เปิงซังกราน…ข้าวในเทศกาล
วันสงกรานต์ภาษามอญ เรียกว่า งัวอะต่ะ หรือหากจะกล่าวว่าประเพณีสงกรานต์ เรียกว่า สะแพ่งอะต่ะ อะต่ะ หรือ สงกรานต์นั้น ถือเป็นประเพณีสำคัญยิ่งของชาวมอญ ที่ลูกหลานใกล้ไกลต่างพากันกลับถิ่นฐานมาร่วมงานบุญกับครอบครัวญาติพี่น้อง แม้ในปัจจุบันบางคนอาจย้ายถิ่นฐานไม่สามารถเดินทางมาร่วมงานบุญ ก็จะส่งเงินมาเป็นปัจจัยให้ญาติพี่น้องที่มาร่วมด้วยช่วยตระเตรียมข้าวปลาอาหารนำไปทำบุญ โดยมีอาหารประเพณีที่สำคัญจะขาดเสียมิได้ในเทศกาลสงกรานต์ของชาวมอญ คือ เปิงด้าจ์ก หรือ ข้าวน้ำ ซึ่งแปลตรงตามคำ คือ เปิง-ข้าว ด้าจ์ก-น้ำ อาหารต้นตำรับของชาวมอญที่ไทยเราคุ้นเคยเรียกว่า ข้าวแช่ และนอกจากคำเรียก เปิงด้าจ์ก ยังมีคำว่า เปิงซังกราน หรือ ข้าวสงกรานต์ ซึ่งเป็นคำเรียกที่ดูเจาะจงเฉพาะเทศกาล ด้วยเหตุว่าสำรับอาหารที่ประณีตพิเศษนี้จะทำกันเพียงปีละครั้ง เพื่อบูชาสังเวยเทวดาสงกรานต์ ที่ชาวมอญเรียกว่า เต่วะตาวซังกราน หรือ บางครั้งอาจเรียกว่า ซะเมินซังกราน ด้วยคำว่า ซะเมิน นั้นหมายถึง เจ้านาย ซึ่งหมายเรียกแทนเทวดานั่นเอง

อาหารเทวดา…พี่น้องพร้อมหน้าร่วมบุญ
ข้าวแช่ ซึ่งชาวมอญนับเป็นอาหารของเทวดานี้ นับเป็นเอกลักษณ์ของประเพณีสงกรานต์มอญ ที่ทำให้พี่น้องพร้อมหน้าได้มาร่วมกันทำ ร่วมกันส่งบุญ และร่วมกันรับประทาน แสดงซึ่งความสามัคคีกลมเกลียวในวันครอบครัว การร่วมแรงตั้งแต่การตระเตรียมซึ่งมีหลายขั้นตอน จึงไม่จำกัดเพียงแรงกายของผู้ใหญ่ ด้วยบรรดาลูกเด็กเล็กแดงก็มักเกณฑ์กันมาเป็นลูกมือในงานเล็กงานน้อย อาทิ ช่วยเก็บก้างปลาก่อนจะนำไปตำ ข้าวแช่นั้นนอกจากจัดเป็นสำรับเพื่อบูชาเทวดาสงกรานต์แล้ว ยังมีประเพณีส่งข้าวแช่ไปวัดเพื่อถวายพระสงฆ์ รวมทั้งส่งข้าวแช่ไปให้ญาติผู้ใหญ่ ให้ผู้ที่เคารพนับถือ เป็นการแสดงความเคารพญาติแบบคนมอญ รวมไปถึงแสดงความกตัญญูรุ้คุณผู้หลักผู้ใหญ่ในวงศ์ตระกูล อีกทั้งยังจัดเตรียมไว้ในครัวเรือนเพื่อรับรองแขกไปใครมาซึ่งโดยมากก็มักเป็นญาติพี่น้อง การรับประทานข้าวแช่สำหรับชาวมอญจะรับประทานกันเพียงปีละครั้งเท่านั้น ซึ่งนอกจากจะเป็นธรรมเนียมอาหารที่รับประทานกันตามประเพณีแล้ว ยังแฝงไว้ด้วยภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ กล่าวคือเมื่อย่างเข้าเดือนเมษายนซึ่งเป็นช่วงที่อากาศร้อนอบอ้าว คนโบราณจึงมีอุบายคลายร้อนด้วยการรับประทานอาหารที่เย็น นัยว่าเป็นการช่วยปรับธาตุภายในร่างกาย อีกทั้งการอบน้ำข้าวแช่ด้วยดอกมะลิสดยังส่งกลิ่นหอม ใครได้รับประทานก็จะคลายร้อนหอมเย็นชื่นใจ
ตำรับข้าวแช่ชาวมอญนครชุมน์ เนื้อหาและภาพโดย คมสรร จับจุ
ข้าวแช่นครชุมน์…เอกลักษณ์อาหารชาติพันธุ์
การทำข้าวแช่ของชาวมอญในแต่ละท้องที่ อาจมีความเหมือนความต่างในรายละเอียดของเครื่องเคียง ที่เรียกว่า กับข้าวแช่ รวมไปจนถึงการจัดเตรียม กล่าวแต่เฉพาะบ้านนครชุมน์ อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี นั้น แต่ละบ้านจะต่างครัวต่างทำตามตำรับของตน ไม่มีการรวมกลุ่มกันทำเช่นบางพื้นที่ ในการคัดสรรวัตถุดิบก็จะพิถีพิถันในแบบของชุมชนพื้นถิ่นนี้ กับข้าวแช่มีหลายชนิด คือ
- ก๊ะเจีย ในภาษามอญ คือ ปลาผัดหวาน โดยคัดปลาแห้งซึ่งบางบ้านใช้ปลาช่อนนา บางบ้านอาจใช้ปลาทะเล นำมาย่างจนกรอบทั้งเนื้อและก้าง จากนั้นจึงโขลกให้ฟูแล้วนำไปผัดใส่หอมแดง พอจวนจะกรอบจึงเติมน้ำตาลปี๊บและเครื่องปรุงอื่น
- ดั๊บร่าย หรือ ไชโป้ผัดหวาน คือการนำหัวไชโป้เค็มหั่นฝอยไปผัดพร้อมเครื่องปรุง คือ หอมแดงเจียว กะทิ น้ำตาลปี๊บ ผัดจนแห้งเหนียว ซึ่งไชโป้เค็มของ อ.โพธาราม จ.ราชบุรี นี้ ขึ้นชื่อว่าอร่อย การผัดหัวไชโป้เค็มบางบ้านนิยมผัดให้กะทิแตกมันคล้ายไชโป้ผัดเค็ม
- ชุนเจีย คือ หมูผัดหวาน ที่นำหมูแดดเดียวหั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ ไปผัดจนเหลืองใส่หอมแดงหั่นฝอย น้ำปลา กะทิ เติมน้ำตาลปี๊บ โรยใบมะกรูด
- ฮะร็อคฮะแหม่งคะนา คือ ลูกกะปิชุบไข่ทอด กับข้าวแช่ชนิดนี้เชื่อว่าสาวกข้าวแช่ส่วนใหญ่รวมทั้งตัวผู้เขียนต่างหลงไหลในรสชาติยกให้เป็นนางเอกของบรรดาเครื่องเคียงอื่น ๆ ซึ่งปัจจุบันในชุมชนนครชุมน์มีผู้ทำอยู่บ้างแต่น้อย เนื่องจากกระบวนการขั้นตอน นับแต่จัดเตรียมวัตถุดิบและวิธีทำมีหลายขั้นตอนใช้เวลาค่อนข้างมาก บางครัวจึงใช้วิธีสั่งจากชุมชนมอญบ้านใกล้เรือนเคียงอย่างเพชรบุรี ซึ่งเป็นอีกถิ่นที่ขึ้นชื่อเรื่องข้าวแช่เช่นกัน โดยเครื่องปรุงลูกกะปิจะมี กระชาย หอมแดง ตะไคร้ ปลาดุกย่าง โขลกกับกะปิให้ละเอียด แล้วจึงนำเครื่องที่โขลกไว้ลงผัดกับกะทิ ปรุงรสด้วยน้ำตาลปี๊บ ผัดจนแห้ง ตั้งให้เย็น แล้วนำมาปั้นเป็นก้อน กลม ๆ เล็ก ๆ จากนั้นนำไปชุบไข่ ทอดให้เหลืองกรอบ
- อะว้อดอะเนาะ คือ ยำขนุนอ่อน เป็นเมนูแต่ครั้งโบราณ ด้วยคติความเชื่อในนามมงคลของคำว่าขนุน จึงเป็นความพิเศษของกับข้าวแช่ที่นครชุมน์ซึ่งต่างจากที่อื่น เตรียมโดยนำขนุนอ่อนมาต้มสุก ใส่มะพร้าวคั่ว ตะไคร้ กระเทียม หอมแดง พริกแห้ง น้ำตาลปี๊บ น้ำปลาร้า โรยด้วยใบมะกรูด
- อะว้อดเกร็ก หรือ ยำมะม่วง อีกหนึ่งเมนูยำที่บ้านใดมีมะม่วงก็มักนิยมนำมาทำ โดยนำมะม่วงสับ ผสมเครื่องปรุงคือมะพร้าวคั่ว น้ำตาลปี๊บ หอมแดง พริกแห้ง ปรุงรสชาติให้กลมกล่อม การเพิ่มเครื่องยำเข้ามาในสำรับข้าวแช่นั้นนอกจากจะเป็นของที่มีอยู่ในครัวเรือนแล้ว นัยว่าเพื่อตัดรสกับเครื่องเคียงอื่นที่ออกรสชาติหวาน ๆ เค็ม ๆ อย่างลงตัวอีกด้วย
- ก๋วยเตี๋ยวผัดไท เป็นอีกหนึ่งความพิเศษของกับข้าวแช่ที่นครชุมน์ ด้วยความที่ จ.ราชบุรี เป็นเมืองที่รวมชาติพันธุ์หลากหลายและหนึ่งในจำนวนนั้นคือชาวจีน ชาวมอญในละแวกนี้จึงมีเครื่องเคียงรับประทานกับข้าวแช่ที่พิเศษไปกว่าที่อื่น สันนิษฐานว่าอาจเป็นธรรมเนียมอาหารที่ผสมผสานระหว่างมอญและจีนในจังหวัดราชบุรี โดยสมัยโบราณชาวมอญในละแวกนี้มีวิถีชุมชนอยู่ริมแม่น้ำและมักจะเพาะถั่วงอกเป็นหลุม ๆ บริเวณชายหาด เมื่อถึงเทศกาลก็จะนำไปผัดก๋วยเตี๋ยวผัดไทเป็นกับข้าวแช่ ที่เสริมเพิ่มเป็นเอกลักษณ์อีกอย่างหนึ่งในกับข้าวแช่ของชาวมอญนครชุมน์
ส่งข้าวแช่…ธรรมเนียมมอญปีละครั้ง
วันที่ 13-15 เมษายน เป็นช่วงเวลาที่พี่น้องชาวมอญต่างพากันจัดเตรียมสำรับข้าวแช่เพื่อบูชา เซ่นไหว้ และทำบุญไปพร้อมๆ กัน โดยเช้าตรู่วันที่ 13 เมษายน จะจัดสำรับข้าวแช่แบ่งเป็นสำรับเทวดา สำรับถวายพระ และสำรับเซ่นไหว้เสาผี หรือ บรรพบุรุษของตระกูล บริเวณที่วางกระบุงตระกร้าผ้าผีบนเรือน ส่วนการไหว้เทวดาสงกรานต์นั้นจะมีการจัดเตรียมที่กลางแจ้งบริเวณหน้าบ้านปลูกศาลเพียงตา เรียกว่า ฮอยสังกราน แปลว่า บ้านสงกรานต์ หรือ บ้านเทวดาสงกรานต์ และกางร่ม สมมุติให้เป็นหลังคาบ้านเทวดา หรือ นางสงกรานต์ ตบแต่งประดับประดาด้วยดอกไม้ เช่น ดอกสงกรานต์ ดอกคูน หรือ ไม้ดอกอื่น ๆ สุดแต่เจ้าของบ้านจะจัดแต่งความงาม แล้วจึงนำสำรับข้าวแช่ไปวางอัญเชิญเทวดาสงกรานต์ลงมารับเครื่องไหว้ โดยมีการกล่าวคำบูชาเทวดาสงกรานต์ ซึ่งเป็นบทที่สืบทอดกันมาในชุมชนนครชุมน์ว่า
เย่อะซะเมึนเต่เว่ะ ชฺญะโชฺญ่ง ชญิอาว ปะดอยมันวุ่ระ
โปยปะเปาเจ่ย เยอะฮ์ไฟนย์จะนะ ซ๊อปเป่ะโดงปะกาว
เพอโปยปะเปาเจ่ย เกอเกอะโฮน่กโม่อาชฺญิ อาเยิ่กเตึนกา
ซัมเกออิดกิ อะนุ่เตึนจิ เกอโปยเด๊ด กะลุิเกอะ ชฺญิระอาว ซา…ทุ
ครอบครัวใดที่มีสมาชิกจำนวนมากพอขณะที่ญาติพี่น้องส่วนหนึ่งไหว้เทวดาสงกรานต์ และเสาผีอยู่ที่บ้าน บางส่วนก็จะแยกไปทำหน้าที่ส่งสำรับข้าวแช่ถวายพระสงฆ์ที่วัดไปพร้อม ๆ กัน โดยแต่เดิมชาวบ้านจะจัดเตรียมสำรับเซ่นไหว้และถวายพระทั้ง 3 ส่วน เช่นนี้ ตลอดทั้ง 3 วัน นับแต่วันที่ 13-15 เมษายน แต่ปัจจุบันหลาย ๆ แห่งลดจำนวนวันลงเหลือเพียง 13-14 เมษายน โดยชาวมอญมีความเชื่อว่าการจัดสำรับข้าวแช่ไปวัดนั้น ยิ่งส่งได้มากวัดเท่าใดก็จะได้บุญมากยิ่ง ๆ ขึ้น จึงนิยมจัดสำรับซ้อนไปหลายๆ ถาดใส่หาบตามจำนวนวัดที่ตั้งใจจะไปทำบุญ
สำรับที่ใช้ในการจัดข้าวแช่ไปวัดนั้นบ้างก็ใช้สำรับเป็นชามชุด บ้างเป็นถ้วยแก้ว เป็นขันทองเหลือง บ้างก็ประดิษฐ์กระทงมอญใช้เป็นสำรับ ด้วยมีน้ำหนักเบาและสะดวกสามารถถวายพระโดยไม่ต้องรอเปลี่ยนถ่ายภาชนะ ทั้งนี้ในสมัยก่อนการส่งข้าวแช่มักจะกระเดียดหาบเดินไปส่งที่วัดจึงไปกันแต่เช้าตรู่ ปัจจุบันแม้จะมียานพาหนะสะดวกขึ้นชาวบ้านก็ยังนิยมไปส่งข้าวแต่เช้าตรู่เพื่อให้ทันพระฉันเช้า และด้วยจำนวนสำรับข้าวแช่ที่ต่างคนต่างทำมาถวายจึงมีมากพอจนถึงมื้อเพล
ทั้งนี้ธรรมเนียมการรับประทานข้าวแช่สำหรับชาวมอญนั้นมีเพียงปีละครั้ง การเตรียมจึงเผื่อไว้ต้อนรับญาติพี่น้องแขกเหรื่อที่จะกลับมาเยือนถิ่นยามสงกรานต์ด้วย อีกทั้งการส่งข้าวแช่เข้าวัดกันทุกบ้านปริมาณจึงมีมากพอถึงฆราวาส โดยผู้เขียนเองจำได้ว่าเคยไปวัดละแวกนี้ช่วงสงกรานต์ ยังได้รับอานิสงส์ข้าวแช่อิ่มบุญมื้อสายไปกับชาวมอญด้วย
กาละแม ข้าวเหนียวแดง ผ้าใหม่ และนานาประเพณี
เอกลักษณ์ในประเพณีสงกรานต์ของชาวมอญมิได้มีเพียงงข้าวแช่ หากยังมีขนมหวานอีก 2 ชนิด คือ กาละแม และข้าวเหนียวแดง ที่เป็นอาหารเนื่องในประเพณี ขณะที่บางบ้านอาจมีขนมสาลี่ ขนมชั้นเพิ่มมา แต่ขนม 2 ชนิดหลังนี้เป็นความนิยมที่เกิดขึ้นภายหลัง ต่างจากกาละแม และข้าวเหนียวแดงซึ่งเป็นขนมเนื่องในประเพณีสงกรานต์มาแต่เดิม
ความเชื่ออันเนื่องด้วยธรรมเนียมสงกรานต์ของชาวมอญ ยังมีเรื่องการใช้ผ้าใหม่ด้วยถือว่าเป็นสิริมงคล อีกทั้งชาวมอญนั้นเป็นผู้ที่รักสวยรักงามจึงให้ความสำคัญกับการแต่งกายสวยงามไปวัด และการแต่งกายวิถีเดิมของชาวมอญในละแวกนี้ ก็ยังคงพบเห็นการนุ่งโสร่งของผู้ชายและผ้าถุงแบบมอญของผู้หญิงเป็นปกติในชีวิตประจำวันอีกด้วย
นอกจากเรื่องอาหาร การแต่งกายแล้ว ประเพณีสงกรานต์ของชาวมอญยังมีความเชื่อเกี่ยวกับวันโดยเชื่อว่า วันที่ 13 คือ งัวอ่ะต่ะ ในภาษามอญ เป็นวันสิ้นปี หรือบางครั้งก็กล่าวว่าเป็น วันเปลี่ยน คือ งัวอ่ะแล และวันรุ่งขึ้นคือ วันที่ 14 เรียกว่า งัวกรั่บสะนาม นับเป็นวันเนาว์ ซึ่งมีธรรมเนียมว่าคนที่เกิดในวันนี้ต้องไปก่อเจดีย์ทราย ค้ำโพธิ์ และโรยทราย โดยตักทรายจากแม่น้ำโรยขึ้นมาตามทางไปทางใดก็ได้ แต่ต้องไม่โรยเข้าบ้านตัวเอง ส่วนวันที่ 15 นั้น เรียกว่า ตอนซะนามอะม้อย ถือเป็นวันขึ้นปีใหม่ และตลอดช่วงสงกรานต์ นับแต่วันที่ 13-15 นั้นชาวมอญจะไม่กระทำพิธีศพหากมีการเสียชีวิตในช่วงนี้ก็จะเก็บไว้รอทำพิธีหลังสงกรานต์
ฮอยซังกราน ศาลเพียงตาปลูกขึ้นเพื่อบูชาเทวดาสงกรานต์ ภาพโดย คมสรร จับจุ
ก่อนถึงวันสงกรานต์จะมีการเตรียมบ้านเรือนนอกจากการปลูกศาลเพียงตาแล้ว ยังมีการปัดกวาดเช็ดถูหิ้งพระ ล้างถ้วยชาม เตรียมสำรับเครื่องข้าวแช่ ส่วนที่วัดนั้นก็จะไปเตรียมทำความสะอาดโกศ ที่บรรจุอัฐิ ชาวมอญจำนวนมากมักนำโกศบรรพบุรุษฝังลงดินใต้ต้นไม้ใหญ่ในบริเวณวัด โดยมีการซื้อที่ 1 สลึง และฝังโกศไว้ใต้ต้นหว้า โดยแต่เดิมมีการฝังข้างโบสถ์ ข้างกำแพง รวมทั้งข้างบันไดโบสถ์ด้วย เมื่อถึงวันสงกรานต์ลูกหลานญาติพี่น้องก็จะนำดอกไม้ ธูปเทียน น้ำอบ ไปบังสุกุลบริเวณที่ฝังบรรพบุรุษ แต่ไม่มีการเตรียมสำรับอาหารไปเซ่นไหว้เหมือนธรรมเนียมของไทย เนื่องจากในช่วงเช้าได้ทำบุญด้วยข้าวแช่แล้ว หลังเพลจึงเพียงบังสุกุลให้บรรพบุรุษ
ส่วนในภาคกลางคืนนั้นสมัยก่อนจะมีการละเล่นต่าง ๆ เช่น สะบ้า รำวง การเล่นทรงผีข้อง ผีกระด้ง ผีสุ่ม ส่วนบ้านไหนแรง ๆ ก็จะเล่นผีลิง ซึ่งปัจจุบันการละเล่นเหล่านี้มีเพียงรื้อฟื้นขึ้นบ้างเป็นครั้งคราวตามโอกาสเพื่อการศึกษาเรียนรู้ และบางขณะก็จะถูกมองว่าเป็นเรื่องโกหกไม่ใช่เป็นการเล่นสนุกสนานอย่างที่คนโบราณเล่นกันมา ในส่วนความเชื่อเรื่องการเล่นทรงผีนั้นสันนิษฐานว่าเมื่อคนสนุกสนานแล้วผีก็อาจอยากมาเล่นบ้างจึงเชิญให้มาเล่น
สัมภาษณ์คุณคมสรร จับจุ ในรายการ SNC Library Podcast ตอน เจี๊ยะโม่งโร่ง …ซังกรานโม่น (S2 Eps.46) เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2564 ณ ศูนย์การเรียนรู้วัฒนธรรม (อาหารมอญ) นครชุมน์ จ.ราชบุรี
สรงน้ำพระ…สาดน้ำคน ประเพณีท้ายกรานต์
ชาวมอญให้ความเคารพพระสงฆ์มากด้วยถือว่ามีศีลสูงกว่าโยมจึงมีธรรมเนียมการสรงน้ำพระ โดยชาวบ้านจะร่วมกันทำห้องน้ำใหม่ทำรางสรงน้ำลงมาในห้องสรงเพื่อให้พระสงฆ์และเณรที่อยู่พรรษาในปีนั้นมาสรงน้ำ เมื่อได้เวลานัดหมายมัคทายกก็จะตีระฆังให้สัญญาณบอกเวลา ชาวบ้านต่างก็เตรียมกระป๋อง ขันน้ำอบบ้าง น้ำลอยมะลิบ้างมารวมตัวกันที่วัด เมื่อพร้อมกันแล้วก็ให้สัญญาณจอ คือ เท ทุกคนก็จะเทน้ำสรงพระสงฆ์และเณร เด็ก ๆ ก็มักจะสนุกสนานโดยการไปมุดรางให้น้ำไหลโดนตัว ชาวบ้านผู้ชายจะไปอยู่ในห้องน้ำช่วยขัดตัวพระสงฆ์และเณร คอยส่งสบงแห้งให้ผลัดผ้า เมื่อพระสงฆ์และเณรถือสบงเปียกออกมา ชาวบ้านที่เหลือและผู้หญิงที่รออยู่ด้านนอกห้องสรง บ้างก็รอล้างเท้า บ้างก็รอรดน้ำอบน้ำหอมลงบนสบงที่เปียกนั้น โดยจะสรงพระพุทธรูปก่อนแล้วจึงสรงน้ำพระสงฆ์และเณร
เมื่อหมดพระสงฆ์และเณรองค์สุดท้ายแล้ว ชาวบ้านที่ยังมีน้ำเหลือต่างก็จะสาดน้ำใส่กันทั่วไป เป็นการเล่นสนุกสนานไม่โกรธเคืองกัน ทั้งนี้ปกติชาวมอญจะไม่เล่นสาดน้ำกันเอง มีแต่สรงน้ำผู้เฒ่าผู้แก่ในตอนสาย ๆ ของวันสรงน้ำก่อนที่จะไปสรงน้ำพระที่วัด โดยทั้งหมู่บ้านต่างก็พากันไปบ้านที่มีผู้เฒ่าถือน้ำและน้ำอบไปสรงน้ำขอพร และหากเป็นบ้านญาติก็จะเตรียมผ้าใหม่และขนมไปไหว้ขอพรกันตลอดวัน การสรงน้ำผู้เฒ่าผู้แก่ของชาวมอญนั้นเป็นการอาบน้ำให้ทั้งตัวมีการสระผมให้ด้วย ไม่ใช่การรดน้ำที่มือเหมือนธรรมเนียมอื่น ๆ ด้วยชาวมอญถือว่าการรดมือเป็นการรดน้ำศพ และเมื่อลูกหลานมาขอพรก็จะมีการให้พร เช่น ปีใหม่เดือนใหม่วันใหม่ให้เป็นคนใหม่ ให้อยู่ดีกินดี มีอายุยืน เป็นเจ้าของเงินทอง อย่าเจ็บอย่าป่วย ผู้เฒ่าผู้แก่บางคนอวยพรเก่งก็จะเหมือนการสวดมนต์ให้ลูกหลานฟัง
ส่วนการสรงน้ำพระนั้นไม่มีวันเวลากำหนดตายตัว ขึ้นกับแต่ละชุมชนจะนัดหมายกันนับตั้งแต่วันที่ 15-19 เมษายน สุดแต่คนในชุมชนจะสมัครใจหลังจากสนุกสนานกับกิจกรรมต่าง ๆ เพียงพอแล้ว จากนั้นจึงไปนัดหมายวันเวลากับพระสงฆ์ที่วัด การสรงน้ำพระนั้นนับเป็นการบุญส่งท้ายสงกรานต์ โดยรุ่งขึ้นก็กลับสู่วิถีการทำมาหากินตามปกติต่อไป สำหรับประเพณีสรงน้ำพระนี้ ปัจจุบันใน จ.ราชบุรี ยังคงมีธรรมเนียมปฏิบัติใน ต.ดอนกระเบื้อง ต.เจ็ดเสมียน ส่วนที่บ้านกล้วยนั้นยังจะมีประเพณีแห่ดอกไม้ท้ายกรานต์อีกด้วย
บรรณานุกรม
คมสรร จับจุ. (การสื่อสารส่วนบุคคล, 6 มิถุนายน 2565).
คมสรร จับจุ. (2565, 13 เมษายน).คำบูชาสงกรานต์. [เฟสบุ๊คสถานะอัพเดท]. เฟสบุ๊ค. เข้าถึงได้จาก https://www.facebook.com/profile/100029720088858/search/?q=สวัสดีปีใหม่ประเพณีสงกรานต์ไทย-มอญ%202565
คมสรร จับจุ. (2565, 9 เมษายน). เปิงด้าจ เปิงซังกราน เปิงอ่ะต่ะ ข้าวแช่. [เฟสบุ๊คสถานะอัพเดท]. เฟสบุ๊ค. เข้าถึงได้จาก https://www.facebook.com/profile/100029720088858/search/?q=เปิงด้าจ%20เปิงซังกราน%20เปิงอ่ะต่ะ%20ข้าวแช่
นฤมล บุญญานิตย์. (ผู้จัดรายการ). (2564, เมษายน 10). เจี๊ยะโม่งโร่ง…ซังกรานโม่น (S2 Eps.46) [ออดิโอ พอดแคสต์ ตอน]. ใน SNC Library Podcast. Anchor. https://anchor.fm/snclibrary/episodes/SNC-Library-Podcast-S2-Eps-46-euhkm2
หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์. (2564, 10 เมษายน). เปิงซังกราน. [เฟสบุ๊คสถานะอัพเดท]. เฟสบุ๊ค. เข้าถึงได้จาก https://www.facebook.com/suslibrary/photos/a.838110082942613/3970143703072553/