พระศิลา…ทวารวดีที่นครปฐม : ตอน ๑ พระประธานในโบสถ์องค์พระ

หนึ่งในประติมากรรมทางพุทธศาสนาสมัยทวาราวดีที่สำคัญซึ่งพบที่จังหวัด นครปฐมนั้น คือ พระพุทธรูปศิลาขนาดใหญ่ ซึ่งมีความสูงโดยประมาณ ๓.๒ – ๔ เมตร ประทับนั่งบนบัลลังก์ ห้อยพระบาททั้งสองบนฐานกลีบบัว เป็นปางทรงแสดงธรรม (วิตรรกมุทรา) พระพุทธรูปศิลาที่พบมีทั้งสิ้น ๕ องค์ โดยพระพุทธรูปนั่ง ๔ องค์ นั้นเป็นศิลาขาว ส่วนอีก ๑ องค์ ซึ่งมีความแตกต่างจากทั้ง ๔ องค์ ทำจากศิลาเขียว

พระพุทธรูปทั้ง ๕ องค์ มีการเคลื่อนย้ายจากพุทธสถานเดิม ไปประดิษฐานตามที่ต่างๆ กล่าวคือ คือ ที่นครปฐม ประดิษฐาน ณ พระปฐมเจดีย์ ๒ องค์ ที่กรุงเทพฯ ประดิษฐาน ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ๑ องค์ ที่พระนครศรีอยุธยา ประดิษฐาน ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา ๑ องค์ และในวิหารน้อย วัดหน้าพระเมรุ ซึ่งเป็นพระศิลาเขียว อีก ๑ องค์ ในบทความนี้ จะได้กล่าวถึงประวัติความเป็นมา ของพระพุทธรูปศิลาขาวซึ่งเป็นองค์พระประธานในอุโบสถวัดพระปฐมเจดีย์ ที่จังหวัดนครปฐมเป็นลำดับแรก

พระประธานศิลาขาวในโบสถ์พระปฐมเจดีย์…เดิมทีอยู่ในวัดร้าง

องค์พระประธานศิลาขาวในพระอุโบสถพระปฐมเจดีย์นั้น เดิมมีการพบและอัญเชิญท่านมาจากพุทธสถานร้างแห่งหนึ่งในจังหวัดนครปฐม ดังพบข้อความที่มีความแตกต่างกันในการกล่าวถึงประวัติการพบองค์พระพุทธรูป ปรากฎในหน้า ๒-๕ ของหนังสือเรื่อง “พระพุทธรูปศิลาขาว สมัยทวารวดี” เรียบเรียงโดย ธนิต อยู่โพธิ์ (อธิบดีกรมศิลปากรขณะนั้น) โดยหนังสือดังกล่าวจัดพิมพ์ขึ้นในโอกาส ฯพณฯ จอมพลถนอม กิตติขจร (นายกรัฐมนตรีขณะนั้น) มาทำพิธีเปิดป้ายพระนามพระพุทธรูปศิลาขาว องค์ที่ประดิษฐาน ณ ลานชั้นลดด้านใต้ และวางศิลาฤกษ์พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม ซึ่งตั้งอยู่ในทิสเดียวกัน เมื่อวันที่ ๑๓ พฤศจิกายน ๒๕๑๐ หนังสือดังกล่าว ได้กล่าวถึงประวัติการพบองค์พระพุทธรูปเป็น ๒ นัย คือ นัยตามคำบอกเล่าของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ และ อีกนัยเป็นประวัติสังเขปซึ่งพระธรรมวโรดม (โชติ) อดีตเจ้าอาวาสวัดพระปฐมเจดีย์ได้บันทึกไว้ ผู้เขียนได้ตรวจสอบข้อความตามนัยทั้ง ๒ จากหนังสือที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม คือ “เล่าเรื่องไปชวาครั้งที่ ๓” จัดพิมพ์ พ.ศ. ๒๕๑๓ และ “เรื่องพระปฐมเจดีย์ กรมศิลปากรตรวจสอบชำระใหม่ และการบูรณะและปฏิสังขรณ์พระปฐมเจดีย์” จัดพิมพ์ พ.ศ. ๒๕๒๘ จึงขอยกข้อความจากหนังสือทั้ง ๒ เรื่องนี้ มาเพื่อพิจารณา กล่าวคือ

พระศิลาขาว…คำบอกเล่าของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ

ประวัติพระศิลาขาวซึ่ง สมเด็จฯ ตรัสเล่าไว้ตามที่ธนิต อยู่โพธิ์ ยกมากล่าวในหนังสือเรื่อง “พระพุทธรูปศิลาขาว สมัยทวารวดี” เมื่อตรวจสอบจากหนังสือเรื่อง “เล่าเรื่องไปชวาครั้งที่ ๓” ฉบับพิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพหม่อมเจ้าหญิงพัฒนายุ (เหลือ) ดิศกุล พระธิดาในสมเด็จฯ และหม่อมลำดวน (วสันตสิงห์) เมื่อ ๑๐ เมษายน ๒๕๑๓ หน้า ๒๘-๓๐ มีความหลักต้องตรงกัน แต่รายละเอียดปลีกย่อยและสะกดคำบางแห่งต่างกันเล็กน้อย ในที่นี้จะยึดคำและความตามหนังสือ“เล่าเรื่องไปชวาครั้งที่ ๓” ดังนี้

“เมื่อดูพระพุทธรูปที่เมนดุ๊ต คิดเห็นข้อสำคัญในเรื่องโบราณคดีขึ้นข้อหนึ่ง น่าจะจดลงไว้ตรงนี้ด้วย คือพระพุทธรูปห้อยพระบาททำด้วยศิลาขนาดนี้ไม่ปรากฏว่ามีในเมืองพะม่า มอญ เขมรเลย ในชะวาก็มีแต่องค์เดียว แต่ไปมีในประเทศสยามถึง ๔ องค์ ตรวจได้หลักฐานว่าเดิมมีพระเจดีย์โบราณองค์หนึ่งในตำบลพระปฐมเจดีย์ (อยู่ในบริเวณสวนนันทอุทยาน ของสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ) ชาวบ้านเรียกกันมาแต่ก่อนว่า “พระเมรุ” องค์พระเจดีย์เดิมรูปร่างจะเป็นอย่างไรรู้ไม่ได้ ด้วยหักพังเสียหมดแล้ว รู้ได้แต่ว่ามีพระพุทธรูปศิลาเช่นว่า ตั้งไว้ที่มุขพระเจดีย์นั้นด้านละองค์ องค์ ๑ เมื่อสมัยกรุงศรีอยุธยาย้ายเอาไปไว้ที่วัดมหาธาตุในพระนคร* ครั้นถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ในรัชกาลที่ ๓ พระยาชัยวิชิต (เผือก) เชิญมาไว้ที่วัดหน้าพระเมรุจนบัดนี้ เมื่อข้าพเจ้าเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ขุดพบศิลาทับหลังเรือนแก้วที่ “พระเมรุ” จึงรู้ว่าพระพุทธรูปองค์วัดหน้าพระเมรุนั้นเดิมอยู่ที่พระปฐมเจดีย์ อีกองค์หนึ่งเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ขุดพบที่ “พระเมรุ” เหมือนกัน พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้ตั้งเป็นพระประธานอยู่ที่ในพระอุโบสถพระปฐมเจดีย์จนบัดนี้ อีก ๒ องค์ก็ขุดพบที่ “พระเมรุ” ในสมัยเมื่อข้าพเจ้าจัดตั้งพิพิธภัณฑสถานที่พระปฐมเจดีย์ แต่เหลืออยู่เป็นชิ้นๆ ไม่บริบูรณ์ ยังรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานพระปฐมเจดีย์จนบัดนี้ น่าสันนิษฐานว่าพระพุทธรูปทั้ง ๕ องค์นั้นจะสร้างในสมัยเดียวกันเมื่อราว พ.ศ.๑๔๐๐ ตามแบบครั้งราชวงศ์คุปตะครองมัชฌิมประเทศ และการถือพระพุทธสาสนาจะเป็นอย่างมหายานด้วยกัน ทั้งที่ในชะวาและประเทศสยามนี้”

*หมายเหตุ คำว่า พระนคร ในหนังสือเรื่อง “พระพุทธรูปศิลาขาว สมัยทวารวดี” มีวงเล็บคำ (ศรีอยุธยา) ต่อท้าย ให้ทราบว่าเป็นพระนครศรีอยุธยา

พระศิลาขาว…บันทึกประวัติ ของพระธรรมวโรดม (โชติ)

พระธรรมวโรดม (ธมฺมปฺปชฺโชติโก โชติ) อดีตเจ้าอาวาสวัดพระปฐมเจดีย์ (ดำรงตำแหน่ง ๒๔๖๕-๒๔๙๗) ได้บันทึกเรื่อง “ประวัติสังเขป พระพุทธรูปศิลาปางปฐมเทศนาที่ประดิษฐานอยู่ในพระอุโบสถนี้” เพื่อถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ในคราวเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้ากฐิน ณ พระปฐมเจดีย์ เมื่อวันที่ ๒๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๙๗ โดยผู้เขียนได้คัดลอกข้อความจาก หนังสือ “เรื่องพระปฐมเจดีย์ กรมศิลปากรตรวจสอบชำระใหม่ และการบูรณะและปฏิสังขรณ์พระปฐมเจดีย์” หน้า ๑๕๕-๑๕๖ ซึ่งจัดพิมพ์โดยเสด็จพระราชกุศลในงานพระราชทานเพลิงศพ พระธรรมสิริชัย (ชิต ชิตวิปุลเถร) เจ้าอาวาสวัดพระปฐมเจดีย์ เมื่อวันที่ ๒๓ มีนาคม ๒๕๒๘ ซึ่งท้ายเรื่องดังกล่าว มีหมายเหตุแจ้งที่มาของบันทึกประวัตินี้ว่า ได้รับเอกสารมาจากพระธรรมสิริชัย (ชิตวิปุโล ชิต) ซึ่งท่านเป็นเจ้าอาวาสในขณะนั้น (ดำรงตำแหน่ง ๒๔๙๗-๒๕๒๗) มีความดังนี้

“ท่านพระปลัดทอง พระอธิการวัดกลางบางแก้ว (วัดคงคา) ได้มาเห็นวัดพระปฐมเจดีย์ ซึ่งเวลานั้นว่างเจ้าอาวาส กุฏิเสนาสนะชำรุดมาก ท่านจึงพร้อมกับสามเณรบุญ (ภายหลังได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระพุทธวิถีนายก ตำแหน่งพระราชาคณะสามัญ เจ้าอาวาสวัดกลางบางแก้ว) ผู้เป็นศิษย์ ได้มาช่วยบอกบุญขอแรงชาวบ้านตำบลพระปฐม ไปขนอิฐที่วัดทุ่งพระเมรุ (ครั้นมาในรัชกาลที่ ๖ พระราชทานนามวัดทุ่งพระเมรุใหม่ว่า สวนนันทอุทธยาน) เพื่อมาใช้ในการบูรณะปฏิสังขรณ์ในบริเวณพระปฐมเจดีย์ ได้เห็นจอมปลวกขนาดใหญ่ตั้งอยู่ในบริเวณโบราณสถานที่นั้น และได้เห็นพระเกตุมาลาโผล่ที่ยอดจอมปลวก จึงช่วยกันทำลายจอมปลวกนั้นออกแล้ว ปรากฏเป็นพระพุทธรูปศิลาขนาดใหญ่ มีรอยต่อเป็นท่อนๆ จึงถอดตามรอยต่อนั้นออก แล้วนำมาประดิษฐานไว้ในพระอุโบสถวัดพระปฐมเจดีย์นี้ เมื่อ พ.ศ.๒๔๐๔ (ปลายรัชกาลที่ ๔) ก่อนพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวครองราชสมบัติ ๗ ปี นับถึง พ.ศ.ปัจจุบันนี้ได้ ๙๓ ปี*”

*หมายเหตุ นับถึง พ.ศ.ปัจจุบันนี้ได้ ๙๓ ปี หมายถึง นับแต่ พ.ศ.๒๔๐๔-๒๔๙๗ ที่อัญเชิญพระศิลาขาวมาประดิษฐานเป็นพระประธานในพระอุโบสถสมัย ร.๔ ทั้งนี้ มีข้อสังเกตเกี่ยวกับการสร้างพระอุโบสถในรัชสมัยของพระองค์ จากหนังสือ เรื่องพระปฐมเจดีย์ กรมศิลปากรตรวจสอบชำระใหม่ฯ หน้า ๑๕๓-๑๕๔ ปรากฎข้อความจาก จดหมายหมายเหตุ ร.๔ จ.ศ. ๑๒๒๔ เลขที่ ๑๒๕ บอกมา ณ วัน ๑ เดือน ๔ ขึ้น ๑๒ ค่ำ ปีจอ จัตวาศก (๑๒) ตรงกับ วันอาทิตย์ที่ ๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๐๕ “เรื่อง ทำรากพระอุโบสถและโรงธรรม” กล่าวว่า “…บนองค์พระได้ทำรากพระอุโบสถ รากโรงธรรมที่ก่อฤกษ์แล้วเสร็จทั้งสองหลัง…” ปีในการทำรากพระอุโบสถ พ.ศ.๒๔๐๕ และปีที่ประดิษฐานพระศิลาขาว พ.ศ.๒๔๐๔ เป็นตัวเลขที่มีความคลาดเคลื่อนไม่ลงรอยกัน

พระปลัดทอง ส่องนำญาณจากพระศิลา…สู่สามเณรบุญ

ประวัติการพบพระศิลาขาว องค์ประธานในพระอุโบสถพระปฐมเจดีย์นี้ นอกจากความดังยกมากล่าวทั้ง ๒ นัยข้างต้น ผู้เขียนได้พบข้อความจากหนังสือเรื่อง “หลวงปู่บุญ (พระพุทธวิถีนายก วัดกลางบางแก้ว) เล่ม ๒ : การสร้างเครื่องรางของขลังและพระเครื่องพิมพ์ต่างๆ” ซึ่งสุธน ศรีหิรัญ ผู้แต่งมีพื้นเพเป็นชาว ต.บางกระเบา อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม และเคยอุปสมบท ณ วัดกลางบางแก้ว โดยมีพระพุทธวิถีนายก (เพิ่ม ปุญฺญวสโน) ผู้เป็นศิษย์เอกที่อยู่รับใช้ใกล้ชิดพระพุทธวิถีนายก (บุญ ขนฺธโชติ) เป็นพระอุปัชฌาย์ และในการเรียบเรียงหนังสือประวัติหลวงปู่บุญนี้ข้อมูลบางส่วนได้ประมวลจากคำ บอกเล่าของหลวงปู่เพิ่ม และบุคคลอื่นๆ ที่อยู่ร่วมสมัยกับหลวงปู่บุญ โดยเนื้อหาที่ปรากฎเรื่องราวเกี่ยวกับพระพุทธรูปศิลาขาวนี้ อยู่ในหัวข้อ “ภาคกฤดาณุภาพ” หน้า ๑๓๐-๑๓๑
กล่าวถึงในพุทธศักราช ๒๔๐๙ ขณะเมื่อสามเณรบุญ ซึ่งบวชได้ ๓ พรรษาล่วงมา อยู่ในวัย ๑๘ ปี และได้ปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานด้วยความเพียร จนล่วงได้วิสุทธิครบ ๗ ประการ คือ ศีลวิสุทธิ จิตวิสุทธิ ญาณทัสสนวิสุทธิ ทัฏฐิวิสุทธิ กังขาวิตรวิสุทธิ มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ และปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ ก่อให้ญานของท่านเข้มแข็งแก่กล้าเป็นที่พอใจแก่พระอาจารย์ผู้ฝึกฝน คือ พระปลัดทอง พระอธิการวัดคงคาราม (ชื่อเดิมของวัดกลางบางแก้ว) ซึ่งเป็นพระอาจารย์ผู้เจนจบในการวิปัสสนาและขลังด้วยพุทธาคม โดยพระปลัดทองได้เกิดนิมิต ดังข้อความว่า

วันเพ็ญเดือนเก้า ปี พ.ศ.๒๔๐๙ นั้นเอง ท่านอาจารย์พระปลัดทองเกิดนิมิตในญานเห็นว่า อันบริเวณองค์พระปฐมเจดีย์นั้น โอภาสงามจรัสด้วยพระบรมสารีริกธาตุสว่างไสว มีเปลวรัศมีโชติช่วงที่ปลายยอดพระเจดีย์งามยิ่งนัก ครั้นพิจารณาโดยบริเวณทั่วไปทางด้านเหนือขึ้นไปไม่ไกลกันกับองค์พระปฐม เจดีย์ก็เห็นเป็นรังสีเหลืองแผ่กำจายรุ้งสว่างในอาณาบริเวณสุมทุมพุ่มพฤกษ์ น่าอัศจรรย์  จึงตรวจด้วยญาณให้เห็นแจ่มแจ้งก็ทราบว่าบริเวณนั้นเป็นวัดเก่าแก่ที่ร้างโรย มานานนับหลายร้อยปี มีแต่ต้นหญ้าต้นไม้ขึ้นปกคลุม ไม่มีผู้ใดรู้หรือสนใจเป็นที่น่าสังเวชยิ่งนัก เมื่อพิจารณาจิตเป็นสังเวช จึงถอยญาณออกจากสมาธิ แล้วปรารภเรื่องนี้ให้สามเณรบุญได้ทราบเรื่องที่พบเห็นทางจิต

สามเณรบุญ พบพระศิลาขาว…ด้วยปิติแห่งญาณ

ภายหลังจากสามเณรบุญฟังเรื่องราว ได้เกิดความตระหนักอย่างยิ่งในเรื่องวัดร้างที่พระปลัดทองปรารภ จึงทำสมาธิพิจารณาด้วยญาณและนิมิตเห็นภาพพระพุทธรูปอันงดงามยิ่งด้วยพุทธ ลักษณะ ท่านได้พิจารณาจนจิตเกิดประภัสสรด้วยความเยือกเย็นถึงที่สุดจึงถอยญาณออกจาก สมาธิ แต่ภาพอันประทับในความรู้สึกนั้นคงระลึกอยู่มิรู้คลายไม่ว่าท่านจะทำการสิ่ง ใด จึงนำความไปเล่าแก่พระปลัดทองเพื่อพิจารณา เมื่อได้ฟังความจากลูกศิษย์พระอาจารย์จึงกล่าวว่า ให้พ้นวันข้างแรมไปก่อนจะพาไปยังสถานที่ตามนิมิต เพื่อดูให้เห็นจริงว่าเรื่องราวที่เกิดในนิมิตนั้นเป็นอย่างไร ดังนั้นเมื่อล่วงเข้าวันเพ็ญคณะอาจารย์ ศิษย์และผู้ติดตามจึงได้พากันมุ่งหน้าจากวัดคงคารามมายังจุดหมาย ดังข้อความว่า

ล่วงถึงวันเพ็ญเดือนสิบปี พ.ศ.๒๔๐๙* พระปลัดทองและสามเณรบุญได้ชวนพระภิกษุและสามเณรอีกหลายรูปเดินทางไปยังจุด นิมิต ด้านเหนือขององค์พระปฐมเจดีย์ เมื่อนำพระสงฆ์และสามเณรนมัสการสักการะองค์พระปฐมเจดีย์แล้ว จึงมุ่งไปยังสถานที่รกร้างปกคลุมด้วยไม้นานาพันธุ์นั้นช่วยกันตัดไม้ดายหญ้า ก็พบว่า มีซากโบราณสถานอยู่จริงดังนิมิต จึงช่วยกันจัดแจงดายหญ้าตัดต้นไม้ออกเพื่อให้โล่งเตียน ด้านทิศตะวันออกนั้น สามเณรบุญพบว่า มีจอมปลวกใหญ่อยู่จริงตามที่พบเห็นในญาณ และที่ปลายจอมปลวกมีศิลาสีขาวปลายแหลมโผล่ออกมา จึงเกิดความปิติยินดี พาพระปลัดทองอาจารย์ไปดูก็เห็นว่าควรบัตรพลีรื้อเอาจอมปลวกออก จึงช่วยกันขุดจอมปลวกออก เมื่อจอมปลวกทะลายลงต่างก็อัศจรรย์โดยทั่วกัน เพราะภายในจอมปลวกมีพระพุทธรูปศิลานั่งห้อยบาท ยกมือประทานพรสีขาวนั่งอยู่ ชำรุดทรุดโทรมในบางส่วน จึงช่วยกันถอดชิ้นศิลาที่ต่อเป็นองค์นำออกมาจากจอมปลวกแห่งนั้น

พระปลัดทอง พิจารณาเห็นว่าพระพุทธรูปศิลาองค์นี้มีพุทธลักษณ์งดงาม ศิลปแบบทวารวดีเป็นพระพุทธรูปสำคัญมาแต่โบราณกาล จึงให้พระภิกษุสามเณรช่วยกันถอดออกเป็นชิ้นๆ ลำเลียงไปประดิษฐานไว้ที่วัดพระปฐมเจดีย์

ครั้นนำพระไปไว้ ณ วัดพระปฐมเจดีย์แล้วจึงได้บอกให้ชาวบ้านรู้ช่วยกันมาทำบุญฉลองพระพุทธศิลา ทวารวดีองค์นั้น นิมิตของสามเณรบุญจึงลือเลื่องกระเดื่องนามว่าเป็นเลิศด้วย “ญาณ” ทิพย์จักษุแม้เป็นแค่สามเณรเท่านั้น”

*หมายเหตุ ตามที่ผู้เขียนได้ตั้งข้อสังเกตเรื่อง ปีในการสร้างพระอุโบสถสมัยรัชกาลที่ ๔ ซึ่งมีเอกสารจดหมายเหตุระบุปีในการทำรากพระอุโบสถ คือ พ.ศ.๒๔๐๕ และปีที่พระธรรมวโรดม (โชติ) บันทึกประวัติพระศิลาขาวระบุว่าประดิษฐาน พ.ศ.๒๔๐๔ ซึ่งตัวเลขทั้ง ๒ มีความคลาดเคลื่อนไม่ลงรอยกัน แต่เมื่อพบข้อมูลจากประวัติหลวงปู่บุญ ที่ระบุการเดินทางมาพบพระศิลาขาวใน “วันเพ็ญเดือนสิบปี พ.ศ.๒๔๐๙” หรือ ขี้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐ ซึ่งตรงกับวันจันทร์ที่ ๒๔ กันยายน พ.ศ.๒๔๐๙ ปีขาล จึงมีความเห็นว่าเป็นไปได้ที่ปีจากบอกเล่าประวัติหลวงปู่บุญนี้อาจเป็น ข้อมูลที่ถูกต้อง ด้วยระยะดังกล่าวยังคงเป็นช่วงปลายสมัย ร.๔ ก่อนจะเสด็จสวรรคต ๒ ปีเศษ (สวรรคตวันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๑๑) แต่ก็ยังมิอาจยุติได้ เนื่องจากบันทึกของพระธรรมวโรดม (โชติ) ระบุอีกว่า ก่อนพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวครองราชสมบัติ ๗ ปี ซึ่งพระองค์ทรงครองราชย์ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๑๑ และบรมราชาภิเษก ครั้งที่ ๑ เมื่อ ๑๑ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๑๑ ครั้งที่ ๒ เมื่อ ๑๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๑๖ ทั้งนี้ หากนับปีบรมราชาภิเษก ครั้งที่ ๒ พ.ศ.๒๔๑๖ ถอยกลับไปถึงปีที่หลวงปู่บุญพบพระศิลาขาว จะมีระยะเวลา ก่อนพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวครองราชสมบัติ ๗ ปี ถูกต้อง ตรงกัน และข้อสังเกตอีกประการ คือ ในสมัย ร.๗ มีการสร้างพระอุโบสถใหม่แทนที่หลังเดิมที่สร้างในสมัย ร.๔ ขณะที่บริเวณพระปฐมเจดีย์มีความเป็นเมืองและมีการคมนาคมขนส่งที่สะดวกขึ้น มากแล้ว ยังใช้เวลาในการสร้างนานถึง ๔ ปี (นับจากถวายแบบพระอุโบสถ ถึงประดิษฐานพระประธาน) จึงอาจมีความเป็นไปได้ที่พระอุโบสถสมัย ร.๔ ใช้เวลาในการก่อสร้าง ๔ – ๕ ปี และเสร็จในช่วงเวลาเดียวกับที่พบพระศิลาขาว พ.ศ.๒๔๐๙ จึงอัญเชิญขึ้นประดิษฐานเป็นพระประธาน ซึ่งขณะนั้นยังอยู่ในช่วง ๒ ปีสุดท้ายปลายรัชสมัย ร.๔

พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ทวารวดี…คู่บารมีหลวงปู่บุญ

สามเณรบุญ หรือ พระพุทธวิถีนายก ซึ่งชาวนครปฐมมักเรียกท่านว่า หลวงปู่บุญ นับแต่นั้นมาท่านได้มากราบไหว้บูชาพระศิลาขาวอยู่เสมอมิได้ขาด และในวันเพ็ญเดือน ๑๐ ซึ่งเป็นวันที่ท่านได้พบพระพุทธรูปองค์นี้ ท่านจะนำเครื่องบูชามาสักการะเป็นประจำทุกปี แม้เมื่อล่วงเข้าวัยชราก็ยังคงปฏิบัติเป็นประจำมิได้ขาด กระทั่งท่านมรณภาพเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๘ แล้ว ก็ยังคงมีเหตุอัศจรรย์อันเนื่องด้วยพระประธานศิลาขาวนี้เกิดขึ้นแก่พระ อาจารย์ใบ คุณวีโร ซึ่งมีศรัทธาจะบูรณะศาลาการเปรียญที่สร้างไว้ในสมัยหลวงปู่บุญแต่ติดขัด ปัจจัยที่ต้องใช้เป็นจำนวนมาก กระทั่งต้นปี ๒๕๑๖ หลังจากพระอาจารย์ใบไปอธิษฐานบอกกล่าวต่อหน้ารูปปั้นหลวงปู่บุญและเกิดนิมิต ขึ้นว่า ท่านไปกราบพระพุทธรูปศิลาในพระอุโบสถพระปฐมเจดีย์ ได้พบหลวงปู่บุญนั่งอยู่หน้าพระประธานและมอบก้อนโลหะสีขาวขนาดใหญ่ให้ เช้ารุ่งขึ้นหลังพระอาจารย์ใบกลับจากบิณฑบาตรก็มีญาติซึ่งนานๆ ครั้งจะมาพบได้เดินทางมาจากวัดใหม่สุคนธาราม แจ้งว่ามีพระแก่ไปเข้าฝันให้เอาโลหะที่ขุดได้ตอนไถนาที่ ต.ศรีมหาโพธิ์ ซึ่งอดีตเคยเป็นเมืองโบราณสมัยทวารวดี มาถวายที่วัดกลางบางแก้ว พระอาจารย์ใบจึงนำก้อนโลหะนั้นไปถวายพร้อมเล่านิมิตและเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นให้หลวงปู่เพิ่มฟัง หลวงปู่เพิ่มจึงสันนิษฐานว่าก้อนโลหะนั้นคงเป็น “นิมิตรเมือง” ที่ฝังไว้ใจกลางเมืองตั้งแต่ครั้งโบราณเพื่อปกป้องให้อยู่เย็นเป็นสุข จึงแจ้งให้อาจารย์ใบสร้างพระเครื่องแบบพระประธานในพระอุโบสถตามนิมิตร เพื่อมอบแก่ผู้ร่วมทำบุญบูรณะศาลาการเปรียญทำให้ศาลาแล้วเสร็จในเวลาอัน รวดเร็ว

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *