การเล่นหุ่นนับเป็นมหรสพประจำชาติของประเทศต่างๆ ในโลกที่สืบทอดกันมาช้านาน
ทั้งในกลุ่มประเทศทางตะวันออกและตะวันตก โดยทางตะวันตกมีหลักฐานที่สันนิษฐานจากภาพเขียนบนผนัง
ภายในห้องของพีระมิดซึ่งเป็นสุสานของกษัตริย์อียิปต์โบราณ อายุประมาณ ๓,๐๐๐ ปี ก่อนคริสตกาล
นอกจากนี้ยังมีบันทึกของนักปราชญ์ชาวกรีกโบราณกล่าวถึงการเล่นหุ่น
ซึ่งมีความเจริญสูงสุดในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๖ – ๑๗ โดยมีอิตาลีเป็นศูนย์กลาง
ส่วนการกำเนิดหุ่นทางตะวันออก จากหนังสือ “การละเล่นของไทย” หน้า ๑๗-๑๘ ของมนตรี ตราโมท ศิลปินแห่งชาติ
ได้ยกตัวอย่างอ้างถึงหลักฐานจากพงศาวดารจีนเมื่อ พ.ศ. ๓๔๘ สมัยสมเด็จพระจักรพรรดิฮั่นเกาจู (Han Gao Zu)
พระนามเดิม หลิวปัง (Liu Bang) และในสมัยพระเจ้าบู๊เต้ ระหว่างก่อน พ.ศ.๔๕๘ – ๔๐๔ ดังนี้
นอกจากนี้ ในคริสตศตวรรษที่ ๑๗ ประเทศญี่ปุ่นมีการค้นพบตัวหุ่น
ในโรงละครโนะ (No Drama) และคาบูกิ (Kabuki) จึงสันนิษฐานว่า
มีการเล่นหุ่นในเวลาไล่เลี่ยกับการแสดงละครดังกล่าว
และในประเทศอินเดียก็มีการเล่นหนังและเล่นหุ่นแล้วเช่นกันในคริสตศตวรรษที่ ๑๖
เห็นได้ว่า… “การแสดงหุ่นนี้มีการแสดงกันเกือบทุกชาติ เช่น จีน ชวา มอญ ญี่ปุ่น และฝรั่ง
แต่ว่าวิธีการประกอบเครื่องกลไกให้ตัวหุ่นกระดิกไปมา และลักษณะตัวหุ่นแตกต่างกันไปตามความนิยมของแต่ละชาติ
บางประเทศก็ใช้สายใยโยงลงมาจากเบื้องบน เช่น หุ่นของพม่า จีน และญี่ปุ่น เป็นต้น
บางประเทศให้หุ่นเคลื่อนไหวด้วยสายใยหรือก้านไม้จากเบื้องล่าง และด้านหลัง เช่น ชวา ไทย และสิงหล…”
ข้อความดังกล่าว สงวน อั้นคง ได้กล่าวไว้ที่หน้า ๒๔๑ – ๒๔๒ ในหนังสือ “สิ่งแรกในเมืองไทย”
อย่างไรก็ตามการจะระบุลงอย่างชัดเจนว่าการเล่นหุ่นมีต้นกำเนิดเมื่อใด อย่างไร ที่ไหน
จากโลกตะวันออกแพร่ไปสู่โลกตะวันตก ตามที่เล่าขานเป็นตำนานว่าเริ่มจากประเทศจีนนั้น
คงเป็นเรื่องที่ยากเกินจะสันนิษฐานได้ เนื่องจากไม่มีหลักฐานลายลักษณ์อักษรที่ยืนยันอย่างแน่ชัด
สำหรับประเทศไทยนั้นยังไม่ทราบชัดเจนว่าการเล่นหุ่นเกิดมีขึ้นเมื่อใด
หลักฐานที่พบเก่าแก่ที่สุดที่กล่าวถึงการละเล่นชนิดนี้ คือ
จดหมายเหตุของบาทหลวงตาชาร์ด ราชทูตของพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ แห่งประเทศฝรั่งเศส เมื่อ พ.ศ. ๒๒๒๘
และจดหมายเหตุของลาลูแบร์ อัครราชทูตของพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ เมื่อ พ.ศ. ๒๒๓๐
ที่บันทึกการเดินทางมาเจริญพระราชไมตรีในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช แห่งกรุงศรีอยุธยา
ที่กล่าวถึงเครื่องกรีฑาโอ้อวดและมหรสพ โดยกล่าวถึงหุ่น ดังนี้
นอกจากนี้ พบเรื่องการเล่นหุ่นปรากฎในวรรณคดีสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
เรื่อง พระเนมิราชกลอนสวด (กาพย์) ตอนพิธีราชาภิเษก ซึ่งกล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า
“หุ่นโขนไทยชวาถีบปล้ำ ถอดกริชง่ารำ ก็ทำประเภทนานา”
ในตอนปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา พบว่าหนังสือปุณโณวาทคำฉันท์ ของ พระมหานาควัดท่าทราย
ซึ่งแต่งขึ้นราว พ.ศ. ๒๒๙๕ เมื่อมีงานสมโภชพระพุทธบาทในสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ
ได้กล่าวถึงการแสดงหุ่นโรงใหญ่ เป็นมหรสพชนิดหนึ่งที่เล่นในการฉลองครั้งนั้น
เริ่มตั้งแต่การโหมโรง ไหว้ครูผู้เป็นพราหมณ์ แล้วเริ่มเล่นเรื่อง “ไชยทัต” ดังนี้
ต่อมาในสมัยกรุงธนบุรี การมหรสพต่างๆ ยังคงมีลักษณะคล้ายคลึงและสืบทอดมาจากอยุธยา
ทั้งหุ่น โขน ละคร ดังพบหลักฐานทั้งหนังสือราชการที่กล่าวถึงการเล่นหุ่นในงานพระราชพิธีต่างๆ เช่น
ในหมายรับสั่งหลายฉบับ ดังตัวอย่าง พ.ศ. ๒๓๑๙ มีหมายรับสั่งเรื่อง
พระราชพิธีถวายพระราชทานพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระพันปีหลวง กรมหลวงพิทักเทพามาต (พระราชมารดา)
ณ วัดบางยี่เรือนอก ให้มีการแสดงโขน งิ้ว หนังกลางวัน และหุ่น
และในพระราชพิธีอัญเชิญพระแก้วมรกตที่ได้มาจากนครเวียงจันทร์ ประเทศลาว
มาประดิษฐานในพระราชวังกรุงธนบุรีเมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๒ ก็มีหมายรับสั่งให้มี
การมหรสพต่างๆ สมโภชพระแก้วมรกต โดยมีการเล่นหุ่นด้วย เป็นต้น
นอกจากเอกสารราชการคือหมายรับสั่งแล้ว ยังมีวรรณคดีเรื่องต่างๆ
ที่ได้บรรยายถึงการมหรสพในงานสมโภชและพระราชพิธีมงคลต่างๆ ที่มีการมหรสพ
โดยมีการเล่นหุ่นร่วมอยู่ด้วยเสมอ เช่นในวรรณคดีเรื่อง “ปาจิตตกุมารกลอนอ่าน” “สังข์ทองกลอนสวด”
“สุบินกุมารกลอนสวด” และ “สุธนกลอนสวด” ซึ่งทั้ง ๔ เรื่อง ไม่ทราบผู้แต่ง สันนิษฐานว่าแต่งในราว พ.ศ. ๒๓๑๖ – ๒๓๒๕
การเล่นหุ่นในสมัยรัตนโกสินทร์นับตั้งแต่รัชกาลที่ ๑ โปรดเกล้าฯ ให้ฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมและการมหรสพต่างๆ
ได้แก่ โขน ละคร งิ้ว หนัง และหุ่น ปรากฎหลักฐานในหมายรับสั่งให้มีการมหรสพในงานพระราชพิธีต่างๆ
ตลอดรัชสมัยตามโบราณราชประเพณีและสมัยนิยม โดยเฉพาะในการสมโภชพระบรมอัฐิสมเด็จพระชนกาธิบดี ใน พ.ศ. ๒๓๓๙ ปรากฎหลักฐานใน “โคลงถวายพระเพลิงพระบรมอัฐิพระเจ้าหลวงและเฉลิมพระเกียรติ”
ของกรมหมื่นศรีสุเรนทร์ว่ามี โขน หุ่น ละคร และงิ้วประชันกัน ดังนี้
สมัยรัชกาลที่ ๒ ซึ่งพระองค์ทรงเป็นทั้งกวีและศิลปินแทบทุกแขนง
เป็นยุคที่ศิลปวัฒนธรรมตลอดจนการมหรสพได้รับการฟื้นฟูให้เจริญรุ่งเรืองอย่างยิ่ง
และในเรื่องการเล่นหุ่นนั้นมีปรากฎในพระราชนิพนธ์ เรื่อง อิเหนา ของพระองค์
ที่ได้กล่าวว่าก่อนจะมีการเล่นมหรสพหลวง จะต้องมีหมายรับสั่งให้เจ้าพนักงานรับผิดชอบการปลูกโรง
รวมทั้งการกั้นฝาค้ำในโรงหุ่นด้วย ดังตอนที่กล่าวถึงงานพระเมรุเมืองหมันหยาว่า
“บ้างทำโรงหุ่นโขนช่องระทา ขึ้นหลังคาดาดแฝงผูกจั่ว”
ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๓ แม้การมหรสพต่างๆ จะซบเซาลงด้วยไม่ทรงโปรด
แต่การมหรสพหลวงก็ยังคงมีการเล่นหุ่นอยู่ตามประเพณี ดังมีหลักฐานปรากฎอยู่บ้าง
ในประชุมพงศาวดาร และหมายรับสั่งงานพระเมรุตลอดรัชกาล
เมื่อล่วงเข้าสู่สมัยรัชกาลที่ ๔ เป็นระยะเวลาที่กรมมหรสพและกรมหุ่นของหลวง
ได้จัดการซ่อมแซมหุ่นหลวงที่ชำรุดทรุดโทรมลงอย่างเร่งด่วน และคาดว่ามีการสร้างหุ่นเพิ่มเติมขึ้นด้วย
นอกจากนี้ในหมายรับสั่งหลายฉบับที่กล่าวถึงงานสมโภช งานพระเมรุ และพระราชพิธีสำคัญต่างๆ
ที่โปรดเกล้าฯ ให้มีการมรสพสมโภชจะมีการเล่นหุ่นจัดแสดงร่วมกับมหรสพอื่นๆ เสมอ
และจากพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๔ ของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์
ที่ได้บันทึกเกี่ยวกับงานฉลองวัดที่ทรงสร้างขึ้นใหม่ในพระนคร
ตอนที่กล่าวถึงงานฉลองวัดปทุมวนาราม มีการกล่าวถึงการละเล่นหุ่นไว้ ดังนี้
จากหลักฐานเท่าที่พบและกล่าวมานั้น
บ่งบอกได้ว่าการเล่นหุ่นของไทยมีการสืบทอดกันมาโดยลำดับ มีทั้งยุคที่เฟื่องฟูและซบเซา
กระทั่งสมัยรัชกาลที่ ๕ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เกิดความเปลี่ยนแปลงและพัฒนา
ด้านนาฎศิลป์ละครไทยหลายอย่าง การแสดงอย่างโบราณก็ยังคงรักษาธรรมเนียมไว้
ขณะเดียวกันก็มีการพัฒนาการแสดงอื่นๆ ขึ้นใหม่หลายประเภท เช่น
ละครพันทาง ละครดึกดำบรรพ์ ละครร้อง ละครพูด ลิเก หนังตะลุง รวมทั้งหุ่นกระบอก
ที่เริ่มนำมาแสดงเป็นครั้งแรก ในงานเฉลิมพระชนมพรรษาของพระองค์ ที่พระราชวังบางประอิน
โดยเป็นการเชิดหุ่นเลียนอย่างเมืองเหนือถวายหน้าพระที่นั่ง
ดังปรากฏในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๑๐ พ.ศ. ๒๔๓๖ ความว่า
“…วันที่ ๑๙ กันยายน รัตนโกสินทร์ศก ๑๑๒ เวลาย่ำค่ำ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จออกพระที่นั่งวโรภาษพิมาน ประทับที่ปรำริมน้ำข้างตพาน
เสด็จโปรดเกล้าฯ ให้เรียกเรือแข่ง…เมื่อแข่งเรือแล้วเริ่มมีการเล่นที่ลานที่พระที่นั่งวโรภาษพิมาน
แลในสระมีแตรวงพิณพาทย์ ทแยแลเพลงแคนต่างๆ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทอดพระเนตรหุ่น ( เลียนอย่าง) เมืองเหนือ
จนเวลาทุ่มเศษ เสด็จขึ้นประทับในพระที่นั่งวโรภาษพิมาน…”
การแสดงหุ่นชนิดใหม่ที่มีลักษณะแตกต่างไปจากหุ่นหลวงเดิม
ซึ่งเรียกชื่อว่าหุ่นเลียนอย่างเมืองเหนือนี้ ดร.ศักดา ปั้นเหน่งเพชร นักวิชาการศิลปะการละคร
ให้ความเห็นว่าเป็นชื่อเรียกหุ่นกระบอกเมื่อแรกเริ่ม แล้วจึงเกิดความนิยมเรียกว่า “หุ่นกระบอก” ในเวลาต่อมา
ทั้งนี้พบการใช้คำเรียก “หุ่นกระบอก” อย่างเป็นทางการครั้งแรก
ในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๑๑ พ.ศ. ๒๔๓๗ และพบการใช้คำนี้ในเอกสารราชการต่อๆ มา
ข้อมูลจากเอกสารและบันทึกหลักฐานต่างๆ ที่เกี่ยวกับการแสดงมหรสพ
ในงานพระเมรุบุคคลสำคัญตลอดสมัยรัชกาลที่ ๕ นั้น นอกจากการแสดงหุ่นหลวงตามประเพณีโบราณแล้ว
ยังมีการนำหุ่นกระบอกมาแสดงเป็นมหรสพเช่นเดียวกับหุ่นหลวง โดยมักแสดงในงานพระเมรุพระเจ้าลูกเธอเป็นส่วนใหญ่
นอกจากนี้ ในหนังสือสาส์นสมเด็จมีการกล่าวถึงเรื่องหุ่นกระบอกทำให้ทราบว่า
การละเล่นชนิดนี้ซึ่งเริ่มมีขึ้นครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ ๕ นั้น
เกิดขึ้นราว พ.ศ. ๒๔๓๕ ที่หัวเมืองฝ่ายเหนือ คือ เมืองสุโขทัย
มีนายเหน่ง สุโขทัย เป็นผู้ริเริ่ม โดยจำแบบจากหุ่นจีนไหหลำและนำมาดัดแปลงเป็นหุ่นแบบไทย
ขณะที่ทางกรุงเทพ ม.ร.ว. เถาะ พยัคฆเสนา ซึ่งมีโอกาสได้ดูการแสดงหุ่นกระบอก
เมื่อร่วมไปกับคณะตรวจราชการหัวเมืองเหนือที่เมืองอุตรดิตถ์
เกิดความชื่นชอบและได้เริ่มสร้างตัวหุ่น ตลอดจนตั้งคณะหุ่นกระบอกของตนเองขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๖
หุ่นกระบอกของ ม.ร.ว.เถาะ หรือที่รู้จักกันโดยทั่วไปว่า “หุ่นคุณเถาะ”
ได้รับความนิยมและรู้จักกันอย่างแพร่หลายมาก ด้วยเป็นของใหม่สำหรับผู้คนในพระนคร
ประกอบกับการประดิษฐ์ตัวหุ่นและอุปกรณ์ประกอบการแสดงของ ม.ร.ว.เถาะ
มีความประณีตงดงามกว่าหุ่นกระบอกที่เล่นกันตามหัวเมือง
การริเริ่มก่อตั้งคณะหุ่นของ ม.ร.ว.เถาะ นับว่าทำให้เกิดยุคทองของการเล่นหุ่นชนิดนี้
การเล่นหุ่นกระบอกในสมัยรัชกาลที่ ๕ นั้น นอกจากจะเป็นมหรสพที่สำคัญอย่างหนึ่งในพระราชพิธีแล้ว
ความนิยมยังแพร่หลายไปยังพิธีราษฎร์อย่างกว้างขวาง ส่งผลให้เกิดคณะหุ่นกระบอกขึ้นเป็นจำนวนมาก
โดยเจ้าของคณะส่วนใหญ่ เป็นชาวบ้าน มีคณะของเจ้านายอยู่บ้างก็มักไม่ออกรับงานโดยทั่วไป
แต่ถึงกระนั้นคณะของ ม.ร.ว. เถาะ ก็ยังเป็นคณะที่ได้รับความนิยมอย่างยิ่ง
ด้วยมีผู้ช่วยเชิดหุ่นที่มีความสามารถสูงหลายคน
หนึ่งในนั้น คือ “แม่ครูเคลือบ” ผู้มีความสามารถในการขับร้องเป็นเลิศ
โดยในบั้นปลายแม่ครูได้มาใช้ชีวิตสั่งสอนลูกศิษย์ที่จังหวัดสมุทรสงคราม
คุณยายสาหร่าย ช่วยสมบูรณ์
เจ้าของคณะหุ่นกระบอก “แม่สาหร่าย”
ครูวงษ์ รวมสุข
เจ้าของคณะหุ่นกระบอก “ชูเชิดชำนาญศิลป์”
ในเวลาต่อมาลูกศิษย์ของท่าน ๒ คน ก็ได้ตั้งคณะหุ่นกระบอกขึ้น คือ
“นางสาหร่าย ช่วยสมบูรณ์” เจ้าของคณะหุ่นกระบอก “แม่สาหร่าย” และ
“ครูวงษ์ รวมสุข” ศิลปินพื้นบ้านดีเด่นและผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรม ( สาขาหุ่นกระบอก )
ประจำภาคกลางจากศูนย์วัฒนธรรมแห่งชาติ เจ้าของคณะหุ่นกระบอก “ชูเชิดชำนาญศิลป์”
กล่าวเฉพาะนางสาหร่าย ช่วยสมบูรณ์ ซึ่งได้นำมรดกผลงานทางวัฒนธรรม
ที่เกี่ยวข้องกับการแสดงหุ่นกระบอกจำนวนถึง ๔๗๗ ชิ้น เช่น ตัวหุ่นกระบอกพร้อมโรง
บทละครหุ่นกระบอก ตลอดจนวัสดุอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ซึ่งมีความประณีตงดงามในลักษณะของช่างฝีมือพื้นบ้าน
ที่ใช้องค์ความรู้ในท้องถิ่นภาคตะวันตกมาประยุกต์สร้างสรรค์ผลงานเชิงประณีตศิลป์
มอบให้กับโครงการจัดตั้งสถาบันวัฒนธรรมภูมิภาคตะวันตก โดยได้จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ในโอกาสเปิดโครงการฯ
เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๗ นั้น นับเป็นสมบัติทางวัฒนธรรมอันมีค่าประมาณมิได้ เฉพาะอย่างยิ่ง
ภายหลังเมื่อท่านเสียชีวิตแล้ว ทายาทของท่านมิได้มีการสืบทอดการแสดง “หุ่นกระบอก” อีกต่อไป
ในขณะที่ทายาทของครูวงษ์ รวมสุข ยังคงสืบทอดการแสดงมาจนปัจจุบัน
แต่ขาดบทละครหุ่นกระบอกที่จะใช้แสดงเรื่องราวอย่างหลากหลาย
เนื่องจากต้นฉบับบทละครของทางคณะส่วนหนึ่งชำรุดไป บางส่วนมีผู้ยืมไปศึกษาค้นคว้าและมิได้นำส่งคืน
ปัจจุบันคณะหุ่นกระบอก “ชูเชิดชำนาญศิลป์” จึงมีเพียงบทละครเรื่อง “ระกาแก้ว” คงเหลืออยู่เพียงเรื่องเดียว
ตัวอย่างบทละครหุ่นกระบอกของคุณยายสาหร่าย ช่วยสมบูรณ์ ที่อยู่นอกเหนือการดูแลของศูนย์ข้อมูลฯ
ในภาวะการณ์ที่สุ่มเสี่ยงต่อการสูญสิ้นมรดกวัฒนธรรมการแสดง “หุ่นกระบอก” ดังกล่าวข้างต้นนั้น
นับเป็นความโชคดีที่ศูนย์ข้อมูลภาคตะวันตก ได้รับเอกสารบางส่วนของนางสาหร่าย ช่วยสมบูรณ์
ที่มอบให้สถาบันวัฒนธรรมภูมิภาคตะวันตก มหาวิทยาลัยศิลปากร เมื่อ พ.ศ.๒๕๓๓ มาทำหน้าที่ดูแล คือ
บทละครหุ่นกระบอก จำนวน ๑๓ เล่ม และสมุดภาพผลงานวัฒนธรรม
ของคณะละครหุ่นคุณยายสาหร่ายฯ เล่มที่ ๒ – ๔ จำนวน ๓ เล่ม
เอกสารดังกล่าวเฉพาะอย่างยิ่ง บทละครหุ่นกระบอก นั้น
ลักษณะทางกายภาพนับวันมีแต่จะเสื่อมสภาพไปตามกาลเวลา
ขณะที่เนื้อหาบทละครซึ่งผู้ประพันธ์ได้สร้างสรรค์ร้อยเรียง
โดยสั่งสมจากประสบการณ์และภูมิปัญญา นับวันจะทวีคุณค่าเพิ่มมากยิ่งขึ้น
ด้วยคนรุ่นหลังขาดประสบการณ์และความสามารถอย่างเพียงพอที่จะประพันธ์บทละครขึ้นใหม่
ศูนย์ข้อมูลภาคตะวันตกในฐานะหน่วยงานซึ่งทำหน้าที่ในการแสวงหา รวบรวม จัดเก็บ จัดทำ
ตลอดจนการอนุรักษ์ ส่งเสริมและฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมและประเพณีอันเป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่น
จึงตระหนัก และเล็งเห็นความสำคัญจำเป็นอย่างยิ่ง ที่จะต้องเร่งดำเนินการอนุรักษ์และเผยแพร่
ภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของนางสาหร่าย ช่วยสมบูรณ์ ให้เป็นมรดกสืบทอดแก่ลูกหลานไทย
ในการนี้ศูนย์ข้อมูลภาคตะวันตกจึงมีนโบายที่จะดำเนินการดัดแปลงและเผยแพร่เอกสารดังกล่าว
ด้วยการจัดทำเป็นหนังสืออิเล็คทรอนิคส์โดยคงลักษณะข้อมูล และเนื้อหาตามต้นฉบับ
เพื่อจัดเก็บและให้บริการเผยแพร่ในลำดับต่อไป โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่า
จะมีโอกาสในการรวบรวมและเผยแพร่มรดกวัฒนธรรมของคุณยายได้อย่างสมบูรณ์
รวมกระทั่งบางส่วนที่ยังกระจัดกระจายพลัดพลายไป ณ เวลาปัจจุบัน
———————————-
รายการอ้างอิง
กระทรวงศึกษาธิการ. คณะกรรมการโครงการเผยแพร่เอกลักษณ์ของไทยฯ. (๒๕๒๒). หุ่นกระบอก. กรุงเทพฯ: ม.ป.พ.
คณะกรรมการโครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน. (๒๕๕๐). สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนโดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว. กรุงเทพฯ: โครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน.
วดี กัณหทัต และชัยณรงค์ ชวนะชิต. (๒๕๒๙). การละเล่นหุ่น. กรุงเทพฯ: องค์การค้าของคุรุสภา.
มนตรี ตราโมท (๒๕๔๐). การละเล่นของไทย. กรุงเทพฯ: มติชน.
สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ. (๒๕๕๐). สาระการเรียนรู้ท้องถิ่นศิลปะการแสดงพื้นบ้าน : เอกสารประกอบหลักสูตรสาระการเรียนรู้ : หุ่นไทย. กรุงเทพฯ: สำนักงานฯ.
สงวน อั้นคง. (๒๕๑๖). สิ่งแรกในเมืองไทย. กรุงเทพฯ: แพร่พิทยา.