ผู้เฒ่าเล่าสู่: ตอน วัดสัมปทวน

บทความนี้เป็นข้อมูลจากการสัมภาษณ์ คุณตาสงวน กิตติภูริวงศ์ และบุตรชายคือคุณวชิรวิทช์ กิตติภูริวงศ์ (ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็นรองนายกองค์การบริหารหารส่วนตำบลวัดแค) ซึ่งผู้เขียนได้ไปเก็บข้อมูล ณ บ้านเลขที่  46/1 ม.4 ต.วัดแค อ.นครชัยศรี นครปฐม เมื่อวันพฤหัสบดีที่  30 พฤษภาคม 2562 ทั้งนี้ เดิมทีได้ประสานไปยังน้องชายคุณวชิรวิทช์ คือ คุณคุณชาติ กิตติภูริวงศ์  ซึ่งเป็นผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 4 วัดแค แต่ท่านติดราชการด่วน จึงอนุเคราะห์ให้พี่ชายท่าน มารับรองพูดคุยร่วมกับคุณพ่อของท่านทั้ง 2 แทน

นอกจากข้อมูลจากการสัมภาษณ์แล้ว บทความนี้ยังผนวกรวมข้อเขียนบอกเล่า ประวัติความเป็นมาของวัดสัมปทวน ของคุณตาสงวน ซึ่งเขียนจากความทรงจำ โดยท่านได้มอบต้นฉบับลายมือเขียนให้แก่ผู้เขียนมาในวันนั้น โดยผู้เขียนได้ประมวลและเรียบเรียงบทความจากแหล่งข้อมูลเบื้องต้น ดังแจ้งนี้

ประวัติคุณตา
         คุณตาสงวน กิตติภูริวงศ์  อายุ 89 ปี 2473 เกิดในสมัยรัชกาลที่ 7 พื้นเพดั้งเดิมเป็นชาวสิงห์บุรี บิดา-มารดา ย้ายไปประกอบอาชีพที่กาฬสินธุ์ คุณตาได้มาเรียนหนังสือในกรุงเทพฯ  ที่ รร. สวนกุหลาบ  ในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 เมื่อมารดาเสียชีวิตลงจึงได้ถูกเรียกตัวกลับ และต่อมาครอบครัวได้โยกย้าย ถิ่นฐานมาอยู่ในละแวกวัดสัมปทวนนี้  โดยบ้านดั้งเดิมที่คุณตามาอยู่ตั้งแต่ทีแรกที่เดียวอยู่ใกล้ๆ วัดสัมปทวน ซึ่งในสมัยนั้นการคมนาคมยังไม่เจริญเวลาจะไปตลาดที่ทางท่านา ก็ใช้วิธีเดินกับ  ปั่นจักรยาน แต่จักรยานก็ยังมีน้อยมาก เพราะถนนหนทางส่วนมากเป็นทางเดิน  หากคุณตาจะไปตลาดที่ทางท่านา เมื่อออกจากบ้านก็ต้องผ่านวัดสัมปทวน ไปผ่านวัดแค แล้วจึงข้ามทางรถไฟ เพื่อไปยังตลาดต้นสน ซึ่งแต่เดิมมีเพียงตลาดต้นสน เป็นตลาดใหญ่ คนที่วัดแค วัดสัมปทวน ต่างก็ไปตลาดต้นสนเหมือนกัน  เพราะมีข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ จำหน่ายครบบริบูรณ์

ตลาดต้นสนเป็นแหล่งการค้า  ที่คนในละแวกใกล้เคียงต่างมาซื้อหาจับจ่าย มีการกระจายสินค้าไปได้ทั่วถึง ลูกค้าทางทุ่งน้อย ทางศรีมหาโพธิ์ วัดใหม่ วัดละมุด อยู่ละแวกไหนๆ ต่างก็มาที่ตลาดต้นสน ไม่ว่าหนทางจะลำบาก หรือห่างไกลอย่างไรก็ตาม ตัวอย่างเช่น คนศรีมหาโพธิ์จะไปตลาดต้นสนก็ใช้วิธีเดิน แต่ถ้าช่วงน้ำท่วมก็มาเรือ มาทางคลองสัมปทวน ออกจากศรีมหาโพธิ์ มาทางทุ่งน้อย ทางคลองที่เรียกว่าคลองผักบุ้ง พอลงคลองผักบุ้ง ผ่านมาถึงแยกก็เข้าคลองสัมปทวน จากนั้นก็ลัดเลาะเรื่อยมา มาลงแม่น้ำนครชัยศรีที่วัดสัมปทวน ไปถึงตลาดต้นสน ซึ่งในปัจจุบันคลองคลองผักบุ้งนี้ยังอยู่ มีบางพื้นที่ที่ยังใช้ได้อยู่ยังคงมีน้ำถึง แต่ด้วยความที่ส่วนใหญ่ไม่ได้ใช้การสัญจรทางเรือแล้ว ก็ทำให้มีสวะ มีผักบุ้ง ขึ้นรุงรัง ซึ่งทาง อบต.สัมปทวน ก็เคยมีดำริจะทำถนนเลียบคลองไป แต่ติดขัดที่เอกชนบางแปลงที่ไม่อนุญาตผ่านจึงยังคงทำอะไรไม่ได้

ประวัติวัดสัมปทวน
ข้อมูลของวัดสัมปทวน  ต.วัดแค  อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม คุณตาสงวนเขียนขึ้นตามคำบอกเล่าจากจากลุงยิ้ม หุ่นเจริญ ซึ่งสมัยเป็นเด็ก พ่อแม่เขาปลูกบ้านอยู่ระหว่างวัดแคและวัดสัมปทวน    ในวัยเด็กเวลาบ่ายๆ  ถึงเย็น ลุงยิ้มมักมาวิ่งเล่นในลานวัด ซึ่งมีต้นไม้ใหญ่ร่มเย็นดี  ในสมัยนั้นมีกุฏิพระหลังหนึ่งหลังคามุงจาก พื้นไม้กระดานเล็กๆ พออยู่ได้องค์เดียว มีพระแก่ๆ องค์หนึ่งอยู่ริมแม่น้ำ    นครชัยศรี มักจะตากผ้าเหลืองให้คนเห็นว่าเป็นวัด สถานที่ทำเลที่ตั้งวัดมองแล้วร่มรื่น คนที่มองเข้าวัดมักจะพูดกันต่อๆ ว่าน่าอยู่ เพราะมีต้นไม้ใหญ่และเล็กสลับกัน คือ ข้างบนทึบไปด้วยใบไม้ ข้างล่างโปร่งโล่งน่าพักผ่อน มีคลองน้ำใสไหลเย็นพุ่งมาจากทิศตะวันตกเฉียงเหนือของวัด บรรจบกับแม่น้ำนครชัยศรีพอดี ทางราชการมักจะมาทอดสมอเรือพักผ่อนใต้ปากคลองในสมัยก่อน เป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้คนสองฝั่งแม่น้ำหน้าวัดสัมปทวนได้เป็นข้าราชบริพานฝ่ายในกันหลายคน แต่ในปัจจุบันได้เสียชีวิตไปสิ้นแล้ว

เดิมนั้นวัดสัมปทวนไม่มีชื่อ ต่อมาในปี 2450 มีพระธุดงค์ ท่านจาริกแสวงบุญมาจากพระนคร หวังจะไปปฏิบัติธรรมที่ถ้ำใดถ้ำหนึ่งในเขาที่ จ.กาญจนบุรี แต่เมื่อเดินทางมาถึงป่าช้าวัดแคเป็นเวลาพลบค่ำ จึงจำวัดที่ป่าช้าวัดแค รุ่งขึ้นชาวบ้านเห็นเกิดความเลื่อมใสจึงได้นิมนต์ให้โปรดญาติโยมก่อนค่อยไปต่อ พระธุดงค์นั้นจึงอยู่จำ ณ ที่นั้น และโดยที่ชาวบ้านไม่มีที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ จึงช่วยกันสร้างกุฏิให้ท่านอยู่อาศัย ต่อมาภายหลังความได้ทราบถึงพระกรรณของสมเด็จพระสังฆราชพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส จึงรับสั่งให้นิมนต์พระธุดงค์รูปนั้น มาอยู่ที่วัดสัมปทวน และนับแต่    พระธุดงค์มาอยู่ ก็มีผู้คนเลื่อมใสศรัทธาส่งลูกหลานมาบวชและศึกษาธรรมจากพระธุดงค์ ทำให้วัดเจริญโดยลำดับ แต่ในภายหลังพระองค์นั้นท่านไปเสียแห่งใดไม่มีใครได้ทราบอีกเลย

นาม “สัมปทวน” เป็นมาอย่างไร
นามชื่อวัดนี้กล่าวกันว่ามีการเปลี่ยนในสมัยหลัง ซึ่งอาจมีการผูกเล่าถึงความเปลี่ยนแปลงจากเหตุต่างๆ  แต่ในข้อเขียนของคุณตาสงวน ได้เล่าถึงนามของวัด “สัมปทวน” ไว้พอเป็นที่สังเขปเพียงเรื่องเดียว คือ ชื่อ “สัมพระทวน” ซึ่งมีการกล่าวขานกันว่า หลวงพ่อศิลาแรงสร้างจากหินศิลาแรงได้ลอยทวนน้ำมามีคนเห็นเป็นช่วงๆ จนมาถึงวัดสัมปทวน ชาวบ้านจะเชิญให้ขึ้นก็ไม่ขึ้นคนเป็นสิบยกพระไม่ขึ้น จึงนิมนต์หลวงพ่อพระธุดงค์มาอธิษฐานจิต ความว่า

“หากหลวงพ่อศิลาแลงมาดลบันดาล ความเจริญรุ่งเรืองให้วัดนี้ไซร้  ขอให้หลวงพ่อขึ้นมาแต่โดยดี”

เมื่อจบคำอธิษฐาน ญาติโยมก็เชิญหลวงพ่อขึ้นเหมือนไม่ได้ออกแรงแต่อย่างใด ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมาจึงเรียกว่า “วัดสัมพระทวน” ในเหตุแห่งชื่อนี้ซึ่งต่อมามีการกลายคำ คุณตากล่าวว่า ด้วยเหตุผลกลใดไม่ทราบ เมื่อเรียกกันไปมากลับเพี้ยนเป็น “วัดสัมปทวน” ไปได้

วัดสัมปทวนวันนั้น และวันนี้
คุณตาสงวนเล่าความแต่หนหลังว่าวัดสัมปทวน มีผู้สนับสนุนทั้งฝ่ายคณะสงฆ์ และฝ่ายฆราวาส โดยทางฝ่ายฆราวาสนั้น พระยาโสมสรณ์ (ไม่ทราบนามสกุล) ไปราชการต่างจังหวัดผ่านมาพบหลวงปู่โร่งอยู่วัดซึ่งขาดแคลนสิ่งปลูกสร้าง เมื่อท่านพระยาโสมสรณ์ เสร็จจากตรวจราชการจึงมาช่วยสร้างโบสถ์และวิหารหลังเก่า และศาลาทำบุญหลังเก่า ซึ่งบัดนี้ได้รื้อถอนไปแล้วคงเหลือเพียงวิหารเก่า  1 หลัง และมีการสร้างศาลาและวิหารขึ้นแทนอย่างที่เห็นในปัจจุบันนี้

ในส่วนของทางฝ่ายสงฆ์ มีสมเด็จพระสังฆราชพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส เป็นผู้ทรงบัญชาการ หลังจากหลวงพ่อโร่งปกครองวัดอยู่ระยะหนึ่ง ก็เกิดอาพาธอย่างกระทันหันถึงแก่มรณะภาพ ความได้ทราบถึงสมเด็จพระสังฆราชพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส พระองค์จึงทรงบัญชาการให้หลวงปู่วงศ์ซึ่งเป็นพระลูกวัดอยู่ที่วัดเทพศิรินทราวาส เป็นพระที่มีอายุพรรษามีความรู้ความสามารถเพราะสอบได้นักธรรมชั้นเอก ให้มาอยู่วัดสัมปทวนแทนหลวงพ่อโร่งผู้ล่วงลับ  นับแต่นั้นมาพระองค์ก็ทรงบัญชาการให้สร้างโรงเรียนนักธรรมขึ้น เพื่อให้พระเณรได้ศึกษาเล่าเรียนราวๆ พ.ศ. 2458 โดยประมาณ และทรงสร้างกุฏิเจ้าอาวาส กุฏิพระสงฆ์ สร้างพลับพลาที่ประทับของพระองค์เอง สร้างบ่อน้ำกว้าง 5 เมตร ยาว 8 เมตร ไว้ข้างๆ พลับพลาที่ประทับ พระองค์จะเสด็จมาประทับปีละครั้ง สิ่งปลูกสร้างของพระองค์ยังคงรักษาเป็นสมบัติของวัดจนทุกวันนี้ ยก เว้นบ่อน้ำได้ถมดินกลบแต่ยังคงมีร่องรอยขอบคันบ่อให้เห็นบางส่วน

ต่อมา ประมาณปี พ.ศ.2464-2474 สมภารวัดเสน่หาได้มรณะภาพลง ความทราบถึงพระกรรณ์สมเด็จพระสังฆราชพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส  จึงทรงรับสั่งให้ หลวงปู่วงศ์ ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าคุณปฐมเจติยาจารย์ ไปเป็นเจ้าอาวาสวัดเสน่หาแทน และอยู่ครองวัดนั้นจนมรณะภาพ สิริอายุได้ 103 ปี ในปี พ.ศ.2549 โดยประมาณ

สิ่งปลูกสร้างและภารกิจสำคัญของวัด
แบ่งตามยุคสมัยของเจ้าอาวาสได้ ดังนี้

  • ยุคหลวงปู่โล่ง พระธุดงค์เป็นเจ้าอาวาส มีการสร้างโบสถ์ วิหาร และสร้างที่พักสงฆ์เพิ่ม สร้างศาลาทำบุญ
  • ยุคหลวงปู่วงศ์ เจ้าคุณพระปฐมเจติยาจารย์ เจริญสุดขีดมีการสร้างกุฏิ โรงปริยัติธรรม พลับพลา สระน้ำก่ออิฐถือปูน สร้างกุฏิชี และที่พักญาติโยมผู้ถือศีล
  • ยุคหลวงพ่อโพธิ์ พระครูภัทรญาณ มีการเรียนบาลี นักธรรม มีครูพระมาสอนบาลี สอนนักธรรม มีพระเณรเข้าเรียน เข้าสอบได้เป็นมหาเปรียญเป็นจำนวนมาก

รายนามเจ้าอาวาสวัดสัมปทวน

  1. หลวงปู่โร่ง (พระธุดงค์)
  2. เจ้าคุณปฐมเจติยาจารย์ (หลวงปู่วงศ์)
  3. พระภิกษุจันทร์ จันทโร
  4. พระอธิการโพธิ์ (พระครูภัทรญาณ)
  5. พระครูสุนทรธัมมานุยุต (บัว เย็นกาย) (พ.ศ.2549-2564)

ใครเป็นใคร…ผู้คนรอบข้างวัดสัมปทวน
ในพื้นที่บริเวณนี้ จะมีคนท้องถิ่น คือ คนพื้นเพบริเวณวัดแคเป็นกลุ่มบ้านเขมร ส่วนบ้านคุณตาสงวน เป็นกลุ่มจีน และมีกลุ่มลาวเวียง ที่วัดกลางคูเวียง ในท้องถิ่นละแวกวัดสัมปทวนนี้ มีผู้คน 2 สัญชาติหลักๆ ซึ่งในความเห็นของนายวชิรวิทช์ กิตติภูริวงศ์ บุตรชายของคุณตาสงวน ที่ได้กรุณาให้การต้อนรับและอยู่ร่วมในการสนทนาในวันนั้น โดยปัจจุบันท่านดำรงตำแหน่งเป็นรองนายกองค์การบริหารส่วนตำบลวัดแค ให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องชาติพันธุ์ว่า เป็นเรื่องน่าสนใจ แต่ไม่ได้อยู่ในหน้าที่รับผิดชอบของส่วนบริหารจัดการในงานของท้องถิ่น แต่ในเรื่องของวัฒนธรรมนั้น เท่าที่ตนได้สัมผัสและมีส่วนเกี่ยวข้อง ทราบว่าขณะนี้มีหลายๆ องค์กร เช่น มหาวิทยาลัยราชภัฏ จังหวัด ก็พยายามจะให้ฟื้นฟูวัฒนธรรม อัตลักษณ์ รวมทั้งประวัติศาสตร์ของท้องถิ่นที่มีเรื่องราวตั้งแต่ครั้งสมัยรัชกาลที่ 2 รัชกาลที่ 4 และรัชกาลที่ 5 ที่ทรงเสด็จฯ ในพื้นที่ และในเรื่องของชาติพันธุ์นั้นในขณะปัจจุบัน ยังคงพอมีตัวบุคคลที่พอรู้เรื่องราวของตนเองบางแง่มุมอยู่บ้าง เช่น การทำขนม ตัวอย่างเช่นที่วัดกลางคูเวียงซึ่งเป็นลาวเวียงยังมีเรื่องขนมของชาติพันธุ์ แต่เรื่องประเพณีอื่นๆ มีการรักษาธรรมเนียมกันอยู่น้อยมาก หรือ พูดได้ว่าไม่มี ภาษาพูดก็เหลือน้อยมาก ยังมีส่วนน้อยที่พอมีสำเนียงให้รู้ ซึ่งภาษาส่วนมากพูดเป็นภาษาลาวเช่นเดียวกับภาษาอีสานทั่วไป บางคำก็มีเสียงแปล่งๆ แต่ปัจจุบันแทบไม่มีแล้ว

ในแง่มุมของคุณตาสงวน เกี่ยวกับด้านประเพณีต่างๆที่คุณตาสัมผัสทั้งกลุ่มลาวเวียง และกลุ่มเขมร  ในส่วนของวัฒนธรรมเดิมตัวอย่างงานบุญประเพณี งานบวช งานเกิด งานตาย งานแต่ง คุณตาเล่าว่าไม่เคยเห็นประเพณีเก่าๆ คงทำตามแบบภาคกลาง เวลาไปร่วมงานต่างๆ ก็ไม่สังเกตพบว่ามีการแยกประเพณีว่าเขมรต้องทำแบบนี้ ลาวเวียงต้องทำแบบนั้น  ซึ่งคุณตาให้ข้อสังเกตว่า อาจเป็นเพราะต่างเข้ามาอยู่ร่วมกับ คนในพื้นที่ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 ถึงรัชกาลที่ 4 และในสมัยรัชกาลที่ 5 ก็เริ่มมากันมากขึ้น กระทั่งสมัย รัชกาลที่ 6 ที่ทรงเสด็จมาประทับที่นครปฐมบ่อยๆ  คุณตาเห็นว่าต่างเข้ามาอยู่ร่วมกับคนในพื้นที่ผ่านมาหลายรัชกาลด้วยกัน ความกลมกลินกลืนหายของวัฒนธรรมก็อาจเป็นเหตุให้ประเพณีวัฒนธรรมเดิมของเขาหมดไป หรือ อาจเหลือแต่น้อยเต็มที

ทั้งนี้ ในปัจจุบันคุณตาสงวนมองว่าแม้ว่าจะเริ่มมีแนวคิดจะฟื้นฟู  แต่ก็ยังคงขาดเรื่องแรงกระตุ้น แรงสนับสนุนจากภาครัฐส่วนหนึ่ง ซึ่งคุณตาเองได้มีโอกาสพูดคุยกับทางมหาวิทยาลัยราชภัฏ (เข้าใจว่าเป็น มรภ.นครปฐม : ผู้เขียน) แต่ยังมิได้มีการดำเนินการใด ส่วนทาง อบต. ก็มีการหารือว่าจะฟื้นฟูประเพณีคนเขมร แต่ก็ดูเหมือนจะได้เพียงเรื่องของขนม เรื่องของแกง ที่ทำทานกันอยู่ในบ้าน เช่น ขนมเทียนแก้ว แกงยวน เป็นแกงคล้ายๆ ต้มเค็มหมู แต่ว่าเครื่องเทศเครื่องแกงมันมีความต่าง ในกลิ่นและรสชาติ เครื่องเทศที่ใช้  ส่วนในกลุ่มของชาวลาวเวียงนั้นคุณตาให้ความเห็นว่าไม่พบข้อมูลด้านอาหารเฉพาะชนชาติ

ในทัศนะส่วนตนของผู้เขียน ข้าพเจ้ามีความเห็นว่างานวัฒนธรรมนั้นเป็นงานที่ทำไม่ง่าย เพราะวัฒนธรรมติดอยู่กับผู้คน เมื่อคนรุ่นเก่าๆ ขาดตัวลง คนรุ่นหลังไม่ได้รับการบ่มเพาะสานต่อ อีกทั้งสภาพแวดล้อมรอบตัวที่สังคมต่างวัฒนธรรมรายล้อม สิ่งใดที่เข้าถึงถูกจริตผู้คนสิ่งนั้นก็จะได้รับการยอมรับและคงดำรงเป็นวัฒนธรรมของคนในยุคสมัย แต่ประเพณีวัฒนธรรมเดิมๆ ซึ่งไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิต หรือ ไม่ต้องด้วยจริตนิยมของคุนรุ่นใหม่ นับวันจึงถูกละเลย วางลง ส่วนคนที่คิดเห็นความสำคัญในประเพณีวัฒนธรรมเดิมนั้นพอมีตัวอยู่บ้าง แต่ก็ยังคงขาดคนที่ลงมือทำอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ทั้งนี้ขึ้นกับปัจจัยหลายประการ ประการแรก คือ ความขยัน  ความอดทน ที่สำคัญ คือ ต้องมีใจ และสำคัญยิ่งกว่า คือ ปัจจัยทุน ซึ่งการจะทำเรื่องประเพณี วัฒนธรรม จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเลี้ยงใจคน การที่เราจะเสริมใจคนได้ มีให้ก็ต้องมีรับ หากต่างฝ่ายร่วมแรงร่วมด้วยช่วยกันด้วยใจ ใจต่อใจ จริงใจ และจริงจัง งานที่ยากก็จะสำเร็จลงได้
……………….

ขอบคุณภาพประกอบ
หมายเหตุ: ปรับปรุงบทความ เมื่อ 31 มีนาคม 2565

2 thoughts on “ผู้เฒ่าเล่าสู่: ตอน วัดสัมปทวน

  1. ในฐานะที่ผมเคยบวชเรียนอยู่วัดสัปทวน ข้อความที่ว่ายุคของหลวงตาบัวหรือพระครูสุนทรธรรมานุยุตินั้นตกต่ำสุด ค่อยข้างที่จะไม่เป็นธรรมกับพระเดชพระคุณท่าน เนื่องด้วย
    1.วัดสัมปทวนเป็นวัดสังกัดธรรมยุตินิกาย การที่พระภิกษุจะมาบวชจำพรรษานั้นค่อนข้างน้อยอยู่แล้ว ยิ่งเป็นวัดเล็กๆด้วยค่อยไม่ค่อยมีมาบวชจำพรรษาเพื่อช่วยกันบำรุงอาราม
    2.จริงอยู่ที่ท่านมีบุคลิกเฉพาะตัว นั้นคือการเคร่งครัดในพระธรรมวินัยโดยเฉพาะอย่างยิ่งตามวัตรปฎิบัติของพระภิกษุธรรมยุติ ท่านจึงเข้มงวดและการที่คุณตาของผู้เขียนบอกว่าท่านไม่ถนอมน้ำใจลูกศิษย์นั้นมิเป็นความจริงแต่ประการใดเลย ท่านเป็นภิกษุที่เมตตาต่อคนร้อบข้างเสมอ สมัยที่ผมบวชอยู่นั้นพระที่มาอยู่ไม่ติดวัดและชอบกล่าวรายพระเดชพระคุณท่าน ที่พระที่จับเงิน ดูทีวี อยู่กับสีกาสองต่อสองบ้าง ฯ ซึ่งล้วนแล้วแต่อาบัติตามวัตรปฏิบัติของพระธรรมยุติ
    3.ปัจจุบันยังมีลูกศิษย์ที่ศรัธายังมาเข้าวัดทำบุญอย่างต่อเนื่อง แล้วที่คุณตาผู้เขียนบอกว่าตกต่ำนั้นตกต่ำเช่นไร
    4. การสัมภาษณ์ครวรมีการสังเคราะห์ข้อมูลให้รอบด้านยิ่งเป็นข้อมูลที่นำมาเผนแพร่เช่นนี้ด้วย นับว่าใช้ไม่ได้ในทางวิชาการเลย..แย่มาก

  2. ดิฉันขอน้อมรับความบกพร่องทุกประการ
    และขออภัยอย่างยิ่ง มา ณ ที่นี้ด้วย
    ทั้งนี้ ได้แก้ไขปรับปรุงบทความแล้ว
    กราบขอบพระคุณข้อคิดเห็นอันเป็นประโยชน์ยิ่งค่ะ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *