พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวครั้งเมื่อทรงผนวช ได้เสด็จธุดงค์ตามหัวเมืองหลายมณฑล ทรงประจักษ์ถึงประโยชน์ของการ เสด็จประพาสหัวเมือง ที่ได้เห็นความเป็นอยู่ตลอดจนทุกข์สุขของราษฎรเป็นประโยชน์ต่องานราชการบ้านเมือง ในรัชสมัยของพระองค์จึงทรงสร้างพระราชวังและตำหนักที่เสด็จประพาสขึ้นหลายแห่ง ทั้งในกรุงเทพฯ และตามหัวเมือง

พระราชวังที่ทรงสร้างขึ้นนั้น มีหลักฐานใน ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๒๖ เรื่องตำนานวังเก่า ตอนที่ ๕ ว่าด้วยสร้างวังในรัชกาลที่ ๔ หน้า ๖๘-๖๙ กล่าวถึง พระราชวังที่สร้างใหม่ในรัชกาลที่ ๔ ในกรุงเทพฯ ๓ แห่ง คือ พระราชวังประทุมวัน  (สะกดตามของเดิม) ตั้ง ณ ที่นาหลวงทุ่งบางกะปิ ริมคลองแสนแสบฝั่งใต้ พระราชวังนันทอุทยาน บริเวณริมคลองมอญฝั่งเหนือ ฝั่งธนบุรี พระราชวังสราญรมย์ สร้างตรงตึกดินเก่าใกล้พระบรมมหาราชวังทางด้านตะวันออก และตามหัวเมืองทรงโปรดฯ ให้สร้างขึ้นใหม่ หรือทรงบูรณปฏิสังขรณ์วังเดิมขึ้นใช้ประทับเมื่อเสด็จประพาสรวม ๗ แห่ง ดังนี้

“… ทรงสร้างตามหัวเมือง ๗ แห่ง คือ ที่เมืองสมุทรปราการแห่ง ๑[1]
ที่บางประอิน ในแขวงกรุงเก่า แห่ง ๑[2] วังจันทรเกษมในกรุงเก่าแห่ง ๑[3]
ที่ท้ายพิกุล เขาพระพุทธบาทแห่ง ๑[4] พระนารายน์ราชนิเวศน์ ณ เมืองลพบุรีแห่ง ๑[5]
พระนครปฐมในแขวงเมืองนครไชยศรีแห่ง ๑[6] พระนครคีรี ณ เมืองเพชรบุรีแห่ง ๑[7]…”

สำหรับวังปฐมนคร  ซึ่งตั้งอยู่ในแขวงเมืองนครไชยศรี หรือ นครปฐมในปัจจุบันนั้น มีคำเรียกในเอกสารแตกต่างกัน อาทิ วังพระนครปฐม พระราชวังนครปฐม วังพระปถมเจดีย์ วังแห่งนี้นับเป็นหนึ่งในพระราชวังสำหรับประทับแรมตามหัวเมือง ตั้งอยู่ ณ ต.พระปฐมเจดีย์ อ.เมืองนครปฐม จ.นครปฐม โดยหันหน้าวังเข้าทางด้านทิศตะวันออกของพระปฐมเจดีย์ มี ถ.หน้าพระ[8] คั่นกลาง ส่วนด้านข้างของวังขนานไปกับแนวคลองเจดีย์บูชา มี ถ.ทิพากร คั่นกลาง

เหตุใดจึงสร้างวังนอกพระนคร
วังปฐมนคร สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จากการศึกษาค้นคว้าเอกสารจดหมายเหตุสมัยรัตนโกสินทร์ เพื่อจัดทำวิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาการจัดการจดหมายเหตุและเอกสาร มหาวิทยาลัยศิลปากร เมื่อปีการศึกษา 2548  เรื่อง การบูรณะปฏิสังขรณ์พระปฐมเจดีย์ : กรณีศึกษาจากเอกสารจดหมายเหตุ ของผู้เขียน พบการกล่าวถึงวังแห่งนี้ ในส่วนของเอกสารราชการสมัยรัชกาลที่ ๔ ลำดับที่ ๓.๑.๒๖ หน้า ๗๐ เป็นหมายรับสั่ง ต้นฉบับมีจำนวน ๑๑ บรรทัด ไม่ปรากฏนามผู้บันทึกและผู้รับเอกสาร ระบุวันเวลาของหมายรับสั่ง คือ วันอาทิตย์ เดือน ๕ แรม ๙ ค่ำ ปีเถาะนพศก จุลศักราช ๑๒๒๙ (ตรงกับวันอาทิตย์ที่ ๒๘ เมษายน พ.ศ. ๒๔๑๐ อันเป็นเวลาใกล้สิ้นรัชกาล ทรงสวรรคตวันอาทิตย์ที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๑๑) เนื้อความในหมายรับสั่งทำให้ทราบว่าขณะนั้นงานสร้างวัง ยังคงค้างการหุ้มรางที่สรงด้วยดีบุก และต้องเร่งดำเนินการให้ทันเดือนถัดไปที่จะ “เสด็จฯ ออกไปยกยอดพระปฐมเจดีย์ ในเดือน ๖”  มีสาระสำคัญสรุป ดังภาพ

แต่ทั้งนี้วันเวลาที่เริ่มสร้างวังนั้น บางแห่งสันนิษฐานว่าสร้างราว พ.ศ. ๒๓๙๖ ดังมีความอันแสดงมูลเหตุการณ์สร้างวังแห่งนี้ จากประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๒๖ เรื่องตำนานวังเก่า ระบุว่าพระองค์ทรงสร้างขึ้น เนื่องในการปฏิสังขรณ์พระปฐมเจดีย์ ด้วยทรงมีพระราชดำริว่าเป็นมหาเจดีย์ที่บรรจุพระบรมธาตุของพระพุทธเจ้า และสร้างแต่เมื่อพระพุทธศาสนามาประดิษฐานในประเทศไทย เก่าแก่กว่าพระสถูปเจดีย์อื่นๆ ทั้งหมด แม้เมืองอันพระมหาเจดีย์จะถูกทิ้งร้างไป แต่ก็ยังผู้คนมาบูชาพระมหาเจดีย์แห่งนี้มิได้ขาด จึงทรงโปรดเกล้าฯ ให้

“…ปฏิสังขรณ์พระปฐมเจดีย์ทั่วทั้งบริเวณ และโปรดฯ ให้ขุดคลองมหาสวัสดิ์ คลองเจดีย์บูชา
ให้ทางไปมากับกรุงเทพฯ สะดวกขึ้น ถึงกระนั้นการที่ไปมาในระหว่างกรุงเทพฯ กับพระปฐมเจดีย์ในสมัยนั้น
ต้องค้างกลางทางคืนหนึ่งจึงถึง จำเป็นต้องสร้างที่ประทับแรมที่พระปฐมเจดีย์
จึงโปรดฯ ให้สร้างพระราชวังขึ้นที่ริมบริเวณพระปฐมเจดีย์ ทำนองเดียวกับพระราชวังซึ่งพระมหากษัตริย์
ครั้งกรุงศรีอยุธยาทรงสร้างที่ริมบริเวณพระพุทธบาทฉะนั้นพระราชทานนามว่า “พระนครปฐม”…

นอกจากหลักฐานจากเอกสารข้างต้น ยังมีพระราชพงศาวดาร กรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๔ ตอนที่ ๒๒๒ เรื่อง สร้างพระราชวังที่นครปฐม กล่าวถึงการสร้างวังแห่งนี้ว่า

…แล้วโปรดให้สร้างพระราชวังที่ประทับไว้คู่กันกับวัดชื่อว่า
วังปฐมนคร[9] เพราะเหตุด้วยที่เมืองนั้น
แต่โบราณเป็นเมืองหลวงของชาวสามแต่เดิมมาชื่อว่าเมืองนครไชยศิริ
สังเกตได้ที่พระเจดีย์ใหญ่ยังปรากฏอยู่ในป่าเป็นหลายตำบล
แล้วที่วัดสังเกตได้ติดเนื่องกันไปไม่ขาดระยะยิ่งกว่ากรุงเก่า
ที่วังเดิมนั้นอยู่ข้างตะวันตก พระปฐมเจดีย์ห่างประมาณ ๓๐ เส้น
มีฐานปราสาทแลท้องพระโรง โบสถ์พราหมณ์
สระน้ำ กำแพงชั้นในชั้นนอกก็ยังปรากฏอยู่บ้าง
แต่เดี๋ยวนี้พวกจีนไปตั้งทำไร่รื้อทะลายที่ส่ำเสียเป็นอันมาก…

ทั้งนี้ จากพระราชพงศาวดารฉบับเดิม ตอนที่ ๒๒๓ เรื่อง ขุดคลองเจดีย์บูชา ยังได้กล่าวถึงเส้นทาง ระยะทางในการขุดคลอง ซึ่งไหลผ่านพระราชวังไปยังที่ต่าง ๆ ตลอดจนค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ ซึ่งในส่วนของการสร้างพระปฐมเจดีย์และพระราชวังจากเอกสารนี้ทำให้ทราบว่า รัชกาลที่ ๔ ทรงบริจาคพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์โดยยังมิได้สรุปจำนวนเงินทำบัญชี ด้วยยังดำเนินการณ์ไม่แล้วเสร็จดังมีความ กล่าวว่า

…และคลองที่ขุดตั้งแต่ท่าหน้าเขาไปถึงที่วัง เลยไปจนถึงวัดพระงาม
กว้าง ๕ วาบ้าง กว้าง ๖ วา ๗ วา บ้าง ๘ วาบ้าง
แยกเป็นสายขึ้น ๒ สาย ยาว ๔๔๘ เส้น ลึก ๕ ศอกบ้าง ๖ ศอกบ้าง
๗ ศอกบ้าง ๘ ศอกบ้าง เป็นแห่ง ๆ ตามที่สูงและที่ต่ำ
คิดค่าขุดคลอง เงิน ๖๐๗ ชั่ง ๑๑ ตำลึง ๒ บาท ๒ สลึงเฟื้อง
ค่าขุดตอไม้ เงิน ๑๓ ชั่ง ๔ ตำลึง ค่าเกลี่ยดิน เงิน ๑๐ ชั่ง ๔ ตำลึง
ค่าแก้คลองคดให้ตรง เงิน ๕๓ ชั่ง ๑ ตำลึง ๒ บาท ๑ สลึงเฟื้อง
รวมเงิน ๘๐๔ ชั่ง ๑๐ ตำลึง ๓ บาท ๒ สลึง พระราชทานชื่อ คลองเจดีย์บูชา
แล้วตัดทางทำถนนขึ้นอีกสาย ๑ ไว้เพื่อเสด็จฤดูแล้ง ตั้งแต่ช่องสะเดาถึงวัง
เป็นทาง ๑๕๐ เส้น ค่าแรงจีนถมกว้าง ๔ วา สูง ๑ ศอก ๒ ศอก ๓ ศอกบ้าง ตามที่ลุ่มและดอน
รวมเงิน ๒๘ ชั่ง ๕ ตำลึง ๒ บาทเฟื้อง การที่สร้างพระปฐมเจดีย์และพระราชวังนั้น
บริจาคพระราชทรัพย์ค่าปูน ค่าทราย ค่าอิฐ ค่าแรงจีน ธารณะเจ้านาย ข้าราชการราษฎร
ทองกาไหล่ยอดนภศูลสิ้นไปเท่าไรยังมิได้คิดบัญชี ด้วยการยังไม่เสร็จ
ต่อเมื่อการเสร็จจะมีแจ้งจารึกไว้ในแผ่นศิลาต่อไปภายหน้า…

สิ่งปลูกสร้างในวัง
ข้อมูลจาก หนังสือท่องเที่ยวไปในประเทศไทย กับธนาคารกรุงเทพ จำกัด ตอน ภาคกลาง เรื่อง จังหวัดนครปฐม เขียนโดย นายปัญญา ธรรมรัตน์ ได้กล่าวถึงสิ่งปลูกสร้างสำคัญในวังแห่งนี้ ปรากฏในหน้าที่ ๕๖ ดังนี้

…สิ่งสำคัญในพระราชวังซึ่งสร้างครั้งรัชกาลที่ ๔ มีหลายอย่าง เช่น
พลับพลาจตุรมุข  เป็นพลับพลาใหญ่ ก่ออิฐถือปูน
มุขด้านตะวันตกเป็นท้องพระโรง มุขด้านตะวันออกเป็นที่เสด็จออกฝ่ายใน
มุขด้านใต้เป็นที่เสด็จออกทอดพระเนตรละคร
มุขด้านเหนือเป็นบันไดสำหรับขึ้นพระที่นั่ง
ตัวพระที่นั่งเป็นตึกใหญ่ขนาด ๗ ห้อง ห้องมีเฉลียงรอบ
มีเขื่อนเพชรคั่นเป็นของฝ่ายใน ทางด้านเหนือของเขื่อนมีโรงละค
นอกพระราชวังด้านใต้มีโรง ๒ โรง
คือ โรงทหารปืนใหญ่โรงหนึ่ง กลับโรงรถอีกโรงหนึ่ง…

บทบาทของวังหลังภายหลังรัชกาล
วังปฐมนคร ใช้เป็นที่ประทับในสมัยรัชกาลรัชกาลที่ ๔ ตลอดมาจนสมัยรัชกาลรัชกาลที่ ๕ กระทั่งมีการสร้างทางรถไฟสายใต้ผ่าน เมืองนครปฐมไปแล้ว รัชกาลที่  ๕ จึงพระราชทานวังแห่งนี้ให้เป็นที่ว่าการมณฑลเทศาภิบาล โดยคงไว้เพียงพระที่นั่งองค์ใหญ่ซึ่งเป็นที่ประทับเพียงองค์เดียวซึ่งพระที่นั่งองค์นี้เมื่อใช้เป็นที่ว่าการมณฑลฯ มีเอกสารบางฉบับแจ้งว่าใช้เป็นที่ประชุมประชาภิบาล และข้อมูลจากหนังสือ ท่องเที่ยวไปในประเทศไทยฯ ซึ่งได้กล่าวถึงแล้วนั้น ในหน้า ๕๖ แจ้งว่า

…พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงพระราชทานพระราชวังให้เป็นที่ว่าการมณฑล
แต่ต่อมาพลับพลาและพระตำหนักต่าง ๆ ได้ชำรุดทรุดโทรมลงไป จึงได้รื้อทิ้งเสียเป็นอันมาก
คงรักษาไว้แต่พระที่นั่งองค์ใหญ่ ซึ่งเป็นที่ประทับแต่องค์เดียว
พระที่นั่งองค์นี้ยังคงอาศัยใช้เป็นที่พักของพนักงานเทศบาลอยู่จนกระทั่งปัจจุบันนี้…

ข้าพเจ้าตั้งข้อสังเกต เนื่องจากหนังสือดังกล่าวจัดพิมพ์ใน พ.ศ. ๒๕๑๗ คำว่า ปัจจุบันในที่นี้ อาจหมายในราวช่วงปีนั้น หรือใกล้เคียง ซึ่งผู้เขียนบทความดังกล่าวจัดทำต้นฉบับขึ้น อย่างไรก็ตามพระตำหนักองค์ดังกล่าวนี้ ก็ได้รื้อลงและสร้างอาคารเทศบาลเมืองนครปฐมหลังเดิมขึ้นแทนที่ และในปัจจุบันอาคารเทศบาลเมืองฯ ณ บริเวณวังปฐมนคร ก็ได้รื้อลงแล้วเช่นกัน โดยทางเทศบาลเมืองนครปฐมได้ไปปลูกสร้างอาคารแห่งใหม่ คือ สำนักงานเทศบาลนครนครปฐม ตั้งอยู่ ณ เลขที่ ๘๘๘ ถ.ทหารบก อ.เมืองนครปฐ จ.นครปฐม

เทศบาลไปไหน…ทำไมพื้นที่ว่างเปล่า
ชาวนครปฐมในปัจจุบัน (พ.ศ. ๒๕๖๔) หลาย ๆ ท่าน โดยเฉพาะเยาวชนรุ่นหลัง อาจไม่ทราบว่าพื้นที่ว่างเปล่า ตั้งอยู่ใจกลางเมืองนคปฐมติดกับพระปฐมเจดีย์นั้นเดิม คือ สถานที่อะไร  เหตุใดจึงถูกทิ้งร้างมานานปี

มีข้อมูลที่พอจะอ้างอิงได้ว่าอาจเป็นเค้าลางสาเหตุของการ “ถูกทิ้งร้าง” กล่าวคือ ข้าพเจ้าพบข้อมูลบทความกฤตภาคข่าว จากฐานข้อมูลกฤตภาคภาคตะวันตก ในงานศูนย์ข้อมูลภาคตะวันตก ของหอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เรื่อง วังปฐมนคร ซึ่งเป็นข่าวตัดจาก นสพ.ท้องถิ่น “ยอดแหลมนิวส์”  ปีที่ ๙ ฉบับที่ ๒๒๓ ประจำวันที่ ๑-๑๖ กันยายน ๒๕๕๐ ซึ่งปรากฎบทความอยู่ในหน้า ๑ และ ๑๔

นอกจากบทความดังกล่าวแล้ว ข้าพเจ้าพบ เรื่อง จุดจบ…? ”ปฐมนคร” วังประทับ ร. ๔ กรมศิลป์ไฟเขียวโละทิ้งสร้างอาคารเทศบาล จาก https://soclaimon.wordpress.com/2011/01/03/จุดจบ-ปฐมนครวังประทับ-ร-4/  
เข้าถึงเมื่อ วันที่ ๒๑ มกราคม ๒๕๖๔ บทความดังกล่าว เขียนโดย โสฬส แสงเพ็ญ และนำขึ้นเผยแพร่ทางออนไลน์ โดยผู้ใช้นาม SOCLAIMON เมื่อ วันที่ ๓ มกราคม ๒๕๕๔ มีข้อมูลโดยสรุป กล่าวคือ

กรณีกรมศิลปากร มีหนังสืออนุญาตการก่อสร้างอาคารสำนักงานเทศบาลนครนครปฐม จังหวัดนครปฐม มูลค่ากว่า ๑๗๗ ล้านบาท โดยจะสร้างทับบริเวณที่มีการขุดพบ “พระราชวังปฐมนคร” ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ซึ่งทรงใช้เป็นที่ประทับเมื่อมาสักการะ ตลอดจนบูรณะปฎิสังขรณ์องค์พระปฐมเจดีย์ ซึ่งต่อมาภายหลังชำรุดทรุดโทรมจึงถูกรื้อออก และมีการสร้างอาคารเทศบาลเมืองนครปฐมขึ้นแทนที่ ร่องรอยของพระราชวังเดิมจึงถูกบดบังหายไป กระทั่งมีการรื้อถอนอาคารสำนักงานเทศบาลนคร และกรมศิลปากรเข้าดำเนินการขุดแต่งบริเวณรากฐานเดิมของพระราชวังจึงปรากฏขึ้นอีกครั้ง

ประเด็นดังกล่าวนี้ หากจะกล่าวในเชิงประวัติศาสตร์และโบราณคดี แม้สิ่งที่พบจะเป็นเพียงซากของฐานรากวังเดิมก็ยังคงแสดงซึ่ง ความสำคัญในฐานะที่เป็นกลุ่มอาคารเชื่อมโยงกับองค์พระปฐมเจดีย์ ซึ่งสอดคล้องกับความเห็นของคณะอนุกรรมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมธรรมชาติและศิลปกรรม สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ซึ่งให้ความเห็นว่า

ควรอนุรักษ์พื้นที่ดังกล่าวไว้ด้วยความสำคัญทางประวัติศาสตร์ อันมีหลักฐานบ่งชี้ทั้งที่เป็นเอกสารลายลักษณ์และภาพถ่าย ซึ่งระบุให้ทราบว่าพื้นที่ของสำนักงานเทศบาลนครนครปฐมเดิมเคยเป็นที่ตั้งของวังปฐมนคร นอกจากนี้หลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีความเห็นพ้องกันในการอนุรักษ์ไว้ด้วยเป็นโบราณสถานสำคัญ โดยให้กรมศิลปากรขุดทำการสำรวจพื้นที่และพิจารณาความเหมาะสมของการก่อสร้างอาคารบนสถานที่ดังกล่าว

จากข้อมูลของอธิบดีกรมศิลปากรในขณะนั้น คือ นายเกรียงไกร สัมปัชชลิต ซึ่งกล่าวเมื่อวันที่ ๙ มิ.ย. ๒๕๕๑ ว่ามีการขุดพบแนวพระราชวังปฐมนคร และได้สั่งการให้ขุดสำรวจหาหลักฐานต่างๆ และอนุรักษ์สถานที่ให้มากที่สุด โดยให้นำโบราณวัตถุที่พบไปเก็บไว้ที่เหมาะสม พร้อมหาทางออกร่วมกันว่าจะอนุรักษ์ไว้มากน้อยเพียงใดเพื่อให้สามารถใช้พื้นที่ควบคู่กันได้ โดยนายอารักษ์ สังหิตกุล อดีตอธิบดีกรมศิลปากรคนก่อน ได้เคยกล่าวเช่นกันว่า

พระราชวังปฐมนครนี้ ถือเป็นหลักฐานทางโบราณสถานที่สำคัญที่มีการค้นพบอีกครั้งหนึ่ง หลังจากที่เคยถูกอาคารเทศบาลก่อสร้างทับไป ถึงแม้ว่าจะเห็นแต่เพียงรากฐานที่ไม่สามารถมองเห็นสภาพเดิมได้ แต่ก็ถือว่าเป็นเรื่องดีที่กลับมาค้นพบอีกครั้ง

โดยนายอารักษ์มีความเห็นในการอนุรักษ์ว่าควรบูรณะอาคารพระราชวังแห่งนี้ขึ้นใหม่ และหากจะสร้างอาคารเทศบาล ก็อาจให้ขยับออกมา เพื่อให้สามารถสร้างพระราชวังปฐมนครจากฐานเดิมทำให้เหมือนกับพระราชวังเดิมทุกประการ และทำเป็นพิพิธภัณฑ์ที่จัดแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับความสำคัญของพระราชวังแห่งนี้ ตลอดจนให้ความเห็นถึงรูปแบบอาคารเทศบาลที่จะสร้างขึ้นว่าหากมีความจำเป็นที่จะสร้างในพื้นที่เดิม ก็ให้พิจารณารูปแบบของตัวอาคารให้กลมกลืนกับอาคารพระราชวังเดิม

เหตุการณ์ในครั้งนั้น แม้จะมีความเห็นถึงแนวทางในการอนุรักษ์อย่างหลากหลายจากบุคคลต่าง ๆ แต่ต่อมาเมื่อวันที่ ๒๑ เม.ย. ๒๕๕๑ กรมศิลปากรก็ได้มีหนังสืออนุญาตการก่อสร้างอาคารสำนักงานเทศบาลนครนครปฐมทับบริเวณที่มีการขุดพบพระราชวังปฐมนครนั้น ซึ่งนอกจากจะสวนทางกับมติของคณะอนุกรรมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมธรรมชาติและศิลปกรรม สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) แล้ว ยังขัดแย้งกับมติของคณะกรรมาธิการการศาสนา จริยธรรมศิลปะและวัฒนธรรม สภานิติบัญญัติแห่งชาติ เมื่อวันที่ ๑๔ พ.ย. ๒๕๕๐ ซึ่งลงความเห็นชัดเจนว่า หากพบว่าสถานที่ดังกล่าวเป็นพระราชวังปฐมนคร ให้ย้ายการก่อสร้างและให้ย้ายเทศบาลนครนครปฐม ออกจากบริเวณดังกล่าว

และเมื่อกรมศิลปากรมีหนังสืออนุมัติการก่อสร้าง ทางเทศบาลนครนครปฐมก็ได้เปิดประมูลการก่อสร้างอาคารหลังใหม่ ในบริเวณพื้นที่อาคารสำนักงานหลังเดิม ดังเอกสารประมูลจ้างด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ เลขที่ ๑๗/๒๕๕๑ ลงวันที่ ๓๐ พ.ค. ๒๕๕๑ จำนวน ๒ แผ่น ซึ่งขณะนั้นอยู่ระหว่างการยื่นเอกสารประมูลจ้าง นอกจากนี้เทศบาลนครนครปฐมยังได้ขออนุมัติงบก่อสร้างอาคารเพิ่มเติมจากเดิมอีก ๑๐ ล้านบาท ซึ่งหากมีการก่อสร้างอาคารขึ้นจริงก็จะมีการสร้างที่จอดรถชั้นใต้ดิน ซึ่งจะทำให้ที่บริเวณดังกล่าวถูกรื้อค้น และขุดเจาะจนหลักฐานต่างๆ สูญหายไป รวมทั้งด้านความเชื่อมโยงของพื้นที่ที่อาจส่งผลต่อเนื่องถึงการผลักดันให้ องค์พระปฐมเจดีย์เป็นมรดกโลก ดังที่ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์หลายท่าน ต่างให้ความเห็นตรงกันในการอนุรักษ์พระราชวังปฐมนครขึ้นไว้ ซึ่งเป็นหน้าที่และภารกิจหลักโดยตรงของกรมศิลปากร ที่ต้องบริหารจัดการและอนุรักษ์โบราณสถานด้วยการคุ้มครอง ป้องกัน อนุรักษ์ บำรุงรักษา ฟื้นฟู ส่งเสริมฯ สืบทอดศิลปะและทรัพย์สินมรดกทางศิลปวัฒนธรรมของชาติ

แต่ในที่สุดแล้ว อาคารสำนักงานเทศบาลนครนครปฐมหลังใหม่ ก็ได้ย้ายไปสร้างในที่แห่งอื่นของเทศบาลแทนที่ เนื่องจากเกิดกรณีการผลักดันให้องค์พระปฐมเจดีย์เป็นมรดกโลก ประกอบกับ ผลการดำเนินการขุดแต่งบริเวณวังปฐมนคร ซึ่งได้พบรากฐานเดิมของวังปรากฏขึ้นอีกครั้ง โดยหากจะกล่าวในเชิงประวัติศาสตร์และโบราณคดี แม้สิ่งที่พบจะเป็นเพียงซากของฐานรากวัง แต่ก็แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมโยงของกลุ่มอาคารบนพื้นที่วังปฐมนคร กับองค์พระปฐมเจดีย์อย่างชัดเจน ในฐานะ “วัดคู่วัง” และยังเป็นเครื่องแสดงให้เห็นถึงการกลับฟื้นคืนความเป็นเมือง อันมีพระมหากษัตริย์ทรงอุปถัมภ์อย่างต่อเนื่องมาอย่างน้อย 3 รัชกาล ในครั้งคราวที่ทรงโปรดเกล้าฯ ให้มีการบูรณะพระมหาเจดีย์อันหาที่เปรียบมิได้ในทั่วทั้งสยามประเทศองค์นี้

เชิงอรรถ

[1] พระราชวังเมืองสมุทรปราการ สร้างที่ริมแม่น้ำฝั่งตะวันออก ตรงสถานีรถไฟ ต่อมาสมัย ร.๕ ใช้เป็นสถานีโทรเลข ปัจจุบันใช้เป็นที่ทำการประมงน้ำลึก ส่วนสถานีรถไฟเวลาต่อมาใช้เป็นตลาดเทศบาล

[2] พระราชวังที่บางประอินนี้ พระเจ้าปราสาททองทรงสร้างไว้เดิม ถูกทิ้งร้างมาหลังเสียกรุงเก่า ร.๔ ใช้เป็นที่เสด็จประพาส และโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระที่นั่งไอศวรรย์ทิพยอาสน์ สมัยต่อมามีการสร้างพระที่นั่งวโรภาสพิมานขึ้นแทนที่ ถึงสมัย ร.๕ จึงทรงสร้างพระราชวังบางปะอินที่เห็นในปัจจุบันขึ้นดังปัจจุบัน

[3] พระราชวังจันทรเกษม สมเด็จพระนเรศวรทรงสร้างไว้ ไฟไหม้สมัยพระเจ้าบรมโกศครั้งหนึ่ง ถูกเผาเมื่อเสียกรุงเก่าอีกครั้ง ถูกทิ้งร้างมาถึง ร.๔ จึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเป็นที่ประทับเวลาเสด็จประพาสกรุงเก่า ต่อมาสมัย ร.๕ พระราชทานวังแห่งนี้ให้เป็นที่ว่าการมณฑลอยุธยา ปัจจุบันใช้เป็นส่วนหนึ่งของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนครศรีอยุธยา

[4] พระราชวังที่ท้ายพิกุลนี้ พระเจ้าทรงธรรมสร้างพร้อมกับบริเวณวัดพระพุทธบาท ใช้เสด็จประทับเวลามานมัสการรอยพระพุทธบาท ร.๔ โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระตำหนักและ เรือนราชบริพารในบริเวณพระราชวังเดิมนั้น เป็นเครื่องขัดแตะถือปูน บ้างก็เป็นเครื่องไม้ ปัจจุบันผุพังหมดแล้ว

[5] พระนารายน์ราชนิเวศน์ พระราชวังแห่งนี้มีมาแต่ครั้งเมืองลพบุรีเป็นราชธานี สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงสร้างขึ้นใหม่ตรงที่วังเดิม อาคารสิ่งปลูกสร้างต่างชำรุดหักพังทิ้งร้างมาตั้งแต่เสียกรุงเก่า ร.๔ โปรดฯ ให้สร้างซ่อมบางส่วน กับทรงสร้างพระที่นั่งที่เสด็จประทับและตำหนักขึ้นใหม่ เหตุที่ทรงสร้างพระราชวังที่เมืองลพบุรี ด้วยทรงพระราชดำริว่า กรุงเทพฯ อยู่ใกล้ทะเลหากเกิดสงครามกับต่างประเทศอาจถูกเรือรบเข้าประชิดได้ จึงจำเป็นต้องมีเมืองหลวงสำรองสักแห่งที่มีความเหมาะสมในการต่อสู้ทางทะเล ต่อมาในสมัย ร.๕ พระราชทานที่วังให้เป็นที่ใช้ราชการ ปัจจุบันใช้เป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ลพบุรี

[6] พระนครปฐมนี้ คือ วังปฐมนคร จังหวัดนครปฐม บางแห่งอาจพบเอกสารเรียก หรือเขียนคำสะกดแตกต่างไปจากนี้อีก เช่น วังพระปถมเจดีย์ เป็นต้น

[7] พระนครคีรี พระราชวังแห่งนี้ สร้างบนยอดเขามหาสวรรค์ เป็นที่ประทับเวลาเสด็จประพาสเมืองเพชรบุรี ในรัชกาลที่ ๔ และ ๕ ได้เสด็จประทับหลายคราว ต่อมาสมัยรัชกาลที่ ๕ ได้มีการซ่อมใหม่ และปัจจุบันคงเหลือแต่ตัวพระตำหนักบนยอดเขาสิ่งก่อสร้างที่เป็นบริวารชำรุดหมดสิ้นแล้ว

[8] ที่ตั้งของวังปฐมนคร นี้ เอกสารบางแห่งแจ้งว่า ตั้งบน  ถ.ขวาพระ ด้วยอาจเข้าใจคลาดเคลื่อนในคำเรียกถนนรอบพระปฐมเจดีย์ ทั้ง ๔ ทิศ ซึ่งนับทิศตะวันออก (หันหน้าเข้า กทม.) อันมีวิหารหลวงเป็นทิศหลักเรียกว่า ถ.หน้าพระ  ส่วนทิศตะวันตก ด้านที่จะมุ่งหน้าพระราชวังสนามจันทร์ คือ ถ.หลังพระ และ ถ.ขวาพระ คือ บริเวณด้านหน้า สถานีตำรวจภูธรนครปฐม ส่วนถนน ทางด้านตลาดพระปฐมเจดีย์ หรือ ด้านหน้าพระร่วงฯ คือ ถ. ซ้ายพระ

[9] คำเรียก วังปฐมนคร นี้ ต่างจาก ในประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๒๕ และ ภาคที่ ๒๖ เรื่อง ตำนานวังเก่า ซึ่งใช้คำเรียกพระราชวังว่า  พระนครปฐม

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *