สระน้ำจันทร์…สนามจันทร์ เดิมนั้นมีโบสถ์พราหมณ์


วงกลมสีแดง แสดงตำแหน่งที่สันนิษฐานว่าซากโบราณสถานบริเวณนี้
คือ โบสถ์พราหมณ์ ซึ่งอยู่ในบริเวณเดียวกับสระน้ำจันทน์


หนังสือราชการจากพระยาสฤษดิ์พจนกร กราบทูลต่อ
พระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นสมมตอมรพันธุ์ ราชเลขานุการ
เรื่อง รายงานการเสด็จตรวจราชการมณฑลนครไชยศรี เมืองนครไชยศรี พ.ศ.2441 (ร.ศ. 117)
ของ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพฯ พระเจ้าน้องยาเธอ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย

ครั้งเมื่อสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพฯ พระเจ้าน้องยาเธอ ทรงดำรงตำแหน่ง
เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย เป็นพระองค์แรก ได้เสด็จตรวจราชการตามหัวเมืองต่างๆ
เกือบทั่วพระราชอาณาจักร และทรงปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอตลอด 23 ปี
ที่ทรงดำรงตำแหน่ง ในการเสด็จตรวจราชการหัวเมืองนั้น พระองค์ทรงบันทึก
รายละเอียดเหตุการณ์ และสิ่งต่างๆ ที่พบเป็นรายงาน โดยพระยาสฤษดิ์พจนกร
ได้ส่งรายงานนั้นต่อไปยังพระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นสมมตอมรพันธุ์ ราชเลขานุการ
เพื่อทูลเกล้าถวายรัชกาลที่ 5 เพื่อทรงทราบ (ดังภาพล่าง)
นับว่าเอกสารตรวจราชการของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพฯ
นั้นเป็นเอกสารอันทรงคุณค่าในแง่ประวัติศาสตร์อย่างยิ่ง

ในการตรวจราชการนั้น ได้ทรงเสด็จตรวจมณฑลนครไชยศรี
เมื่อวันที่ 12 -17 สิงหาคม ร.ศ. 117 (พ.ศ.2441) และบันทึกรายงานการเสด็จ
ตรวจราชการมณฑลนครไชยศรี เมืองนครไชยศรี พ.ศ. 2441 ร.ศ. 117

ท่านเสด็จฯ ถึงนครปฐม ในวันที่ 12 สิงหาคม ร.ศ.117 โดยออกเรือจากบ้านบางลี่
มาตามคลองสองพี่น้อง และลำน้ำสุพรรณ เข้าเขตเมืองนครไชยศรี  พักแรม 1 คืน
รุ่งขึ้น วันที่ 13 จึงเดินทางเรือจากปากคลองมหาสวัสดิ์ เข้าคลองเจดีย์บูชา
ถึงพระปฐมเจดีย์ เวลาบ่าย 2 โมง ได้ขึ้นพักที่พระราชวัง (คือวังปฐมนคร)
ซึ่งขณะนั้นมีอาคารที่ยังคง    ใช้งานได้ คือ อาคารวังปฐมนคร ซึ่งเป็นพระที่นั่ง 2 ชั้น
กับเพิงพลด้านทิศตะวันตก (ด้านที่หันหน้าเข้าหาองค์พระปฐมเจดีย์)
และด้านทิศเหนือ (ด้านที่หันหน้าเข้าหาคลองเจดีย์บูชา)
ส่วนสิ่งปลูกสร้าง อาคารอื่นๆ ตลอดทั้งบริเวณชำรุดทรุดโทรมมากแล้ว

บริเวณวังปฐมนครนี้ สมเด็จฯ ทรงมีความเห็นในส่วนอาคารที่ชำรุด หากจะซ่อมแซม
ต้องรื้อลงและสร้างใหม่ไม่เป็นการเหมาะ แต่ควรรื้อลงและปลูกสร้างอาคาร
เพิ่มขึ้นอีกเล็กน้อย เพิ่มเติมจากพระที่นั่งของวังและเพิงพลที่คงเหลืออยู่
เพื่อใช้เป็นที่ว่าการมณฑลนครไชยศรี ซึ่งในขณะนั้นพระยาสุนทรบุรีได้ปลูก
เรือนไม้ขึ้นหลังหนึ่ง แทรกระหว่างพระที่นั่งเพื่อใช้รับรองแขกผู้ใหญ่
กับบริเวณข้างตำหนักมีกองทหารอาศัยอยู่ก่อนแล้ว ส่วนที่ว่าการมณฑลฯ
และอำเภอพระปฐม ขณะนั้นตั้งอยู่ ณ พระระเบียงชั้นในองค์พระปฐมเจดีย์
ซึ่งดูไม่เหมาะสม

นอกจากนี้ ทรงมีความเห็นว่าบริเวณวังปฐมนครในขณะนั้นคับแคบ
กับทรงหมายตาสถานที่ที่ทรงไปสำรวจในช่วงบ่าย บริเวณด้านหลังพระปฐมเจดีย์ไว้
เป็นที่ปลูกพลับพลารับเสด็จ หรือหากจะทรงสร้างวัง ณ บริเวณนี้ ก็เหมาะสม
ทรงสันนิษฐานว่าบริเวณนี้ เดิมเคยเป็นวังโบราณของกษัตริย์ที่สร้างพระปฐมเจดีย์
ด้วยพื้นที่สภาพแวดล้อมที่กว้างใหญ่ ลักษณะเป็นป่าละเมาะทิ้งร้าง
มีสวนและไร่อยู่ห่างๆ มีโคก คลอง คูน้ำและเชิงเทิน และมีสระ
ที่ทรงสันนิษฐานว่าอาจขุดเอาดินมาใช้ทำพระปฐมเจดีย์ และในฤดูกาล
ที่ทรงมาสำรวจนั้น พื้นที่คงเขียวชอุ่มมีน้ำเต็มอยู่ทุกห้วย
ดังความที่นำมาแสดงตามภาพ


(ภาพบน – ล่าง) รายงานการตรวจราชการมณฑลนครไชยศรี
เมื่อวันที่ 12 -17 สิงหาคม ร.ศ. 117 (พ.ศ.2441) ของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ บางช่วงตอน
ซึ่งทรงบันทึกรายละเอียดสิ่งต่างๆ ที่พบ ณ วังปฐมนคร และบริเวณพื้นที่ด้านหลังองค์พระปฐมเจดีย์

สระน้ำแห่งหนึ่งซึ่งอยู่ภายในบริเวณตามที่สมเด็จฯ ได้กล่าวนั้น ในเวลาต่อมา
เมื่อกรมศิลปากรมีประกาศ เรื่อง กำหนดจำนวนโบราณสถานสำหรับชาติ
ลงในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 52 หน้า 3679 – 3717 เมื่อวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2478
มีรายชื่อโบราณสถานที่ประกาศ จำนวน 39 หน้า รวม  46 จังหวัด
จังหวัดนครปฐมอยู่ในลำดับที่ 13 หน้า 3686 โดยมีโบราณสถานในบัญชี
จำนวน 6 แห่ง และสระน้ำจันทน์ เป็นลำดับที่ 4 ตามทะเบียน ในที่นี้นำเสนอเพียง
หน้าแรก หน้าที่ปรากฏข้อมูลของนครปฐม และหน้าสุดท้าย (ดังภาพ)


ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 52 หน้า 3679 – 3717 วันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2478
มีประกาศกรมศิลปากร เรื่อง กำหนดจำนวนโบราณสถานสำหรับชาติ รวม 46 จังหวัด
โดยนครปฐมมีโบราณสถานตามประกาศ เป็นลำดับที่ 13 ปรากฏในหน้า 3686

สระน้ำจันทน์ ซึ่งขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของจังหวัดนั้น นับเป็นโบราณสถาน
คู่บ้านคู่เมืองที่ชาวนครปฐมดั้งเดิมมักเรียกกันว่า สระบัว สระนี้ตั้งอยู่ในบริเวณ
พื้นที่ข้างเคียงกับอาณาเขตของพระราชวังสนามจันทร์
ค่อนมาทางใกล้แยกไฟแดงโรงแรมเวล

ในเวลาต่อมาได้มีประกาศราชกิจจานุเบกษา เล่ม 75 ตอนที่ 90
ลงวันที่ 4 พฤศจิกายน 2501 หน้า 2889 – 2890 แจ้งประกาศกรมศิลปากร
เรื่อง กำหนดจำนวนโบราณสถานสำหรับชาติ แจ้งถึงการที่กรมศิลปากร
ได้สำรวจขอบเขตและจำนวนเนื้อที่ของสระน้ำจันทน์แล้วเสร็จ
จึงประกาศขึ้นบัญชีโบราณสถานตามขอบเขตและเนื้อที่สำรวจใหม่
รวมทั้งสิ้น 10 ไร่ 65 ตารางวา 1 ตารางศอก ดังระวางแผนที่ท้ายประกาศ
ณ วันที่ 20 ตุลาคม2501 ลงนามโดย นายธนิต อยู่โพธิ์ อธิบดีกรมศิลปากร ในขณะนั้น


ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 75 ตอนที่ 90 ลงวันที่ 4 พฤศจิกายน 2501 หน้า 2889 – 2890
ประกาศกรมศิลปากร เรื่อง กำหนดจำนวนโบราณสถานสำหรับชาติ
โดยสระน้ำจันทร์มีขอบเขตและเนื้อที่สำรวจใหม่ รวมทั้งสิ้น 10 ไร่ 65 ตารางวา 1 ตารางศอก

เนื้อที่เขตโบราณสถานสระน้ำจันทน์ตามที่สำรวจใหม่นี้ มีอาณาเขตติดต่อ
กับถนน และพื้นที่ข้างเคียงซึ่งเป็นแนวในการวัดสำรวจขอบเขต ดังรูประวางแผนที่ คือ

ทิศเหนือ ติดต่อกับ ที่ดินเลขที่ 242 ผู้ถือกรรมสิทธิ์ นางสงวนดี ทองคำ
ที่ดินเลขที่ 282 ผู้ถือกรรมสิทธิ์ นางไปล่ นุ่มสวย
ที่ดินเลขที่ 16 ผู้ถือกรรมสิทธิ์ นายชัยยะ กรรณสูต
ที่ดินติดต่อทางทิศเหนือนี้ หันด้านใต้เข้าหาสระน้ำ
ทิศใต้ ติดต่อกับ ที่ดินเลขที่ 249 ผู้ถือกรรมสิทธิ์ หม่อมเจ้าหญิง ถวิลธิการ กมลาสน์
ที่ดินเลขที่ 283 – 284 ผู้ถือกรรมสิทธิ์ ขุนประสิทธิ์พยุหกรรม
ที่ดินเลขที่ 236 (บางส่วน) ผู้ถือกรรมสิทธิ์ ขุนประสิทธิ์พยุหกรรม
ที่ดินติดต่อทางทิศใต้นี้ หันด้านเหนือเข้าหาสระน้ำและด้านใต้ติดต่อกับถนนราชวิถี
ทิศตะวันออก ติดต่อกับ ที่ดินเลขที่ 44 ผู้ถือกรรมสิทธิ์ นายสุทิน เต่งตระกูล
ที่ดินเลขที่ 236 (บางส่วน) ผู้ถือกรรมสิทธิ์ ขุนประสิทธิ์พยุหกรรม
ทิศตะวันตก ติดต่อกับ ถนนหน้าวัง

 

………………………………………………………………..

 บรรณานุกรม

ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จฯ กรมพระยา. (2557) การเสด็จตรวจราชการหัวเมือง.
กรุงเทพฯ : สถาบันดำรงราชานุภาพ.

“ประกาศกรมศิลปากร เรื่อง กำหนดจำนวนโบราณสถานสำหรับชาติ.” (2478).
ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 52, (8 มีนาคม): 3679 – 3717.

“ประกาศกรมศิลปากร เรื่อง กำหนดจำนวนโบราณสถานสำหรับชาติ.” (2501).
ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 75, ตอนที่ 90 (4 พฤศจิกายน): 2889 – 2890.

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *