เพลงพิษฐาน…คำอธิษฐานหน้าพระปฏิมาที่วัดน้อยเจริญสุข

เพลงพื้นบ้านกับคนไทยสมัยก่อนเป็นความกลมกลืนที่ยากจะแยกจากกัน จึงมักพบการเล่นเพลงต่างๆ สอดแทรกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับวิถีชีวิตประจำวัน ทั้งนี้นักวิชาการ ผู้รู้บางท่านได้ศึกษาแยกแยะประเภทของเพลงพื้นบ้านภาคกลาง
ตามวาระโอกาสและกิจกรรมที่ก่อให้เกิดการละเล่นเพลงต่างๆ คือ

เพลงเล่นในหน้าน้ำ กฐินผ้าป่า ออกพรรษา เช่น เพลงเรือ เพลงหน้าใย หรือ เพลงโช้ เพลงรำภาข้าวสาร เพลงร่อยพรรษา

เพลงเล่นหน้าเกี่ยวข้าว และนวดข้าว เช่น เพลงเต้นกำรำเคียว เพลงสงฟาง เพลงพานฟาง เพลงสงคอลำพวน เพลงชักกระดาน เพลงโอก

เพลงหน้าสงกรานต์ เช่น เพลงพวงมาลัย เพลงระบำ เพลงระบำบ้านไร่ เพลงฮินเลเล เพลงช้าเจ้าโลม เพลงพิษฐาน เพลงเหย่ย เพลงแห่นางแมว เพลงร้องเข้าทรงต่างๆ เพลงช้าเจ้าหงษ์ เพลงร้องยั่วต่างๆ

เพลงเล่นทั่วไปไม่จำกัดเทศกาล เช่น เพลงกล่อมเด็ก เพลงปลอบเด็ก เพลงร้องเล่นเกม เพลงอีแซว เพลงระบำบ้านนา เพลง พาดควาย เพลงปรบไก่ ลำตัด เพลงแอ่วเคล้าซอ เพลงเทพทอง เพลงขอทาน เพลงฉ่อย เพลงแห่นาค เพลงทรงเครื่อง

เพลงเพิ่มเติม เช่น เพลงครึ่งท่อน เพลงไก่ป่า เพลงพื้นบ้านในแต่ละท้องที่ต่างมีเอกลักษณ์ในแบบฉบับของถิ่นตน

ไม่ว่าเพลงนั้นๆ จะมีชื่อเรียกที่เหมือน คล้าย หรือแตกต่าง ก็มักปรากฎกลิ่นอายความต่างแห่งท้องถิ่นนั้นๆ ให้เห็นในบางแง่มุมซึ่งแม้กระทั่งท้องถิ่นในจังหวัดเดียวกันบางคราวก็ยังพบความแตกต่าง

สันนิษฐานประการหนึ่ง คือ เพลงพื้นบ้านเป็นวรรณกรรมมุขปาถะ ที่ซึมซาบส่งต่อกันปากต่อปาก จำ…ต่อจำ สั้นยาวต่างบุคคล และน้อยนักที่จะบันทึกไว้เป็นหลักฐาน ความคลาดเคลื่อน แปลงเปลี่ยนจึงมาด้วยหลากปัจจัย และเมื่อจำนั้นติดตามตัวไปต่างถิ่นต่างฐาน จำเก่า เคล้าจำใหม่ เกิดจำแปลงขึ้นก็อีกมากมาย เพลงพื้นบ้านจึงมีกลิ่นอายใสซื่อ
และมีเสน่ห์เฉพาะถิ่นที่ชวนให้หลงไหลไม่น้อย

การเล่นเพลงพื้นบ้านนั้น เสน่ห์สำคัญประการหนึ่ง คือ ไหวพริบปฏิพานความรอบรู้ในการใช้คำและความของผู้ร้องผู้เล่น
ดังทราบกันดีอยู่แล้วว่าคนไทยเป็นคนเจ้าบทเจ้ากลอน เมื่อกลอนว่า เหตุการณ์พาไป การแตกแขนงแปลงตามจึงเกิดขึ้นเสมอ

สำหรับเพลงพื้นบ้านนครปฐม ซึ่งผู้เขียนได้เคยกล่าวไว้ในบทความ “เพลงพื้นบ้านนครปฐม” https://goo.gl/ke3Hec
พบอยู่ในละแวก ต. สระกระเทียม มี ๘  ชนิด คือ เพลงสงคอลำพวน  เพลงปรบไก่ เพลงพวงมาลัย เพลงฉ่อย เพลงทรงเครื่อง เพลงแห่นางแมว เพลงเข้าทรงต่างๆ และเพลงสำหรับเด็ก

ความรู้อันค่อนข้างจำกัดเรื่องเพลงพื้นบ้านของผู้เขียน ดังกล่าวไว้ในบทความข้างต้นกระทั่งปัจจุบัน ก็สามารถกล่าวโดยเปิดเผยว่ายังหารู้เพิ่มขึ้นสักกี่มากน้อย เพลงพื้นบ้านนครปฐมที่ผู้เขียนรู้จักเพิ่มขึ้น ในระยะที่ผ่านมาอีกประเภท คือ “เพลงขอทาน” ซึ่งมีคณะสำรวจนำโดย ดร. มนัส  แก้วบูชา ซึ่งท่านเป็นชาวนครชัยศรีเป็นคณะทำงานและรวบรวมข้อมูล
ในโครงการภูมิบ้านภูมิเมือง ของสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ

โครงการดังกล่าวดำเนินการเมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๙ โดยมีบุคคลสำคัญที่ถ่ายทอดและให้ข้อมูลเป็นหลักคือ ลุงบุญช่วง ศรีรางวัล บ้านลาวข่า หมู่ ๑๐ ต.บางระกำ อ.บางเลน ท่านที่สนใจรายละเอียดเรื่อง “เพลงขอทาน” ติดตามอ่านได้ที่ https://goo.gl/15U4b6

สำหรับในปี ๒๕๖๐ นี้ เพื่อนร่วมงานท่านหนึ่ง คือ คุณปัญญา พูพะเนียด ซึ่งเป็นผู้ที่มีความรักและสนใจในงานอนุรักษ์วัฒนธรรมแม้จะมิได้อยู่ในหน้าที่โดยตรง หากแต่เป็นความชื่นชอบโดยสมัครใจส่วนตนที่มีมาช้านานจนปัจจุบัน คุณปัญญาได้มาส่งข่าวและชักชวนให้ไปเก็บข้อมูลการเล่นเพลงพิษฐานของชาวบ้านที่วัดน้อยเจริญสุข อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม ซึ่งทุกๆ ปีจะมารวมตัวกันร้องอธิษฐานขอพรพระในโบสถ์ช่วงเทศกาลสงกรานต์

ผู้เขียนเมื่อทราบข่าวโดยไม่ต้องตัดสินใจใดใดจึงตอบตกลง พร้อมนัดวันเวลาไปเยี่ยมหายายๆ ป้าๆ น้าๆ เพื่อพูดคุยในเบื้องต้น เมื่อถึงวันนัดหมายบุคคลสำคัญอีกท่านหนึ่งนอกเหนือจากคุณปัญญา ก็คือ อ.ศิรินทร์ บุญโสธรสถิตย์ อาจารย์ของผู้เขียน ซึ่งแม้ท่านจะเกษียณราชการ แต่ยังคงสนใจในงานท้องถิ่นหลากประเด็น ท่านได้ร่วมเดินทางไปในคณะกับผู้เขียนด้วย

เพลงพิษฐาน…คำอธิษฐานหน้าพระ หนังสือ “เพลงนอกศตวรรษ” ของคุณเอนก นาวิกมูล
ได้กล่าวไว้ในตอนที่ ๑๕ หน้า ๒๙๙-๓๐๕ เรื่อง เพลงพิษฐาน สรุปความได้ว่า

เพลงพิษฐานนั้น เป็นเพลงแห่งความสุขของหนุ่มสาวสมัยก่อน ใช้ร้องเล่นในงานบุญต้อนรับปีใหม่ไทย คือ ในวันสงกรานต์ เมื่อต่างเตรียมตัวไปทำบุญที่วัด ก็จะพากันเก็บดอกไม้ไปไหว้พระในโบสถ์ และพากันร้องอธิษฐานขอพรพระตามที่ตนปรารถนาจึงเรียกกันว่าเพลงอธิษฐาน ซึ่งปัจจุบันยังไม่พบหลักฐานว่าเริ่มมีขึ้นที่ไหน เมื่อไร และสันนิษฐานว่าคำเรียกชื่อเพลงอาจมีการพร่องไป จึงแปรเปลี่ยนคำเรียกเป็นเพลงพิษฐานมาจนปัจจุบัน

การเล่นเพลงพิษฐานนั้นผู้ร้องจะใช้คำง่ายๆ สองคำ ซึ่งมักเป็นชื่อดอกไม้ หรือชื่อหมู่บ้านตามที่นึกได้ โดยเป็นคำที่มีเสียงสัมผัสกันมาร้องให้คล้องจองกัน ใช้คำเพียงสี่วรรค เมื่อผู้ร้องร้องจบ คนอื่นๆ จะเป็นลูกคู่คอยรับ เดิมนั้นการเล่นเพลงพิษฐานเป็นการร้องโต้ตอบกันระหว่างชายหญิง บ้างจึงมีการเกี้ยวพาราสีกันเป็นที่สนุกสนานครื้นเครงไหน…เคยเล่นเพลงพิษฐานบ้าง ในหนังสือเล่มดังกล่าว คุณเอนก นาวิกมูล ให้ข้อมูลไว้ว่า

“เพลงพิษฐานหาดูหาฟังชนิดที่เล่นกันจริงๆ ไม่ได้แล้ว เพราะไม่มีคนร้องคนเล่นติดต่อสืบแทนจากคนเก่า แต่ก่อนมีเพลงชนิดนี้ร้องกันในเมืองกาญจนบุรี เช่น ที่บ้านพนมทวน ซึ่งอาจารย์สุมามาลย์ทำวิทยานิพนธ์ไว้ ที่ราชบุรี (บ้านคลองตาคต โพธาราม) นายลออ ทองมีสิทธิ์ หัวหน้าหนังใหญ่วัดขนอนยังบอกว่าเคยเล่นแต่เลิกกันไปนานแล้ว (ทั้งที่คนแถบนี้รักษาประเพณีและงานทางศิลปะวัฒนธรรมได้แข็งมาก) ส่วนทางอยุธยา ยายทองหล่อ แม่เพลงฉ่อยเป็นผู้เคยสนุกกับเพลงนี้มาเมื่อนมนาน”

นอกจากนี้ ยังให้ข้อมูลว่า ก่อน พ.ศ.๒๕๒๐ เรื่องราวของเพลงพิษฐานยังมีข้อมูลอยู่น้อยมาก หลังจาก พ.ศ.๒๕๒๑ จึงมีการพบในแห่งอื่นๆ เพิ่มขึ้น เช่น ชาวบ้านสระทะเล ต.ย่านมัทรี อ.พยุหะคีรี จ.นครสวรรค์ วัดท่าโพ ต.ท่าโพ อ.หนองขาหย่าง จ.อุทัยธานี นอกจากนี้ยังพบที่ จ. สุโขทัย อีกด้วย

เพลงพิษฐาน…ที่วัดน้อยฯ นครปฐม
การเล่นเพลงพิษฐานที่วัดน้อยเจริญสุขนี้มีการเล่นสืบทอดกันมาหลายรุ่นจนถึงปัจจุบัน โอกาสที่ใช้เล่นก็เช่นเดียวกับที่อื่นๆ คือ วันสงกรานต์ ซึ่งถือเป็นวันปีใหม่ของไทย และคนส่วนใหญ่มักจะนิยมทำในสิ่งที่เป็นสิริมงคล ด้วยการไปทำบุญและอธิษฐานขอพรพระที่วัด ซึ่งการเล่นเพลงพิษฐานนี้ในละแวกใกล้เคียง เช่น วัดหลวงประชาบูรณะ วัดสิง วัดท่า หรือวัดอื่นใกล้ๆ ละแวกนี้ไม่พบว่ามีวัดใดเล่นเพลงพิษฐาน คงมีข้อมูลการเล่นเฉพาะที่วัดน้อยฯ แห่งนี้

เขาเล่นเพลงพิษฐานกันตอนไหน…อย่างไร
ในระหว่างเวลาที่รอพระฉันท์นี้เอง ชาวบ้านก็จะพากันไปลงโบสถ์เล่นเพลงพิษฐาน ใครมาทำบุญก็จะชักชวนกันไปลงโบสถ์ ใครจะสมัครใจลงเล่นก็ได้ไม่จำกัดจำนวน เพศ หรืออายุ ใครร้องอธิษฐานได้ก็จะนำร้อง คนอื่นๆ ก็จะคอยเป็นลูกคู่รับ คำร้องก็มีทั้งการร้องขอพร ร้องเล่นสนุกสนาน เมื่อร้องอธิษฐานขอพรเสร็จก็พากันกลับขึ้นศาลาไปรับพรจากพระสงฆ์ หลังจากนั้นก็จะแยกย้ายกันกลับบ้าน แต่หากใครไม่ติดขัดธุระอะไร ก็จะร่วมกันรับประทานอาหารที่ชาวบ้านต่างนำมาถวายพระ นับเป็นการพบปะสังสรรค์ของชาวบ้านในหมู่บ้านอย่างอบอุ่นใกล้ชิด

ชาววัดน้อยฯ เล่นเพลงพิษฐานที่ไหน…เมื่อไร
สถานที่ที่ใช้เล่นเพลงพิษฐานของชาววัดน้อยฯ จะเล่นกันเฉพาะแต่ในโบสถ์หน้าพระประธานเท่านั้น ช่วงวันเวลาที่เล่นเพลง เริ่มตั้งแต่วันที่ ๑๓-๑๖ เมษายน ทุกปี โดยที่วัดแห่งนี้ มีการทำบุญขึ้นศาลาทุกวัน ตั้งแต่เวลาประมาณ ๗.๓๐ น.
เมื่อพระขึ้นศาลาเรียบร้อยแล้ว ชาวบ้านที่สมัครใจเล่นเพลง ก็จะพากันไปร้องเพลงในโบสถ์ตั้งแต่ประมาณ ๘.๐๐ น. ประมาณ ๑๕-๒๐ นาที เป็นต้นไป


สัมภาษณ์แม่เพลงอาวุโส เมื่อ วันที่ ๑๘ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๐
เพลงพิษฐานมีพ่อเพลง แม่เพลงไหม
การเล่นเพลงพิษฐานที่วัดน้อยนั้น สมัยก่อนมีพ่อเพลง แม่เพลงว่าเพลงแก้กันเหมือนที่อื่นๆ แต่ปัจจุบันสิ้นตัวพ่อเพลง คงเหลือแต่แม่เพลงอาวุโสเพียงไม่กี่คน โดยยายกิมซ่วน สัมพันธวงศ์ แม่เพลงอาวุโสวัย ๘๗ ปี  เล่าถึงแม่เพลงรุ่นเก่าๆ สมัยคุณยายยังสาวว่ามีหลายคน เช่น ป้าเหล่ง นุชเพนียด ป้าแหวน จันห้วย ป้าพิมพ์ จันทร์ห้วย ป้าทองพาน ชูวงศ์วาน (แม่ป้าเฉลิม) ยายหมง จารย์ติ๋ว แต่ปัจจุบันบุคคลที่เอ่ยชื่อมานั้นเสียชีวิตหมดแล้ว


ยายส้มจีน บุญญาธิ์ ยายกิมซ่วน สัมพันธวงศ์
ยายเฉลิม (ชูวงศ์วาน) ทับทิม และนางรำพึง โกสุข อายุ 64 ปี

แม่เพลงอาวุโสในปัจจุบัน
การไปสัมภาษณ์ครั้งนี้คณะของเราได้พบกับแม่เพลงอาวุโส ๔ ท่าน ซึ่งหากไล่เรียงอาวุโสแล้ว ท่านที่มีอายุมากสุดนั้นเกือบจะครบศตวรรษแล้ว คือ คุณยายส้มจีน บุญญาธิ์ อายุ ๙๐ ปี เกิดเมื่อ พ.ศ.๒๔๗๑ ปีมะโรง อยู่บ้านเลขที่ ๒๗ ม.๕ ต.ท่าพระยา อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม คุณยายเล่าว่าเมื่อครั้งยังสาวรุ่น ๒๐-๓๐ ปี ก็ได้ตามผู้ใหญ่เข้าไปฟังไปร้องในโบสถ์แล้ว ยายส้มจีนเป็นคนอารมณ์ดี ชอบพูดชอบหยอกแซว

ท่านที่สอง คือ ยายกิมซ่วน สัมพันธวงศ์ อายุ ๘๗ ปี เกิดเมื่อ พ.ศ.๒๔๗๓ ปีมะเมีย อยู่บ้านเลขที่ ๙/๑ ม.๕ ต.ท่าพระยา อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม จำความอายุราว ๒๐ ปีกว่า ก็ตามผู้ใหญ่เข้าไปฟังไปร้องในโบสถ์

ท่านที่สาม คือ ยายเฉลิม (ชูวงศ์วาน) ทับทิม อายุ ๘๐ ปี เกิดเมื่อ พ.ศ.๒๔๗๙ ปีชวด  ๒๗ ม.๓ ต.ท่าพระยา อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม จำความได้ที่เข้าตามผู้ใหญ่เป็นสาวแล้ว  ยายเฉลิมเป็นหลานจีน มีก๋งซึ่งเดินทางมาจากเมืองจีนด้วยสำเภา
มากัน ๙ คนพี่น้องแซ่เดียวกัน แต่ยายเฉลิมจำแซ่ไม่ได้ ต่อมามีการมาเปลี่ยนใช้นามสกุลเป็นไทย ก๋งเป็นคนโต ใช้นามสกุลชูวงศ์วาน ก๋งคนกลาง ใช้นามสกุลเก้าวงศ์วาน ส่วนก๋งคนเล็ก ใช้นามสกุลแก้ววงศ์วาน ยายเฉลิมพูดภาษาจีนไม่ได้พอรู้เพียงบางคำ

จากการสอบถามพูดคุยเบื้องต้นผู้เขียนสันนิษฐานว่ายายเฉลิมน่าจะเป็นชาวจีนแต้จิ๋ว ยายจำความได้ว่าตามพ่อแม่ไปวัดตอนสาวๆ ไปลงโบสถ์ เพราะมีความเชื่อว่าการอธิษฐานในโบสถ์เป็นมหากุศลแรงอธิษฐานจะจูงใจเรา คนโบราณถือแบบนี้ว่าการตั้งจิตอธิษฐานใดในโบสถ์ แรงอธิษฐานเมื่อเกิดชาติภพใดก็จะได้ดังคำอธิษฐาน การจะใช้ดอกไม้ใดในการ้องก็ขึ้นกับคำคล้องจองที่เราอยากให้เป็นไปตามคำอธิษฐานนั้น และในปัจจุบันปีที่ผ่านมา (๒๕๕๙) คนลงโบสถ์น้อยมาก คนส่วนใหญ่ไม่ให้ความสนใจในการลงโบสถ์

ส่วนแม่เพลงคนสุดท้องน้องสุดท้ายที่ได้พูดคุยกันในวันนั้นคือ นางรำพึง โกสุข ซึ่งมีอายุ ๖๔ ปี เกิดเมื่อ พ.ศ.๒๔๙๗ ปีมะเมีย อยู่บ้านเลขที่ ๘๓/๑ ม.๓ ต.ศรีษะทอง อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม

ตัวอย่างเนื้อร้อง

แม่เพลงขึ้น:      ลูกยกหัตถ์ขึ้นนมัสการเอย สองมือลูกถือพาน พานดอกบัว เกิดชาติใดแสนใด ขออย่าให้มีลูกมีผัว

ลูกคู่ร้องรับ:      พิษฐานลงไหว้ พิษฐานเอ๋ยลาลอยแพ ขอให้แน่อย่างพิษฐานเอย

แม่เพลงขึ้น:        ลูกยกหัตถ์ขึ้นนมัสการเอย สองมือลูกถือพาน พานดอกแค เกิดชาติใดแสนใด ขอให้พร้อมพ่อพร้อมแม่ ขอให้ได้อย่างพิษฐานลงไหว้

ลูกคู่ร้องรับ:        พิษฐานลงไหว้ พิษฐานเอ๋ยลาลอยแพ ขอให้แน่อย่างพิษฐานเอย

แม่เพลงขึ้น:        พิษฐานเอย มือลูกถือพาน พานดอกจำปี ลูกเกิดชาติใดภพใด ขอให้เป็นมหาเศรษฐี ขอให้พิษฐานลงไหว้ ขอให้ได้อย่างพิษฐาน

ลูกคู่ร้องรับ:        พิษฐานลงไหว้ พิษฐานเอ๋ยลาลอยแพ ขอให้แน่อย่างพิษฐานเอย

แม่เพลงขึ้น:        พิษฐานเอย มือลูกถือพาน พานดอกพังพวย เกิดมาชาติใรแสนใด ขอให้รูปสวยบริสุทธิ์ ดังลูกพิษฐานเอาไว้

ลูกคู่ร้องรับ:        พิษฐานเอ๋ยลาลอยแพ ขอให้แน่อย่างพิษฐานเอย

แม่เพลงขึ้น:        พิษฐานเอย มือลูกถือพาน พานดอกพังพวย เกิดมาชาติใรแสนใด ขอให้รูปสวยบริสุทธิ์ ดังลูกพิษฐานเอาไว้

ลูกคู่ร้องรับ:        พิษฐานเอ๋ยลาลอยแพ ขอให้แน่อย่างพิษฐานเอย

แม่เพลงขึ้น:        ลูกยกหัตถ์ขึ้นนมัสการเอย สองมือลูกถือพาน พานดอกกระเพรา ลูกเกิดชาติใดภพใด ขอให้ห่างไกลคนกินเหล้า ขอพิษฐานเอาไว้

ลูกคู่ร้องรับ:        พิษฐานเอ๋ยลาลอยแพ ขอให้แน่อย่างพิษฐานเอย

แม่เพลงขึ้น:        ลูกยกหัตถ์ขึ้นนมัสการเอย สองมือลูกถือพาน พานดอกกระเพรา ลูกเกิดชาติใดภพใด ขอให้ห่างไกลคนกินเหล้า ขอพิษฐานเอาไว้

ลูกคู่ร้องรับ:        พิษฐานเอ๋ยลาลอยแพ ขอให้แน่อย่างพิษฐานเอย

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *