รายงานแหล่งเรือจมบึงกุ่ม จ.นครปฐม

เหตุการณ์การพบแหล่งเรือจม บึงกุ่ม จ.นครปฐม

วันอาทิตย์ที่ 14 มิถุนายน 2558
ผู้เขียนได้ทราบข่าวจากนายไพบูลย์ พวงสำลี ประธานกลุ่มศรีทวารวดี
ว่านายอรัญ นาคชำนาญ ซึ่งเป็นชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในละแวกบึงกุ่มบึงบางช้าง จ.นครปฐม
แจ้งแก่เขาว่าบริเวณริมถนนบึงกุ่ม บ้านสระอ้อ หมู่ที่ 2 ต.ธรรมศาลา ในเขตอำเภอเมือง
ทาง อบต.ธรรมศาลาได้นำดินจากการขุดลอกลำน้ำบึงกุ่มขึ้นมากองถมไว้ข้างทาง
ตั้งแต่ราวเดือนเมษายนที่ผ่านมา และพบว่ามีเศษภาชนะและวัตถุสิ่งของต่างๆ
ที่สันนิษฐานว่าอาจจะเป็นภาชนะดินเผาซึ่งเป็นของเก่าโบราณ

ทั้งนี้บริเวณในละแวกดังกล่าวเคยมีการพบโบราณวัตถุอยู่เนืองๆ
เนื่องจากเป็นแนวเส้นทางลำน้ำเดิมตั้งแต่ครั้งทวารวดี
นายไพบูลย์ได้ไปสำรวจยังพื้นที่ และพบเศษซากไม้ที่มีเชือกร้อย
กับเศษเชือกจำนวนหนึ่ง ซึ่งเศษเชือกที่พบนี้มี 2 ลักษณะ
ส่วนหนึ่งเป็นเชือกปกติ อีกส่วนหนึ่งเป็นเชือกที่มีการถักร้อยดูประณีตสวยงาม
ลักษณะคล้ายการถักเปีย เขาจึงได้เก็บชิ้นส่วนต่างๆ นั้นขึ้นจากคันดินข้างทางนั้น

ต่อมา วันจันทร์ที่ 15 มิถุนายน 2558 ผู้เขียนได้มีโอกาสดูชิ้นส่วนวัตถุต่างๆ
ที่นายไพบูลย์พบ และนำมาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน
โดยผู้เขียนได้แลกเปลี่ยนข้อมูลภาพและเนื้อหาเกี่ยวกับเรือพนมสุรินทร์ซึ่งพบที่สมุทรสาคร
และเคยรวบรวมข้อมูลจัดทำเป็นกฤตภาคไว้ที่ศูนย์ข้อมูลฯ เมื่อราวปลายปี 2557

ในการพูดคุยครั้งนั้นผู้เขียนได้ขอความอนุเคราะห์นายไพบูลย์พาไปยังแหล่งที่พบ
เนื่องจากมีความสนใจเพื่อจะได้เก็บรวบรวมข้อมูลเบื้องต้นเป็นข้อมูลของท้องถิ่นต่อไป

พบอะไรในแหล่งเรือจม

ในการเดินทางไปครั้งนั้น อ.ศิรินทร์ บุญโสธรสถิตย์ ข้าราชการบำนาญ
ซึ่งท่านเป็นอาจารย์ของผู้เขียนและอยู่ร่วมพูดคุยในวงสนทนา มีความสนใจและร่วมเดินทางไปด้วย

การไปยังแหล่งเรือจมในวันนั้น เมื่อต่างเดินสำรวจพื้นที่ระยะหนึ่ง
อ.ศิรินทร์ ได้พบเศษชิ้นส่วนภาชนะซึ่งมีอักษรจารึก เป็นภาษาที่ไม่คุ้นเคย

นอกจากนี้คณะที่ร่วมเดินทาง ยังพบเศษภาชนะ ที่มีความหลากหลาย
บางชิ้นเป็นภาชนะเคลือบซึ่งมีทั้งเคลือบขาว เขียวและน้ำตาล
ขณะที่ชิ้นส่วนภาชนะที่พบส่วนใหญ่เป็นภาชนะดินเผา
บางชิ้นมีลวดลาย บางชิ้นเป็นลักษณะภาชนะที่มีบ่า

ภาชนะดินเผาที่พบบางส่วนเป็นชิ้นส่วนที่พอจะคาดเดาชิ้นส่วนได้
เช่น ปากภาชนะ ซึ่งมีขนาดเล็กใหญ่ต่างกัน

การลงพื้นที่สำรวจและเก็บรวบรวมวัตถุต่างๆ หลังจากครั้งแรก
ได้มีการลงไปเป็นระยะซึ่งนอกจากบุคคลที่กล่าวนามแล้ว
ยังมีผู้ที่สนใจร่วมเดินทางไปสำรวจเพิ่มเติมในต่างกรรม ต่างวาระ
คือคุณปัญญา พูพะเนียด ซึ่งพื้นเพเป็นคนท้องที่ในละแวกดังกล่าว
และบุคคลอีกท่านหนึ่งคือ อ. สืบสกุล ศรัณพฤติ
อาจารย์ประจำคณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
ซึ่งทั้ง 2 ท่าน ได้บันทึกภาพต่างๆ และอนุเคราะห์ภาพประกอบบทความบางส่วน
ตลอดจนภาพส่วนตัวของคุณไพบูลย์ พวงสำลี ผู้เขียนจึงขอขอบคุณ ณ ที่นี้


นอกจากเศษและชิ้นส่วนภาชนะต่างๆ แล้ว ยังพบซากสัตว์ต่างๆ ซึ่งมีหลากชนิดเช่นกัน เช่น
กระดองเต่า เขาสัตว์ กระดูกส่วนต่างๆ ของสัตว์ บางชิ้นสันนิษฐานได้ว่าเป็นสัตว์ใหญ่

รวมทั้งเปลือกหอยมือเสือ และหอยที่มีลักษณะคล้ายหอยเจดีย์
ซึ่งหอยชนิดนี้สืบค้นข้อมูลทราบว่าเป็นหอยทะเล

นอกจากนี้ยังพบเศษซากไม้ที่มีเพรียงทะเลอาศัยอยู่ภายในซอกของเนื้อไม้

ขณะนี้ได้มีการประสานการแจ้งข้อมูลโดยผ่านทางสำนักศิลปากรที่ 1 ราชบุรี
ซึ่งผู้เขียน คุณไพบูลย์ และอ.ศิรินทร์ ได้มีโอกาสพบท่านผู้อำนวยการสำนักฯ
เมื่อท่านมาร่วมสัมมนา
ณ ศูนย์สารสนเทศภูมิศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
โดยสำนักศิลปากรที่ 1 ราชบุรีนั้น มีเขตพื้นที่รับผิดชอบดูแล 6 จังหวัด คือ
ราชบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ สมุทรสงคราม สมุทรปราการ
และสมุทรสาคร ซึ่งเป็นแหล่งที่พบเรือพนมสุริทร์
ทั้งนี้ เมื่อท่านผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ 1 ราชบุรี ทราบข้อมูล
ท่านได้ให้ความสำคัญและประสานแจ้งไปยัง
สำนักศิลปากรที่ 2 สุพรรณบุรี ผู้ดูแลพื้นที่จังหวัดนครปฐมในทันที
ขณะนี้ (2560) เวลาได้ล่วงผ่านมา 2 ปีแล้ว
ยังไม่ทราบความคืบหน้าเพิ่มเติมในกรณีดังกล่าว

ผู้เขียนในฐานะประชาชนในพื้นที่ จึงได้แต่เพียงหวังให้หน่วยงานซึ่งมีหน้าที่
หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งโดยตรง หรือโดยอ้อม
เร่งเข้ามาดำเนินการตรวจสอบและดูแล
สมบัติอันเป็นมรดกวัฒนธรรมของชาติ
อันสะท้อนถึงเรื่องราวที่สำคัญส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ท้องถิ่นต่อไป

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *