บันทึกการสัมภาษณ์อาจารย์สุรีย์ ทองคงหาญ: นายกสมาคมไทดำ (ประเทศไทย)

สัมภาษณ์อาจารย์สุรีย์ ทองคงหาญ นายกสมาคมไทดำ (ประเทศไทย)
ณ ที่ทำการสมาคมไทดำ (ประเทศไทย) ต.ไผ่หูช้าง อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม
วันเสาร์ที่   3   ธันวาคม พุทธศักราช 2554 เวลา 10.45 น. ถึง 13.10 น.

การสัมภาษณ์ครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสอบถามประวัติส่วนตัว และผลงานด้านต่างๆ ที่สำคัญ คือ ผลงานการศึกษาภาษาไทดำ ในส่วนของพยัญชนะและสระตัวเขียน

ข้อมูลที่ได้จากการสัมภาษณ์โดยสรุป

ด้านประวัติส่วนตัวอาจารย์สุรีย์ ทองคงหาญ นายกสมาคมไทดำ (ประเทศไทย) เดิมทีนั้นท่านเป็นลูกชาวนา จบการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 และได้เริ่มบวชตั้งแต่เป็นสามเณรจนเป็นพระภิกษุ 10 ปี ระหว่างนั้นได้ศึกษาเล่าเรียนปริยัติธรรมจบนักธรรมเอก เป็นครูสอนปริยัติธรรมสำนักเรียนวัดไผ่หูช้าง ต่อมาย้ายไปเป็นครูสอนปริยัติธรรมอยู่ที่วัดพระงาม อำเภอเมืองนครปฐม เมื่อมีโอกาสจึงสอบครูมูลจนได้ครูพิเศษมูล และสมัครเข้าเป็นข้าราชการครู เมื่อ พ.ศ.2502 ต่อมาได้ย้ายไปเป็นครูใหญ่ที่โรงเรียนบ้านไผ่ล้อม 20 ปี จนเกษียณอายุราชการที่นั่น ภายหลังจากเกษียณแล้วจึงเกิดความสนใจฟื้นฟูประเพณีไทดำด้านต่างๆ จึงดำริตั้งสมาคมไทดำ(ประเทศไทย) ขึ้น

การสัมภาษณ์ในครั้งนี้ ได้รับความรู้ด้านต่างๆ อย่างหลากหลาย อาทิ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเชื้อชาติ ได้ทราบข้อมูลต่างๆ เช่น ที่มาของการเรียกชนชาติว่า ไทยทรงดำ ซึ่งมีที่มาจากชื่อของการจัดงานฟื้นฟูประเพณีไทยทรงดำ ที่ดำริจัดงานรวมเชื้อชาติของชาวไทดำในประเทศไทยขึ้นเป็นครั้งแรก ที่บ้านหนองปรง อำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี และในการจัดงานครั้งนั้นทำให้ชาวไทดำในประเทศไทย จากหลายๆ จังหวัดได้มารวมตัวกันอย่างมากมาย และยังคงถือเป็นแบบอย่างธรรมเนียมที่ยังคงรับ และสืบต่อๆ กันไปในอีกหลายๆ จังหวัดนอกจากนี้ยังได้ทราบถึงเรื่องการใช้นามสกุล ซึ่งชาวไทดำเรียกนามสกุลว่า “สิง” โดยผู้ให้สัมภาษณ์ มีนามสกุล คือ “สิงเรือง” นอกจากนี้ในหมู่ชาวไทดำยังมีการแบ่งชนชั้นออกเป็น ชนชั้นปกครอง หรือเชื้อเจ้า เรียกว่า ชั้นผู้ท้าว หรือ เพี้ย กับสามัญชน คือ ชั้นผู้น้อย การแบ่งชนชั้นของชาวไทดำนั้น มีส่วนเกี่ยวข้องกับประเพณีต่างๆ  เช่น การไหว้ผีบรรพบุรุษ ชนชั้นทั้งสองจะมีประเพณีที่ต่างกัน โดยชั้นผู้ท้าวต้องมีการไหว้ผีบรรพบุรุษ ทุกรอบ 5 วันต่อ 1 ครั้ง ขณะที่ชั้นผู้น้อยทำหน้าที่ ทุกรอบ 7 วัน

ในด้านของชีวิตความเป็นอยู่ ได้ทราบถึงการอพยพเคลื่อนย้ายของชาวไทดำ ที่มักมีการเคลื่อนย้ายโดยเคลื่อนไปแบบรวมกลุ่ม เมื่อมีผู้ใดนำแล้วก็มักจะชวนญาติๆ อพยพย้ายตามมาอยู่ในที่แห่งเดียวกัน ครอบครัวของผู้ให้สัมภาษณ์เมื่อมาจากจังหวัดเพชรบุรี ได้มาจับจองหักร้างถางพงตั้งหลักแหล่งที่จังหวัดนครปฐมตามคำชักชวนของญาติเช่นกัน ในการประกอบอาชีพนั้น ชาวไทดำมักประกอบอาชีพตามความถนัดคือการทำไร่ทำนา อาชีพอื่นไม่นิยมทำ และโดยอุปนิสัยชาวไทดำ เป็นกลุ่มคนที่มีความซื่อสัตย์สุจริต ไม่นิยมการเป็นนักเลงการพนัน หรือนักเลงอื่นๆ นอกจากการทำไร่ทำนาเป็นอาชีพแล้ว ชาวไทดำยังมีการทำงานหัตถกรรมที่เป็นเอกลักษณ์ ที่โดยปกติทำขึ้นเพื่อใช้ในครัวเรือน เช่นทอผ้า การปักผ้า ผ้าทอของชาวไทดำมีลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะ เรียกว่าลายแตงโม

ชาวไทดำนั้น นับเป็นชนกลุ่มน้อยกลุ่มหนึ่งที่ยังคงรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีของตนไว้ อย่างไรก็ตามในปัจจุบัน ประเพณีบางอย่างก็ค่อยๆ แปรเปลี่ยนไป เช่น ประเพณีตรุษสงกรานต์ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ว่างเว้นจากการทำนา ชาวไทดำก็จะจัดให้มีงานซึ่งนอกจากจะเป็นงานประเพณีแล้ว ยังเป็นการพบปะสังสรรค์กันในหมู่ มีกิจกรรมการละเล่นต่างๆ เช่น การรำแคน การเล่นคอนฟ้อนแคน ซึ่งการเล่นคอนฟ้อนแคนนี้ นับเป็นกลอุบายให้หนุ่มสาวที่ในช่วงเวลาอื่น มักจะใช้เวลาไปในการประกอบอาชีพ ไม่มีโอกาสได้พบกันได้มาพบเจอกัน หากหนุ่มสาวใดเกิดต้องชะตา ก็จะใช้โอกาสในฤดูกาลทำนาทำไร่ถัดไป ได้ผูกสัมพันธ์ใกล้ชิดสนิทสนม เปิดโอกาสในการร่วมเป็นครอบครัวกันในอนาคตต่อไป

นอกจากนี้แล้วยังได้ทราบประวัติการก่อตั้งสมาคมไทดำ (ประเทศไทย) และเกร็ดความรู้เรื่องเกี่ยวกับชาวไทดำอื่นๆ อีกมากมาย รวมทั้งเรื่องราวการผจญภัยอันน่าสนุกสนานของผู้ให้สัมภาษณ์ ที่มีความสนใจใคร่รู้ออกติดตามหาร่องรอยของบรรพชนในต่างแดน ซึ่งในที่สุดทำให้เกิดความมั่นใจในระดับหนึ่งว่า คำเรียกที่แท้จริงสำหรับชนชาติของตนนั้น น่าจะเรียกว่า “ไทดำ” ซึ่งมีกลุ่มชนที่เรียกชื่อเดียวกัน ใช้ภาษาในการพุดคุยสื่อสารเหมือนๆ กัน ทั้งในลาวตลอดจนถึงเวียดนาม ซึ่งมีบุคคลที่มีเพียงชื่อว่า “กวางหวันไถ่” ผู้มีเชื้อสายไทดำ อันเป็นชนวนเหตุสำคัญในการตามหาร่องรอยในครั้งนั้น

ท่านที่สนใจในรายละเอียดเพิ่มเติมสามารถติดตาม ได้ที่

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *