องในวงการว่า เป็นผลงานทางศิลปะที่มีคุณค่าสูงชั้นบรมครู ที่ควรค่าแก่การสงวนรักษาไว้เป็นสมบัติของชาติ เป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อผู้ที่สนใจศึกษาศิลปกรรมไทย ภาพเขียนของท่านแสดงให้เห็นถึงความคิดสร้างสรรค์ มีลักษณะพิเศษที่ยังรักษาเอกลักษณ์ของศิลปกรรมไทยอย่างสมบูรณ์ ทั้งองค์ประกอบการจัดวางภาพ การให้สีที่ประสานกันอย่างลงตัวงดงาม ทำให้ภาพมีบรรยากาศดุจดังมีชีวิต มิได้เป็นภาพไทยในความเงียบ ดังที่พบเห็นกันโดยทั่วไป

ผลงานของท่านนอกจากงานด้านจิตรกรรมไทยที่มีอยู่มากมายแล้ว ยังมีงานปั้น เช่น ปั้นรูปเทวดาดินเผา ประดับในซุ้มวิมานหน้าบันด้านหลังพระอุโบสถ วัดพระทรง งานแกะสลัก เช่น ตู้ไม้แกะสลักทั้งหลัง แกะสลักบานประตู งานช่างไม้ เช่น ธรรมาสน์ปาฏิโมกข์ ธรรมาสน์น้อยที่เข้าไม้แบบเถรอดเพล เจว็ดเจิม และงานประดิษฐ์เครื่องกลไกต่างๆ เป็นเครื่องประดับตกแต่งเมรุ

ภาพเขียนชุดพระเวสสันดรชาดก ๑๓ กัณฑ์

ภาพเขียนชุดนี้พระอาจารย์เป้า เขียนเมื่อพุทธศักราช ๒๔๖๑ เป็นภาพเขียนบนแผ่นไม้ขนาด ๗๒ X ๕๑ ซม. และขนาด ๗๒ X ๕๓ ซม. ใช้เทคนิคการเขียนด้วยสีฝุ่นน้ำกาวบนแผ่นไม้ ปัจจุบันใส่ในกรอบกระจก เก็บ ณ หอสวดมนต์ วัดชมพูพน ต.หนองโสน อ.เมือง จ.เพชรบุรี ภาพเขียนชุดพระเวสสันดรชาดกของพระอาจารย์เป้ามี ๒ ชุดด้วยกัน ชุดที่เก็บ ณ วัดชมพูพนดังกล่าวข้างต้น เป็นชุดที่เขียนครบทั้ง ๑๓ กัณฑ์ ส่วนอีก ๑ ชุด เป็นชุดที่เขียนขึ้นเฉพาะกัณฑ์ที่ไม่มีผู้ใดยอมเขียน คือ กัณฑ์ทศพร กัณฑ์หิมพานต์ ทานกัณฑ์ วนปเวศน์ กัณฑ์ชูชก กัณฑ์จุลพน กัณฑ์มหาพน เขียนเมื่อพุทธศักราช ๒๔๖๕ เป็นภาพเขียนบนแผ่นไม้ขนาด ๗๘ X ๕๗ ซม. ใช้เทคนิคการเขียนด้วยสีฝุ่นน้ำกาวบนแผ่นไม้เช่นกัน ปัจจุบันเก็บ ณ วัดยาง ภาพชุดหลังนี้ มีเพียงช่างฝีมือ ๓ ท่านที่เขียนขึ้น คือ พระอาจารย์เป้า ครูหวน ตาลวันนา และอาจารย์เลิศ พ่วงพระเดช

ภาพเขียนชุดพระเวสสันดรชาดกนี้ เป็นภาพเล่าเรื่องอดีตชาติของพระพุทธเจ้า คือ ชาติที่ ๑๐ ของพระโพธิสัตว์ ก่อนที่จะเสวยพระชาติมาเกิดเป็นพระพุทธเจ้าหรือเจ้าชายสิทธัตถะแห่งศากยวงศ์ ซึ่งเรื่องราวของพระโพธิสัตว์ ๑๐ ชาติสุดท้ายที่ทรงบำเพ็ญทานบารมีนั้น รู้จักกันโดยทั่วไป คือ “ทศชาติชาดก” อันมี ชาติที่ ๑ เตมีย์ใบ้ชาดก ชาติที่ ๒ ชนกชาดก ชาติที่ ๓ สุวรรณสามชาดก ชาติที่ ๔ เนมิราชชาดก ชาติที่ ๕ มโหสถชาดก ชาติที่ ๖ ภูริทัตชาดก ชาติที่ ๗ จันทชาดก ชาติที่ ๘ นารทชาดก ชาติที่ ๙ วิทูรชาดก ชาติที่ ๑๐ เวสสันดรชาดก อันเป็นชาติสุดท้ายที่สำคัญ ด้วยทรงบำเพ็ญบารมีอันยิ่งใหญ่ บางครั้งจึงเรียกว่า มหาเวสสันดรชาดก หรือ มหาชาติชาดก ในการเทศนา เรียกว่า การเทศน์มหาชาติ หรือ เทศนาเวสสันดรชาดก

การเทศน์มหาชาติ หรือ เทศนาเวสสันดรชาดก

การเทศน์มหาชาติ เป็นประเพณีที่จัดขึ้นทุกปี ระหว่างเดือน ๑๑ เดือน ๑๒ และเดือนอ้าย การเทศน์มีทั้งสิ้น ๑๓ กัณฑ์ ประกอบด้วย ๑๐๐๐ พระคาถา เชื่อกันว่าผู้ที่ฟังเทศน์มหาชาติจบทุกกัณฑ์ จะได้รับอานิสงส์ยิ่งใหญ่ไปเกิดในสวรรค์เมื่อตายไป การเทศน์มหาชาติ หรือ เทศนาเวสสันดรชาดก เป็นการเทศนาร่ายยาวถึงพระพุทธเจ้าในอดีต คือ พระโพธิสัตว์เมื่อเสวยชาติเป็นพระเวสสันดร ที่ทรงบําเพ็ญบารมีเป็นพระชาติสุดท้ายก่อนเสวยพระชาติมาเกิดเป็นพระพุทธเจ้า การเทศน์มหาชาตินั้น ในมณฑลพิธีจะมีโอ่งนํ้ามนต์ตั้งไว้ถือเป็นนํ้ามนต์ศักดิ์สิทธิ์ นอกจากนี้ช่อธงชัยที่ติดตามธรรมาสน์ เสาธรรมาสน์ รวมทั้งต้นกล้วย ต้นอ้อย ที่จัดไว้ในพิธีก็เชื่อกันว่าเป็นของศักดิ์สิทธิ์เช่นกัน

วิธีการเทศน์ ปัจจุบันมี 3 ลักษณะ คือ

  • มหาชาติประยุค คือ การเทศน์ที่เน้นให้ฟังรู้เรื่อง เข้าใจ ได้สาระและไม่เบื่อหน่าย
  • มหาชาติหางเครื่อง คือ  การเทศน์ที่มีการแสดงประกอบ เป็นบุคลาธิษฐาน คือ มีแต่ฆราวาสล้วนๆ
  • มหาชาติทรงเครื่อง คือ การเทศน์ประกอบการแสดง พิธีการเช่นเดียวกับเทศน์มหาชาติทั่วๆ ไป คือ มีพระผู้เทศน์ ๑ องค์ หรือเทศน์ปุจฉาวิสัชนา ๒ – ๓ ธรรมาสน์  และมีผู้แสดง(ฆราวาส) แต่งตัวตามเนื้อเรื่องที่เทศน์ เช่น กัณฑ์กุมาร มีผู้แสดงเป็นนางมัทรี กัณหา และชาลี เป็นต้น มีการพูดโต้ตอบกันระหว่างพระผู้เทศน์และผู้แสดง โดยพระผู้เทศน์จะสมมุติเป็นพระเวสสันดร หรือเป็นผู้บรรยาย และมีการแหล่ประกอบด้วย

เทศนาเวสสันดรชาดก ๑๓ กัณฑ์

เทศนาเวสสันดรชาดก ๑๓ กัณฑ์ ประกอบด้วย ๑๐๐๐ พระคาถา ในแต่ละกัณฑ์มีจำนวนพระคาถาดังปรากฎในภาพเขียนของพระอาจารย์เป้า ในการเทศนานั้นจะมีเพลงประกอบ เนื้อหาโดยย่อในแต่ละกัณฑ์ มีดังนี้

กัณฑ์ที่ ๑ ทศพร ผู้สร้าง จีนสั่ว แม่ปุก พ.ศ.๒๔๖๑

กัณฑ์ที่ ๑ ทศพร     ผู้สร้าง  จีนสั่ว แม่ปุก พ.ศ.๒๔๖๑

กัณฑ์ที่ ๑ ทศพร ๑๙ พระคาถา เพลงสาธุการ

เริ่มตั้งแต่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ เสด็จไปเทศนาโปรดพระเจ้าพิมพิสาร ต่อจากนั้นเสด็จไปโปรดพุทธบิดาและพระประยูรญาติที่กรุงกบิลพัสดุ์ เกิดฝนโบกขรพรรษ พระสงค์สาวกได้กราบทูลอาราธนาให้ทรงแสดง เรื่อง มหาเวสสันดรชาดก เริ่มแต่กัปที่ ๙๘ พระนางเทพอัปสรผุสดีซึ่งจะทรงเป็นพระมารดาของพระเวสสันดร สิ้นบุญจะต้องจุติ ท้าวสักกะพระสวามี จึงพานางไปประทับยังสวนนันทวันในเทวโลก เพื่อความสำราญพระทัย แล้วตรัสบอกนางและให้พร ๑๐ ประการ

พระนางผุสดี ได้ทูลขอรับพร ๑๐ ประการ ตามที่พอใจ ท้าวสักกเทวราช ก็ทรงประทานพระพรให้สมประสงค์ ดังนี้

๑ ขอให้หม่อมฉันได้อยู่ในปราสาทของพระเจ้าสีวิราชแห่งพระนครสีพี

๒ ขอให้หม่อมฉันมีตาดำ ดุจนัยน์ตาลูกเนื้อที่มีอายุได้ ๑ ปี

๓ ขอให้หม่อมฉันมีคิ้วดำสนิทดั่งสีแมลงภู่

๔ ขอให้หม่อมฉันมีนามว่า “ผุสดี”

๕ ขอให้หม่อมฉันมีพระโอรสที่ทรงเกียรติยศเหนือกษัตริย์ทั้งหลาย และมีใจใฝ่ในการทำงาน

๖ ในเวลาทรงครรภ์ ขออย่าให้ครรภ์ของหม่อมฉันนูนปรากฏดังสตรีสามัญ

๗ ขอให้หม่อมฉันมีถันงาม ในเวลาทรงครรภ์อย่ารู้ดำ และต่อไปก็อย่าให้หย่อนยาน

๘ ขอให้หม่อมฉันมีเกศาดำสนิท และไม่หงอกขาว

๙ ขอให้หม่อมฉันมีผิวงามละเอียด ฝุ่นผงไม่ติดได้

๑๐ ขอให้หม่อมฉันทรงอำนาจปลดปล่อยนักโทษได้

กัณฑ์ทศพรเป็นกัณฑ์แรกในพระเวสสันดรชาดก เป็นพระนิพนธ์ในสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระปรมานุชิตชิโนรส วัดพระเชตุพลวิมลมังคราราม เพลงประจำกัณฑ์ คือ เพลง “สาธุการ” ประกอบกิริยาน้อมนมัสการรับพรทั้ง ๑๐ ประการของพระนางผุสดี

อานิสงฆ์ ผู้ที่ได้บูชากัณฑ์นี้ จะได้รับทรัพย์สมบัติดังปรารถนา ถ้าเป็นสตรีจะได้สามีเป็นที่ชอบ บุรุษจะได้ภรรยาเป็นที่ต้องประสงค์ จะได้บุตรหญิงชายเป็นคนว่านอนสอนง่าย มีรูปกายงดงาม มีความประพฤติดี กิริยาเรียบร้อย

กัณฑ์ที่ ๒ หิมพานต์ ผู้สร้าง แม่เจียม แม่แช่ม

กัณฑ์ที่ ๒ หิมพานต์    ผู้สร้าง    แม่เจียม แม่แช่ม

กัณฑ์ที่ ๒ หิมพานต์ ๑๓๔ พระคาถา เพลงตวงพระธาตุ

พระนางผุสดีจุติลงมาเกิดเป็นราชธิดาของพระเจ้ามัททราช ได้อภิเษกเป็นมเหสีของพระเจ้าสญชัย แห่งเมืองสีพี ครั้นทรงครรภ์กำหนดถ้วนทศมาส บังเอิญพระนางเสด็จประพาสพระนคร และประสูติพระโอรสที่ตรอกพ่อค้า พระประยูรญาติจึงถวายพระนามว่า “เวสสันดร” พอพระกุมารประสูติก็ทูลขอทรัพย์พระมารดาบริจาคทาน ในวันนั้นนางช้างตระกูลฉัททันต์เชือกหนึ่ง นำเอาลูกช้างเผือกมาไว้ในโรงช้างต้น ได้ชื่อว่า “ปัจจัยนาค” เป็นช้างแก้วอุดมมงคลลักษณะอันเลิศยิ่ง ขับขี่ไปในที่แห้งแล้งก็จะเกิดฝนตกชุ่มฉ่ำ ข้าวปลาบริบูรณ์

เวสสันดรกุมาร มีน้ำพระทัยมากไปด้วยเมตตากรุณา บริจาคทานเป็นประจำ ครั้นพระชนมายุได้ ๑๖ พรรษา ก็ได้ครองราชย์สมบัติและอภิเษกพระนางมัทรี พระราชธิดาของกษัตริย์มัททราชเป็นมเหสี ได้รับสั่งให้สร้างโรงทานเพื่อบริจาคถึง ๑๖ แห่งต่อมามีพระโอรส ๑ องค์ เมื่อประสูติได้ใช้ตาข่ายรองรับ จึงประทานนามว่า “ชาลี” พระธิดา ๑ องค์ ใช้หนังหมีรองรับเวลาประสูติ จึงประทานนามว่า “กัณหะ”

แคว้นกลิงคราฐแห้งแล้งอดอยาก เกิดข้าวยากหมากแพง พระเจ้ากาลิงคะ จึงส่งพราหมณ์ ๘ คน  เป็นราชทูตมาขอช้างปัจจัยนาค พระเวสสันดรก็พระราชทานให้ ทำให้ชาวสีพีโกรธแค้น กล่าวโทษพระเวสสันดรต่อพระเจ้าสญชัย ให้ขับไล่พระเวสสันดรออกไปอยู่ป่าหิมพานต์ พระเวสสันดรไปลาพระนางมัทรี พระนางขอตามเสด็จไปด้วย และได้พรรณนาป่าหิมพานต์ให้พระเวสสันดรฟังว่าน่ากลัว เต็มไปด้วยอันตรายต่างๆ นานา พระเวสสันดรทรงยืนยันความตั้งพระทัยเดิม ในที่สุดพระเวสสันดรพร้อมด้วยพระนางมัทรี กับพระโอรสชาลี พระธิดากัณหะ ก็จากพระนครไปอยู่ ณ เขาวงกต ตามที่อำมาตย์ผู้จงรักภักดีต่อพระองค์ถวายคำแนะนำ ก่อนที่จะจากพระนครพระเวสสันดรได้บำเพ็ญสัตสดกมหาทาน คือ ให้ของสิ่งละเจ็ดร้อยเป็นพิเศษ โดยทรงบำเพ็ญทานทั้งรถทรง ม้าคู่เทียมรถ ก็ทรงปลดเปลื้องให้เป็นทานสิ้น หลังจากนั้นพระองค์ทรงอุ้มพระโอรส พระนางมัทรีทรงอุ้มพระธิดา เสด็จไปสู่เขาวงกต โดยมุ่งจะบำเพ็ญพรตเป็นฤาษี ณ ที่นั้น

กัณฑ์หิมพานต์เป็นกัณฑ์ที่สองในพระเวสสันดรชาดก เป็นพระนิพนธ์ใน สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส วัดพระเชตุพลวิมลมังคราราม เพลงประจำกัณฑ์ คือ เพลงตวงพระธาตุ ประกอบกิริยาอวยทานของพระเวสสันดรที่ทรงบริจาคทาน

อานิสงฆ์ ผู้บูชากัณฑ์นี้ จะได้สิ่งปรารถนาทุกประการ เมื่อตายจะได้ไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์ เสวยสมบัติอันมโหฬาร มีบริวารแวดล้อมบำรุงบำเรออยู่เป็นนิจ เมื่อจุติจากสวรรค์จะมาเกิดในตระกูลขัตติยะมหาศาล หรือตระกูลพราหมณ์มหาศาล บริบูรณ์ด้วยทรัพย์ศฤงคาร บริวารมากมาย เช่น โค กระบือ ช้าง รถ ยานพาหนะ สุขกายสบายใจทุกอิริยาบถ

กัณฑ์ที่ ๓ ทานกัณฑ์ ผู้สร้าง แม่เยื้อน อุทิศให้แม่เกด

กัณฑ์ที่ ๓ ทานกัณฑ์    ผู้สร้าง แม่เยื้อน อุทิศให้แม่เกด

กัณฑ์ที่ ๓ ทานกัณฑ์ ๒๐๙ พระคาถา เพลงพระยาโศก

พระนางผุสดีทรงทราบว่า พระเวสสันดรถูกประชาชนลงโทษให้เนรเทศจากพระนครก็ตกพระทัยรีบเสด็จมาพบ พระเวสสันดรและพระนางมัทรีประทุกข์กัน พระนางผุสดีเสด็จไปเข้าเฝ้าเพระเจ้าสญชัย เพื่อขอพระราชทานอภัยโทษให้แก่พระเวสสันดรก็ไม่สำเร็จ พระนางผุสดีก็จำนน โศกเศร้า สนมกำนัล และประชาชนต่างอาลัยทั่วหน้า

รุ่งขึ้นได้เวลาพระเวสสันดรก็ทรงบริจาค “สัตสดกมหาทาน” คือ การให้ทานที่ยิ่งใหญ่ ๗ อย่าง อย่างละ ๗๐๐ มี ช้าง ม้า รถ โคนม นางสนม ทาสหญิง ทาสชาย และบริจาคสรรพสิ่งต่างๆ อีกอย่างละ ๗๐๐ แม้สุราก็ประทานแก่นักเลงสุรา

เสร็จแล้วก็ทรงพระมัทรี พระชาลี พระกัณหา ไปทูลลาพระชนก พระชนนี พระเจ้าสญชัยทรงขอให้พระมัทรีและหลานทั้งสองอยู่ แต่พระมัทรีไม่ยอมอยู่ พร้อมทั้งทรงตัดพ้อพระเจ้าสญชัยและไม่ยอมให้พระโอรสพระธิดาอยู่ด้วย

รุ่งขึ้นพระเวสสันดร พระมัทรี พร้อมด้วยพระโอรสพระธิดา ก็เสด็จทรงรถม้าพระที่นั่ง เสด็จออกจากพระนครด้วยความอาลัย แต่ยังมิทันพ้นเขตชานพระนคร ก็ทรงประทานม้าและรถแก่พราหมณ์ที่วิ่งตามทูลขอ แล้วต่างองค์ก็ทรงอุ้มพระโอรสพระธิดา เดินทางเข้าไปในป่า โดยตั้งพระทัยไปเขตเขาวงกต

อานิสงส์ ผู้บูชากัณฑ์นี้ จะบริบูรณ์ด้วยแก้วแหวนเงินทอง ทาส ทาสี และสัตว์ ๒ เท้า ๔ เท้า เมื่อตายจะได้ไปเกิดในฉกามาพจรสวรรค์ มีนางเทพอัปสรแวดล้อมมากมาย เสวยสุขในปราสาทแล้วด้วยแก้ว ๗ ประการ

กัณฑ์ที่ ๔ วนปเวสน์ ผู้สร้าง แม่ผูก แม่ซับ

กัณฑ์ที่ ๔ วนปเวสน์    ผู้สร้าง แม่ผูก แม่ซับ

กัณฑ์ที่ ๔ วนปเวสน์ ๕๗ พระคาถา เพลงพระยาเดิน

พระเวสสันดร พร้อมด้วยพระนางมัทรีและพระโอรสพระธิดา เดินทางจากพระนครสีพีด้วยความลำบาก ไปจนถึงแคว้นเจตราช จึงแวะเข้าประทับอยู่ที่ศาลาหน้าเมือง

ครั้นชาวเจตราชได้เห็นและทราบความจริงก็ตกใจ รีบส่งข่าวสารกราบทูลกษัตริย์เจตราชทรงทราบ บรรดากษัตริย์เจตราชรีบมาเสด็จมาเข้าเฝ้า และตรัสถามเรื่องราวทั้งหมด เมื่อทรงทราบความจริง ต่างก็จะมอบบ้านเมืองให้พระเวสสันดรปกครอง แต่พระเวสสันดรไม่ทรงยอมรับ ยืนยันจะเสด็จไปเขาวงกต ทรงขอให้ชี้ทางให้ และไม่ยอมเสด็จเข้าไปประทับในวัง

กษัตริย์เจตราช ทรงสั่งให้ตกแต่งศาลาเป็นที่ประทับของพระเวสสันดร แล้วถวายพระกระยาหาร และการอารักขาอย่างดี แล้วยังประทับอยู่เป็นเพื่อนด้วย รุ่งเช้าได้ทูลอัญเชิญไปยังประตูป่า ชี้ทางบอกให้ พร้อมทั้งแต่งตั้งพรานเจตบุตร ให้เป็นพนักงานรักษาประตูป่า ถวายอารักขาคุ้มภัย

พระเวสสันดรและพระนางมัทรี อำลากษัตริย์ อุ้มพระโอรสและพระธิดา เสด็จตามแนวทางที่กษัตริย์เจตราชทรงแนะนำจนถึงเขาวงกต ซึ่งวิษณุกรรมเทพบุตร มานิรมิตอาศรมศาลา ตามบัญชาของพระอินทร์ พระเวสสันดรทรงยินดี สี่กษัตริย์ทรงผนวชเป็นฤๅษี เสวยสุขตามควรแก่ถิ่นฐาน ดำรงชีพด้วยผลาหาร ซึ่งพระนางมัทรีเป็นผู้แสวงหามาปรนนิบัติ

อานิสงส์ ผู้บูชากัณฑ์นี้ จะได้รับความสุขทั้งโลกนี้และโลกหน้า จะได้เป็นบรมกษัตริย์ในชมพูทวีป เป็นผู้ทรงปรีชาเฉลียวฉลาดสามารถปราบอริราชศัตรูให้ย่อยยับไป

กัณฑ์ที่ ๕ ชูชก ผู้สร้าง พ่อแตง แม่หุ่น

กัณฑ์ที่ ๕ ชูชก  ผู้สร้าง พ่อแตง แม่หุ่น

กัณฑ์ที่ ๕ ชูชก ๗๙ พระคาถา เพลงเซ่นเหล้า

ชูชกเป็นพราหมณ์ชาวบ้านทุนวิฐ แคว้นกลิงคราฐ เลี้ยงชีพด้วยการขอทาน และเก็บสะสมทรัพย์ที่ไปขอมาได้ถึง๑๐๐ กหาปนะ ชูชกได้นำทรัพย์ไปฝากพราหมณ์ผัวเมียเเป็นเพื่อนไว้ และออกเที่ยวขอทานต่อไปอีก

พราหมณ์ผัวเมีย นำทรัพย์ของชกไปใช้หมด เมื่อชูชกกลับมาขอคืนก็ไม่สามารถหามาใช้ได้ ต้องยกนางอมิตตดาลูกสาว ให้ชูชกแทน ชูชกพานางอมิตตดาไปอยู่บ้านด้วย นางปรนนิบัติชูชกในหน้าที่ภรรยาที่ดีทุกประการ

พราหมณ์ในหมู่บ้านต่างยกย่อง และดุว่าภรรยาของตนที่เกียจคร้าน ให้เอาอย่างนางอมิตตดา หญิงทั้งหลายเมื่อถูกสามีตำหนิแทนที่จะสำนึกตัว กลับพากันเคียดแค้นชิงชังนางอมิตตดา ชักชวนกันไปด่าว่านางอมิตตดา ที่ท่าน้ำอย่างสาดเสียเทเสีย หมายจะให้นางอมิตตาดาหนีไป หรือไม่ก็ประพฤติตามแบบพวกตน

จางอมิตตดาเสียใจ คับแค้นใจ จะเอาแบบชาวบ้านก็ไม่ชอบ เพราะไม่เคยอบรมมา เทวดาดลใจ นางบอกชูชกไปขอพระชาลีพระกัณหามาเป็นข้าช่วงใช้ ชูชกเมื่อถูกเมียสาวบังคับก็ต้องฝืนใจโดยซ่อมแซมเรือนพักให้ ส่วนนางอมิตตดาก็จัดเสบียงอาหารในการเดินทางอย่างพอเพียง โดยเดินทางไปกรุงสีพีถามถึงที่อยู่ของพระเวสสันดร

ชาวเมืองสีพีก็เฮโลเข้าทำร้ายด้วยความเกลียดชัง พร้อมทั้งบอกว่าเป็นเพราะพวกพราหมณ์ขี้ขอ จึงทำให้พระเวสสันดร ถูกเนรเทศไปอยู่เขาวงกตพร้อมด้วยพระมเหสีและพระโอรสพระธิดา

ชูชกจึงเดินทางไปเขาวงกต เจอพรานเจตบุตร ชูชกหลอกลวงเจอตบุตรว่าเป็นราชทูตนำพระราชสาส์นไปกราบทูลพระเวสสันดรกลับบ้านเมือง พรานเจตบุตรแม้กักขฬะแต่เป็นคนซื่อก็หลงเชื่อ จึงชี้ทางไปเขาวงกตให้ แถมยังให้น้ำผึ้งและเนื้อย่างแก่ชูชกอีก

อานิสงส์ ผู้บูชากัณฑ์นี้ จะได้เกิดในตระกูลกษัตริย์ ประกอบด้วยสมบัติอันงดงามกว่าคนทั้งหลาย จะเจรจาปราศรัยก็ไพเราะ ได้สามีภรรยาและบุตรธิดา ล้วนแต่มีรูปทรงงดงาม สอนง่าย

กัณฑ์ที่ ๖ จุลพน ผู้สร้าง พ่อหรั่ง แม่อิ่ม

กัณฑ์ที่ ๖ จุลพน     ผู้สร้าง พ่อหรั่ง แม่อิ่ม

กัณฑ์ที่ ๖ จุลพน ๓๕ พระคาถา เพลงคุกพาทย์

พรานเจตบุตร นายด่านประตูป่า ฟังคารมชูชกหลงเชื่อ พอใจ เลื่อมใสนับถือ ยำเกรง ถึงกับเสียสละอาหารต้อนรับเลี้ยงดูชูชกเต็มที่ แล้วก็พาชูชกไปยังต้นทาง ชี้บอกางให้ กำหนดที่ภูเขาและป่าไม้ พร้อมทั้งพรรณนาความงามของต้นไม้ใบหญ้า สร้างความยินดีให้มีกำลังใจหายสะดุ้งหวาดกลัวภัยในป่า ทั้งบอกระยะทางที่จะไปอาศรมของพระอัจจุตฤๅษี ซึ่งเป็นสถานที่พักในการเดินทางตอนนี้ จะได้รับความปราณีจากพระฤๅษีบอกทางให้ต่อไป จนถึงเขาวงกต

อานิสงส์ ผู้บูชากัณฑ์นี้ เมื่อเกิดในภพใดๆ จะเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยสมบัติบริวาร จะมีอุทยานที่เต็มไปด้วยไม้หอมตลบมากมาย มีสระโบกขรณีเต็มไปด้วยประทุมชาติ เมื่อตายแล้วก็จะได้เสวยทิพยสมบัติในโลกหน้า

กัณฑ์ที่ ๗ มหาพน ผู้สร้าง พ่อเพน แม่จ้อย

กัณฑ์ที่ ๗ มหาพน    ผู้สร้าง พ่อเพน แม่จ้อย

กัณฑ์ที่ ๗ มหาพน ๘๐พระคาถา เพลงเชิดกลอง

ชูชกเดินทางไปตามคำบอกเล่าของพรานเจตบุตร จนไปถึงอาศรมของพระอัจจุตฤๅษี ไต่ถามทุกข์สุขตามธรรมเนียมแล้ว ก็ถามถึงที่อยู่พระเวสสันดร

พระฤๅษี ไม่พอใจ และตัดพ้อชูชกต่างๆ ชูชกจึงแก้ตัวพูดลวงว่า ที่เดินไปพบพระเวสสันดร ไม่ได้ไปขออะไร แต่เคยคบค้าสมาคมกับพระองค์เมื่อครั้งอยู่ในเมือง ตั้งใจจะเดินทางไปเยี่ยมเท่านั้น

พระอัจจุตฤๅษี ก็ใจอ่อนหลงเชื่อว่าเป็นจริง จึงให้ชูชกค้างแรมที่อาศรม รุ่งเช้าก็ให้บริโภคผลไม้ เผือกมันและพาไปยังต้นทาง ชี้บอกทางไปอาศรมพระเวสสันดรอย่างละเอียด โดยพรรณนาภูเขาป่าไม้ ฝูงสัตว์ต่างๆ ด้วยเป็นป่าใหญ่ ชูชกกำหนดจำคำแนะนำของพระอัจจุตฤๅษี จนเป็นที่พอใจแล้ว ก็นมัสการลาไป

อานิสงส์ ผู้บูชากัณฑ์นี้ เมื่อเสวยสมบัติในดาวดึงส์เทวโลกแล้ว จะได้ลงมาเกิดเป็นกษัตริย์มหาศาล มีทรัพย์ศฤงคารบริวารจำนวนมาก มีอุทยานและสระโบกขรณีเป็นที่ประพาส บริบูรณ์ด้วยศักดานุภาพไปทั่วชมพูทวีป จะได้เสวยอาหารทิพย์เป็นนิรันดร์

กัณฑ์ที่ ๘ กุมาร ผู้สร้าง แม่ล้วน บ้านแหลม เป็นเจ้าของศาลา

กัณฑ์ที่ ๘ กุมาร    ผู้สร้าง แม่ล้วน บ้านแหลม เป็นเจ้าของศาลา

กัณฑ์ที่ ๘ กุมาร ๑๐๑ พระคาถา เพลงโอดเชิงฉิ่ง

ชูชกเดินทางไปตามคำบอกเล่าของพระอัจจุตฤๅษี จนเวลาเย็นก็แลเห็นช่อฟ้าอาศรมอยู่ลิบๆ จึงคิดว่าถ้ารีบร้อนเข้าไปขอพระโอรสพระธิดาก็คงไม่ได้ เพราะพระนางมัทรีอยู่ด้วย วันพรุ่งนี้ให้พระนางมัทรีเข้าป่าหาผลไม้เสียก่อนค่อยเข้าไปขอแกจึงหาที่นอนให้พ้นจากสัตว์ร้าย

คืนนั้น พอพระนางมัทรีนอนหลับก็ฝันร้าย สะดุ้งตกใจตื่นไปเล่าความฝันให้พระเวสสันดรฟังและช่วยทำนายให้พระเวสสันดรก็ทรงทราบทันทีว่า วันพรุ่งนี้จะมีขอทานมาขอพระโอรสพระธิดา แต่ไม่กล้าบอกความจริงให้พระนางทราบ บอกเพียงว่านางเคยสบายอยู่ในเมืองแล้วมาได้รับความลำบากนานาประการอยู่ในป่า จึงทำให้ไฟธาตุในร่างกายวิปริตไป จงกลับไปศรมให้สบายใจเถอะ

พระนางมัทรีทรงรับคำด้วยความสบายใจ รุ่งเช้าเมื่ออาบน้ำแต่งตัวให้ลูกแล้วก็พาลูกทั้งสองไปทูลฝากพระเวสสันดรว่าเอาใจใส่เป็นพิเศษ พร้อมทั้งสั่งเสียลูกอย่าห่วงเล่น อย่าทะเลาะกัน อย่าไปเล่นไกล แล้วพระนางก็ตัดใจเดินทางเข้าป่าหาผลไม้เช่นเคย

รุ่งเช้า ชูชกเดินทางมายังอาศรม ปราศรัยไต่ถามทุกข์สุขแล้วก็ทูลขอพระโอรสพระธิดา พระเวสสันดรก็ยกให้ แต่ขอให้รอสักคืนก่อนพอให้พระนางมัทรีกลับมา ชูชกไม่เห็นด้วย พระเวสสันดรจึงบอกชูชกเดินทางไปกรุงสีพี เพื่อพระเจ้าสญชัยจะได้ไถ่ตัวพระโอรสพระธิดา ชูชกก็มีเหตุผลไม่เห็นด้วยอีก พระโอรสพระธิดาได้ยินตกใจกลัวตัวสั่น จึงค่อยๆ ย่องลงจากอาศรมไปหลบซ่อนในสระบัว ชูชกไม่เห็นพระโอรสพระธิดา ก็ต่อว่าพระเวสสันดร พระองค์จึงปลอบพราหมณ์ แล้วรีบไปตามตัวพระโอรสพระธิดา จนทราบว่าซ่อนอยู่ในสระจึงเรียกขึ้นมา โดยยกเหตุผลบอกลูกเรื่องการบริจาคทาน เพราะพระองค์ต้องการตรัสรู้ ลูกทั้งสองเท่านั้นที่ช่วยได้ พระโอรสพระธิดาจึงขึ้นจากสระ พระเวสสันดรจึงคาดค่าไถ่ตัวของพระชาลีเป็นทองพันตำลึง ส่วนพระกัณหาเป็นหญิง คาดค่าไถ่เป็น ช้าง ม้า รถ โคนม ทาสชาย ทาสหญิง อย่างละร้อย ทองอีกพันตำลึง แล้วพระองค์ก็พาลูกทั้งสองมามอบแก่ชูชก

ครั้นชูชกได้รับพระโอรสพระธิดาแล้ว ก็เอาเถาวัลย์ผูกข้อมือพระโอรสพระธิดาเข้าด้วยกันแล้วจูงไป เมื่อกุมารน้อยทั้งสองอิดออดร้องไห้ แกก็ตีด่าตามประสาคนสันดานทราม ทำให้พระเวสสันดรเกิดพลุ่งด้วยโทสะ โทมนัสน้อยพระทัย คิดจะฆ่าชูชกเพื่อเอาลูกคืน แต่ก็กลับหักพระทัยได้ ปล่อยให้ชูชกพาพระโอรสพระธิดาออกพ้นประตูป่า

อานิสงส์ ผู้บูชากัณฑ์นี้ จะประสบผลสำเร็จในสิ่งที่ปรารถนา เมื่อตายจะได้เกิดในฉกามาพจรสวรรค์ ในสมัยที่พระศรีอาริยาเมตไตร ก็จะได้พบศาสนาของพระองค์ จะได้ถือปฏิสนธิในตระกูลกษัตริย์ ตลอดจนได้สดับฟังพระสัทธรรมเทศนาของพระองค์ บรรลุพระอรหัตตผลพร้อมด้วยปฏิสัมภิทาทั้ง ๔ ด้วยบุญราศีที่ได้อบรมไว้

กัณฑ์ที่ ๙ มัทรี ผู้สร้าง พ่อหงวน แม่เย็น

กัณฑ์ที่ ๙ มัทรี  ผู้สร้าง พ่อหงวน แม่เย็น

กัณฑ์ที่ ๙ มัทรี ๙๐พระคาถา เพลงทะยอยโอด

พระนางมัทรี เมื่อทูลฝากพระโอรสพระธิดาแด่พระเวสสันดรแล้ว พระทัยของนางหวาดหวั่นกลัวภัย ซึ่งเกิดจากฝันร้าย แต่ก็ตัดใจเดินทางเข้าป่าหาผลไม้ตามเคยปฏิบัติ จนเย็นจึงเดินทางกลับอย่างเร่งรีบ แต่บังเอิญมาพบราชสีห์ เสือโคร่ง เสือเหลืองนอนขวางทางอยู่จนย่ำค่ำ สัตว์ทั้งสามซึ่งก็คือเทพยดาแปลงกายมาขวางพระนางไม่ให้เดินทางกลับเร็วด้วยเกรงว่าจะติดตามพระโอรสพระธิดาทัน จึงหลีกทางให้พระมัทรีกลับสู่อาศรม

ครั้นพระนางไม่เห็นพระโอรสพระธิดา แม้จะตามหาก็ไม่พบ ทรงกันแสงไปทูลถามพระเวสสันดร พระองค์ก็เฉยเสียไม่ตอบ กลับใช้อุบายดับความโศกของพระนาง ด้วยกล่าวโทษว่าพระนางนอกใจจึงกลับจนค่ำมืด

พระนางมัทรีน้อยใจ ออกตามหาลูกทั้งสองจนหมดกำลัง ในที่สุดก็กลับมาเฝ้าเพื่อทูลถามความจริงจากพระเวสสันดร แต่เพราะหมดแรงจะทรงกายก็ทรงสลบไป

พระเวสสันดรตกพระทัย ลืมพระองค์ว่าบวชอยู่ ตรงเข้าอุ้มนางวางบนตักแล้วร้องไห้ บีบนวดพระกายไปตามประสายาก ครั้นได้สติรู้สึกว่าพระกายของพระนางยังอุ่นอยู่ จึงลุกไปหยิบเต้าน้ำมาลูบชโลม จนพระนางมัทรีฟื้นพระองค์ลุกเลื่อนพระกายมาถวายบังคมขอประทานโทษ แล้วทูลถามถึงลูกทั้งสอง

พระเวสสันดรก็ทรงบอกความจริง พระนางมันทรีก็สร่างโศกพอพระทัยในการพระราชทานพระโอรสพระธิดา ให้แก่ชูชกและทรงอนุโมทนา

อานิสงส์ ผู้บูชากัณฑ์นี้ เมื่อเกิดในโลกหน้าจะเป็นผู้มั่งคั่งสมบูรณ์ด้วยทรัพย์สมบัติ เป็นผู้มีอายุยืนประกอบด้วยรูปโฉมงดงามกว่าคนทั้งหลาย ไปในที่ใดๆ ก็จะมีแต่ความสุขทุกแห่ง

กัณฑ์ที่ ๑๐ สักกบรรพ ผู้สร้าง พ่อยอด แม่มอน

กัณฑ์ที่ ๑๐ สักกบรรพ    ผู้สร้าง พ่อยอด  แม่มอน

กัณฑ์ที่ ๑๐ สักกบรรพ ๔๓ พระคาถา เพลงกลม

ท้าวสักกเทวราช ราชาแห่งสวรรค์ชั้นดาวดึงค์ ดำริว่าพระเวสสันดรพระราชทานพระโอรสพระธิดา แก่ชูชกไป ถ้าใครมาขอพระนางมัทรีอีกคนก็คงพระราชทานให้ จะต้องอยู่พระองค์เดียวไม่มีใครปฏิบัติบำรุง จะลำบากมาก จึงแปลงเพศเป็นพรามหณ์ไปไปทูลขอพระนางมัทรี เมื่อได้รับพระราชทานแล้วก็ทูลฝากไว้ ป้องกันมิให้พระเวสสันดรพระราชทานแก่ใคร และขอให้อยู่ปฏิบัติพระเวสสันดร พร้อมตรัสบอกว่าพระองค์มิได้เป็นพราหมณ์เข็ญใจ แต่เป็นพระอินทร์ขอถวายพร ๘ ประการแด่พระองค์ แล้วสำแดงกายให้ปรากฏ เหาะขึ้นสู่ท้องฟ้า

พระเวสสันดรทรงทูลขอพร ๘ ประการ คือ

๑. ขอให้พระบิดาเมตตาเสด็จออกมารับพระองค์กลับเข้าไปครองราชสมบัติในนครสีพี

๒. ขอให้ปลดปล่อยนักโทษจากเรือนจำทั้งมวล

๓. ขอให้อนุเคราะห์คนยากจนในแว่นแคว้นให้บริบูรณ์ด้วยสรรพโภคสมบัติ

๔. ขออย่าให้ลุอำนาจสตรี ล่วงภรรยาผู้อื่นให้พอใจ เฉพาะในชายาของพระองค์เท่านั้น

๕. ขอให้เห็นพระโอรส พระธิดาทั้งสอง มีพระชนมายุยืน ได้เป็นพระมหากษัตริย์สืบราชสมบัติต่อไป

๖. ขอให้ฝนแก้ว ๗ ประการ ตกลงในเมืองสีพีขณะเมื่อพระองค์ไปถึงพระนคร

๗. ขอให้สมบัติในท้องพระคลังอย่าได้หมดสิ้น ในเวลาบริจาคแก่ยาจกทั่วเมือง ด้วยน้ำพระทัยไม่ท้อถอยในการบำเพ็ญทาน

๘. เมื่อทิวงคตแล้ว ขอให้ไปบังเกิดในสวรรค์ชั้นดุสิต เมื่อจุติลงมาเป็นมนุษย์ ให้ได้บรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณ

ท้าวสักกเทวราชก็ตรัสประสิทธิ์ประสาทพรให้ และตรัสบอกให้พระเวสสันดรอุตส่าห์บำเพ็ญเนกขัมมบารมี [2] ตามทางของผู้ที่จะได้เป็นพระพุทธเจ้าในภายภาคหน้า แล้วก็เสด็จกลับเทวโลก

อานิสงส์ ผู้บูชากัณฑ์นี้ จะเป็นผู้ที่เจริญด้วยลาภยศตลอดจนจตุรพิธพรทั้ง ๔ คืออายุ วรรณะ สุขะ พละ ตลอดกาล

กัณฑ์ที่ ๑๑ มหาราช ผู้สร้าง พ่อบุต แม่ปุก

กัณฑ์ที่ ๑๑ มหาราช      ผู้สร้าง พ่อบุต แม่ปุก

กัณฑ์ที่ ๑๑ มหาราช ๖๙ พระคาถา เพลงกราวนอก

เมื่อชูชกได้พระราชทานพระโอรสพระธิดาจากพระเวสสันดร ก็พาเดินทางไปในป่าใหญ่ ค่ำที่ไหนก็ผูกพระโอรสพระธิดาไว้โคนต้นไม้ ส่วนตัวชูชกก็ผูกเปลนอนบนต้นไม้เพื่อให้พ้นจากสัตว์ร้าย

เวลากลางคืนมีเทพบุตร เทพธิดา ๒ องค์ แปลงกายคล้ายพระเวสสันดรและพระนางมัทรี มาแก้เถาวัลย์ที่ผูกข้อมือออก ให้อาบน้ำชำระร่างกาย บริโภคอาหารทิพย์ และกล่อมให้นอนตักหลับไป คร้นใกล้สว่างก็อันตรธานหายไป เป็นเช่นนี้ไปทุกคืนตลอดทางที่พักแรมในป่า

เมื่อเดินทางมาถึงทางแยกสองแพร่ง คือ ไปแคว้นกลิงคราฐ และแคว้นสีพี เทวดาดลใจให้ชูชกหลงเดินทางไปแคว้นสีพี ในคืนนั้นก่อนที่ชูชกจะเดินทางไปถึง พรเจ้าสญชัยทรงฝันว่า มีชายผู้หนึ่งนำดอกบัวงามมาถวายสองดอก เมื่อทรงรับมาทัดหูดอกบัวได้ส่งกลิ่นหอมตลบชื่นใจ เมื่อทรงตื่นบรรทมให้โหรทำนายฝัน ก็แจ้งว่าจะทรงพบญาติสนิทในเร็ววันก็ทรงยินดี จึงเสด็จออกมาประทับยังหน้าพระลานหลวงขณะที่ชูชกเดินทางมาถึง พระเจ้าสญชัยทอดพระเนตรเห็นพระโอรสพระธิดา ก็ให้อำมาตย์นำทั้งหมดเข้าเฝ้า และทรงไถ่ตัวพระโอรสพระธิดาตามที่พระเวสสันดรกำหนด โดยพระชาลีเป็นผู้กราบทูลให้ทรงทราบ นอกจากนี้ยังทรงบำรุงบำเรอชูชกอย่างมากมาย และเมื่อชูชกกินอาหารจนเกินขนาด จนเตโชธาตุไม่ย่อยจึงตายลง ประกาศหาทายาทก็ไม่มีใครมารับสมบัติของชูชก จึงโปรดนำกลับเข้าคลังหลวงตามเดิม

พระเจ้าสญชัยได้ไถ่ถามพระชาลี ถึงทุกข์สุขของพระเวสสันดร ซึ่งได้เล่าให้ฟังทั้งหมด ทั้งทรงวิงวอนให้พระเจ้าสญชัยเสด็จไปรับพระเวสสันดรกลับ พระเจ้าสญชัยจึงให้จัดกระบวนทัพออกเดินทางภายใน ๗ วัน ครั้นใกล้เวลาเคลื่อนทัพ พราหมณ์จากแคว้นกลิงคราฐ ได้นำช้างปัจจัยนาคกลับมาคืนพระนครสีพี ทำให้ทรงยินดีเป็นอย่างยิ่ง จึงให้นำช้างนั้นไปกับกระบวนทัพ ตรงไปยังเขาวงกต ใช้เวลา ๕๓ วัน ก็ไปถึงอาศรมของพระเวสสันดร

อานิสงส์ ผู้บูชากัณฑ์นี้ จะได้มนุษย์สมบัติ สวรรค์สมบัติ และนิพพานสมบัติ เมื่อเกิดเป็นมนุษย์จะได้เป็นพระราชา เมื่อจากโลกมนุษย์ไปก็จะไปเสวยทิพยสมบัติ ในฉกามาพจรสวรรค์ มีนางเทพอัปสรเป็นบริวาร ครั้นบารมีแก่กล้าก็จะได้นิพพานสมบัติอันตัดเสียซึ่งชาติ ชรา พยาธิ มรณะ พ้นจากโอฆะทั้งสามมีกาโมฆะ เป็นต้น

กัณฑ์ที่ ๑๒ ฉกษัตริย์ ผู้สร้าง พ่อเฉื้อ แม่พันมี

กัณฑ์ที่ ๑๒ ฉกษัตริย์    ผู้สร้าง พ่อเฉื้อ แม่พันมี

กัณฑ์ที่ ๑๒ ฉกษัตริย์ ๓๖ พระคาถา เพลงตระนอน

พระเจ้าสญชัยเดินทัพไปตามระยะทางที่พระชาลีบอก เป็นเวลา ๕๓ วัน เมือถึงเขาวงกตโปรดให้หยุดพักใกล้สระโบกขรณีมุจลินทร์ และบ่ายหน้ารถกลับพระนครเพราะสุดปลายทางแล้ว และให้เหล่าทหารส่งเสียงร้องกึกก้องไปทั้งป่าหิมพานต์

พระเวสสันดรทรงสดับก็ตกพระทัย คิดว่าเป็นข้าศึกยกมาตีพระนครสีพีและจะยกทัพมาจับพระองค์ไปประหาร จึงชวนพระนางมัทรีขึ้นไปแอบดูบนภูเขา เห็นกองทัพใหญ่ก็ทรงกันแสงกับพระมัทรีว่า ถึงคราวจะสิ้นพระชนม์แล้วด้วยคงหนีไม่พ้นเวรกรรมแต่ปางก่อน

ฝ่ายพระนางมัทรี กลับทรงเห็นว่าเป็นกองทัพพระเจ้าสญชัยออกมารับ จึงเบิกบานยิ้มแย้มแจ่มใส และกล่าวแก่พระเวสสันดรว่า เป็นไปตามที่พระอินทร์ทรงประทานพรไว้ ขออย่าได้ทรงสงสัย พระเวสสันดรจึงได้สติ เพ่งพิจารณาตามคำของพระนาง จึงเห็นสอดคล้องและดีพระทัยมากแต่ก็ระงับไว้ ลงจากภูเขามาประทับหน้าพระอาศรม ทำพระทัยให้มั่นคง คอยต้อนรับพระบิดาด้วยอาการปกติ

พระเจ้าสญชัย รับสั่งกับนางผุสดีว่าควรจะเข้าไปหาพระเวสสันดรเป็น ๓ ระยะ พระองค์จะเข้าไปก่อน พระนางผุสดีเป็นลำดับสอง ให้พระโอรสพระธิดาเป็นลำดับสุดท้าย

เมื่อกษัตริย์ทั้งหกพระองค์ได้พบกัน ต่างก็ดีใจและเสียใจอย่างรุนแรง ทรงกันแสงจนสลบไป รวมทั้งบรรดาเสนาอำมาตย์ก็เช่นกัน พระอินทร์จึงบันดาลฝนโบกขรพรรษตกลงมาประพรมให้ชื่นบานพระทัย กษัตริย์ทั้งหกพระองค์ก็ฟื้นสติและสร่างโศก พระเจ้าสญชัยพร้อมทั้งบรรดาเสนาอำมาตย์จึงพร้อมกันทูลเชิญให้พระเวสสันดรลาผนวชเสด็จกลับไปครองกรุงสีพี บรรดาราษฎรต่างมีความยินดีพร้อมกันถวายให้พระองค์เป็นกษัตริย์ปกครองอาณาจักรสืบไป ภายหลังจากที่พระองค์ทรงออกผนวชนับเวลาได้ ๗ เดือนปลาย

อานิสงส์ ผู้บูชากัณฑ์นี้ จะได้เป็นผู้ที่เจริญด้วยพร ๔ ประการ คือ อายุ วรรณะ สุขะ พละ ทุกๆ ชาติ

กัณฑ์ที่ ๑๓ นครกัณฑ์ ผู้สร้าง พ่อวอน แม่ตุ้ม

กัณฑ์ที่ ๑๓ นครกัณฑ์    ผู้สร้าง พ่อวอน แม่ตุ้ม

กัณฑ์ที่ ๑๓ นครกัณฑ์ ๔๘ พระคาถา เพลงโยนกลอง

เมื่อพระเวสสันดรได้ฟังคำทูลเชิญให้กลับไปครองราชสมบัติ ได้ทรงตัดพ้อพระบิดาว่า พระองค์ปกครองบ้านเมืองด้วยหลักทศพิธราชธรรม ทำไมจึงถูกพระบิดาขับไล่ออกจากเมืองเล่า พระเจ้าสญชัยทรงสารภาพผิด และตรัสขอสมาโทษ และวอนพระโอรสให้ลาผนวช

พระเวสสันดรพร้อมด้วยพระมัทรีจึงทรงลาผนวชเสด็จกลับพระนคร พร้อมด้วยเกียรติยศอันยิ่งใหญ่ ด้วยจาตุรงคเสนาพร้อมสรรพาวุธ เสด็จขึ้นช้างปัจจัยนาค เดินทางรอมแรมเป็นเวลา ๒ เดือน จึงถึงพระนตรสีพี ซึ่งได้รับการตกแต่งสวยงามเป็นอย่างดี มีประชาชนมาคอยต้อนรับสองข้างทางอย่างเนืองแน่น โห่ร้องถวายพระพรชัยให้ทรงพระเจริญทุกๆ พระองค์

เมื่อพระเวสสันดรเสด็จขึ้นปราสาทแล้ว ทรงประกาสให้ชาวเมืองปล่อยสัตว์ที่กักขังไว้ทั้งหมด ครั้นเวลากลางคืนก็ทรงรำพึงว่า พรุ่งนี้ประชาชนต่างก็จะแตกตื่นมาคอยรับพระราชทาน จะได้สิ่งใดแจกจ่ายแก่ประชาชน ทันใดนั้นท้าวสักกเทวราช ทรงทราบความวิตกนี้ จึงบันดาลฝนแก้ว ๗ ประการให้ตกลงมายังนครสีพีสูงถึงหน้าแข้ง เฉพาะในพระราชวังท่วมถึงสะเอว พระเวสสันดรจึงทรงประกาศให้ประชาชนมาขนเอาไปตามปรารถนา เหลือนั้นจึงให้ขนเข้าท้องพระคลังหลวง

พระเวสสันดรครองราชสมบัติโดยทศพิธราชธรรม บ้านเมืองเป็นสุขตลอดพระชนมายุได้ ๑๒๐ พรรษา จึงสิ้นพระชนม์แล้วก็ขึ้นไปจุติในสวรรค์ชั้นดุสิตเทวโลก

อานิสงส์   ผู้บูชากัณฑ์นี้ จะได้เป็นผู้บริบูรณ์ด้วยวงศาคณาญาติ ข้าทาสชาย-หญิง ธิดา สามี หรือบิดามารดา เป็นต้น อยู่พร้อมหน้ากันด้วยความผาสุก ปราศจากโรคภัยทั้งปวง จะทำการใดๆ ก็พร้อมเพียงสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี


[1] ล้อม เพ็งแก้ว, บรรณาธิการ,  อาจารย์เป้า วัดพระทรง. (เพชรบุรี : เพชรภูมิการพิมพ์, ๒๕๔๘), ๘, ๑๑๕.

[2] เนกขัมบารมี หมายถึง บารมีที่เกิดจากการออกบวช

รายการอ้างอิง

ชาญพุฑฒิ พัฒนพัชร, ผู้ปริวรรต.  มหาชาติพริบพรี.  เพชรบุรี : เพชรภูมิการพิมพ์, ๒๕๔๒.

พระธรรมโกศาจารย์.  ปริทัศน์เวสสันดรชาดก.  กรุงเทพฯ : โครงการมูลนิธิหอไตร, ๒๕๒๙.

ล้อม เพ็งแก้ว.  อาจารย์เป้า วัดพระทรง.  เพชรบุรี : สมาคมสื่อมวลชนเพชรบุรี, ๒๕๔๘.

วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี.  ทศชาติชาดก. เข้าถึงเมื่อ 4 กุมภาพันธ์ 2556. เข้าถึงได้จาก http://th.wikipedia.org/wiki/ทศชาติชาดก

วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี.  เนกขัมมะ. เข้าถึงเมื่อ 4 กุมภาพันธ์ 2556. เข้าถึงได้จาก http://th.wikipedia.org/wiki/เนกขัมมะ

วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี.  มหาเวสสันดรชาดก. เข้าถึงเมื่อ 26 มกราคม 2556. เข้าถึงได้จาก http://th.wikipedia.org/wiki/มหาเวสสันดรชาดก

สุนันท์ อุดมเวช.  ช่างเมืองเพชร.  เพชรบุรี : โรงพิมพ์เพชรภูมิการพิมพ์, ๒๕๓๕.

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *