การพัฒนาการเรียนรู้จากสมุนไพร ของชุมชนปลักไม้ลาย อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม : การสำรวจข้อมูลพื้นฐานของชุมชน

การพัฒนาการเรียนรู้จากสมุนไพร ของชุมชนปลักไม้ลาย อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม : การสำรวจข้อมูลพื้นฐานของชุมชน

โดย ดร.คีรีบูน จงวุฒิเวศย์ และคณะ  (วันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ.2545)

ประวัติของชุมชนปลักไม้ลาย

ชุมชนปลักไม้ลาย ตั้งอยู่ที่ตำบลทุ่งขวาง อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม เป็นชุมชนหนึ่งในเขตภาคกลางซึ่งมีความเข้มแข็งและชาวบ้านมีการรวมตัวกันในการทำกิจกรรม

ปลักไม้ลาย เป็นชื่อที่ชาวบ้านเรียกชื่อชุมชนกันมานานเกือบร้อยปีที่ผ่านมาจนถึงทุกวันนี้ คำว่า ปลักไม้ลาย มีที่มาจากคำว่า ปลัก ที่หมายถึงแอ่งที่เป็นโคลนเลน เช่น ปลักควาย ซึ่งเป็นแอ่งน้ำที่มีโคลนเลนสำหรับควายแช่น้ำส่วนคำว่า ไม้ลาย เป็นชื่อของต้นไม้ประเภทหนึ่ง ปัจจุบันต้นไม้ลายยังมีอยู่ในป่าสมุนไพรของวัดด้านติดกับโรงเรียน

ดังนั้น ปลักไม้ลาย จึงหมายถึง บริเวณแอ่งน้ำที่มี โคลนเลนสำหรับควายแช่น้ำและในบริเวณปลักนั้นมีต้นไม้ลายขึ้นอยู่

ในอดีตเมื่อเกือบร้อยปีที่ผ่านมา หมู่บ้านปลักไม้ลายเป็นแหล่งที่ชาวบ้านใช้เป็นสถานที่พักระหว่างการเดินทาง จากการสัมภาษณ์ พระครูสุธรรมนาถ (สมนึก นาโถ ) เจ้าอาวาสวัดปลักไม้ลายรูปปัจจุบัน เล่าให้ฟังว่า ชาวบ้านใช้บ้านปลักไม้ลายเป็นสถานที่พักเหนื่อยและหยุดขบวนเกวียนเพื่อให้วัวควายได้พักระหว่างทาง เพราะหมู่บ้านตั้งอยู่ระหว่างตัวจังหวัดนครปฐมกับบ้านยาง หรือกำแพงแสนในปัจจุบัน ชาวบ้านที่เดินทางจากนครปฐมจะไปบ้านยาง เพื่อไปนมัสการพระแท่นดงรัง มักแวะพักกลางวันระหว่างทางที่ปลักไม้ลาย ส่วนกลางคืนพักที่ศาลาตึก เช่นเดียวกับชาวบ้านจากบ้านยาง จะไปนมัสการองค์พระปฐมเจดีย์ก็จะแวะพักที่ปลักไม้ลายเช่นกัน (สัมภาษณ์พระครูสุธรรมนาถ, 10 ธ.ค. 2542) จึงกล่าวได้ว่าชื่อ ปลักไม้ลายซึ่งเป็นชื่อที่ชาวบ้านเรียกมาแต่ดั้งเดิมสืบมาจนถึงปัจจุบันนี้

ชาวบ้านซึ่งเรียกตนเองว่าเป็นชาวปลักไม้ลายนั้นไม่ได้หมายถึงเฉพาะชาวบ้านที่อยู่ในหมู่ที่ 6 บ้านปลักไม้ลายเท่านั้น แต่ชาวบ้านที่อยู่ในหมู่ที่ 9 บ้านดอนขุนวิเศษ หมู่ที่ 10 บ้านหนอง – ไข่กา หมู่ที่ 1 บ้านหลักเมตรใหม่ รวมทั้งชาวบ้านส่วนหนึ่งของตำบลหนองงูเหลือม อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม ก็เรียกตนเองว่าเป็นชาวปลักไม้ลายเช่นกัน

จากการสัมภาษณ์นายทินวัฒน์ ถิรวัฒน์สกุล ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 10 บ้านหนองไข่กา (สัมภาษณ์, 20 ธ.ค. 2542) เนื่องจากเดิมชาวบ้านเหล่านั้นถือว่าตัวเขาเหล่านั้นเป็นชาวปลักไม้ลายด้วย แต่การแบ่งเขตการปกครองตามกระทรวงมหาดไทยปัจจุบัน ทำให้ต้องแบ่งพื้นที่ใหม่ แต่ชาวบ้านมิได้แบ่งแยกวัฒนธรรมตามการแบ่งพื้นที่ตามแบบราชการ ซึ่งสอดคล้องกับการที่ได้พูดคุยกับชาวบ้านที่ร้านกาแฟของหมู่บ้านว่าเขาเป็นชาวปลักไม้ลาย แต่บ้านอยู่หนองงูเหลือม และอีกคนหนึ่งเป็นชาวปลักไม้ลายแต่อยู่สี่แยกดอนขุนวิเศษ

ชุมชนปลักไม้ลาย ก่อตั้งมาเกือบร้อยปีที่ผ่านมา คนในชุมชนปลักไม้ลายส่วนใหญ่เป็นชาวจีน (สัมภาษณ์, นางบุญเลี้ยง จันทร์อ่อน, 10 ธ.ค. 2542) นางบุญเลี้ยง จันทร์อ่อน เป็นผู้อาวุโสในหมู่บ้าน อายุ 83 ปี เป็นผู้ที่คนในหมู่บ้านให้ความเคารพนับถือ ได้กล่าวถึงความเป็นมาของหมู่บ้านว่า ชาวบ้านรุ่นแรกของหมู่บ้านเป็นชาวจีนอพยพมาจากตัวจังหวัดนครปฐมเพื่อจับจองที่ดินทำกิน ปลูกพืชผักต่างๆ แต่เดิมหมู่บ้านส่วนใหญ่เป็นป่าที่ชาวจีนมาหักล้างถางป่าเพื่อปลูกผัก ชาวบ้านมากกว่าครึ่งหนึ่งของชุมชนจึงมีเชื้อสายจีน และมีกลุ่มหนึ่งที่เป็นชาวจีนโพ้นทะเลอพยพมาจากมณฑลซัวเถา ประเทศจีน

จากการบอกเล่าของชาวบ้านที่ร้านกาแฟของนางบุญเลี้ยง ซึ่งเป็นแหล่งนัดพบของชาวบ้าน กล่าวว่าขณะนี้ในหมู่บ้านมีชาวจีนที่เป็นคนกลุ่มแรกๆ ที่อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานที่ปลักไม้ลาย เช่น แป๊ะสุ่น และแป๊ะฮุ้ง ขณะนี้อายุเกือบ 80 ปีแล้ว เข้ามาที่ปลักไม้ลายช่วงแรกๆ ประมาณเกือบ 60 ปีที่ผ่านมา ซึ่งขณะนั้นในหมู่บ้านมีหมาป่า หมูป่า เม่น ชุกชุม พี้นที่ทำกินราคาไร่ละประมาณ 50 บาท ถ้าหากเช่าทำกินก็เสียค่าเช่าปีละประมาณ 10 บาทต่อไร่ ชาวจีนที่มาทำมาหากินที่ปลักไม้ลาย จะนิยมปลูกผัก พริก มะเขือ ขิง แล้วเก็บผลผลิตใส่ตะกร้าซ้อนท้ายจักรยานไปขายที่ตัวจังหวัดนครปฐม แป๊ะสุ่นเล่าให้ฟังว่าต้องขี่จักรยานออกจากหมู่บ้านไปตามถนนมาลัยแมนตั้งแต่เวลา 1 นาฬิกา เพื่อไปขายผักที่ตลาดนครปฐม พอขายผักเสร็จในตอนสายๆ ก็ขี่จักรยานกลับหมู่บ้าน

ต่อมาในช่วงหลังๆ จะมีรถจากผู้รับซื้อผักมาซื้อจากชาวบ้านเพื่อเอาไปขายที่นครปฐม ที่เรียกว่าเป็นพ่อค้าแม่ค้าคนกลาง ทำให้ไม่ต้องขี่จักรยานไปขายของเอง แต่ของที่ขายกับพ่อค้าคนกลางจะได้ราคาถูกกว่าการไปขายเองที่นครปฐม

ปัจจุบันชาวบ้านปลักไม้ลายส่วนหนึ่งปลูกผักปลอดสารพิษเพื่อส่งขายให้แก่บริษัทไฟว์สตาร์เฟรช จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เป็นผู้ติดต่อให้รับซื้อ โดยทางบริษัทจะแจ้งจำนวนและชนิดของผักที่สั่งซื้อ (order) ผ่านนายสุธรรม จันทร์อ่อน หัวหน้ากลุ่มปลูกผักปลอดสารพิษ โดยบริษัทดังกล่าวจะส่งเจ้าหน้าที่ของบริษัทมารับซื้อและบรรจุหีบห่อในหมู่บ้าน เพื่อส่งไปขายยังห้างสรรพสินค้าต่างๆ ส่วนราคาของสินค้าบริษัทรับซื้อจะเป็นผู้กำหนด ซึ่งชาวบ้านมีความพึงพอใจ

วัดปลักไม้ลาย ก่อตั้งในระยะเดียวกับที่เริ่มมีการก่อตั้งชุมชน คือหลังจากที่ชาวบ้านกลุ่มแรกๆ มาตั้งถิ่นฐานในหมู่บ้านประมาณ 2-3 ปี ถ้าหากนับอายุแล้วก็เกือบร้อยปี (สัมภาษณ์, นางบุญเลี้ยง จันทร์อ่อน 10 ธ.ค. 2543) เริ่มจากนางจอ (แม่ของนางบุญเลี้ยง จันทร์อ่อน) เป็นผู้ชักชวนชาวบ้านช่วยกันสร้างวัด โดยนางจอบริจาคที่ดินจำนวน 30 ไร่ และผู้ใหญ่งี้ เนตรจรัสแสง บริจาคที่จำนวน 15 ไร่ เพื่อสร้างวัด ภายหลังจากการสร้างวัดเสร็จแล้ว ชาวบ้านนิมนต์พระจากตัวเมืองนครปฐมมาเป็นเจ้าอาวาส ซึ่งเจ้าอาวาสองค์แรกคือ พระเอ่ง (ลูกชายของนางจอ และเป็นน้องชายของนางบุญเลี้ยง) ท่านเป็นเจ้าอาวาสที่วัดปลักไม้ลายนาน 11 ปี ได้สร้างศาลา โบสถ์ กุฏิ และได้ร่วมกับชาวบ้านซื้อที่ดินถวายให้วัดเพิ่มเติม ปัจจุบันมีเนื้อที่รวม 92 ไร่ โดยพื้นที่วัด ส่วนหนึ่งประมาณ 70 ไร่ เป็นสวนป่าสมุนไพร

หลังจากนั้นก็มีเจ้าอาวาสต่อ ๆ มาอีก 3 รูป จนถึงปัจจุบันเป็นเจ้าอาวาสรูปที่ 5 คือ พระครูสุธรรมนาถ ซึ่งผนวชเมื่อปี พ.ศ. 2520 และเป็นเจ้าอาวาสวัดปลักไม้ลาย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2525 ถึงปัจจุบัน และจากผลการวิจัยของรัตนะ บัวสนธ์ (2535 : 140 – 143) กล่าวถึงความเป็นมาของวัดปลักไม้ลายกับสมุนไพรไว้ดังนี้

ในปีแรกที่เข้ามาอยู่ ท่านกับพระลูกวัดช่วยกันจัดบริเวณวัดให้น่าอยู่เหมาะสมสำหรับเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมของพระ ด้วยการแผ้วถางป่าหนามทิ้ง แต่สำหรับต้นตอไม้ยืนต้นไม่ว่าจะเป็นประเภทและขนาดใดก็ตามท่านคงรักษาสภาพไว้ เมื่อแผ้วถางป่าหนามออกแล้วก็จัดสร้างกุฏิซึ่งมีลักษณะเป็นเพิงเล็กๆ แทรกอยู่ท่ามกลางป่าละเมาะเพื่อให้เป็นที่อยู่อาศัย และฝึกวิปัสสนาของพระ

หลังจากนั้นท่านก็เริ่มมีความคิดมุ่งมั่นที่จะฟื้นฟูสร้างและรักษาป่าไม้ให้เกิดขึ้นในเขตวัดอย่างจริงจัง ทั้งนี้เป็นเพราะความรักป่าไม้ที่มีมาเป็นทุนเดิมก่อนบวชส่วนหนึ่ง (ก่อนบวชพระครูสุธรรมนาถเรียนอยู่ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้ปีกว่าๆ) ประกอบกับความคิดที่ว่า “ป่าไม้คืออาราม เป็นอารามที่ให้ความสงบร่มรื่นมากเสียกว่าอารามที่เป็นกุฏิสร้างด้วยอิฐ ปูน” นอกจากนั้นท่านยังเป็นพระที่แสวงหาความรู้ความสนใจเกี่ยวกับเรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมจากสิ่งพิมพ์ สื่อมวลชนอยู่เสมอ และก็ตระหนักว่าบริเวณหมู่บ้านหนองน้ำดำนั้นได้สูญสิ้นสภาพป่าไม้สิ่งแวดล้อมไปโดยสิ้นเชิง จึงปรารถนาจะสร้างป่าไม้เพื่อให้เกิดความสงบและความร่มรื่นแก่ชาวบ้าน ที่เข้ามาประกอบพิธีทางศาสนาในวัดอีกส่วนหนึ่ง มูลเหตุทั้งหมดเหล่านี้เป็นพื้นฐานความคิดซึ่งก่อให้เกิดการสร้างป่าในวัด

การสร้างป่าไม้นี้ ท่านมีหลักการสองประการคือ รักษาให้ไม้ยืนต้นที่เกิดขึ้นเองคงอยู่ไว้และเสาะหาไม้ยืนต้นชนิดต่างๆ ไม่จำกัดพันธุ์จากแหล่งต่างๆ ที่ท่านได้รับกิจนิมนต์ไป หรือจากหน่วยงานของรัฐ เช่น สำนักงานป่าไม้จังหวัด นำกล้าไม้เหล่านี้มาเพาะปลูกแทรกลงบริเวณป่าละเมาะ ป่าหนาม ซึ่งท่านและพระลูกวัดช่วยกันแผ้วถาง โดยที่ท่านตั้งเป้าหมายจะค่อยๆ นำไม้ยืนต้นปลูกทดแทนไม้หนามและป่าละเมาะไปทีละน้อย

ปีแรกของการปลูกรักษาป่าไม้ก็เผชิญกับอุปสรรคที่สำคัญสองประการ คือ สภาพความแห้งแล้งของพื้นที่ดินฟ้าอากาศ และการรุกรานโค่นล้มต้นไม้ในเขตวัดจากชาวบ้านเพื่อนำไม้ไปใช้

อุปสรรคประการแรกทำให้กล้าไม้ยืนต้น และต้นไม้ที่นำลงปลูกจำนวนไม่ต่ำกว่าเรือนพัน เหี่ยวแห้งเฉาตายไปเรื่อยๆ จนเกือบหมด สาเหตุเพราะบริเวณวัดเป็นพื้นที่ดินทรายดอนสูงที่สุดแห่งหนึ่งของจังหวัด และในวัดเองก็ไม่มีแหล่งน้ำอย่างเพียงพอที่จะนำมารดให้ความชุ่มชื้นแก่ต้นไม้ ประกอบกับปีดังกล่าวนั้นเป็นปีที่สภาพภูมิอากาศของเขตอำเภอกำแพงแสนแห้งแล้งผิดปกติ การแก้ไขปัญหาชั่วคราวเพื่อรักษาชีวิตต้นไม้เท่าที่จะกระทำได้ในขณะนั้นก็คือ พระครูสุธรรมนาถไปติดต่อขอยืมเครื่องสูบน้ำจากชาวบ้านนำมาสูบน้ำจากคลองชลประทานแล้ว ปล่อยน้ำให้ไหลเจิ่งนองไปทั่วบริเวณป่าที่ปลูก

การกระทำเช่นนี้ ก่อให้เกิดความแปลกใจระคนขบขันต่อชาวบ้านที่พบเห็นและชาวบ้านที่คิดว่าเจ้าอาวาสทำอะไรแผลงๆ อุตริ ดังที่ชาวบ้านพูดในทำนองที่ว่า “มีแต่คนเขาสูบน้ำใส่ไร่อ้อย สวนผัก แต่หลวงพ่อสูบน้ำทิ้งเล่นไม่คุ้มค่าน้ำมัน”

บทเรียนความแห้งแล้งของดินฟ้าอากาศกับเสียงสะท้อนตอบจากชาวบ้านทำให้ เกิดความคิดใหม่่สำหรับเจ้าอาวาสที่จะแก้ไขปัญหาอย่างถาวรเพื่อรักษาป่าไม้ไว้ การต่อสู้กับความแห้งแล้งก็เริ่มขึ้นด้วยการหาพันธุ์ไม้ที่ทนทานต่อสภาพแห้งแล้งได้ดีมาปลูกก่อนเป็นอันดับแรก เพื่อหวังให้ไม้ดังกล่าวเกิดร่มเงาบังให้กับต้นไม้ยืนต้นอื่นๆ เช่น ไผ่เลี้ยง ไทรย้อย และสะเดา เป็นพันธุ์ไม้ซึ่งท่านนำมาปลูกในขณะเดียวกันท่านและพระลูกวัดบางองค์ก็ช่วยกันขุดดินเป็นร่องเล็กๆ กระจายทั่วบริเวณที่ปลูกต้นไม้แล้วจึงสูบน้ำจากบ่อบาดาลของวัดปล่อยให้ไหลหล่อเลี้ยงอย่างสม่ำเสมอ ผลปรากฎครั้งนี้สำเร็จไปด้วยดี ต้นไม้ต่างๆ ที่นำมาปลูกรวมทั้งต้นไม้ที่ขึ้นเองก็เจริญเติบโตเป็นตามลำดับ

สำหรับอุปสรรคประการที่สอง เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นสืบเนื่องมาตลอดคือ การตัดต้นไม้ในป่าไปเผาถ่าน เพราะชาวบ้านเคยชินกับการใช้ประโยชน์จากป่าของวัดซึ่งหลงเหลืออยู่แห่งเดียวมาโดยตลอด ท่านจึงคิดอุบายเพื่อไม่ให้ชาวบ้านเข้ามาตัดไม้ไปเผาถ่านอีกต่อไป อุบายที่คิดขึ้นไม่ใช่การบอกห้ามชาวบ้านโดยตรงด้วยคำพูด หากแต่ใช้วิธีบอกโดยอ้อมถึงประโยชน์ของต้นไม้แต่ละชนิดที่มีสรรพคุณเป็นยาสมุนไพรใช้รักษาโรคต่างๆ เนื่องจากตัวท่านเองก็มีความรู้เกี่ยวกับสมุนไพร เคยศึกษาค้นคว้ามาก่อนบวชและภายหลังบวชแล้วก็ยังได้ศึกษาแลกเปลี่ยนความรู้กับผู้รู้ในเรื่องสมุนไพร หมั่นศึกษาจากตำราสมุนไพรอื่นๆ ประกอบมิได้ขาด อุบายโดยอ้อมที่คิดและทำขึ้น ได้แก่ การให้พระช่วยกันเขียนป้ายชื่อต้นไม้และสรรพคุณสำหรับการรักษาโรคแต่ละชนิด แล้วนำป้ายเหล่านั้นไปแขวนห้อยตามต้นไม้จนทั่วบริเวณป่าของวัด

ชาวบ้านที่เคยเข้ามาตัดไม้เมื่อมองเห็นป้ายชื่อที่พระนำมาแขวนไว้ก็ไม่กล้าจะปลดป้ายออกเพื่อตัดต้นไม้เหล่านั้น แรกๆ ชาวบ้านก็มิได้เลื่อมใสศรัทธา แต่เจ้าอาวาสจะใช้สมุนไพรรักษาโรคได้ดังที่ท่านเล่าให้ฟังว่า “พวกชาวบ้านเขาเกรงใจและรู้ว่าพระหวงและรักษาต้นไม้เท่านั้น” ต่อมานานเข้าชาวบ้านสังเกตเห็นท่านนำต้นไม้ใหม่ๆ เข้ามาปลูกในวัดอยู่เสมอมิได้ขาด ชาวบ้านก็ไม่ตัดต้นไม้ในวัดไปเผาถ่านอีกเลยจนปัจจุบันนี้ ดังนั้นต้นไม้ทั้งเก่าและใหม่จึงมีโอกาสเจริญเติบโตได้อย่างสืบเนื่องตลอดมา

อย่างไรก็ตามปัญหาความแห้งแล้งขาดแคลนน้ำเพื่อนำมาใช้หล่อเลี้ยงป่าไม้และป่าสมุนไพรก็ยังเกิดขึ้นอยู่เป็นบางช่วง ดังนั้นเพื่อหาแหล่งน้ำใช้เพิ่มเติมท่านจึงลงทุนติดตั้งกังหันลมขนาดใหญ่สูบน้ำจากคลองชลประทานต่อท่อและขุดร่องกระจาย น้ำไปตามพื้นที่ป่าทั่วไป การติดตั้งกังหันลมนี้ทำเมื่อปี พ.ศ. 2532 หมดเงินไปทั้งสิ้นเก้าหมื่นบาท นอกจากจะติดกังหันลมแล้ว ท่านและพระลูกวัดยังช่วยกันขุดเจาะบ่อน้ำบาดาลขึ้นใช้เพิ่มอีกหนึ่งบ่อ ปัญหาการขาดน้ำหล่อเลี้ยงต้นไม้จึงคลี่คลายลงไป

สำหรับบทบาทการเป็นหมอยาสมุนไพรของท่านนั้นในระยะแรกๆ ชาวบ้านบางคนก็เข้ามาเล่าอาการเป็นโรคให้ฟังพร้อมกับขอยาสมุนไพรไปใช้ การให้ยาสมุนไพรกับชาวบ้านที่มาขอ บางครั้งท่านก็ให้ยาที่นำมาตากแห้งซึ่งบดเก็บไว้ หรือบางครั้งก็ให้ชาวบ้านไปเก็บเอาในป่าตามป้ายชื่อที่เขียนไว้พร้อมทั้งบอกวิธีการใช้ให้เอาไปปฏิบัติที่บ้าน

ต่อมาก็มีชาวบ้านมาขอยาเพิ่มขึ้น ซึ่งชาวบ้านที่มาขอยาจากวัดนี้ส่วนมากจะผ่านการไปรักษาตามโรงพยาบาลหรือสถานีอนามัยตำบลมาแล้ว แต่รักษาไม่หาย เป็นโรคเรื้อรังหรือเป็นโรคประจำตัวต่างๆ นานา สำหรับชาวบ้านส่วนใหญ่ยังคงนิยมซื้อยาแผนปัจจุบันและไปรักษาที่สถานีอนามัยตำบลมากกว่า เพราะว่าการใช้สมุนไพรนั้นชาวบ้านมีความคิดว่ายุ่งยากในการปรุงและรักษาไม่หายได้เร็วทันใจตน การขอสมุนไพรจากวัดจึงเป็นทางเลือกสุดท้ายเท่านั้น ซึ่งเจ้าอาวาสเองก็ไม่ได้มุ่งหวังให้ชาวบ้านหันมาใช้สมุนไพรทั้งหมด หากเพียงแต่ท่านหวังว่าเมื่อเกิดเหตุการณ์ขัดสนยาแบบกระทันหัน หรือเกิด เหตุการณ์เฉพาะหน้า ชาวบ้านยังมียาที่วัดใช้ทดแทนได้ นอกจากนั้นยังช่วยให้ชาวบ้านเล็งเห็น คุณค่าต้นไม้มากขึ้น

ปัจจุบันนี้จากพื้นที่วัดซึ่งเป็นดินดอนแห้งแล้งจำนวน 92 ไร่ ได้กลับกลายสภาพเป็นป่าไม้ และป่าสมุนไพรขึ้นเขียวชอุ่มร่มรื่นคลุมพื้นที่ทั้งหมด 70 กว่าไร่ สัตว์ป่าประเภทนก กระรอก และงู เข้ามาอยู่อาศัย ก่อให้เกิดสภาพเป็นป่าเพียงแห่งเดียวของจังหวัด สำหรับพื้นที่วัดที่เหลือ ซึ่งชาวบ้านขออาศัยเช่าเป็นที่ทำกินปลูกอ้อยนั้น เจ้าอาวาสได้ขอคืนและขยายพื้นที่ปลูกป่าออกไปอีก มีการปลูกไผ่ชนิดต่างๆ เพื่อให้ใบไผ่เป็นปุ๋ยและมีการทำระบบการให้น้ำในสวนป่าสมุนไพร โดยองค์การบริหารส่วนตำบลสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินการจำนวนสองแสนบาท

นอกจากนี้ทางวัดได้ทำทางเดินโดยกั้นเชือกเพื่อกำหนดเส้นทางเดินป่าสมุนไพร มีการจัดทำแผนที่เส้นทางการเดินป่า รวมทั้งได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยภาคกลาง เขต 1 กาญจนบุรี ในการดำเนินงานโครงการเที่ยวป่าสมุนไพร โดยจัดเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2542 ปัจจุบันวัดเป็นแหล่งศึกษาเรื่องสมุนไพร มีหน่วยงาน สถาบันและกลุ่มบุคคลต่างๆ ได้เข้ามาศึกษาดูงานป่าสมุนไพรอยู่เสมอ