แหล่งโบราณคดีโคกแจง ที่ทุ่งน้อย นครปฐม

เมื่อวันศุกร์ที่ ๑๐ กรกฎาคม ที่ผ่านมา ผู้เขียนพร้อมคณะผู้สนใจเรื่องราวของประวัติศาสตร์ เฉพาะอย่างยิ่งประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ภายหลังได้รับแจ้งข่าวจากน้องในกลุ่มว่าขณะนี้กำลังมีการขุดแหล่งโบราณคดีที่ ต.ทุ่งน้อย อ.เมือง จ.นครปฐม พวกเราจึงไม่รอช้าพากันเดินทางไปยังแหล่งขุดแต่งโดยมีน้องต้นเรื่องเป็นผู้นำทางด้วยเคยไปมาแล้วก่อนหน้า คณะของเราไปถึงเป็นเวลาพักเที่ยงจึงมีโอกาสได้สอบถามพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ผู้ดูแลการขุดแต่ง และท่านได้กรุณาพาชมรอบๆ บริเวณ พร้อมอธิบายถึงลักษณะของโบราณสถานที่พบ ซึ่งนับเป็นโบราณสถานขนาดเล็กเมื่อเปรียบเทียบกับโบราณสถานแห่งอื่นๆ ที่เคยพบในเมืองโบราณนครปฐม

การดำเนินการขุดแต่งโบราณสถานโคกแจงแห่งนี้ นายประทีป เพ็งตะโก อธิบดีกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม ได้จัดสรรงบประมาณฉุกเฉินเร่งด่วนประจำปี ๒๕๖๓ ให้แก่ สำนักศิลปากรที่ ๒ สุพรรณบุรี ดำเนินการขุดศึกษางานทางด้านโบราณคดี โดยมีห้างหุ้นส่วนจำกัดโบราณนุรักษ์เป็นผู้รับจ้างดำเนินการ ด้วยงบประมาณ ๓๐๐,๐๐๐ บาท เริ่มดำเนินการตามสัญญาเลขที่ ๑๓/๒๕๖๓ ระยะเวลาเริ่มต้นเมื่อ วันที่ ๑๖ มิถุนายน ๒๕๖๓ สิ้นสุด วันที่ ๑๓ กันยายน ๒๕๖๓ รวมระยะเวลา ๙๐ วัน ขณะที่คณะของผู้เขียนเดินทางไปถึงนั้นงานขุดแต่งโดยรอบฐานโบราณสถานดำเนินการแล้วเสร็จแล้ว และกำลังจะขุดบริเวณใจกลางด้านบนสุดของโบราณสถานที่ชำรุดหักพัง ต่อมาวันที่ ๒๑ กรกฎาคม ภายหลังเมื่ออธิบดีกรมศิลปากรได้รับรายงานจากผลการขุดศึกษาดังกล่าวซึ่งได้พบหลักฐานสำคัญ คือ

แผ่นดินเผาที่มีการขีดช่องตารางคล้ายกับดวงฤกษ์มีตัวอักษรกำกับ ซึ่งนับเป็นหลักฐานใหม่และเป็นครั้งแรกที่พบแผ่นฤกษ์ทรงกลมที่มีการจารึกตัวอักษรในวัฒนธรรมทวารวดีในประเทศไทย หลักฐานชิ้นนี้จะช่วยให้การศึกษาทางโบราณคดีในส่วนของพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับโบราณสถานในวัฒนธรรมทวารวดีก้าวหน้าขึ้นอีก ทั้งนี้ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้เชี่ยวชาญ และนักภาษาโบราณ สำนักหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร ได้พิจารณาจากรูปอักษรที่ปรากฏ เบื้องต้นมีความเห็นว่ารูปอักษรดังกล่าวมีลักษณะคล้ายกับกลุ่มอักษรหลังปัลลวะ กำหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๔ (ช่วงเวลาระหว่าง พ.ศ. ๑๓๐๑ – ๑๔๐๐) หรือ กว่า ๑,๐๐๐ ปี มาแล้ว ดังมีข้อมูลและภาพเผยแพร่สู่สาธารณะ ของกลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ กรมศิลปากร ในบทความเรื่อง “กรมศิลปากรขุดพบแผ่นฤกษ์สมัยทวารวดีที่โบราณสถานโคกแจง จังหวัดนครปฐม” ดังนี้

“นายประทีป เพ็งตะโก อธิบดีกรมศิลปากร เปิดเผยว่า สำนักศิลปากรที่ ๒ สุพรรณบุรี ได้ดำเนินการขุดแต่งโบราณสถานโคกแจง ตำบลทุ่งน้อย อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมสมัยทวารวดี ก่อด้วยอิฐ ขนาดความกว้างฐานด้านละ ๗.๒๐ เมตร และมีบันไดที่กึ่งกลางทั้ง ๔ ด้าน นับเป็นโบราณสถานที่มีขนาดค่อนข้างเล็ก เมื่อเปรียบเทียบกับโบราณสถานสำคัญหลายแห่งในเมืองโบราณนครปฐมที่เคยพบก่อนหน้า จากการขุดแต่งพบว่าด้านบนสุดของโบราณสถานที่ชำรุดหักพัง มีลักษณะของหลุมที่กรุผนังด้วยแผ่นอิฐ นักโบราณคดีจึงขุดตรวจสอบลงไปจนถึงระดับความลึกที่ ๑.๒๐ เมตร ได้พบโบราณวัตถุที่น่าสนใจ คือ แผ่นดินเผาทรงกลม ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง ๒๖.๒ เซนติเมตร หนา ๑.๒ เซนติเมตร วางอยู่ในตำแหน่งทิศตะวันตกเฉียงเหนือภายในพื้นที่กรอบอิฐ แผ่นดินเผานี้มีการขีดช่องตารางคล้ายกับดวงฤกษ์แบ่งเป็น ๑๒ ช่องตามแนวรัศมี และขีดเส้นวงกลมซ้อนชั้นจากแกนกลางออกมาเป็นระยะ เกิดเส้นซ้อนทับกันเป็นช่องตารางย่อย ในแต่ละช่องตารางพบตัวอักษรจารกำกับอยู่เกือบทุกช่อง รวมถึงที่ขอบของแผ่นดินเผาก็ได้พบตัวอักษรจารึกเช่นกัน

นางสาวพิมพ์พรรณ ไพบูลย์หวังเจริญ นักอักษรศาสตร์ทรงคุณวุฒิ (ภาษา เอกสาร และหนังสือ) นายเทิม มีเต็ม ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาตะวันออก (ผู้ทรงคุณวุฒิกรมศิลปากร) และนางศิวพร เฉลิมศรี นักภาษาโบราณชำนาญการพิเศษ ได้พิจารณารูปอักษรในเบื้องต้นพบว่า มีลักษณะคล้ายกับกลุ่มอักษรสมัยหลังปัลลวะ อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๔  อย่างไรก็ตาม การอ่านแปลและวิเคราะห์สาระในจารึก จำเป็นต้องพิจารณาจากอักษรที่มีทั้งหมด ซึ่งจะสามารถดำเนินการได้ภายหลังจากโบราณวัตถุได้ผ่านกระบวนการอนุรักษ์ทางวิทยาศาสตร์ให้มีความแข็งแรง

การค้นพบในครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรก ที่เป็นการค้นพบแผ่นฤกษ์ทรงกลมที่มีการจารึกตัวอักษรในวัฒนธรรมทวารวดีในประเทศไทย ซึ่งแต่เดิมเคยได้พบหลักฐานแผ่นอิฐที่สันนิษฐานว่าเป็นอิฐฤกษ์ที่เจดีย์จุลประโทน จ.นครปฐม เป็นอิฐที่มีการทำลวดลายพิเศษ และที่เจดีย์หมายเลข ๑ เมืองโบราณอู่ทอง จ.สุพรรณบุรี เป็นอิฐที่ตกแต่งด้วยการเขียนสีเป็นลวดลาย การค้นพบแผ่นฤกษ์มีตัวอักษรที่ใจกลางโบราณสถานโคกแจง จึงเป็นหลักฐานใหม่ที่จะช่วยให้การศึกษาทางโบราณคดีในส่วนของพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับโบราณสถานในวัฒนธรรมทวารวดีก้าวหน้าไปอีกขั้นหนึ่ง  ปัจจุบันสำนักศิลปากรที่ ๒ สุพรรณบุรี ได้เคลื่อนย้ายแผ่นดินเผานี้ไปเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระปฐมเจดีย์ เพื่อให้นักวิทยาศาสตร์ดำเนินการอนุรักษ์ตามกระบวนการ หลังจากนั้นจะได้นำไปศึกษาวิเคราะห์รูปแบบอักษรที่จารึก และการศึกษาด้านอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องต่อไป”

ภาพที่ ๑ โบราณสถานโคกแจง ด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ ภายหลังการขุดศึกษาทางโบราณคดี
โบราณสถานโคกแจง ด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ ภายหลังการขุดศึกษาทางโบราณคดี
ภาพที่ ๒ โบราณสถานโคกแจง ด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ ภายหลังการขุดศึกษาทางโบราณคดี
โบราณสถานโคกแจง ด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ ภายหลังการขุดศึกษาทางโบราณคดี
ภาพที่ ๓ อิฐที่ก่อเรียงเป็นกรอบวงกลมบริเวณเกือบกึ่งกลางโบราณสถาน
อิฐที่ก่อเรียงเป็นกรอบวงกลมบริเวณเกือบกึ่งกลางโบราณสถาน
ภาพที่ ๔ ภาพแสดงตำแหน่งที่พบและทิศทางการวางแผ่นดินเผาทรงกลม
ภาพแสดงตำแหน่งที่พบและทิศทางการวางแผ่นดินเผาทรงกลม
ภาพที่ ๕ แผ่นดินเผาทรงกลมที่ขุดค้นพบเมื่อวันที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๖๓
แผ่นดินเผาทรงกลมที่ขุดค้นพบเมื่อวันที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๖๓ พื้นผิวด้านบนพบการขีดช่องตาราง คล้ายกับดวงฤกษ์ โดยมีลักษณะการขีดออกเป็นแฉกจากแกนกลางแบ่งเป็น ๑๒ ช่อง และขีดเส้นวงกลม ซ้อนชั้นจากแกนกลางออกมาเป็นระยะ เกิดเส้นซ้อนทับกันเป็นช่องตารางย่อย ในแต่ละช่องตารางย่อยดังกล่าว พบตัวอักษรจารกำกับอยู่เกือบทุกช่อง

ในประเด็นแผ่นดินเผาทรงกลมที่ขุดพบและมีอักษรจารึกนั้น ภายหลังการเผยแพร่ข้อมูลสู่สาธารณะอย่างเป็นทางการของกรมศิลปากร มีนักวิชาการที่ได้แสดงทัศนะให้ความเห็นที่เกี่ยวข้อง โดยเผยแพร่สู่สาธารณะบนสื่อโซเชียล Facebook ดังจะยกมากล่าวในที่นี้ ๒ ท่าน
ท่านแรก คือ ผู้ใช้นาม Kang Vol Khatshima หรือ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กังวล คัชชิมา อาจารย์ประจำสาขาวิชาภาษาตะวันออก คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านปรัชญา พุทธศาสนา ภาษาศาสตร์ (ภาษาเขมร) และการจัดการองค์การศาสนา ท่านได้ให้ความเห็นพร้อมภาพประกอบ ทาง Facebook ส่วนตัวของท่าน เมื่อวันที่ ๒๒ กรกฎาคม ๒๕๖๓ โดย อ.กังวล ได้อ่านและแปล ตัวอักษรบางส่วน คือ ทุะข – ความทุกข์  เหตุะ- เป็นสาเหตุ และอนาคเต – ในเวลาที่ยังไม่มาถึง, ในอนาคต และให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าด้านข้างของแผ่นจารึก มีจารึกคาถา “เย ธรฺมฺมา” ภาษาสันสกฤตด้วย ทั้งนี้ ท่านให้ความเห็นจากอักษรที่ปรากกฏว่าน่าจะเป็นหัวข้อธรรม ดังภาพประกอบ

ในโพสต์ Facebook ประเด็นนี้ ของ อ.กังวล มีผู้สนใจเข้ามาสอบถามและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ซึ่งผู้เขียนมีความเห็นส่วนตัวว่าความเห็นของบางท่านน่าสนใจ ขออนุญาตนำเสนอในที่นี้ ดังภาพ

ท่านผู้ใช้นาม Komkrit Tul Uitekkeng  คือ ผู้ช่วยศาสตราจารย์คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง อาจารย์ประจำภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งท่านเป็นผู้เชี่ยวชาญด้าน ปรัชญาอินเดีย ศาสนาฮินดู ศาสนาในสังคมปัจจุบัน และปรัชญาอไทฺวตเวทานตะ จากความเห็นของ อ.คมกฤช ผู้เขียนสนใจประเด็นปฏิจสมุปปาทกับวิชาโหราศาสตร์ที่ใช้พยากรณ์โดยใช้วงรอบของปฏิจสมุปปาท จึงสืบค้นหาข้อมูลที่เกี่ยวกับประเด็นนี้เพิ่มเติม และพบข้อมูลที่น่าสนใขของผู้ใช้นาม เอ็กซ์ กีต้าร์โหร  เผยแพร่บนเว็ปไซด์ โหราศาสตร์ไทย ของ อ.ธนเทพ ปฏิพิมพาคม เรื่อง ดวงปฏิจจสมุปบาท เผยแพร่เมื่อ ๒๘ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๖ กล่าวถึง ปฏิจจสมุปบาทว่า สรุปโดยย่อคือเป็นอาการของจิตที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ๑๒ ประการ ทำให้เกิดโลภะ โมหะ และโทสะ และได้กล่าวถึงหลักปฏิจจสมุปบาทจากปูมโหรของ อ.พลูหลวง ซึ่งกล่าวถึงหลักธรรมของพระพุทธเจ้า ว่าสามารถปรับเข้ากับสภาพของราศีและดวงดาวได้ และสรุปในท้ายบทความดังกล่าวว่าวิชาโหราศาสตร์นั้นสามารถเชื่อมโยงกับหลักของปฏิจจสมุปบาทของพระพุทธเจ้าอย่างลึกซึ้ง ในบทความดังกล่าวมีภาพพร้อมคำอธิบายถึงธาตุต่างๆ ดังภาพ ผู้สนใจสามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติม ได้ที่  https://sites.google.com/site/exguitarhora/home/our-staff/person-s-name—cto/testimonials-1/dwngpticcsmupbath

ภาพเปรียบเทียบแนวคิดปฏิจจสมุปบาทกับวิชาโหราศาสตร์
ภาพเปรียบเทียบแนวคิดปฏิจจสมุปบาทกับวิชาโหราศาสตร์

อีกท่านหนึ่งที่ให้ความเห็นในประเด็นแผ่นดินเผาทรงกลมที่ขุดพบและมีอักษรจารึก โดยเผยแพร่บน Facebook ส่วนตัว คือ ผู้ใช้นาม มนัสศักดิ์ รักอู่ ได้ให้ความเห็นพร้อมภาพประกอบ เมื่อวันที่ ๒๒ กรกฎาคม ๒๕๖๓ โดยกล่าวถึงข้อมูลที่กรมศิลปากรกล่าวถึงแผ่นดินเผาทรงกลมมีอักษรจารึกว่าอาจเป็นแผ่นดวงฤกษ์ และกล่าวถึงคำอ่าน-แปล ตัวอักษรซึ่ง อ.กังวลได้ให้ความเห็นทาง Facebook ของท่านในวันเดียวกันนั้นว่าน่าจะเป็นหัวข้อธรรมภาษาสันสกฤต ดังภาพ

 

ในโพสต์ดังกล่าวคุณมนัสศักดิ์ได้กล่าวถึงข้อมูลจารึกบนธรรมจักรที่พบที่วัดเสนหา จ.นครปฐม และจารึกบนธรรมจักรที่พบในที่ดินของนายแพทย์สำนวน ปาลวัฒน์วิไชย จ.ชัยนาท ซึ่งทั้ง ๒ ชิ้น จารึกด้วยอักษรปัลลวะ กล่าวถึง อริยสัจ ๔ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ และมรรค และให้ข้อมูลเพิ่มเติม คือ การพบข้อความคล้ายคลึงกันนี้ที่ฐานรองธรรมจักรพบที่เมืองโบราณกำแพงแสน ซึ่งคุณมนัสศักดิ์ให้ข้อมูลจารึกบนฐานรองธรรมจักรว่า “จารึกเกี่ยวกับ พระธรรมจักรของพระมเหสิเจ้า มีเวียนสามรอบ มีอาการสิบสอง คือ สัจจญาณ กิจจญาณ กตญาณ กําหนดแล้วด้วยอาการละ ๔ กล่าวอย่างสรุปคือ อริยสัจ ๔ เช่นเดียวกัน” ความดังกล่าวนี้ ผู้เขียนได้ตรวจสอบจากหนังสือเรื่อง “ทวารวดีธรรมจักร ของ อ.ผาสุข ได้พบคำอธิบายภาพที่ ๓๒ ในหน้า ๑๑๘ บรรยายภาพว่าเป็นฐานศิลาที่ใช้เชื่อมระหว่างตัวธรรมจักรและเสาธรรมจักร พบที่บ้านทุ่งขวาง อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม มีจารึกภาษาบาลีมีข้อความแสดงการหมุนวงล้อแห่งธรรม ในการแสดงปฐมเทศนาของพระพุทธเจ้า ว่า “จักร คือ พระธรรมของพระสัมมาสัมพุธเจ้า มีเวียน ๓ รอบ มีอาการ ๑๒ คือ สัจจญาณ กิจจญาณ กตญาณ กําหนดแล้วด้วยอาการละ ๔ ละ ๔ (ทวาทสาการัง)” นอกจากนี้คุณมนัสศักดิ์ได้กล่าวถึง การขุดค้นในที่ดินของนายแพทย์สำนวน ซึ่งศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.ผาสุข อินทราวุธ กล่าวถึงการพบโบราณวัตถุขนาดเล็กมีฐานทรงกลมตรงกลางมีรู โดยคุณมนัสศักดิ์ให้ความเห็นว่าคล้ายแผ่นจารึกทรงกลมที่พบใหม่ในแหล่งโบราณสถานโคกแจง ที่นครปฐม และให้ความเห็นว่าโบราณวัตถุขนาดเล็กชิ้นนี้อาจเป็นธรรมจักร

ในส่วนความเห็นเรื่องธรรมจักรนี้ ผู้เขียนพบข้อมูลเรื่อง “คุณลักษณะของธรรมจักรในสมัยทวารวดี” ซึ่งศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.ผาสุข อินทราวุธ กล่าวถึงในหนังสือเรื่อง “ทวารวดีธรรมจักร” ซึ่งจัดพิมพ์เผยแพร่โดยภาควิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร เมื่อ พ.ศ. ๒๕๕๑ โดยข้อมูลที่ผู้เขียนจะนำมาแสดงปรากฎในหน้า ๖๔ -๖๕ ดังนี้

“ธรรมจักรที่สร้างขึ้นในสมัยทวารวดีนั้นมีหลายขนาด ขนาดใหญ่สุดมีเส้นผ่าศูนย์กลางราว ๑.๙๕  เมตร ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สำหรับขนาดย่อมลงมามีตั้งแต่มีเส้นผ่าศูนย์กลาง ๔๕ ซม. ไปจนถึง ๑๐๔ ซม. มีการตกแต่งด้วยลวดลายที่แสดงอิทธิพลศิลปะอินเดียสมัยคุปตะ (พุทธศตวรรษที่ ๙-๑๑) โดยปรากฎบนส่วนต่างๆ ของธรรมจักร คือ บนซี่กงล้อ บนดุมล้ม บนขอบวงล้อ รวมทั้งบนฐานด้วย ที่น่าสังเกต คือ ธรรมจักรบางวงมีการเจาะช่องระหว่างซี่กงล้อและบางวงไม่มีการเจาะช่อง และแต่ละวงจะมีจำนวนซี่กงล้อไม่เท่ากัน อาจมี ๘, ๑๒ หรือ ๑๖ หรืออาจมี ๑๔, ๑๕, ๑๗, ๑๘, ๒๑, ๒๒, ๒๔, ๒๖, ๓๒, ๓๕ และ ๓๖ ซี่ และบางวงนั้นจำนวนซี่กงล้อ (วงที่ไม่มีการเจาะช่วงระหว่างซี่กงล้อ) ด้านหน้าและด้านหลังไม่เท่ากันอีกด้วย
(มี)ผู้พยายามตีความว่า ช่างสมัยทวารวดีน่าจะสร้างธรรมจักรโดยพยายามทำจำนวนซี่กงล้อให้เท่ากับตัวเลขที่สัมพันธ์กับหลักธรรมบางข้อในพุทธศาสนาเป็นต้นว่า ธรรมจักรที่มี ๘ ซี่กงล้อ น่าจะหมายถึงหลักธรรมเรื่อง “มรรคมีองค์ ๘” ส่วนที่มี ๑๒ ซี่กงล้อ น่าจะตรงกับหลักธรรม เรื่องความรู้แจ้งในกิจที่ต้องปฏิบัติ อย่างละ ๓ ในอริยสัจ ๔ ซึ่งรวมเป็น ๑๒ (ทวาทสาการัง) หรือตรงกับหลักธรรมเรื่อง “ปฏิจจสมุปบาท” หรือกฎเกณฑ์ของการอาศัยกันและกันจึงเกิดมีขึ้น ซึ่งมีจำนวน ๑๒ ข้อ แต่บางท่านก็ตีความว่า ช่างสมัยทวารวดีไม่ได้ตั้งใจที่จะทำ จำนวนของซี่กงล้อธรรมจักรให้ตรงกับหลักธรรมหัวข้อหนึ่งใดโดยเฉพาะ แต่อาจจะพยายามที่จะสื่อว่าธรรมจักรกำลังหมุนอยู่ตลอดเวลา ซึ่งไม่สามารถนับจำนวนซี่กงล้อได้จึงแกะสลักให้แต่ละวงมีซี่กงล้อไม่เท่ากัน และในบางวงซี่กงล้อทั้ง ๒ ด้านยังไม่เท่ากันอีกด้วย”

จากข้อมูล เรื่อง คุณลักษณะของธรรมจักรในสมัยทวารวดีในหนังสือเล่มดังกล่าว วึ่งให้ข้อมูลว่าธรรมจักรสมัยทวารวดีมีหลายขนาด ทั้งขนาดใหญ่และเล็ก โดยขนาดเล็กมีตั้งแต่ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๔๕ – ๑๐๔ ซม.  ทั้งนี้แผ่นดินเผาทรงกลมที่ขุดพบใหม่ที่แหล่งโบราณสถานโคกแจง ซึ่งทางกรมศิลปากรให้ข้อมูลว่าเป็นการค้นพบแผ่นฤกษ์ทรงกลมที่มีการจารึกตัวอักษรในวัฒนธรรมทวารวดีในประเทศไทยเป็นครั้งแรกนั้น มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง ๒๖.๒ เซนติเมตร ขนาดดังกล่าวนี้จึงไม่อยู่ในขอบเขตคุณลักษณะของธรรมจักรในสมัยทวารวดีที่เคยพบมาแต่เดิม ตามที่ระบุไว้ในหนังสือเล่มดังกล่าว แต่ทั้งนี้ ผู้เขียนเพียงนำเสนอข้อมูลที่เกี่ยวข้องเพื่อเป็นข้อมูลเท่านั้น และขณะนี้ก็ยังมิอาจสรุปได้ชัดเจนในประเด็นความเห็นของทุกๆ ส่วน สำหรับท่านที่สนใจก็คงติดตามกันต่อไป

ข้อมูลเพิ่มเติมในส่วนของนายมนัสศักดิ์นั้น อดีตท่านเคยรับราชการในกรมศิลปากร ปัจจุบันลาออกเป็นนักวิชาการอิสระ และท่านเป็นผู้หนึ่งที่ได้เข้าร่วมสำรวจแหล่งวัฒนธรรมในจังหวัดนครปฐมภาคสนาม เมื่อเดือนเมษายน ๒๕๔๘ ในนามของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระปฐมเจดีย์ ร่วมกับกลุ่มนักวิชาการของมหาวิทยาลัยศิลปากร กลุ่มศรีทวารวดี และกลุ่มชุมชน ๔ ตำบล ในโครงการ “ศึกษาทวารวดีในลุ่มน้ำบางแก้ว-บางแขม” ซึ่งผลการสำรวจ พื้นที่ ๔ ตำบล คือ ต.พระประโทน ต.พะเนียด ต.บางระกำ และ ต.โคกพระเจดีย์ พบว่ามีร่องรอยหลักฐานทางวัฒนธรรมเป็นจำนวนมาก ที่ยังไม่ได้รับการศึกษาและเผยแพร่ แต่ในกิจกรรมการสำรวจครั้งนั้นพบว่า ขอบเขตพื้นที่ตำบลตามที่กำหนดไม่สามารถเชื่อมโยงความสัมพันธ์ของแหล่งโบราณคดีในลุ่มน้ำบางแก้ว-บางแขมได้อย่างสมบูรณ์และครบถ้วน จึงขยายขอบเขตพื้นที่สำรวจในรัศมี ๕ กิโลเมตร จากลำน้ำทั้ง ๒ ฝากฝั่ง ในเขตจังหวัดนครปฐม รวมทั้งแหล่งใกล้เคียงพื้นที่ดังกล่าวตามที่ได้รับข้อมูลจากชาวบ้านและผู้นำชุมชนท้องถิ่นนั้นๆ ซึ่งในการสำรวจครั้งนั้นแหล่งโบราณคดีโคกแจงนี้ เป็นหนึ่งในจำนวนแหล่งโบราณคดีนอกพื้นที่สำรวจที่พบในการสำรวจด้วย ดังปรากฎข้อมูลในหนังสือ “โครงการศึกษาและประชาสัมพันธ์วัฒนธรรมในลุ่มน้ำบางแก้ว-บางแขม เพื่อพัฒนาการท่องเที่ยว” ซึ่งจัดทำขึ้นโดย พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระปฐมเจดีย์ โดยผู้เรียบเรียง คือ นายมนัสศักดิ์ รักอู่ ร่วมกับ นายวสันต์ เทพสุริยานนท์ โดยมีข้อมูลแหล่งโบราณคดีโคกแจง ปรากฎในบทที่ ๔ วิเคราะห์แหล่งโบราณคดีนอกพื้นที่สำรวจ หน้า ๘๘ – ๘๙ ดังภาพ

สภาพเนินโบราณสถานโคกแจงและพื้นที่โดยรอบ
สภาพเนินโบราณสถานโคกแจงและพื้นที่โดยรอบ
แนวอิฐเรียงต่อกันเป็นผืนบนเนินโบราณสถาน
แนวอิฐเรียงต่อกันเป็นผืนบนเนินโบราณสถาน
เศษอิฐพบเกลื่อนทั่วไปบนเนินโบราณสถาน
เศษอิฐพบเกลื่อนทั่วไปบนเนินโบราณสถาน

ผลจากการสำรวจในครั้งนั้น ได้มีการนำเสนอข้อมูลโดยการจัดนิทรรศการและการประชุมสัมมนา เรื่อง “ข้อมูลใหม่ที่ได้จากการสำรวจลุ่มน้ำบางแก้ว-บางแขม จังหวัดนครปฐม” เมื่อวันที่ ๑๗ สิงหาคม ๒๕๔๘ โดยได้เชิญนักวิชาการจากสถาบันการศึกษา และนักโบราณคดีจากสำนักศิลปากรที่ ๒ สุพรรณบุรี มาร่วมตีความ ให้คำแนะนำและแนวทางในการดำเนินการต่อไป และการสำรวจในครั้งนั้นซึ่งนับได้ว่าเป็นการทำงานแบบโบราณคดีชุมชน ทำให้คณะทำงานเล็งเห็นแนวทางในการขยายผลจากงานที่ได้ดำเนินการ ทางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระปฐมเจดีย์ จึงจัดทำโครงการเสนอขอรับการสนับสนุนงบประมาณดำเนินการ และได้รับอนุมัติงบประมาณยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัด ปีงบประมาณ ๒๕๔๙ จากจังหวัดนครปฐม ในสมัยผู้ว่าราชการจังหวัด คือ นายประสาท พงษ์ศิวาภัย เพื่อนำมาดำเนินโครงการ “ศึกษาและประชาสัมพันธ์วัฒนธรรมในลุ่มน้ำบางแก้ว-บางแขม เพื่อพัฒนาการท่องเที่ยว” โดยทำการสำรวจข้อมูลภาคสนามเกี่ยวกับมรดกวัฒนธรรม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นหลักฐานทางด้านประวัติศาสตร์ศิลปะและโบราณคดี ในพื้นที่ ๔ ตำบลดังกล่าวข้างต้น และนำข้อมูลที่ได้มาศึกษาตีความ จัดการประชุมสัมมนาเพื่อหาแนวทางในการพัฒนา และจัดพิมพ์หนังสือ “มรดกวัฒนธรรมในลุ่มน้ำบางแก้ว-บางแขมกับการพัฒนา” เพื่อนำเสนอข้อมูลเบื้องต้นสำหรับเป็นแนวทางในการพัฒนาการท่องเที่ยวของ จ.นครปฐม

เมืองโบราณนครปฐมเป็นชุมชนในวัฒนธรรมทวารวดี ซึ่งเป็นวัฒนธรรมที่มีแบบแผนชัดเจนในช่วงสมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์ การใช้คำว่า “ทวารวดี” เรียกชื่ออาณาจักรแห่งนี้ แซมมวล บีล เป็นผู้เริ่มใช้มาตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๒๗ หมายถึงชื่อซึ่งนักประวัติศาสตร์จีนใช้เรียกอาณาจักรที่ตั้งอยู่ระหว่างประเทศพม่าและกัมพูชาราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒ และเป็นคำที่ ศาสตราจารย์ ยอร์ช เซเดส์ ใช้เรียกกลุ่มศิลปะที่มีลักษณะเฉพาะตัวซึ่งแตกต่างจากศิลปะกลุ่มไทยและกลุ่มเขมร ที่พบที่ นครปฐม ลพบุรี ราชบุรี อยุธยา และปราจีนบุรี ว่า ศิลปะทวารวดี ซึ่งต่อมาคำนี้ได้มีความหมายกว้างขึ้นเป็นชื่อของอาณาจักร ที่ได้รับความเจริญจากอินเดียสมัยราชวงศ์คุปตะ

การใช้คำเรียกชื่ออาณาจักรทวารวดีนี้ มีความชัดเจนขึ้นเมื่อมีการพบเหรียญเงิน ๒ เหรียญ ที่บริเวณเนินหิน ใกล้วัดพระประโทณเจดีย์ อ.เมืองนครปฐม จ.นครปฐม เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๖ ซึ่งมีจารึกภาษาสันสกฤตกล่าวถึงพระราชาแห่งอาณาจักรทวารวดี และศาสตราจารย์ ยอร์ช เซเดส์ ได้อ่านจารึกนั้นเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๖ ความว่า คือ  “ศรีทวารวตีศวร…” และในเวลาต่อมามีผู้อ่านคำจากจารึกเพิ่มเติม ความว่า “ศรีทวารวติศวรปุณยะ” แปลว่า บุญกุศลของผู้เป็นใหญ่แห่งทวารวดี และ พ.ศ.๒๕๐๗ มีการพบเหรียญที่มีจารึกแบบเดียวกันนี้ที่ อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี การพบเหรียญทั้ง ๒ แห่งนี้ เป็นหลักฐานสำคัญที่สนับสนุนข้อสันนิษฐานคำว่า “ทวารวดี” ของศาสตราจารย์ ยอร์ช เซเดส์ แต่ในเวลาต่อมา พ.ศ. ๒๕๒๒ มีการพบเหรียญลักษณะเดียวกันนี้อีกที่บ้านคูเมือง อ.อินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี ซึ่งการพบเหรียญลักษณะเดียวกันนอกเขตเมืองนครปฐมและสุพรรณบุรีนี้ มีผลทำให้ความสำคัญเรื่องหลักฐานซึ่งเคยเชื่อว่าเป็นสิ่งชี้บอกว่าเมืองที่พบเหรียญ อาจเคยเป็นศูนย์กลางหรือเป็นราชธานีของอาณาจักรทวารวดีนั้นดูด้อยลงไป แต่ก็ยังคงเป็นหลักฐานที่สนับสนุนว่าอาณาจักรทวารวดีมีอยู่จริง

อย่างไรก็ตามเมืองโบราณนครปฐมซึ่งเชื่อว่าตั้งอยู่ริมชายฝั่งทะเลเดิม โดยมี จม.เหตุจีนสมัยราชวงศ์ถัง ซึ่งรวบรวมบันทึกของพระภิกษุจีน ๒ องค์ที่เดินทางไปศึกษาพระพุทธศาสนาที่อินเดีย คือ หลวงจีนเหี้ยนจัง (ถังซัมจั๋ง หรือ ยวนฉ่าง) เดินทางระหว่าง พ.ศ.๑๑๗๒-๑๑๘๘ โดยทางบก และหลวงจีนอี้จิง เดินทางระหว่าง พ.ศ.๑๒๑๔-๑๒๓๖ โดยทางเรือสำเภา และได้บันทึกถึงอาณาจักรแห่งหนึ่ง ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของศรีเกษตร (พม่า) และทางทิศตะวันตกของอีศานปุระ (เขมร) และเรียกอาณาจักรนี้ว่า “ตว้อหลอปอตี่” ระยะเวลาตาม จม.เหตุจีนนี้ อยู่ในระยะเวลาเดียวกับระยะเวลาของอักษรที่ใช้จารึกเหรียญดังกล่าวคือสมัยทวารวดี และสันนิษฐานว่าในเวลานั้นเมืองโบราณนครปฐมซึ่งพบศิลปะทวารวดีจำนวนมาก น่าจะตั้งอยู่ริมปากอ่าวฝั่งตะวันตก และเป็นศูนย์กลางของอาณาจักรที่มีบทบาทเป็นเมืองท่าสำคัญ เนื่องจากตั้งอยู่ใกล้ทะเลมีทางเข้าออกฝั่งทะเลโดยตรง ดังมีหลักฐานที่เรือสินค้าทางทะเลเข้ามาถึงตัวเมือง คือ ซากสมอเรือที่พบในเขตวัดธรรมศาลา อ.เมืองนครปฐม จ.นครปฐม ซึ่งอยู่ริมคลองบางแก้วด้านตะวันออกของตัวเมือง และยังพบตราประทับดินเผา ซึ่งเป็นของติดตัวพ่อค้าชาวอินเดียสมัยหลังคุปตะ (พุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๔) เป็นจำนวนมากในบริเวณเมืองโบราณนครปฐมและบริเวณใกล้เคียง นอกจากนี้ยังมีบทบาทเป็นศูนย์กลางทางพระพุทธศาสนาของอาณาจักรทวารวดีในยุคหลัง (ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๓-๑๖) ด้วย
ภายหลังความรุ่งเรืองของวัฒนธรรมทวารวดี นักวิชาการบางท่านสันนิษฐานว่า เมืองโบราณนครปฐมได้ถูกทิ้งร้างลงชั่วระยะเวลาหนึ่ง ราวปลายช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๗ เนื่องจากกษัตริย์แห่งอาณาจักรพุกามของพม่าได้ยกทัพมาตีและกวาดต้อนผู้คนไป นอกจากนี้มีตำนานกล่าวในราว พ.ศ.๑๗๑๓ พระเจ้าไชยศิริ ซึ่งเชื่อว่าเป็นต้นราชวงศ์ของพระเจ้าอู่ทอง ได้อพยพผู้คนมาตั้งที่เมืองโบราณนครปฐม โดยพระนามของพระเจ้าไชยศิรินั้น ตรงกับชื่อเรียกเก่าของเมือง คือ ไชยศิริ หรือ นครไชยศรี แต่ภายหลังเมืองได้ร้างไปเนื่องจากแม่น้ำสำคัญที่ไหลผ่านเมืองตื้นเขิน และเรื่องของเมืองโบราณนครปฐมก็กลับปรากฎอีกครั้งในสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ราว พ.ศ.๒๐๑๙ ที่โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งเมืองนครไชยศรีเพื่อต่อต้านพม่า และเพื่อความสะดวกในการเรียกระดมพล แต่เมืองที่ตั้งใหม่นี้อยู่ริมแม่น้ำท่าจีน บริเวณ ต.ท่านา อ.นครชัยศรีในปัจจุบัน

จากเรื่องราวภูมิหลัง ของ จ.นครปฐม โดยสังเขป รวมถึงเรื่องราวของโบราณสถานโคกแจง ที่เพิ่งมีการขุดแต่งและเผยแพร่ข้อมูลอย่างเป็นทางการครั้งนี้ เป็นสิ่งที่ผู้เขียนตระหนักและให้ความสำคัญอย่างยิ่งในการเชิญชวนพี่น้องชาวนครปฐม ตลอดจนชาวไทยทั้งประเทศได้มีส่วนร่วมด้วยช่วยกันอนุรักษ์ดูแลและปกป้องมรดกวัฒนธรรมของชาติ อันเป็นสิ่งมีเอกลักษณ์และมีคุณค่าเฉพาะตน นำมาซึ่งความภาคภูมิใจในบรรพชนที่สั่งสมส่งต่อวัฒนธรรมอันดีงาม ทั้งในส่วนของมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องได้ (Tangible Cultural Heritage) เช่น โบราณวัตถุ  โบราณสถาน  แหล่งโบราณคดี ต่างๆ  ตลอดจนมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ (Intangible Cultural Heritage) เช่น  ภาษา ศิลปะการแสดง งานช่างฝีมือดั้งเดิม ในฐานะพลเมืองของของประเทศเราทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งชุมชนในท้องถิ่นที่เป็นเจ้าของมรดกวัฒนธรรมนั้นๆ  จึงควรที่จะร่วมกันสอดส่อง ดูแล มิให้มีการกระทำอันอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อมรดกสำคัญของชาติ ตลอดจนช่วยส่งเสริมอนุรักษ์ สืบทอดยังลูกหลานรุ่นต่อๆ ไป ให้เกิดความภูมิใจในตัวตนอันมีรากเหง้าแห่งอารยชนของเขา

——————–

อ้างอิง

Khatshima, K. V. (2563, กรกฎาคม 22). Kang Vol Khatshima. Retrieved from www.facebook.com: https://www.facebook.com/profile.php?id=721983445

กรมศิลปากร. กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์. (2563, กรกฎาคม 22). กรมศิลปากรขุดพบแผ่นฤกษ์สมัยทวารวดีที่โบราณสถานโคกแจง จังหวัดนครปฐม. Retrieved from กรมศิลปากร: https://www.finearts.go.th/promotion/view/18459-กรมศิลปากรขุดพบแผ่นฤกษ์สมัยทวารวดีที่โบราณสถานโคกแจง-จังหวัดนครปฐม

เทพสุริยานนท์, ม. ร. (2549). โครงการศึกษาและประชาสัมพันธ์ : วัฒนธรรมในลุ่มน้ำบางแก้ว-บางแขม เพื่อพัฒนาการท่องเที่ยว. นครปฐม: พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระปฐมเจดีย์.

บุญญานิตย์, น. (2548). การบูรณะปฏิสังขรณ์พระปฐมเจดีย์ : กรณีศึกษาจากเอกสารจดหมายเหตุ. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยศิลปากร. คณะโบราณคดี.

รักอู่, ม. (2563, กรกฎาคม 22). มนัสศักดิ์ รักอู่. Retrieved from www.facebook.com: https://www.facebook.com/manassak.r

 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *