หลังจากที่ได้เขียนถึงคำขวัญวรรคแรกของจังหวัดนครปฐมที่กล่าวถึงส้มโอไปแล้ว ทีนี้เรามาทำความรู้จักกับคำขวัญวรรคที่สองของจังหวัดนครปฐมคือ ข้าวสารขาว
ข้าวสาร หรือข้าว เป็นอาหารหลักที่ประชากรส่วนใหญ่ของประเทศใช้บริโภค เป็นพืชเศรษฐกิจหลักของประเทศไทยจนมีคำกล่าวที่ว่า “ชาวนาถือเป็นกระดูกสันหลังของประเทศ” ประเทศไทยผลิตข้าวเพื่อการบริโภคภายในประเทศและส่งออกไปขายต่างประเทศปีละมากมาย มีการปลูกข้าวในหลายพื้นที่ หลายภาค หลายจังหวัดของประเทศ แล้วทำไมจังหวัดนครปฐมจึงมีคำขวัญวรรคที่สองที่ว่า ข้าวสารขาว
ข้าว เป็น ธัญพืชที่ใช้เป็นอาหารสำคัญอย่างหนึ่งของโลก ตามหลักวิชาพฤกษศาสตร์ ข้าวเป็นพืชจำพวกใบเลี้ยงเดี่ยว ในวงศ์ (family) Gramineae อยู่ในสกุล (Genus) Oryza ชื่อเฉพาะของข้าวคือ sativa ดังนั้นข้าวจึงมีชื่อในภาษาละติน ว่า Oryza sativa
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ ให้คำจำกัดความข้าวว่า เป็นเมล็ดพืช พวกหญ้า มีใบยาวและบางเส้นใบเป็นแบบขนาน ต้นเป็นลำข้อและมีดอก ในฤดูเก็บเกี่ยวที่ปลายยอดของแต่ละข้อจะมีก้านอ่อนเล็กๆ มากกว่า ก้านจะมีเมล็ดข้าวติดอยู่เป็นแถว มีเปลือกสีน้ำตาลหุ้มเมล็ดข้างใน ถ้าเขย่าเบาๆ จะทำให้๕ ก้าน แต่ละเมล็ดหลุดจากช่อ เมล็ดข้างในจะหลุดออกจากเปลือกได้โดยการตำ หรือสีข้าว เมล็ดข้าวที่เอาเปลือกออกแล้วทำให้สุกโดยการต้มหรือนึ่ง เพื่อรับประทานเป็นอาหาร
ข้าวที่ชาวนครปฐมปลูกโดยเฉพาะในแถบ อ.นครชัยศรี ซึ่งเป็นอู่ข้าวอู่น้ำสำคัญของจังหวัดนั้น เมื่อสีแล้วเมล็ดข้าวจะขาวกว่าแหล่งอื่นอย่างเห็นได้ชัด
วราห์ สุวณิชย์ ผู้ประกอบการโรงสีข้าวแห่งหนึ่งในนครชัยศรี ให้ข้อมูลว่า ในอดีตชาวนครชัยศรีนิยมปลูกข้าว 2 พันธุ์ คือ พันธุ์ข้าวเหลืองอ่อน หุงแล้วนิ่ม และพันธุ์ข้าวเหลืองเล็กหุงแล้วเมล็ดแข็งกว่า และข้าวที่ปลูกในนครชัยศรี เมื่อสีแล้วจะได้ข้าวสารเมล็ดขาวกว่าข้าวของที่อื่น ปัจจุบันชาวนครปฐมไม่นิยมปลูกข้าว 2 พันธุ์นี้แล้ว แต่หันมาปลูกข้าวพันธุ์ที่มีอายุเก็บเกี่ยวน้อยกว่า ได้แก่ พันธุ์สุพรรณ 1 พันธุ์ชัยนาท พันธุ์พิษณุโลก1 เป็นต้น
พันธุ์ข้าวเหลืองอ่อน เป็นข้าวนาปีต้นสูงเก็บเกี่ยวประมาณกลางเดือนธันวาคม เป็นพันธุ์ข้าวที่มีคุณภาพหุงต้มดีเป็นที่ต้องการของตลาด มีเมล็ดข้าวเปลือกสีเหลืองอ่อนเรียวยาว เมล็ดข้าวสารเลื่อมมัน ยังปลูกกันอยู่ในนาน้ำฝนในภาคกลาง หลายจังหวัด เช่น ราชบุรี เพชรบุรี ในภาคตะวันออกฉียงเหนือมีปลูกในจังหวัดร้อยเอ็ด ข้าวเหลืองอ่อนมีฟางอ่อนล้มง่าย ถ้าข้าวงอกงามอาจล้มไวทำให้เสียหายต่อผลผลิต
จากข้อมูลสำนักงานเกษตรจังหวัดนครปฐม ปี พ.ศ. 2551 แสดงว่า พื้นที่ปลูกข้าวที่สำคัญ อยู่ใน อ.บางเลน อ.กำแพงแสน และ อ.นครชัยศรี รวมกว่า 4 แสนไร่ หรือ ร้อยละ 30 ของพื้นที่จังหวัด นครชัยศรีนับเป็นแหล่งปลูกข้าวที่สำคัญของไทย
พื้นที่ปลูกข้าว จังหวัดนครปฐมมีเขตพื้นที่การปกครอง ประกอบด้วย 7 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองฯ, บางเลน, กำแพงแสน, นครชัยศรี, สามพราน, ดอนตูม และพุทธมณฑล ประกอบด้วย 106 ตำบล 949 หมู่บ้าน มีระบบชลประทาน ที่ครอบคลุมพื้นที่ประมาณร้อยละ 76 ของพื้นที่กำหนด มีพื้นที่ปลูกข้าวทั้งสิ้น 362,620 ไร่ หรือประมาณร้อยละ 43 ของพื้นที่ทำการเกษตร โดยปกติเกษตรกรทำนาค่อยข้างไม่เป็นฤดูกาล โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีน้ำชลประทานหล่อเลี้ยงตลอดปี
(รูปประกอบ http://www.brrd.in.th/ricemap/riceCD52/index.php-url=detail.php®ion_id=1&province_id=73.htm)
ข้าวหอมพันธุ์นครชัยศรี
ข้าวอีกสายพันธุ์หนึ่งของจังหวัดนครปฐมคือ ข้าวหอมพันธุ์นครชัยศรี โดยสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม(ส.ป.ก.) ได้ร่วมกับ จ.นครปฐม และหอการค้า จ.นครปฐม จัดโครงการเพิ่มศักยภาพข้าวหอมนครชัยศรีบนผืนดินพระราชทาน เร่งสืบสานและอนุรักษ์ข้าวหอมพันธุ์นครชัยศรี ซึ่งเป็นพันธุ์ข้าวท้องถิ่นดั้งเดิมของ จ.นครปฐม เคยปลูกมากที่ อ.นครชัยศรี แต่หายไปจากพื้นที่นานกว่า 33 ปี ปัจจุบันได้นำเมล็ดพันธุ์ข้าวหอมนครชัยศรีมาส่งเสริมให้เกษตรกรในเขตผืนดิน พระราชทาน อ.พุทธมณฑล ปลูกนำร่อง 3 ไร่ โดยคาดว่าจะขยายพื้นที่ปลูกใน จ.นครปฐม ได้ไม่น้อยกว่า 2,000 ไร่ และเพิ่มปริมาณเมล็ดพันธุ์มากขึ้น จากนั้นจะส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกในเชิงการค้าต่อไป
ข้าวหอมพันธุ์นครชัยศรี มีลักษณะเด่นคือมีกลิ่นหอมคล้ายข้าวหอมมะลิ ให้ผลผลิตสูง เมล็ดยาว ขาวสวย
—————————————————————
แหล่งอ้างอิง
เอกพงศ์ ศรทอง. นครปฐม. สารคดี. ปีที่ 25, ฉบับที่ 298 (ธ.ค. 2552) : หน้า 187-193 ; ภาพประกอบสี.
http://www.siamturakij.com/home/news/print_news.php?news_id=413101
http://www.naewna.com/news.asp?ID=109712
http://www.kasettoday.com/kasetboard/index.php?topic=494.0
http://www.culture.go.th/knowledge/story/rice/file01.htm
http://www.brrd.in.th/ricemap/riceCD52/index.php-url=detail.php®ion_id=1&province_id=73.htm
ข้อมูลที่มีบริการในศูนย์ข้อมูลภภาคตะวันตก
บุญนาค ตีวกุล และวัชรินทร์ ตีวกุล. ทัศนคติและรายได้ในการทำนาข้าว เปรียบเทียบระหว่างการใช้แรงงานธรรมชาติและเครื่องมือจักรกล ของจังหวัดนครปฐมและจังหวัดราชบุรี ในปี 2519. กรุงเทพฯ : สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ, 2520.
วีระ อินพันทัง. รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์สถาปัตยกรรมเนื่องในวัฒนธรรมข้าว. กรุงเทพฯ : คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2547.
สถานีทีวีไทย. ชมรมเพื่อนพอเพียง ; ตอน พิพิธภัณฑ์วิถีชีวิตชาวนาไทย. กรุงเทพฯ : องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย, 2553.