ศาลหลักเมืองนครปฐม…อยู่ที่ไหน?

ศาลหลักเมืองนครปฐมอยู่ที่ไหน?
เป็นคำถามที่หลายคนอาจสงสัย
หลายคนอาจเคยถูกผู้สนใจใกล้ชิดไถ่ถาม

ผู้เขียนเองเป็นชาวนครปฐมแต่กำเนิดและเคยสงสัยเช่นกัน
ว่าศาลหลักเมืองนครปฐมมีไหม และหากมีศาลนั้นตั้งอยู่ที่ใด

คำถามเรื่องนี้ยังคงเป็นปริศนาค้างคาอยู่ในใจมาช้านาน
และก็ให้รู้สึกขัดข้องใจเสมอๆ เมื่อมีผู้กล่าวถึงศาลแห่งหนึ่ง
ซึ่งอยู่ในบริเวณพระราชวังสนามจันทร์และมีผู้กล่าวว่าเป็นศาลหลักเมืองนครปฐม

ด้วยเมื่อครั้งที่ผู้เขียนเข้าศึกษา ณ โรงเรียนสาธิต มหาวิทยาลัยศิลปากร
ในปีที่เพิ่งเปิดทำการ พ.ศ. ๒๕๑๗ นั้น ศาลดังกล่าวนี้
มีลักษณะไม่ต่างกับศาลพระภูมิทั่วไปที่ค่อนข้างเก่าขาดการดูแล
ตั้งอยู่ในบริเวณเพิงร้านค้าที่ขายอาหารเชิงสะพานสุนทรถวาย ในพระราชวังสนามจันทร์

ซึ่งในเวลาต่อมาสมัยที่นายบรรหาร ศิลปอาชา ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
และได้มาราชการที่จังหวัดนครปฐม ได้มีการสอบถามเรื่องดังกล่าว
กับผู้ที่ติดตามและต้อนรับในคราวนั้น และได้มีผู้ให้ข้อมูลว่าคือศาลดังกล่าว
จึงได้มีการบูรณะให้ใหญ่โตสง่างามดังปรากฏมาจนปัจจุบัน

แต่ทั้งนี้โดยส่วนตัวของผู้เขียน จากประสบการณ์ในการเป็นวิทยากร
นำชมพระราชวังสนามจันทร์มาร่วม ๑๐ ปี ได้พบบุคลต่างๆ ซึ่งมาเยี่ยมชม
ทั้งผู้รู้ครูอาจารย์ บางท่านเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (สถาปัตยกรรมไทย)
ซึ่งผู้เขียนได้เรียนสอบถามความรู้จากบางท่าน รวมทั้งนักวิชาการท้องถิ่น
ก็มิได้มีท่านใดทราบข้อมูล หรือยืนยัน เรื่องศาลหลักเมืองในบริเวณดังกล่าว

กระทั่งเมื่อราวเดือนพฤษภาคม ที่ผ่านมา
ขณะที่กลุ่มคณะทำงานศึกษาข้อมูลท้องถิ่นนครปฐมได้มีการพูดคุยกันถึงประเด็นนี้
สร้างให้เกิดความระลึกสนใจกลับมาอีกครั้งหนึ่ง จึงได้ลองค้นหาจากอินเตอร์เน็ต
ด้วยคำค้น “ศาลหลักเมืองนครปฐม” ทำให้ได้พบกับคลิปวิดีโอชิ้นหนึ่ง

จากการรับชมคลิปวิดีโอนี้ ผู้เขียนรู้สึกมีปริศนาใหม่เกิดขึ้น
ด้วยทั้งรูปแบบของอาคารทรงศาลเจ้าจีนที่ปรากฎ และความไม่ชัดเจนในเนื้อหา
ซึ่งมีสิ่งแสดงเพียงป้ายชื่อ ระบุว่าเป็น “ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง”
จึงทำให้ตัดสินใจเดินทางไปค้นหาข้อมูลในพื้นที่

ครั้งแรกผู้เขียนเดินทางไปเมื่อวันพุธที่ ๑๓ พฤษภาคม ๒๕๕๘
ซึ่งเป็นช่วงวันหยุดราชการ วันพืชมงคล เวลาประมาณ ๑๖ นาฬิกาเศษ
เพื่อตามหาว่าสถานที่กล่าวถึงในคลิปวิดีโอนั้น อยู่บริเวณใดใน ต.ท่าตำหนัก อ.นครชัยศรี
และได้พบว่าบริเวณด้านหน้าวัดท่าตำหนักมีป้าย “ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง”
ซึ่งชี้บอกทางเข้าด้านซ้ายมือบนเส้นทางเดียวกับวัดสิงห์ วัดบางแก้ว
เมื่อขับรถเลยจากบริเวณด้านหน้าวัดท่าตำหนักมาสักครู่สังเกตเห็นซุ้มทางเข้าวัดบางแก้วจึงเลี้ยวรถไปตามทาง

รถวิ่งผ่านเข้ามาในชุมชนประมาณ ๑ กม. จนถึงทางโค้ง
ด้านซ้ายมือมีป้ายบอกทางให้เลี้ยวลง เมื่อขับไปตามทางสักครู่จะเห็นด้านหลังของศาล
เมื่อถึงที่หมายสังเกตรอบๆ บริเวณพบว่า ศาลแห่งนี้ตั้งหันหน้าเข้าหาคลอง
ทราบในเวลาต่อมาว่าคือ คลองบางแก้วซึ่งเชื่อมต่อมาจากแม่น้ำนครชัยศรีทางฝั่ง ต.บางกระเบา

รอบๆ บริเวณศาลเจ้าแห่งนี้ นอกจากตัวอาคารศาลเจ้าแล้ว
หากหันหน้าในทิศทางเดียวกับศาลเจ้า ด้านขวามือของศาลจะมีอาคารชั้นเดียวเตี้ยๆ ที่ค่อนข้างยาว
ด้านบนหลังคาสังเกตมีลักษณะคล้ายดาดฟ้ามีราวระเบียงตลอดแนว
ทราบภายหลังคืออาคารที่สำหรับทิ้งทาน หรือทิ้งกระจาด ที่ชาวจีนเรียกว่า “ซิโกว”
ในงานประจำปี ซึ่งจะมีงานประมาณ วันที่ ๑๔-๑๖ สิงหาคม ทุกปี
กิจกรรมในงานนอกจากจะมีการทิ้งทานแล้ว มีการทรงเจ้าซึ่งจะทรงเฉพาะเวลางานประจำปีเท่านั้น
สำหรับปี ๒๕๕๙ นี้ กำหนดจัดงานวันที่ ๑๒-๑๔ สิงหาคม
โดยจะมีพิธีทิ้งกระจาด (ซิโกว) วันที่ ๑๔ สิงหาคม ๒๕๕๙

การเดินทางสำรวจพื้นที่เบื้องต้นของผู้เขียนเมื่อ ๑๓ พฤษภาคม ๒๕๕๘ นั้น
เมื่อแรกขณะที่ผู้เขียนไปถึงไม่พบบุคคลใดในบริเวณจึงเข้าไปในอาคาร
เพื่อบันทึกภาพ และขณะที่กำลังบันทึกภาพได้พบคุณบุปผา อายุดยานนท์
ซึ่งตั้งบ้านเรือนอาศัยอยู่ในพื้นที่บริเวณเดียวกับศาลเจ้าหลักเมือง
ได้เข้ามาสอบถามถึงความประสงค์ในการบันทึกภาพ
ภายหลังจากการแนะนำตัวและแสดงบัตรประจำตัวข้าราชการ
ได้มีโอกาสพูดคุยสอบถามทราบข้อมูลในเบื้องต้น
จึงขอความอนุเคราะห์ให้คุณบุปผานัดแนะตัวบุคคลที่จะให้ข้อมูล

วันอาทิตย์ที่ ๑๗ พฤษภาคม ๒๕๕๘
ผู้เขียนได้เดินทางไปตามนัดหมายเพื่อสัมภาษณ์ผู้ดูแลศาลเจ้าหลักเมือง จ.นครปฐม
คือ คุณยายฟื้น ฐานิศร อายุ ๙๐ ปี เกิดเมื่อเดือน ๘ ปี ฉลู อยู่บ้านเลขที่ ๓๐ ม.๑ ต.บางแก้ว อ.นครชัยศรี
พื้นเพเดิมคุณยายเป็นชาววิเศษชัยชาญ จ.อ่างทอง แต่งงานกับนายกฤติ แล้วจึงย้ายตามสามีมาเมื่ออายุ ๒๐ ปี
การพูดคุยในวันนั้นนอกจาก คุณยายฟื้น ยังมีคุณบุปผา อายุดยานนท์ อายุ ๖๐ ปี เกิดเมื่อ พ.ศ.๒๔๙๘
อยู่บ้านเลขที่ ๒๘ ม.๑ ต.บางแก้ว อ.นครชัยศรี บริเวณเดียวกับที่ตั้งศาลเจ้าพ่อหลักเมือง
นอกจากนี้ ยังได้พูดคุยกับคุณทิพย์ น้องสาวคุณบุปผา ที่บังเอินผ่านมาและเข้าร่วมวงสนทนาด้วย

จากการพูดคุยในวันดังกล่าว พอจะสรุปข้อมูลจากการสัมภาษณ์ในเบื้องต้นได้ว่า
เสาที่เข้าใจว่าเป็นเสาหลักเมืองนี้ อาม่าของคุณบุปผาและคุณทิพย์ ซึ่งเสียชีวิตแล้วตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๒๑
โดยขณะที่เสียชีวิตมีอายุ ๘๕ ปี ดังนั้นหากนับย้อนเวลากลับไป อาม่าน่าจะเกิดในราว พ.ศ.๒๔๓๖
หรือ อาจหลังนั้น ๑ ปี ด้วยธรรมเนียมของชาวจีนมักนับอายุบุคคลตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดาเป็นขวบปีที่ ๑
ซึ่งหากการจดจำ และคำนวนวันเดือนปีเกิดอาม่าถูกต้องดังที่กล่าว
อาม่าจะเกิดอยู่ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕

ความเป็นมาของเสาที่เชื่อกันว่าเป็นเสาหลักเมืองนั้น
อาม่าได้เล่าให้ลูกหลานฟังว่า เสาดังกล่าวเป็นเสาที่จมอยู่ในน้ำบริเวณที่ตั้งศาลนั้น
ทั้งนี้ จะเป็นเสาที่ลอยมาจากที่ใด หรือ อยู่เดิมในบริเวณนั้นไม่มีข้อมูลยืนยัน
และการพบเสาก็เนื่องจากมีชาวบ้านในละแวกนั้นฝันว่ามีผู้มาบอกให้งมเสาจมน้ำขึ้นมา
เมื่อมีการเล่าสู่กันฟังชาวบ้านจึงได้ร่วมกันงมและพบเสาตามที่มีผู้ฝันเห็น
ชาวบ้านในละแวกนั้นจึงได้เชิญขึ้น โดยเมื่อแรกได้ทำเป็นเพิงศาลตั้งอยู่บริเวณริมคลองบางแก้วนั้น
ต่อมามีคหบดีชาวจีนจากทางฝั่งบางกระเบา นำโดยเถ้าแก่แย้ม เถ้าแก่ไชสุน และท่านอื่นๆ
มาร่วมกันสร้างศาลเจ้าเป็นอาคารถาวรขึ้น  และได้มีการพัฒนาปรับเปลี่ยนมาโดยลำดับ

ภายหลังจากการสัมภาษณ์ข้อมูลในวันดังกล่าว
ต่อมาวันที่ ๑๒ ตุลาคม ๒๕๕๘ ผู้เขียน พร้อมด้วย อ.ศิรินทร์ บุญโสธรสถิตย์
ได้มีโอกาสเดินทางมายังศาลเจ้าพ่อหลักเมืองแห่งนี้อีกครั้งในเทศกาลกินเจ
และได้พบบุคคลอีก ๒ ท่าน จึงมีโอกาสได้สัมภาษณ์เพิ่มเติม
คือ นายฟ้อน ฐานิศร บุตรชายยายฟื้น ซึ่งเป็นอีกท่านหนึ่งที่ช่วยดูแลศาลเจ้าฯ
และนายขจรเดช นพคุณชัยกิจ ประธานศาลเจ้าพ่อหลักเมือง
ซึ่งบุคคลท่านที่ ๒ นี้ นอกจากตำแหน่งประธานศาลดังกล่าว
ท่านยังดำรงตำแหน่งประธานสภาเทศบาลตำบลนครชัยศรี
และเป็นบุคคลในสายตระกูลซึ่งเป็นผู้อุปถัมน์ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองแห่งนี้

การพูดคุยในครั้งหลังนี้ได้รับความชัดเจนในส่วนข้อมูลตัวบุคคลที่เกี่ยวข้อง
ในการพัฒนาปรับปรุงบูรณะศาลเจ้าแห่งนี้ ตลอดจนแนวทางที่จะพัฒนาเพิ่มขึ้น
แต่ทั้งนี้ ในส่วนประวัติความเป็นมาของศาลเจ้า รวมถึงที่มาที่ไปของรูปเคารพองค์ต่างๆ
ตลอดจนที่มาที่ไปของเสาที่กล่าวถึงว่าเป็นเสาหลักเมืองนั้น ยังคงเป็นสิ่งที่ต้องติดตามค้นหาข้อมูลต่อไป

ผู้สนใจรายละเอียดข้อมูลบอกเล่าเกี่ยวกับศาลเจ้าพ่อหลักเมือง นครปฐม
ตลอดจนเรื่องราวของชุมชน วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านลุ่มน้ำนครชัยศรี
รับฟังเพิ่มเติมได้จากบันทึกเทปสัมภาษณ์ ดังต่อไปนี้

One thought on “ศาลหลักเมืองนครปฐม…อยู่ที่ไหน?

  1. ทำไมชาวบ้านในละแวกนั้นถึงเริ่มเชื่อมาว่าเสาจะต้องจมน้ำขึ้นมา? มีฐานะการฝันหรือเหตุผลอื่น ๆ ที่ทำให้เกิดความเชื่อนี้? Regard Telkom University

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *