ป้ายชื่อโรงเรียนวิชาชำนะโฉด
อยู่ใต้พระลัญจกรของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร
ในตู้ไม้บานกระจกติดตั้งที่หน้าจั่วอาคารโรงเรียน และใช้ตราพระเกี้ยวเป็นตราของโรงเรียน
อาคารโบราณ
เป็นอาคารเรือนไม้ทรงปั้นหยาชั้นเดียว
ปัจจุบันใช้ชื่อว่า อาคารเกียรติยศ ภายหลังจากการอนุรักษ์โดยดีดอาคารยกขึ้น
(ซ้าย) ภาพถ่ายหน้าโรงเรียนวิชาชำนะโฉด ซึ่งหลวงไชยอาญา (โพธิ์ เคหะนันทน์) คิดการตั้งขึ้น ขณะรับราชการตำแหน่งพะทำมะรง เรือนจำมณฑลนครไชยศรี และต่อมาท่านได้เลื่อนขึ้นเป็นพระพุทธเกษตรานุรักษ์ ซึ่งเป็นนามที่คนมักคุ้น ขณะถึงแก่กรรมท่านมียศเป็นรองอำมาตย์เอกพระพุทธเกษตรานุรักษ์ (ขวา) เจดีย์บรรจุอัฐิรองอำมาตย์เอกพระพุทธเกษตรานุรักษ์ตั้งอยู่บนเขามอด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ขององค์พระปฐมเจดีย์
การศึกษาในสังคมไทยระยะแรกอาจกล่าวได้ว่าเริ่มจากวัดและวัง โดยกลุ่มผู้เรียนคงจำกัด
เพียงผู้ชายและในหมู่ชนชั้นสูง โอกาสในการเข้าถึงระบบการศึกษาในหมู่ประชาชนทั่วไป
เพิ่งเริ่มมีขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 เมื่อ พ.ศ.2395 โดยมีการตั้งโรงเรียนเพื่อสอนเด็กชายขึ้น
ที่ ต.วัดแจ้ง และมีคณะมิชชันนารีได้ตั้งโรงเรียนแบบใหม่ขึ้นตามต่างจังหวัด
ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อมีการปฏิรูปการศึกษาแบบตะวันตกอย่างจริงจัง โดยเฉพาะ
อย่างยิ่งเมื่อทรงปรับเปลี่ยนระบบการปกครองแบบรวมอำนาจสู่ศูนย์กลางโดยจัดตั้ง
มณฑลขึ้น ทำให้การศึกษาแบบใหม่กระจายตัวไปยังหัวเมืองอย่างแพร่หลาย กระทั่ง
เข้าสู่สมัยรัชกาลที่ 6 การขยายตัวทางการศึกษาได้เพิ่มมากขึ้นโดยลำดับ นอกจาก
การศึกษาภาคบังคับแล้ว ยังมีการศึกษาระดับมัธยม ระดับอุดมศึกษาและยังเกิดมี
การอาชีวะศึกษา และระบบการศึกษาแบบโรงเรียนประจำ ทั่วทั้งในกรุงเทพฯ
และมณฑลเทศาภิบาลที่จัดตั้งขึ้นทั่วประเทศ
สำหรับมณฑลนครไชยศรีซึ่งเป็นหัวเมืองสำคัญแห่งหนึ่ง ภายหลังจากการบูรณะปฏิสังขรณ์
พระปฐมเจดีย์ในสมัยรัชกาลที่ 4 และรัชกาลที่ 5 ต่อเนื่องมาจนรัชกาลที่ 6 มีความเจริญขึ้น
อย่างมากในหลายๆ ด้าน รวมทั้งด้านการศึกษา และหากจะกล่าวถึงความเจริญแห่งเมืองนี้
ก็ไม่อาจจะละเลยความสำคัญของผู้ที่มีส่วนสำคัญในการสร้างเมือง ดังผู้เขียนได้พบข้อมูล
จากความบางตอนในเรื่อง พระพุทธเกษตรตรานุรักษ์ (โพธิ์ เคหะนันท์) ซึ่งสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงนิพนธ์ เมื่อวันที่ 11 มีนาคม พ.ศ.2473 เป็นส่วนหนึ่งของหนังสือ
เรื่อง สนทนากับผู้ร้ายปล้น ซึ่งพิมพ์แจกในงานพระราชทานเพลิงศพ รองอำมาตย์เอก
พระพุทธเกษตรานุรักษ์ โดยได้กล่าวถึงการสร้างเมืองแห่งนี้ว่า
“เมื่อเจ้าพระยาศรีวิชัยชนินทร์ (ชม สุนทราชุน) ได้เป็นสมุหเทศาภิบาล
มณฑลนครชัยศรี เมื่อยังเป็นที่พระยาสุนทรบุรี ชวนนายโพธิ์เข้ารับราชการ
เป็นภารโรงเรือนจำมณฑลนครชัยศรีจากริมแม่น้ำขึ้นไปตั้ง ณ ตำบลพระปฐมเจดีย์
ท้องที่ตำบลนั้นยังเป็นที่ร้างและเป็นป่าเปลี่ยวอยู่โดยมาก แม้ที่ทำการรัฐบาล
ในชั้นแรกก็ต้องไปอาศัยอยู่ในพระระเบียงและวิหารทิศศาลาพระปฐมเจดีย์
มีการที่จะต้องสร้างเมืองนครปฐมขึ้นใหม่ทั้งเมือง คือว่าจะต้องทำที่ป่า
ให้เป็นถนนหนทางและเป็นที่สร้างสถานที่ต่างๆ สำหรับรัฐบาล
ทั้งสร้างที่พักข้าราชการตลอดสร้างตลาดยี่สานสำหรับเมือง
อันเป็นการใหญ่เกินกว่าที่จะหมายขอเงินหลวงมาจ่ายให้พอแก่การได้
เจ้าพระยาศรีวิชัยฯ จึงคิดจะสร้างเมืองนครปฐม
ด้วยใช้แรงงานนักโทษทำทุกอย่างเว้นแต่ที่ไม่สามารถจะทำได้
ข้อนี้เป็นเหตุให้ตั้งบริเวณเรือนจำ ที่ตำบลพระปฐมเจดีย์ใหญ่โตกว่าเรือนจำอื่น
ด้วยจำนงค์จะรวมนักโทษจังหวัดอื่นในมณฑลเดียวกันมาไว้ใช้ให้มาก
และเป็นเหตุให้พระพุทธเกษตรฯ
ได้เป็นนายงานสร้างเมืองนครปฐมโดยฐานที่เป็นพะทำมะรง”
ทั้งนี้ บทความยังได้กล่าวถึงว่าขณะนั้นทรงเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ได้มา
พระปฐมเจดีย์อยู่เนืองๆ เพื่อพักผ่อนบ้าง มาตรวจราชการบ้าง จึงได้พบปะพระพุทธเกษตรฯ
เมื่อยังเป็นนายโพธิ์ พะทำมะรง และได้ทรงใช้สอยใกล้ชิดจนชอบพอสนิทสนมจนเป็นที่
แจ้งใจว่าเป็นผู้ทรงคุณวิเศษหลายอย่างทั้งในส่วนหน้าที่การงานโดยตรง คือ การดูแล
ควบคุมนักโทษ การจัดระเบียบเรือนจำ ตลอดจนการโยธาต่างๆ ซึ่งในสมัยสร้างเมืองนั้น
พระพุทธเกษตรฯ เป็นผู้ควบคุมการใช้แรงงานนักโทษในการทำและคุณวิเศษสำคัญ
อีกประการ คือ การคิดตั้งโรงเรียน โดยทรงกล่าวว่า
“พระพุทธเกษตรฯ ได้ทำคุณวิเศษนอกหน้าที่อย่างหนึ่ง
คือคิดตั้งโรงเรียนสอนเด็กชาวบ้านขึ้นในบริเวณชั้นนอกเรือนจำขึ้น
อันเป็นที่อยู่ของพระพุทธเกษตรฯ แกจัดบำรุงโรงเรียนนั้นเจริญขึ้นโดยลำดับ
มีผู้นิยมส่งเด็กเข้าเล่าเรียนมาก จนเป็นโรงเรียนใหญ่แห่งหนึ่งในนครปฐม
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า
พระราชทานนามว่า “โรงเรียนวิชาชำนะโฉด”
ครั้นต่อมารัฐบาลรับโรงเรียนนี้เป็นโรงเรียนหลวงย้ายไปตั้งที่ตำบลห้วยจรเข้
