มองเมืองนครปฐม ผ่านสายตาชาวฝรั่งเศส : ตอนที่ 1

ภาพถ่ายโบราณภาพนี้ นับเป็นภาพประวัติศาสตร์ที่หายากภาพหนึ่ง
ก่อนจะอธิบายถึงภาพ ขออนุญาตแจ้งที่มาของภาพ
เพื่อเป็นเกียรติ และแสดงความอาลัยต่อการจากไป
ของ อ.Laurent Hennequin
อดีตอาจารย์ประจำภาควิชาภาษาฝรั่งเศส คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
ซึ่งจากไปชั่วนิรันดร เหตุเพราะประมาทของผู้อื่น

การสูญเสียท่านไปนั้นยังความอาลัย ไม่เพียงแค่บุคลากรในภาควิชา ในคณะ
หากแต่ลูกศิษย์ ลูกหาหลากรุ่น คนคุ้นเคยในสถานะต่างๆ
หน่วยงานองค์กรทั้งในและต่างประเทศ ที่ต่างพากันมาร่วมงาน
เป็นภาพที่ผู้เขียนได้พบในวันบำเพ็ญกุศลศพอาจารย์
และยังคงประทับอยู่ในทรงจำจนวันนี้

เช่นเดียวกับภาพอาจารย์ฝรั่งท่านนี้ซึ่งมาพบผู้เขียนในวันหนึ่ง
เพื่อขอข้อมูลและหยิบยืม วิทยานิพนธ์ เรื่อง
“การบูรณะปฏิสังขรณ์พระปฐมเจดีย์: กรณีศึกษาจากเอกสารจดหมายเหตุ
The restoration of Phrapathomchedi pagoda : a case study from archives”
ซึ่งผู้เขียนได้ศึกษาค้นคว้าประกอบการศึกษาในระดับบัณฑิตศึกษา
สาขาการจัดการจดหมายเหตุและเอกสาร คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร

วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ จัดทำเป็นเครื่องมือช่วยค้นเอกสารจดหมายเหตุ
ที่เรียกว่า calendar หรือ ปฏิทินเอกสาร ซึ่งนับเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพสูง
ในลักษณะคู่มือแนะนำเอกสารเฉพาะเรื่อง ที่ให้รายละเอียดและใช้เวลาในการจัดทำมาก
ด้วยการคัดเลือกเอกสารที่มีความสำคัญ นำมาจัดทำสาระสังเขปให้รายละเอียดเป็นรายชิ้น
ทั้งนี้เอกสารจะถูกนำมารวมกันภายใต้หัวเรื่อง โดยลำดับ วัน เดือน ปี
เครื่องมือช่วยค้น คือ ปฏิทินเอกสารนี้ มีวัตถุประสงค์สำคัญอีกประการหนึ่ง คือ
เพื่อให้ผู้คันคว้าใช้ทดแทนเอกสารต้นฉบับที่ชำรุดหรือลบเลือนได้

การพบกันในฐานะเจ้าของผลงานและผู้ให้บริการห้องสมุด
กับความสุภาพอ่อนน้อมของอาจารย์ชาวต่างชาติท่านนี้
ซึ่งแม้เป็นเพียงครั้งแรกที่ผู้เขียนได้สัมผัสท่านก็สร้างความประทับใจ
และให้รู้สึกอาลัยในการสูญเสียท่านไปอย่างไม่มีวันกลับนั้นยิ่ง

ชาวฝรั่งเศสนั้น นับว่ามีบทบาทสำคัญในการศึกษาค้นคว้าเมืองนครปฐม
นักสำรวจค้นคว้าชาวฝรั่งเศสเริ่มงานศึกษาค้นคว้า
ทั้งงานเขียนและภาพถ่ายอย่างต่อเนื่องโดยมีความสนใจด้านโบราณคดีเป็นลำดับแรก
สังฆราช ฌ็อง-บัปติสต์ ปัลเลอกัวซ์ นับเป็นคนแรกที่บันทึกเรื่องนครปฐม
ขณะที่เขาได้มาแวะที่เมืองนครไชยศรี (สะกดตามเอกสารโบราณ)
ซึ่งหมายถึงเมืองที่ตั้งอยู่ที่ตำบลปากน้ำ ฝั่งขวาของแม่น้ำนครชัยศรี
ซึ่งในปัจจุบันคือ อ.นครชัยศรี ขณะที่เมืองนครปฐมปัจจุบันขณะนั้นยังคงเป็นป่ารกร้าง

บันทึกของสังฆราชปัลเลอกัวซ์ ทำให้ทราบถึงวิถีชีวิตสองฝั่งแม่น้ำ
ซึ่งเรียงรายด้วยโรงงานน้ำตาล โดยมีแรงงานหลักคือกรรมกรชาวจีน
ทั้งยังเป็นเมืองที่ทำการเกษตรนอกจากข้าว น้ำตาล ยังผลิตคราม
ข้าวโพด มัน ผักนานาชนิด และยังมีสวนผลไม้รสชาติอร่อย

ครั้นต่อจากสมัยสังฆราชปัลเลอกัวซ์ ก็มีนักจารึกวิทยา คือ
เอเตียน เอโมนิเยร์ นายทหารที่มีภารกิจด้านการบริหารปกครองในกัมพูชา
เขามีเป้าหมายที่จะรวบรวมและแปลจารึกเขมรเพื่อเขียนประวัติ
แต่ก็ได้ทำการสำรวจค้นคว้าสยามหลายครั้ง เนื่องจากบางส่วนของเรื่องกินพื้นที่มาถึง
เขาได้คัดลอกจารึกหลายหลักที่รวบรวมที่วัดบวรนิเวศ รวมทั้งเขตเมืองนครปฐม

นักสำรวจคนถัดมา คือ ลูเซียง ฟูร์เนอโร ผู้ที่ศึกษามาทางด้านสถาปัตยกรรม
เขาเริ่มจากงานสำรวจค้นคว้ากัมพูชา และตระหนักดีว่าสยามเกี่ยวกับอารยธรรมเขมรเพียงน้อย
แต่มีงานในสยามที่ต้องสืบค้นเป็นการเฉพาะ เขาได้เริ่มการนี้โดย
ได้รับมอบจากกระทรวงธรรมการ โดยพิพิธภัณฑ์กิเมต์สนับสนุน
แต่การศึกษาสยามของเขาจำกัดเพียงแค่เฉพาะที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา
เขาได้รวบรวมเขียนหนังสือตีพิมพ์ใน ค.ศ. 1895 ชื่อว่า Le Siam ancien (สยามโบราณ)
และปรากฏเรื่องเมืองนครปฐม(มณฑลนครไชยศรี) เป็นบทหนึ่ง ซึ่งกล่าวถึง
โบราณสถาน หมายถึง พระปฐมเจดีย์ที่เพิ่งได้รับการบูรณะปฏิสังขรณ์ขึ้นโดยครอบทับเจดีย์เดิม
อีกทั้งมีการกล่าวถึงตำนานพญาพาน กล่าวถึงโบราณวัตถุที่เก็บรักษาในบริเวณวัด

สิ่งที่น่าสนใจ คือ ฟูร์เนอโร ได้ตีพิมพ์ ภาพพุทธศิลป์ที่มีลักษณะเฉพาะของเมืองนครปฐม
คือ ธรรมจักรจำนวนหลายวง พระพุทธรูปนั่งห้อยพระบาท 1 องค์
ซึ่งนับว่าเป็นครั้งแรกที่มีการนำเสนอโบราณวัตถุสำคัญไปยังโลกตะวันตก
และข้อมูลที่สำคัญยิ่งต่อการศึกษาเรื่องเมืองนครปฐม คือ การตีพิมพ์จารึก
เย ธัมมา 2 หลัก ที่มีการพบก่อนหน้า โดยผู้เชี่ยวชาญจารึกภารตะ คือ โอกุสต์ บาร์ธ

ข้อมูลของฟูร์เนอโรที่เสนอไว้ 100 กว่าปี นับเป็นประโยชน์ต่อการลำดับเวลา
ความเป็นมาของพระเจดีย์ ตลอดจนแนวคิดในการเริ่มจัดทำพิพิธภัณฑ์ของไทย
ด้วยการเก็บ รวบรวมโบราณวัตถุต่างๆ ที่พบรอบๆ บริเวณรักษาไว้ที่บนพระปฐมเจดีย์

บุคคลต่อมาที่มีบทบาทสำคัญไม่น้อยในการศึกษาเรื่องเมืองนครปฐม คือ
เอเตียน เอ็ดมงด์ ลูเนต์ เดอ ลาชงกิแยร์ ซึ่งเป็นทหารชั้นสัญญาบัตรระดับพันตรี
ซึ่งได้รับการว่าจ้างจากสำนักสำนักฝรั่งเศสแห่งปลายบุรพทิศ (EFEO)
มาทำหน้าที่สำรวจแหล่งโบราณคดีภาคสนามซึ่งยังคงหลงเหลือในป่าทึบ
เขาเริ่มโดยสำรวจในแหล่งของชนชาติจามและแหล่งในเขมร
แล้วจึงเข้ามาสำรวจในสยาม และในที่สุดเขาได้หันมาศึกษางานโบราณคดีสยามโดยเฉพาะ

ลูเนต์เริ่มงานสำรวจครั้งแรก ค.ศ.1904 (พ.ศ.2447)
ร่วมกับ หลุยส์ ฟิโนต์ ผู้อำนวยการสำนักฝรั่งเศสฯ
เขาได้มาที่พระปฐมเจดีย์เดือนธันวาคม และกล่าวในรายงานว่า

“นี่ไม่ใช่เวลาที่จะให้คำอรรถาธิบายสิ่งปลูกสร้างที่ผสมผสานกันอย่างแปลกๆ
โดยมีสถูปรูปแบบศิลปะพม่า ระเบียงคตรอบพระเจดีย์เหมือนอย่างศิลปะเขมร
ลวดลายการประดับตกแต่ง และออกแบบบันไดบางส่วนตามอย่างยุโรป
การใช้หินศิลาตกแต่งสวน แจกัน สิงโต รูปปั้นอย่างศิลปะจีน
* ถึงแม้ว่าจะเป็นงานที่ออกจะเทอะทะไม่ลงตัวอยู่บ้างในบางส่วน
ก็ยังปรากฎเป็นโบราณสถานที่น่าสนใจเป็นพิเศษ
ต้องระบุไว้ในที่นี้ด้วยว่าโดยประวัติความเป็นมา
ก็ได้มีการก่อสร้างปฏิสังขรณ์ขยายต่อเติมจากเดิมอย่างต่อเนื่อง

อนึ่ง ได้มีการค้นพบชิ้นส่วนปรักหักพัง อีกทั้งศิวลึงค์ แท่นฐาน
นาคปัก-บันแถลง วงล้อทำด้วยหินทราย บริเวณสิ่งปลูกสร้าง
ซึ่งได้สูญหายไปในช่วงที่ทำการก่อสร้างบูรณะกันอย่างต่อเนื่อง
และเก็บรักษาไว้บริเวณลานทางด้านตะวันออกเฉียงเหนือ*
จึงไม่มีอะไรให้เคลือบแคลงกันอีกว่า เหล่านี้คือองค์ประกอบของโบราณสถานเขมร”

ข้อความนี้ทำให้เห็นว่าผู้บันทึกเข้าใจว่าแหล่งโบราณคดีที่นครปฐมนี้
เป็นส่วนหนึ่งของดินแดนที่ได้รับอิทธิพลศิลปะเขมร
ซึ่งต่อมาเมื่อการสำรวจโบราณคดีในสยามของเขาเพิ่มมากขึ้น
เขาก็ได้ยกเลิกความคิดนี้โดยให้คำจำกัดความรูปแบบศิลปกรรมลักษณะที่พบ
ว่าเป็นกลุ่มอิทธิพลฮินดูที่ไม่ใช่เขมร ในแวดวงกลุ่มที่ไม่ใช่ไทย
ซึ่งอายธรรมนี้แผ่ขยายในบริเวณกว้างตลอดที่ราบลุ่มภาคกลางของสยาม
นอกจากบริเวณเมืองนครปฐมแล้ว ยังครอบคลุมถึง ราชบุรี เพชรบุรี
ดงศรีมหาโพธิและดงละคอนที่ปราจีนบุรี ศรีเทพ และดงพญากลางที่เพชรบูรณ์

นอกจากนี้ พบหลักฐานว่านักสำรวจฝรั่งเศสทั้งสองท่าน
ได้เข้าพบสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ซึ่งการพบปะครั้งนั้น
ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญต่อวงการประวัติศาสตร์ไทย
โดยรัฐบาลไทยได้จัดทำโครงการจ้างผู้เชี่ยวชาญฝรั่งเศสเข้ามาสำรวจทางโบราณคดี
และในการนี้ ลูเนต์ เดอ ลาชงกิแยร์ ได้เสนอแนะให้สำนักฝรั่งเศสฯ ถวายแต่งตั้ง
สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ดำรงตำแหน่งสมาชิกสมทบ

จากนั้นจึงมีการเริ่มสำรวจในเดือนเมษายน ถึงเดือนพฤศจิกายน ค.ศ.1908 (พ.ศ.2451)
ทำให้ ลูเนต์ เดอ ลาชงกิแยร์ มีโอกาสเดินทางมานครปฐมอีกครั้ง
ราวช่วงวันที่ 8 กันยายน ถึง 8 ตุลาคม ในปีนั้น
ภายหลังการสำรวจเขาได้ตีพิมพ์ผลงานหลายชิ้น และได้มีการบันทึกการเดินทาง
ที่เล่าเรื่องเมืองนครปฐม ซึ่งในขณะนั้นทางรถไฟได้สร้างขึ้นแล้วตั้งแต่ ค.ศ.1902 (พ.ศ.2445)
โดยบันทึก ได้กล่าวไว้ว่า

“ณ จากที่ตรงนั้น (ระบุได้แต่เพียงว่าอยู่ทางใต้ของเมืองสุพรรณ)
ข้าพเจ้านั่งรถไฟไปถึงมณฑลนครไชยศรี ซึ่งมีเมืองหลวงตั้งอยู่ที่เมืองพระปฐม
เส้นทางรถไฟที่พาดผ่านไปตามสถานที่ในอดีตซึ่งหมดความสำคัญไปแล้ว
ได้ช่วยรื้อฟื้นให้ความสำคัญขึ้นมาใหม่อีกครั้ง ด้วยว่าการก่อร่างสร้างเมืองนั้น มีเพียงคลองแคบๆ
ไม่สะดวกต่อการสัญจรเชื่อมเข้ากับแม่น้ำ ปัจจุบันนี้เป็นที่ตั้งสถานที่ราชการของมณฑล
โรงเรียนพลทหารราบ โรงพยาบาล และข้างๆ คือเขตทหารบก

 ที่ตรงใจกลางเมือง จะเห็นพุทธสถานสำคัญที่สุดแห่งหนึ่งในเขตที่ราบลุ่มแม่น้ำ
โดยมีประวัติความเป็นมาย้อนไปไกลในอดีตช่วงที่ได้รับอิทธิพลฮินดู
ตำนานกล่าวไว้ว่าศาสนสถานแห่งนี้ พระโอรสให้จัดสร้างขึ้น
เพื่อขอขมาลาโทษที่ได้ทำปิตุฆาตในการสู้รบโดยที่ไม่ทรงทราบ
ศรัทธาปสาทะของบุคคลทั้งหลายเป็นที่มาของการบูรณะปรับเปลี่ยนลักษณะเดิม
ของโบราณสถานในเวลาต่อมา  เวลานี้ ณ ตรงกลางโบราณสถาน
เป็นที่ประดิษฐ์ของพระเจดีย์ นับความสูงถึงยอดได้ 110 เมตร
มีลักษณะเสมือนหอระฆังมหึมา รายล้อมด้วยสิ่งปลูกสร้างหลากรูปแบบ
มีหอทางเดินที่ตกแต่งประดับประดาจนเกินงาม มีเก๋งจีน จัดสวนด้วยหินธรรมชาติ
และระเบียงคตที่ลอกแบบมาจากนครวัดอย่างไร้ฝีมือ
นอกจากนี้เพื่อให้การออกแบบอย่างไม่มีหลักวิชานี้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น
เมื่อไม่นานมานี้ ได้มีการเพิ่มสิ่งก่อสร้าง
ทำเป็นขั้นบันไดขนาดใหญ่โตสไตล์ยุโรป** ทำให้ดูน่าเกลียดที่สุด
เมืองพระปฐมตั้งอยู่ห่างจากเมืองกรุงเทพฯ เพียงนั่งรถไฟกินเวลาสองชั่วโมง
จึงพบเห็นนักท่องเที่ยวอยู่มากพอควร ชาวยุโรปที่อยู่แต่ในเมืองหลวง
นิยมออกมาล่าสัตว์กันละแวกนั้น ซึ่งอุดมสมบูรณ์ด้วยสัตว์เล็กสัตว์น้อยเป็นเหยื่อให้ล่า

ส้นทางรถไฟทอดไกลออกไปจากตัวเมืองนครปฐม
ตัวรางวางอยู่บนพื้นดินที่สูง จึงไม่จำเป็นต้องยกระดับทางกันอีก
ชนบทแลดูไม่น่าเบื่อเหมือนในเขตที่ราบลุ่มสามเหลี่ยมปากแม่น้ำ
นาข้าวนั้นมีให้เห็นอยู่เสมอ แต่สลับกันไปกับเรือกสวน
สุมทุมพุ่มไม้หนาทึบ สวนกล้วย และต้นนุ่น เป็นต้น
พอรถไฟจอดที่สถานี ก็จะมีกองทัพผู้โดยสารถือตะบุงตะกร้าจู่โจมกันขึ้นมา
หาที่นั่งอยู่กระจัดกระจายกันไปทั่วทั้งในโบกี้ชั้นสาม และตรงทางเดินชั้นสองและชั้นหนึ่ง
เวลาเดินแทบจะเหยียบกันไปมา จนเดินหลีกกันได้ยาก ซ้ำยังทำให้ตู้โบกี้ตลบอบอวล-
ด้วยกลิ่นปลาร้าในไห ปลาเค็มในห่อ และกุ้งแห้งในไม้เสียบ
เดินทางไปอีกหนึ่งชั่วโมง ก็ถึงสถานีบ้านโป่ง”

………………………………………..

หมายเหตุ
* ปรับปรุงเพิ่มเติม เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2565
** บันไดขนาดใหญ่ ที่กล่าวถึงนี้ สันนิษฐานว่าเป็นบันไดนาค (เดิม) ด้านทิศเหนือ
ก่อนที่จะมีการขยายบันไดใหญ่พนักนาค สมัยรัชกาลที่  6  ดังมีภาพ “รัชกาลที่ 6 เสด็จฯนครปฐม” เป็นภาพถ่ายหมู่คณะบุคคล บริเวณบันไดนาค (เดิม) สังเกตการแต่งกายบุคคลในภาพฝ่ายชายมีการใส่ปลอกแขนทุกข์ สวมเครื่องแบบปกติขาว บางส่วนนุ่งโจงสวมเสื้อราชปะแตน

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *