กางเต็นท์ป่าสน ชมทะเลหมอก ที่เมืองเหน่อ

หากจะพูดถึงสำเนียงเหน่อ เชื่อว่าหลายๆ คนจะนึกถึง เสียงเหน่อสุพรรณ ที่กล่าวกันว่าเป็นเสียงเหน่อมาตรฐาน
ดังตัวอย่างที่มีการกล่าวถึงเช่น เรื่อง ภาษาถิ่นชวนฟัง ของ สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดสุพรรณบุรี ได้กล่าวไว้ว่า

“…สุพรรณบุรีเป็นเมืองนักร้องลูกทุ่ง เป็นเมืองวรรณคดี และยังเป็นเมืองประวัติศาสตร์ซึ่งมีหลักฐาน
ทางโบราณคดียืนยันมากมาย นอกจากเป็นเมืองนักร้อง เมืองในวรรณคดี และเมืองประวัติศาสตร์แล้ว
ยังเป็นเมืองที่คนพูดสำเนียง “เหน่อ” ได้มาตรฐานอีกด้วย เรื่องนี้ถ้าไม่เชื่อคงต้องไปถาม “บุญชู”
แต่ถ้าจะให้เข้าใจถึงรากเหง้าของเสียงเหน่อแล้ว สุจิตต์ วงษ์เทศ แห่งนิตยสารรายเดือนศิลปวัฒนธรรม
เคยอธิบายไว้ว่า เสียงเหน่อสุพรรณเป็นสำเนียงในราชสำนัก อย่างน้อยก็ตั้งแต่ในสมัยกรุงศรีอยุธยา
หลักฐานที่นำมายืนยันก็คือเสียงพากย์โขน เพราะโขนเกิดในสมัยกรุงศรีอธุยาและต้องใช้เสียงเหน่อ
ตามแบบฉบับสุพรรณเท่านั้นถึงจะพากย์ได้ลงตัว สำเนียงอื่นๆไม่อาจพากย์โขนได้ไพเราะอย่างเด็ดขาด
…”

นอกจาก เสียงเหน่อสุพรรณ อันเป็นเอกลักษณ์ที่น่าสนใจแล้ว ในเรื่องการท่องเที่ยวของเมืองสุพรรณที่มักจะได้ยินคำเรียกหยอกเย้าว่า บรรหารบุรี เนื่องจากท่านได้พัฒนาจังหวัดสุพรรณบุรี จนอาจกล่าวได้ไม่เกินเลยว่าแทบจะทุกตารางนิ้วท่านพัฒนาบ้านเกิดของท่านดุจดังบ้านของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นถนนหนทาง สถานที่ท่องเที่ยวอันหลากหลาย อาทิ บึงฉวากเฉลิมพระเกียรติ ที่ที่จะตื่นตากับการชมปลาหลากชนิดในอุโมงค์น้ำที่ทอดยาว

สามชุก ตลาดโบราณที่ยังคงความคลาสสิก หรือ ตลาดใหม่ในกระแสปัจจุบันอย่าง ตลาดน้ำสะพานโค้ง สุ่มปลายักษ์ ที่เชิญชวนนักท่องเที่ยวให้หลั่งไหลไปชมบรรยากาศธรรมชาติ พร้อมมุมถ่ายรูปสวยหลายมุม หรือแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์อย่าง พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสุพรรณบุรี รวมถึง หอเกียรติยศ ฯพณฯ บรรหาร ศิลปอาชา  นายกรัฐมนตรีคนที่21 ที่พี่น้องชาวสุพรรณร่วมกันบริจาคเงินก่อสร้าง เพื่อจัดแสดงประวัติและผลงานของท่านหรือแหล่งท่องเที่ยวขึ้นชื่อดั้งเดิม เช่น วัดป่าเลไลยก์  ที่ผู้คนนิยมการไปนมัสการหลวงพ่อโต ทั้งยังเป็นสถานที่ที่พูดถึงในวรรณคดีเรื่องขุนช้างขุนแผน ขุนแผนว่าเณรแก้วได้มาบวชเรียนที่วัดแห่งนี้ พระบรมราชานุสรณ์ดอนเจดีย์
หรือ อนุสรณ์ดอนเจดีย์ ที่ที่ประดิษฐานพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงพระคชาธารออกศึก
รวมทั้งเจดีย์ยุทธหัตถี ซึ่งทุกปีจะมีงานแสดง แสง สี เสียง ที่ยิ่งใหญ่ตระการตา

นอกจากสถานที่ท่องเที่ยวอันหลากหลายดังกล่าวมานั้น ยังมีสถานที่ท่องเที่ยวซึ่งซุกซ่อนตัวในท่ามกลางธรรมชาติ
โอบกอดขุนเขาและสายน้ำ เป็นมนต์เสน่ห์อีกแห่งหนึ่งของเมืองเหน่อ ที่เชิญชวนให้ผู้หลงไหลชีวิตป่าเขา
พากันไปกางเต็นท์กลางป่าสนชมทะเลหมอก ณ อุทยานแห่งชาติพุเตย ด้วยเส้นทางคมนาคมที่สะดวกสบาย
เพียง 200 กิโลเมตรเศษ จากเมืองหลวง

พุเตย…ไปทางไหน
อุทยานแห่งชาติพุเตย มีพื้นที่ 198,422 ไร่ ตั้งอยู่ในเขต อ.ด่านช้าง จ.สุพรรณบุรี เขตติดต่อกับ จ.อุทัยธานี
ได้รับการประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติ ลำดับที่ 84 เมื่อ พ.ศ. 2541 การเดินทางเส้นทางที่นิยม คือ เดินทางจาก
อ.เดิมบางนางบวช มุ่งสู่ อ.ด่านช้าง หรือ อาจใช้เส้นทาง ถ.หมายเลข 333 จากดอนเจดีย์มายังด่านช้าง
โดยใช้เส้นทางที่มุ่งหน้ายัง อ.บ้านไร่ จ.อุทัยธานี ซึ่งจะมีทางแยกซ้ายมือที่ บ้านวังตัน ผ่านบ้านทุ่ง
มุ่งหน้าไปยังหน่วยพิทักษ์ที่ 1 อุทยานฯ พุเตย

พักยังไง…ที่พุเตย
หน่วยพิทักษ์ที่ 1 อุทยานฯ พุเตย มีที่พักแบบแคมป์ไซต์ อยู่ท่ามกลางธรรมชาติริมลำห้วย ที่สามารถกางเต็นท์ได้สะดวกปลอดภัย สามารถเลือกพักแรมที่นี่ได้ ใกล้ๆ บริเวณที่พักนี้หากเดินทางต่อไปโดยรถยนตร์จะสามารถไปยัง
จุดชมพระอาทิตย์ขึ้น ศาลเลาดาห์แอร์ หรือ บริเวณเขาสนซึ่งเป็นเขตป่าสนสองใบ ที่จะได้สัมผัสบรรยากาศเทือกเขาสูงที่มีวิวทะเลภูเขาสุดลูกตาพาโนรามาให้ชม และหากเป็นช่วงปลายฝนต้นหนาวนักท่องเที่ยวจะได้ชมทะเลหมอก
ชนิดที่คาดไม่ถึงเลยว่าจะได้สัมผัสในภาคกลาง

นอกจากที่พักแบบแคมป์ไซต์ที่กล่าวแล้ว ยังมีบริเวณที่กางเต็นท์ อีก 2 แห่ง คือ บริเวณที่ทำการอุทยานแห่งชาติพุเตย
ซึ่งมีสิ่งอำนวยความสะดวก พร้อมเจ้าหน้าที่อุทยานคอยดูแลอย่างอบอุ่น ปลอดภัย อยู่ไม่ไกลจากจุดชมวิวดังกล่าวเช่นกัน และแห่งที่ 2 คือ บริเวณที่กางเต็นท์หมู่บ้านตะเพินคี่ หมู่บ้านชาวกะเหรี่ยง ซึ่งเส้นทางอาจไม่สะดวกนักแต่หากได้ไปถึงและได้พิชิตยอดเขาเทวดาซึ่งสูงสุดในบริเวณนี้ได้ก็จะเป็นทริปที่ท้าทายยิ่งทริปหนึ่ง

มีอะไรน่าสนใจที่พุเตย
สำหรับนักผจญป่าที่ชอบชีวิตท่ามกลางธรรมชาติป่าเขา อุทยานแห่งชาติพุเตย นอกจากบรรยากาศประทับใจยามค่ำคืน ที่มีดาวระยิบเต็มฟากฟ้าให้อิ่มเอมยามค่ำคืนแล้ว การเที่ยวท่องชมนก ชมธรรมชาติ ถ่ายภาพประทับใจยามกลางวัน ซึ่งสามารถใช้รถส่วนตัวหรือติดต่อล่วงหน้าใช้บริการรถของอุทยานก็น่าสนใจไม่น้อย นอกจากการชมพระอาทิตย์ขึ้น จุดท่องเที่ยวป่าสนสองใบ จุดรำลึกเครื่องบินเลาดาห์ตกแล้ว ยังมี น้ำตกพุกระทิง ที่บ้านคลองเหล็กไหล ซึ่งบนเส้นทางระหว่างด่านช้างถึงน้ำตก ยังมี อ่างเก็บน้ำลำตะเพิน ถัดจากน้ำตกพุกระทิงไปตามเส้นทางทุ่งมะกอก-บ้านป่าผาก ยังมี น้ำตกตะเพินคี่ ใน หมู่บ้านกะเหรี่ยงตะเพินคี่ ซึ่งเป็นน้ำตกที่สวยงาม มีน้ำตกไหลตลอดปี และเมื่อมองจากน้ำตกจะเห็นยอกเขาเทวดา ที่สูงถึง 1,123 เมตร

นอกจากนี้ ยังมี ถ้ำนาคี หมีน้อย ย้อยระย้า และผาใหญ่ อยู่ใกล้ที่ทำการอุทยานฯ ห่างจากอำเภอด่านช้างราว 30 กม.
และน้ำตกอีกแห่ง คือ น้ำตกตาด (ใหญ่) ซึ่งจะเป็นอีกแห่งที่มีป่าสนสองใบ มีธรรมชาติที่สมบูรณ์เต็มไปด้วยต้นไม้
และยังมีสัตว์ป่าชุกชุม นักท่องเที่ยวสามารถเล่นน้ำ หรือตั้งแคมป์บริเวณนี้ได้อย่างปลอดภัยเช่นเดียวกัน

ชัยภูมิที่กางเต็นท์…เลือกอย่างไร
♥ กางเต็นท์ ควรเลือกกางบนที่ราบเรียบปราศจากของแหลมคม
♥ กางเต็นท์บนดอยสูงที่โล่งเตียน ไม่ควรทำ หากเกิดลมกรรโชกแรง หรือ เกิดพายุ อาจพัดเต็นท์เกิดอันตรายได้
♥ กางเต็นท์ในป่าโปร่ง ไม่ควรกางใต้ต้นไม้ หากเกิดพายุยามที่เรานอนอาจมีกิ่งไม้หักหล่นทับได้
ควรกางนอกแนวต้นไม้ ยกเว้นกางใต้ต้นไม้ในป่าทึบ เพราะมีต้นไม้หนาแน่นไม่ล้มง่ายและมีเถาวัลย์
ช่วยยึดโยงเพิ่มความแข็งแรงตามธรรมชาติอีก
♥ กางเต็นท์ริมลำธาร ไม่ควรทำในฤดูฝน หรือ ใกล้ฤดูฝน เพราะไม่อาจคาดเดาได้ว่าจะมีน้ำป่าหรือไม่
และหากฝนตกหนักน้ำจะไหลแรงเป็นอันตรายทั้งคนและข้าวของที่อาจถูกพัดพาไป
♥ กางเต็นท์ในที่เป็นแอ่งกะทะ ไม่ควรกางเต็นท์ในช่วงที่อาจมีฝนตกเพราะจะเป็นที่รับน้ำ ซึ่งหากท่วมเต็นท์ก็จะเดือดร้อนเสียหาย หรือแม้ไม่ท่วมก็จะเฉอะแฉะสร้างความรำคาญได้ ควรเลือกจุดที่เป็นเนินสูงกว่าบริเวณแอ่งนั้นจะปลอดภัยกว่า
♥ กางเต็นท์บนพื้นที่เนินที่เป็นแนวน้ำไหล ต้องสังเกตด้วยตนเองว่าเนินลักษณะใดเป็นแนวน้ำไหล
เพราะหากมีฝนตกหนัก อาจมีปริมาณน้ำจำนวนมากไหลมารวมกันและไหลผ่านเต๊นท์ก็จะเดือดร้อนเสียหาย
♥ กางเต็นท์ขวางทางเดินสัตว์ ข้อนี้สำคัญมาก เราอาจเห็นว่าเป็นพื้นที่ราบเป็นร่องทางเดิน จึงควรสังเกตให้ดี
เพราะอาจเป็นเส้นทางที่สัตว์ใช้เดินออกหากินในเวลากลางคืน อาจเป็นอันตรายทั้งชีวิตและข้าวของได้

รักป่า…รักเขา รักเต็นท์เราด้วยนะ
♥ กางเต็นท์ อย่างถูกวิธี มิฉะนั้นหากอุปกรณ์ชำรุดเสียหาย น้องเต็นท์อาจน้อยใจพลีชีพได้ เช่น
การใส่เสาเต้นท์ผิดอันจะเสียหายเวลางอเสาเข้ากับเต็นท์

♥ เต็นท์เปียก ไม่ควรเก็บถ้าไม่จำเป็น เพราะจะมีกลิ่นอับ และอาจเป็นเชื้อราได้
♥ ทำความสะอาดเต็นท์ ไม่ควรใช้สารเคมี และแปรงขัด เพราะจะทำลายสารเคลือบเต้นท์และทำให้สารเคลือบหลุด
♥ ก่อนกางเต็นท์ ควรปูผ้าพลาสติกรองพื้นก่อน เพื่อป้องกันเต็นท์จากหิน กิ่งไม้ที่แหลมคม
ซึ่งจะทำให้พื้นเต็นท์เสียหายได้และช่วยประหยัดเวลาทำความสะอาด

♥ ใช้สมอบกปักเต็นท์ทุกครั้ง เพราะหากเกิดลมพัดแรงจะช่วยให้เต็นท์ไม่พลิกเสียหายได้
♥ หมั่นตรวจดูแลและซ่อมแซม หากเต็นท์มีการเสียหาย เช่น รอยฉีกขาด ควรซ่อมไม่ควรปล่อยทิ้งไว้เพราะอาจขาดใหญ่ขึ้น

♠ ♦ ♠ ♦ ♠ ♦ ♠ ♦ ♠ ♦ ♠ ♦ ♠ ♦ ♠ ♦ ♠ ♦ ♠ ♦ ♠ ♦ ♠ ♦ ♠ ♦ ♠ ♦
ข้อมูลอ้างอิง

จังหวัดสุพรรณบุรี. (2563, สิงหาคม 14). สถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยม. Retrieved from suphan.biz: http://www.suphan.biz/
ทีมเฉพาะกิจดีไลฟ์-ประชาชาติธุรกิจ. (2551). กางเต็นท์ปลอดภัยได้วิวสวย. กรุงเทพฯ: มติชน.
ไปด้วยกัน. (2562, กันยายน 14 ). 30 ที่เที่ยวสุพรรณ ชวนกันมาในวันหยุด. Retrieved from paiduaykan.com: https://www.paiduaykan.com/travel/เที่ยวสุพรรณ
สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดสุพรรณบุรี. (2555, ตุลาคม). ภาษาถิ่นชวนฟัง. Retrieved from สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดสุพรรณบุรี: http://province.m-culture.go.th/suphanburi/index.html

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *