ข้าวหลามพระงาม : แรงรวมใจของชุมชน ชุมชนพระงาม 2 อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม

ข้าวหลามพระงาม : แรงรวมใจของชุมชน ชุมชนพระงาม 2 อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม

วัดพระงาม

ตั้งอยู่ที่ตำบลพระปฐมเจดีย์ อำเภอเมืองนครปฐม อยู่ริมทางรถไฟ ห่างจากองค์พระปฐมเจดีย์ไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ มีเนื้อที่ 44 ไร่ 48 ตารางวา มีซากเจดีย์ขนาดใหญ่ซึ่งเป็นสมัยเดียวกับองค์พระปฐมเจดีย์เดิม ได้ขุดพบโบราณวัตถุในสมัยนั้นหลายชิ้น เช่น พระพุทธรูปศิลา เสมาธรรมจักร กวางหมอบ พุทธรูปสัมฤทธิ์ พระพิมพ์ดินเผา ซึ่งมีฝีมืองดงามมากได้ส่งไปเก็บไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติหลายองค์ และที่แตกหักเก็บไว้ที่พิพิธภัณฑสถานที่พระปฐมเจดีย์ ซากเจดีย์ในปัจจุบันกลายเป็นเนินดินในรัชกาลที่ 5 ได้สร้างทางรถไฟ ตัดผ่านเนินดินนี้ด้วยจึงถูกทำลายลงบ้าง

ใน พ.ศ. 2446 ได้มีการปรับปรุงที่รกร้างในบริเวณนี้ได้พบกุฏิโบราณหลังหนึ่ง วิหารบนเนินดินมีพระพุทธรูปเก่าและพระเจดีย์หัก 1 องค์ วิหารบนเนินดินนี้ กรมศิลปากรได้มาสำรวจและสันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยอยุธยา เพราะลักษณะการก่อสร้างที่ฐานของวิหารคล้ายรูปเรือสำเภา

ชุมชนพระงาม 2

วัดพระงามเป็นวัดที่เพิ่งมาตั้งขึ้นใหม่เมื่อปลายรัชกาลที่ 5 เมื่อ พ.ศ. 2450 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาว่า วัดโสดาพุทธาราม แต่ชาวบ้านยังเรียกว่า วัดพระงามมาจนบัดนี้ เพราะมีพระพุทธรูปที่งดงามสมัยทวาราวดีที่ขุดพบที่วัดนี้

ชาววัดพระงามมีการรวมตัวกันเพื่อทำกิจกรรม เช่น ธนาคารขยะ โรงเรียนครูอาสา โดยมีพระครูประภัทรธรรมาทร ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระงาม เป็นจุดรวมใจ และมีผู้นำชุมชน เช่น ผู้ใหญ่คำนึง คงทรัพย์ อดีตผู้ใหญ่ พี่แอ๊ด ตันเสียงสม ประธานชุมชนพระงาม 2 รวมไปถึงชาวบ้านที่มีทั้งผู้เฒ่าผู้แก่ จนถึงคนหนุ่มสาว เช่น ลุงบุญ แก้วชอุ่ม (อายุ 80 ปี) ลุงบุญส่ง จิ๋วแก้ว (อายุ 75) ลุงชุบ เพ็งตะโก (อายุ 81 ปี อดีตช่างไม้) ลุงเสริม นิ่มอนงค์ (ลุงปา) อดีตประธานชุมชนพระงาม 2 เป็นต้น ร่วมกับนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยศิลปากร มานั่งพบปะสนทนากันในเรื่อง “ข้าวหลาม”

เนื่องจากชุมชนวัดพระงามประกอบอาชีพขายข้าวหลามมายาวนาน วงเสวนาจึงมีผู้ประกอบการข้าวหลามชุมชนวัดพระงาม เช่น ป้าสำรวย เนตรกอบเกื้อ อยู่ชุมชนพระงาม 2 ใกล้บ้านแม่ทรัพย์ (อายุ 64 ปี) ป้าแสวง โตอดิเทพ (อายุ 79 ปี มารดาทำข้าวหลามขายมาก่อนแม่ทรัพย์) ป้าอารมณ์ (แจ๋ว, อายุ 69 ปี ทายาทรุ่นหลานของผู้ใหญ่แจ่ม)

ข้ามหลามรวมใจ

การจัดเสวนาครั้งแรก วันพุธที่ 26 กุมภาพันธ์ 2546 ระหว่างเวลา 14.00 – 17.00 น. ของคณะทำงานวิจัย “นครปฐมศึกษา” ที่มีโอกาสสัมผัสชุมชนพื้นที่จริง และได้รับความอนุเคราะห์ เอื้ออารีอย่างดียิ่งในการให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ และการแลกเปลี่ยนความเห็นร่วมกัน ผลการเสวนา สามารถสรุปเป็นประเด็นต่างๆ ได้ดังนี้

มูลเหตุที่เลือกเสวนาที่วัดพระงาม

1. ด้วยคณะทำงานวิจัย”นครปฐมศึกษา ได้ดูภาพถ่ายของแม่ทรัพย์กำลังสาธิตการทำข้าวหลาม ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ที่เสด็จมานครปฐม พร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าโบดวง อดีตกษัตริย์สวีเดน ที่บริเวณพระราชวังสนามจันทร์ เมื่อปี พ.ศ. 2503

2. คณะทำงานฯต้องการทราบรายละเอียดและข้อเท็จจริงจากผู้เริ่มทำข้าวหลามเป็นรายแรกๆ ซึ่งเป็นที่ทราบกันทั่วไปว่ามีกำเนิดแถบชุมชนวัดพระงาม จนสามารถสร้างชื่อเสียงให้จังหวัดนครปฐม และกลายเป็นส่วนหนึ่งของคำขวัญประจำจังหวัด

3. เพื่อจัดเก็บเป็นบันทึกเอกสารประวัติศาสตร์จากคำบอกเล่า ให้ผู้สนใจและคนรุ่นหลังของชุมชนใช้สืบค้นเรื่อง “ข้าวหลามเสวย” และ “ข้าวหลามนครปฐม” ซึ่งจะจัดบริการไว้ในศูนย์ข้อมูลท้องถิ่นภาคตะวันตก หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ สำนักหอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยศิลปากร

ประวัติข้าวหลามนครปฐม

จากคำบอกเล่า สันนิษฐานได้ว่าข้าวหลามของจังหวัดนครปฐมมีกำเนิดแห่งแรกที่บริเวณชุมชนวัดพระงาม บรรพบุรุษของคนในชุมชนนี้อพยพถิ่นฐานมาจากถิ่นอื่น อาจอพยพมาเองหรือเป็นสะใภ้ของหมู่บ้านนี้โดยตั้งหลักแหล่งบริเวณทางรถไฟซึ่งพิจารณาแล้วว่าจะมีความเจริญต่อไป ส่วนใหญ่เป็นผู้ที่ย้ายถิ่นมาจากบริเวณลำลูกบัว ทุ่งสมอ และอุหล่ม ในเขตอำเภอบางเลน อันเป็นถิ่นที่มีลาวโซ่งหรือไทยทรงดำอาศัยอยู่ คาดว่าในจำนวนผู้ย้ายถิ่นครั้งนั้นน่าจะมีคนไทยเชื้อสายลาวรวมอยู่ด้วย เมื่ออยู่นานวันก็ได้จับจองที่ดินเป็นของตนเองและมีการออกโฉนดรับรองให้เป็นเจ้าของที่ดินถูกต้องตามกฎหมาย

บุคคลกลุ่มแรกที่ย้ายถิ่นมาอยู่แถบนี้ประกอบอาชีพหลักคือทำนา การทำข้าวหลามนั้นจะทำทุกครัวเรือนในช่วงเทศกาล คือหลัง 3 ค่ำ เดือน 3 จนถึงเดือน 4 (ราวเดือนกุมภาพันธ์ มีนาคม) และไม่มีการทำอีกในช่วงอื่น ข้าวหลามจึงมีรับประทานมาแต่ครั้งสงครามโลก คาดว่ากำเนิดข้าวหลามนครปฐมน่าจะมีอายุประมาณ 130 ปีแล้ว

ต่อมาเมื่อมีผู้นำข้าวหลามมาประกอบเป็นอาชีพจึงมีทำขายตลอดปี แม้ว่าจะไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจนว่าใครเป็นผู้ขายรายแรก แต่คนดั้งเดิมที่ทำและยังเป็นที่รู้จักกันอยู่ เช่น ลุงแจ่ม ป้าเป้า ลุงรัก อาจเรียกว่าเป็นยุคแรกของการประกอบอาชีพข้าวหลาม

ข้าวหลาม นครปฐมเริ่มเป็นที่รู้จักอย่างมากของคนทั่วไปและนักท่องเที่ยวที่เดินทางมา นครปฐมเพื่อซื้อกลับบ้านในช่วงภายหลังที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ มาทอดพระเนตรการทำข้าวหลามจากแม่ทรัพย์ ทำให้ข้าวหลามแม่ทรัพย์ขายได้มากกว่าผู้ขายรายอื่นๆ ในยุคนั้น เช่น แม่จิตต์ แม่หนู อาจเรียกว่าเป็นยุคกลางของข้าวหลามที่มีอายุตั้งแต่ปี พ.ศ.2500 เป็นต้นมา ยุคนี้เป็นยุคทองของข้าวหลามนครปฐม จากความมีชื่อเสียงและความนิยมของผู้บริโภค ทำให้มีการพัฒนาเป็นข้าวหลามหลายแบบ คือ ข้าวหลามธรรมดา ข้าวหลามสังขยา ข้าวหลามบ๊ะจ่าง และข้าวหลามข้าวจ้าว

ส่วนการทำข้าวหลามของคนปัจจุบัน ซึ่งส่วนใหญ่มีอายุ 70 ปีขึ้นไปนั้นได้ทำตามแบบที่บรรพบุรุษเคยทำและยังสร้างชื่อเสียงให้จังหวัดนครปฐมก็คือ แม่(สำ)รวย แม่(อา)รมณ์ แม่แหวง(แสวง) ภายหลังการผลิตข้าวหลามประสบปัญหาหลายประการ ทำให้จำนวนผู้ขายลดลงจากเดิมที่มีการทำขายในช่วงยุคทองถึง 20 ครัวเรือน คงเหลือรายใหญ่ๆ เพียง 5 ครัวเรือนเท่านั้น

กำเนิดข้าวหลามเสวย

ด้วยผู้ว่าราชการจังหวัดในสมัยนั้นคือ นายพล วงศาโรจน์ และนายกเทศมนตรี คือ นายสว่าง แก้วพิจิตร ประสงค์ให้มีการสาธิตการทำข้าวหลามถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระเจ้าโบดวง ในวโรกาสที่เสด็จฯมาจังหวัดนครปฐมเมื่อปี พ.ศ. 2503 ด้วยความคุ้นเคยเป็นอันดีกับผู้ใหญ่แจ่ม จึงขอให้แม่ทรัพย์ ลูกสะใภ้ของผู้ใหญ่แจ่ม ผู้ได้ชื่อว่ามีฝีมือในการทำอาหารและทำข้าวหลามได้อร่อยมาก สาธิตการทำข้าวหลามถวาย ในครั้งนั้นนอกจากทำข้าวหลามแล้ว ได้ทำก๋วยเตี๋ยวถวายด้วย จึงมีชื่อที่คนทั่วไปเรียกขานกันว่า “ข้าวหลามเสวย” และ “ก๋วยเตี๋ยวเสวย” ตั้งแต่นั้นมา

เพื่อเป็นการถวายความเคารพต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว วิธีการทำข้าวหลามที่ทำถวายหน้าพระที่นั่ง จึงมีการเตรียมอุปกรณ์ที่ต่างจากที่ทำเองที่บ้าน เช่น มีการตั้งโต๊ะให้สำหรับวางภาชนะ การเตรียมช้อนเงินเพื่อกรอกข้าวเหนียวใส่กระบอกแทนมือ ด้วยความไม่ถนัดของผู้ทำ กอปรกับความตั้งใจของผู้ทำที่ต้องการให้อร่อยมากกว่าเดิม จึงมีการผสมกะทิและอื่นๆ ที่มากกว่าปกติ ผู้ที่มีโอกาสรับประทานจึงรู้สึกว่ารสชาติไม่อร่อยเหมือนที่เคยทำ

ที่มาของข้าวหลามนครปฐม

เมื่อวิเคราะห์ดูจากแหล่งกำเนิดการทำข้าวหลาม ขณะนั้นทั้งจังหวัดมีเพียงตำบลเดียวคือตำบลพระปฐมเจดีย์ และทำกันเพียงแห่งเดียวคือบริเวณชุมชนหมู่บ้านวัดพระงาม หรือ หมู่บ้านผู้ใหญ่แจ่ม เหตุใดผู้บริโภคจึงไม่รู้จักชื่อข้าวหลามพระงาม แต่รู้จักชื่อข้าวหลามนครปฐม

คำตอบคือ ผู้ขายทั้งชุมชนวัดพระงามซึ่งมีประมาณ 20 ครัวเรือนนั้น ได้ใส่หาบเพื่อนำไปขายตามบ้าน หรือวางขายบริเวณหน้าร้านค้า แถบบริเวณสะพานเจริญศรัทธาจนถึงบริเวณซอยกลาง (ทางเชื่อมระหว่างตลาดบนกับตลาดล่าง) โดยร้านแม่ทรัพย์ขายอยู่บริเวณร้าน ช.พานิช ต่อมาเป็นการขายตามแผงลอย รวมทั้งบริเวณด้านในขององค์พระปฐมเจดีย์ ผู้ซื้อส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวไม่ทราบแหล่งผลิต ทราบแต่แหล่งขาย จึงเรียกชื่อเพียงว่า “ข้าวหลามนครปฐม”

ดังนั้นจึงไม่มีชื่อเรียกข้าวหลามตามแหล่งผลิตเหมือนข้าวหลามหนองมน ซึ่งเป็นทั้งแหล่งท่องเที่ยวและเส้นทางที่นักท่องเที่ยวสัญจร แม้ว่าแต่ละร้านจะมีข้าวหลามขายเพียงเล็กน้อย แต่ก็เป็นที่นิยมของผู้บริโภคและเรียกชื่อข้าวหลามตามชื่อหมู่บ้าน

ลักษณะเฉพาะของข้าวหลามนครปฐม

จากการเสวนาเพื่อศึกษาเปรียบเทียบข้าวหลามนครปฐมกับข้าวหลามหนองมน พบว่าข้าวหลามหนองมนเป็นการนำข้าวเหนียวมามูลแล้วเทลงกระบอกและนำไปย่าง จึงไม่จำเป็นต้องมีจุกปิด ใช้เพียงพลาสติกปิดปากกระบอกเพื่อป้องกันฝุ่นละอองเท่านั้นก็พอ

ข้าวหลามนครปฐมมีขั้นตอนการทำยุ่งยากกว่าข้าวหลามหนองมน และต้องทำเองทุกขั้นตอนตั้งแต่การเตรียมวัตถุดิบ การบรรจุลงกระบอก การเผา และการจำหน่าย โดยสรุปมีขั้นตอนการทำดังนี้

1. การเตรียมวัตถุดิบ ได้แก่

1) การเลือกไม้ไผ่ ไม้ที่นิยมใช้กันคือไม้ไผ่ป่า ลักษณะของไม้ไผ่ที่ดีคือ ต้องคัดเลือกเอาเฉพาะไม้ที่ได้กำหนดตัดและมีเยื่อหนาเท่านั้น ความร้อนที่พอดีขณะเผาและระยะเวลาที่เผาจะทำให้เยื่อแยกออกจากกระบอกไม้ไผ่ เมื่อเย็นลงจะหดตัวพันข้าวเหนียว ทำให้สามารถเคาะเนื้อข้าวหลามจากกระบอกได้โดยไม่ต้องผ่า ไม้ไผ่ป่าที่นำมาทำเป็นกระบอกนั้น ได้มาจากกาญจนบุรี สิงห์บุรี และจากเขมร ไม้จากกาญจนบุรีมีคุณภาพดีที่สุด แต่ละวันต้องใช้ไม้ไผ่สำหรับทำกระบอกข้าวหลามประมาณ 150-200 ลำ ลำละประมาณ 10 กระบอก

2) การทำจุกสำหรับปิดปากกระบอก ทำจากใบตองเพื่อให้เกิดความหอมขณะเผา ผู้ที่ประกอบอาชีพนี้จะต้องทำจุกปิดเอง ซึ่งเดิมเก็บแยกกับตัวกระบอก ต่อมาเพื่อแก้ปัญหาข่าวลือที่ว่ามีสัตว์เข้าไปหลบภายในกระบอก จึงปิดจุกทันทีที่เลื่อยไม้ไผ่เสร็จ

3) การเตรียมข้าวเหนียว น้ำตาล เกลือ ถั่วดำ กะทิ และวัตถุดิบอื่นๆ เช่น ไข่ ที่มีการผสมรวมกับข้าวหลาม เช่น ข้าวหลามสังขยา

2. การบรรจุลงกระบอก ทำดังนี้

1) เปิดฝาจุกออกและเป่าลมเพื่อไล่ลมในกระบอก

2) กรอกข้าวเหนียวดิบลงกระบอก ตามด้วยกะทิที่ผสมเกลือและน้ำตาลแล้ว

3) ปิดจุกตามเดิม

3. การเผา  ลักษณะของเตาเผาทำเป็นราว มีขนาดความยาวราวละ 1-2 วา จำนวนของข้าวหลามที่เผาได้ในแต่ละราวขึ้นกับความยาวราว ซึ่งเดิมทำเป็นราวตั้งกับพื้น ต่อมาพัฒนาเป็นราวที่ยกพื้นสูงขึ้นเพื่อให้ยืนทำได้ ระยะเวลาของการเผาแตกต่างกัน โดยเตาแรกต้องใช้เวลาเผาประมาณ 2 – 3 ชั่วโมง เตาต่อมาใช้เวลาเผาน้อยลงได้ ดังนั้นงานเผาข้าวหลามจึงเป็นงานที่ใช้เวลามากและผู้ทำต้องอดทนต่อความร้อน

 4. การจำหน่าย  ช่วงแรกเป็นการผลิตเอง ขายเอง จึงต้องใช้เวลาตลอดทั้งวันในการเตรียมงานและการขาย ต่อมาผู้ผลิตส่งให้พ่อค้าคนกลางที่มารับซื้อเพื่อไปขายต่อให้ ซึ่งกลายเป็นปัญหาสำคัญที่ทำให้ผู้ผลิตจำนวนหนึ่งต้องเลิกอาชีพนี้ไป

ปัญหาของข้าวหลามนครปฐมและแนวทางแก้ไข

จากการที่ข้าวหลามนครปฐมที่เคยรุ่งเรืองในอดีต ผู้ทำ 20 ราย เหลือเพียงผู้ผลิตรายใหญ่เพียง 5 ราย พบว่าเกิดจากปัญหาต่อไปนี้

1. ปัญหาการผลิต

1) ต้นทุนสูง เพราะวัตถุดิบทุกอย่างนำเข้าจากแหล่งอื่น เช่น ไม้ไผ่ ข้าวเหนียว โดยเฉพาะค่าแรงงาน เป็นผลให้ราคาจำหน่ายสูงตาม เมื่อคิดเฉลี่ยเงินที่ผู้ลงทุนต้องจ่ายไป มีถึงร้อยละ 80 ของเงินที่ได้คืนมา จำนวนเงินที่ขายได้ประมาณรายละ 2,000 บาทต่อวันจากปริมาณข้าวเหนียวที่ทำได้สูงสุดวันละ 2 กระสอบ

2) ผู้ที่ทำอยู่ในปัจจุบันส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุและคาดว่าไม่มีผู้สืบทอดอาชีพนี้ เพราะเป็นงานที่หนัก รายได้น้อย ขณะที่คนรุ่นใหม่ที่มีการศึกษาสูงมักประกอบอาชีพอื่น คือ รับราชการ ค้าขาย ทำงานตามบริษัท โรงงาน และอาชีพที่เกิดใหม่คืออาชีพรับทำโต๊ะจีน ปัจจุบันมีผู้ทำแถบชุมชนวัดพระงามถึง 8 ราย

3) ผู้ผลิตไม่มีการพัฒนา ยังคงทำตามรูปแบบเดิมที่เคยทำในอดีต

แนวทางแก้ไข

1) ควรปลูกไม้ไผ่ใช้เอง โดยติดต่อที่ดินจังหวัดเพื่อขอให้สำรวจบริเวณที่ดินที่ ไม่ใช้ประโยชน์ประมาณ 500-1,000 ไร่ และขอความอนุเคราะห์กล้าพันธุ์ไม้ไผืที่มีเยื่อหนาจากพุทธมณฑลเพื่อเพาะพันธุ์เอง ใช้เวลาดำเนินการประมาณ 4 ปี

2) ควรปรับปรุงและพัฒนาวิธีการผลิต โดยเน้นคุณภาพมากกว่าปริมาณ และปรับเปลี่ยนรสชาติตามแบบที่ผู้บริโภคนิยม เช่น ทำเป็น “ข้าวหลามสุขภาพ” โดยมีสมุนไพรหรือธัญพืชผสม เช่น ข้าวกล้อง ข้าวเหนียวดำ ข้าวหลามผสมงาดำ เป็นต้น

3) ปลูกฝังค่านิยมใหม่ ให้ผู้ซื้อหันมาบริโภคข้าวหลามแทนปาท่องโก๋ หรือขนมเค้ก ทั้งนี้คนในชุมชนพระงามต้องทำเป็นต้นแบบก่อน เพราะเป็นแหล่งที่รวมความเจริญและเป็นจุดรวมคนจากแหล่งต่างๆ อยู่แล้ว ทั้งนี้อาจขายน้ำเต้าหู้เพื่อรับประทานตอนเช้ากับข้าวหลาม และเพิ่มจุดออกกำลังกายไท้เก๊กเพื่อรักษาสุขภาพ

2. ปัญหาของผู้ขาย

1) บริเวณทำเลที่เคยได้ในอดีต เช่น ในองค์พระ หรือบริเวณสะพานเจริญศรัทธา เมื่อมีการระบบการขายใหม่ ทำให้ไม่สามารถจัดวางขายอย่างเดิมได้อีก ต้องไปตั้งขายบริเวณด้านข้างและด้านหลังขององค์พระ ซึ่งเป็นจุดที่คนขายกับคนซื้ออยู่ต่างที่กัน

2) การสร้างถนนธนบุรี-ปากท่อ แต่ก่อนรถที่ต้องไปภาคใต้ต้องผ่านนครปฐม ปัจจุบันการเดินทางไม่จำเป็นต้องผ่านเส้นทางนี้อีก จึงเหลือเพียงรถจากกาญจนบุรีและราชบุรีที่ยังผ่านอยู่ และขายได้มากช่วงเดือน 11 หรือช่วงเทศกาลทอดกฐิน

3) ปัญหาจากพ่อค้าคนกลางหรือผู้รับไปขายต่ออีกทอดหนึ่งไม่ช่วยรักษา ชื่อเสียงของผู้ทำ จึงมีการนำไปกล่าวอ้างว่าทำมาจากชื่อผู้ผลิตทีมีชื่อเสียงทั้งๆ ที่ไปนำมาจากแหล่งอื่น รวมทั้งกรณีที่ขายไม่หมดภายในวันนั้นและเพื่อให้สามารถขายได้หมด จึงมีการเก็บไว้แล้วนำมาขายต่อในวันที่สองหรือวันที่สาม เรียกว่า ข้าวหลาม 2 ขวบ (อายุ 2 วัน) หรือ 3 ขวบ เป็นผลให้ผู้บริโภคไม่ทราบว่าเป็นข้าวหลามค้างบูดเน่า จึงเกิดความเบื่อหน่ายและไม่กล้าซื้อไปบริโภคอีก

แนวทางแก้ไข

1) หาทำเลที่เหมาะสม เช่น บริเวณด้านในของกำแพงองค์พระ บริเวณที่จอดรถประจำทาง ทั้งนี้ต้องได้รับการสนับสนุนจากผู้บริหารของระดับจังหวัดเพื่อให้ผู้ทำข้าว หลามยังสามารถประกอบอาชีพเดิมได้และรักษาเอกลักษณ์เดิมได้ต่อไป

2) ผู้ผลิตต้องหันมาขายเองอย่างเดิม โดยระยะแรกต้องเป็นการสาธิตตามมหาวิทยาลัยหรือแหล่งอื่น ระยะแรกไม่เน้นการขาย แต่เน้นการรักษาคุณภาพเพื่อให้ผู้บริโภคหันมาสนใจและกลับมานิยมบริโภคเช่นเดิม

3) ปรับปรุงบรรจุภัณฑ์ เช่นใช้วัสดุอื่นทำแทนไม้ไผ่ที่มีราคาแพงและหายาก วิธีการถนอมอาหารเพื่อให้เก็บได้มากกว่า 1 วัน การประทับตราชื่อผู้ผลิต วันที่ผลิตและวันหมดอายุ เพื่อแก้ปัญหาพ่อค้าคนกลางนำของหมดอายุไปขาย

การประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานและชุมชน

แนวทางแก้ไขที่สามารถทำได้ในขณะนี้และเป็นการประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานของรัฐหรือเอกชนและชุมชนคือ

1. กลุ่มผู้ประกอบการและผู้นำชุมชนวัดพระงามต้องประชุมหารือเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ของแนวทางแก้ไขที่กล่าวข้างต้น

2. หน่วยงานของรัฐ เช่น มหาวิทยาลัยศิลปากร ช่วยจัดหาตลาด ซึ่งมีกลุ่มผู้บริโภคที่นิยมของสดใหม่และมีคุณภาพ และเป็นกลุ่มที่ช่วยประชาสัมพันธ์ชื่อเสียงข้าวหลามนครปฐมคืนมา

3. ประสานความร่วมมือกับปฐมอโศก ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านสมุนไพร และหน่วยงานภาครัฐ เพื่อปรับเปลี่ยนให้เกิดรสชาติใหม่ๆ ตลอดจนการฟื้นฟูข้าวหลามที่เคยเฟื่องฟูในอดีต เช่น ข้าวหลามบ๊ะจ่าง

ความสำเร็จของการเสวนา

การเสวนาครั้งนี้สำเร็จได้ด้วยดีเกิดจากพระครูประภัทรธรรมาทร (ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระงาม) ให้การสนับสนุนและเป็นศูนย์รวมของคนชุมชนแถบพระงามและบริเวณใกล้เคียง จึงมีผู้มาร่วมประชุมเสวนาเป็นจำนวนมากและให้ความร่วมมือในเรื่องข้อมูล สมกับอุดมการณ์ที่ยึดมั่นมาตลอดของชุมชนนี้ว่า “ความสามัคคี”

นอกจากได้ทราบเรื่องของข้าวหลามแล้ว ยังได้รับความรู้ในเรื่องอื่นๆ ด้วย ได้แก่ เรื่อง โต๊ะจีน ขนมจีน เรื่องโบราณสถานทั้งตัววัดซึ่งยังมีร่องรอยของโบราณสถานในอดีต พระพุทธรูปที่มีลักษณะพิเศษที่ยังไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นปางใด รวมทั้งการกล่าวถึงสถานที่เคยก่อสร้างในอดีต เช่นที่ตั้งของร้านโพธิ์ทองปัจจุบันนั้น เดิมเป็นสโมสรเสือป่า ต่อมาตำรวจขอเป็นที่ทำการชั่วคราว ต่อมาเป็นโรงพักเล็ก และกองบังคับการ ตามลำดับ และเรื่องน่ารู้ในอดีต เช่น การใช้สังกะสีล้อมและใช้ไม้กระบอกปักสำหรับสร้างเป็นสถานที่บังคนหนัก บังคนเบา แทนการใช้ห้องน้ำ เป็นต้น