ตำรายาพื้นบ้านและมะขามป้อม
โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. วันดี ญาณไพศาล (วันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ.2545)
ตำรายา : วิถีการอนุรักษ์
การแพทย์พื้นบ้านเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านที่ทำหน้าที่รับใช้สังคมไทยมานาน ในการรักษาสมาชิกในสังคมให้หายจากโรคภัยไข้เจ็บ มีสุขภาพอนามัยที่สมบูรณ์และมีชีวิตยืนยาว
องค์ความรู้พื้นบ้านได้รับการเชื่อถือและยอมรับจากวิทยาศาสตร์สมัยใหม่และการแพทย์แผนปัจจุบันว่าเป็นข้อมูลที่มีศักยภาพสูง ดังจะเห็นได้จากการค้นหายาใหม่จากธรรมชาติ ในปัจจุบันนิยมเริ่มต้นจากการใช้สมุนไพรของแพทย์พื้นบ้านโดยอาศัยประโยชน์จากประสบการณ์ของแพทย์พื้นบ้าน ที่สะสมต่อเนื่องเป็นเวลานานมาใช้เป็นแหล่งข้อมูลการวิจัยทางคลินิกที่แม้ไม่เป็นทางการ แต่สามารถแยกแยะพืชสมุนไพรที่มีประสิทธิภาพดีออกจากพืชที่ด้อยประสิทธิภาพหรือความเป็นพิษได้เป็นอย่างดี ทำให้มีโอกาสประสบความสำเร็จในการค้นคว้าสูง และใช้ต้นทุนค่าใช้จ่ายน้อยกว่าการนำพืช ในโลกที่มีจำนวนมากมายมาวิจัยอย่างไร้กฎเกณฑ์
หมอพื้นบ้านเป็นแหล่งสะสมความรู้ที่สำคัญต่อการแพทย์แผนไทยทั้งโดยตรงและจากตำราที่สืบต่อกันมา หากแต่ความรู้ด้านการใช้สมุนไพรที่มีการสั่งสมมายาวนานนั้น ปัจจุบันกลับไม่ได้รับการเหลียวแลเท่าที่ควร ทำให้ขาดการสืบทอดและเกิดการสูญหาย
การรวบรวมความรู้ผ่านทางการรวบรวมตำรายาพื้นบ้าน ไม่ว่าจะเป็นเอกสารโบราณที่อยู่ในรูปสมุดไทยขาวเขียนด้วยหมึก หรือสมุดไทยดำเขียนด้วยตัวอักษรสีขาว หรือสีเหลือง ทั้งหมดล้วนแต่เสื่อมสภาพตามกาลเวลา แม้จะได้รับการดูแลไม่ให้ถูกทำลายโดยปลวกหรือแมลง แต่เอกสารจำนวนไม่น้อยที่ตัวอักษณซึ่งเคยบันทึกได้เลือนหายหรือกลมกลืนกับสีของพื้นของกระดาษจนยากแกการอ่าน ดังนั้นการทำสำเนาที่คงทนจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นเพื่อรักษาเอกสารที่สมบูรณ์ให้ยังคงอยู่ในสภาพใช้ได้อีกนาน การทำสำเนาด้วยการเก็บข้อมูลในรูปของ digital โดยการบันทึกภาพและข้อมูล (scan) ตำรับยา เป็นทางเลือกที่ ผู้วิจัยกำลังดำเนินการอยู่โดยเริ่มแล้วที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และกำลังดำเนินการที่จังหวัดนครปฐมและใกล้เคียง
มะขามป้อม : จากความคุ้นเคย สู่ความคุ้มค่า
ต้น เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง สูงประมาณ 7 เมตร เปลือกค่อนข้างเรียบเกลี้ยง ใช้เป็นอาหาร ผลแก่จัด รับประทานเป็นผลไม้ ทำเป็นผลไม้กวน แช่อิ่ม และทำน้ำผลไม้ ใบ เป็นใบรวม มีใบย่อยออกเรียงกันเป็น 2 แถว คล้ายขนนก ลักษณะใบย่อยเป็นใบขนาดเล็ก ปลายใบแหลมยาวรี มีสีเขียวแก่
ผล รูปร่างกลม เกลี้ยง มีรอยแยกแบ่งเป็น 6 ซีก เนื้อ ในผลสีเหลืองออกน้ำตาลเมื่อแก่ ผลอ่อนมีสีเขียว ออกเหลือง ในเนื้อผลมีเมล็ดสีน้ำตาล มีวิตามินซีสูงมาก วิตามินเอ มีธาตุแคลเซียม และฟอสฟอรัส กรดอินทรีย์ มีสารฝาดสมาน และอื่น ๆ
ดอก ออกเป็นช่อ หรือเป็นกระจุกเล็ก ๆ ดอกเป็นดอก ขนาดเล็ก ดอกหนึ่งมีกลีบดอก 5-6 กลีบ กลาง ดอกมีเกสรตัวผู้สั้น ๆ 3-5 อัน ดอกมีสีเหลืองๆ เขียว ๆ ก้านดอกสั้น
ความคุ้นเคย
ใช้เป็นยา การแพทย์พื้นบ้านใช้ส่วนต่างๆ ของมะขามป้อมทั้งผล ใบ ลำต้น เปลือกต้น รากและปมที่ก้าน เป็นยารักษาโรคต่างๆ
เปลือกลำต้น ใช้เปลือกที่แห้งแล้วบดให้ เป็นผลละเอียด โรยแก้บาดแผลเลือดออก และ แผลฟกช้ำ
ใบ ใช้ใบสดมาต้มกินแก้ บวมน้ำ นำมาตำพอกหรือทาบริเวณแผล ผื่นคันมีน้ำหนอง น้ำเหลือง และผิวหนัง อักเสบ
ผลสด เป็นยาบำรุง ทำให้ สดชื่น แก้กระหายน้ำ แก้ไอ แก้หวัด ช่วย ระบายขับปัสสาวะ แก้เลือดออกตามไรฟัน และคอแห้ง
ผลแห้ง บดให้เป็นผลชงกิน แก้โรคหนองใน แก้ตกเลือด ท้องเสีย โรคบิด แก้โรคดีซ่าน และโรคโลหิตจาง ราก ต้มกินแก้ร้อนใน แก้โรคเรื้อน แก้ความดันโลหิตสูง และแก้ท้องเสีย
ความคุ้มค่า
ในสหรัฐอเมริกา ได้นำผลมะขามป้อมเป็นส่วนประกอบของยาหรือยาสมุนไพรที่จดสิทธิบัตรในสหรัฐอเมริกาหลายฉบับด้วยกัน (ยารักษาตับอักเสบ)
ในประเทศไทยมะขามป้อมยังคงนำมาใช้เป็นส่วนประกอบของตำรับยาพื้นบ้านและยาแผนโบราณหลายชนิด แต่รูปแบบการใช้ยังคงเป็นแบบดั้งเดิม แม้จะมีการนำมาแปรรูปเป็นเครื่องดื่มน้ำมะขามป้อม โดยโรงพยาบาลอภัยภูเบศร์ แล้วก็ตามก็ยังไม่เป็นที่แพร่หลาย
การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับมะขามป้อมในรูปแบบของผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นอาหารหรือผลิตภัณฑ์อาหารเสริมสุขภาพเพื่อใช้บำรุงและรักษาสุขภาพ หรือผลิตภัณฑ์ยาสมุนไพรหรือสารสกัดสมุนไพรเพื่อรักษาโรค ในระดับอุตสาหกรรม ที่ช่วยให้เกิดการผลิตและบริโภคจากทรัพยากรในประเทศทั้งนี้เพื่อใช้ในประเทศและเพื่อเผยแพร่ประโยชน์แก่ต่างประเทศ อันจะนำไปสู่การพัฒนาเพื่อการส่งออก
ของเรา ของเขา ฤาของใคร?
หากเรายอมรับว่าการแพทย์พื้นบ้านถือได้ว่าเป็นมรดกล้ำค่าของชาติ เพื่อป้องกันการละเมิดสิทธ์ การเปิดเผยภูมิปัญญาเหล่านี้ควรทำเช่นไร ควรจะมีการเปิดเผยในวงกว้างหรือไม่ หรือควรจำมีลำดับชั้นของการเปิดเผยข้อมูล เนื่องจากศักยภาพในการพัฒนาภูมิปัญญาเหล่านี้เพื่อนำไปใช้เป็นยารักษาโรคในประเทศไทยยังด้อยกว่าชาติที่พัฒนาไปแล้วมาก นอกจากนี้เราจะถือได้หรือไม่ว่าภูมิปัญญาเหล่านี้คือสมบัติส่วนบุคคลหรือของชุมชนนั้นๆ ในขณะเดียวกันแม้จะมีความพยายามที่จะเชิญชวนให้ไปลิขสิทธิ์ตำรายา ก็ยังเกิดปัญหาเรื่องของการที่ไม่อาจคุ้มครองสิทธิ์ได้แน่ชัด เนื่องจากหากมีการฟ้องร้องก็ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการพิสูจน์ความเป็นเจ้าของตำรับที่แท้จริง และในกรณีที่มีผู้แสดงตนเป็นเจ้าของมากกว่าหนึ่งราย ก็ยากจะพิสูจน์ว่าใครเป็นเจ้าของที่แท้จริง อีกทั้งการจดทะเบียนลิขสิทธิ์ในลักษณะนี้ยังไม่มีการคุ้มครองสิทธิ์นอกจากประเทศไทย
จากตำรายา หรือสมุนไพรต่างๆ ที่มีมะขามป้อมเป็นกรณีศึกษา เป็นเรื่องที่หลายๆฝ่าย ควรหันหน้าเข้ามาเพื่ออนุรักษ์ สืบสานและพัฒนาเพื่อประเทศไทย