คลองเจดีย์บูชา : ข้อมูลบางส่วนที่หายไปกับความเข้มแข็งของชุมชน

คลองเจดีย์บูชา : ข้อมูลบางส่วนที่หายไป

โดย อาจารย์ ดร.เอี่ยม ทองดี  (วันที่ 23 เมษายน พ.ศ.2546)

ความเป็นมา

จากเวทีการเสวนาเรื่องคลองเจดีย์บูชา : ข้อมูลบางส่วนที่หายไปกับความเข้มแข็งของชุมชน วันที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2546 ณ หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ สำนักหอสมุดกลางนั้น ในครั้งนี้หอสมุดฯ ได้จัดขึ้นสืบเนื่องจากได้มีหน่วยงานต่างๆ ได้เคยจัดการเสวนาในประเด็นนี้อย่างไม่เป็นทางการเมื่อครั้งวันที่ 27 มีนาคม พ.ศ.2546 ณ องค์การบริหารส่วนตำบลจังหวัดนครปฐม และผู้นำการเสวนาดังกล่าวคือ อาจารย์ ดร.เอี่ยม ทองดี เสนอว่าน่าจะมีหน่วยงานที่ทำหน้าที่ประสานงานในเรื่องของข้อมูล และหอสมุดฯ ได้รับหน้าที่ดังกล่าว เนื่องจากพิจารณาแล้วว่า หอสมุดฯ เป็นที่ตั้งของศูนย์ข้อมูลภาคตะวันตก และการทำงานร่วมมือจากหลายส่วน ทั้งที่อยู่ในส่วนกลางและในส่วนของจังหวัดนครปฐมเอง ซึ่งการทำงานในลักษณะนี้ถือว่าเป็นการสรุปบทเรียนและเป็นการเสริมสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้กับชุมชนอย่างแท้จริง

การเสวนาครั้งนี้เริ่มจากอาจารย์ ดร.เอี่ยม ทองดี ได้ฉายสไลด์ให้เห็นภาพของคลองเจดีย์บูชา ตั้งแต่ต้นคลอง จนถึงปลายคลองเจดีย์บูชา

คลองเจดีย์บูชา

คลองเจดีย์บูชาเป็นคลองที่ถูกขุดขึ้นตั้งแต่ พ.ศ.2401 สมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาที่ 4 และแล้วเสร็จประมาณปี พ.ศ.2405  ต้นน้ำของคลองเจดีย์บูชาจะรับน้ำมาจากคลองชลประทาน 5 ช และเชื่อมต่อกับคลองวังตะกูซึ่งเป็นคลองธรรมชาติที่แยกมาจากคลองทัพหลวง บริเวณบ้านม่วงตารศ หมู่ที่ 8 ตำบลทัพหลวง อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม

คลองเจดีย์บูชาวางตัวในแนวตะวันออก-ตก ไหลผ่านตามความยาวของพื้นที่เทศบาลนครนครปฐม โดยผ่านเข้ามาทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ลำคลองจะโค้งเล็กน้อยแล้วตั้งตรงไปทางตะวันออก ผ่านหน้าวัดพระงาม แล้วหักโอบศูนย์กลางธุรกิจ (ตลาดนครปฐม) แนวคลองช่วงนี้จะไหลลอดกำแพงองค์พระปฐมเจดีย์ และหักตัวเป็นมุมฉากไปทางตะวันออก ตรงออกนอกเขตเทศบาล มีคลอง ห้วยจรเข้ไหลมาติดต่อ บางตอนจะอิงทางน้ำธรรมชาติ จึงแลเป็นแนวโค้ง และตัดตรงไปจดแม่น้ำท่าจีนที่บ้านตลาดต้นสน ตำบลท่านา อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม

นอกจากนี้แล้วยังมีคลองต่างๆ ในจังหวัดนครปฐม ที่สามารถเชื่อมโยงกับคลองเจดีย์บูชา เช่น

  • คลองโพรงมะเดื่อ
  • คลองห้วยจระเข้
  • คลองพระยากง หรือคลองบ้านภูมิ
  • คลองประโทน
  • คลองบางแก้ว
  • คลองระบาย ร 1 ซ เจดีย์บูชา

น้ำเสียของคลองเจดีย์บูชา มีด้วยกันหลายสาเหตุรวมๆกัน คือน้ำเสียที่เกิดจากชุมชน เกษตรกรรม และอุตสาหกรรม แต่การกล่าวโทษกันว่าผู้ใดเป็นสาเหตุนั้น ไม่ก่อประโยชน์อันใด ทางแก้ไขจึงน่าจะเริ่มที่จุดเล็กๆ ก่อน เพื่อปลูกและสร้างจิตสำนึกให้รักสิ่งแวดล้อม

ประสบการณ์จากวัดกลางบางแก้ว

พระอธิการบุญช่วย อาทโร เจ้าอาวาสวัดกลางบางแก้ว ได้เล่าถึงประสบการณ์ในการดูแลคลองบางแก้วว่า ทางวัดร่วมมือกับชาวบ้านและองค์การบริหารส่วนตำบล ได้ร่วมกันคิด ร่วมกันทำ และพัฒนาคลองบางแก้วให้เป็นคลองใสสะอาด โดยขั้นแรกเกิดจากการพูดคุย ดูพื้นที่ด้วยกัน ประชุมด้วยกัน แม้น้ำเสียจะจางหายไปกับการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติ และสิ่งที่ยังอยู่ในชุมชนคือความรักในคลองบางแก้ว

ประเด็นที่ได้จากเวทีการเสวนา

ผู้เข้าเสวนามีความเห็นว่าน่าจะสรุปว่าประเด็นไหนเป็นประเด็นที่ควรนำมาดำเนินการเพราะบริบทของคลองเจดีย์บูชาค่อนข้างกว้าง หากเริ่มไปทุกจุดเกรงว่าจะไม่สามารถดำเนินการได้และก็จะหายไป เช่นเดียวกับการประชุม หรือเสวนาในครั้งก่อนๆ

จากต้นคลองเจดีย์บูชาถึงปลายคลอง เป็นที่ตั้งของวัดมากมาย และในวันนี้ได้มีพระคุณเจ้าจากวัดต่างๆ ได้มาคิดร่วมกัน ดังนั้นการทำงานครั้งนี้น่าที่จะเริ่มจากวัดเนื่องจากเป็นศูนย์รวมความศรัทธาของชาวบ้านและของชุมชนในพื้นที่ ด้วยการจัดกิจกรรมที่เรียนรู้ร่วมกันระหว่างวัด ชาวบ้าน หรือองค์การบริหารส่วนตำบล และกลุ่มองค์กรภาคประชาชนให้เห็นถึงศักยภาพของตัวเอง มองการแก้ไขปัญหากันอย่างเชื่อมโยงมากขึ้น และสามารถตัดสินใจและเลือกทิศทางความเป็นอยู่ต่อไปของชุมชน โดยมีหน่วยงานภาครัฐทำหน้าที่หนุนเสริมด้านข้อมูล โดยในครั้งแรกนี้จะเริ่มที่วัดไร่เกาะต้นสำโรง