ศิลป์ พีระศรี และอนุสาวรีย์ในภาคตะวันตกของไทย : ผลงานที่ดอนเจดีย์

รู้จักอาจารย์ศิลป์

♥เส้นทางสู่สยามประเทศของครูฝรั่ง…ชื่อไทย

หลายคนอาจเคยสงสัย ทำไม อ.ศิลป์ พีระศรี
ซึ่งมีรูปร่างสูงใหญ่ หน้าตาก็ไม่ละม้ายสักนิดว่าเป็นคนไทย
เหตุใดจึงมีชื่อ-นามสกุล very Thai
ต้องบอกว่าสาเหตุนั้น มาจากการเมืองระดับประเทศเลยทีเดียว

เพราะอะไร??
เรื่องนี้เล่าสั้นนักก็ไม่ครบมูล จึงขออนุญาตเท้าความ

อ.ศิลป์ เดิมชื่อ คอร์ราโด เฟโรชี (Corrado Feroci)
เป็นชาวเมืองฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี
เกิดเมื่อ 15 กันยายน  พ.ศ.2435 (ค.ศ. 1892)
เทียบกับยุคสมัยในไทย คือ ในสมัยรัชกาลที่ 5
ท่านเข้ามารับราชการเป็นช่างปั้น
ประจำราชบัณฑิตยสภา กระทรวงวัง สังกัดกรมศิลปากร
ใน พ.ศ.2466 ซึ่งอยู่ในช่วงปลายสมัยรัชกาลที่ 6

สืบเนื่องจากเมื่อครั้งประเทศสยามจัดการแข่งขัน
คัดเลือกช่างปั้นแบบเหรียญขึ้นที่เมืองฟลอเรนซ์
ซึ่งท่านได้เข้าร่วมแข่งขันและได้รับคัดเลือกจากศิลปิน 300 คน เพียงหนึ่งเดียว
โอกาสในการเข้ามาทำงานกับรัฐบาลสยามขณะนั้นเนื่องจากความต้องการ
ศิลปินอิตาลีเพื่อมาเข้ารับราชการในตำแหน่ง “ปติมากร”  (สะกดคำในยุคนั้น)

ทั้งนี้ ก่อนหน้าในสมัยรัชกาลที่ 5 ทรงมีการติดต่อศิลปินชาวอิตาลี
เข้ามาสร้างงานศิลปะอันแสดงออกได้โดยรูปธรรม
ให้เห็นถึงความพัฒนาโดยทัดเทียมของประเทศสยาม
กับนานาอารยะประเทศอย่างสง่างามอยู่ก่อนแล้ว

♥งานหลวงบนหนทางที่มิได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ ♥

อ.ศิลป์ เข้ามารับราชการเพียง 2 ปี รัชกาลที่ 6 ได้เสด็จสวรรคต
เมื่อเข้าสู่สมัยรัชกาลที่ 7 ใน พ.ศ.2469 ได้จัดตั้งราชบัณฑิตยสภาขึ้น
และให้กรมศิลปากร ยุบไปรวมกัน เรียกว่า ศิลปากรสถาน
กระทั่งหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475
ได้ยกเลิกประกาศตั้งราชบัณฑิตยสภา
และมี พรบ. จัดตั้งกรมศิลปากร ขึ้นใหม่อีกครั้ง เมื่อวันที่ ๓ พฤษภาคม ๒๔๗๖

จนล่วงเข้าสมัยรัชกาลที่ 8 ภายใต้การนำรัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงคราม
ใน พ.ศ.2485 เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างหน่วยงานต้นสังกัดของ อ.ศิลป์ อีกครั้ง
ต่อมา พ.ศ. ๒๕๐๑ มี พรบ. โอนกรมศิลปากร มาสังกัด กระทรวงศึกษาธิการ
โดยกรมศิลปากรถูกแยกจากกระทรวงศึกษาธิการไปขึ้นกับสำนักนายกรัฐมนตรี

ขณะนั้นท่านยังคงดำรงตำแหน่งอาจารย์ช่างปั้น พร้อมๆ กับการเป็นผู้บริหาร
โรงเรียนศิลปากร (แผนกช่าง) ซึ่งเดิม คือ โรงเรียนประณีตศิลปกรรม
โรงเรียนศิลปะแห่งนี้ ท่านผู้นำแห่งรัฐได้ให้ความสำคัญยิ่ง
ในเบื้องต้นท่านได้ลงมาสอดส่องดูแลโดยรับทราบข้อมูลจาก อ.ศิลป์ ด้วยตนเอง
กระทั่งนำมาสู่การปรับปรุงหลักสูตรและประกาศ พรบ.จัดตั้งมหาวิทยาลัยศิลปากร ใน พ.ศ.2486

อย่างไรก็ตาม ความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้
มิได้ส่งผลกระทบใดใดต่อการปฏิบัติหน้าที่ราชการ
อ.ศิลป์ ยังคงทำงานในหน้าที่ที่ท่านรักด้วยความสุขเสมอมา

♥ผลพวงแห่งสงคราม ที่มาของนาม “สิลป พีระสรี” ♥

แต่แล้วความไม่ปกติสุขอันนำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในชีวิตของ อ.ศิลป์ก็เกิดขึ้น
เมื่อไทยประกาศเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 2 ในวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2485 (ค.ศ.1942)

การเข้าร่วมสงครามนี้เกิดขึ้นภายหลังจากที่ประเทศสยามเปลี่ยนนามเป็นไทยได้ 3 ปี
ตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยรัฐนิยมใช้ชื่อประเทศ, ประชาชน และสัญชาติ
ลงวันที่ 24 มิถุนายน 2482* โดยรัฐบาลจอมพล ป. เจ้าของสโลแกน “เชื่อผู้นำชาติพ้นภัย”
ทั้งนี้ ท่านมีนโยบายสำคัญในการมุ่งพัฒนาประเทศให้เจริญทัดเทียมนานาอารยประเทศ
ดังจะเห็นว่ามีการปลุกระดมให้รักชาติ ด้วยการออกประกาศว่าด้วย “รัฐนิยม” หลายประการ
ประกาศที่สำคัญประการหนึ่ง คือ การเปลี่ยนนามชื่อประเทศเป็น “ไทย”

การเข้าร่วมสงครามโลกนั้นเหตุประการหนึ่งเนื่องจากเล็งเห็นว่ากองทัพญี่ปุ่น
ซึ่งใช้ไทยเป็นฐานที่มั่นนั้นเป็นหนึ่งในกลุ่มประเทศผู้นำฝ่ายอักษะร่วมกับเยอรมนีและอิตาลี
เป็นผู้มีชัยชนะทั้งทางบก ทางเรือ และทางอากาศในระยะแรกของสงคราม
จึงคาดการณ์ว่าฝ่ายอักษะจะเป็นฝ่ายมีชัยในสงครามต่อฝ่ายสัมพันธมิตร
ซึ่งมีกลุ่มประเทศผู้นำสำคัญ คือ อังกฤษ ฝรั่งเศส จีน สหรัฐอเมริกา และสหภาพโซเวียต

โดยหลังจากที่กองทหารญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกตลอดแนวชายฝั่งของไทยพร้อมๆ กัน 7 แห่ง
คือ สมุทรปราการ ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี สงขลา และปัตตานี
ตั้งแต่เช้ามืดของวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2484 และขอใช้ไทยเป็นทางผ่าน
เพื่อไปโจมตีพม่าและมาลายูดินแดนในอาณานิคมของอังกฤษ
ต่อมา วันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2484 รัฐบาลไทยได้ทำกติกาสัมพันธไมตรีกับญี่ปุ่น
กระทั่งนำเข้าสู่การประกาศเข้าร่วมสงคราม ดังกล่าวข้างต้น

ขณะที่สงครามดำเนินไปและข้ามเข้าสู่ปีใหม่
ฝ่ายอักษะที่ไทยเข้าร่วมซึ่งเป็นฝ่ายมีชัยมาแต่เริ่มเกิดการพลิกผันยังความพ่ายแพ้เข้าแทนที่
อิตาลีซึ่งเป็นหนึ่งในผู้นำฝ่ายอักษะยอมลงนามสงบศึกกับฝ่ายสัมพันธมิตร
เมื่อวันที่ 8 กันยายน  พ.ศ. 2486 (ค.ศ.1943)

ผลของการยอมแพ้สงครามทำให้ชาวอิตาเลียนตกอยู่ในฐานะเชลยศึก
ไม่เว้นแม้ อ.ศิลป์ ซึ่งเป็นชาวอิตาเลียนที่พำนักอยู่ในประเทศไทย
แต่ด้วยความสามารถในการเจรจาทางการทูต ไทยจึงได้รับอนุญาตจากรัฐบาลญี่ปุ่น
ให้ควบคุมตัวนายเฟโรชี ซึ่งขณะนั้นยังคงมีสัญชาติอิตาเลียนไว้เอง

หลังจากนั้นทางการไทยโดยท่านผู้นำแห่งรัฐได้มอบหมายให้
หลวงวิจิตรวาทการอธิบดีกรมศิลปากรในขณะนั้น
โอนสัญชาติของนายเฟโรจีจากอิตาเลียนมาเป็นไทย

พร้อมเปลี่ยนชื่อและนามสกุลเป็นไทย โดยล้อนามเดิม
คือ C. Feroci ว่า สิลป พีระสรี (การสะกดคำในยุคนั้น)
ดังมีหลักฐานบันทึก ของนายยง ส.อนุมานราชธน (พระยาอนุมานราชธน)
ประธาน อ.ก.พ. กรมสิลปากร (การสะกดคำในยุคนั้น)
ลงวันที่ 29 มกราคม พ.ศ.2487 ถึงเลขาธิการ ก.พ. ความว่า

ฉันรู้สึกเป็นเกียรติที่จะเรียนว่า นายซี. เฟโรจี ข้าราชการพลเรือนวิสามัญ
เลขที่ 1 เงินเดือน 900 บาท ตำแหน่งปติมากร ประจำกรมสิลปากร
ได้ขอเปลี่ยนชื่อและชื่อสกุลจาก “ซี. เฟโรจี” เป็น “สิลป พีระสรี”
ซึ่งได้รับอนุมัติจากทางการแล้ว จึงเรียนมาเพื่อโปรดแก้ทะเบียนประวัติด้วย

♥นามเฉพาะตน…สำคัญไฉนในสะกดคำ♥

การเขียนชื่อไทยของ อ.ศิลป์ นี้
จะพบว่ามีการเขียนหลากแบบตามยุคสมัย
พ.ศ. 2487 ใช้ “สิลป พีระสรี” พ.ศ.2488 ใช้ “ศิลป พีระศรี”
ต่อมา พ.ศ.2534 เมื่อมหาวิทยาลัยศิลปากรดำริจัด
งานฉลองครบรอบ 100 ปี ศาสตราจาย์ ศิลป พีระศรี
ได้มีการนำประเด็น “ชื่อที่ถูกต้องของศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี”
เข้าหารือในการประชุมคณบดีมหาวิทยาลัยศิลปากร
ดังปรากฎในบันทึกการประชุมรวม 3 ครั้ง คือ
ครั้งที่ 6/2534  (วันที่ 5 มี.ค. 2534) ครั้งที่ 7/2534 (วันที่ 19 มี.ค. 2534)
และ ครั้งที่ 8/2534 (วันที่ 2 เม.ย. 2534)
ที่ประชุมมีมติใช้ว่า “ศิลป์ พีระศรี” มาจนปัจจุบัน

โรงเรียนศิลปากร…แหล่งศึกษาวิจิตรศิลป์ยุคเริ่มต้นของไทย

ในฐานะช่างปั้นที่เข้ามารับราชการตามตำแหน่ง
อ.ศิลป์ เป็นบุคคลสำคัญท่านหนึ่งที่บุกเบิกวงการศิลปะยุคใหม่ของไทย
ดังจะยกบางช่วงตอนมากล่าวพอสังเขป จากบทความของ อ.ดำรง วงศ์อุปราช
เรื่อง ความเคลื่อนไหวของศิลปินและศิลปะในยุคของศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี

“…ระหว่าง พ.ศ.2469—2475 นี้ เรื่องของศิลปะนำโดยสถาบันของรัฐคือศิลปากรสถาน
มีผลงานศิลปะแบบเรียลลิสม์ ที่เป็นแบบแผนโดยศาสตราจารย์เฟโรจี
โดยเฉพาะงานประติมากรรมขนาดเท่าตัวจริงและขนาดใหญ่หลายเท่าตัวจริง
เช่น พระรูปของสมเด็จฯ กรมพระยานริศฯ พระบรมรูปรัชกาลที่ 6 และ
พระบรมรูป รัชกาลที่ 1 ในวงการช่างและศิลปะมีการตื่นตัวในงานศิลปะแบบนี้มากขึ้น…

อย่างไรก็ตามการทำงานประติมากรรมนั้นท่านไม่สามารถทำได้เพียงลำพัง
ในระยะแรกๆ ของการเริ่มต้นจึงมีปัญหาอุปสรรคมากพอควร
กระทั่งหลังจากเปลี่ยนแปลงการปกครอง และตั้งกรมศิลปากรขึ้นใหม่อีกครั้ง
อ.ศิลป์ ได้ย้ายไปสังกัดกองสถาปัตยกรรม กรมศิลปากร กระทรวงธรรมการ
ซึ่งมีพระสาโรชรัชตนิมมานก์ เป็นผู้อำนวยการ และท่านได้เขียนถึงพระสาโรชไว้ว่า

“วันนั้นเป็นตอนบ่ายเดือนมิถุนายน พ.ศ.2476 ที่ข้าพเจ้าได้รู้จักคุ้นเคย
กับคุณพระสาโรชรัชตนิมมานก์ คุณพระย้ายมารับราชการในกรมศิลปากรก่อนหน้านี้ 4-5 วัน
เพื่อเข้ารับตำแหน่งเป็นหัวหน้ากองสถาปัตยกรรม ซึ่งเวลานั้นรวมแผนกจิตรกรรม
ปฏิมากรรมและงานช่างรักด้วย เมื่อจะออกจากกรมไปและขณะกระตุกมือคำนับกับข้าพเจ้า
คุณพระสาโรชพูดว่า “อย่างไรมิสเตอร์เฟโรจี หวังว่าเราคงได้ร่วมมือกัน
ทำคุณงามความดีให้แก่ศิลปะในเมืองไทยเป็นผลสำเร็จแน่

โดยการสนับสนุนของพระสาโรชฯ โรงเรียนศิลปะของกรมศิลปากร
จึงเริ่มเปิดดำเนินการใน พ.ศ. 2477 อ.ศิลป์ กล่าวไว้ว่า

“คุณพระสาโรชมาบอกแก่ข้าพเจ้าอย่างตรงๆ ให้จัดตั้งโรงเรียนได้ทันที
ไม่รีรอนี่แหละเป็นการเริ่มต้นศักราชใหม่สำหรับศิลปะในประเทศไทย”

การตั้งโรงเรียนประณีตศิลปกรรม
มีหลักฐานเป็นบันทึกราชการเกี่ยวกับโครงการจัดตั้งโรงเรียน
ของพระสาโรชรัชตนิมมานก์ถึงอธิบดีกรมศิลปากร ลงวันที่ 12 เมษายน 2478
และต่อมาได้มีคำสั่งจากกระทรวงธรรมการ ที่ ศก. 5/2478
ลงวันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ.2478 เรื่องตั้งโรงเรียนศิลปากร
โดยแบ่งเป็น 3 แผนก คือ ประณีตศิลปกรรม ศิลปอุตสาหกรรม
และนาฏดุริยางค์ ให้อธิบดีกรมศิลปากรเป็นผู้ควบคุมและวางหลักสูตร

พระปฐมบรมราชานุสรณ์…งานเริ่มต้นอนุสาวรีย์ในไทย

โรงเรียนศิลปกรรมแห่งนี้นับเป็นยุคเริ่มในการศึกษาวิจิตรศิลป์ของไทย
โดยมี อ.ศิลป์ เป็นทั้งผู้อำนวยการในการสอนและลงมือสอนเป็นส่วนใหญ่
อีกทั้งลูกศิษย์ที่เรียนโดยตรงกับท่านยังเป็นผู้มีบทบาทสำคัญ
ที่ช่วยในการวางพื้นฐานด้านวิจิตรศิลป์และประยุกต์ศิลป์ให้กับประเทศไทย
ผลงานที่เป็นรูปธรรมที่เห็นได้ชัด คือ งานประติมากรรมอนุสาวรีย์ต่างๆ ของไทย
นับแต่การสร้างพระบรมรูป รัชกาลที่ 1 ซึ่งเป็นปฐมบรมราชานุสรณ์ พ.ศ.2475
ประดิษฐาน ณ เชิงสะพานพระพุทธยอดฟ้าฯ กรุงเทพฯ

งานอนุสาวรีย์ที อ.ศิลป์ และบรรดาลูกศิษย์ลูกหา
ร่วมกันสร้างขึ้นในประเทศไทยมีหลายชิ้นด้วยกัน
บ้างประดิษฐาน บ้างตั้งแสดงทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด
และบางส่วนเป็นการปั้นรูปเหมือนเฉพาะศรีษะบ้างครึ่งตัวบ้าง
โดยมีผลงานรูปเหมือนที่ทำให้ผู้ใหญ่ในยุคนั้นยอมรับ คือ
รูปเหมือนเฉพาะพระเศียรสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์
ที่ทรงประทับเป็นแบบให้ อ.ศิลป์ ปั้นภาพเหมือนถวาย
นำมาสู่การนำความขึ้นกราบบังคมทูลฯ รัชกาลที่ 6
และทรงเสด็จฯ ประทับเป็นแบบปั้น โดยเฉพาะพระพักตร์นั้น
ทรงพอพระทัยอย่างยิ่งเพราะนอกจากความเหมือนแล้ว
ยังแสดงออกซึ่งบุคลิกภาพของพระองค์ที่ทรงเป็นทั้งปราชญ์และกวี
ซึ่งมีพระสติปัญญาเป็นเยี่ยมบนพระพักตร์ที่สงบและเปี่ยมพระเมตตา

สำหรับงานอนุสาวรีย์ในภูมิภาคตะวันตกที่ อ.ศิลป์
มีส่วนสำคัญในการสร้างขึ้น มีอยู่ด้วยกัน 2 แห่ง
คือ พระบรมราชานุสรณ์ดอนเจดีย์ และพระประธานพุทธมณฑล
ซึ่งในบทนี้จะกล่าวในรายละเอียดในส่วนของพระบรมราชานุสรณ์ดอนเจดีย์

พระบรมราชานุสรณ์ดอนเจดีย์

พระบรมราชานุสรณ์ดอนเจดีย์ หรือ อนุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช
ตั้งอยู่ที่ ต.ดอนเจดีย์ อ.ดอนเจดีย์ สุพรรณบุรี

ภายในบริเวณมีโบราณสถานที่สำคัญตั้งอยู่ คือ เจดีย์ยุทธหัตถี
เจดีย์ยุทธหัตถีองค์นี้ ในสมัยรัชกาลที่ 6 ได้เสด็จพร้อมด้วยกองเสือป่าเหล่าต่างๆ
และลูกเสือโรงเรียนมหาดเล็กเสือป่า มณฑลนครชัยศรี เพื่อประกอบพระราชพิธีบวงสรวง
ถวายสดุดีรำลึกแด่ดวงพระวิญญาณสมเด็จพระนเรศวร เมื่อวันที่ 28 มกราคม พ.ศ.2456

ภายหลังจากการเสด็จได้โปรดเกล้าฯ ให้กรมศิลปากรออกแบบบูรณะองค์พระเจดีย์
แต่การดำเนินการต้องหยุดชะงักไปเนื่องจากติดขัดเรื่องงบประมาณ
ภายหลังต่อมามีความพยายามในการของบประมาณบูรณะมาโดยลำดับแต่ไม่เป็นผล
พ.ศ.2496 คณะกรรมการบูรณะอนุสรณ์ดอนเจดีย์จึงใช้วิธีเรี่ยไรเพื่อนำมาสร้าง

การสร้างอนุสาวรีย์นี้กรมศิลปากรได้มอบหมายให้ อ.ศิลป์ เป็นผู้ออกแบบ
ท่านได้ออกแบบอนุสาวรีย์ขนาดเท่าครึ่งของพระองค์จริง ประทับบนคอพระคชาธาร
ทรงถือพระแสงของ้าว เตรียมทำยุทธหัตถี หันพระพักตร์ไปทางทิศตะวันตก
ฐานล่างทำภาพตอนยุทธหัตถี และตอนประกาศอิสระภาพ
งานหล่อชิ้นนี้ใช้ทองเหลืองและทองแดงราว 20 ตันเศษหล่อและรมดำ
โดยมีสิทธิเดช แสงหิรัญ ปกรณ์ เล็กสน และสนั่น ศิลากรณ์ เป็นผู้ช่วย

ผลงานชิ้นนี้เป็นงานช่วงสุดท้ายของ อ.ศิลป์ ที่นับว่าประสบความสำเร็จเป็นที่พึงพอใจของทุกฝ่าย
มีข้อวิจารณ์จากฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องน้อยมาก แต่ก็ยังคงมีผู้วิจารณ์อยู่บ้างว่า
อนุสาวรีย์ขาดจตุรงคบาท ทั้งนี้อาจกล่าวได้ว่าผู้วิจารณ์ขาดความเข้าใจในหลักความจริงตามเหตุการณ์
ด้วยเป็นการยุทธหัตถีในขณะที่ชุลมุนหากจตุรงคบาทจะติดตามช้างทรงไม่ทันก็มิใช่เรื่องผิดปกติ
และอนุสาวรีย์แห่งนี้สร้างขึ้นเพื่อเทิดพระเกียรติกษัตริย์ผู้เป็นนักรบ การวิจารณ์ลักษณะนี้จึงฟังดูไม่สมเหตุผลนัก
งานหล่ออนุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรนี้นับเป็นงานชิ้นใหญ่กว่างานอื่นๆ ที่เคยสร้างก่อนหน้า
มีองค์ประกอบหลากหลายที่ต้องครบตามยุทธวิธีโบราณทั้งรูปองค์ กลางช้าง ท้ายช้าง สัปคับ อาวุธต่างๆ

การดำเนินการในการหล่อชิ้นส่วนต่างๆ มีหลายขั้นตอนแล้วเสร็จในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2501
นำอนุสาวรีย์ขึ้นตั้งบนแท่นฐานเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ.2501 ประกอบพิธีบวงสรวงสังเวย
อัญเชิญสมเด็จพระนเรศวรขึ้นสู่ที่ประทับคอช้าง วันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ.2501

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าฯ บรมราชินีนาถ
เสด็จพระราชดำเนินเปิดพระบรมรูปอนุสาวรีย์ เมื่อวันที่ 25 มกราคม พ.ศ.2502
จากนั้นมาก็ได้มีการจัดงานรัฐพิธีบวงสรวงและถวายถวายราชสักการะสมเด็จพระนเรศวรมหาราชสืบเนื่องมา
และในปัจจุบันได้ขยายขอบเขตของงานเป็น งานอนุสรณ์ดอนเจดีย์และงานกาชาดจังหวัดสุพรรณบุรี

———————————————–

* หมายเหตุ (ราชกิจจานุเบกษา วันที่ 24 มิถุนายน 2482 เล่ม 56 หน้า 810)

ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยรัฐนิยมใช้ชื่อประเทศ, ประชาชน และสัญชาติ ความว่า

โดยที่ชื่อของประเทศนี้ มีเรียกกันเป็นสองอย่าง คือ  “ไทย” และ “สยาม”
แต่ประชาชนนิยมเรียกว่าไทย รัฐบาลเห็นสมควรถือเป็นรัฐนิยมใช้ชื่อประเทศ
ให้ต้องตามชื่อเชื้อชาติ และความนิยมของประชาชนชาวไทย ดังต่อไปนี้
ก. ในภาษาไทย ชื่อประเทศ ประชาชน และสัญชาติ ให้ใช้ว่า “ไทย”
ข. ในภาษาอังกฤษ

๑. ชื่อประเทศ ให้ใช้ว่า Thailand ๒. ชื่อประชาชน และสัญชาติ   ให้ใช้ว่า Thai
แต่ทั้งนี้ไม่กระทบถึงกรณีที่มีบทกฏหมายบัญญัติคำว่า “สยาม” ไว้

ทั้งนี้ตั้งแต่วันที่ ๒๔ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๘๒

(ลงนาม) พิบูลสงครามนายกรัฐมนตรี
————————————————-

อ้างอิง

จารุภัทร วิมุตเศรษฐ์. (2548). สุพรรณบุรี . กรุงเทพฯ: สารคดี.

ดำรง วงศ์อุปราช. (กันยายน 2535-กุมภาพันธ์2536). ความเคลื่อนไหวของศิลปินและศิลปะในยุคของศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี. วารสารมหาวิทยาลัยศิลปากร : ฉบับ 100 ปี ศาสตราจารย์ศิลป พีระศรี, 12 (ฉบับพิเศษ), 67-105.

ทัศนีย์ ยาวะประภาษ. (พฤศจิกายน 2543). ชีวิตและงานของอาจารย์ศิลป์ พีระศรี. กินรี, 17(11), 96 – 100.

นันทา ขุนภักดี. (กันยายน 2535-กุมภาพันธ์2536). ศาสตราจารย์ศิลป พีระศรี : ความสัมพันธ์กับปราชญ์ไทย. วารสารมหาวิทยาลัยศิลปากร : ฉบับ 100 ปี ศาสตราจารย์ศิลป พีระศรี, 12 (ฉบับพิเศษ), 206-221.

น. ณ ปากน้ำ, นามแฝง. (กันยายน 2535-กุมภาพันธ์2536). ผลงานที่ไม่มีใครรู้จักของศาสตราจารย์ศิลป พีระศรี. วารสารมหาวิทยาลัยศิลปากร : ฉบับ 100 ปี ศาสตราจารย์ศิลป พีระศรี, 12 (ฉบับพิเศษ), 107-113.

พิษณุ ศุภ, นามแฝง. (มิถุนายน 2534). 100 ปี ศาสตราจารย์ศิลป พีระศรี. ศิลปวัฒนธรรม, 12(8), 44 – 47.

_____, นามแฝง. (กันยายน 2535-กุมภาพันธ์2536). บทวิพากษ์ศิลปกรรมของศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี. วารสารมหาวิทยาลัยศิลปากร : ฉบับ 100 ปี ศาสตราจารย์ศิลป พีระศรี, 12(ฉบับพิเศษ), 115-135.

มหาวิทยาลัยศิลปากร. (2534). ชื่อที่ถูกต้องของศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี. การประชุมคณบดีมหาวิทยาลัยศิลปากร ครั้งที่ 6/2534 เมื่อวันอังคารที่ 5 มี.ค. (วาระที่ 3.18). มหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ.

_____. (2534). ชื่อที่ถูกต้องของศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี. การประชุมคณบดีมหาวิทยาลัยศิลปากร ครั้งที่ 7/2534 เมื่อวันอังคารที่ 19 มี.ค. (วาระที่ 3.1). มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์.

_____. (2534). ชื่อที่ถูกต้องของศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี. การประชุมคณบดีมหาวิทยาลัยศิลปากร ครั้งที่ 8/2534 เมื่อวันอังคารที่ 2 เม.ย. (วาระที่ 3.1). มหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ.

วิบูลย์ ลี้สุวรรณ. (กันยายน 2535 – กุมภาพันธ์ 2536). ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี กับงานศิลปะวิชาการ. วารสารมหาวิทยาลัยศิลปากร : ฉบับ 100 ปี ศาสตราจารย์ศิลป พีระศรี, 12(ฉบับพิเศษ), 136 – 156.

สำนักงานจังหวัดสุพรรณบุรี. (2528). ประวัติมหาดไทยส่วนภูมิภาคจังหวัดสุพรรณบุรี. กรุงเทพฯ: สำนักงานจังหวัดสุพรรณบุรี.

หนึ่งฤดี โลหผล. (เมษายน-มิถุนายน 2541). ประติมากรหนุ่ม คอร์ราโด เฟโรชิ ก่อนเดินทางสู่สยาม ในปี พ.ศ.2467. เมืองโบราณ, 24(2), หน้า 71-79.

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *