แผนที่ภาษาศาสตร์

แผนที่ภาษาศาสตร์

โดย ผู้ช่วยศาตราจารย์สุวัฒนา เลี่ยมประวัติ  (วันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2546)

แหล่งที่ศึกษา

จังหวัดราชบุรี เป็นจังหวัดหนึ่งในภูมิภาคตะวันตก ประกอบด้วย 9 อำเภอ 1 กิ่งอำเภอ พื้นที่นี้มีความสำคัญในด้านประวัติศาสตร์ โบราณคดี เศรษฐกิจ ตลอดจนเป็นสังคมพหุชาติพันธุ์จากอดีตถึงปัจจุบัน แม้ว่าชาวราชบุรียึดเอาการเกษตรเป็นอาชีพหลัก แต่ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ภาคอุตสาหกรรมกลับขยายตัวจนมีมูลค่าการผลิตนำภาคเกษตรกรรมที่เคยเป็นรายได้หลักมาโดยตลอด

เนื่องจากนโยบายแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 7 มุ่งกระจายการพัฒนาเมืองและการบริการพื้นฐานไปสู่ส่วนภูมิภาคโดยกำหนดให้ราชบุรีเป็นเมือง “ศูนย์กลางความเจริญของภาคตะวันตก” อีกทั้งโครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันตก ( เวสเทิร์นซีบอร์ด ) ทำให้จังหวัดราชบุรีมีความได้เปรียบด้านทำเลที่ตั้ง มีวัตถุดิบทางการเกษตรที่สามารถแปรรูปได้ และมีโรงงาน อุตสาหกรรมหลายประเภททีสามารถใช้เป็นฐานการพัฒนา ตลอดจนมีความพยายามที่จะผลักดันโครงการต่างๆ ในจังหวัดราชบุรีให้รองรับแผนแม่บทดังกล่าว

หากทุกอย่างเป็นไปตาม โครงการที่ได้วางไว้จังหวัดราชบุรีที่เคยเป็นเมืองสงบอุดมสมบูรณ์ คงเปลี่ยนเป็นเมืองชุมทางคมนาคม เศรษฐกิจและอุตสาหกรรม ปัญหาต่างๆ อาจจะเกิดขึ้น เช่น การขาดแคลนแรงงานท้องถิ่น ต้องใช้แรงงานต่างชาติ เช่น พม่า กะเหรี่ยง ปัญหาทรัพยากรน้ำ พลังงานไฟฟ้า ปัญหามลภาวะจากโรงงานอุตสาหกรรม ตลอดจนปัญหาการสู้รบระหว่างกองกำลังกะเหรี่ยงและพม่าตามแนวชายแดน

ด้วยเหตุผลดังกล่าว การศึกษา “แผนที่ภาษาศาสตร์จังหวัดราชบุรี” เพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานในการพัฒนาจังหวัดราชบุรีให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจสังคมแห่งชาติ อีกทั้งเพื่อให้หน่วยงานตระหนักถึง “การพัฒนาคนและพัฒนาเมือง” อย่างรอบคอบโดยมีเป้าหมายที่ชัดเจนถูกต้องเพื่อให้คนต่างภาษา ต่างวัฒนธรรมอยู่ร่วมกันอย่างสันติ

วัตถุประสงค์ของการวิจัย

1. เพื่อศึกษาว่าในจังหวัดราชบุรีมีการใช้ภาษาใดในบริเวณใดบ้าง

2. เพื่อศึกษาว่าแต่ละหมู่บ้านมีการใช้ภาษาใดมากน้อยต่างกันเพียงใด

3. เพื่อหาลักษณะชุมชนภาษาของแต่ละหมู่บ้านในจังหวัดราชบุรี

4. เพื่อนำผลการวิจัยมาทำแผนที่ภาษาศาสตร์ของจังหวัดราชบุรี

ขอบเขตของการวิจัย

1. ศึกษาการแปรศัพท์ที่ใช้แทนหน่วยอรรถ จำนวน 30 หน่วยอรรถ ซึ่งเป็นศัพท์ที่ผู้บอกภาษากลุ่มต่างๆ ของจังหวัดราชบุรีใช้ในชีวิตประจำวัน

2. ศึกษาระบบเสียงวรรณยุกต์เฉพาะภาษาตระกูลไทที่มิใช่ภาษาไทยกลาง เพื่อจำแนกกลุ่มภาษาของผู้พูดภาษานั้นๆ

3. ศึกษาการออกเสียงของคำที่ใช้รูปเขียน ใ – ( ไม้ม้วน ) เฉพาะการจำแนกกลุ่มชนที่พูดภาษาเขมรลาวเดิม

4. บริเวณที่ศึกษาคือทุกหมู่บ้านในจังหวัดราชบุรี จำนวน 933 หมู่บ้าน ยกเว้นเขตเทศบาล

การดำเนินงานวิจัย

การดำเนินงานวิจัยแบ่งเป็น 3 ระยะ คือ

ระยะที่ 1 การสำรวจข้อมูลเบื้องต้นและทดลองเก็บข้อมูล โดยกำหนดจุดเก็บข้อมูลคือ ทุกหมู่บ้านในจังหวัดราชบุรีจำนวน 933 หมู่บ้าน ยกเว้นเขตเทศบาล ใช้ผู้ตอบแบบสอบถาม หมู่บ้านละ 2 คน การสร้างแบบสอบถามมีเกณฑ์ในการคัดเลือกหน่วยอรรถดังนี้ เป็นหน่วยอรรถที่มีความหมายชัดเจนและแทนด้วยศัพท์พื้นฐานที่งานวิจัยวิทยานิพนธ์ พจนานุกรมของแต่ละภาษาระบุว่าเป็นศัพท์ของภาษานั้นๆ บางหน่วยอรรถอาจใช้ศัพท์ร่วมบ้างเพื่อให้ได้หน่วยอรรถที่มาก อย่างไรก็ตามผู้วิจัยจะใช้เกณฑ์ด้านเสียงตรวจสอบเพื่อตีความชุมชนภาษาอีกครั้งหนึ่ง หลังจากปรับปรุงแบบสอบถามแล้วมีหน่วยอรรถทั้งสิ้น 30 หน่วยอรรถ

ระยะที่ 2 การเก็บข้อมูลสนาม ผู้วิจัยได้คัดเลือกผู้ตอบแบบสอบถามและเก็บข้อมูลโดยวิธีการสัมภาษณ์ตามแบบสอบถามทีละข้อ ตลอดจนเริ่มวิเคราะห์รูปแปรของศัพท์และคำนวณ สัดส่วนการใช้ศัพท์จาก 30 หน่วยอรรถ หากหมู่บ้านใดตัดสินว่าเป็นชุมชนภาษาไทยยวน ลาวโซ่ง ลาวครั่ง ลาวเวียง เขมรลาวเดิม หรือชุมชนหลายภาษาที่ใช้ศัพท์ภาษาดังกล่าวปะปนกับศัพท์ภาษาไทยกลาง ผู้วิจัยจะตามไปตรวจสอบข้อมูลรูปแบบการแตกตัวของเสียงวรรณยุกต์เฉพาะ หมู่บ้านที่ใช้ภาษาไทถิ่น ยกเว้นหมู่บ้านที่ใช้ภาษาไทยกลางเพราะศัพท์ภาษาไทยกลางสามารถระบุกลุ่มย่อยของภาษาได้ชัดเจนอยู่แล้ว การตรวจสอบความถูกต้องครั้งนี้ ผู้วิจัยต้องการตัดสิน ชุมชนภาษาว่าสอดคล้องกับเรื่องศัพท์หรือไม่ กรณีที่หมู่บ้านใดใช้ภาษาเขมรลาวเดิม ผู้วิจัยจะทดสอบการออกเสียงของคำที่ใช้รูปเขียน ใ – ด้วย

ระยะที่ 3 การวิเคราะห์และเรียบเรียงข้อมูล

การแสดงการกระจายศัพท์และเสียงของภาษาในจังหวัดราชบุรี

ผู้วิจัยได้แสดงการกระจายศัพท์และเสียงของภาษาในจังหวัดราชบุรีในรูปของแผนที่ภาษาศาสตร์ โดยย่อส่วนมาจากแผนที่ของกองวิชาการสถิติ สำนักงานสถิติแห่งชาติ มาตราส่วนเดิม 1 : 255,102 ตารางกิโลเมตร ย่อลงกระดาษ A4 สำหรับรายงานการวิจัย เป็น 1 : 357,143 ตารางกิโลเมตร แผนที่มี 4 ประเภทดังนี้

แผนที่ประเภทที่ 1 แสดงการกระจายศัพท์ของหน่วยอรรถมี 90 แผ่น ซึ่งแยกหน่วยอรรถละ 3 แผ่น คือ แผ่นที่ 1 แสดงการกระจายศัพท์ในอำเภอจอมบึง อำเภอสวนผึ้งและกิ่งอำเภอ บ้านคา แผ่นที่ 2 แสดงการกระจายศัพท์ในอำเภอเมืองราชบุรี อำเภอปากท่อ อำเภอวัดเพลงและอำเภอดำเนินสะดวก แผ่นที่ 3 แสดงการกระจายศัพท์ในอำเภอบ้านโป่ง อำเภอโพธารามและอำเภอบางแพ

แผนที่ประเภทที่ 2 แสดงการกระจายรูปแบบการแตกตัวของเสียงวรรณยุกต์ มี 3 แผ่น โดยแบ่งอำเภอเช่นเดียวกับประเภทที่ 1

แผนที่ประเภทที่ 3 แสดงการกระจายจำนวนคำที่ใช้รูปเขียน ใ- ซึ่งออกเสียงเป็น [au] โดยจะแสดงเฉพาะหมู่บ้านที่คาดว่าจะใช้ภาษาเขมรลาวเดิม แผนที่ดังกล่าวมี 2 แผ่น คือ แผ่นที่ 1 แสดงการกระจายจำนวนคำที่ใช้รูปเขียน ใ- ซึ่งออกเสียงเป็น [au] ที่ปรากฏในจุดเก็บข้อมูลอำเภอวัดเพลง อำเภอปากท่อ อำเภอเมืองราชบุรี แผ่นที่ 2 แสดงการกระจายจำนวนคำที่ใช้รูปเขียน ใ- ซึ่งออกเสียงเป็น [au] ในจุดเก็บข้อมูลอำเภอบางแพ

แผนที่ประเภทที่ 4 แสดงชุมชนภาษาในจังหวัดราชบุรีมี 3 แผ่น แบ่งอำเภอเช่นเดียวกับแผนที่ประเภทที่ 1 การใช้สัญลักษณ์ในแผนที่เพื่อแสดงการกระจายของศัพท์และเสียงแบ่งเป็น 3 ประเภท ดังนี้

1. สัญลักษณ์ประจำ แบ่งเป็น 2 ประเภทคือ

1.1 สัญลักษณ์ประจำศัพท์เพื่อแสดงการใช้ศัพท์ของภาษาต่างๆ ในจังหวัดราชบุรี เช่น แสดงการใช้ศัพท์ภาษาลาวโซ่ง     แสดงการใช้ศัพท์ภาษาลาวเวียง      แสดงการใช้ศัพท์ภาษาเขมรลาวเดิม

1.2 สัญลักษณ์ประจำเสียง เพื่อแสดงการกระจายรูปแบบการแตกตัวของเสียงวรรณยุกต์เฉพาะภาษาไทถิ่น เช่น  + แสดงรูปแบบการแตกตัวของเสียงวรรณยุกต์ภาษาไทยยวน    แสดงการใช้เสียงสระ [au] ในภาษาเขมรลาวเดิม เช่น   แสดงการใช้สระ [au] จำนวน 14 คำ นอกจากนั้นยังมีสัญลักษณ์แสดงรูปแปร เช่น K แสดงศัพท์หลัก “เผร่ยผร่อง” K1 แสดงรูปแปร “ผิงผอง” K2 แสดงรูปแปร “พลึ่ยพลอง” เป็นต้น

2. สัญลักษณ์ร่วม เป็นสัญลักษณ์ที่ผู้ตอบแบบสอบถามใช้ศัพท์และ/หรือเสียงร่วมกัน เช่น   แสดงการใช้ศัพท์ภาษาไทยกลางร่วมกับศัพท์ภาษาลาวโซ่ง

3. สัญลักษณ์แสดงสภาพทางภูมิศาสตร์ เช่น   เหนือ

ผลการวิจัย

เมื่อใช้เกณฑ์ด้านศัพท์เป็นหลักและใช้เกณฑ์ด้านเสียง 2 ประการ สนับสนุนการตีความ ชุมชนภาษาแล้ว ผลการวิจัยพบว่าจังหวัดราชบุรีมี 8 ชุมชนภาษา คือ ชุมชนภาษาไทย ไทยยวน ลาวโซ่ง ลาวครั่ง ลาวเวียง เขมรลาวเดิม มอญ และกะเหรี่ยง ชุมชนภาษาทั้ง 8 ชุมชน แบ่งเป็น 4 ประเภท ดังนี้

1. ชุมชนภาษาเดียว มีจำนวน 843 หมู่บ้าน แบ่งเป็น 3 ระดับ ได้แก่

1.1 ชุมชนภาษาเดียวระดับที่ 1 มี 5 กลุ่ม 519 หมู่บ้าน คือ ชุมชนภาษาไทยระดับที่1 จำนวน 499 หมู่บ้าน ชุมชนภาษาลาวโซ่งระดับที่ 1 จำนวน 6 หมู่บ้าน ชุมชนภาษาลาวเวียงระดับที่ 1 จำนวน 1 หมู่บ้าน ชุมชนภาษามอญระดับที่ 1 จำนวน 4 หมู่บ้าน และชุมชนภาษากะเหรี่ยงระดับที่ 1 จำนวน 9 หมู่บ้าน

1.2 ชุมชนภาษาเดียวระดับที่ 2 มี 8 กลุ่ม 187 หมู่บ้านคือ ชุมชนภาษาไทยระดับที่ 2 จำนวน 57 หมู่บ้าน ชุมชนภาษาไทยยวนระดับที่ 2 จำนวน 45 หมู่บ้าน ชุมชนภาษาลาวโซ่งระดับที่ 2 จำนวน 7 หมู่บ้าน ชุมชนภาษาลาวเวียงระดับที่ 2 จำนวน 48 หมู่บ้าน ชุมชนภาษาลาวครั่งระดับที่ 2 จำนวน 1 หมู่บ้าน ชุมชนภาษาเขมรลาวเดิมระดับที่ 2 จำนวน 7 หมู่บ้าน ชุมชนภาษามอญระดับที่ 2 จำนวน 17 หมู่บ้าน และชุมชนภาษากะเหรี่ยงระดับที่ 2 จำนวน 5 หมู่บ้าน

1.3 ชุมชนภาษาเดียวระดับที่ 3 มี 8 กลุ่ม 137 หมู่บ้าน คือ ชุมชนภาษาไทยระดับที่ 3 จำนวน 62 หมู่บ้าน ชุมชนภาษาไทยยวนระดับที่ 3 จำนวน 34 หมู่บ้าน ชุมชนภาษาลาวโซ่งระดับที่ 3 จำนวน 3 หมู่บ้าน ชุมชนภาษาลาวเวียงระดับที่ 3 จำนวน 12 หมู่บ้าน ชุมชนภาษาลาวครั่งระดับที่ 3 จำนวน 8 หมู่บ้าน ชุมชนภาษาเขมรลาวเดิมระดับที่ 3 จำนวน 2 หมู่บ้าน ชุมชนภาษามอญระดับที่ 3 จำนวน 8 หมู่บ้าน และชุมชนภาษากะเหรี่ยงระดับที่ 3 จำนวน 8 หมู่บ้าน

2. ชุมชนสองภาษา มีจำนวน 79 หมู่บ้าน แบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่

2.1 ชุมชนสองภาษาประเภทที่ 1 มี 4 กลุ่ม 17 หมู่บ้าน คือ ชุมชนภาษาไทยร่วมกับภาษาไทยยวน ประเภทที่ 1 จำนวน 3 หมู่บ้าน ชุมชนภาษาไทยกลางร่วมกับภาษาลาวเวียงประเภทที่ 1 จำนวน 4 หมู่บ้าน ชุมชนภาษาไทยร่วมกับภาษาเขมรลาวเดิมประเภทที่ 1 จำนวน 9 หมู่บ้าน และชุมชนภาษาไทยร่วมกับภาษามอญประเภทที่ 1 จำนวน 1 หมู่บ้าน

2.2 ชุมชนสองภาษาประเภทที่ 2 มี 6 กลุ่ม 62 หมู่บ้าน คือ ชุมชนภาษาไทยร่วมกับภาษาไทยยวนประเภทที่ 2 จำนวน 16 หมู่บ้าน ชุมชนภาษาไทยร่วมกับภาษาลาวเวียงประเภทที่ 2 จำนวน 21 หมู่บ้าน ชุมชนภาษาไทยร่วมกับภาษาลาวครั่งประเภทที่ 2 จำนวน 10 หมู่บ้าน ชุมชนภาษาไทยร่วมกับภาษาลาวโซ่งประเภทที่ 2 จำนวน 2 หมู่บ้าน ชุมชนภาษาไทยร่วมกับภาษามอญประเภทที่ 2 จำนวน 8 หมู่บ้าน และชุมชนภาษาไทยร่วมกับภาษากะเหรี่ยงประเภทที่ 2 จำนวน 5 หมู่บ้าน

3. ชุมชนสามภาษา ได้แก่ชุมชนที่ใช้ภาษาไทยร่วมกับภาษาลาวเวียงและภาษาไทยยวนมีจำนวน 3 หมู่บ้าน

4. ชุมชนภาษาที่มีปัญหา มีจำนวน 8 หมู่บ้าน

ได้ผลว่า

หากจะพิจารณาหน้าที่ของภาษาต่างๆ ในจังหวัดราชบุรี ผู้วิจัยมีความเห็นว่าแต่ละภาษามีหน้าที่สื่อสารกับบุคคลในท้องถิ่นของตน โดยมีภาษาไทยมาตรฐานเป็นภาษาของทางราชการใช้ในสถานการณ์ที่เป็นทางการและใช้เรียนใช้สอนในโรงเรียน

ภาษาไทยกลางถิ่นราชบุรีเป็นภาษาประจำจังหวัด ใช้สื่อสารกับคนต่างกลุ่มต่างภาษาและใช้ในสถานการณ์ที่ไม่เป็นทางการ

ดังนั้นชุมชนภาษาอื่นที่เป็นชุมชนภาษาเดียว จึงมีแนวโน้มจะถูกภาษาไทยกลางแทรกซ้อนในแง่ระบบเสียงและการใช้ศัพท์ อันจะทำให้กลายเป็นชุมชนหลายภาษาในอนาคต ชุมชนภาษาอื่นได้แก่ ชุมชนภาษาไทยยวน ลาวโซ่ง ลาวครั่ง ลาวเวียง เขมรลาวเดิม ซึ่งเป็นภาษาไทพลัดถิ่น (Displaced Tai Languages) จะใช้สื่อสารเฉพาะกลุ่มของตน ภาษากะเหรี่ยงเป็นภาษาชายขอบประจำภาค (Marginal regional languages) พูดในหมู่บ้านที่มีเขตแดนติดต่อกับสาธารณรัฐสังคมนิยมสหภาพเมียนมาร์ ภาษาเขมรลาวเดิมจัดเป็นภาษาในวงล้อม (Enclave language) กล่าวคือ ล้อมรอบด้วยภาษาไทยกลางและภาษาลาวเวียง ในอนาคตชุมชนภาษาเขมรลาวเดิมอาจหายไปจากจังหวัดราชบุรีและไม่มีผู้ใดใช้ภาษานี้ในชีวิตประจำวัน เนื่องจากมีการเปลี่ยนภาษา (language shift) ให้กลมกลืนกับภาษาอื่น โดยเฉพาะภาษาลาวครั่งเพราะภาษาทั้งสองมีความใกล้เคียงกันมากทั้งด้านศัพท์และเสียง สิ่งที่ต่างกันมีเพียงเสียงสระซึ่งภาษาเขมรลาวเดิมใช้เสียง[au] ในขณะที่ภาษาลาวครั่งใช้เสียง [ai]

ผู้วิจัยพบว่าผู้พูดภาษาเขมรลาวเดิมที่มีอายุน้อยมักมีการแปรระหว่างเสียง [au] ~[ai] อีกทั้งประเพณีของคนกลุ่มนี้ไม่สู้จะมีเอกลักษณ์เด่นชัด

ส่วนภาษามอญที่อำเภอบ้านโป่ง อำเภอโพธารามและอำเภอบางแพ จัดเป็นภาษาของชนพื้นเมืองที่เคยอยู่ในดินแดนราชบุรีมาก่อน ปัจจุบันยังคงรักษาภาษาพูดและประเพณีวัฒนธรรมของตน บางหมู่บ้านมีการสอนคนรุ่นใหม่หัดเขียนอักษรมอญ นอกจากนี้ยังมีภาษาที่มีผู้พูดประปรายตามแนวชายแดน ได้แก่ ภาษามอญ กะเหรี่ยง พม่า ซึ่งลักลอบเข้าประเทศมาเป็นผู้ใช้แรงงานโดยผิดกฎหมายหรือร่วมขบวนการกู้ชาติ

อนึ่งในเขตชุมชนเมืองจะพบผู้พูดภาษาจีนซึ่งมีอายุระหว่าง 40-70 ปี โดยเฉพาะอำเภอที่มีความเจริญทางเศรษฐกิจ เช่น อำเภอเมืองราชบุรี อำเภอบ้านโป่ง อำเภอดำเนินสะดวก

จากงานวิจัยยังพบผู้พูดภาษาเขมรที่อำเภอเมืองราชบุรี ประมาณ 8 -10 คน มีอายุระหว่าง 70-80 ปี แต่ไม่ได้ใช้ภาษาเขมรสื่อสารกับลูกหลาน เพียงแต่นึกศัพท์ได้เป็นคำ ๆ หรือพูดคุยกับคนรุ่นเดียวกันได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น จึงไม่จัดว่ามีชุมชนภาษาเขมรในงานวิจัยนี้

ลักษณะภูมิประเทศของจังหวัดราชบุรีมีส่วนสัมพันธ์กับชุมชนภาษากล่าวคือ ชุมชนภาษาในเขตเทือกเขาสูงทางทิศตะวันตกและทิศตะวันตกเฉียงใต้ จะมีชุมชนภาษากะเหรี่ยงเพราะเป็นเขตติดต่อกับสาธารณรัฐสังคมนิยมสหภาพเมียนมาร์ ส่วนชุมชนภาษาไทย ไทยยวน ลาวโซ่ง ลาวเวียง ลาวครั่ง เขมรลาวเดิม มอญ จะอยู่ในเขตที่ราบสูงและเนินเขตตอนกลางรวมทั้งเขตที่ราบลุ่มทางทิศตะวันออกของจังหวัด