เรียกนามว่า โรงเรียนพระปฐมวิทยาลัย ยังปรากฏอยู่จนทุกวันนี้”
การสร้างโรงเรียนของเรือนจำนี้ ผู้เขียนได้สืบค้น พบข้อมูลจากราชกิจจานุเบกษา เล่ม 25
หน้า 805-806 วันที่ 11 ตุลาคม รศ 127 ตรงกับ พ.ศ. 2451 เป็นแจ้งความจากกระทรวง
ธรรมการ แผนกศึกษามณฑล กล่าวว่า
นอกจากนี้ ผู้เขียนได้พบข้อมูลเพิ่มเติมจากหนังสือ 111 ปี เรือนจำนครปฐม ซึ่งคณะ
ข้าราชการเรือนจำกลางนครปฐม โดยนายอภิชาติ ขุนเทพ ผู้บัญชาการเรือนจำกลางนครปฐม
ในขณะนั้น มีแนวคิดที่จะเก็บรวบรวมเอกสารข้อมูลเรื่องราวของเรือนจำกลางนครปฐม
นับจากอดีตจนถึงปัจจุบัน คือในพุทธศักราช 2552 เพื่อเป็นข้อมูลให้ผู้ที่สนใจ
ได้ศึกษาค้นคว้า โดยมอบหมายให้นายไพบูลย์ พวงสำลี เป็นผู้จัดทำ และปรากฏเรื่อง
การสร้างโรงเรียนอยู่ในบทความ เรื่อง คุณวิเศษนอกหน้าที่อย่างหนึ่ง คือ
คิดตั้งโรงเรียนสอนเด็กชาวบ้านขึ้น ในที่นี้จะยกความบางตอนมากล่าวเพื่อขยายความ คือ
“ท่านพระพุทธเกษตรานุรักษ์
(ขณะรับราชการตำแหน่งหลวงชัยอาญา พะธำมรงเรือนจำมณฑลนครชัยศรี)
ผู้เป็นกำลังสำคัญในการสร้างเมือง ท่านได้คิดถึงการศึกษาของประชาชน
จึงได้สร้างโรงเรียนขึ้นที่หน้าเรือนจำ บริเวณกำแพงชั้นนอก
โดยคัดเลือกนักโทษที่มีความรู้มาเป็นครูสอน ท่านสนใจและ
บำรุงโรงเรียนเจริญขึ้นตามลำดับ ชาวบ้านนิยมส่งบุตรหลานเข้าเข้าเรียนมากขึ้น
จนเป็นโรงเรียนใหญ่แห่งหนึ่งในนครปฐม
…
คำว่า วิชา แปลว่า วิชา คำว่า ชำนะ แปลว่า ชนะ คำว่า โฉด แปลว่า โง่เขลา
จึงรวมความได้ว่า โรงเรียนวิชาชนะความโง่เขลา
ท่านพระพุทธเกษตรานุรักษ์ได้ทำป้ายชื่อ ตามนามพระราชทานว่า
โรงเรียนวิชาชำนะโฉด อยู่ใต้พระลัญจกรของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช
เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร
ในตู้ไม้บานกระจกติดตั้งที่หน้าจั่วอาคารโรงเรียน
และใช้ตราพระเกี้ยวเป็นตราของโรงเรียน
อาคารเรียนเป็นเรือนไม้ชั้นเดียว หลังคาจากยกพื้น
มีอุปกรณ์การเรียนการสอนพร้อมโต๊ะ ม้านั่ง กระดานดำ โต๊ะครู
เรียนตามหลักสูตรของกระทรวงธรรมการ สมัยนั้นมี 4 ชั้นเรียน
คือ ชั้นเตรียม ป 1 ป2 ป 3 การเรียนไม่เก็บค่าเรียน ค่าบำรุงแต่อย่างใด
ผู้ขาดแคลนยังแจกหนังสือ สมุด ดินสอให้ด้วย
พ.ศ 2452 ทางราชการจะตั้ง โรงเรียนดัดสันดาน เพื่ออบรมเด็กที่ต้องโทษ
จึงได้ซื้อที่ดินที่ตำบลห้วยจระเข้สร้างอาคารมีห้องครัว
ห้องฝึกอบรม ห้องนอน ห้องเจ้าหน้าที่
เมื่อสร้างเสร็จมีผู้กราบบังคมทูลว่าโรงเรียนดัดสันดาน
ไม่ควรอยู่ในเมืองและใกล้กรุง จึงย้ายไปสร้างใหม่ที่เกาะสีชัง
อาคารที่สร้างไว้จึงโปรดเกล้าฯ ให้เป็นที่ตั้งโรงเรียนรัฐบาล
กระทรวงธรรมการ จึงโอนนักเรียนจากโรงเรียนวิชาชำนะโฉดมาเรียนแทน
และใช้ชื่อว่า โรงเรียนตัวอย่างมณฑลนครชัยศรี “พระปฐมวิทยาลัย”
เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2452 เวลา 2552 เวลา 9.00 นาฬิกา
คณะครูโรงเรียนพระปฐมวิทยาลัยทำพิธีรับมอบนักเรียนจากโรงเรียนวิชาชำนะโฉด
จากหลวงชัยอาญา (โพธิ์ เคหะนันทน์) พะธำมรงค์เรือนจำมณฑลนครชัยศรี
และครูโรงเรียนวิชาชำนะโฉดมอบให้ เมื่อรับมอบแล้วคณะครูโรงเรียนพระปฐมวิทยาลัย
นำนักเรียนเดินแถวมายังโรงเรียนพระปฐมวิทยาลัย…”
ผู้เขียนได้สืบค้นข้อมูลเพิ่มเติม พบข้อมูลที่กล่าวถึงการศึกษาของมณฑลนครชัยศรี
ในระยะเริ่มแรก จากราชกิจจานุเบกษา เล่ม 26 หน้า 2712-2715 วันที่ 13 มีนาคม รศ 128
ตรงกับ พ.ศ. 2452 เป็นแจ้งความจากแผนกศึกษามณฑล เรื่องทำบุญเปิดโรงเรียน
ตัวอย่างมณฑล โดยกล่าวว่า
และปีถัดมาข้อมูลจากราชกิจจานุเบกษา เล่ม 27 หน้า 1804-1805 วันที่ 30 ตุลาคม
รศ 129 ตรงกับ พ.ศ. 2453 พบแจ้งความจากกระทรวงธรรมการ พแนกกรมศึกษาธิการ
เรื่อง การสร้างส้วมของโรงเรียนตัวอย่างมณฑล โดยกล่าวว่า
………………………………………………
บรรณานุกรม
“แจ้งความกระทรวงธรรมการ แพนกกรมศึกษาธิการ.” (129). ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 27,
(30 ตุลาคม): 1804-1805.
“แจ้งความกระทรวงธรรมการ แพนกศึกษามณฑล.” (127). ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 25,
(11 ตุลาคม): 805-806.
ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จฯ กรมพระยา. (2473). เรื่องสนทนากับผู้ร้ายปล้น. ม.ป.ท.:
โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร.
“แพนกศึกษามณฑล.” (128). ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 26, (13 มีนาคม): 2712-2715.
เรือนจำกลางนครปฐม. (2552). 111 ปี เรือนจำนครปฐม พุทธศักราช 2552.
(ไพบูลย์ พวงสำลี, ผู้รวบรวมเรียบเรียงและบรรณาธิการ) นครปฐม: เรือนจำกลางนครปฐม.
วรัฏรยา หุ่นเจริญ. (2545). โรงเรียนในสมัยรัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 6 (พ.ศ. 2411-2468).
ปริญญามหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรม. กรุงเทพฯ:
บัณฑิตวิทยาลัย. มหาวิทยาลัยศิลปากร.
iLaw. (2557, ตุลาคม 6). การศึกษาไทยมาจากไหน? Retrieved from https://ilaw.or.th: https://ilaw.or.th/node/3272