ซ่งทะเดิ่ง…ประเพณีแห่ฉัตรรับพระพุทธองค์ ของชาวกะเหรี่ยง

ทุกปีหลังจากวันออกพรรษา ชาวกะเหรี่ยง อ.ปากท่อ จ.ราชบุรี แต่ละหมู่บ้าน จะมีประเพณีที่ในภาษากะเหรี่ยงเรียกว่า “ซ่งทะเดิง” หรือ ชุมชนกะเหรี่ยงบางแห่งชาวบ้านแปลงเรียกแบบไทยๆ ว่า “แห่ฉัตรรับพระพุทธองค์” หรือ “แห่พุ่มดอกไม้ ” ซึ่งเป็นประเพณีที่สืบทอดกันมากันยาวนาน โดยชาวกะเหรี่ยงพุทธจะมีความเชื่อว่า วันออกพรรษานั้น พระพุทธเจ้า พระอินทร์และเทวดา จะเสด็จจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์มาเปิดโลกทั้งสาม คือ สวรรค์ โลกมนุษย์ และบาดาล จึงเป็นวันที่มนุษย์ เทวดา ตลอดจนวิญญาณทั้งหลายในนรก จะได้มีโอกาสเข้าถึงธรรมะของพระพุทธองค์ ชาวกะเหรี่ยงจึงมีพิธีแห่ฉัตรเพื่อต้อนรับพระพุทธเจ้า พระอินทร์และเทวดาทั้งหลาย ประเพณีแห่ฉัตรนี้ชาวกะเหรี่ยงพุทธถือเป็นโอกาสที่จะได้ขอขมาต่อพระพุทธเจ้า และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ตนเองได้ละเมิดศีลและข้อห้ามต่างๆ ในช่วงเทศกาลเข้าพรรษาที่ผ่านมา ถือเป็นการชำระจิตใจให้ผ่องใสเพื่อรับเสด็จพระพุทธเจ้า

ทะเดิ่ง หมายถึงฉัตร หรือร่ม สำหรับบังแดดในภาษาชาวบ้าน การเรียกปรับเปลี่ยนไปตามยศศักดิ์สถานะของผู้ใช้ จึงถูกแปรความหมายเป็นเครื่องสูง เป็นเครื่งประดับเกียรติยศ และถูกสร้างขึ้นใหม่โดยมีลักษณะซ้อนกันเป็นชั้นๆ ลดหลั่นกันไปตามลำดับ ๓ ชั้น ๕ ชั้น ๗ ชั้น เพื่อเป็นเครื่องใช้สำหรับบุคคลที่มีสถานะต่างๆ กัน เช่น พระพุทธเจ้า พระมหากษัตริย์ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ เทวดาต่างๆ

การทำทะเดิ่ง หรือ ฉัตรนี้ เป็นความร่วมมือสามัคคีของคนในหมู่บ้าน โดยก่อนถึงวันออกพรรษา ชาวกะเหรี่ยงจะหยุดทำงานอื่นๆ และช่วยกันคนละไม้คนละมือ เพื่อจัดเตรียมวัสดุที่จะนำมาทำฉัตร ชายหนุ่มจะออกไปหาตัดไม้รวก ยาวประมาณ ๗ ศอก นำไม้ไผ่มาจักตอก ผู้อาวุโสที่มีฝีมือจะสานฉัตรทำเป็นชั้นๆ เด็กๆ คนหนุ่มสาว จะช่วยกันสานตัวแมลง จักจั่น ปลา และเตรียมจัดหาดอกไม้มาร้อยเป็นพวงเพื่อใช้ตบแต่งฉัตรให้สวยงาม ดอกไม้ที่ใช้มักเป็นดอกไม้ที่หาได้ในหมู่บ้าน นิยมใช้ดอกดาวเรือง

เมื่อถึงเวลาหัวค่ำ ชาวกะเหรี่ยงในหมู่บ้านนั้น ตลอดจนหมู่บ้านใกล้เรือนเคียง ต่างนำฉัตรของหมู่บ้านตน เข้าร่วมขบวนแห่โดยจะผลัดเวียนกันไปตามแต่ตกลงในแต่ะปีว่า ปีใดจะเริ่มแห่ของหมู่ใดก่อน เมื่อแล้วของหมู่หนึ่งก็จะผลัดเวียนไปร่วมแห่ยังหมู่ต่อๆ ไป โดยแต่ละหมู่จะมีฉัตรของตนเองนำไปร่วมแห่ด้วย ในการร่วมแห่ขบวนฉัตรนี้ ชาวกะเหรี่ยงหญิง ชาย เด็กเล็ก สาว หนุ่ม มักจะแต่งกายชุดกะเหรี่ยงสวยงาม มาร่วมขบวนแห่ บางหมู่บ้านอาจมีดนตรีร่วมแห่ด้วยเพื่อเพิ่มความสนุกสนานครื้นเครง โดยก่อนที่จะเริ่มแห่นั้นผู้อาวุโสของหมู่บ้านนั้นๆ จะนำขมิ้น ส้มป่อยใส่ขันน้ำมนต์ไปประพรมที่ต้นฉัตร จากนั้นจึงประพรมให้แก่ผู้ร่วมขบวน แล้วจึงแห่ฉัตรหรือทะเดิ่งไปยังศาลา หรือเจดีย์ส่วนกลางของหมู่บ้าน เดินวนรอบ ๓ รอบแล้วจึงนำฉัตรนั้นไปปักรอบเจดีย์ ผู้เข้าร่วมขบวนที่ต่างถือดอกไม้ธูปเทียนของตนมา ก็จะไปจุดอธิษฐานรอบเจดีย์ เสร็จพิธีแล้ว บางแห่งอาจจัดให้มีการละเล่น บางแห่งก็พากันแยกย้ายกับเรือน กับหมู่บ้านของตนเอง

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *