ชุมชนไททรงดำ : ภาษาถิ่นที่ยังเหลืออยู่ ที่วัดไผ่หูช้าง ตำบลไผ่หูข้าง อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม

ชุมชนไททรงดำ : ภาษาถิ่นที่ยังเหลืออยู่ ที่วัดไผ่หูช้าง ตำบลไผ่หูข้าง อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม

ผู้เข้าร่วมเสวนา ในวันดังกล่าวประกอบด้วย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สุวัฒนา เลี่ยมประวัติภาควิชาภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. เอี่ยม ทองดี สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาชนบท มหาวิทยาลัยมหิดล อาจารย์สุรีย์ ทองคงหาญ ข้าราชการบำนาญ และนายกสมาคมไทยทรงดำ อาจารย์วิชัย มูลทองสงค์อาจารย์ใหญ่โรงเรียนวัดไผ่หูช้าง อาจารย์ปิยวรรณ สุขเกษม อาจารย์สอนวิชาสังคมศึกษา (ชั้นมัธยม) โรงเรียนวัดไผ่หูช้าง นายวิระ เปี่ยมอินทร์ ประธานสภา อบต. ไผ่หูช้าง นางสาวสมิทธิชา พุมมา นักศึกษาระดับปริญญาโทสาขาวิชาภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร นายปัญญา พูพะเนียด และนางสาวยุพดี จารุทรัพย์ หอสมุด พระราชวังสนามจันทร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

การเดินทางจากมหาวิทยาลัยศิลปากรไปโรงเรียนวัดไผ่หูช้างใช้เวลาไม่นานนัก ประมาณครึ่งชั่วโมง โรงเรียนวัดไผ่หูช้างมีการสอนตั้งแต่ชั้นอนุบาลจนถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 มีนักเรียนประมาณ 4๐๐ คน ผู้ที่จบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จากโรงเรียนนี้แล้วมักเลือกศึกษาต่อที่โรงเรียนกำแพงแสนวิทยา อำเภอกำแพงแสน ซึ่งรับเข้าเรียนโดยไม่ต้องสอบเพราะอยู่ใกล้กัน การเดินทางสะดวก นักเรียนสามารถนั่งรถโดยสารเพียงต่อเดียว ขณะที่นักเรียนบางคนเลือกศึกษาต่อที่โรงเรียนบางเลนวิทยา อำเภอบางเลน ซึ่งต้องนั่งรถโดยสารถึงสองต่อ โรงเรียนวัดไผ่หูช้างและหมู่บ้านนี้ยังไม่มีโทรศัพท์ใช้เพราะสายยังไปไม่ถึง คงมีแต่โทรศัพท์สาธารณะ ดังนั้นถึงมีเครื่องคอมพิวเตอร์ใช้ แต่ไม่สามารถค้นข้อมูลผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต นอกจากนี้พบว่าเวลาที่ต้องการถ่ายเอกสารหรือซื้อของจำเป็น ต้องเดินทางไปที่ตลาดซึ่งอยู่ห่างจากโรงเรียนไปประมาณ 10 กิโลเมตร ส่วนอาจารย์ที่รู้ภาษาไทยทรงดำมีเพียงคนเดียวและเป็นคนในท้องที่คือ อาจารย์ปิยวรรณ สุขเกษม ส่วนอาจารย์อีกคนที่เป็นไทยทรงดำเช่นกัน แต่เพิ่งย้ายมาจากท้องถิ่นอื่นคือไผ่คอกเนื้อสอนในระดับชั้นประถมศึกษา

ผลการเสวนา

เริ่มการเสวนาโดยตัวแทนคณะทำงานนครปฐมศึกษาแนะนำตนเอง และเล่าถึง วัตถุประสงค์การมาหนุนเสริมให้ทำงานวิจัยท้องถิ่นซึ่งเป็นโครงการหนึ่งของ สำนักงานสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เคยช่วยหนุนเสริมชุมชนหลายแห่งเพื่อให้คนในชุมชนมีโอกาสทำงานวิจัยเพื่อท้อง ถิ่นของตนโดยมีนักวิชาการเป็นที่ปรึกษาโครงการ ผู้ช่วยศาสตราจารย์เอี่ยม ทองดี ยกตัวอย่างหลายกิจกรรมที่ทำในลักษณะเดียวกัน ทุกกิจกรรมมาจากความต้องการของคนในชุมชนทั้งสิ้น นับเป็นงานวิจัยแบบใหม่เพื่อให้เห็นว่าคนในชุมชนสามารถทำวิจัยเองได้โดยไม่ ต้องรอให้นักวิชาการมาศึกษาอย่างที่เคยเป็นมาเพราะผลการศึกษานั้นคนในชุมชน ไม่สามารถใช้ประโยชน์โดยตรง ตัวอย่างกิจกรรมที่ผู้ช่วยศาสตราจารย์เอี่ยม ทองดี พูดให้คณะอาจารย์และผู้เข้าเสวนาฟัง เช่น การวิจัยประโยชน์จากขี้แดด ในอดีตที่ต้องจ้างคนขนไป ความรู้จากการวิจัยนี้กลายเป็นการซื้อขาย กล่าวคือมีผู้มารับซื้อถึงที่เพื่อนำไปทำสารอาหารและปุ๋ยสำหรับพืช

กรณีของชุมชนไทยทรงดำ ได้มาพบปะและเรียนรู้ร่วมกันหลายครั้งแล้ว แต่เป็นการพบเฉพาะกลุ่มของกรรมการสมาคมไทยทรงดำ และพบว่าเป็นแหล่งที่ยังมีทรัพยากรทางภาษาและทรัพยากรบุคคลอยู่มาก โดยเฉพาะมีภาษาถิ่นที่แสดงเอกลักษณ์ สมควรอนุรักษ์และพัฒนาอีกทั้งกลุ่มผู้ใหญ่ให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ภาษา ถิ่นถึงขนาดเคยปรารภว่าอยากให้มีการสอนภาษาถิ่นแก่เด็กนักเรียนทุกวันศุกร์

การมาครั้งนี้ คณะทำงานฯ จึงประสงค์ขอสอบถามความต้องการของกลุ่มอาจารย์และเด็กนักเรียน (โดยการอนุเคราะห์ประสานงานของอาจารย์สุรีย์ ทองคงหาญ) ว่ายังอยากศึกษาภาษาไทยทรงดำหรือไม่

ผลการเสวนาที่ได้จากแนวคิดของแต่ละกลุ่มบุคคล มีดังนี้

๏ อาจารย์สุรีย์ ทองคงหาญ นายกสมาคมไทยทรงดำ

สมาคมได้เตรียมงบประมาณไว้แล้วสำหรับการจัดตั้งห้องสมุดแต่ละศูนย์ของระดับตำบล อำเภอ และจังหวัดที่มีชุมชนไทยทรงดำหนาแน่นเพื่อเป็นศูนย์การเรียนรู้ เริ่มสร้างจากชุมชนที่พร้อมก่อนโดยสมาคมจัดหาอุปกรณ์ทุกอย่างให้ เช่น ตู้ เอกสาร เป็นต้น จากนั้นจะหาสมาชิกและตั้งกรรมการ (5-9 คน) เมื่อสมาคมมีความพร้อมด้านสถานที่และบุคลากรแล้วจะโยงไปสู่การศึกษาภาษาไทยทรงดำ และขอความร่วมมือจากโรงเรียนเพื่อจัดในเรียนในห้องเรียน หรือจัดเวลาเรียนให้เด็กที่พร้อมได้เรียนรู้นอกห้องเรียนพร้อมผู้ใหญ่

๏ นายวิระ เปี่ยมอินทร์ ประธานสภาองค์การบริหารส่วนตำบลไผ่หูช้าง

เห็นว่าเป็นโครงการที่ดี และยกตัวอย่างของตนว่าลูกมีพ่อเป็นไทย แม่เป็นไทยทรงดำ และอาศัยอยู่ในชุมชนภาษาไทย ลูกจึงพูดภาษาไทยได้ภาษาเดียว

๏ อาจารย์วิชัย มูลทองสงค์ ครูใหญ่โรงเรียนวัดไผ่หูช้าง และอาจารย์ปิยวรรณ สุขเกษม อาจารย์สอนสังคมศึกษา โรงเรียนวัดไผ่หูช้าง

1. เข้าใจวัตถุประสงค์ของคณะทำงานฯ แต่โรงเรียนไม่พร้อมทำหน้าที่แกนนำ เพราะมีภาระการสอนมากอยู่แล้ว ทั้งต้องให้ความร่วมมือกับหน่วยราชการหลายแห่ง เช่น ร่วมมือทำงานวิจัยพัฒนาสิ่งแวดล้อมกับมหาวิทยาลัยมหิดลโดยพัฒนาสิ่งแวดล้อมของโรงเรียน และต้องให้อาจารย์ 1 คนไปทำงานวิจัยนี้เต็มเวลาทั้งๆ ที่มีบุคลากรน้อยอยู่แล้ว อีกทั้งผู้สอนหลายท่านต้องรับภาระเด็กด้อยโอกาส เด็กที่มีปัญหา เด็กพิเศษโดยให้เรียนร่วมกับเด็กปกติ นอกจากนี้ผู้สอนต้องปรับตัวให้เข้ากับหลักสูตรใหม่ โดยเฉพาะวิชาของชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ที่ปรับเนื้อหาวิชาเป็น 5 สาระย่อยคือ วิชาศาสนา-ศีลธรรม-จริยธรรม วิชาหน้าที่พลเมือง วิชาเศรษฐศาสตร์ วิชาประวัติศาสตร์ วิชาภูมิศาสตร์ ส่วนชั่วโมงการเรียนของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2-3 ต้องปรับจากการเรียนเป็นคาบเป็นการเรียนรายชั่วโมง ทำให้นักเรียนต้องเลิกเรียนเวลา 16.30 น. ซึ่งเดิมเลิกเรียนตอน 15.30 น.

2. การอนุรักษ์วัฒนธรรมไทยทรงดำ เป็นงานที่โรงเรียนทำอยู่แล้ว ดังนี้

2.1 จัดตั้งศูนย์วัฒนธรรมในโรงเรียนขนาด 2 ห้องเรียนในปี พ.ศ.2543 เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ประเพณีต่างๆ ของไทยทรงดำ โดยอาจารย์ปิยวรรณ สุขเกษม มีพ่อแม่เป็นชาวไทยทรงดำ ได้ขอบริจาคจากสิ่งของ เครื่องใช้ เสื้อผ้าที่ใช้ในชีวิตประจำวันของชาวไทยทรงดำซึ่งเป็นผู้เฒ่าในชุมชน เช่น จากคุณแม่ของอาจารย์ (อายุ 76 ปี)

2.2 ทำแผนการสอนเรื่องท้องถิ่นของเรา และทำหลักสูตรท้องถิ่นซึ่งอำเภอบางเลนใช้เป็นหลักสูตรตัวอย่างและเป็นต้นแบบเพื่อใช้ที่โรงเรียนเกาะแรต เนื้อหาในหลักสูตรเน้นการสอนเกี่ยวกับประเพณีและใช้หลักสูตรเดียวกันนี้ทุกระดับชั้น แต่มีความยากง่ายต่างกันเพื่อนำไปสอดแทรกกับทุกวิชา เช่น วิชาพลศึกษา จะสอนการละเล่นพื้นบ้าน วิชาศิลปะจะสอนให้วาดรูปเกี่ยวกับประเพณี วิชาการงาน ก็สอนให้ทำอาหารพื้นบ้าน เป็นต้น

2.3 รวบรวมและเผยแพร่ หลายปีที่ผ่านมาโรงเรียนได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับประเพณีไทยทรงดำ โดยเฉพาะหมู่บ้านไผ่หูช้าง เช่น พิธีเกี่ยวกับความเชื่อเรื่องผี อาหารพื้นบ้าน ดนตรีพื้นบ้าน และประเพณีต่างๆ ไว้ค่อนข้างครบถ้วน คงเหลือแต่การรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในพิธีต่างๆ เช่น พิธีเสนเรือน พิธีแต่งงาน

การรวบรวมข้อมูลส่วนใหญ่จัดทำโดยอาจารย์ปิยวรรณ สุขเกษม และมีบางส่วนมอบหมายให้นักเรียนทำรายงานส่งโดยสอบถามจากผู้ใหญ่ในบ้านหรือจากการไปร่วมงานประเพณี ขณะนี้กำลังรวบรวมผลงานวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับไทยทรงดำจากแหล่งต่างๆ เพื่อเก็บไว้ในโรงเรียน ข้อมูลเกี่ยวกับไทยทรงดำบางเรื่องน่าจะตรวจสอบให้ดีก่อนเผยแพร่ จะได้ไม่ผิดพลาด

ในส่วนการเผยแพร่ ทางโรงเรียนได้ถ่ายเอกสารจากผลงานที่อาจารย์ทำไว้เพื่อแจกจ่ายแก่ผู้มาขอ รวมทั้งให้รูปถ่าย (ถ้ามี)

3. การสอนภาษาถิ่น อาจารย์ปิยวรรณ สุขเกษม มีความเห็นเกี่ยวกับการเรียนการสอนภาษาถิ่น ดังนี้

3.1 การทำหลักสูตรในโรงเรียน จากการปรับหลักสูตรใหม่ ทำให้นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ต้องลดจำนวนชั่วโมงที่เรียนวิชาสังคมศึกษา เหลือเพียง 4 ชั่วโมง นอกจากนี้นักเรียนต้องเรียนเสริมวิชาอื่น ได้แก่ วิชาธรรมศึกษาตรีของชมรมพุทธศาสตร์ ดังนั้นในปีการศึกษานี้ยังไม่สามารถสอดแทรกการสอนภาษาถิ่นในวิชาใดได้ที่เป็นการสอนแบบบูรณาการ หากให้จัดรวมภาษาถิ่นในตารางสอนเพิ่มขึ้นคงทำได้ยากเพราะตอนนี้นักเรียนก็เลิกเรียนเย็นกว่าที่เคยทำและเหนื่อยมากแล้ว แต่ถ้าเชิญวิทยากรมาสอนเป็นครั้งคราวในเวลาที่เหมาะสมอาจทำได

3.2 สอนพูดภาษาถิ่น คณะทำงานฯ หวังให้คนในชุมชนเต็มใจพูดภาษาถิ่นในชีวิตประจำวัน มิใช่ต้องพูดหรือสอนเพื่อการอนุรักษ์ แต่อาจารย์ปิยวรรณ สุขเกษม เห็นว่าคนในชุมชนก็พูดกันอยู่แล้ว เพียงแต่อิทธิพลของสื่อจากภายนอก เช่น โทรทัศน์ ทำให้วัฒนธรรมที่มีอยู่เดิมเปลี่ยนสภาพ พ่อแม่รุ่นใหม่จึงพูดภาษาไทยกับลูก ดังนั้นสิ่งที่โรงเรียนทำได้ก็คือช่วยอนุรักษ์ไว้ และช่วงที่ผ่านมาก็สอนอยู่แล้วโดยสอดแทรกไปกับวิชาที่มี ในปีนี้ยังหาช่องทางอยู่ว่าจะสอดแทรกตอนไหน อย่างไร การสอนพูดภาษาไทยทรงดำจะเริ่มสอนในระดับมัธยม เป็นการสอนเพื่อให้เด็กรู้สึกสนุกและอยากเรียนรู้ แต่เพียงปีเดียวเด็กก็จะลืมเพราะไม่ได้นำไปใช้กับใคร เนื่องจากพ่อแม่พูดภาษาไทยกับลูก และไม่เห็นด้วยหากให้สอนภาษาถิ่นกับเด็กเล็กระดับประถมศึกษา โดยเฉพาะการสอนกับนักเรียนที่พ่อแม่เป็นไทยทรงดำและพูดภาษานี้กับลูก เพราะเด็กจะ สับสนเนื่องจากภาษาไทยทรงดำก็ยังพูดไม่ค่อยได้ เมื่อมาเรียนภาษาไทยในโรงเรียนจะเกิดปัญหาการสื่อสารและสร้างความเข้าใจผิดแก่เพื่อนและครูที่รู้เพียงภาษาไทย เช่น พูดว่า “เจ็บเหน่ว” ครูเข้าใจว่าเป็นนิ่ว แต่เด็กหมายถึง ปวดปัสสาวะ เป็นต้น หากเด็กจะพูดล้อเล่นกับเพื่อนด้วยภาษาถิ่นหรือภาษาไทยปนภาษาถิ่น ครูจะไม่เข้มงวด ผ่อนปรนได้

3.3 สอนตัวเขียนไทยทรงดำ เป็นสิ่งที่ทำค่อนข้างยากเพราะไม่ได้ใช้สื่อสารกับใครและส่วนใหญ่มีปรากฏเฉพาะในคัมภีร์โบราณ แม้แต่ผู้สอนก็ไม่ชำนาญนัก เพราะเขียนอักษรโซ่งได้ แต่ถ้าเป็นอักษรไทดำจะยากกว่า มีอักษรที่ต่างกันหลายตัวและออกเสียงต่างกัน

4. การที่คนในชุมชนไม่สนใจเรียนรู้ภาษาถิ่น อาจารย์ปิยวรรณ สุขเกษม ให้ความเห็นว่าอาจเนื่องด้วยสาเหตุดังนี้

4.1 มีวัฒนธรรมใหม่ๆ แทรกเข้ามา ทำให้เด็กสามารถรับรู้ภาษาไทยตั้งแต่อายุ 2 ขวบจากโทรทัศน์ พ่อแม่รุ่นใหม่ที่เป็นไทยทรงดำหรือลูกผสมจะเลือกพูดภาษาไทยกับลูกแทนการพูดภาษาถิ่นของตน

4.2 คนส่วนใหญ่ยังอ่านหนังสือไม่ได้อีกมากภายหลังเรียนจบชั้นประถม 4 แล้ว

4.3 คนในชุมชนไม่ตื่นตัวศึกษาเรื่องนี้เพราะสนใจเรื่องการทำมาหากินมากกว่า แต่อาจารย์ปิยวรรณ สุขเกษม ยังคงอยากอนุรักษ์ภาษาถิ่นและมีความสุขที่ได้ค้นคว้าเรื่องเหล่านี้ สิ่งที่สามารถให้คงไว้ได้คือเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับประเพณี แต่ด้านภาษา เป็นสิ่งที่รักษายากเพราะคนในชุมชนไม่ให้ความสำคัญพูดภาษาถิ่น และไม่วิตกที่คนส่วนใหญ่ในชุมชนซึ่งมีเชื้อสายไทยทรงดำจะสื่อสารกันด้วยภาษาไทย

4.4 ในกลุ่มนักเรียน อาจสนใจศึกษาและอยากเรียน แต่ถ้าให้เลือก นักเรียนจะเลือกไม่เรียน เพราะเหนื่อยจากการเรียนปกติในห้องเรียนแล้ว และการรับรู้ก็ไม่สามารถทำได้มากเหมือนนักเรียนในเมือง

กล่าวโดยสรุป ทางโรงเรียนพร้อมที่จะร่วมมือด้านการสอนถ้าเด็กอยากเรียน แต่ควรไปหนุนเสริมให้ผู้นำชุมชนเห็นความสำคัญก่อน เพราะที่เห็นด้วยกับความคิดนี้มีอาจารย์สุรีย์ ทองคงหาญ และกรรมการสมาคม ผู้นำอีกหลายคน รวมทั้งคนในชุมชนที่ไม่สนใจเรื่องเหล่านี้มากไปกว่าปัญหาค่าครองชีพหรือการเสี่ยงโชค และวิถีชีวิตขณะนี้ก็เป็นแบบไทยไปแล้ว เช่น นับถือศาสนาพุทธ

อาจารย์สุรีย์ ทองคงหาญ ได้ให้ข้อสังเกตเพิ่มเติมเกี่ยวกับชาวไทยทรงดำคือ

1. คนไทยทรงดำไม่กล้าแสดงตัวเพราะมีจุดด้อยด้านการศึกษาและมีปัญหาทางเศรษฐกิจ

2. วัฒนธรรมหลายอย่าง ทั้งภาษาพูด ภาษาเขียน การแต่งกาย เริ่มหายไปเพราะอ่านภาษาเดิมไม่ได้ ประเพณีเดิมที่รับมาจึงทำกันแบบผิดๆ เช่น ประเพณีศพ(ขอน) ต้องมีพิธีซ่อนขวัญคนมีชีวิตก่อนและมีพิธีสวดนำทางให้ผู้ตายตั้งแต่จากเรือนว่าไปทางใดเพื่อจะได้กลับมารับอาหารได้ถูก เมื่อสวดไม่ได้จึงเดินกลายเป็นการเดินนำเฉยๆ หรือการไปร่วมงานบวชของคนไทย ที่บ้านหนองปรง จังหวัดเพชรบุรี ถิ่นของไทยทรงดำถึงร้อยละ 100 พบว่าผู้มางานแต่งกายแบบธรรมดาแทนการแต่งกายแบบไทยทรงดำ อาจเป็นเพราะอายที่เป็นงานสังคมคนเมือง หรือเสื้อผ้าเหล่านี้มีราคาแพงจนไม่มีเงินซื้อเพราะไม่ค่อยทีคนทอผ้า

๏ เด็กนักเรียน

จากการสอบถามเด็กนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 จำนวน 27 คน ระหว่างช่วงเวลา 12.30-13.00 น. มีจำนวนเด็กนักเรียนหญิงและชายเท่าๆ กัน ผลการสอบถามพบว่า

1. เด็กส่วนใหญ่มีพ่อแม่เป็นคนไทยทรงดำ

2. เด็กส่วนใหญ่ยอมรับว่าอยากเรียนภาษาไทยทรงดำ แต่พูดภาษานี้ได้น้อยมาก เพราะพ่อแม่พูดภาษาไทย และหากให้พูดนอกบ้านกับคนในชุมชนจะเลือกพูดไทยหรือพูดไทยปนภาษาถิ่นเพราะเด็กยังไม่เก่งภาษาถิ่น จึงไม่กล้าพูด หากมีคนเฒ่าคนแก่ในครอบครัว เช่น ปู่ย่า เด็กจะพูดภาษาถิ่นกับบุคคลเหล่านี้

3. อาจารย์สุรีย์ ทองคงหาญ พูดคุยกับเด็กเป็นภาษาถิ่น สิ่งที่บอกเล่าแก่เด็กจะเป็นประวัติของท่านที่เคยสอนที่โรงเรียนวัดไผ่หูช้างถึง 12 ปีและเป็นครูโรงเรียนอื่นๆ อีก การที่ท่านเคยไปให้เห็นเวียดนาม มีโอกาสพบปะชาวไทดำที่นั่น ท่านพบว่าสามารถสื่อสารเข้าใจกันได้ด้วยภาษาถิ่น ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของภาษาและความเป็นมาของเผ่าพันธุ์เดียวกัน

สิ่งที่ได้รับเพิ่มเติมจากการเสวนา

1. โรงเรียนเห็นชอบให้มีการเผยแพร่เอกสารรายงานที่อาจารย์ปิยวรรณ สุขเกษม ทำไว้ หากห้องสมุดมหาวิทยาลัยศิลปากรจะนำไปเผยแพร่เพื่อบริการในศูนย์ข้อมูลภาคตะวันตกฯ และเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ของหอสมุดเพื่อให้คนที่สนใจทั้งในประเทศและต่างประเทศมีโอกาสศึกษา ทั้งนี้อาจขอข้อมูลเพิ่มเติมได้จากอาจารย์ปิยวรรณ สุขเกษม ที่เป็นแหล่งข้อมูล หากสามารถบันทึกเสียงพูดภาษาถิ่นออกเผยแพร่อินเทอร์เน็ตยิ่งเป็นประโยชน์มาก กรณีโรงเรียนยังรับอินเทอร์เน็ตไม่ได้ จะขอรับเป็นแผ่นซีดีรอม

2. การเสวนาครั้งนี้ไม่มีโอกาสพบกับคนในชุมชนและเจ้าอาวาส จึงยังไม่ทราบความเห็นของบุคคลดังกล่าว

3. ได้รับความรู้เรื่องขนบธรรมเนียมประเพณี ความเชื่อ เช่น ถือว่าอาหารต้องอยู่ในสำรับ (เดิมใช้ถาดไม้ ระยะหลังมีถาดสังกะสี) อาจวางข้างนอกบ้างก็ได้ แต่ถ้านำไปให้คนตายจะเอาอาหารวางนอกสำรับทั้งหมด นอกจากนี้ได้ทราบว่าคนไทยทรงดำจะไม่นอนตอนกลางวันเพราะรับวัฒนธรรมมาแบบจีน และเวลามีงานประเพณี หญิงจะใส่เสื้อฮี เมื่อตายจะเอาเสื้อฮีวางบนศพคนตาย เป็นต้น

4. ได้รับฟังภาษาถิ่นหลายคำและเห็นว่าเป็นภาษาที่น่าศึกษา ควรแก่การอนุรักษ์ให้คงอยู่กับชุมชนนี้ เช่น

อันน้อย หมายถึง อันเล็ก

เอมเฒ่า หมายถึง ผู้เฒ่าผู้แก่

เอมอู่-เอมนาย หมายถึง ปู่-ย่า

ป๊ะ หมายถึง พูด

มะหุ่ง หมายถึง มะละกอ

—————————————————————-

เสวนา : วันที่ 8 กรกฎาคม 2546

สรุปความโดย : นางสาวยุพดี จารุทรัพย์