ชวลิต ดีสุขพร…ทายาทรุ่น 3 ข้าวแห้งปูล้อ ตลาดน้ำหลักห้า

ผู้เขียนมีเพื่อนต่างก๊วน ที่มีความสนใจต่างกัน อาทิ พวกชอบของเก่า พวกชอบประวัติศาสตร์ พวกรักการปั่นจักรยาน พวกทานทุกที่ที่มีลายแทงความอร่อย พวกมีเสียงเพลงในหัวใจ ก๊วนเล็กก๊วนใหญ่ว่ากันไปตามกาลโอกาส เมื่อวันอาทิตย์ที่ 17 พฤษภาคม ที่ผ่านมา เป็นอีกวันนึงที่เพื่อนสนิทและครอบครัว พากันไปเยือนตลาดน้ำหลัก 5 อ.บ้านแพ้ว จุดประสงค์ตั้งต้นของการเดินทางทริปนี้ หลังจากที่สังสรรค์ร่ำไรกันจนเคอฟิวเพื่อนกลับบ้านไม่ได้ต้องค้างที่บ้านแต่คืนก่อน คือ ไปหาของอร่อยทานกับชมของเก่าของสะสมของนายชวลิต ดีสุขพร หรือ น้องแป๊ะ

เรียนรู้วิถีชุมชน…คนกินข้าวแห้ง คลองดำเนินสะดวก
แรกไปถึงด้วยความที่มุ่งมั่น…หาของอร่อย หลังจากสั่งอาหารทั้งที่เพื่อนแนะนำ และอื่นๆ ที่ดูแล้วน่าลองลิ้ม ซึ่งแน่นอน “ข้าวแห้ง” เป็นอะไรที่ต้องไม่พลาด จากนั้นผู้เขียนก็ไม่รอช้าที่จะเดินสำรวจและเก็บภาพวิวริมคลอง ภาพตลาดห้องแถวไม้ย่านริมน้ำอันเป็นบรรยากาศสบายๆ ที่ชื่นชอบเป็นทุน สักพักใหญ่เมื่อกลับมานั่งยังโต๊ะอาหารที่ยังคงว่างเปล่า สายตาสอดส่ายเริ่มมองดูข้าวของที่เจ้าของจัดเข้าตู้บ้าง วางรายทางในร้านบ้าง ชานระเบียงหน้าร้านบ้าง แขวนฝาผนังร้านบ้าง สุดแต่จะมีที่ทางจัดวางได้พอ ตาส่องมองเท้าและมือก็สั่งการยิงๆๆ ภาพ จากตู้นั้น โต๊ะนี้ ผนังนุ้น วนๆ จนทั่วในและนอกร้าน บางชิ้นเห็นแล้วก็ตื่นเต้น เช่น พิมพ์ไม้ ซึ่งมีตัวอักษรอ่านได้ประมาณหนึ่ง ต่อเมื่อกลับภาพดู จึงทราบว่าเป็นพิมพ์สบู่ก้อน เข้าใจว่าน่าจะเป็นสบู่ประมาณซักผ้า เพราะไม่คุ้นชื่อว่าเป็นสบู่ถูตัว ซึ่งเมื่อไถ่ถามเจ้าของภายหลังเค้าเองก็เพิ่งทราบเช่นกันว่าเป็นพิมพ์สบู่ คือ เก็บเพราะเห็นแปลกและชอบ แต่ยังไม่ทันได้เพ่งในรายละเอียดเพราะข้าวของมีมากชิ้นเหลือเกิน

หลังจากอาหารมาพร้อมสรรพ การเดินทางของความอร่อยเริ่มต้นและผ่านไปอย่างออกรสชาติ ทานไปคุยไปกับคนคอเดียวกัน ในบรรยากาศริมน้ำยามคล้อยบ่ายซึ่งแม้จะไม่มีแอร์คอนดิชั่นให้ฉ่ำเย็น แต่บรรยากาศธรรมชาติริมคลองที่สักพักก็มีเสียงเรือเครื่องมาขัดจังหวะให้ได้พักเส้นเสียงบ้าง…ช่างสุขใจนัก


หลังจากหนังท้องเริ่มตึงพอประมาณ การพูดคุยสารพันหลากสาระแต่ละสิ่งที่ถ่ายทอดอย่างไม่มีทีท่าจะจบในตอนใดจากน้องแป๊ะ ล้วนแต่น่าสนใจจนมาถึงเรื่องราวคลองดำเนิน สติระลึกได้จึงเตือนขึ้นว่านี่ผู้เขียนอยู่ในเขตพื้นที่ 8 จังหวัดภาคตะวันตก อันเป็นพื้นที่ขอบข่ายของงานศูนย์ข้อมูลภาคตะวันตกที่ดูแลอยู่นี่นา จะปล่อยโอกาสให้สิ่งที่รับฟังสลายไปกับสายน้ำดำเนินได้อย่างไร อาการนึกได้เดี๋ยวนั้นก็แจ้งกับน้องแป๊ะ เบื้งต้นเธอรู้สึกไม่ได้เตรียมตัวเสื้อผ้าหน้าผมไม่พร้อม ผู้เขียนออกจะเอ็นดูกางเกงยีนส์ตัวเก๋าของเธอ ที่มีร่องรอยการเย็บ…ปะ…ต่อ…ด้วยฝีมือของตัวเอง…จะมีอะไรต้องพร้อมกว่านี้…หรือ?

การสัมภาษณ์นายชวลิต ดีสุขพร หรือน้องแป๊ะ ปัจจุบัน (2563) อายุราว 40 ปีเศษ ทายาทรุ่นที่ 3 ของร้านปูล้อ ข้าวแห้งคลองดำเนินสะดวก แบบไม่ทันตั้งตัวในวันนั้นเกิดขึ้นที่ตลาดน้ำหลักห้า ทางฝั่งตลาดล่าง ณ บ้านเลขที่ 30 หมู่ 4 ต.โรงเข้ อ.บ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร การพูดคุยกันอย่างธรรมดาสามัญ เรียบๆ ง่ายๆ ทำให้ทราบถึงเรื่องราวประวัติความเป็นมาของชุมชนตลาดน้ำหลัก 5  คลองดำเนินสะดวก ที่มีความน่าสนใจและชวนติดตาม ชาวชุมชนมีกิจกรรมหลอมรวม ร่วมมือร่วมใจกันสร้างชุมชนให้น่าอยู่ จากแรงศรัทธาของหมู่คณะอย่างไร น้องแป๊ะชายหนุ่มผู้เป็นเฟืองเล็กๆ ในการเริ่มต้นขับเคลื่อนอย่างทุ่มเท ด้วยหวังลึกๆ ว่าสิ่งที่เธอทำจะช่วยยึดโยงดำรงชุมชนเล็กๆ ที่อยู่มา 3 ชั่วอายุคนของครอบครัว ให้คงอยู่ในวิถีที่จะพยายามรักษารากเหง้าเดิมๆ ไว้ให้มากที่สุดอย่างไร มาติดเรื่องเล่าชาวตลาดน้ำหลัก 5 คลองดำเนินกันค่ะ

ก่อนอื่นผู้เขียนขออนุญาตในเบื้องต้น ว่าการเล่าสู่จะเล่าอย่างย่นย่อพอเป็นสังเขป ด้วยอยากให้รับฟังรายละเอียดการพูดคุยกับน้องแป๊ะในสถานที่จริงอย่างมีอรรถรส ที่ได้ทั้งบรรยากาศเรือแล่นในท้องน้ำ สลับกับเสียงพูดคุยของคนในชุมชน ผลัดเปลี่ยนกันไป ท่านที่สนใจเชิญรับฟังได้ที่ SNC Library Podcast  รายการวิทยุออนไลน์ของหอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ สำนักหอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยศิลปากร ที่ https://anchor.fm/snclibrary  หรือ ติดตามฟังรายการได้ทุกวันเสาร์ จากเพจหอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ ได้ที่ https://www.facebook.com/suslibrary/ หรืออาจใช้คำค้น SNC Library Podcast จาก Google ก็สามารถพบรายการของเราได้เช่นกัน

“ซิงกั๋ง” หรือ “ตั่วกั๋ง” คำเรียกคลองดำเนินสะดวกเมื่อครั้งขุดเสร็จใหม่
ตลาดน้ำหลัก 5  ตั้งอยู่บนเส้นทางของคลองดำเนินสะดวก ซึ่งเส้นทางที่จะขุดคลองดำเนินสะดวกนั้น เดิมเป็นป่าที่มีต้นไม้ขึ้นอยู่หนาแน่น เล่ากันว่าแรกเมื่อจะทำการขุดคลองดำเนินสะดวก ใช้ช้างเดินลุยป่าเบิกทางเพื่อวัดระยะจากนั้นจึงใช้แรงงานคนถางที่จนโล่งเตียนแล้วจึงลงมือขุดคลอง ซึ่งหลักที่กล่าวเรียกนี้มีระยะทางทั้งสิ้น 8 หลัก คลองที่ขุดมีขนาดกว้างราว 10-20 วา ยาว 840 เส้น (32 กิโลเมตร) มีหลักเขตตั้งรายเป็นระยะๆ โดย หลัก 1 เริ่มที่ประตูน้ำบางยาง อ.บ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร เว้นระยะห่างทุกๆ 100 เส้น (4 กิโลเมตร) ต่อเนื่องไปจนสุดที่หลักสุดท้าย คือ หลัก 8 บริเวณประตูน้ำบางนกแขวก อ.บางคนที จ.สมุทรสงคราม ชาวจีนเรียกตลาดน้ำดำเนินสะดวก ครั้งที่ขุดเสร็จใหม่ๆ ว่า “ซิงกั๋ง” หมายถึงคลองใหม่ บางครั้งก็เรียกว่า “ตั่วกั๋ง” หมายถึงคลองใหญ่

ตลาดน้ำหลัก 5  ศูนย์กลางคลองดำเนินสะดวก
ตลาดน้ำหลัก 5  คลองดำเนินสะดวกแห่งนี้ เป็นจุดศูนย์กลางของคลองดำเนินสะดวก ตั้งอยู่บริเวณช่วงรอยต่อของ 2 จังหวัด คือ อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี และ อ.บ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร  ชุมชนริมน้ำแห่งนี้มีอายุกว่า 150 ปี นับจากหลักฐานการสร้างวัดปราสาทสิทธิ์ (วัดหลักห้า) ซึ่งนับเป็นวัดแรกของคลองดำเนินสะดวก สร้างขึ้นเป็นอนุสรณ์โดยสมเด็จเจ้าพระยาพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) หรือ พระปราสาทสิทธิ์ (ยศในขณะนั้น) เมื่อท่านมาเป็นผู้อำนวยการขุดคลองดำเนินสะดวกเมื่อ พ.ศ. 2409

ชุมชนหลักห้าเป็นชุมชนริมน้ำเก่าแก่ที่เคยเจริญรุ่งเรืองมากในอดีต ขนาดมีโรงหนังในชุมชนถึง 2 โรง มีร้านทองถึง 6 ร้านด้วยกัน แม้จะเป็นเพียงชุมชนเล็กๆ ซึ่งทอดจากวัดหลักห้าเป็นระยะทางเพียงประมาณ 1 กิโลเมตร ตามเส้นทางเลียบคลองจากวัดไปทางซ้ายมุ่งหน้าราชบุรี ราว 500 เมตร เรียกว่า ตลาดบน ส่วนเลียบคลองฝั่งขวาจากวัดมุ่งหน้าไปทางบ้านแพ้ว อีกราว 500 เมตร เรียกว่า ตลาดล่าง

ชุมชนริมน้ำแห่งนี้ในอดีตนับว่าคึกคักมาก ตลาดจะเริ่มเปิดตั้งร้านกันแต่ตี 4 ราวไม่เกินตี 5 แทบทุกร้านรวงก็จะเปิดกันจนหมดทุกร้าน เรือเมล์โดยสารเริ่มเดินเรือตั้งแต่ราวตี 3 ด้วยยังไม่มีทางถนน การคมนาคมทางน้ำจึงเป็นเส้นทางหลักที่ต้องใช้เดินทางไปยัง อ.บ้านแพ้ว ซึ่งเป็นจุดต่อรถยนต์โดยสาร เพื่อต่อไปยังจังหวัดนครปฐม สมุทรสาคร หรือ กรุงเทพฯ หรือ โดยสารเรือไปยัง อ.ดำเนินสะดวก เพื่อต่อรถยนต์โดยสารไปยัง อ.แม่กลอง จ.สมุทรสงคราม หรือ อ.บางแพ อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

ตลาดน้ำหลัก 5 คือ ตลาดน้ำปากคลองโพหัก หรือ ตลาดน้ำปากคลองบัวงาม
ตลาดน้ำหลัก 5 เดิม ราว พ.ศ.2520 เคยเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ขึ้นชื่อแห่งหนึ่ง ชาวต่างชาติมักนิยมมาล่องเรือหางยาวเที่ยวชมตลาดน้ำกันมาก ซึ่งในครั้งนั้นตลาดน้ำหลักห้านี้ เรียกว่า “ตลาดน้ำปากคลองโพหัก” หรือ “ตลาดน้ำปากคลองบัวงาม” ตั้งอยู่บริเวณปากคลองโพหัก หรือ คลองบัวงาม ฝั่งตรงข้ามวัดหลักห้า ซึ่งตลาดน้ำหลักห้าซึ่งอยู่มาชั่ว 3 อายุคนของครอบครัวที่ย้ายมาตั้งหลักแหล่งนี้ แต่เดิมก็เป็นชุมชนอยู่ก่อนแล้ว ความเก่าแก่ของชุมชนแห่งนี้อาจเทียบได้กับชุมชนตลาดเก่า หรือ เหล่าตั๊กลั๊ก บริเวณปากคลองลัดพลีที่ อ.ดำเนินสะดวก

แต่ทั้งนี้น้องแป๊ะได้ตั้งข้อสังเกตว่าที่ตลาดเก่า หรือ เหล่าตั๊กลั๊กนั้นไม่พบว่ามีวัดในชุมชนตามปกติวิถีที่บ้านและวัดมักอยู่เคียงคู่กัน และไม่อาจทราบได้ว่าชุมชนแห่งใดเกิดขึ้นก่อนกัน แต่หากนับเทียบกับตลาดน้ำดำเนินในปัจจุบัน ที่ชาวต่างชาติรู้จักในนาม Floating market ยุคแรกๆ ของไทย ซึ่งได้ย้ายที่ตั้งจากฝั่งปากคลองลัดพลีมาฝั่งตรงข้ามเช่นในปัจจุบันนั้น ตลาดน้ำหลัก 5 จะมีความเก่าแก่กว่ามาก

วิถีชีวิตของชุมชนริมคลองหลัก 5 แห่งนี้ มีรายละเอียดเรื่องเล่าที่น้องแป๊ะเล่าสู่น่าสนใจอีกมาก รวมถึงเรื่องเล่าในการร่วมกันฟื้นฟูสายน้ำที่ซบเซาลงเมื่อการคมนาคมทางบกรุกคืบเข้ามา โดยชาวชุมชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างร่วมแรงร่วมใจกันฟื้นฟูกิจกรรมต่างๆ ที่เคยมีและหายไป ให้กลับคืนลมหายใจวิถีชีวิตริมคลองแห่งนี้อย่างมีสีสรรมีชีวิตชีวาขึ้นอีกครั้ง อาทิเช่น กิจกรรมลอยกระทงสายน้ำ การตักบาตรพระทางน้ำ ที่แม้จะเป็นกิจกรรมเฉพาะกิจเป็นครั้งคราว แม้จะไม่คึกคักพลุกพล่านแน่นขนัดทุกวันหยุดสุดสัปดาห์หรือช่วงเทศกาล หากเทียบกับตลาดน้ำที่เกิดใหม่แทบทุกแห่งหนในปัจจุบัน ทั้งตลาดน้ำที่โดยสภาพภูมิศาสตร์เอื้ออำนวย กระทั่งตลาดน้ำจำลองในภูมิศาสตร์จัดตั้งซึ่งต้องใช้เงินทุนมหาศาลในการเนรมิตรขึ้นมา แต่ทุกครั้งคราที่ชุมชนตลาดน้ำหลัก 5 ประชาสัมพันธ์การจัดกิจกรรมสู่สาธารณะ ก็จะมีผู้คนหลั่งไหลมาร่วมอย่างเกินคาดหมาย ซึ่งไม่จำกัดเฉพาะเพียงคนในชุมชนเท่านั้น ความเพียรที่รวมเวลาราว 5 ปีในวันนี้ ทำให้ตลาดน้ำหลัก 5 เติบโตขึ้นใหม่ตามศักยภาพของชุมชน ในมุมที่ชาวบ้านสามารถทำได้ด้วยตนเองจนเป็นที่รู้จักในวงกว้างขึ้นในปัจจุบัน

ข้าวแห้ง…อัตลักษณ์การกินของคนขุดคลอง
นอกจากต้นทุนในวิถีชีวิตอันมีอัตลักษณ์ของตนเอง อันเป็นต้นทุนโดยธรรมชาติที่มีคุณค่ายิ่งของชุมชนริมฝั่งคลองแห่งนี้ดังกล่าว อัตลักษณ์อันเป็นอีกหนึ่งวิถีเดิมที่หากละเลยไม่กล่าวถึงก็ดูจะผิดธรรมเนียม นั้นคือวิถีอาหารการกิน ซึ่งแน่นอนผู้เขียนหมายถึง “ข้าวแห้ง” ข้าวแห้งคลองดำเนินเป็นเมนูอาหารรายการหนึ่งที่ผู้เขียนได้ยินมานาน แต่ยังไม่มีโอกาสได้ลิ้มลอง “ข้าวแห้ง” ที่มีรสชาติแบบดั้งเดิมที่มักเรียกตามฝรั่งว่ารสออริจินอล และโจทย์หลักตามที่เพื่อนสนิทได้ฝังชิฟไว้ก่อนมา คือ “ต้องชิม” ข้าวแห้งปูล้ออันเลื่องชื่อ

ชื่อร้านแห่งนี้ชวนให้สงสัยว่า ปูล้อ คืออะไร ชื่อบรรพบุรุษเจ้าของต้นตำรับหรืออย่างไร ความสงสัยนี้น้องแป๊ะได้ขยายความกิจการข้าวแห้งของครอบครัว ซึ่งเริ่มจากรุ่นอากง คือ พ่อของพ่อซึ่งเดินทางมาจากเมืองจีน มาตั้งถิ่นฐานในตลาดศรีสุราษฎร์ ต.ศรีสุราษฎร์ อ.ดำเนินสะดวก ซึ่งเป็นคนละแห่งกับร้านปัจจุบัน อากงมีบ้านบนพื้นบกทำโรงงานก๋วยเตี๋ยวเพาะถั่วงอกและเลี้ยงหมู ควบคู่ไปกับการทำข้าวแห้งขายหน้าบ้านที่ตลาด พร้อมกับพายเรือส่งก๋วยเตี๋ยว ต่อมารุ่นคุณพ่อได้มาซื้อที่แห่งใหม่ คือ บ้านริมน้ำหลังปัจจุบัน

ที่มาของข้าวแห้ง น้องแป๊ะเล่าความที่สอบถามจากผู้ใหญ่ในชุมชนหลักห้าว่า ข้าวแห้งน่าจะเป็นอาหารพื้นถิ่นในชุมชนหลัก 5 สมัยน้องแป๊ะเด็กๆ มีอยู่ 5 ร้าน ซึ่งก่อนหน้ามีมากกว่านั้นแต่เลิกกิจการไปไม่ทันรุ่นกัน และปัจจุบันก็เหลือเพียงที่ร้านของครอบครัว ความเข้าใจเรื่องข้าวแห้งที่เล่าสู่กันมา เชื่อว่าเป็นอาหารที่เกิดขึ้นเมื่อครั้งขุดคลองดำเนินสะดวก ซึ่งมีชาวจีนเป็นแรงงานหลักในการขุดคลอง ดังมีคำเรียกชื่อคลองสายหนึ่งว่า คลองขุดเจ๊ก เพราะคนขุดคือคนจีน ซึ่งต่อมาคลองนี้เปลี่ยนชื่อเป็น คลองท่าคา หรือ ตลาดน้ำท่าคาในปัจจุบัน

ในการมารับจ้างขุดคลองของชาวจีนนั้นการกินอยู่นับเป็นเรื่องสำคัญเรื่องหนึ่ง กองทัพต้องเดินด้วยท้องซึ่งปกติชาวจีนชอบทานข้าวต้ม แต่การทำงานที่ต้องใช้แรงงานทานข้าวต้มก็มักไม่อยู่ท้อง จึงเกิดความคิดในการนำไก่มาผัดแล้วราดไปบนข้าวเพื่อความสะดวกรวดเร็ว การขุดคลองในครั้งนั้น รวมทั้งการขุดคลองเล็กคลองน้อยคลองสาขา ในคลองมีกุ้งฝอยก็ช้อนมาทอดใส่โรยหน้า อย่างที่ภาษาสมัยนี้มักเรียกทับศัพท์อะไรๆ ทำนองนี้ว่าเป็นท้อปปิ้ง  ช่วยเพิ่มปริมาณอาหารในจานให้อิ่มทนอิ่มนานยิ่งขึ้น สมัยต่อๆ มาก็พัฒนาท้อปปิ้งเพิ่มชนิดให้หลากหลายยิ่งขึ้นขึ้น เช่น ปลา ปลาหมึก เป็นต้น

ท้อปปิ้งกระเพรา…แบบฉบับหนึ่งเดียวของข้าวแห้งบ้านปูล้อ
สำหรับท้อปปิ้งแบบฉบับของข้าวแห้งบ้านปูล้อที่แตกต่างจากที่อื่นๆ ตลอดย่านคลองดำเนินสะดวก คือ ผัดกระเพราหมูที่เสริฟเคียงมาในชาม และกระเพราหมูนี้ไม่ได้มาเพราะการครีเอทเมนูแต่อย่างใด เรื่องของเรื่องคือเมื่อปี 2501  เมื่อคุณแม่แต่งงานมากับเตี่ยและมาขายอาหารตามสั่ง มีลูกค้ามาสั่งข้าวแห้งทาน และบังเอินเห็นมีกระเพราหมูเหลือค้างกระทะอยู่จึงขอให้ใส่มาในข้าวแห้งด้วย คุณแม่ก็จัดให้ตามใจลูกค้า ปรากฏว่าเมื่อคลุกทานกับข้าวแห้งแล้วอร่อยลูกค้าเกิดติดใจ คราวต่อๆ มาเมื่อลูกค้าท่านนั้นมาทานพาเพื่อนฝูงพาใครๆ มาทาน ก็จะสั่งพิเศษเอาแบบเดิม จึงเป็นที่มาให้ทางร้านเพิ่มท้อปปิ้งกระเพราขึ้นมาอีกหนึ่งอย่าง และกระเพราของทางร้านก็ยังเป็นแบบฉบับของตนเองคือผัดใส่น้ำพริกเผาไม่เหมือนใคร รสชาติที่ออกหวานของพริกเผาเมื่อคลุกเคล้าข้าวแห้งไปพร้อมไก่รวนเค็มตัดด้วยรสเปรี้ยวของพริกดอง ทำให้รสชาติของข้าวแห้งบ้านปูล้อเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ที่ผู้เขียนชิมแล้วบอกได้เลยว่าอร่อยจริงไม่ต้องรอ Michelin Star มารับรอง

ที่สำคัญ ก่อนจะพบกับรสชาติความอร่อยที่แท้ทรู ข้าวแห้งคำแรกของผู้เขียนพลาดไปอย่างแรง คือ ไม่ได้เติมพริกดอง ที่เป็นสุดยอดเคล็ดลับความอร่อย พริกดองที่นี่เค้าดองกันจริงๆ จังๆ ดองเป็นโอ่งๆ สำหรับใช้หมุนเวียนกันไป หาใช่เพียงแค่พริกชี้ฟ้าหั่นแช่น้ำส้มสายชูที่เราคุ้นเคยทั่วๆ ไป จากคำแรกที่ตักเข้าปากแล้วนึกสรรเสริญเพื่อนรักที่พามาในใจว่า “อร่อยตรงไหนของ…(ฟระ)” พอน้องแป๊ะเดินมาบอกให้คลุกเคล้าทุกอย่างและเติมพริกดองสูตรเด็ด สักช้อน 2 ช้อนเท่านั้นล่ะ เก็บสรรเสริญเพื่อนโยนทิ้งคลองแทบไม่ทัน พูดถึงพริกดองสูตรเด็ดของร้านบ้านปูล้อ ทำให้นึกถึงซีอิ๊วพริกสุดอร่อยที่ต้องไม่พลาดเหยาะคู่กับซอสหมูแดงของร้านข้าวเจ๊หงส์ ข้าวหมูแดงเจ้าอร่อยที่คนนครปฐมตัวจริงต้องรู้จัก ขนาดเพื่อนฝูงผู้เขียนที่กรุงเทพต้องมีออร์เด้อหากรู้ว่าจะเข้ากรุง ต้องบอกว่าหนึ่งในตำนานข้าวหมูแดงเมืองยอดแหลมต้องร้านเก่าแก่ดั้งเดิมนี้เลยค่ะ เอ…หรือ คราวต่อไปจะพาชิมของอร่อยรอบเมืองยอดแหลมดีนะ

ทำไม…ปูต้องล้อข้าวแห้ง
ก่อนจะจบเรื่องราวที่น่าสนใจของชาวชุมชนคลอง 5 ซึ่งผู้เขียนตั้งใจให้ข้าวแห้งบ้านปูล้อเป็นพระเอก ที่มีน้องแป๊ะเป็นผู้กำกับคนสำคัญของเรื่องเล่าชุมชน ถึงบรรทัดนี้ผู้เขียนยังไม่ได้เฉลยเลยนะคะ ทำไม…ปูต้องล้อข้าวแห้ง เรื่องของเรื่องคือ สมัยที่เตี่ยของน้องแป๊ะเป็นเด็กพ่อแม่ต้องทำงาน ก็จะเลี้ยงโดยผูกขากับเสาบริเวณหน้าบ้านเด็กน้อยมักจะร้องไห้น้ำลายฟูมปากตลอดเวลา เพื่อนบ้านในละแวกเดียวกันก็มักจะหยอกล้อด้วยความเอ็นดูว่าเตี่ยของน้องแป๊ะร้องไห้น้ำลายฟูมปากเหมือนปู การล้อเล่นว่าเป็นปูน้ำลายฟูนี้เองต่อมาจึงถูกนำมาใช้เป็นชื่อเรียก ร้านข้าวแห้งปูล้อ แห่งตลาดน้ำหลัก 5 แห่งนี้ คำเล็กๆ แต่แฝงด้วยเรื่องราวเบื้องหลังของคำนี้ช่วยชูรส ดังข้าวแห้งที่คำแรกเราทานไม่เป็น แต่กลับมีเสน่ห์ของรสชาติขึ้นทันทีเมื่อราดด้วยพริกดองตำรับ “ปูล้อ” เลยนะคะ



ฝันไกลของชายหนุ่ม
ผู้เขียนเชื่ออย่างหนึ่งว่าการที่ใครสักคนจะมีฝันด้วยความตั้งใจจริงอย่างไม่ย่อท้อต่อสิ่งใดใด ฝันนั้นจะมีหนทางของมันเสมอ ดังฝันที่น้องแป๊ะอยากเห็นตลาดน้ำหลัก 5 กลับฟื้นคืนความเป็นแหล่งท่องเที่ยวท้องถิ่น ที่ยังคงกลิ่นอายอัตลักษณ์ดั้งเดิมไว้อวดชาวโลกอย่างภาคภูมิ ในวิถีที่ยังคงมีอยู่อย่างเป็นธรรมชาติของชุมชนแห่งนี้ เขาฝันถึงความรับรู้แพร่หลายไม่เพียงในประเทศแต่ฝันถึงในระดับโลก ชนิดที่ไม่จำต้องหาโอกาสเพิ่มราคาสำหรับแขกแดนไกล เพราะเขาคิดว่าสิ่งใดที่ชุมชนพอเพียงทำอย่างเพียงพอ ก็น่าจะเหมาะสมดีแล้วโดยไม่จำต้อง “ใช้โอกาส” กับผู้มาเยือนไม่ว่าจะเป็นคนไทยหรือชาวต่างชาติ

ผู้เขียน เชื่อว่าชายหนุ่มผู้มีบุคลิกมาดมั่นแฝงด้วยอัธยาศัยไมตรี พร้อมคลังข้อมูลเข้มข้นในตัวของเขา จะนำพาก้าวเล็กๆ ของชุมชนที่แม้จะเป็นเพียงพลังชาวบ้าน หากแต่เป็นก้าวที่มุ่งมั่นอย่างมั่นคง ฝันของน้องแป๊ะและชาวชุมชมหลัก 5 ซึ่งจับต้องได้นั้นก็จะไม่ไกลเกินจริงเลย

อ้างอิงข้อมูล
ชวลิต ดีสุขพร. (17 พฤษภาคม 2563). สัมภาษณ์ชวลิต ดีสุขพร ทายาทรุ่นที่ 3 ข้าวแห้งคลองดำเนิน. (นฤมล บุญญานิตย์, ผู้สัมภาษณ์)

บรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม. (8 มิถุนายน 2563). ศิลปวัฒนธรรม. เข้าถึงได้จาก https://www.silpa-mag.com/: https://www.silpa-mag.com/culture/article_14961

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *