อุตสาหกรรมขนาดย่อมในภูมิภาคตะวันตก

อุตสาหกรรมขนาดย่อมในภูมิภาคตะวันตก

โดย อาจารย์อภิเศก ปั้นสุวรรณ  (วันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2546)

ที่ไหน เหตุไร อย่างไร

พื้นที่ในภูมิภาคตะวันตก ประกอบด้วย ราชบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ กาญจนบุรี สุพรรณบุรีและสมุทรสงคราม ตามการแบ่งเขตพื้นที่ของสำนักงานพัฒนาเสรษฐกิจและสังคมแห่งชาติในปัจุบัน การศึกษาครั้งนี้เพื่อต้องการทราบลักษณะโครงสร้างและการกระจายตัวของอุตสาหกรรมขนาดย่อม ปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องและความเชื่อมโยงกับพื้นที่ทั้งในภูมิภาคและต่างภูมิภาค เพื่อวิเคราะห์ปัญหาและข้อจำกัดในการพัฒนา และนำไปสู่แนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมขนาดย่อมในภูมิภาคตะวันตกต่อไป โดยจะใช้ข้อมูลของสถานประกอบการอุตสาหกรรมที่จดทะเบียนตามพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 ไว้กับกระทรวงอุตสาหกรรม ในปี พ.ศ.2542 มีจำนวนกว่า 6,373 โรงงาน จากจำนวนโรงงานอุตสาหกรรมที่มีอยู่ในพื้นที่ทั้งสิ้น 6,535 โรงงาน หรือคิดเป็น ร้อยละ 97 จากข้อมูลดังกล่าวข้างต้นนำมาสู่การกำหนดกลุ่มตัวอย่างในการศึกษา

ในการศึกษาจะให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมที่มีบทบาทสูงในภูมิภาค ได้แก่ (1) กลุ่มอุตสาหกรรมเกษตรพื้นฐาน (2) อุตสาหกรรมอาหาร (3) อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์อโลหะ และ (4) อุตสาหกรรมเครื่องมืออุปกรณ์ขนส่ง โดยทำการสำรวจ และสัมภาษณ์ผู้ประกอบการรวมทั้งสิ้น 40 แห่ง ระหว่างเดือนพฤษภาคม – กรกฎาคม พ.ศ. 2545 และทำการเก็บข้อมูลเพิ่มเติมจากสถานประกอบการ โดยใช้แบบสอบถามทางไปรษณีย์อีก 377 ตัวอย่าง ระหว่างเดือนสิงหาคม – ธันวาคม พ.ศ. 2544

สรุปผล

ภูมิภาคตะวันตกมีศักยภาพในการพัฒนาอุตสาหกรรมเป็นอย่างมาก เนื่องจากความพร้อมของฐานทรัพยากรการผลิต ที่มีวัตถุดิบทั้งการเกษตร การประมง และทรัพยากรธรรมชาติ รวมทั้งระบบสาธารณูปโภคที่พร้อม เช่น ระบบชลประทาน และการคมนาคมขนส่ง รวมทั้งการที่อยู่ใกล้กรุงเทพมหานครซึ่งเป็นตลาดที่สำคัญของประเทศ ทำให้อุตสาหกรรมในภูมิภาคมีความได้เปรียบเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่นๆ

ขณะที่การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับปัจจัยการผลิตต่างๆ ของพื้นที่ได้ส่งผลโดยตรงต่อการประกอบการทั้งพื้นที่การเกษตรที่ลดลง ความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติ และการเคลื่อนย้ายของประชากรในพื้นที่ โดยเฉพาะวัยแรงงาน

ในส่วนของโครงสร้างและการกระจายตัวของอุตสาหกรรมขนาดย่อมในภาคตะวันตกมีความสัมพันธ์อุตสาหกรรมขนาดย่อมในภูมิภาคนี้มีภาวการณ์ที่ใกล้ชิดกับภาคการเกษตร

อย่างไรก็ดีแนวโน้มของการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมหลักพื้นที่พบว่า อุตสาหกรรมเกษตรพื้นฐานและอุตสาหกรรมอาหาร เริ่มลดบทบาทลง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเกษตรพื้นฐานได้ขยายตัวในอัตราที่ต่ำมากและลดจำนวนอย่างรวดเร็ว ขณะที่อุตสาหกรรมที่ใช้ทุนและเทคโนโลยีที่สูงขึ้นเริ่มเข้ามาแทนที่

แหล่งอุตสาหกรรมพบว่า อุตสาหกรรมส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในบริเวณพื้นที่ระหว่างเขตอำเภอเมืองราชบุรี โพธาราม และบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี กับอำเภอท่าม่วง ท่ามะกา และอำเภอเมืองกาญจนบุรี จังหวัดกาญจนบุรี โดยมีจำนวนโรงงานกว่า 1,740 โรง หรือกว่าร้อยละ 37 ของโรงงานทั้งภูมิภาค ลักษณะการดำเนินการของอุตสาหกรรมขนาดย่อมในภูมิภาค มีลักษณะใกล้เคียงกับงานวิจัยอื่นๆ ที่ผ่านมา แต่พบว่ามีพัฒนาการที่มีแนวโน้มดีขึ้นในหลายด้าน เช่น ระดับการศึกษาของ ผู้ประกอบการ และแรงงาน เป็นต้น

อย่างไรก็ดีเราพบว่ามีปัญหาหลายประการที่ส่งผลต่อการดำเนินการโดยเฉพาะปัญหาเรื่องการขาดแคลนวัตถุดิบทางการเกษตร ที่มีส่วนสำคัญทำให้สถานประกอบการหลายแห่งต้องเลิกกิจการ การที่แรงงานรุ่นใหม่ไม่สนใจจะทำงานในกิจการขนาดย่อม และการขาดแคลนทุนหมุนเวียน รวมทั้งผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่มีการศึกษาสูงขึ้นให้ความสนใจการดำเนินกิจการขนาดย่อมน้อยลง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเกษตรพื้นฐาน

ในส่วนของนโยบายและมาตรการต่างๆ ของรัฐ ที่จะมีส่วนส่งเสริมและพัฒนาสถานประกอบการพบว่ามีผลต่ออุตสาหกรรมขนาดย่อมน้อยมาก สิ่งที่ผู้ประกอบการและกิจการได้รับมักจะเป็นการอบรมเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะเรื่องความปลอดภัยในการทำงาน ขณะที่บทบาทเรื่องความช่วยเหลือในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ การตลาด และการเงินยังมีน้อยมาก

นอกจากนี้ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังไม่ทราบถึงบริการต่างๆ ของรัฐ ซึ่งส่งผลให้ไม่มีการขอเข้ารับบริการในที่สุด อุปสรรคที่สำคัญอาจจะเป็นข้อจำกัดทางด้านบุคลากรและงบประมาณ โดยเฉพาะหลายหน่วยงานมีสำนักงานตั้งอยู่ในส่วนกลางหรือบางพื้นที่เท่านั้น ภาวการณ์เชื่อมโยงระหว่างอุตสาหกรรมในภูมิภาคกับพื้นที่อื่นๆ พบว่า ปัจจัยการผลิตเช่น วัตถุดิบ แรงงาน ส่วนใหญ่ได้จากภายในภูมิภาค โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเกษตรพื้นฐาน ขณะที่อุตสาหกรรมหลักอื่นๆ มีการพึ่งพิงปัจจัยการผลิตเหล่านี้จากนอกภูมิภาคค่อนข้างสูง เช่น อุตสาหกรรมเครื่องมืออุปกรณ์การขนส่ง ในส่วนของเทคโนโลยีในการผลิตเป็นสิ่งที่เป็นข้อจำกัดของอุตสาหกรรมขนาดย่อมในพื้นที่มากที่สุด โดยเทคโนโลยีส่วนใหญ่จะได้จากกรุงเทพมหานครและต่างประเทศ ซึ่งเป็นอุปสรรคที่สำคัญในการพัฒนาในอนาคต

จากข้อมูลดังกล่าวข้างต้นสรุปได้ว่า อุตสาหกรรมขนาดย่อมในภูมิภาคตะวันตกมีการพัฒนาเพิ่มขึ้นในหลายด้าน แต่มีแนวโน้มที่จะลดบทบาทลงในอนาคต ทั้งนี้เนื่องจากประสบปัญหาและอุปสรรคต่างๆ เช่น การจัดหาวัตถุดิบโดยเฉพาะทางการเกษตร การขาดแคลนแรงงานในอุตสาหกรรมบางประเภท และการขาดเงินทุนหมุนเวียน เป็นต้น ดังนั้นเพื่อที่จะพัฒนาและ ส่งเสริมอุตสาหกรรมขนาดย่อมในภูมิภาคตะวันตก รัฐจึงควรจะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการแก้ปัญหาต่างๆ ดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้น เพิ่มการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนา รวมทั้งการบริการข้อมูลให้มากขึ้น โดยเฉพาะเทคโนโลยีการผลิต การพัฒนาผลิตภัณฑ์ และการตลาด ผ่านการอบรมสัมมนา และคำปรึกษาแก่ผู้ประกอบการ