เรื่อง ลาวพวน : จากเชียงขวางสู่ลุ่มน้ำภาคกลางของประเทศไทยนี้ เป็นผลงานวิจัยของ ศาสตราจารย์อรศิริ ปาณินท์ และคณะ ที่นำเสนอในการเสวนาวิชาการ “ภูมิทัศน์วัฒนธรรมที่หลากหลายของกลุ่มชาติพันธุ์ในบริบทเอเซียตะวันออกเฉียงใต้” ณ มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2555

งานวิจัยนี้ ดำเนินการในระยะเวลา 3 ปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2552-2555 โดยสำรวจภาคสนามทางกายภาพ เน้นพื้นที่กรณีศึกษาแบบเฉพาะเจาะจง (purposive sampling) และการสัมภาษณ์แบบลงลึก (indept – interview) ทั้งที่มีลักษณะเป็นปลายเปิด และการสัมภาษณ์แบบไม่กำหนดโครงสร้าง (non – structure) และการสังเกตแบบมีส่วนร่วม

โครงการวิจัยเป็นการศึกษาแบบองค์รวมของการปรับตัวในบริบทใหญ่ที่แตกต่างของกลุ่มชาติพันธุ์ไท – ลาว ในพื้นที่ลุ่มน้ำภาคกลางของประเทศไทย คือ ลุ่มน้ำท่าจีน ได้แก่ ชัยนาท สุพรรณบุรี นครปฐม สมุทรสาคร ลุ่มน้ำแม่กลอง ได้แก่ ราชบุรี และลุ่มน้ำเพชรบุรี ได้แก่ เพชรบุรี โดยเน้นการศึกษาแบบองค์รวมของการปรับตัวในสภาพแวดล้อมใหม่ ของกลุ่มชาติพันธุ์ไท – ลาว 4 กลุ่ม คือ ลาวเวียง ลาวครั่ง ลาวพวน และลาวโซ่ง โดยเน้นกรณีศึกษาเปรียบเทียบชาวพวนในไทย กับชาวพวนในพื้นที่เชียงขวาง สปป.ลาว

ให้ข้อมูลด้านนิเวศวัฒนธรรม กลุ่มชาติพันธุ์ไทที่ยังคงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ของภาษาและวัฒนธรรม พื้นที่ลุ่มน้ำภาคกลาง ความต่างของบริบทระหว่างพื้นที่ต้นกำเนิดกับถิ่นฐานในประเทศไทย และการปรับตัวของกลุ่มชนโดยองค์รวมที่เกี่ยวเนื่อง

วัตถุประสงค์ของการวิจัย

  • เพื่อค้นหาความสัมพันธ์ระหว่างวิถีชีวิตและระบบนิเวศของกลุ่มชาติพันธุ์ไท-ลาว ในพื้นที่ลุ่มน้ำภาคกลางของประเทศไทยที่มีบริบทของการตั้งถิ่นฐาน แตกต่างไปจากพื้นที่เดิมในครั้งบรรพบุรุษ
  • เพื่อค้นหาถึงการปรับตัวและปัจจัยที่ก่อให้เกิดการปรับตัวที่เกิดขึ้นในบริบทใหม่ ซึ่งเป็นการศึกษาผสานแบบองค์รวม รวมทั้งภูมิปัญญาในบริบทใหม่เพื่อให้ได้ผลสรุปในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน
  • เพื่อนำไปสรุปเสนอแนะเป็นกรณีตัวอย่างที่สามารถนำไปใช้ในพื้นที่อื่นที่มีลักษณะร่วมเช่นเดียวกันได้

ผลจากกรณีศึกษากลุ่มไทพวน ให้ข้อมูล คือ กลุ่มชาวพวน หรือ ลาวพวน หรือ ไทพวน เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ไท-ลาว กลุ่มหลักกลุ่มหนึ่ง ซึ่งเดิมมีถิ่นฐานอยู่ในแขวงเชียงขวาง สาธารณรัฐประชาธิปไตย ประชาชนลาว และเคลื่อนย้ายเข้ามาตั้งถิ่นฐานในไทยในช่วงสองศตวรรษที่ผ่านมา โดยกระจายตัวอยู่ในหลากหลายพื้นที่ทั้งภาคเหนือตอนล่าง ภาคอีสาน ภาคตะวันออก และ ภาคกลาง การศึกษาพบว่ากลุ่มที่กระจายตัวอยู่ในลุ่มน้ำแม่กลอง ลุ่มน้ำท่าจีน และลุ่มน้ำเพชรบุรี
เป็นกลุ่มที่มีบริบทแตกต่างไปจากถิ่นฐานเดิมอย่างสิ้นเชิง ทั้งสภาพทางภูมิศาสตร์และทรัพยากรชีวภาพ จากการอาศัยบนพื้นที่สูง ภูเขา เนินเขา และทำนาแบบขั้นบันได เปลี่ยนเป็นการอยู่ในที่ลุ่มน้ำท่วมถึง และทำนาในที่ลุ่ม โดยอยู่ร่วมกับกลุ่มคนไทยที่ตั้งถิ่นฐานอยู่เดิมในพื้นที่

นอกจากนี้ในบริบทด้านอื่นๆ ยังพบว่า ด้านประเพณีและวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องกับชีวิตและการอยู่ในเรือน ยังคงเด่นชัดและสืบทอดมาจนปัจจุบัน ด้านภาษายังคงใช้ภาษาลาวควบคู่กับภาษาไทย เกิดภูมิปัญญาใหม่ๆ ในบริบทใหม่ รูปทรงเรือนมีความแปรเปลี่ยนไปตามอายุการสร้าง จากจั่วแฝดทรงไทยเป็นจั่วแฝดธรรมดาความเอียงลาดต่ำลง และกลายเป็นจั่วเดี่ยวในเรือนที่สร้างใหม่ แต่ผังพื้นเรือนยังคงรูปลักษณ์เดิม ระบบเศรษฐกิจพอเพียงกลายเป็นเศรษฐกิจสองระบบ ประเพณีลงแขกช่วยกันทำนา เกี่ยวข้าวเลือนหายไป

ส่วนชาวพวนในเชียงขวาง สปป ลาว ซึ่งกลับมาตั้งถิ่นฐานใหม่ในพื้นที่เดิมหลังทิ้งร้างไปหลายทศวรรษ เนื่องจากภัยสงคราม พบปัญหา คือ ไม่สามารถสืบค้นรูปลักษณ์ของเรือนพวนดั้งเดิมในเชียงขวางได้ เพราะภาวะสงครามเรือนถูกทำลายทั้งหมด เรือนปลูกใหม่ปัจจุบันอายุการสร้างประมาณ 35 ปี เท่ากันหมด จึงใช้การศึกษาจากคำบอกเล่า และจากเอกสารที่กล่าวถึงสภาพแวดล้อม วิถีชีวิต และเรือนพวน ในช่วงย้อนหลังประมาณ 80-100 ปี

ข้อมูลศึกษาชาวพวนในเชียงขวางพบว่า การกลับมาตั้งถิ่นฐานใหม่ในพื้นที่เดิม จำเป็นต้องค่อยๆ ฟื้นฟูอย่างค่อยเป็นค่อยไปทั้งระบบนิเวศ สภาพแวดล้อมและสถาปัตยกรรม เรือนสร้างใหม่ในวิถีชีวิต และการอยู่ยังคงเดิม  ผังหมู่บ้านเปลี่ยนไปตามสาธารณูปโภคของรัฐ  ระบบการจัดการผลผลิตเกษตรกรรม ผันแปรไปตามระบบการเมืองการปกครอง ระบบการจัดการน้ำเพื่อการเกษตรยังคงเดิม ระบบเครือญาติ และความเอื้ออาทรในวิถีไร่นา และภูมิปัญญาเกี่ยวเนื่องกับบริบทและชีวิตยังคงอยู่ ความเจริญทางวัตถุ ยังมีบทบาทน้อย โดยยังคงระบบเศรษฐกิจพอเพียงเป็นหลัก

การศึกษาเปรียบเทียบการปรับตัวในบริบทใหม่ที่แตกต่างของชาวพวนที่โยกย้ายถิ่นฐานมาอยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำภาคกลางของไทยในพื้นที่ อ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี และชาวพวนที่ย้อนกลับมาตั้งถิ่นฐานใหม่ในพื้นที่เดิมที่แขวงเชียงขวาง สปป.ลาวเพื่อพิจารณาถึงการปรับตัวและการคงอยู่ของวัฒนธรรมดั้งเดิมในการอยู่ใหม่นี้พบข้อมูลว่า สำหรับกลุ่มชาติพันธุ์พวนนี้ ไม่สามารถใช้อายุของการตั้งถิ่นฐานเป็นตัวบ่งชี้คุณค่าของการคงอยู่ทางวัฒนธรรมทางการอยู่อาศัยได้ จำเป็นต้องใช้การศึกษาแบบองค์รวมของปัจจัยต่างๆ หลายระดับ รวมทั้งวัฒนธรรมใหม่ซึ่งมาพร้อมกับการปรับตัวด้วย

ในการศึกษาในช่วงเวลาที่ผ่านมายังพบว่า แม้บริบทจะต่าง วีถีชีวิตที่มากับบริบทและทรัพยากรชีวภาพจะต่าง ซึ่งส่งผลให้รูปลักษณ์ภายนอกของเรือนพื้นถิ่นของชาวพวนทั้งสองแห่งออกมาต่างกัน แต่หากพิจารณาผังพื้นเรือนซึ่งเป็นสิ่งที่สะท้อนถึงการอยู่อาศัยและวิถีด้านนามธรรมและความเชื่อ พบว่ายังมีรูปแบบเดียวกัน ดังมีข้อมูลการศึกษาวิจัยโดยย่อ
จากสไลด์นำเสนอ ต่อไปนี้

…………………………………..
ที่มาข้อมูล

อรศิริ ปาณินท์ และคนอื่นๆ. “ลาวพวน : จากเชียงขวางสู่ลุ่มน้ำภาคกลางของประเทศไทย.
การประชุมวิชาการและเสนอผลงานวิจัยและสร้างสรรค์ระดับชาติและนานาชาติ ศิลปากรวิจัยและสร้างสรรค์ ครั้งที่ 5.
มกราคม 26, 2555. http://www.surf.su.ac.th/node/44 (accessed มิถุนายน 15, 2559).

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *