ศิลป์ พีระศรี และอนุสาวรีย์ในภาคตะวันตกของไทย : ผลงานพระประธานพุทธมณฑล

ครูฝรั่ง…ผู้จุดไฟศิลปร่วมสมัยในไทย

อ.ศิลป์ พีระศรี เป็นหนึ่งในจำนวนชาวอิตาลีที่เข้ามาทำงานในไทย
ในยุคสมัยที่เน้นการพัฒนาประเทศให้เห็นเป็นรูปธรรมอย่างโดดเด่น
การเข้ามารับราชการในตำแหน่งประติมากรของท่าน
มิได้สร้างเพียงเฉพาะผลงานประติมากรรมอันมุ่งแสดงถึงความมีศิวิไลซ์ของชาติ

นอกเหนือจากงานในหน้าที่ประติมากรแล้ว
อ.ศิลป์ ยังเป็นผู้มีบทบาทสำคัญต่อวงการศิลปร่วมสมัยของไทย
โดยท่านมีทัศนะต่อศิลปแบบประเพณีของไทย
ดังได้บันทึกในบทความเรื่อง “contemporary Art in Thailand”
และ อ.เขียน ยิ้มศิริ ได้แปลเป็นไทยใช้ชื่อว่า “ศิลปร่วมสมัยในประเทศไทย”
เผยแพร่เมื่อ พ.ศ.2511 ดังใจความสำคัญพอสังเขป ดังนี้

“จากการมองย้อนหลังศิลปในประเทศไทยแสดงให้เราเห็นว่า

แบบอย่างของศิลปตามประเพณีที่กระทำจำเจกันมานับเป็นร้อยๆ ปี
จนถึงปลายศตวรรษที่แล้วนั้น ได้ตกอยู่ในสภาวะจืดชืดและซ้ำซาก…

เท่าที่เศรษฐกิจของรัฐเป็นอยู่ในสมัยโบราณ…รายได้ส่วนใหญ่ของรัฐ
ได้ถูกนำไปใช้สร้างวัดวาอาราม เพราะเป็นการสร้างกุศลผลบุญอย่างสูงสุดของชาวพุทธ
…สิ่งก่อสร้างทางศาสนาจึงอุบัติขึ้นโดยไม่หยุดยั้ง
ซึ่งอำนวยให้ศิลปินไทยทำงานศิลปทุกสาขาได้อย่างดี…

ปลายพุทธศตวรรษที่ 25…
ไทยได้นำเอาอารยธรรมตะวันตกเข้ามาพัฒนาประเทศหลายประการ
…เกี่ยวกับสาธารณะประโยชน์ของประชาชนป็นสำคัญ

การสร้างวัดวาอารามจึงสะดุดหยุดลง
เป็นเหตุให้ศิลปตามประเพณีมิได้เป็นไปอย่างปกติ…
การนำอารยธรรมตะวันตกเข้ามาใช้ ย่อมหมายถึง
การนำเอาคุณสมบัติพิเศษทางศิลปของตะวันตกเข้ามาด้วยหลายสถาน
งานประติมากรรมและจิตรกรรมตามแบบจริงกึ่งพานิชศิลป ก็ได้สั่งเข้ามาในประเทศไทย
…ศิลปินและสถาปนิกชาวต่างประเทศได้ถูกสั่งเข้ามาทำงาน
และนี่เองเป็นสิ่งกำหนดชะตากรรมของศิลปะตามแบบประเพณี
ดังที่ได้กล่าวไว้แล้วว่าเป็นศิลปในยุคเสื่อม…”

ความเสื่อมลงของงานศิลปแบบประเพณีของไทยตามสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปนี้
นำมาซึ่งการพัฒนาศิลปะของไทยสู่ยุคศิลปร่วมสมัย
ดังท่านได้สะท้อนอิทธิพลของระบบการศึกษาต่องานศิลปสมัยใหม่ ว่า

“ในสมัยโบราณ คนไทยได้รับการศึกษาเบื้องต้นจากวัด
…การศึกษานี้ขึ้นอยู่กับคติทางศาสนาเป็นสำคัญ
ระบบการศึกษาปัจจุบันซึ่งเจริญรอยตามแบบอย่างของชาวตะวันตก
อำนวยให้…เข้าใจเรื่องราวต่างๆ อันเป็นหลักเบื้องต้น และเป็นสากลนิยม…

ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงแก่ความรู้สึกนึกคิดของคนไทยอย่างลึกซึ้ง
เกี่ยวกับทางด้านศิลป การศึกษาปัจจุบันได้ทำให้ศิลปินเป็นอิสระ

จากการทำงานที่บรรยายถึงเรื่องราววรรณกรรมโบราณ
ความรู้ทั่วไปช่วยให้เกิดมโนภาพกว้างขวางขึ้น
และผลก็คือศิลปินไทยหนุ่มๆ “ต้องการ” เนรมิตสิ่งใหม่ๆ
อันสมดุลกับมโนคติและการตระหนักอันแท้จริงของตน…

สถานการณ์ทางด้านศิลปของประเทศไทยกำลังเปลี่ยนแปลง
ในระยะสิบกว่าปีที่แล้วมา เห็นได้ว่ามีการส่งเสริมศิลปยิ่งขึ้นกว่าเดิม
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความก้าวหน้าทางพุทธิปัญญา
เป็นเหตุให้อนุชนสนใจในศิลปสมัยใหม่อย่างน่าพอใจ
อันเป็นเครื่องหมายที่ให้ความหวังแก่เราว่าในอนาคต
ความนิยมชมชอบศิลปที่แสดงออกในรูปร่วมสมัยจะสัมฤทธิผลในที่สุด”

พุทธศิลป์สุโขทัย…ภูมิไทยในใจครูฝรั่ง

อนุสาวรีย์รุ่นแรกๆ ในเมืองไทยหลายแห่งเป็นฝีมือของท่าน
นอกจากพระบรมรูป รัชกาลที่ 1 ดังกล่าวแล้ว มีที่แห่งอื่นๆ คือ
อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี ที่นครราชสีมา พ.ศ.2477 พระบรมรูป รัชกาลที่ 6 ที่สวนลุมพินี พ.ศ.2484

บางส่วนเป็นงานออกแบบ บางส่วนเป็นงานออกแบบ และร่วมสร้างกับลูกศิษย์ อาทิ
ประติมากรรมประดับอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ อ.ศิลป์เป็นผู้ออกแบบรูปปั้นทหารแต่ละเหล่าทัพ

รูปประติมากรรมนูนสูงประดับรอบฐาน 4 ปีก จำนวน 8 ด้านของอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

ซึ่งท่านเป็นผู้สร้างภาพปั้นแบบประติมากรรมประดับทั้ง 8 ด้าน แต่คณะกรรมการคัดเลือกไว้เพียง 4 แบบ
จึงต้องขยายแบบซ้ำแบบละ 2 ชิ้น โดยมีศิษย์รุ่นแรกๆ คือ อ.สิทธิเดช แสงหิรัญ อ.พิมาน มูลประมุข
อ.อนุจิตร แสงเดือน และ อ.แช่ม แดงชมพู เป็นผู้ปั้น

อนุสาวรีย์พระเจ้าตากสินมหาราช ที่วงเวียนใหญ่ ธนบุรี พ.ศ.2493-2494

มี อ.สิทธิเดช แสงหิรัญ อ.ปกรณ์ เล็กสน และอ.สนั่น ศิลากรณ์ เป็นผู้ช่วย
และอนุสาวรีย์ครูบาศรีวิชัย ที่เชิงดอยสุเทพ เชียงใหม่ เป็นต้น

ในท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ยุคศิลปร่วมสมัยของไทย
อ.ศิลป์ ซึ่งมีความสนใจเป็นพิเศษในรูปแบบพุทธศิลป์สุโขทัยเป็นทุนเดิม
ได้ศึกษาค้นคว้าอย่างจริงจังเพื่อนำมาออกแบบพระพุทธรูปปางลีลาอันงดงามยิ่ง

เมื่อท่านได้รับมอบหมายให้ออกแบบพระประธานพุทธมณฑล ที่นครปฐม
ซึ่งเป็นอนุสาวรีย์แห่งที่สอง และสุดท้ายในภูมิภาคตะวันตก

พระศรีศากยะทศพลญาณ ประธานพุทธมณฑลสุทรรศน์
พระศรีศากยะทศพลญาณ หรือที่คนส่วนใหญ่คุ้นเคยเรียกว่า พระประธานพุทธมณฑล
เป็นพระพุทธรูปปางลีลา สูง 2,500 กระเบียด ประมาณ 15.785 เมตร หล่อด้วยโลหะรมดำ
ประดิษฐาน ณ ต.ศาลายา อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม

งานชิ้นนี้นับเป็นงานชิ้นสุดท้ายที่ท่านสร้างไว้เพียงครึ่งหนึ่ง
กล่าวคือ ท่านได้รับมอบหมายให้ออกแบบและปั้นหุ่นองค์พระพุทธรูปต้นแบบ
ในการประชุมคณะกรรมการออกแบบพระพุทธรูปฯ ครั้งแรก เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ.2497
โดยท่านได้เสนอความเห็นในที่ประชุมเรื่องการสร้างพระพุทธรูป และได้รับความเห็นชอบว่า

พระพุทธรูปนั้น ไม่ใช่องค์พระพุทธเจ้าจริง เป็นแต่เพียงสิ่งแทนอันหมายถึง

พระธรรมคำสั่งสอนของพระองค์เท่านั้น ถ้าพูดในด้านความรู้สึกแห่งจิตใจแล้ว
ควรเป็นแบบ
Idealistic แต่อย่างไรก็ตามขอให้เป็นหน้าที่ของศิลปินผู้ออกแบบ
จะเป็นแบบไหนก็ได้ ขอให้เกิดความรู้สึกก็แล้วกัน

งานออกแบบภาพร่างพระประธานพุทธมณฑลนี้
เป็นงานที่เนื่องมาจากความสนใจพุทธศิลป์แบบสุโขทัยของ อ.ศิลป์ เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว
ท่านจึงศึกษาค้นคว้าอย่างจริงจังและได้ใช้ในการออกแบบพระพุทธรูปปางลีลา ซึ่งท่านได้อธิบายไว้ว่า

พระพุทธเจ้าท่านเป็นมนุษย์ เป็นลูกกษัตริย์ ท่านต้องมีกล้ามเนื้อที่ผ่อนคลายสวยงาม
กล้ามเนื้อกษัตริย์จะเด่นชัดเหมือนกล้ามเนื้อกรรมกรไม่ได้…เท้าก็ต้องเป็นเท้า
การสร้างพระพุทธรูป…ต้องสามารถถ่ายทอดให้รู้ซึ้งถึงแก่นสารแห่งพระธรรมของพระองค์ด้วย

ในส่วนของพระพุทธรูปปางลีลาท่านก็ได้อธิบายพุทธลักษณะ
ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความเข้าใจในพุทธศิลป์แบบสุโขทัยเป็นอย่างดีว่า

เมื่อได้เห็นพระพุทธรูปปางลีลาอันประณีตงดงาม เราจะบังเกิดความรู้สึกเหมือนหนึ่งว่า
พระพุทธองค์กำลังเสด็จดำเนินไปเบื้องหน้าอย่างแช่มช้อยพร้อมด้วยพระอาการกรีดของนิ้วพระหัตถ์
ซึ่งแสดงเป้นสัญลักษณ์ของ
‘พระธรรมจักร’ ที่พระบรมศาสดาทรงมุ่งพระทัยประกาศพระธรรมคำสั่งสอน

พุทธลักษณะของพระประธานพุทธมณฑล ที่ อ.ศิลป์ ออกแบบและปั้นหุ่นต้นแบบไว้
เป็นพระพุทธรูปปางลีลา มีพระเกตุมาลาเป็นเปลวสูงเหนือพระเศียร
ทรงห่มจีวรเฉวียงบ่า พาดสังฆาฏิ อยู่ในท่าย่างพระบาท มีบัวรองพระบาท

โดยท่านได้ออกแบบไว้ 4 แบบ และคณะกรรมการได้คัดเลือกไว้แบบหนึ่ง
และมอบหมายให้ท่านปั้นหุ่นแบบพระพุทธรูปสูง 2.14 เมตร
แล้วจึงปั้นขยายองค์พระจากรูปต้นแบบสูง 3.50 เมตร อีก 1 องค์
เพื่อประดิษฐาน ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวงในงานฉลอง 25 พุทธศตวรรษ
เมื่อวันที่ 12-18 พฤษภาคม พ.ศ.2500 เพื่อให้ประชาชนสักการะบูชา

องค์แรกที่เป็นต้นแบบได้นำไปประดิษฐานที่โรงพิธี
ส่วนองค์ที่สองได้นำไปประดิษฐาน ณ พุทธมณฑลจำลอง ที่สร้างไว้ด้านเหนือของท้องสนามหลวง
หลังจากนั้นได้นำพระพุทธรูปองค์ต้นแบบมาเก็บรักษาที่กองหัตถศิลป กรมศิลปากร
ส่วนองค์ที่พุทธมณฑลจำลองคงประดิษฐานไว้กระทั่งเมื่อรื้อถอนพุทธมณฑลจำลอง
ได้ชำรุดคงเหลือแต่พระเศียรนำมาเก็บรักษาที่กองหัตถศิลป เช่นกัน

อนึ่ง ในเวลาที่ อ.ศิลป์ออกแบบพระประธานเรียบร้อยแล้ว รัฐบาลจอมพล ป.
ได้จัดรัฐพิธีก่อฤกษ์ ณ ตำแหน่งฐานพระประธาน ในบริเวณพุทธมณฑล
เมื่อวันที่ 29 กรกฏาคม พ.ศ.2498 แต่หลังจากนั้นงานปั้นหล่อพระประธานได้หยุดชะงักลง
ในขณะทีเวลาต่อมา อ.ศิลป์ ก็ได้ถึงแก่กรรมลงเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ.2505
งานปั้นหล่อจึงยังคงค้างมาเป็นเวลานานกว่า 2 ทศวรรษ ราว 23 ปี

ใน พ.ศ.2521 สมัยพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เป็นนายกรัฐมนตรี
จึงได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการโครงการขึ้นใหม่ โดยมีความเห็นว่า
ขนาดพระพุทธรูปเดิมสูง 2,500 นิ้วนั้น สิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย
และใช้เวลาในการดำเนินการมาก และเกรงโครงสร้างตามแบบจะไม่มั่นคงพอ
จึงมีมติให้ลดขนาดความสูงลงเหลือ 2,500 กระเบียด ประมาณ 15.785 เมตร
โดยใช้วิธีหล่อสำริด ซึ่งจะมีน้ำหนักถึง 20 ตัน

ต่อมาเมื่อมีการสำรวจชั้นดินบริเวณที่จะสร้างพระประธานนั้นพบว่า
ไม่สามารถรับน้ำหนักได้เพียงพอจึงมีการเปลี่ยนรูปแบบบริเวณฐานองค์พระพุทธรูป
กรมศิลปากรจึงได้มอบหมายให้นายประเวศ ลิมปรังษี ผู้อำนวยการกองหัตถศิลปในขณะนั้น
เป็นผู้ออกแบบแท่นฐานและลานทักษิณ โดยปรับปรุงจากแบบของ อ.ศิลป์
ให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น โดยมีลักษณะองค์พระพุทธรูปประทับยืน
บนฐานบัวหน้าบัลลังก์ฐานสิงห์ปากบัว มีฐานปัทม์รองรับลานทักษิณขนาดใหญ่แบ่งเป็น 2 ระดับ
ซึ่งนอกจากช่วยเรื่องความแข็งแรงแล้วยังเสริมให้องค์พระพุทธรูปมีความสง่างามมากยิ่งขึ้น
และในส่วนของงานปั้นหล่อองค์พระพุทธรูปมี นายสาโรช จารักษ์
รองผู้อำนวยการกองหัตถศิลปในขณะนั้น ทำหน้าที่หัวหน้าคณะประติมากร

ในการปั้นหล่อองค์พระประธานนี้ กรมศิลปากรได้ตั้ง
“กองดำเนินการปั้นหล่อพระพุทธรูปพระประธานพุทธมณฑลประดิษฐาน ณ บริเวณพุทธมณฑล”
หรือ “กองงานเฉพาะกิจพุทธมณฑล” ขึ้น โดยขยายรูป 7.5 เท่า จากองค์ต้นแบบของ อ.ศิลป์

สำหรับปั้นขยายปูนปลาสเตอร์ด้วยวิธีขยายจากรูปตัดหุ่นต้นแบบ (Contour) แบ่งองค์พระเป็น 6 ส่วน
มีนายชวลิต หัศพงศ์ ผู้เชี่ยวชาญกองงานเฉพาะกิจฯ เป็นผู้ออกแบบเครื่องหารูปตัดหุ่นเพื่อการนี้โดยเฉพาะ
และคณะอาจารย์วิทยาลัยช่างศิลป เป็นผู้ปั้นส่วนพระพาหา (แขน ตั้งแต่ไหล่ถึงศอก)

และพระกร (ปลายแขน ตั้งแต่ข้อศอกถึงข้อมือ) ซ้าย ขวา ส่วนอื่นๆ ประติมากรของกองงานเฉพาะกิจฯ เป็นผู้ปั้น
มี ผศ.ชลูด นิ่มเสมอ (ตำแหน่งทางวิชาการในขณะนั้น) จากมหาวิทยาลัยศิลปากร
เป็นผู้เชี่ยวชาญให้คำปรึกษาเกี่ยวกับพุทธลักษณะและศิลปะในการปั้นพระพุทธรูป

วันที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ.2524 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช

และสมเด็จพระนางเจ้าฯ บรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินทรงเททองพระเกตุมาลาองค์พระประธาน
ภายหลังได้ทรงโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามพระพุทธรูปพระประธานพุทธมณฑล

ดังพระกระแสแจ้งเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ.2524 ว่า

“พระศรีศากยะทศพลญาณ ประธานพุทธมณฑลสุทรรศน์”

วันที่ 25 สิงหาคม พ.ศ.2525 สมเด็จพระอริยวงศาคตญาน สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปรินายก
(วาสน์ วาสโน) เสด็จเป็นองค์ประธานประกอบพิธีเชื่อมพระเศียรกับองค์พระพุทธรูป
อันเป็นขั้นตอนสุดท้ายในการประกอบองค์พระพุทธรูป จากนั้นจึงทำการรมดำองค์พระพุทธรูปโลหะสำริด
แล้วเสร็จในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2525 ทันตามกำหนดเวลาสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี
ในการนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์
ทรงประกอบพิธีสมโภชพระพุทธรูปพระประธานพุทธมณฑล เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ.2525

————————————-

อ้างอิง

เขียน ยิ้มสิริ. (กันยายน 2535-กุมภาพันธ์2536). ศิลปร่วมสมัยในประเทศไทย. วารสารมหาวิทยาลัยศิลปากร : ฉบับ 100 ปี ศาสตราจารย์ศิลป พีระศรี, 12(ฉบับพิเศษ), 55-61.

คณะกรรมการอำนวยการจัดสร้างพุทธมณฑล. (2531). พุทธมณฑล เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ มหาราช . กรุงเทพฯ: คณะอนุกรรมการจัดทำหนังสืออนุสรณ์พุทธบูชา ในคณะกรรมการอำนวยการจัดสร้างพุทธมณฑล.

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *