คลองเจดีย์บูชา : ข้อมูลบางส่วนที่หายไป

ความเป็นมา

จากเวทีการเสวนาเรื่องคลองเจดีย์บูชา: ข้อมูลบางส่วนที่หายไปกับความเข้มแข็งของชุมชน วันที่ 23 เมษายน พ.ศ.2546 ณ หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ สำนักหอสมุดกลาง นั้น หอสมุดฯ ได้จัดขึ้นสืบเนื่องจากได้มีหน่วยงานต่างๆ ได้เคยจัดการเสวนาในประเด็นนี้อย่างไม่เป็นทางการเมื่อครั้งวันที่ 27 มีนาคม พ.ศ.2546 ณ องค์การบริหารส่วนตำบลจังหวัดนครปฐม และผู้นำการเสวนาดังกล่าวคือ อาจารย์ ดร.เอี่ยม ทองดี เสนอว่าน่าจะมีหน่วยงานที่ทำหน้าที่ประสานงานในเรื่องของข้อมูล และหอสมุดฯ ได้รับหน้าที่ดังกล่าว เนื่องจากพิจารณาแล้วว่า หอสมุดฯ เป็นที่ตั้งของศูนย์ข้อมูลภาคตะวันตก และการทำงานร่วมมือจากหลายส่วน ทั้งที่อยู่ในส่วนกลางและในส่วนของจังหวัดนครปฐมเอง ซึ่งการทำงานในลักษณะนี้ถือว่าเป็นการสรุปบทเรียนและเป็นการเสริมสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้กับชุมชนอย่างแท้จริง

การเสวนาครั้งนี้เริ่มจากอาจารย์ ดร.เอี่ยม ทองดี ได้ฉายสไลด์ให้เห็นภาพของคลองเจดีย์บูชา ตั้งแต่ต้นคลอง จนถึงปลายคลองเจดีย์บูชา

คลองเจดีย์บูชา

คลองเจดีย์บูชาเป็นคลองที่ถูกขุดขึ้นตั้งแต่ พ.ศ.2401 สมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 และแล้วเสร็จประมาณปี พ.ศ.2405

ต้นน้ำของคลองเจดีย์บูชาจะรับน้ำมาจากคลองชลประทาน 5 ช และเชื่อมต่อกับคลองวังตะกูซึ่งเป็นคลองธรรมชาติที่แยกมาจากคลองทัพหลวง บริเวณบ้านม่วงตารศ หมู่ที่ 8 ตำบลทัพหลวง อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม

คลองเจดีย์บูชาวางตัวในแนวตะวันออก-ตก ไหลผ่านตามความยาวของพื้นที่เทศบาลนครนครปฐม โดยผ่านเข้ามาทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ลำคลองจะโค้งเล็กน้อยแล้วตั้งตรงไปทางตะวันออก ผ่านหน้าวัดพระงาม แล้วหักโอบศูนย์กลางธุรกิจ (ตลาดนครปฐม) แนวคลองช่วงนี้จะไหลลอดกำแพงองค์พระปฐมเจดีย์ และหักตัวเป็นมุมฉากไปทางตะวันออก ตรงออกนอกเขตเทศบาล มีคลอง ห้วยจรเข้ไหลมาติดต่อ บางตอนจะอิงทางน้ำธรรมชาติ จึงแลเป็นแนวโค้ง และตัดตรงไปจดแม่น้ำท่าจีนที่บ้านตลาดต้นสน ตำบลท่านา อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม

นอกจากนี้แล้วยังมีคลองต่างๆ ในจังหวัดนครปฐม ที่สามารถเชื่อมโยงกับคลองเจดีย์บูชา เช่น

  • คลองโพรงมะเดื่อ
  • คลองห้วยจระเข้
  • คลองพระยากง หรือคลองบ้านภูมิ
  • คลองประโทน
  • คลองบางแก้ว
  • คลองระบาย ร 1 ซ เจดีย์บูชา

น้ำเสียของคลองเจดีย์บูชา มีด้วยกันหลายสาเหตุรวมๆกัน คือน้ำเสียที่เกิดจากชุมชน เกษตรกรรม และอุตสาหกรรม แต่การกล่าวโทษกันว่าผู้ใดเป็นสาเหตุนั้น ไม่ก่อประโยชน์อันใด ทางแก้ไขจึงน่าจะเริ่มที่จุดเล็กๆ ก่อน เพื่อปลูกและสร้างจิตสำนึกให้รักสิ่งแวดล้อม

ประสบการณ์จากวัดกลางบางแก้ว

พระอธิการบุญช่วย อาทโร เจ้าอาวาสวัดกลางบางแก้ว ได้เล่าถึงประสบการณ์ในการดูแลคลองบางแก้วว่า ทางวัดร่วมมือกับชาวบ้านและองค์การบริหารส่วนตำบล ได้ร่วมกันคิด ร่วมกันทำ และพัฒนาคลองบางแก้วให้เป็นคลองใสสะอาด โดยขั้นแรกเกิดจากการพูดคุย ดูพื้นที่ด้วยกัน ประชุมด้วยกัน แม้น้ำเสียจะจางหายไปกับการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติ และสิ่งที่ยังอยู่ในชุมชนคือความรักในคลองบางแก้ว

ประเด็นที่ได้จากการเสวนา

จากต้นคลองเจดีย์บูชาถึงปลายคลอง เป็นที่ตั้งของวัดมากมาย และในวันนี้ได้มีพระคุณเจ้าจากวัดต่างๆ ได้มาคิดร่วมกัน ดังนั้นการทำงานครั้งนี้น่าที่จะเริ่มจากวัดเนื่องจากเป็นศูนย์รวมความศรัทธาของชาวบ้านและของชุมชนในพื้นที่ ด้วยการจัดกิจกรรมที่เรียนรู้ร่วมกันระหว่างวัด ชาวบ้าน หรือองค์การบริหารส่วนตำบล และกลุ่มองค์กรภาคประชาชนให้เห็นถึงศักยภาพของตัวเอง มองการแก้ไขปัญหากันอย่างเชื่อมโยงมากขึ้น และสามารถตัดสินใจและเลือกทิศทางความเป็นอยู่ต่อไปของชุมชน โดยมีหน่วยงานภาครัฐทำหน้าที่หนุนเสริมด้านข้อมูล โดยในครั้งแรกนี้จะเริ่มที่วัดไร่เกาะต้นสำโรง

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *