วิถีตลาดด้วยเกษตรอินทรีย์ ในนครปฐม

วิถีตลาดด้วยเกษตรอินทรีย์ ในนครปฐม

โดย อาจารย์ ดร. นงนุช โรจนเลิศ  (วันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2546)

การปลูกผักปลอดสารพิษ ด้วยการใช้เกษตรอินทรีย์ หรือรูปแบบอื่นถือเป็นการปฏิวัติเขียวในประเทศไทย

การปฏิวัติทำให้ผู้ที่ต้องการทำงานด้านนี้จริงๆ มีความเหนื่อยยากทั้งในแง่ของวิธีการปลูกผัก ตลาดที่ยังไม่มีรองรับ รวมทั้งต้องทำความเข้าใจกับสังคม แต่พอทำแล้วคาดว่าจะสามารถฝ่าฟันออกไปได้ เช่นเดียวกับชุมชนปฐมอโศก

การเป็นเกษตรกรรายย่อย ที่เหมาะกับประเทศไทย ตรงไหนเหมาะสมและมีตลาดที่ยั่งยืนที่สามารถให้อยู่ได้

เริ่มอย่างไร

1. จากตัวเอง ที่ประสงค์จะดูแลสุขภาพ โดยปลูกผักไว้ใช้ในครอบครัว ที่เหลือส่งขาย

2. จากรัฐ ที่มีนโยบายให้มา แต่คนที่รับต้องหาวิธีการด้วยตนเอง

3. จากการเรียนรู้จากประสบการณ์ของผู้อื่น เช่น จากปฐมอโศก

ชุมชนปฐมอโศก

นำคุณธรรม นำชีวิต ด้วยการทำเกษตรแบบปลอดสารพิษ ถือเป็นการ กู้ชีวิต กู้ดิน กู้น้ำ กู้อากาศ กู้ชาติ จึงเป็นการ “กู้” ที่ยิ่งใหญ่ที่ชาวชุมชนกันเข้ามาทำงานในด้านนี้ จนกระทั่งเป็นผู้นำ ซึ่งทางชุมชนยินดีต้อนรับผู้ที่สนใจเข่าสู่กิจกรรมเครือข่าย ไร้สารพิษ โดยมีเงื่อนไขที่ต้องเป็นผู้ที่ปฏิบัติตัว ให้ปลอดจากอบายมุข ชุมชนมีการติดตามทั้งในเรื่องของการประกอบอาชีพ และคำแนะนำในการใช้ชีวิต มีการตรวจสอบคุณภาพ มีตลาดรองรับ

คลองจินดาจากสามพราน

ในอดีตชุมชนเกษตรการของชุมชนในพื้นที่นิยมปลูกข้าวเป็นส่วนใหญ่ จนกระทั่งเมื่อ 30 ปีที่ผ่านมาเกษตรกรในพื้นที่ เริ่มปรับพื้นที่จากการทำนาข้าว เป็นการปลูกผักและมันสำปะหลังมากขึ้น ซึ่งเริ่มมีการทดลองใช้สารเคมีในการทำการ เกษตรกร เพราะมีความเชื่อว่าการใช้สารเคมีจะทำให้ได้รับผลผลิตและรายได้เพิ่มขึ้น การดำเนินงานอาศัยนักวิชาการของ มหาวิทยาลัยศิลปากร เข้ามาช่วยเหลือ แต่ผลผลิตที่ได้ยังมีปัญหาด้านคุณภาพ เช่น จากการนำสินค้าไปจำหน่าย ที่ตลาดนัดวัดปรีดาราม มีลูกค้าน้อยและไม่สนใจเรื่องผัก-ผลไม้ปลอดสารพิษ จึงทำให้ต้องนำสินค้าที่เหลือจากการจำหน่าย ไปส่งพ่อค้าคนกลาง แต่จะถูกกดราคาเนื่องจากมีความสวยงามสู้จากผู้ที่ปลูกด้วยการใช้สารเคมีไม่ได้

ยุวเกษตรกรจากวัดสำโรง นครชัยศรี

เป็นเกษตรกรตัวจริงที่ทั้งปลูกและจำหน่าย ส่วนทางด้านการตลาดมีผู้สนับสนุน เช่น จากสำนักการเกษตร เกษตรอำเภอ เจ้าอาวาสวัดกลางคูเวียง และผู้ว่าราชการจังหวัด (นายมานิต ศิลปอาชา)ส่วนทางด้านคุณภาพ เป็นการบอกต่อจากลูกค้า และการสร้างความเชื่อมั่นด้วยการพูดคุยกับลูกค้าถึงวิธีการปลูกและแนวคิดในการทำงาน เช่น ไม่อยากเป็นหนูทดลองยา จนกระทั่งมีลูกค้าประจำ และแพร่หลายไปอย่างรวดเร็ว และมีกรมวิชาการเกษตร เข้าไปช่วยดูแล นอกจากนี้ยังได้รับ การอบรมเพิ่มเติมจากหน่วยงานต่างๆ เกี่ยวกับเกษตรปลอดสารพิษเป็นการใช้เงินน้อย แต่ใช้แรงงานมากขึ้น เช่น การใช้ตัวห้ำตัวเบียน

กระเจี๊ยบ : จากกำแพงแสนสู่ญี่ปุ่น

กระเจี๊ยบเขียวปลูกเพื่อส่งออกโดยมีบริษัททานิยามาสยาม เป็นผู้กำหนดมาตรฐาน และเป็นการซื้อขายล่วงหน้า 1 ปี (มีสัญญา) โดยเกษตรกรส่งให้ปลูกและส่งออก ส่วนสินค้าที่ตกเกรด (ไม่ได้ขนาดในการบรรจุหีบห่อ) จะส่งโดยไปรับซื้อเองที่ ตลาดปฐมมงคล โดยแม่ค้าที่ซื้อรู้ว่าปลอดสารพิษ แต่ลูกค้าไม่ทราบ เพราะไม่มีการแจ้งหรือแสดงว่าเป็นผักปลอดสารพิษ อย่างไรก็ตามก็ยังอยากปลูกเพื่อจำหน่ายในประเทศไทยด้วย

ลูกหนี้ธกส. ที่พักชำระหนี้

ได้รับการอบรมจากปฐมอโศก ในการทำเกษตรอินทรีย์ต้องใช้ความอดทน เพราะผักจะโตช้าและความสวยงามสู้ไม่ได้ ทำให้จำหน่ายได้ยาก ปัจจุบันจำหน่ายที่ตลาดนัดปฐมอโศก (เช้าวันอาทิตย์)

แหล่งจำหน่าย

1. ตลาดนัดปฐมอโศก

2. ตลาดนัดตามสถาบันการศึกษา

3. ส่งให้บริษัทแม่

4. ตลาดสดทั่วไป โดยจำหน่ายเช่นเดียวกับผักที่ปลูกตามปรกติ (ใช้สารเคมี)

ทิศทางเป็นอย่างไร

1. ตลาดที่เปิดโอกาสให้เกษตรกรหน้าใหม่ หรือการสร้างตลาดใหม่

2. ราคาที่ยุติธรรม แต่ต้นทุน ?

3. คุณภาพจะเลือกรูปลักษณ์ หรือคุณภาพ ของผัก

4. ศึกษาความต้องการของลูกค้า

5. กระบวนการคัดกรองคุณภาพเพื่อให้คำรับรองแสดงความเป็นมาตรฐาน ที่เกษตรกรรายย่อยสามารถเข้าถึงได้

6. การสร้าง “ตรา” สินค้าที่สามารถบ่งบอกความเป็น “ปลอดสารพิษ”

เช่นเดียวกับ บริษัทใหญ่ เช่น เจียไต๋ วัชมน วังน้ำเขียว