ตลาดนครปฐม : วันวาน-วันนี้-วันพรุ่งนี้

ตลาดนครปฐม : วันวาน-วันนี้-วันพรุ่งนี้

รู้จักชาวตลาด

ชาวตลาดนครปฐม มี “ชมรมชาวตลาดนครปฐม” ตั้งขึ้นราวปี พ.ศ.๒๕๓๐ คณะกรรมการมีทั้งหมด ๒๕ คน มีวาระดำรงตำแหน่งครั้งละ ๒ ปี แต่ไม่กำหนดจำนวนครั้งของการดำรงตำแหน่ง มีกำหนดวาระประชุม ๓-๔ เดือนต่อครั้ง เวทีจัดประชุม ได้แก่ ร้านอาหาร และตามบ้านของสมาชิก

การเสวนาเมื่อวันที่ ๒๘ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ มีผู้เข้าเสวนา คือ

๑) นางมลิวัลย์ ว่องวิวัฒน์ไวทยะ ประธาน (อายุ ๕๘ ปี)

๒) นายบัญชา อยู่คงดี รองประธาน (อายุ ๔๘ ปี)

๓) นายธงชัย โตวณะบุตร ประชาสัมพันธ์ (อายุ ๖๓ ปี)

๔) นายอกินันท์ แก้วสกุล ผู้ช่วยประชาสัมพันธ์ (อายุ ๓๘ ปี)

๕) นายพิชัย ศิริพรโภคา เลขานุการ (อายุ ๔๔ ปี)

๖) นายสุธี รู้สุกิจกุล กรรมการ (อายุ ๕๒ ปี)

๗) นางเซาะเจ็ง ดรุณไกรศร กรรมการ (อายุ ๕๗ ปี)

๘) นางสุรีย์รัตน์ ตาทอง กรรมการ (อายุ ๗๑ ปี)

๙) นางสาวฟ้า ศรีทิพย์อาสน์ กรรมการ (อายุ ๗๒ ปี)

๑๐) นางสาวจารุณี จงจีระกาล สมาชิก (อายุ ๖๗ ปี)

และมีคณะทำงานนครปฐมศึกษาเข้ารวมการเสวนาด้วยคือ

๑) พระครูประภัทรธรรมาทร ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระงาม

๒) สมณะ มั่นแจ้ง พุทธชาโต ปฐมอโศก

๓) สมณะ แก่นหล้า วัฑฒโณ ปฐมอโศก

๔) ผศ. อัญชัน สวัสดิโอ คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

๕) อาจารย์สุวิดา ธรรมมณีวงศ์ คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

๖) อาจารย์ปัญญา ดาวจรัสแสงชัย สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล

๗) ผศ. เอี่ยม ทองดี สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเพื่อ พัฒนาชนบท มหาวิทยาลัยมหิดล

๘) นายไพบูลย์ พวงสำลี กลุ่มศรีทวารวดี

๙) นางสาวยุพดี จารุทรัพย์ หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ สำนักหอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยศิลปากร

คณะทำงานตามโครงการ “นครปฐมศึกษา” มีวัตถุประสงค์ที่จะเรียนรู้และรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับเมืองนครปฐม เพื่อเก็บรวบรวมไว้ที่ศูนย์ข้อมูลภาคตะวันตก สำนักหอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ เป็นหลักฐานเชิงวิชาการสำหรับผู้สนใจทั่วไปในปัจจุบันได้เรียนรู้ และเป็นการสือบทอดประวัติศาสตร์เชิงบอกเล่าของเมืองนครปฐม ให้กับคนรุ่นหลังๆ ได้เรียนรู้ต่อไปด้วย

ความสนใจเกี่ยวกับตลาดปฐมเกิดขึ้นเนื่องจากความไม่ชัดเจนของการเรียกชื่อว่า ส่วนใดเป็นตลาดล่าง ส่วนใดเป็นตลาดบนประกอบกับเป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่าสภาพของตลาดโดยทั่วไปได้ซบเซาลงมาก ทั้งๆ ที่สมัยหนึ่งตลาดนครปฐมเป็นตลาดที่มีผู้นิยมอย่างมาก เนื่องจากสินค้ามีคุณภาพดีและมีราคาถูก โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหารสด เช่น ผักและผลไม้ คณะทำงานฯ จึงมีความเห็นร่วมกันว่าควรได้มีโอกาสพูดคุยกับชาวตลาดนครปฐม เพื่อรวบรวม ข้อมูลในเรื่องที่เป็นความสนใจนี้และบันทึกไว้เป็นเอกสารหลักฐานต่อไป

สรุปผลการเสวนา

เพื่อให้คณะทำงานฯ ได้รับข้อมูลเกี่ยวกับตลาดนครปฐมมากที่สุดเพื่อเป็นข้อมูลให้อนุชนรุ่นหลังได้ศึกษาและจัดเก็บไว้ในศูนย์ข้อมูลภาคตะวันตก หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ สำนักหอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยศิลปากร ท่านประธานชมรมตลาดนครปฐมจึงมอบหมายให้ประชาสัมพันธ์ของชมรมฯ ซึ่งเป็นชาวนครปฐมโดยกำเนิดเป็นผู้เปิดเวทีเสวนา ทำให้ได้ข้อมูลประวัติ วิถีชีวิต และพบปัญหามากมายที่คาดไม่ถึงดังนี้

ตลาดนครปฐมสร้างในสมัยขุนไมตรีประชารักษ์ ข้าหลวงประจำจังหวัด ขุนเกษตรพิหารแดง เป็นผู้ดูการทรัพย์สิน นายใช้ ยี่ห้อฮะเส็ง เป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง นายอำพล จันทร์ละออ เป็นผู้ควบคุมงาน สร้างแล้วเสร็จเมื่อวันที่ ๑๗ เมษายน พ.ศ.๒๔๙๔ สถานที่ที่เป็นตลาดปัจจุบันเคยเป็นที่ตั้งของโรงภาพยนตร์มาก่อนซึ่งสร้างไว้แล้วประมาณ ๗๐% ต่อมาถูกทิ้งร้างไป สันนิษฐานว่าได้ที่แห่งอื่นหรืออาจเกิดสงครามโลก และทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ทำเป็นตลาดล่าง

รอบตลาด ด้านในขององค์พระปฐมเจดีย์ เคยมีโรงภาพยนตร์ ๒ โรง สนามเด็กเล่น และโรงฝิ่น เมื่อมีกำแพงรอบองค์พระปฐมเจดีย์แล้ว มีร้านค้าโต้รุ่งไปขายอาหารด้านในแต่มีจำนวนไม่มาก อีกด้านของตลาดเคยมีโรงพยาบาลเก่า (ปัจจุบันเป็นศูนย์เด็กเล็ก) และมีสะพานเกวียน (ผู้สัญจรที่อาศัยเกวียนวัวลากม้ามักปล่อยให้วัวพักอยู่บริเวณนี้) มีสะพานแดง สะพานขาวข้ามคลองเจดีย์บูชาเพื่อให้สะดวกเดินทางสองฝั่งถนน มีพญากงท่าชี้นิ้ว (เข้าใจว่าชี้มาทางองค์พระปฐมเจดีย์) คาดว่าสร้างประมาณปี พ.ศ.๒๕๒๘-๒๕๓๐ โดยสร้างพร้อมเขื่อนกั้นน้ำ

บริเวณสี่แยกองค์พระปฐมเจดีย์ มีของมาขายประปราย เมื่อมีกำแพงก็ย้ายไปขายด้านใน ส่วนตลาดโต้รุ่งมาเกิดตอนที่มีกำแพงองค์พระแล้วส่วนชื่อตลาดเข้าใจว่าเดิมมีชื่อเดียวกันคือตลาดทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์โดยสร้างไร่เรี่ยกันเพื่อให้ผู้มาซื้อจำได้ จึงเรียกเป็นชื่อตลาดล่างและตลาดบน แต่ก่อนผู้มาซื้อของต้องหาบกระบุงและเดินมาตลาดได้อย่างเดียว และมีของวางขายน้อย ใครจะมาขายอะไรก็ได้ สักประมาณบ่ายโมงก็เลิกขาย ส่วนตลาดผ้าเพิ่งมีขายได้ประมาณ ๔๐ ปี

ช่วงที่พบว่าตลาดนครปฐมรุ่งเรืองสูงสุดคือช่วงปี พ.ศ. ๒๕๒๕ หรือประมาณ ๒๐ ปีมาแล้วโดยของจะขายดีมากช่วงงานเทศกาลองค์พระปฐมเจดีย์ เพราะคนแต่ก่อนเมื่อมานมัสการองค์พระปฐมเจดีย์แล้วจะไม่มีรถกลับ ต้องอาศัยนอนตามองค์พระปฐมเจดีย์และตามร้านค้า ทำให้ร้านค้าสามารถขายของได้เกือบตลอดทั้งวันทั้งคืน

ผู้มาค้าขายในระยะแรกคือผู้ที่มาขอเช่าบ้านของทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์และขายของไปด้วย ต่อมาได้ขยายจุดขายเพิ่มขึ้นโดยจับจองแผงในตลาดซึ่งมีว่างอยู่มากและยึดอาชีพเดิมที่บรรพบุรุษทำ แต่อาชีพนี้กำลังจะหมดไปเพราะทายาทไม่ประสงค์ทำอาชีพนี้ต่อ เนื่องจากสภาพการค้าขายไม่ดีผักที่เคยขายได้จะมีผลกระทบมาก โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลอาหารและผลไม้ ตลาดผ้ามีผู้ขายเพิ่มขึ้น สังเกตุพบว่ามีพ่อค้าคนกลาง (Seller) มากขึ้นเพื่อเสนอขาย หากร้านค้าใดพอใจก็ซื้อขาด หากไม่พอใจก็ต้องไปติดต่อหาซื้อเองที่กรุงเทพฯ ในด้านผู้ซื้อ พบว่าผู้ที่เคยซื้อประจำรุ่นแรกๆ เลิกมาเพราะเดินทางมาไม่ไหวหรืออาจเสียชีวิตไปแล้ว

ส่วนเด็กรุ่นใหม่ชอบไปตามศูนย์การค้าและห้างสรรพสินค้าและตลาดนัดมากกว่าตลาด จึงดูเหมือนสภาพตลาดที่เคยมีในอดีตกำลังจะสูญไป หากสำรวจดูจะพบว่าหลายร้านได้ปิดไปแล้วเพราะไม่มีทายาทสืบต่อ อย่างไรก็ตามยังมีร้านที่อยู่รอบนอกของตลาดอีกหลายร้านที่มีการตกแต่งห้องให้น่าเข้าไปใช้บริการ แต่ตอบไม่ได้ว่าร้านค้าที่จัดสวยงามกับร้านค้าแบบเดิมๆ ใครขายดีหรือไม่ดีกว่ากัน สำหรับการขายในสมัยก่อนจะขายดีมากในช่วงเทศกาล ทั้งปีใหม่ ตรุษจีน โดยเฉพาะตลาดผ้าจะขายดีมากในช่วงประเพณีสงกรานต์แม้ปัจจุบันก็ยังขายดีอยู่เพราะไม่มีการจัดให้ขายสินค้าอื่น|ในช่วงเทศกาลสงกรานต์เนื่องจากเป็นการร้องขอจากชมรมชาวตลาดขอให้มีกิจกรรมของวัดเพียงอย่างเดียว

ปัญหาที่พบ

๑. ที่จอดรถ

๑.๑ ทำให้ผู้มาซื้อของลดลงเองจากไม่มีที่จอดรถ ทั้งนี้เพราะรถที่จอดอยู่รอบตลาดส่วนหนึ่งเป็นรถของเจ้าของบ้านที่อยู่รอบตลาด แต่ส่วนใหญ่เป็นรถของผู้ประกอบการที่มาค้าขายในตลาดและจอดแช่ตั้งแต่เช้าถึงมืด ซึ่งแต่ก่อนมีผู้มาค้าขายน้อย ปัจจุบันมีผู้มาค้าขายมากขึ้น ทำให้ต้องแย่งที่จอดรถและไม่มีที่จอดรถสำหรับลูกค้า

๑.๒ จากการร้องขอไปทางองค์พระปฐมเจดีย์ หอการค้าจังหวัด และจราจรจังหวัดเพื่อขอให้จัดการเดินรถและหาสถานที่จอดให้รถลูกค้าสามารถจอดได้บ้างนั้นยังไม่ได้รับการอนุเคราะห์มากนัก ทั้งนี้เพราะที่ผ่านมาเป็นการร้องขอ แต่ยังไม่มีวิธีการที่ชัดเจนนำเสนอที่เอื้อประโยชน์ต่อกันทุกฝ่าย

๒. กลุ่มผลประโยชน์

๒.๑ ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ชุมชนชาวตลาดเปรียบตนเองเหมือนผู้อยู่อาศัย จะทำสิ่งใดต้องขออนุญาตจากเจ้าของบ้าน รวมทั้งการเปลี่ยนหลอดไฟ การลอกท่อทั้งนี้เพราะพื้นที่รอบตลาดจนถึงขอบถนนอยู่ในความดูแลของทรัพย์สินฯ ทั้งหมด การขอเปลี่ยนสภาพแผงค้าผ้าซึ่งเดิมเป็นร้านสูง ผู้ขายต้องปืนป่ายและมักเกิดปัญหาขาหัก แขนหัก แต่ไม่มีรับการแก้ไขแบบ จนเมื่อมีผู้เสียชีวิต จากสภาพร้านดังกล่าว จึงได้รับอนุญาตให้ปรับเปลี่ยนแบบได้โดยผู้เช่าออกค่าใช้จ่ายเอง สำหรับแผงอื่นๆ ที่ประสงค์จะขอปรับเปลี่ยนบ้างและนำแบบมายื่นเสนอขอเปลี่ยน ขณะนี้ยังไม่ได้รับอนุญาตให้ทำ และหากมีผู้ไปปรับเปลี่ยนเองโดยไม่ได้รับอนุญาตจะถูกปรับ ดังนั้นจึงพบว่าสภาพตลาดที่เคยเป็นมาในอดีตก็คือสภาพตลาดที่เห็นในขณะนี้เพียงแต่ว่าสภาพตลาดทรุดโทรมลงไปมากเพราะไม่ได้รับการซ่อมแซมเนื่องจากค่าใช้จ่ายสูง เฉพาะการเปลี่ยนหลังคาใหม่ต้องใช้งบประมาณหลายล้านบาท ภาพที่เห็นปัจจุบันจึงเป็นภาพของหลังคาที่ผุพังเพราะมีมูลนกพิราบมาก มีน้ำรั่วซึมเวลาฝนตก รวมทั้งเป็นแหล่งที่อาศัยของนกพิราบ ดังจะได้ยินเสียงร้องดังมากหลังเวลาหกโมงเย็นไปแล้ว

๒.๒ หอการค้าจังหวัดนครปฐม เนื่องจากเป็นองค์กรที่ต้องหารายได้เข้าองค์กรโดยการจัดกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการค้าซึ่งส่งผลกระทบชัดเจนต่อผู้ค้าขายในตลาดนครปฐม กิจกรรมที่จัดเช่น เทศกาลอาหารและผลไม้ งานสัปดาห์ส่งเสริมวัฒนธรรม งานองค์พระปฐมเจดีย์ (การจัดงานแต่เดิมกว่าจะเลิกงานก็ประมาณ ๒ เดือนเต็ม แต่ไม่เป็นปัญหาเพราะการคมนาคมไม่ดีและไม่มีรถมากมายเหมือนขณะนี้ ประมาณปี พ.ศ.๒๕๓๐ ชาวชมรมชาวตลาดนครปฐมได้รับความอนุเคราะห์จากผู้ร้องขอให้ลดเวลาจัดงานลงโดยกำหนดเป็นหน้า ๗ วัน หลัง ๗ วัน รวมกับวันที่จัดงานด้วยเป็นเวลา ๒๕ วัน ทำให้ผลกระทบลดลงไปเพราะถือว่าแบ่งกันกินแบ่งกันใช้กับผู้ค้าขายกองคาราวาน) ซึ่งลักษณะการจัดงานแบบเดิมเป็นการร้องขอโรงเรียนให้นำของมาขายปัจจุบันเป็นการให้เช่าพื้นที่ในราคาสูงโดยพบว่าผู้สามารถจับจองพื้นที่ขายได้ส่วนใหญ่เป็นคนนอกพื้นที่ ที่เรียกว่าการค้าขายแบบกองคาราวาน อย่างไรก็ตามเมื่อราคาค่าเช่าที่สูงขึ้น จำนวนวันที่ให้ขายลดลง และปริมาณของที่ขายได้ลดลงจากแต่ก่อน ทำให้ร้านค้าจำนวนมากลดลงไปเพราะไม่คุ้มกับทุนที่จ่ายไป

๓. การเกิดตลาดนัดและศูนย์การค้า

๓.๑ ตลาดนัด มีเกิดขึ้นมากและรวดเร็ว ผู้ขายของตลาดนัดมักเลือกขายสินค้าที่มีราคาถูกในขณะที่ชาวตลาดจะยึกคุณภาพก่อนราคา ส่งผลให้สินค้าชนิดเดียวกัน แม้จะไม่เหมือนกันก็ขายได้มากกว่าสินค้าในตลาด รวมทั้งความสะดวกของการจัดซื้อที่ตลาดนัดมีมากกว่าในตลาด เพราะต้องหาที่จอดรถนานกว่าจะเข้ามาตลาดได้ นอกจากนี้ตลาดนัดไม่ต้องเสียภาษี ขณะที่ร้านค้าในตลาดต้องเสียค่าแผงในราคาล็อกละ ๕๐๐ บาท (เมื่อ ๔๐ ปีก่อนเสีย ๓๐ บาท ต่อมาเพิ่มเป็น ๗๕ บาท) ภาษีโรงเรือนรายวัน วันละ ๒ บาทโดยเรียกเก็บเป็นรายปีๆ ละ ๒ ครั้ง นอกจากนี้ยังต้องเสียภาษีสรรพสามิตอีกและอาจต้องจ่ายสูงหากสรรพสามิตแจ้งว่าเป็นร้านที่ขายดีเพื่อให้ได้งบตรงตามเป้าที่กำหนด

๓.๒ ศูนย์การค้า ปัจจุบันมี ๒ แห่งคือ ห้างแมกโคร และห้างบิ๊กซี และกำลังจะเกิดแห่งที่ ๓ คือ ห้างโลตัสนั้น ถือว่าเป็นการปิดฉากสภาพชีวิตตลาดเร็วขึ้น เพราะศูนย์การค้ามี สินค้าทุกชนิดจำหน่ายและสามารถจำหน่ายได้ในราคาถูกกว่าสินค้าในตลาดเพราะศูนย์การค้าสามารถบีบโรงงานให้ขายของให้ในราคาถูกกว่าที่อื่นซึ่งหากพิเคราะห์ให้ดีจะพบว่าคุณภาพ สินค้าและขนาดไม่เหมือนกับที่ค้าขายในตลาด การมีสิ่งอำนวยความสะดวกในศูนย์การค้าทำให้เด็กและผู้ใหญ่ชอบมาเดินและมักซื้อของกลับไป ขณะที่สภาพตลาดมีกลิ่นเหม็นเพราะพื้นเลอะเทอะและแฉะตลอดเวลา อากาศที่ร้อนเพราะร้านค้าหนาแน่นขึ้น รวมทั้งทางเดินเข้าตลาดและทางเดินระหว่างร้านค้ามีสภาพคับแคบ สิ่งที่พอแก้ไขได้บ้างคือห้ามรถจักรยานยนต์ที่ไม่บรรทุกของวิ่งเข้าตลาดเพื่อลดความแออัด จากทุกปัญหาที่กล่าวข้างต้น ทำให้ผู้ค้าขายในตลาดรู้สึกท้อแท้และไม่มีทายาทอยากสืบทอดอาชีพค้าขายต่อ แม้ชมรมชาวตลาดนครปฐมจะต่อสู้ตลอดมาเพื่อให้ได้ภาพเก่าๆ กลับคืน แต่ปัญหาที่เพิ่มมากขึ้นและยากต่อการแก้ไขด้วยตนเองทำให้การค้าขายมีสภาพเหมือนทนขายและพยายามประคับประคองให้อยู่ได้เพราะอายุมากเกินกว่าจะไปประกอบอาชีพอื่นอีกได้ และนึกไม่ออกว่าควรจะไปประกอบอาชีพอะไรได้อีก สิ่งที่มองดูว่าอยู่ได้เพราะมีสายป่านยาว กล่าวคือค้าขายมานานทำให้รู้จักคนมากและได้รับความไว้วางใจจากผู้ซื้อรุ่นเก่าและเพื่อนร่วมงาน ดังนั้นวิธีการหาลูกค้าประจำใหม่จึงอาศัยเพื่อนช่วยพูดต่อกันและขายให้ลูกค้าประจำในราคามิตรภาพ

นอกจากนี้ปัญหาเรื่องราคาค่าเช่าของตลาดกองคาราวานที่ขายช่วงเทศกาลก็มีราคาสูงเกินกว่าจะไปสู้กับผู้มาขายจากต่างถิ่น การไปติดต่อขอเช่าพื้นที่ในห้างสรรพสินค้าหรือศูนย์การค้าก็ยังคิดไม่ออกว่าควรจะทำดีหรือไม่ สิ่งที่ทำและเห็นชัดในขณะนี้คือร้านค้าหลายแห่งจะปิดร้านค้าในบางวันเพื่อไปขายตลาดนัด ด้านการเงิน พบว่าไม่มีปัญหาและไม่ประสงค์สร้างปัญหา ดังนั้นจึงไม่มีผู้สนใจขอกู้เมื่อมีนโยบายรัฐให้มีกองทุนเงินกู้หมู่บ้านละหนึ่งล้านบาท ส่วนเงินที่เก็บจากสมาชิกปีละ ๓๖๐ บาทจะใช้จ่ายในเรื่องการจัดงานปีใหม่ หรือจัดซื้อเป็นของเยี่ยมไข้หรือของขวัญขึ้นบ้านใหม่ให้กับสมาชิก รวมทั้งการจัดงานประชุมกลุ่มสมาชิก ได้มีการถกกันบ้างเกี่ยวกับอนาคตของชาวตลาดนครปฐม หากสภาพองค์พระปฐมเจดีย์ถูกปรับเปลี่ยนให้เป็นเขตอนุรักษ์ที่ไม่อนุญาตให้ขายของและจอดรถ หรือหากมีการเปลี่ยนจุดค้าขายใหม่ ทางตลาดจะปรับเปลี่ยนไปขายที่ใหม่ได้หรือไม่ และถ้าบริเวณที่เป็นตลาดอยู่นี้ได้รับการปรับเปลี่ยนชาวตลาดจะยอมรับได้หรือไม่หากต้องถูกย้ายที่ไปขายที่จุดอื่นซึ่งยังตอบไม่ได้ว่าเป็นทำเลที่ดีกว่าเดิมหรือไม่ ถ้าตลาดได้รับการปรับเปลี่ยนให้เป็น ๒ ชั้นเหมือนตลาดวโรรส จังหวัดเชียงใหม่ หรือถูกปรับเปลี่ยนให้มีทางเดินที่กว้างขวางราบเรียบและเชื่อมถึงกันทั้งหมดเหมือนตลาดหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ชาวตลาดจะมีความคิดเห็นเป็นประการใดสิ่งเหล่านี้คงต้องหารือในรายละเอียดร่วมกันต่อไปเพื่อให้ตลาดเกิดการฟื้นฟูและได้รับความนิยมดังเดิม เนื่องจากเรื่องที่ศึกษายังมีอีกมาก จึงกำหนดให้มีการจัดเวทีเรื่องเดิมนี้อีกหลายครั้งจนกว่าจะได้แนวทางชัดเจนเพื่อการปรับเปลี่ยนสภาพตลาดและการฟื้นฟูตลาดซึ่งอยู่ใจกลางเมืองนครปฐมให้กลับมารุ่งเรืองดังอดีตและเป็นสถานที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์อีกแห่งหนึ่งของจังหวัดนครปฐม

ประเด็นที่น่าศึกษา

จากการจัดเสวนาสัญจรเรื่อง ตลาดนครปฐม : วันวาน-วันนี้-วันพรุ่งนี้ เมื่อวันศุกร์ที่ ๒๘ มีนาคม พ.ศ.๒๕๔๖ ณ บริเวณที่ทำการชมรมชาวตลาดนครปฐม ตลาดล่าง อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม พบว่ามีประเด็นศึกษาที่น่าสนใจที่ควรพิจารณาต่อดังนี้

๑. ตลาดล่างกับตลาดบนสร้างพร้อมกันหรือไม่

๒. ข้อมูลที่ชัดเจนเกี่ยวกับรูปปั้นพญากง

๓. การสร้างกำแพงรอบนอกองค์พระปฐมเจดีย์

๔. ตลาดโต้รุ่ง

๕. ตลาดผ้า / ตลาดผัก

๖. สภาพของตลาดในปัจจุบัน

๗. ข้อมูลเพิ่มเติมอื่นๆ ได้แก่

๗.๑ แหล่งที่ตั้ง (Location)

๗.๒ แผนผัง

สรุปความโดย : ยุพดี จารุทรัพย์